มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นมหาวิทยาลัยลำดับต้นของประเทศที่ภาคอุตสาหกรรมให้ความสนใจในการเป็นพันธมิตร โดยมีความร่วมมือกันในหลายรูปแบบ ทั้งงานวิจัย อบรม และการพัฒนานักศึกษา รวมถึงการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน
ปัจจุบันมีภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและเพิ่มทักษะให้แก่นักศึกษาผ่านการเรียนรู้ร่วมกับการทำงานส่งผลให้นักศึกษามีความพร้อมปฏิบัติงานเมื่อสำเร็จการศึกษาเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้เพื่อแสดงความขอบคุณต่อภาคอุตสาหกรรมที่ให้ความไว้วางใจและมีความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง และเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านความร่วมมือทางด้านงานวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยฯ จึงได้จัดงาน KMUTT MILLION THANKS 2015 หรือ โครงการเสริมสร้างความร่วมมืออย่างยั่งยืนระหว่าง มจธ.และภาคอุตสาหกรรม ขึ้น ณ โรงแรมสุโขทัย โดยได้รับเกียรติจาก H.E. Mr. Gilles Garachon เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาเรื่อง “Climate change negotiations-the role and expectations of France” และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวเรื่อง “Increasing Industrial Competitiveness through Innovation”
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้กล่าวถึงนโยบายด้านความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมว่า ทิศทางของมหาวิทยาลัยฯ คือการมุ่งสู่ความเป็นเลิศ มีคุณค่า และมีความหมายกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงการผลิตบัณฑิตคุณภาพ โดยการนำมาซึ่งความสำเร็จดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ประกอบการ ซึ่งมีจุดแข็งคือการได้รับโจทย์จริงจากภาคอุตสาหกรรมหรือ ผู้ประกอบการดังกล่าว ส่งผลให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ และนักศึกษามีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเอง และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า การพัฒนากำลังคน อันเป็นรากฐานของประเทศนั้น ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมในการให้โจทย์และการสนับสนุนด้านทรัพยากร เพื่อช่วยสร้างให้เกิดงานวิจัยที่ดี เกิดองค์ความรู้ใหม่ และมีโอกาสนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างขีดความสามารถในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศโดยรวมได้
“ฉะนั้น การร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมของ มจธ. จึงไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์บุคลากรซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ และตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัยฯ ในการผลิตบัณฑิตคุณภาพ ทั้งนี้เราต้องมองไปถึงความต้องการของประเทศในอนาคตด้วย ซึ่งการได้โจทย์จากภาคอุตสาหกรรมจะเป็นโอกาสในการพัฒนานักศึกษาให้มีสมรรถนะความสามารถเรียนรู้จากการแก้ปัญหาจริง เช่น โครงการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมการทำงานกับภาคอุตสาหกรรม Work-integrated Learning หรือ WiL ที่เราใช้เป็นกลไกในการพัฒนานักศึกษาให้เขาได้เรียนรู้ร่วมกับการทำงานจริงได้ดี ซึ่งจะทำให้เขาได้ใช้ความคิดของคนรุ่นใหม่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรม และเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมเองก็ต้องการ ดังนั้นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาที่ต้องร่วมทำงานเพื่อเป้าหมายใหญ่ของประเทศด้วยกัน”
ด้าน ผศ.ดร.มณฑิรา นพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายอุตสาหกรรมและภาคีความร่วมมือ มจธ. กล่าวถึง สาเหตุที่มหาวิทยาลัยฯ ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้นว่า มหาวิทยาลัยฯ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านกำลังคนของภาคอุตสาหกรรม ทำให้มีภาคอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญและมีความร่วมมือกับ มจธ. อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องยาวนาน ที่ผ่านมามีภาคอุตสาหกรรมที่เข้ามาเป็นพันธมิตรกับทางมหาวิทยาลัยแล้วจำนวนกว่า 40 บริษัท โดยในปี 2558 ได้ขยายความร่วมมือเพิ่ม อาทิ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน), บริษัท เดลต้า อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท จีเอเบิล จำกัด เป็นต้น
นายสมศักดิ์ บุญลาภ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บี. ฟู๊ดส์ โปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือเบทาโกร
นายสมศักดิ์ บุญลาภ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บี. ฟู๊ดส์ โปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือเบทาโกร กล่าวว่า จากที่ได้ร่วมงานกับ มจธ. ในโครงการ WiL ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักศึกษาและพนักงานของบริษัท พนักงานของเราได้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา ในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงวิธีการทำงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ ล้วนได้เรียนรู้จาก มจธ. เช่น ผลงานในโครงการ Food for the future โครงการจัดทำ Technology Road Map ในธุรกิจไก่ของเครือเบทาโกร หรือโครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรอุปกรณ์ในสายการผลิตของโรงงาน ซึ่งได้ทำงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทให้ความสำคัญกับงานวิจัยและจะทำงานวิจัยให้มากขึ้น เนื่องจากเรื่องของเทคโนโลยีอัตโนมัติจะเข้ามามีบทบาทในภาคการผลิตมากขึ้น ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า โดยความร่วมมือกับ มจธ. จะเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดี หรือ Best Practice ให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของประเทศมีความเข้มแข็งและยั่งยืนได้ต่อไปในอนาคต
นางสาวปาจรีย์ แสงคำ รองประธานส่วนงานโซลูชั่น บริษัท จี บิสซิเนส จำกัด
ด้าน นางสาวปาจรีย์ แสงคำ รองประธานส่วนงานโซลูชั่น บริษัท จี บิสซิเนส จำกัด ทำธุรกิจด้านการให้บริการด้านไอทีกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กล่าวยอมรับว่า การทำงานในรูปแบบ WiL มีความคล่องตัว มีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง และมีผลลัพธ์ออกมาดีเหนือความคาดหมาย เนื่องจากเดิมบริษัทเคยรับนักศึกษาใกล้สำเร็จการศึกษาเข้ามาฝึกงานแต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่มีความชัดเจน ซึ่งต่างจากแนวทางการรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เข้ามาเรียนรู้ร่วมกับการทำงานภายใต้โครงการ WiLของ มจธ. ช่วยให้เราสามารถคัดเลือกนักศึกษาที่ต้องการเข้ามาทำงานได้จริง เช่น นักศึกษาจากภาควิชา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาร่วมงานกับบริษัทจำนวนกว่า 20 คน ด้วยระยะเวลาเพียง 4 เดือน พบว่าทุกคนมีความพร้อมมากกว่าที่คาดไว้ สังเกตได้จากงานที่มอบหมายให้ทำ ซึ่งเป็นการจำลองโครงการที่บริษัทมีแผนจะทำให้กับลูกค้าซึ่งมาจากโจทย์จริง เด็กเหล่านี้มีความสามารถมีความรู้ด้านเทคโนโลยี มีแนวคิด และมีทักษะบางอย่างที่สามารถทำงานได้ทันที ซึ่งได้ผลดีกว่ารูปแบบเดิมที่ติดยึดกับระเบียบปฏิบัติเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้บริษัทเกิดความต้องการรับนักศึกษาทั้งหมดเข้าทำงานตามมา และต้องการขยายความร่วมมือต่อยอดโครงการอื่น ๆ กับมหาวิทยาลัยฯ เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ มจธ.ยังได้จัดตั้ง กลุ่มงานนวัตกรรมและพันธมิตร ขึ้น ภายใต้สำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตรเพื่อเสริมสร้างและสนับสนุนการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยจะดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาโอกาสทางธุรกิจจากผลงานวิจัยอีกด้วย
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด