สิริรัตน์ วารีรำพึงเพลิน
ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันต้องยอมรับว่า มีให้แก้กันหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นมลพิษในดิน น้ำ อากาศ ป่าไม้ถูกทำลาย หรือการสะสมของขยะ สำหรับปัญหาเรื่องของ “ดิน” มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าด้านอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นผลพวงจากความเจริญก้าวหน้าในภาคอุตสาหกรรม หรือบ้างก็เป็นปัญหาตามธรรมชาติ หากสามารถแก้ปัญหาได้ ย่อมหมายถึง การช่วยเพิ่มพื้นที่ทำกิน เพิ่มที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ทำการเกษตร สามารถเพาะปลูกพืชได้เจริญงอกงาม สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่นำไปสู่การกินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของชาติโดยรวม
อย่างไรก็ดีการจะเดินหน้าสู่การแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรมและปนเปื้อน จำเป็นต้องใช้เวลา ศึกษาหาวิธีแก้ไข รวมถึงนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วย ซึ่งในไทยมีนักวิจัยที่มีผลงานทางด้านสิ่งแวดล้อมโดดเด่นอยู่ไม่น้อย ในที่นี้รวมถึงผลงาน “การพัฒนาระบบปรับปรุงดินปนเปื้อนแคดเมียม” ของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร และ “การพัฒนาสารปรับปรุงดินทุกประเภทด้วยวัสดุเหลือทิ้งจากเปลือกหอยและแคลเซียมธรรมชาติ” ราคาแสนถูกของทีมนักวิจัยรั้วสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีปัญหาต่าง ๆ และเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรชาวไทย
ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ หน่วยวิจัยเชิงบูรณาการด้านการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและการนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก
ต้นแบบเครื่องปรับปรุงดินปนเปื้อนแคดเมียม
ผลงานแรกที่กำลังเป็นความหวังว่า อนาคตจะเป็นทางออกของปัญหาแคดเมียมปนเปื้อนในดินได้ เป็นผลงานวิจัยนำทีมโดย ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ แห่งหน่วยวิจัยเชิงบูรณาการด้านการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและการนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ซึ่งทำงานวิจัยภายใต้โจทย์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ใช้หัวข้อที่เข้าใจยากอยู่สักหน่อยว่า “การประเมินความเหมาะสมของการใช้อนุภาคนาโนของเหล็กประจุศูนย์และผงเหล็กประจุศูนย์ในการปรับเสถียรดินและฟื้นฟูดินที่ปนเปื้อนแคดเมียมในพื้นที่เพาะปลูกข้าว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก”
อธิบายให้เข้าใจเห็นภาพกันอย่างง่าย ๆ ว่า เป็นการศึกษาวิธีการใช้อนุภาคแม่เหล็กเพื่อปกป้องข้าวและดิน เพื่อช่วยกำจัดแคดเมียมออกจากผืนดินบริเวณลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ลดการถ่ายเทแคดเมียมสู่ข้าว พืชอาหารที่ชาวไทยบริโภคเป็นหลักและสิ่งมีชีวิตในห่วงโซ่อาหารอื่น ๆ
“เหมืองสังกะสี” ต้นตอมลพิษแคดเมียม
ทั้งนี้ จากข้อมูลรายงานการวิจัยของทีม ดร.ธนพล สะท้อนให้เห็นว่า ชาวบ้านในแถบลุ่มน้ำห้วยแม่ตาว ซึ่งมีต้นน้ำจากดอยผาแดง ภูผาศักดิ์สิทธิ์ ต้องเดือดร้อนอย่างหนักจากการที่ดินและแหล่งน้ำปนเปื้อนแคดเมียม โดยต้นตอของปัญหามาจากการทำเหมืองแร่สังกะสีของหลายบริษัทบนดอยผาแดงมายาวนานกว่า 40 ปี ซึ่ง “แคดเมียม” เป็นแร่โลหะหนักที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม มีลักษณะสีเงินแกมขาวหรือเป็นผง พบในธรรมชาติในรูปของสารประกอบซัลไฟด์และพบร่วมกับสังกะสี การถลุงสังกะสีจึงมีแคดเมียมเป็นผลพลอยได้
ในปี 2541-2543 “สถาบันการจัดการน้ำนานาชาติ” หรือ อิมี่ (International Water Management Institute-IWMI) ได้ศึกษาวิเคราะห์การปนเปื้อนของแคดเมียมในดินบริเวณ ต.พระธาตุผาแดง พบว่า ใน 154 ตัวอย่าง มีปริมาณการปนเปื้อนสูงกว่าค่ามาตรฐานของสหภาพยุโรป (EU) ถึง 1,800 เท่า และยังพบด้วยว่า 95% ของเมล็ดข้าวที่สุ่มตรวจ มีแคดเมียมปนเปื้อนสูงกว่าข้าวที่ปลูกในพื้นที่อื่นของไทยถึง 100 เท่า
ในปี 2554-2546 สถาบันการจัดการน้ำฯ ได้ขยายพื้นที่ศึกษาลงมาตามลำห้วยแม่ตาว ใน ต.แม่ตาว ปรากฏว่า ยังคงพบการปนเปื้อนแคดเมียมสูงถึง 72 เท่าของค่ามาตรฐาน EU ขณะที่กว่า 80% ของตัวอย่างข้าวมีค่าแคดเมียมสูงกว่ามาตรฐานของญี่ปุ่นและองค์การอาหารและเกษตร (FAO) ซึ่งเป็นปริมาณการปนเปื้อนที่ทำให้เกิดโรคอิไต-อิไต ในประเทศญี่ปุ่น ที่มีอาการปวดบริเวณเอวและหลัง กระดูกสันหลังผิดปกติ จากการบริโภคข้าวติดต่อกันเป็นเวลานาน
ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นปัญหามลพิษร้ายแรงของไทย จนในช่วงปี 2547-2549 รัฐบาลได้ประกาศให้เกษตรกรในพื้นที่งดปลูกข้าวและพืชอาหารและทำลายข้าวที่เหลืออยู่เพื่อตัดวงจรข้าวปนเปื้อนแคดเมียม จากพื้นที่ปนเปื้อนที่มีอยู่มากถึง 13,237 ไร่ เป็นเวลา 3 ปี โดยใช้งบประมาณ 218 ล้านบาท และสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล และพืชชนิดอื่น ๆ แทน
พิษแคดเมียมทำไตวาย-กระดูกพรุน
ดินที่ปนเปื้อนยังทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ตามมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจากการตรวจ ประเมิน ติดตามสุขภาพของผู้ที่สัมผัสแคดเมียมอย่างต่อเนื่องของฝ่ายสาธารณสุขพบว่า 844 รายหรือ 10.9% ของ 7,730 ราย เป็นประชากรในพื้นที่เสี่ยงซึ่งมีปริมาณแคดเมียมในร่างกายสูง ปัจจุบันมีอย่างน้อย 40 รายกำลังป่วยด้วยอาการไตวายเรื้อรัง ขณะที่จำนวน 219 ราย ป่วยด้วยภาวะไตเริ่มเสื่อม
นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยภาวะกระดูกพรุนและมีแนวโน้มมีผู้ป่วยจากพิษแคดเมียมเพิ่มขึ้น ซึ่งแคดเมียมสามารถทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้อีกหลายอย่าง โดยจากข้อมูลสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพบว่า แคดเมียมสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยผ่านการหายใจนำฝุ่นหรือควันแคดเมียมหรือกินเข้าไป ค่าสูงสุดที่ยอมให้มีได้ในร่างกายมนุษย์ คือ 10 ไมโครกรัมต่อลิตร หลังจากถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะมีครึ่งชีวิตที่ยาวนานและไปสะสมอยู่ในตับและไตได้มากถึง 30 ปี จึงเป็นเหตุผลของภาวะไตวาย ไตเสื่อม นอกเหนือจากนี้ผู้ได้รับแคดเมียมยังมีโอกาสเป็นหมันหรือเลวร้ายถึงขั้นเป็นมะเร็งและโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก ความดันโลหิตสูง เกิดการทำลายระบบประสาท เช่น ระบบประสาทการดมกลิ่น และเลือดจาง (ข้อมูลจาก wikipedia) และอื่น ๆ ได้อีกมากมาย
กระทั่งปัจจุบันกล่าวได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะแม้รัฐบาลจะสนับสนุนช่วยเหลือให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล และมีมติ ครม. 11 กันยายน 2555 ออกมาเสนอให้มีการเวนคืนที่ดินในพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมียมเพื่อนำที่ดินไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทนการเพาะปลูก แต่เนื่องจากการเคยเป็นชุมชนที่สืบทอดวัฒนธรรมชุมชนชาวนา มีการปลูกข้าวบริโภคกันมายาวนาน จึงทำให้นโยบายส่งเสริมให้เลิกปลูกข้าวของรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จ ประชาชนยังรอการเยียวยาแก้ไขปัญหาอยู่
ทั้งนี้ภายหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พบว่า โจทย์ใหญ่ ที่ประชาชนในชุมชนต้องการ คือ การช่วยทำให้พวกเขาได้กลับมาปลูกข้าวได้เหมือนเดิม ด้วยการฟื้นฟูดิน กำจัดแคดเมียมออกไป
ดังนั้นภารกิจของ ดร.ธนพล และทีมงาน จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยให้เกษตรกรในบริเวณลุ่มน้ำแม่ตาวสามารถปลูกข้าวเพื่อบริโภคได้อย่างปลอดภัย ช่วยลดปริมาณการปนเปื้อนแคดเมียมในดินด้วยเทคนิคทางวิศวกรรม ที่สามารถลดการถ่ายเทของแคดเมียมสู่ข้าว และช่วยกำจัดแคดเมียมออกจากดินให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้
หลังการวิจัยพัฒนา โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปี 2555 ทีมงานของ ดร.ธนพล ได้พัฒนาต้นแบบ “เครื่องล้างแคดเมียมออกจากดินด้วยผงเหล็กและแม่เหล็ก” ขึ้น ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้นำผลงานมาโชว์ภายในงาน โครงการ “Research for Community วิจัยเพื่อชุมชนสังคม” ที่มีมหาวิทยาลัย 20 แห่งจาก 4 ภูมิภาคเข้าร่วมโครงการและลงนามบันทึกความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการ นำความรู้และผลสำเร็จของงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ชุมชนสังคม โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี
เครื่องล้างแคดเมียมฯ ใช้ผงเหล็กประจุศูนย์ เป็นสารปรับปรุงดินเพื่อดักจับแคดเมียมออกจากดิน โดยผลจากการทดสอบกับดินปนเปื้อนแคดเมียมจริงในพื้นที่แม่สอดพบว่า มีประสิทธิภาพสูงในการดึงแคดเมียมออกจากดิน ซึ่งในกระบวนการทำงาน เริ่มจากนำผงเหล็กประจุศูนย์ใส่ผสมไปในดินตัวอย่าง จากนั้นเครื่องจะดูดตัวอย่างเข้าไปและผงแม่เหล็กจะทำหน้าที่ตรึงแคดเมียมเก็บไว้ ปล่อยเพียงน้ำไหลออกมา เหลือแคดเมียมที่ตรึงไว้ เพื่อนำไปกำจัดต่อไป
ณ เวลานี้ เครื่องต้นแบบมีประสิทธิภาพในการตรึงแคดเมียมได้สูงถึง 97% โดยนักวิจัยศึกษาพบด้วยว่า แคดเมียมที่อยู่ในน้ำเกาะอยู่ตามช่องว่างของดินแบบหลวม ๆ สามารถถูกชะละลายออกจากดินได้ง่ายและมีโอกาสเข้าไปปนเปื้อนในข้าวได้มากกว่า
อย่างไรก็ดี หากจะนำเครื่องล้างแคดเมียมฯ ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่จริงที่กว้างใหญ่ไพศาล ยังจำเป็นต้องพัฒนาในขั้นต่อไปอีก ต้องเพิ่มทั้งในแง่ขนาดอุปกรณ์และศักยภาพในการตรึงแคดเมียม เพื่อใช้กำจัดแคดเมียมในดินให้ได้ปริมาณเพิ่มขึ้น โดยจำเป็นต้องขยายขนาดอุปกรณ์ให้ใหญ่ขึ้นอีกประมาณ 100 เท่าตัว ซึ่งแน่นอนว่า จำเป็นต้องใช้เวลาพัฒนาอีกหลายปี รวมถึงต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนไม่น้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นภารกิจดังกล่าวนี้ยังต้องเดินหน้าต่อไป ด้วยเป็นความหวังที่เหลืออยู่สำหรับประชาชนในพื้นที่
ผลักดันฐานข้อมูลเทคนิค-แนวทางฟื้นฟูและกู้คืนทรัพยากรธรรมชาติที่ปนเปื้อนสารอันตรายของไทย
นอกเหนือจากความพยายามแก้ปัญหาการปนเปื้อนดินและน้ำในพื้นที่แล้ว ทางคณะทำงานของ ดร.ธนพล แห่งหน่วยวิจัยเชิงบูรณาการด้านการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและการนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ยังได้จัดทำ ฐานข้อมูลองค์ความรู้เชิงเทคนิคและแนวทางการปฏิบัติเพื่อการฟื้นฟูและกู้คืน ทรัพยากรธรรมชาติที่ปนเปื้อนสารอันตรายสำหรับประเทศไทย (TTIGERR)ด้วย ภายใต้โครงการ “การจัดทำฐานข้อมูลเทคนิคในการฟื้นฟูดินและน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนสารอันตราย และการประเมินภาวะการคุกคามของสารอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการจัดการ พื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายในน้ำใต้ดิน” (2555) ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย (ข้อมูล: http://www.ttigerr.org/)
โดยฐานข้อมูลฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรวบรวมแนวทาง ขั้นตอน และเครื่องมือทางเทคนิคในการจัดการและการฟื้นฟูดินและน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อน สารอันตรายที่ครบถ้วนทั้งกระบวนการและถูกต้องตามหลักวิชาการสากล โดยอิงขั้นตอนกรอบและแนวทางปฏิบัติทางเทคนิคในการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนตาม กฎหมาย Comprehensive Environmental Response, Compensation, and Liability Act (CERCLA) ของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังได้นำประสบการณ์การจัดการและฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายจริงของทีมผู้จัดทำเข้าไปด้วย
เป้าหมายสำคัญคือ เพื่อรวบรวม คัดกรองเรียบเรียง และพัฒนาองค์ความรู้เชิงเทคนิคและแนวทางการปฏิบัติเพื่อการฟื้นฟูและกู้คืน ทรัพยากรธรรมชาติที่ปนเปื้อนสารอันตรายสำหรับประเทศไทยเพื่อให้เป็นแนวทาง ด้านเทคนิคในการจัดการที่สามารถใช้ได้จริง และสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงสำหรับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อการทำ งานร่วมกัน และเพื่อต่อยอดในการสร้างกรอบในการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนอย่างเป็นระบบของ องค์กรของตนและของประเทศต่อไป โดยแม้เทคนิคการจัดการการปนเปื้อนด้วยสารอันตรายบางเทคนิคในฐานข้อมูลนี้ จะเน้นการฟื้นฟูสารอันตรายประเภทสารอินทรีย์ระเหย แต่ขั้นตอนที่เป็นกรอบแนวทางและเครื่องมือการบริหารจัดการในภาพรวมสามารถใช้ ได้กับพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายทุกประเภท
ในฐานข้อมูล ประกอบด้วย 5 ฐานข้อมูลย่อย (Module) ดังนี้คือ
ฐานข้อมูลย่อยที่ 1 (Module I) “ภาพรวมแนวทางและเครื่องมือการบริหารจัดการพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตราย” ซึ่ง รวบรวมภาพรวมกรอบแนวทางการจัดการพื้นที่ปนเปื้อน สารอันตรายตาม หลักวิชาการสากล รวมถึงกรอบทางกฎหมายแนวทางและเครื่องมือการบริหารจัดการพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายของสหรัฐฯ ซึ่งพัฒนามาจากกรอบ แนวทางการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายตามหลักวิชาการสากลดังกล่าว นอกจากนี้ยังรวบรวมกรอบทางกฎหมายแนวทางและเครื่องมือการบริหารจัดการพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายของประเทศไทย และชี้ให้เห็นความเหมือนและความแตกต่างของระบบการจัดการของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับกรอบแนวทางการจัดการของสหรัฐฯ
ฐานข้อมูลย่อยที่ 2 (Module II) “ฐานข้อมูลเทคนิคการประเมินและสำรวจการปนเปื้อนและพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายเบื้องต้น” เสนอรายละเอียดและเครื่องมือในการประเมินและสำรวจพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายเบื้องต้นเพื่อประกอบการประเมินสภาวะคุกคามของการปนเปื้อนสารอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจว่า การปนเปื้อนนั้นร้ายแรงมากน้อยอย่างไร ถึงขึ้นที่จะต้องทำการสำรวจและวิเคราะห์การปนเปื้อนและพื้นที่ปนเปื้อน สารอันตรายโดยละเอียดเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่หรือไม่
ฐานข้อมูลย่อยที่ 3 (Module III) “ฐานข้อมูลเทคนิคการสร้างแบบจำลองมโนทัศน์ การสำรวจและวิเคราะห์การปนเปื้อนและพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายโดยละเอียด” นำเสนอแนวทางและเครื่องมือในการวางแผนและดำเนินการสำรวจและวิเคราะห์ การปนเปื้อนและพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายโดยละเอียดอย่างมีประสิทธิภาพและถูก ต้องตามหลักการวิชาการสากล
ฐานข้อมูลย่อยที่ 4 (Module IV) “ฐานข้อมูลเทคนิคการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพและต่อระบบนิเวศสำหรับการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตราย” นำเสนอแนวทางและเครื่องมือในใช้การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ และระบบนิเวศอันเนื่องมาจากพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตราย เพื่อการประเมินความ เสี่ยงจากการปนเปื้อนในกรณีที่ไม่ทำการฟื้นฟูใด ๆ (Baseline Risk Assessment) เพื่อตอบคำถามว่า จะต้องทำการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนนี้หรือไม่ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงทั้งในปัจจุบันและในอนาคตจากฟื้นที่ปนเปื้อน
ฐานข้อมูลย่อยที่ 5 (Module V) “ฐานข้อมูลเทคนิคการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดในการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตราย” ที่นำเสนอแนวทางและเครื่องมือในการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดในการฟื้นฟู พื้นที่ ปนเปื้อนสารอันตราย
นับว่าฐานข้อมูลฯนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากทีเดียวที่จะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาการปนเปื้อนสารอันตรายในสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้
สูตรสร้างความสมบูรณ์ให้กับดินทุกประเภท
สำหรับผลงานวิจัยอีกชิ้นที่ไม่อาจมองข้าม เพื่อนำมาใช้ช่วยปรับแก้ความเสื่อมโทรม เพิ่มความสมบูรณ์ให้กับดิน เป็นผลงานของทีมวิจัยของ ผศ.ดร.บรรจง บุญชม แห่งคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ (สจล.) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. เป็นเวลา 3 ปี ระหว่างปี 2555-2558
ผศ.ดร.บรรจง เปิดเผยว่า เดิมได้พัฒนาปุ๋ยน้ำจากเศษเปลือกหอยเพื่อใช้บำรุงต้นพืช เร่งดอก และผลและเร่งการเจริญเติบโตของต้นพืชในช่วงปีแรกของการวิจัย หลังจากนั้นได้พัฒนาต่อยอดมาเป็นสูตรสร้างและเพิ่มความสมบูรณ์ให้แก่ดินที่มีปัญหาทุกประเภทราคาถูก 6 สูตร โดยมีวัตถุดิบเป็นแร่แคลเซียมจากธรรมชาติ มาผสมกับเศษวัสดุทิ้งแล้วจากธรรมชาติ ได้แก่ เศษเปลือกไข่และเปลือกหอยทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นหอยน้ำจืดหรือน้ำเค็ม โดโลไมต์ (แคลเซียมแมกนีเซียมคาร์บอเนต) ที่ได้จากภูเขา ปูนมาลย์ (แคลเซียมคาร์บอเนต) และปูนขาว มาผสมกับสารน้ำแปรสภาพ (ที่เป็นความลับ) ซึ่งได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว
ต้นทุนภายหลังการผลิตแต่ละสูตรถือว่าต่ำมาก อยู่ที่ประมาณ 5 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น แต่ละสูตรเพียงใช้แร่แคลเซียมสลับสับเปลี่ยนผสมกันเท่านั้น เพื่อให้เหมาะสมกับดินแต่ละประเภทและที่แตกต่างกันไป โดยสามารถนำไปใช้กับ ดินเสื่อมในลักษณะต่าง ๆ ได้ เช่น ดินกรด ดินด่าง ดินเค็ม ดินทราย ดินเหนียว ดินแน่นทึบ และดินกรวด ซึ่ง ผศ.ดร.บรรจง กล่าวว่า สามารถพลิกฟื้นผืนดินให้กลายเป็นดินที่สมบูรณ์ เหมาะสำหรับเพาะปลูกพืชผลต่าง ๆ
พืชผลเติบโตหลังปรับปรุงดิน
ที่ผ่านมา ผศ.ดร.บรรจง ได้ไปถ่ายทอดความรู้ให้แก่ประชาชนในหลายพื้นที่ รวมถึงชุมชนชาวไร่อ้อย จ.นครราชสีมา สระบุรี สระแก้วและศรีสะเกษ นอกจากนี้ยังมีชุมชนที่ จ.ราชบุรี และชลบุรีมีการผลิตสารปรับปรุงดินเพื่อใช้เองในชุมชน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ผลงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
“พืชได้ประโยชน์ทุกชนิด เพราะการเสริมแคลเซียมจะช่วยให้พืชแข็งแรง ช่วยยืดอายุเซลล์ ทำให้ต้นพืชแข็งแรง แมลงรบกวนยาก เมื่อยามเก็บผลผลิตและในการขนส่งจึงทำให้บอบช้ำน้อยลง”
ผศ.ดร.บรรจง ยกตัวอย่างว่า ภายหลังปรับปรุงดินมีการปลูกพืชหลายอย่างแล้วพบว่า ได้ผลดี เช่น
• มันสำปะหลัง พบว่า มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากที่เคยได้ผลผลิต 2.5 ตันต่อไร่ เป็น 7.5 ตันต่อไร่
• ข้าว จากที่เคยได้ผลผลิตมากกว่า 300 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นมากกว่า 550 กิโลกรัมต่อไร่
• นอกจากนี้ยังมีพืชอื่น ๆ รวมถึงลำไย พืชผักสวนครัว ที่ได้ประโยชน์ เช่น ที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เมื่อนำสารปรับปรุงดินไปใช้ ทำให้สามารถเก็บผลผลิตมะเขือได้เพิ่มขึ้น จากที่ได้ประมาณ 38 กิโลกรัมต่อวัน เป็น 104 กิโลกรัมต่อวัน และจะดียิ่งขึ้น หากนำปุ๋ยน้ำที่ผลิตได้มาใช้บำรุงต้นพืชร่วมกัน
จากผลงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดินปนเปื้อนและปัญหาดินเสื่อมโทรม เพาะปลูกไม่ได้ของนักวิจัยทั้ง 2 ทีมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวทางแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ที่ผู้เขียนยกมาเป็นแบบอย่างของการแก้ไขปัญหาดิน ซึ่งยังมีนักวิจัยที่มีผลงานที่คล้ายกันนี้อีกจำนวนมาก เพียงแต่มุ่งสะท้อนให้เห็นว่า ทุกปัญหาย่อมมีทางออก ซึ่งจำเป็นต้องดึงผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีความรู้จากหลายด้านมาร่วมด้วยช่วยกันศึกษา พัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือใหม่ ๆ นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วย
"แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานหน่อย...แต่เชื่อว่า ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้ในสักวัน"