Editor Talk

หัวหอกหลักสู่การพัฒนาประเทศ

          สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ วารสารฉบับนี้เป็นฉบับแรกของปีใหม่กันอีกแล้ว นั่นแสดงว่าในปีที่ผ่านมาเราได้ผ่านพ้นเรื่องราวอะไรมาอย่างมากมาย หลายคนอาจจะสมหวังบ้าง หรือผิดหวังบ้างกับภารกิจหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา แต่สำหรับภาพรวมของประเทศนั้นหากมองย้อนกัลบไปผู้อ่านก็คงสัมผัสได้ว่าเรายังไม่ได้ผ่านพ้นห้วงปัญหาต่าง ๆ ไปได้อย่างสดใสเท่าที่ควร ในทางกลับกัน อนาคตข้างหน้าต่อไปประเทศเรายังต้องการกำลังใจ ความร่วมแรงร่วมใจ ของคนในชาติอีกมากมายในการเดินหน้าประเทศไทยแก้ไขปัญหาที่สะสมมาอย่างเนิ่นนาน

          และแน่นอนว่าหัวหอกหลักในการนำพาประเทศไปสู่ทิศทางที่สดใสนั้น ยังคงเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลปัจจุบัน ในการสร้างแผนยุทธศาสตร์ชาติ นั่นหมายถึงแนวทางปฏิบัติตามพันธกิจที่จะทำให้สัมฤทธิผลตามวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาลนั่นเอง ส่วนความสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ของชาตินั้น รัฐต้องกำหนดรูปแบบของการปฏิบัติที่ช่วยให้ประเทศสามารถพัฒนาได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเอื้ออำนวยความสำเร็จและความล้มเหลวของภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนสัมพันธ์กัน ผู้บริหารประเทศเองจะต้องกำหนดรูปแบบในการปฏิบัติที่ช่วยส่งเสริมการจัดการภาครัฐแนวใหม่ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทั้งระบบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยต้องมีการปฏิรูประบบราชการและดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการบ้านเมืองที่มี ธรรมาภิบาล โดยมุ่งประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติเป็นสำคัญ

          นอกจากรัฐบาลจะเป็นหัวหอกสำคัญในการเป็นผู้นำประเทศแล้ว ภาคประชาชนก็ยังเป็นทรัพยากรประเทศที่มีค่าสำคัญ สำหรับจุดอ่อนของประเทศในอดีต ยังเกิดจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไม่เห็นความสำคัญของการรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ประชาชนในประเทศมีทัศนคติด้านการเมืองที่แตกต่างกันมาก ทำให้ประเทศไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่จะต้องเร่งสร้างทัศนคติที่ดีให้ประชาชนรักและหวงแหนทรัพยากรประเทศซึ่งเป็นสมบัติของชาติให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

          สำหรับกรณีของทรัพยากรประเทศนั้น คลื่นความถี่ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สำคัญ ซึ่งจากการประมูลคลื่น 4 จี ในย่านความถี่ทั้ง 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ผ่านมาไม่นานนี้ นอกจากจะถือเป็นชัยชนะหนึ่งของรัฐบาลที่จะสามารถเก็บรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำมากขึ้นแล้ว ก็ต้องนับเป็นความสำเร็จอีกด้านของการสร้างระบบการแข่งขันเสรีในทางการค้าขึ้นมาในประเทศไทยที่ค่อนข้างจะเป็นรูปธรรม จากการขจัดการผูกขาด ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดี ที่มีรูปแบบการแข่งขันที่ยึดกฎกติกาและโปร่งใสขึ้นมาในสังคมไทย เพื่อป้องกันสิ่งที่เรียกว่า ธุรกิจการเมือง ซึ่งเป็นต้นตอของการคอร์รัปชั่นอย่างร้ายแรงด้วยเม็ดเงินมหาศาล ที่สำคัญก็คือ การผูกขาดทางธุรกิจนั้น นำไปสู่อำนาจผูกขาด เป็นฐานรากของพีระมิดสังคม ที่คนยากคนจนอยู่ล่างสุด และกลุ่มผูกขาดที่มีจำนวนน้อยกลับเป็นผู้ใช้ทรัพยากรของส่วนรวมไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม ซึ่งทรัพยากรคลื่นความถี่ก็เช่นกัน ถ้าหากไม่ผ่านระบบการประมูล หรือการประมูลแบบจอมปลอม ก็ไม่พ้นตกเป็นสมบัติของกลุ่มธุรกิจการเมืองไปได้ในที่สุด จะปฏิรูปประเทศกันอีกกี่รอบก็ไม่มีทางสำเร็จ ส่วนในกรณีที่เกิดการแข่งขันรุนแรงเกินไป แม้ว่าภาครัฐจะได้เม็ดเงินประมูลสูงก็จริง แต่ผู้ประกอบการอาจส่งผ่านต้นทุนไปเป็นค่าบริการที่เพิ่มขึ้น และผลักภาระมาให้ผู้บริโภคหรือไม่นั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็ต้องควบคุมให้เกิดความยุติธรรมกับผู้บริโภคต่อไปครับ

          และเนื่องในโอกาสแห่งการเข้าสู่เทศกาลปีใหม่นี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่เราได้มีโอกาสหยุดพักผ่อนติดต่อกันหลายวัน หลังจากที่ได้ตรากตรำทำงานหนักมาทั้งปี เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว ท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมเพื่อเติมพลังให้กับชีวิต หวังกลับมาต่อสู้กับงานหนักที่รออยู่ในปีใหม่นี้ ทีมงานก็ขอเป็นกำลังใจให้ผู้อ่านทุกท่านได้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ประเมินสถานะของตนเองและสถานการณ์ของบ้านเมืองให้ดี ตั้งอยู่ในความพอเพียง ไม่ใช้จ่ายเกินตัว และขออวยพรให้ท่านทั้งหลายประสบแต่ความสำเร็จทั้งในสิ่งที่คาดหวังและวางแผนไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหน้าที่การงาน การเงิน สุขภาพหรือการดำเนินชีวิต ก็ขอให้ทุกท่านมีความสุขตลอดปี...บุญรักษาครับ

 

 

เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์

sedthakarn@se-ed.com

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด