มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจาก 3 หน่วยงานจากประเทศอังกฤษ ได้แก่ UK Research Council’s Energy Program, Department for International Development และ Department for Energy and Climate Change เพื่อทำการศึกษาโอกาสและอุปสรรคของการอนุรักษ์พลังงานของครัวเรือนรายได้ต่ำในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Greater Mekong Sub-region (GMS) 5 ประเทศได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา พม่า และลาว เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคครัวเรือน โครงการดังกล่าวมีชื่อว่า Effective Energy Efficiency Policy Implementation Targeting “New Modern Energy CONsumers” in the GMS หรือเรียกสั้น ๆ ว่า โครงการ MECON
Dr.Milou Beerepoot ผู้ริเริ่มและหัวหน้าโครงการ MECON ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency)
Dr.Milou Beerepoot เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) และหนึ่งในกลุ่มคนที่ร่วมผลักดันเรื่องนี้ในเมืองไทยมาระยะหนึ่ง ได้กล่าวในฐานะผู้ริเริ่มและหัวหน้าโครงการ MECON ว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ภูมิภาคอาเซียนจะมีกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางมากขึ้นและมีความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องรีบให้ความรู้ความเข้าใจ และกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในเรื่องการประหยัดพลังงานกับคนที่มีรายได้ต่ำก่อนที่คนกลุ่มนี้จะเข้าสู่กลุ่มรายได้ปานกลางอย่างเต็มตัว รวมถึงต้องออกแบบนโยบายเพื่อให้ช่วยครัวเรือนเหล่านี้ก้าวข้ามอุปสรรคต่อการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Barriers to Energy Efficiency Improvement) เช่น การขาดแคลนเงินทุน หรือไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะช่วยให้ครัวเรือนเหล่านี้สามารถตัดสินใจลงทุนเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ดียิ่งขึ้น ก่อนที่ครัวเรือนเหล่านี้จะเลือกใช้สินค้าที่มีประสิทธิภาพต่ำและติด “กับดัก” ของการใช้พลังงานและเสียค่าไฟมากเกินความจำเป็นในระยะยาว จุดเริ่มต้นของโครงการนี้จึงเป็นการป้องกันปัญหาของความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตมากกว่าเป็นการแก้ปัญหาหลังจากเกิดขึ้นแล้ว
คุณปัญญ์ ปิยะศิลป์ ผู้จัดการโครงการ MECON
ทางด้าน คุณปัญญ์ ปิยะศิลป์ ผู้จัดการโครงการ MECON กล่าวว่า เป้าหมายในการศึกษาอยู่ที่ครัวเรือนรายได้ต่ำที่เรียกว่า “New Modern Energy CONsumers (MECON)” หรือผู้บริโภคพลังงานกลุ่มใหม่ ซึ่งถูกนิยามว่าเป็นครัวเรือนที่เข้าถึงไฟฟ้าได้ และมีรายได้ประมาณ $2-5 ต่อวัน ถึงแม้ว่าครัวเรือนเหล่านี้บริโภคพลังงานน้อยกว่าครัวเรือนรายได้สูงในปัจจุบัน แต่ในอนาคตครัวเรือนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะยกระดับรายได้ไปเป็นชนชั้นกลาง มีกำลังเงินในการซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้ามากขึ้น และมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นไปด้วย การใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพนอกจากจะสามารถลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนและเปิดโอกาสให้ครัวเรือนเพิ่มคุณภาพชีวิตในด้านอื่น ๆ ได้แล้ว ยังสามารถช่วยลดภาระการจัดหาพลังงานของภาครัฐ เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และลดมลพิษจากการใช้พลังงานที่ไม่สะอาดต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานจึงมักจะเป็นทางเลือกที่ราคาถูกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่
“ในระยะเวลา 2 ปี ของโครงการ (2556-2558) เราสำรวจผู้บริโภค 1,660 ครัวเรือน ผู้ผลิตและผู้จำหน่าย 348 ราย ใน 5 ประเทศ เฉพาะในประเทศไทยเราสำรวจ 293 ครัวเรือนจาก กรุงเทพฯ สุรินทร์, แม่ฮ่องสอน, สระแก้ว และพัทลุง โดยเป็นการเข้าไปสอบถามพูดคุยเพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้พลังงาน และอุปสรรคต่อการประหยัดพลังงานของครัวเรือนเหล่านี้ นอกจากการสำรวจครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำในเมืองใหญ่เรายังสำรวจครัวเรือนเหล่านี้ที่กระจายอยู่จำนวนมากในชนบท พบข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น สินค้าที่มีฉลากเบอร์ห้ายังไม่เป็นที่แพร่หลายในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ค่อยมีอุปกรณ์ติดฉลากประหยัดไฟวางจำหน่ายเนื่องจากไม่สามารถสต๊อกสินค้าจำนวนมากได้ ผู้ขายสินค้ามักไม่เข้าใจความหมายของข้อมูลบนฉลากเบอร์ห้าและไม่สามารถให้ความรู้ในการเลือกซื้ออุปกรณ์ประหยัดไฟแก่ผู้บริโภคได้ ตลอดจนอุปกรณ์ที่ติดฉลากประหยัดไฟมีราคาสูง ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะซื้ออุปกรณ์ที่มีราคาถูกแต่ไม่มีฉลากประหยัดไฟ ทั้ง ๆ ที่อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงจะสามารถประหยัดค่าไฟได้และให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่าในระยะยาว เราศึกษาข้อมูลเหล่านี้เพื่อออกแบบนโยบายและมาตรการส่งเสริมในเรื่ององค์ความรู้เรื่องการอนุรักษ์พลังงาน เพิ่มสัดส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่มีประสิทธิภาพในตลาด สร้างพฤติกรรมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพในผู้บริโภคและเพิ่มประสิทธิผลของฉลากประหยัดไฟเบอร์ห้าโดยเฉพาะต่อผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำ”
นายจิระศักดิ์ มัณฑางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและแผนงานด้านการใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
นอกจากนั้น นายจิระศักดิ์ มัณฑางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและแผนงานด้านการใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในงานเสวนา “Improving Energy Efficiency amongst low-income households in the Greater Mekong Sub-region” เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 ที่ผ่านมาว่า โครงการนี้ทำให้รู้พฤติกรรมการใช้พลังงานของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงมากขึ้น เช่น การใช้หลอด LED เป็นที่เริ่มเป็นที่นิยมกันมากในครัวเรือนรายได้ต่ำในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง แต่ปรากฏว่ายังไม่เป็นที่นิยมในครัวเรือนเหล่านี้ในประเทศไทย ซึ่งหากประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนหลอดไฟทุกประเภทซึ่งมีปริมาณกว่า 200 ล้านหลอด มาเป็นหลอด LED อาจต้องลงทุนสูงถึงแสนล้านบาท ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก่อนคือค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าบางอย่าง รวมถึงการสนับสนุนเงินเพื่อเป็นแรงจูงใจในการเลือกใช้ให้กับครัวเรือน
“ไม่ใช่แค่หลอด LED แต่เรายังมีแนวคิดเรื่องการใช้ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ร่วมกันในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง เพื่อเป็นการนำร่องการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งขณะนี้มีเพียงเวียดนามเท่านั้นที่มีฉลากประหยัดไฟใช้ขึ้นเมื่อปี 2013 แต่พม่า ลาว กัมพูชา ยังไม่มี ในฐานะที่ไทยทำเรื่องนี้มากว่า 20 ปี จึงอยากเสนอให้ประเทศเหล่านั้นใช้มาตรฐานฉลากประหยัดไฟเดียวกันกับไทย เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ก็นำเข้าจากไทยอยู่แล้ว และผมในฐานะตัวแทนภาครัฐก็จะให้การสนับสนุนและผลักดันต่อไป”
การเสวนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษาของโครงการ MECON จะเปิดโอกาศให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อไปในอนาคต คุณปัญญ์ ปิยะศิลป์ ได้กล่าวต่อว่า
“ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของภูมิภาคในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น สินค้าที่มีฉลากเบอร์ห้าของไทยเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดี ในบางประเทศ เช่น ลาวและกัมพูชา ก็มีปัญหาฉลากเบอร์ห้าปลอมระบาด ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่ไม่ได้รับการดูแลจากทั้งหน่วยงานจากไทยและประเทศเหล่านั้น นอกจากนี้ การที่แต่ละประเทศจะพัฒนาฉลากประหยัดพลังงาน หรือบังคับใช้มาตรฐานการใช้ไฟฟ้าของตัวเองก็เป็นทางเลือกที่มีต้นทุนสูงทั้งด้านงบประมาณ กำลังคน และเวลา อีกทั้ง การรวมมาตรฐานการใช้พลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าของแต่ละประเทศเป็นหนึ่งเดียว (Energy Standard Harmonization) ในภายหลังจะสามารถทำได้ยาก เนื่องจากความแตกต่างและหลากหลายของมาตรฐานในแต่ละประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นกลยุทธ์ที่สามารถการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ดีกว่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อทุกประเทศพร้อม ๆ กัน”
คุณ Beni Suryadi ตัวแทนจาก ASEAN Centre of Energy (ACE)
ทางด้านคุณ Beni Suryadi ตัวแทนจาก ASEAN Centre of Energy (ACE) ได้กล่าวว่า การทำฉลากประหยัดพลังงานในระดับอาเซียนเป็นเรื่องที่มีการผลักดันกันมานานแต่ก็ยังยากที่จะสำเร็จ ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการผลักดันในเรื่องนี้ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยควรทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการริเริ่มนี้ในฐานะที่มีประสบการณ์การพัฒนาฉลากประสิทธิภาพพลังงานมาเป็นเวลานาน ทาง ACE มีความสนใจอย่างยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมในจุดที่จำเป็นต่อไป
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด