Editor Talk

Editor Talk

                สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ หากกล่าวถึงประเด็นที่กำลังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและรวมถึงเจ้าของธุรกิจในตอนนี้ คงจะต้องยกให้ประเด็นของการเปิดการค้าเสรี TPP (Trans Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะหลังจากมีการเจรจามานานกว่า 5 ปี ในที่สุด กรอบความตกลงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ก็บรรลุข้อตกลงกัน และถือเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ

                TPP หมายถึงกรอบความตกลงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือก็คือ FTA (Free Trade Area) ในรูปแบบหนึ่ง สำหรับสมาชิก TPP ปัจจุบันประกอบไปด้วย 12 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก ชิลี เปรู มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น การทำการค้าในกลุ่มสมาชิกจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกันทำให้ส่งผลกระทบมายังผู้ประกอบการไทยกับประเทศที่ยังไม่มีข้อตกลง FTA ด้วยกัน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และแคนาดา สำหรับเป้าหมายของ TPP ก็เหมือนกับเป้าหมายของเอฟทีเอทั่วไป คือ ต้องการลดอุปสรรคทางการค้าสินค้าและบริการระหว่างกัน ต้องการส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งตั้งใจที่จะร่วมมือกันในการปรับกฎระเบียบมาตรฐานต่าง ๆ เช่น มาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานแรงงาน ให้มีความสอดคล้องกัน

                และเนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าสำคัญของทุกประเทศ สหรัฐฯ จึงมีบทบาทอย่างมากในการเจรจากรอบ TPP มีการวิเคราะห์กันว่าเหตุผลที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับ TPP เป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ จริงอยู่ที่อาเซียนจะรวมตัวกันเป็น AEC จึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจของนักธุรกิจอเมริกันให้ทำการค้าและลงทุนในภูมิภาคอาเซียน แต่สิ่งสำคัญมากไปกว่านี้ก็คือ สหรัฐฯ ต้องการที่จะกันท่าจีน ซึ่งมีอิทธิพลค่อนข้างมากในภูมิภาค เพราะมีส่วนร่วมอยู่ใน อาเซียน+3 และอาเซียน+6 ในขณะที่สหรัฐไม่มี ฉะนั้นสหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องผลักดัน TPP อย่างสุดแรง เพื่อเป็นช่องทางที่จะทำให้ตนเองมีบทบาทมากขึ้นในอาเซียนนั่นเอง

                สำหรับท่าทีของประเทศไทยที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาก็ได้พยายามเข้ามาล็อบบี้ให้ไทยเราเข้าร่วมด้วย แต่ไทยก็บ่ายเบี่ยงมาตลอดเพราะว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับข้อดีก็คือ ประโยชน์ในเรื่องของการส่งออกสู่สมาชิก TPP 12 ประเทศ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ 40% ของการค้าโลก การเป็นสมาชิก TPP จะทำให้เราก็จะค้าขายได้เยอะ แต่ถ้าเราดูรายชื่อ 12 ประเทศ เกือบทั้งหมดเรามี FTA กับเขาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นการทำ TPP หรือไม่ทำก็ไม่มีผลอะไรเท่าไหร่ เพราะเราก็สามารถค้าขายกับเขาได้คล่องตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าประเทศหนึ่งที่เราไม่มี FTA ด้วยแล้วเราอาจจะได้ผลประโยชน์จะ FTA มากก็คือ สหรัฐฯ ซึ่งเราไม่ได้ทำ FTA ด้วย และเราก็หวังว่าถ้าเข้า TPP ก็จะเข้าตลาดสหรัฐฯ และส่งออกไปสหรัฐฯ ได้มากขึ้น นี่เป็นประเด็นที่มองว่าเราจะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปสหรัฐฯ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตอนนี้เราค้าขายกับอาเซียนเยอะมากถึง 25% ของการค้าขายกับอาเซียน และประเทศจีนก็อยู่ในอันดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นตอนนี้เรื่องของตลาดจึงไม่ได้อยู่ที่ สหรัฐฯ แล้ว ตลาดของเราคือ อาเซียน ตลาดของเราคือจีน เพราะฉะนั้นสหรัฐฯ ไม่ได้สำคัญมากมายเหมือนกับในอดีต ฉะนั้นประเด็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการค้าอาจจะไม่ได้มากมายอย่างที่เราหวัง และถ้าถามว่าการที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราเข้าร่วม TPP สะท้อนว่าเราเสียโอกาสไหม ก็คงต้องกลับมากันดูที่ผลประโยชน์ในระยะยาวมากกว่า

                แน่นอนครับว่าการทำธุรกิจในปัจจุบัน มีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำการค้า โดยเฉพาะกฎและระเบียบทางการค้าใหม่ ๆ ดังนั้น ทางออกที่ดีคือผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญในการยกระดับการผลิต โดยการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตเพื่อช่วยตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งเป็นการช่วยรักษาฐานตลาดเดิมที่มีอยู่ และยังเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดใหม่ ๆ ได้อีกด้วย

 

เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์

sedthakarn@se-ed.com

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด