พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล
“เมื่อไรก็ตามที่เรายังเห็นคู่แข่งขันก้าวนำหน้าเราอยู่ตลอด และเรายังคงเข้าใจว่าสักวันหนึ่งเราจะก้าวทัน นั่นคือเรายังอยู่กับที่หรือยังเก่งเท่าเดิม ส่วนคู่แข่งขันเราเขาเก่งแซงหน้าไปแล้ว เราจะช่วยกันพัฒนาอย่างไรดีจึงจะก้าวทันหรือยกระดับองค์กรให้สูงขึ้น”
ทีมงานที่เข้มแข็งและกล้าแกร่งมักจะนำมาซึ่งความสำเร็จ แต่ทีมที่พัฒนาไม่หยุดนิ่ง จะนำมาซึ่งระดับคุณภาพการทำงานที่สูงขึ้น ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกันแต่หลายองค์กรยังเป็นคนละเรื่อง นั่นคือ หลายองค์กรสร้างทีมงานที่แข็งแกร่งทำงานได้ตามเป้าหมายตลอดแต่ยังไม่สามารถยกระดับคุณภาพขององค์กรให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นได้ ทำอย่างไรจึงจะทำให้องค์กรพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนเพื่อให้ระดับคุณภาพการทำงานอยู่ในระดับหรือเกณฑ์ที่เทียบได้กับองค์กรชั้นแนวหน้า
เริ่มจากคนและแผน
การจะเขียนแผนทำโครงการต่าง ๆ ย่อมต้องมีข้อมูลที่เพียบพร้อมและแม่นยำ การพัฒนาองค์กรก็เช่นกัน ย่อมต้องอาศัยข้อมูลต่าง ๆ และที่สำคัญก็คือทรัพยากรบุคคลขององค์กรที่มีความสามารถอยู่ในระดับใดบ้าง พร้อมที่จะรับการพัฒนาคุณภาพขนาดไหน จากนั้นจึงเริ่มวางแผนการพัฒนาว่าจะมุ่งไปที่แผนกไหน อย่างไร ตามเวลาที่กำหนดไว้ บางครั้งก็เหมือนจะง่ายแต่บางครั้งก็ยากมากในการที่จะพัฒนาองค์กรแต่ละครั้ง ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นก็คงเป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ ๆ ที่คนในบ้านมัวแต่ทำงานกันอย่างขันแข็ง แต่ไม่มีใครช่วยดูแลปัดกวาดบ้าน ทำแต่งาน เครื่องใช้ไม้สอยก็กระจัดกระจาย บ้านขาดการดูแลซ่อมแซม เวลาที่ทุกคนต้องการพักผ่อนก็ไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างสบายใจเพราะบ้านมีแต่ความรก มองไปทางไหนก็ไร้ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทางออกก็คือหากทุกคนทำงานกันอย่างเป็นเวลา แบ่งหน้าที่มาช่วยกันปัดกวาดเช็ดถูบ้าน หรือหาแม่บ้านมาช่วยจัดการบ้านให้เรียบร้อย บ้านก็จะน่าอยู่ ใครเข้ามาก็รู้สึกสบายใจได้พักผ่อน มีแรงไปทำงานต่อ มีสมองคิดอะไรออกอีกมากมาย
พอเทียบให้เห็นเป็นบ้านแล้วคราวนี้ลองนึกถึงองค์กรที่มีคนทำงานกันมากมายหลายแผนกบ้างพ่อบ้านแม่บ้านในที่นี้ก็อาจเป็นผู้จัดการที่ต้องดูแลสอดส่องจัดการกับความไม่เรียบร้อยในบ้าน เช่น โรงงานก็จะมีผู้จัดการโรงงานคอยดูแลความเรียบร้อยต่าง ๆ ทั้งในสายการผลิตและวินัยของคนในโรงงาน ผู้จัดการโรงแรมก็จะดูแลแขกและงานบริการต่าง ๆ สร้างความสะดวกสบายและความประทับใจ ดังนั้นหากจะมองในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพพนักงานในแต่ละแผนกจึงควรทราบพื้นฐานความรู้ของพวกเขา ความเข้าใจงานที่ทำ ความมุ่งมั่น และทิศทางการทำงานที่เข้าใจตรงกัน เพื่อให้เกิดแผนงานที่ช่วยพัฒนาอย่างตรงจุดที่เป็นจุดอ่อนต้องแก้ไข และเสริมจุดแข็งในส่วนที่ทีมงานทำได้ดีมาตลอด
ยกระดับต้องมองเห็นฐานตัวเอง
เป็นเรื่องปกติที่เราจะก้าวไปสู่อีกจุดหนึ่งที่สูงกว่าเราย่อมต้องทราบว่าจุดที่เรายืนอยู่ตรงไหนห่างจากจุดที่เราจะไปเท่าไร จะก้าวอย่างไร ต้องคำนวณอย่างแม่นยำและก้าวไปด้วยความมั่นใจ หลายองค์กรมีผู้นำที่เก่งกล้าและมากด้วยประสบการณ์จึงเป็นดั่งกัปตันเรือที่เชี่ยวชาญพาลูกเรือไปในทิศทางหรือเป้าหมายได้อย่างปลอดภัยและประสบผลสำเร็จ ทว่ามีผู้นำหลายคนที่ต้องพบกับความผิดพลาดเนื่องจากมีตัวแปรต่าง ๆ เข้ามาสร้างโอกาสที่จะทำให้ทีมงานยังไม่สามารถยกระดับขึ้นได้ เช่น ความสามารถของพนักงานในบางตำแหน่งยังไม่พร้อม เครื่องมือยังอยู่ในเกณฑ์การผลิตที่ต่ำ เสียบ่อย ขาดทีมงานซ่อมบำรุง
ทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนสร้างความผิดพลาดในการก้าวข้ามสู่ระดับการทำงานที่สูงขึ้น ดังนั้นหากเราทราบถึงฐานขององค์กรว่าอยู่ในระดับใดมีอะไรบ้างเป็นองค์ประกอบวิเคราะห์กระบวนการทำงานต่าง ๆ ว่า จุดไหนต้องปรับปรุงแก้ไข ปรับทีละจุดอย่างไม่กระทบกระเทือนสายการผลิตหรืองานบริการ หรือมองเปรียบเทียบง่าย ๆ กับการนำท่อนไม้มาวางเรียงกันทีละท่อนเพื่อก่อให้เป็นกองไม้ถ้าวางเรียงไม่ดี เมื่อไรที่ไม้ท่อนใดท่อนหนึ่งโดนดึงออก กองไม้นั้นก็จะโค่นล้ม แต่ถ้าวางดีซ้อนกันอย่างมีระเบียบดึงท่อนใดออก กองไม้ก็ยังคงอยู่ได้ หรือการวางฐานรากอย่างมีการวางแผน กองไม้นี้ก็จะสูงขึ้นอย่างมั่นคงได้เพราะท่อนไม้ทุกท่อนสามารถรับน้ำหนักกันได้อย่างลงตัว เช่นกันกับพนักงานในองค์กรที่เป็นเหมือนท่อนไม้แต่ละท่อน การทำงานร่วมกันอย่างเป็นกระบวนการและเกื้อหนุนกันอย่างดีเยี่ยม ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งในการเสริมจากฐานรากต่อยอดขึ้นสู่ระดับที่สูงขึ้น
มองจากที่สูงกว่าเดิมจะเห็นระยะห่าง
หลายองค์กรเข้าใจว่าตัวเองทำงานได้ดีและอยู่ในระดับแนวหน้าของธุรกิจนั้น ๆ ทว่าองค์กรใหญ่ ๆ ที่ประสบความสำเร็จล้วนแล้วแต่ส่งคนไปอบรมดูงานอย่างต่อเนื่อง มีการสอดส่องความเคลื่อนไหวของกระบวนการผลิตต่าง ๆ จากองค์กรที่เผยแพร่ความรู้และองค์กรธุรกิจใหญ่ ๆ ที่เปิดโอกาสให้พันธมิตรธุรกิจได้รับความรู้พัฒนาไปพร้อมกัน นั่นก็คือความใจกว้างอย่างชาญฉลาดขององค์กรที่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่ใช่เพียงแค่ให้ความรู้กับองค์กรขนาดเล็กกว่า แต่มันหมายถึงการได้พันธมิตรทางธุรกิจที่มีคุณภาพมาร่วมงานกัน ลดระยะห่างของระดับคุณภาพองค์กร เท่ากับต่อยอดความสำเร็จให้กัน
ระดับคุณภาพขององค์กรย่อมต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของพนักงานทุกคนและวิสัยทัศน์ที่มองรอบตัวของผู้บริหารจึงจะสามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องยั่งยืนและก้าวสู่ระดับที่สูงขึ้นขององค์กรในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
ดังนั้น "การยกระดับองค์กรจึงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่หมายถึงทีมงานทุกคนที่ต้องช่วยกัน...ยกระดับองค์กรของพวกเรา"