Productivity & Operations

การควบคุมด้วยการมองเห็น เพื่อช่วยเพิ่มผลิตภาพ (Visual Control for Productivity)

ดร.วิทยา อินทร์สอน

สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์

ผศ.ดร.ไพโรจน์ ด้วงนคร

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

ปัทมาพร ท่อชู

สาขาวิชาอุตสาหกรรมศิลป์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

 

 

 

 

"การสื่อสาร นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญมากอย่างหนึ่งในกระบวนการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพราะข้อมูลต่าง ๆ จะส่งทอดจากผู้ให้ข้อมูลจนถึงผู้รับได้ก็ต้องผ่านทางการสื่อสาร การสื่อสารของคนเราจะต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ในประสาทสัมผัสทั้งห้านี้ ตาคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในกระบวนการสื่อสารของมนุษย์ การสื่อสารทางตาที่ไม่มีประสิทธิภาพจะบั่นทอนประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ หรือการบริการลงเกือบทั้งหมด"

 

 

          บุคลากรเป็นจำนวนมากที่ปฏิบัติงานอยู่ไม่ว่าจะในโรงงานหรือสำนักงานมักประสบปัญหาที่ว่า งานหลายประเภทไม่สามารถทำแทนกันได้ หรือเมื่อเกิดความผิดปกติใดในสถานที่ทำงาน หรือตัวงานเอง ผู้ที่จะรู้ได้มีเพียงผู้ปฏิบัติงานในงานนั้นเท่านั้น ผู้อื่นไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารที่อาจมีการเดินสำรวจพื้นที่เป็นบางครั้งก็ไม่อาจมองเห็นความผิดปกติได้ จะสามารถรู้ได้ก็ผ่านทางการสอบถามผู้ปฏิบัติงานโดยตรงเท่านั้น หรือแม้จะเป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงในงานนั้นก็ตาม หากมองในภาพรวมทั่ว ๆ ไปอย่างไม่ได้ใจจดจ่อก็อาจมองไม่เห็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ กระบวนการทำงานที่ตกอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดผลดีในการทำงาน

          การบริหารโรงงานอุตสาหกรรมด้วยหลักการมองเห็น เป็นระบบที่ใช้สนับสนุนการปรับปรุงผลิตภาพทั่วทั้งโรงงาน โดยจะครอบคลุมถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความปลอดภัย คุณภาพ การส่งมอบตรงเวลา การสร้างผลกำไร และการสร้างขวัญกำลังใจ โดยมุ่งแสดงด้วยสัญญาณ แถบสี และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในสถานที่ทำงาน เพื่อสื่อสารให้พนักงานหรือผู้เกี่ยวข้องทราบถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญของสถานที่ทำงาน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมงานผลิต และใช้เป็นสารสนเทศสำหรับป้องกันความสูญเสีย

          ดังนั้นการควบคุมด้วยการมองเห็น (Visual Control) เป็นเทคนิคพื้นฐานในการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ที่สามารถช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยในการทำงานมากยิ่งขึ้น

 

 

รูปที่ 1 ตัวอย่างการกำหนดรหัสในการจัดเก็บทุกตำแหน่ง

 

 

ความหมายของการควบคุมด้วยการมองเห็น

 

           การควบคุมด้วยการมองเห็น (Visual Control) เป็นระบบควบคุมการทำงานที่ทำให้พนักงานทุกคนสามารถเข้าใจขั้นตอนการทำงาน เป้าหมาย ผลลัพธ์การทำงานได้ง่าย และชัดเจน รวมถึงเห็นความผิดปกติต่าง ๆ และแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้บอร์ด ป้าย สัญลักษณ์ กราฟ สี และอื่น ๆ เพื่อสื่อสารให้พนักงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคนทราบถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญของสถานที่ทำงาน ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจหลักการของ Visual Control ในทิศทางเดียวกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพในองค์กร

 

 

 

รูปที่ 2 ตัวอย่างลักษณะการควบคุมด้วยการมองเห็นงานจราจร

 

 

ประโยชน์ของการควบคุมด้วยการมองเห็น 

 

          การควบคุมเชิงประจักษ์ การควบคุมด้วยสายตา หรือการควบคุมด้วยการมองเห็น โดยทั่วไปเป็นเทคนิคที่ใช้ในระบบเครื่องจักรอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่ในระบบการบริหารจัดการทั่วไป เป็นเทคนิคใหม่ที่กำลังเติบโตอยู่ในขณะนี้ องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เริ่มนำมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพองค์กร โดยมีประโยชน์ดังนี้คือ

  1. ช่วยทำให้ผู้บริหารและบุคลากรมีความรู้และความเข้าใจในระบบการควบคุมด้วยการมองเห็น
  2. ทำให้มีทักษะที่สามารถนำไปประยุกต์และพัฒนาองค์กรต่อไปได้จริง
  3. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
  4. ช่วยทำให้เกิดประโยชน์ในการทำงาน ลดความสูญเสียในการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น และปรับปรุงคุณภาพงาน
  5. เทคนิค Visual Control จึงเป็นเทคนิคพื้นฐานในการเพิ่ม Productivity ที่สามารถช่วยให้การทำงาน มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

 

 

ประเภทของการควบคุมด้วยการมองเห็น

 

          การควบคุมด้วยการมองเห็น เป็นเทคนิคที่ใช้การสื่อสารผ่านการมองเห็น โดยแสดงให้เห็นผลการปฏิบัติงาน เห็นความผิดปกติ หรือสื่อสารความหมายบางอย่างให้เห็นได้อย่างสะดวก ชัดเจน และเข้าใจได้ง่ายขึ้น การแบ่งประเภทของการควบคุมด้วยการมองเห็น สามารถแบ่งได้หลายลักษณะ เช่น แบ่งตามประโยชน์ในการประยุกต์ใช้เป็นกลุ่ม

 

          1. การควบคุมด้วยการมองเห็น (Visual Control) เพื่อความปลอดภัย เช่น สัญลักษณ์ความปลอดภัยแบบต่าง ๆ

 

 

รูปที่ 3 ตัวอย่างสัญลักษณ์ความปลอดภัยแบบต่าง ๆ

 

 

          2. การควบคุมด้วยการมองเห็น (Visual Control) เพื่อปรับปรุงคุณภาพ เช่น ตัวอย่างลักษณะงานดี งานเสีย


          3. การควบคุมด้วยการมองเห็น (Visual Control) เพื่อการบริหารสินค้าคงคลัง เช่น ป้ายบอกประเภทสินค้าต่าง ๆ

 

 

 

รูปที่ 4 ตัวอย่างป้ายบอกประเภทราคาสินค้าต่าง ๆ

 

 

          4. การควบคุมด้วยการมองเห็น (Visual Control) เพื่อการบำรุงรักษาเครื่องจักร เช่น ขีดบอกระดับสูงสุด-ต่ำสุดของน้ำมันเครื่อง

 

 

 

รูปที่ 5 ตัวอย่างขีดบอกระดับสูงสุดอายุการใช้งานน้ำมันเครื่อง

 

 

          5. การควบคุมด้วยการมองเห็น (Visual Control) เพื่อการส่งเสริมการขาย เช่น ป้ายโฆษณาสินค้า

 

 

รูปที่ 6 ตัวอย่างป้ายโฆษณา

 

 

          6. การควบคุมด้วยการมองเห็น (Visual Control) เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงาน เช่น กราฟแสดงผลการปฏิบัติงานของแต่ละแผนก ฯลฯ

 

 

รูปที่ 7 ตัวอย่างกราฟแสดงผลการปฏิบัติงานของแต่ละแผนก

 

 

การควบคุมด้วยการมองเห็น (Visual Control) ที่ดี

 

          Visual Control เป็นเครื่องมือที่จะป้องกันมิให้เกิดปัญหานั้นซ้ำขึ้นมาอีก ซึ่งอาจเป็นมาตรการควบคุมให้จุดที่เป็นสาเหตุนั้นเป็นปกติอยู่เสมอ

         

          Visual Control ที่ดีมีลักษณะดังนี้

 

          1. ทำให้ทราบสถานะของสิ่งนั้นว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด

          2. สามารถทำให้ทราบถึงสภาวะที่แท้จริงว่าเป็นปกติหรือว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว

          3. สามารถทำให้ทราบว่าจะต้องดำเนินการแก้ไขให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้อย่างไร

 

          ดังนั้น Visual Control ที่ดีจะเป็นระบบหรือสิ่งที่ควบคุมดูแลนั้นจะเป็นผู้แสดงความผิดปกติเอง และสิ่งที่มีความผิดปกตินี้จะแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลได้รับทราบถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น และให้ผู้รับผิดชอบได้รีบเข้ามาดำเนินการแก้ไขอย่างเหมาะสมทันเวลา

 

 

หลักการวิธีการค้นหา Visual Control แบบง่าย

 

          ตัวอย่างวิธีการค้นหาว่าเราควรจะมี Visual Control อะไรบ้างนั้น มีหลักง่าย ๆ ดังนี้คือ

 

          1. หน่วยงานที่มีการตัดสินใจ โดยควรมีป้ายบอกขั้นตอนการตัดสินใจ หรือมาตรฐานการตัดสินใจ เช่น กรณีที่ทำถูกต้อง หรือกระทำผิด เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถตัดสินใจได้ทันที ต้องทำสิ่งใดก่อนหลัง เป็นต้น หน่วยงานที่มีการทำผิดพลาด ควรทำป้ายเตือน หรือข้อควรระวัง รวมไปถึงข้อปฏิบัติเมื่อเกิดความผิด รวมไปถึงป้ายเตือนในขั้นตอนต่าง ๆ ที่มักจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้น

          2. หน่วยงานที่มีอันตราย ควรมีป้ายบอกขั้นตอน ข้อควรปฏิบัติ และไม่ควรปฏิบัติ เช่น ป้ายสวมอุปกรณ์ก่อนเข้าทำงาน ระวังศีรษะ ระวังพื้นลื่น และระวังเครื่องจักร เป็นต้น

          3. สำหรับตำแหน่งของเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ ควรมีป้ายบอก เพื่อกำหนด หรือระดับสูง (High) กลาง (Middle) ต่ำ (Low) เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ ระดับของของเหลว หรือแรงดันที่อยู่ในเครื่อง ระดับของลม กระแสไฟฟ้า หรือการขีดเส้นกำหนดตำแหน่งการติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานการปฏิบัติงานทุกครั้งที่มีการติดตั้งเครื่องจักร เป็นต้น

 

 

การเลือกใช้ Visual Control

 

          การเลือก Visual Control ไปใช้งานมีหลักง่าย ๆ ดังนี้

 

          1. ควรเลือกใช้ทั้งขนาด รูปร่าง และสี ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์

          2. ติดอยู่ในระดับ หรือตำแหน่งที่ผู้ปฏิบัติเห็นได้ชัดเจน

          3. สอดคล้องกับสภาพการปฏิบัติงานจริง

          4. ไม่ควรมีเยอะจนเกิดความสับสน

 

          การควบคุมด้วยสายตา หรือการควบคุมด้วยการมองเห็นมีประโยชน์มากหากนำไปใช้งานจริงดังตัวอย่างข้างต้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือทุกคนต้องทำด้วยความรู้ความเข้าใจ ตระหนัก ให้ความร่วมมือ เล็งเห็นความสำคัญ และประโยชน์ที่ได้ เพราะถ้าหากทำไปโดยที่ขาดสิ่งเหล่านั้นแล้ว Visual Control ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ทำไว้เพื่อโชว์ผู้บริหาร ลูกค้า หรือผู้ตรวจประเมิน (Auditor) เท่านั้นเอง

 

 

การรับข้อมูลข่าวสารโดยประสาทสัมผัสทั้ง 5

 

          ระบบประสาท (Nervous System) เปนระบบหนึ่งที่มีระบบควบคุมรวมกันกับระบบตอมไร้ทอที่ใชควบคุมการทํางานของระบบตาง ๆ ใหทรงสภาพปกติในร่างกาย (Homeostasis)

 

          หนาที่ของระบบประสาท แบ่งได 3 กลุมใหญ่ คือ

 

          1. การรับความรูสึก (Sensory or Afferent) โดยอาศัยตัวรับความรูสึกจากอวัยวะรับความรูสึกตาง ๆ เชน หู ตา รับรูขอมูลจากภายนอกรางกาย และมีสวนที่รับความรูสึกจากภายในรางกาย เชน กลามเนื้อ ขอตอ อวัยวะภายใน เปนพวกที่รับความรูสึกเกี่ยวกับสภาวะต่าง ๆ ภายในรางกาย สัญญาณประสาทรับความรูสึกแตละชนิดถูกสงเขาเสนประสาทและเดินทางในประสาทสวนกลางที่จําเพาะกับชนิดของความรูสึกตาง ๆ

          2. การวิเคราะหขอมูล (Integration) คือการรับสง เก็บ (Store) การจัดการกับข้อมูลสัญญาณประสาทในระบบประสาท (Information Processing) เชน การเก็บความจํา การเรียนรูการใชความคิด การเขาใจความหมาย เปนตน การรับสงขอมูลไปมาในระบบประสาททําให้เกิดการควบคุมการทำงานซึ่งกันและกันภายในส่วนต่าง ๆ ของระบบประสาท

          3. การสั่งงานและการควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย (Motor or Efferent) จากประสาทส่วนกลางที่วางแผนการเคลื่อนไหว แล้วส่งสัญญาณประสาทไปควบคุมอวัยวะแสดงผล (Effectors Organs) ซึ่งอาจเป็นกล้ามเนื้อลาย กล้ามเนื้อเรียบ และกล้ามเนื้อหัวใจ หรือต่อมที่มีท่อต่าง ๆ เช่น ต่อมน้ำตา และต่อมเหงื่อ เป็นต้น

 

 

 

การมองเห็น (Vision)

 

          การมองเห็น อาศัยการทำงานร่วมกันของตากับระบบประสาทที่เกี่ยวข้องรวมกัน เรียกว่า ระบบการมองเห็น (Visual System) และมีขบวนการป้องกันอันตรายแก่ลูกตา เรียกว่า การตอบสนองต่อสิ่งเร้าของระบบการมองเห็นแบบรีเฟล็กซ์ (Visual Reflex)

 

          การทำงานของตามีส่วนประกอบโดยสรุปได้ ดังนี้

 

          1. เลนส์แก้วตา (Lens) อยู่ส่วนหน้าของลูกตา ทำหน้าที่รวมแสงให้ตกลงบนตัวรับสัญญาณ (Receptors) เลนส์แก้วตามีลักษณะโปร่งแสง ไม่มีสี ความยืดหยุ่นสูง สามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ เลนส์ตาถูกยึดกับที่ด้วยเอ็นยึดเลนส์ ด้านหน้าเลนส์ตามีแผ่นบาง ๆ ของกล้ามเนื้อเรียบ มาปิดคลุมเลนส์เอาไว้ เรียกว่า ม่านตา (Iris) ซึ่งทึบแสงตรงกลางมีรูให้แสงผ่านเรียกว่า รูม่านตา (Pupil)

          2. ตัวรับ (Receptors) อยูภายในลูกตาสําหรับสิ่งเราคือ แสง เซลลประสาทในชั้น Retina ที่สําคัญคือ เซลลรับแสง

          3. ระบบประสาท นําสัญญาณประสาทจากตัวรับ สงขึ้นสูสมองเพื่อแปลภาพเรตินา (Retina) ของลูกตาจะรับการกระตุนจากแสง สัญญาณจะสงผาน Optic Nerve จากเรตินาไปยัง Lateral Geniculate Body ของ Thalamus และไปยังสมอง สวนที่ทําหนาที่ในการแปลผลการมองเห็น (Visual Cortex) ในสมองสวนทายทอย (Occipital Lobe)

 

 

สมรรถนะในการมองเห็น

 

          ความสามารถในการมองเห็นของมนุษย มีความสําคัญเกี่ยวกับการทํางานของมนุษย์อย่างยิ่ง

 

          สมรรถนะในการมองเห็น ของมนุษย ไดแก

 

          1. มุมมองในแนวนอน (Visual Field Horizontal Plane)

 

          มุมมองการมองเห็นในแนวนอนในขณะมองตรงของมนุษยนั้น มีระยะของมุมมองเห็นภาพประมาณ 62 องศา และมีระยะของมุมมองในการอานตัวอักษรประมาณ 10-20 องศา สวนระยะในการมองเห็นของตาทั้งขางซายและขางขวาประมาณ 94-04 องศา

 

 

รูปที่ 8 มุมมองในแนวนอน

 

 

           2. มุมมองในแนวตั้ง (Visual Field Vertical Plane)

 

          ในขณะมองตรงนั้นมุมมองการเห็นในแนวตั้งมีระยะของมุมมองในการมองเห็นภาพดานบนประมาณ 50 องศา ดานลางประมาณ 70 องศา ขณะเดียวกันจะมีแนวสายตาในระดับยืนประมาณ 10 องศา และในระดับนั่งประมาณ 15 องศา

 

 

รูปที่ 9 มุมมองในแนวตั้ง

 

 

 

รูปที่ 10 ระดับการมองและการจัดพื้นที่ทำงาน

 

 

 

รูปที่ 11 ระดับการมองและการจัดพื้นที่ทํางาน

 

 

ตัวอย่างการประยุกต์ หรือพัฒนาใช้ Visual Control

 

          เทคนิค Visual Control จึงเป็นเทคนิคพื้นฐานในการเพิ่ม Productivity ที่สามารถช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สารสนเทศที่ได้รับจากระบบควบคุมด้วยการมองเห็นยังช่วยให้พนักงานสามารถประเมินปัญหาและค้นหาแนวทางการแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นตัวอย่างการพัฒนาใช้ Visual Control มีดังต่อไปนี้

 

          ตัวอย่างที่ 1 การประยุกต์หรือพัฒนาใช้ Visual Control

 

          1. การควบคุมสายการผลิต

 

  • ประชุมชี้แจงให้พนักงานทราบภาระงานที่ต้องทำ มีคำสั่งที่ชัดเจนของหัวหน้างาน และทำให้หน่วยงานวางแผนทราบสถานการณ์ปฏิบัติงานอย่างรวดเร็ว
  • สำหรับแบบการผลิต (Drawing) ที่มีความยุ่งยาก จะต้องมีการแนบเอกสารประกอบให้สมบูรณ์
  • ใบรายงานการผลิตประจำวัน ควรระบุช่วงเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดลักษณะงานให้ถูกต้อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผน และการควบคุมการผลิตต่อไป

 

 

 ตารางที่ 1 ตัวอย่างรายงานการผลิตประจำวัน

 

 

 

          2. การควบคุมคุณภาพและผลิตภาพสายการผลิต

 

  • ถ้ามีป้ายติดแสดงเป้าหมายอย่างเดียวอาจจะน่าสนใจเฉพาะตอนเดือนแรก ๆ เท่านั้น และเมื่อเห็นจนชินตาแล้วป้ายจะเป็นเพียงแค่เศษกระดาษธรรมดาเท่านั้น ดังนั้นควรแสดงผลการรายงานสัดส่วนของเสียรายเดือนแต่ละแผน และนำเสนอข้อมูลบนบอร์ดแสดงผล หรือกระดาษแผ่นใหญ่ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับรู้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ
  • แสดงข้อมูลใช้เป็นแนวทางลดของเสีย โดยอาจเลือกใช้เครื่องมือแสดงสาเหตุปัญหา เช่น การนำแผนภูมิ Pareto แสดงสาเหตุของเสีย และทำการเปรียบเทียบความสำเร็จ เพื่อกระตุ้นให้พนักงานร่วมช่วยกันขจัดลดปัญหา แต่ข้อควรระวังการเปรียบเทียบคือกราฟ Pareto: Scale ต้องเท่ากัน เพื่อป้องกันการแปลความหมายผิดพลาด

 

 

 

รูปที่ 12 ตัวอย่างแผนภูมิแสดงจำนวนครั้งที่พบสินค้าไม่ได้มาตรฐาน

 

 

          3. สรุปผลการดำเนินงาน โดยรายงานผลให้กับฝ่ายบริหาร และสนับสนุนการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ดังนั้นรายงานข้อมูลตามหลักการบริหารงานวงจรเดมมิ่ง (Deming Cycle) ที่ชัดเจนถูกต้อง ประกอบด้วย PDCA

          ตัวอย่างรายงานยอดขายเปรียบเทียบกับปีที่แล้วกับการประมาณการ ดังรูปข้างล่างแสดงยอดรายได้ตั้งแต่ปี 2551-2554

 

 

รูปที่ 13  ตัวอย่างแผนภูมิแสดงรายได้ของบริษัทแห่งหนึ่ง

 

 

          4. การแสดงแผนผังองค์กร (Organization Chart) ทำให้ทราบสายการบังคับบัญชาและหน้าที่ความรับผิดชอบแต่ละหน่วยงาน รวมถึงกิจกรรมกลุ่มต่าง ๆ เช่น 5ส กิจกรรม QCC เพื่อกำหนดรายละเอียดกิจกรรมและตรวจติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการ

 

 

รูปที่ 14 ตัวอย่างแผนผังแสดงโครงสร้างขององค์กร

 

 

          5. การแจ้งสถานะโดยรวมของสายการผลิต อาจแสดงด้วยสัญญาณไฟที่มองเห็นชัดเจน และมีความเหมาะสมกับแต่ละเครื่อง และสัญญาณดังกล่าวจะบอกถึงปัญหาเครื่องจักรขัดข้อง หรือการเกิดของเสียในสายการผลิต นอกจากนี้ยังแจ้งเตือนให้พนักงานทราบเกี่ยวกับเวลาการจัดเตรียมกิจกรรมบางอย่าง เช่น การตั้งเครื่อง การถอดเปลี่ยนชิ้นส่วน การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และการซ่อมแซมเครื่องมือตามอายุการใช้งาน เป็นต้น

 

 

รูปที่ 15 ระบบไฟการแจ้งเตือนปัญหา

 

 

          6. การจัดทำระเบียบมาตรฐานปฏิบัติงาน (Standard of Procedure) โดยจะรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงานในกระบวนการผลิต และควรติดแสดงไว้ที่เครื่องจักรหรือหน่วยผลิตให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถมองเห็นได้ง่าย และดำเนินการตามขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง

 

 

          ตัวอย่างที่ 2 การประยุกต์หรือพัฒนาใช้ Visual Control

  

          Visual Control เป็นเทคนิคการสื่อสารผ่านการมองเห็นที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา และเห็นกันอยู่ในชีวิตประจำวันทุก ๆ วันอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นเทคนิคง่าย ๆ แต่มีประสิทธิภาพสูงในการสื่อสาร เราจึงสามารถมองหา Visual Control ได้ในเกือบทุกสถานที่ เช่น ตามท้องถนน ในโรงเรียน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ตลาด สวนสนุก พิพิธภัณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในบริษัทหรือโรงงานต่าง ๆ สถานที่ราชการต่าง ๆ ฯลฯ เพียงแต่เราอาจไม่ได้สังเกต หรือไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควรในการนำมาขยายผลและประยุกต์ หรือพัฒนาใช้เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการทำงาน เช่น

 

  • การใช้รหัสสีแสดงบนท่อ หรือสายไฟของโรงงาน (Color-Coded Pipes and Wires)
  • การใช้สี หรือป้าย เพื่อกำหนดพื้นที่สำหรับจำแนกจัดเก็บตามประเภทวัสดุ เช่น ผลิตภัณฑ์ งานระหว่างผลิต และเศษของเสีย
  • การแสดงสารสนเทศสำหรับควบคุมการผลิต (Production Control) โดยแสดงรายละเอียดกำหนดการผลิตบนบอร์ด เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบอย่างทั่วถึง
  • การแสดงสารสนเทศการดำเนินงาน เช่น ตัวชี้วัด เป้าหมาย ในรูปของแผนภูมิบนบอร์ดแสดงผล (Display Board)
  • การแสดงเอกสาร (Visual Documentation) เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปถูกต้อง จึงควรมีการแสดงรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คู่มือการทำงาน (Work Instruction) วิธีตรวจสอบ (Auditing Procedure) แผนภูมิกระบวนการผลิต (Process Chart) และแสดงรายละเอียดลำดับขั้นตอนการผลิต (Route Sheet)
  • การแสดงรายละเอียดข้อกำหนดของเครื่องจักร เพื่อให้พนักงานสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง
  • การควบคุมคุณภาพ โดยมีการแสดงชิ้นงานที่สมบูรณ์เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถใช้เป็นตัวอย่างการประกอบชิ้นงาน
  • การแสดงระดับที่เหมาะสมสำหรับการบริหารสต็อก (Minimum and Maximum) และการจัดซื้อ (Purchasing)

 

 

          ตัวอย่างที่ 3 การประยุกต์หรือพัฒนาใช้ Visual Control

 

          การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพการทำงาน ด้วยการสื่อสารให้ทุกคนได้เห็นเป้าหมาย หรือมาตรฐานของงาน ทราบสถานะที่เกิดขึ้นจริง ตลอดจนเข้าใจขั้นตอนการทำงาน ด้วยการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจอยู่ในรูปของกราฟ ภาพ หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ดังนั้นหากองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นำมาพัฒนาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพองค์กรก็จะมีการทำงานที่ดียิ่งขึ้น เช่น

 

          1. การกำหนดทิศทางขององค์กร เช่น ป้าย หรือบอร์ดวิสัยทัศน์ พันธกิจขององค์กร

          2. แผนการดำเนินงาน เช่น บอร์ดที่แสดงแผนการดำเนินงานที่ระบุเป้าหมายและผลการดำเนินงาน

          3. การรายงานสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น บอร์ดแสดงกราฟของผลผลิตในแต่ละสัปดาห์

          4. การควบคุมการผลิต เช่น แผงหลอดไฟแสดงสถานะของเครื่องจักร

          5. ระบบคุณภาพ เช่น ภาพตัวอย่างชิ้นงานที่ได้มาตรฐานกับของเสีย

          6. 5ส และการควบคุมวัสดุ เช่น แผนผังผู้รับผิดชอบ พื้นที่ สเกลการควบคุมวัสดุในสต็อก

          7. การบำรุงรักษา เช่น สัญลักษณ์สีที่หน้าปัดเกจ

 

 

          ตัวอย่างที่ 4 การประยุกต์หรือพัฒนาใช้ Visual Control

 

          การพัฒนาใช้เทคนิค Visual Control มาพัฒนาใช้ในชีวิต ประจำวัน หรือในสถานที่ทำงาน อาจเริ่มจากการใช้เทคนิคง่าย เช่น เทคนิคการตั้งคำถาม 5 W 1 H เพื่อหาเหตุและผลในการพัฒนาใช้เทคนิค Visual Control นั้น ๆ เช่น 5 W 1 H ตัวอย่างคำถาม

 

          1. Why หรือ ทำไม

  • ทำไมถึงต้องนำ Visual Control มาใช้
  • ทำไมจึงเกิดความผิดพลาดหรือปัญหาต่าง ๆ ขึ้น
  • ทำไมถึงต้องเลือก Visual Control แบบนั้นมาใช้

 

          2. How หรือ อย่างไร

  • จะนำ Visual Control เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร
  • ความผิดพลาดต่าง ๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร
  • จะสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจใน Visual Control นั้น ๆ ได้อย่างไร

 

          3. What หรือ อะไร

  • สื่อหรือเทคนิค Visual Control อะไรที่ควรนำมาใช้
  • อะไรบ้างที่จะเป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการใช้ Visual Control

 

          4. When หรือ เมื่อไร

  • ต้องการใช้ Visual Control ในการสื่อสารผู้ที่เกี่ยวข้องทราบเมื่อไร
  • ความผิดพลาดต่าง ๆ มักเกิดขึ้นเมื่อไร
  • จะนำ Visual Control เข้ามาใช้เมื่อไร

 

          5. Where หรือ ที่ไหน

  • กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการใช้ Visual Control อยู่ที่ไหน
  • จะติดตั้ง Visual Control ที่บริเวณไหนจึงจะเห็นได้ง่ายและชัดที่สุด
  • ความผิดพลาดต่าง ๆ มักเกิดขึ้นที่บริเวณใด

 

          6. Who หรือ ใคร

  • ใครเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการใช้ Visual Control สื่อสารให้ทราบ
  • ใครเป็นผู้ที่มักทำให้เกิดความผิดพลาด
  • ใครเป็นผู้ที่ควรนำ Visual Control ไปใช้

 

          ตัวอย่างเช่น การนำ Visual Control และเทคนิคการตั้ง คำถาม 5 W 1 H มาประยุกต์ใช้ของบริษัทนำเที่ยวแห่งหนึ่งเพื่อแก้ปัญหานักท่องเที่ยวพลัดหลงจากกลุ่ม และหลงจากมัคคุเทศก์ในระหว่างการนำเที่ยว

 

          5 W 1 H คำถาม คำตอบ

 

          1. Why : ทำไมนักท่องเที่ยวถึงมักพลัดหลงในสถานที่ท่องเที่ยว? : มีนักท่องเที่ยวหลายกลุ่ม และมีเสียงดังทำให้เรียกกันไม่ได้ยิน นักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มไม่มีสัญลักษณ์เฉพาะกลุ่ม

          2. Who : ใครบ้างที่พลัดหลง และใครบ้างต้องตามหา? : นักท่องเที่ยวทุกคนมีโอกาสพลัดหลงจากกลุ่ม เมื่อนักท่องเที่ยวหลงจากกลุ่มมัคคุเทศก์อาจตามหาไม่พบ เนื่องจากจำนักท่องเที่ยวในกลุ่มของตนได้ไม่หมด

          3. How : ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้นักท่องเที่ยวพลัดหลง? : ต้องมีสัญลักษณ์เฉพาะกลุ่มที่ทำให้นักท่องเที่ยวเห็นกลุ่มและมัคคุเทศก์ของตนได้ง่าย แม้ว่าจะอยู่ไกล มีคนมากยืนบังกัน หรือไม่ได้ยินเสียงตะโกนเรียก

          4. What : จะใช้Visual Control อะไรเข้ามาช่วยแก้ปัญหา? : ใช้สี หรือสัญลักษณ์เฉพาะกลุ่มของตนที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มของตน เช่น ให้นักท่องเที่ยวใส่หมวกและติดเข็มกลัดของบริษัท และให้มัคคุเทศก์ก็ถือธงของบริษัท

          5. Where : จะติด Visual Control ที่ไหนจึงจะเห็นได้ชัด? : นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องติดเข็มกลัดที่หน้าอกเสื้อด้านซ้ายเหมือนกันเพื่อให้มองหาได้ง่าย และธงสีของบริษัทจะต้องติดที่ปลายไม้และชูขึ้นสูง ๆ ตลอดเวลา เพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นได้ชัดแม้ว่าอยู่ไกล เมื่อนักท่องเที่ยวหายจากกลุ่มก็ต้องพยายามมองสูง ๆ เพื่อหาธงของบริษัท

          6. When : เมื่อไรที่ควรใช้ Visual Control? : ทุกครั้งก่อนลงจากรถจะต้องให้นักท่องเที่ยวใส่หมวกและติดเข็มกลัดทุกคน และมัคคุเทศก์จะต้องชูธงสีขึ้นสูงตลอดเวลาในขณะนำเที่ยว

 

 

          ตัวอย่างที่ 5 การพัฒนาใช้สื่อ Visual Control

 

          การประยุกต์หรือพัฒนาใช้สื่อ Visual Control ในการสื่อสารผ่านการมองเห็นที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราในชีวิตประจำวันอาจใช้สื่อ Visual Control หลาย ๆ รูปแบบผสมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการสื่อสารมากที่สุด เช่น

 

          1. สี สีเสื้อกีฬาสี สีประจำโรงเรียน สีธนบัตรหรือเหรียญ สีบางสีมักถูกใช้ในการสื่อความหมายที่ค่อนข้างยอมรับเป็นสากล จึงต้องควรศึกษาและระวังในการเลือกใช้ เช่น

  • สีเขียว หมายถึง ความปลอดภัย หรือความเป็นธรรมชาติ ไม่เป็นพิษ หรือไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
  • สีเหลือง หมายถึง ให้ระวัง เพราะอาจเกิดความผิดพลาดหรืออันตรายได้

          2. ป้ายไฟ สัญญาณไฟจราจร ป้ายไฟรถแท็กซี่ แถบสะท้อนแสงให้เห็นเวลากลางคืน ป้ายไฟบอกสถานการณ์ทำงานของเครื่องจักร ไซเรนรถตำรวจหรือรถพยาบาล ฯลฯ การเลือกใช้สีป้ายไฟควรพิจารณาถึงความหมายของสี เช่น สีของสัญญาณไฟจราจร

          3. สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมาย เครื่องหมายจราจร ทางม้าลาย เครื่องหมายความปลอดภัย เครื่องหมายลูกเสือ เครื่องหมายบอกยศของทหาร ตำรวจ เครื่องหมายการค้า หรือโลโก้ของบริษัทต่าง ๆ

          4. ภาพถ่าย หรือภาพวาด ภาพถ่ายตัวอย่างนักเรียนที่แต่งกายถูกระเบียบ ภาพถ่ายตัวอย่างอาหารในเมนูอาหาร หรือในกรณีของการรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุมักใช้ภาพถ่ายความเสียหายหรือการบาดเจ็บจริงเพื่อกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการป้องกันอุบัติเหตุจากการเห็นภาพถ่ายจริง

          5. ชิ้นงานตัวอย่างจริง หรือแบบจำลอง ตัวอย่างเงื่อนไขแบบต่าง ๆ ในวิชาลูกเสือ ตัวอย่างเช่น เครื่องหมายลูกเสือที่อนุญาตให้ใช้ แบบจำลองอาคารต่าง ๆ ในโรงเรียน หุ่นจำลองแสดงอวัยวะต่าง ๆ ในตัวคน โครงกระดูกจำลอง ตัวอย่างเหรียญหรือธนบัตรปลอม

          6. แบบแปลน แผนผังอาคาร ผังแสดงอาณาบริเวณบริเวณโรงเรียน แผนที่ในการเดินทาง ผังโครงสร้างองค์กร Drawing แสดงส่วนประกอบของเครื่องจักร

          7. กราฟ แผนภูมิ กราฟเส้นแสดงยอดขายของร้านค้าในเดือนต่าง ๆ กราฟแท่งแสดงจำนวนนักเรียนระดับชั้นต่าง ๆ กราฟวงกลมแสดงอัตราส่วนระหว่างนักเรียนชายและนักเรียนหญิง

          8. ข้อความต่าง ๆ ป้ายชื่อโรงเรียน ป้ายคำขวัญวันเด็ก ป้ายคำขวัญประจำโรงเรียน พระบรมราโชวาทที่สำคัญ ป้ายชื่อแผนกในโรงพยาบาล ป้ายบอกทางริมถนน ป้ายรณรงค์ส่งเสริมต่าง ๆ

          9. ตัวเลข หมายเลขรถประจำทาง หมายเลขชานชาลารถไฟ หมายเลขประจำตัวที่เสื้อนักกีฬา นาฬิกาดิจิตอล สกอร์บอร์ดในสนามกีฬา

          10. เครื่องแบบ เครื่องแบบนักเรียน ลูกเสือ เนตรนารี ตำรวจ ทหาร พยาบาล ธงชาติประจำหน่วยงานต่าง ๆ และอื่น ๆ

 

 

บทสรุป

 

          Visual แปลวา สิ่งที่มองเห็นด้วยภาพ และ Control แปลวาการควบคุม ดังนั้นการควบคุมด้วยการมองเห็น หรือการควบคุมด้วยสายตา หมายถึง เทคนิคที่ใช้ในการสื่อสารผ่านการมองเห็นโดยแสดงให้เห็นผลการปฏิบัติงานเห็นความผิดปกติ หรือสื่อสารความหมายบางอย่างให้เห็นได้สะดวก ชัดเจน และเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดย Visual Control อาจจะอยู่ในรูปสัญลักษณ์ แผ่นป้าย สัญญาณไฟ แถบสี ภาพ และกราฟ เป็นต้น

          ดังนั้นหลักการดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบริหารด้วยการแสดงสารสนเทศ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับงาน สภาพพื้นที่การทำงาน ประเภทเครื่องจักร วัตถุดิบที่ใช้ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมการผลิตเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเกิดความปลอดภัยในขณะทำงาน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

  1. โกศล ดีศีลธรรม. (2548). หลักการควบคุมด้วยสายตา. ซีเอ็ดยูเคชั่น,
  2. ธวัชชานนท์ สิปปภากุล. (2548). การยศาสตร์และการวิภาคเชิงกล. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วาดศิลป์.
  3. Panero, J. and Zelnik, M. (1979). Human dimensions and interior space, a source Book of Design Reference Standards. The architectural Press Ltd. London.
  4. http://topofquality.com/tvisualcontrol/indexvisualcontrol.html.
  5. http://www.thailandindustry.com/guru/view.php?id=1475&section=9&rcount=Y.
  6. http://share.psu.ac.th/blog/tip5s-eng/27147.
  7. https://www.gotoknow.org/posts/375052
  8. http:// blog.eduzones.com/ poonpreecha/82318.
  9. https://www.gotoknow.org/posts/375052.
  10. http://www.thaidisplay.com/page/1-5S_% E0% B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0_Visual_Control.html.
  11. http://www.bt-training.com/index.php?lay =show&ac=article&Id=539191674&Ntype=1.
  12. http://boc.dip.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=348&Itemid=14.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด