Inside News

กำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับอุตสาหกรรม 7 คลัสเตอร์

จุรีรัตน์ ทิมากูร

 

 

“สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันศึกษาความเหมาะสมเรื่องการตั้งฐานการผลิตอุตสาหกรรม 7 คลัสเตอร์ ในแหล่งพื้นที่กลุ่มจังหวัด และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับนักลงทุน”

 

 

          สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม 7 คลัสเตอร์ที่ต้องการส่งเสริม ประกอบด้วย 1.คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน 2.คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3.ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 4.คลัสเตอร์แปรรูปอาหาร 5.คลัสเตอร์แปรรูปยางพารา (ไม่รวมไม้ยางพารา) 6.คลัสเตอร์ไอที 7.คลัสเตอร์สิ่งทอ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาว่าแต่ละคลัสเตอร์จะอยู่ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดใด ตลอดจนถึงพื้นที่เกษตรกรรม ก็ดูว่าแต่ละพื้นที่มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร

          พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมกับบอกว่าในส่วนพื้นที่เป้าหมายเบื้องต้นจะอยู่ในกลุ่มจังหวัดติดชายแดนและเป็นพื้นที่ที่ขยายจากอีสเทิร์นซีบอร์ด เช่น ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก และสระแก้ว เป็นต้น

          “พื้นที่ภาคใต้เป็นยางพารา ภาคตะวันออกน่าจะเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่งต้องทำให้เกิดให้ได้ และต้องพิจารณาถึงผลประโยชน์ตอบแทนที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนกับเราอย่างไร โดยการกำหนดความเหมาะสมด้านพื้นที่สำหรับแต่ละคลัสเตอร์นั้น จะต้องพิจารณาจุดแข็งและจุดอ่อนของพื้นที่นั้น ๆ รวมถึงความสามารถในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย”

          นอกจากนั้นเมื่อได้คำตอบในประเด็นเหล่านี้แล้ว จะนำไปให้กระทรวงมหาดไทยเปรียบเทียบผังเมืองที่ได้จัดทำไว้จะตรงกันหรือ สามารถรองรับได้หรือไม่ รวมทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ว่าตรงไหนจะให้สิทธิประโยชน์ได้บ้าง โดยจะเอาไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศอีกด้วย เช่น ประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม การดำเนินการดังกล่าวเป็นการสะกัดการไหลออกของแรงงาน ตลอดจนถึงการดึงดูดนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุน

          พล.อ.ประวิตร ยังได้กล่าวอีกว่า ในเรื่องอุปสรรคการดำเนินการ อาจจะเป็นเรื่องการประสานงาน แต่ทางบีโอไอ สภาพัฒน์ฯ และกระทรวงมหาดไทย จะไปพูดคุยกันให้เกิดความชัดเจน โดยมีคณะกรรมการฯของตนเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ถ้าพบว่าติดปัญหาใดเราจะรีบดำเนินการ จากนั้นจะรายงานให้นายกฯ รับทราบต่อไป อย่างไรก็ตามจะทำให้เร็วที่สุด และให้เสร็จภายในปี 2558

 

 

กอช. เร่งเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

 

          คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประธาน มีการพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่สำคัญ ดังนี้

          1. ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านผังเมืองที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม หลังจาก กอช. มีมติมอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองหารือและร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านผังเมืองที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผลการหารือกรมโยธาธิการและผังเมืองเห็นด้วยกับข้อเสนอการให้ยกเลิกบัญชีท้ายกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวม/เมือง/ชุมชน และกำหนดเป็นข้อห้ามแทนโดยผ่านกระบวนการคณะกรรมการผังเมืองในการกำหนดรายละเอียดของข้อห้ามต่อไป

          โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองมีข้อเสนอเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจะร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศนำร่องในพื้นที่เหมาะสมต่อไปที่ประชุม กอช. เห็นชอบข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น เพื่อจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

          2. ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พ.ศ.2559-2564 จากการที่ภาวะเศรษฐกิจประเทศชะลอตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย และภาพรวมภาคอุตสาหกรรมไทยจะมีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นประเด็นในระดับภาพรวมของประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จึงได้ยกร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พ.ศ.2559-2564 ขึ้น โดยวิเคราะห์สถานภาพอุตสาหกรรมไทย และสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย ร่วมกับการพิจารณานโยบาย ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในช่วง 6 ปีข้างหน้าดังกล่าว

          เป้าหมายของร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ภายใต้วิสัยทัศน์ "ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยให้เข็มแข็งและยั่งยืน ด้วยการเพิ่มคุณค่า พัฒนาผลิตภาพ และเชื่อมโยงกับภาคการค้าและบริการ" นำไปสู่การกำหนดทิศทางการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ให้คลอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมเดิมที่เป็นฐานรายได้ของประเทศ และอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบสนองต่อกระแสโลก การพัฒนาที่ให้ความเข้มแข็งและยั่งยืนบนพื้นฐานความสมดุลทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การเพิ่มคุณค่าโดยใช้องค์ความรู้และโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา กล่าวคือ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ภูมิปัญญา และความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาผลิตภาพซึ่งผลจากการพัฒนานอกจากจะสร้างความเติบโตในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย และการเชื่อมโยงกับภาคการค้าและบริการ ซึ่งเป็นการปรับกระบวนทัศน์ต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่กลุ่มอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ที่เชื่อมโยงกับภาคการค้าและบริการมากขึ้น

          สอดรับกับนโยบายการพัฒนาประเทศสู่การเป็นชาติการค้า (Trading Nation) และทิศทางการพัฒนาเพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางของประเทศที่กำลังพัฒนาแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงทั้งในแง่การพัฒนาผู้ประกอบการ จากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและการค้า และสร้างความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก

          3. แผนการพัฒนาแร่เศรษฐกิจที่สำคัญ การประชุม กอช. ครั้งก่อนที่มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนการพัฒนาแร่เศรษฐกิจที่สำคัญ และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนการพัฒนาแร่แต่ละชนิดในรายละเอียดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อมูลเชิงวิชาการมาสนับสนุนและนำแผนดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม กอช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ได้แก่

          แร่โพแทช แร่ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมปุ๋ย และเป็นวัตถุดิบใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ เช่น อุตสาหกรรมสบู่ อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมฟอกย้อม เป็นต้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปุ๋ยและอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ คาดว่าจะมีการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศจีน

          แร่เหล็ก มีแนวทางการพัฒนาแหล่งแร่เหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องใน 5 ด้าน คือ 1.การส่งเสริมและพัฒนาแหล่งแร่เหล็กและกำหนดพื้นที่จัดตั้งโครงการผลิตเหล็กครบวงจรเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ 2.ส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3.สร้างความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ 4.พัฒนาแนวทางการกำกับดูแล การจัดการผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และจัดเก็บผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐและท้องถิ่น และ 5.การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในภูมิภาคอาเซียน

          ที่ประชุม กอช. มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเพิ่มเติมความเห็นของคณะกรรมการฯ โดยให้แผนครอบคลุมการใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศสูงสุด เช่น การตั้งนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เพื่อแปรรูปและสร้างมูลค่าให้กับสินแร่ ให้เกิดความต่อเนื่องครบวงจร และเป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงกับแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มานำเสนอต่อ กอช. ในครั้งต่อไป

 

 

3 ยุทธศาสตร์ 6 กลยุทธ์ พัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติก 6 ปี

 

          ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก บอกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ยังได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติก 6 ปี (2559-2564) ภายใต้วิสัยทัศน์ การขยายศักยภาพอุตสาหกรรมพลาสติกไทยสู่เวทีโลก

          โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายสัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกจาก 20% เพิ่มขึ้นเป็น 30% ของมูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ยุทธศาสตร์ 6 กลยุทธ์ ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติต่อไป

          สำหรับยุทธศาสตร์แรก จะเป็นการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมพลาสติกไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ประกอบไปด้วย 2 กลยุทธ์ ได้แก่การส่งเสริมการปรับตัวสู่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ ปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกไทยเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีกว่า 88% ส่งผลให้ขาดศักยภาพในการพัฒนาตนเองให้ทัดเทียมกับประเทศคู่แข่งในระดับสากล

          ดังนั้น การผลักดันให้ผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กขยายตัวเข้าสู่ขนาดกลาง หรือผู้ประกอบการขนาดกลางขยายตัวเข้าสู่ขนาดใหญ่ จะเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในมิติต่าง ๆ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตที่จะนำไปสู่การการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดส่งออก

          อีกทั้ง การส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกกว่า 85% ตั้งโรงงานอยู่ภาคกลาง โดยมีการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกในทุกรูปแบบตั้งแต่ผลิตภัณฑ์พลาสติกทั่วไป ไปจนถึงผลิตภัณฑ์พลาสติกมูลค่าสูง จึงต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ผลิตผลิตภัณฑ์ทั่วไปเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตในเขตพื้นที่ชายแดนหรือข้ามไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการขนส่งและต้นทุนแรงงานลงได้ ขณะที่ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงจะยังคงฐานการผลิตไว้ที่ส่วนกลาง

          ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 2 จะเป็นการยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกไทยสู่ตลาดมูลค่าสูงประกอบด้วย 2 กลยุทธ์ ได้แก่ การส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยีและการออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมพลาสติกไทยยังคงผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ

          ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการพลาสติกไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีสากล จึงจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพการผลิตทั้งด้านเทคโนโลยีและการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ผู้ประกอบการพลาสติกไทยสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกและมีมูลค่าเพิ่มสูงได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพส่งเสริมให้เป็นโปรดักต์แชมป์เปี้ยนของประเทศไทย 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหาร กลุ่มวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

          รวมถึงการส่งเสริมโอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์พลาสติกมูลค่าสูงเพื่อสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติก การเชื่อมโยงและต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ และการสนับสนุนให้เกิดการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพื่อสนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เป็นต้น

          สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกควบคู่สิ่งแวดล้อม ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีและการจัดการผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวรวมไปถึงการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์พลาสติกภายใต้หลัก 3Rs ซึ่งจะนำไปสู่การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมควบคู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพและส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เพื่อรองรับการผลิตเม็ดพลาสติกจากก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะหมดไป

          ทั้งนี้หากสามารถดำเนินการได้ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ในช่วง 6 ปีนี้ได้ จะส่งผลให้ในปี 2564 อุตสาหกรรมพลาสติกไทยจะมีมูลค่าอุตสาหกรรมพลาสติกประมาณ 7.028 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1.827 แสนล้านบาท และยังส่งผลให้มีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในพิกัด 3916-3926 ประมาณ 2.10958 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 8.845 หมื่นล้านบาท

 

 

บีโอไอ แนะกระแส AEC หนุนลงทุนซอฟต์แวร์ ITC และ IHQ 

 

          นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี (พ.ศ.2558-2564) ที่รัฐบาลผลักดันว่า ได้รับการขานรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะการขอรับการส่งเสริมลงทุนใน 9 หมวดอุตสาหกรรมใหม่ ที่บีโอไอให้การส่งเสริมตามยุทธศาสตร์ใหม่ ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 6 เดือน ถือว่าโดยภาพรวมมีทิศทางที่ถูกต้อง เพราะเน้นไปยังอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงขึ้น มุ่งไปที่การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ใช้ฐานความรู้เป็นหลัก เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากผู้มีรายได้ปานกลาง

          “ครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.58) พบว่านักลงทุนไทย-ต่างประเทศขานรับกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว ดูได้จากสถิติเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมแล้วจำนวน 339 โครงการ เงินลงทุนราว 1.23 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 27% ของจำนวนโครงการที่บีโอไออนุมัติทั้งหมดในช่วง 6 เดือนแรกที่มีจำนวน 1.254 พันโครงการ เงินลงทุนรวมราว 4.126 แสนล้านบาท”

          สำหรับสถิติการอนุมัติส่งเสริมลงทุนเฉพาะ 9 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ช่วง 6 เดือนแรกที่เติบโตได้ดีประกอบด้วย

      1. กลุ่มเศรษฐกิจดิจิตอล (กิจการซอฟต์แวร์, กิจการคลาวด์เซอร์วิส ฯลฯ) มีจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว 101 โครงการ เงินลงทุนรวม 3.585 พันล้านบาท 

  1. กลุ่มศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (กิจการค้าระหว่างประเทศหรือ ITC, กิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศหรือ IHQ ฯลฯ) มีจำนวน 38 โครงการ เงินลงทุนรวม 817 ล้านบาท
  2. กลุ่มพัฒนาระบบโลจิสติกส์ รวมจำนวน 34 โครงการ เงินลงทุนรวม 4.879 พันล้านบาท
  3. กลุ่มส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (กิจการเครื่องมือแพทย์, กิจการที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่ทันสมัย, กิจการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ) จำนวน 66 โครงการ เงินลงทุนรวม 2.032 หมื่นล้านบาท
  4. กลุ่มพลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงานรวมจำนวน 76 โครงการ เงินลงทุนรวม 7.960 หมื่นล้านบาท
  5. กลุ่มการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตผลการเกษตร (กิจการผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ, กิจการคัดคุณภาพข้าว ฯลฯ) จำนวน 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 1.801 พันล้านบาท
  6. กลุ่มพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (ศูนย์ฝึกฝนวิชาชีพด้านเทคนิคและบริหารจัดการศูนย์บริการ, ศูนย์ฝึกวิชาชีพและเทคนิคสาขาการบิน ฯลฯ) จำนวน 3 โครงการ เงินลงทุนรวม 345 ล้านบาท
  7. กลุ่มสิ่งแวดล้อม (กำจัดขยะติดเชื้อ ฯลฯ) รวมจำนวน 2 โครงการ เงินลงทุนรวม 3.622 พันล้านบาท
  8. กลุ่มส่งเสริมท่องเที่ยว (กิจการหอประชุมขนาดใหญ่, กิจการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม, กิจการเรือเฟอร์รี่, กิจการศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ รวมจำนวน 7 โครงการ เงินลงทุนรวม 6.133 พันล้านบาท

          อย่างไรก็ดี ยังพบว่ากลุ่มเศรษฐกิจดิจิตอลและศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ มีการขอส่งเสริมคึกคักมาก เช่นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ มีบริษัทคนไทยรายเล็ก ๆ จำนวนมาก เข้ามายื่นขอรับการส่งเสริมและได้รับการอนุมัติแล้ว โดยในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ได้รับการอนุมัติแล้ว 95 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 625 ล้านบาท

          สะท้อนให้เห็นว่าเด็กไทยเก่ง มีความสามารถด้านนี้ และจะไปโยงถึงธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เช่นเดียวกับกิจการ IHQ ที่บีโอไออนุมัติแล้ว 7 โครงการ เงินลงทุน 210 ล้านบาท และกิจการ ITC อนุมัติไปแล้วจำนวน 29 โครงการ เงินลงทุน 457 ล้านบาท เหล่านี้คือตัวอย่างของกิจการที่บีโอไอให้การส่งเสริมใหม่และได้รับความสนใจมากในขณะนี้

 

 

ดึงญี่ปุ่นลงทุนเครื่องจักร วิจัย และตั้งศูนย์เทคนิคอลเซ็นเตอร์

 

          นางหิรัญญา กล่าวต่อว่า ได้หารือกับนักลงทุนญี่ปุ่นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของบีโอไอ เช่น หารือกับนายกเทศมนตรีเมืองคาวาซากิ และประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมเมืองคาวาซากิ ซึ่งแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักร และการวิจัยพัฒนาในไทย

          รวมทั้งได้ร่วมมือสนับสนุนให้นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพเข้าไปลงทุนในเมืองคาวาซากิ โดยบีโอไอจะประสานงานกับศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสเซ็นเตอร์ ของเมืองคาวาซากิ อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทย และเมืองคาวาซากิจะพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนไทยเข้าไปดำเนินกิจการได้ง่ายขึ้น 

          นอกจากนี้ได้หารือกับบริษัท อะมะดะ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรชั้นนำของญี่ปุ่น และสนับสนุนการค้าและการลงทุนในไทยอยู่แล้ว ซึ่งได้ตัดสินใจขยายการลงทุนตั้งศูนย์เทคนิคอลเซ็นเตอร์แห่งใหม่ในไทย มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท คาดว่า จะเปิดดำเนินการได้ในปี 59 เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเครื่องจักรและฝึกอบรมบุคลากร และนำไปสู่การเข้ามาลงทุนผลิตเครื่องจักรและตั้งกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศในไทยต่อไป 

          ทั้งนี้ ได้ร่วมกับ กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมการจัดหางาน จัดงานสัมมนาเพื่อชักชวนให้บริษัทญี่ปุ่นทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ใน 3 เมืองใหญ่ได้แก่ กรุงโตเกียว นครโอซากา และเมืองนาโกย่า ตัดสินใจเข้ามาตั้งกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ไอทีซี) และกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (ไอเอชคิว) ในประเทศไทย โดยงานสัมมนาทั้งสามครั้งได้รับความสนใจจากนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากเกือบ 700 ราย   

          อย่างไรก็ตามกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ และกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ เป็นกิจการเป้าหมายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย เพื่อให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันปรับปรุงผ่อนปรนเงื่อนไข และเพิ่มขอบเขตการให้บริการ และเพิ่มการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนมากขึ้น

 

 

พัฒนาระบบการเชื่อมโยง ข้อมูลรับ AEC เสร็จปีนี้

 

          นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยว่า หลังจากที่ได้มีการประชุมของคณะอนุกรรมการประชาคมอาเซียนของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ผ่านมา โดยมีผลจากการประชุมในครั้งนั้นหลายประการที่น่าสนใจ ซึ่งผลดำเนินการสำคัญที่เป็นความคืบหน้าในปัจจุบันและช่วงต่อไป ดังนี้คือ

          ในส่วนของมาตรการเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบ National Single Window (NSW) นั้น หน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องดำเนินการเชื่อมต่อระบบ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) โดยสถานะล่าสุด สอน. กพร. กรอ. และ สฟอ. ได้ดำเนินการเชื่อมต่อระบบแล้ว สำหรับ สมอ. อยู่ในระหว่างดำเนินการ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนนี้

          อย่างไรก็ตามการเชื่อมต่อข้อมูลเข้าด้วยกันนั้น ถือว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น ยังต้องให้ทุกหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ทั้ง 36 แห่ง ที่สำคัญ อาทิ กรมศุลกากร, กรมการค้าต่างประเทศ, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ประสานความร่วมมือบูรณาการข้อมูลของแต่ละฝ่ายให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างดีในอนาคต

          ทั้งนี้ National Single Window (NSW) เป็นการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการ เพื่อให้บริการแบบเบ็ดเสร็จจากการติดต่อเพียงจุดเดียว โดยมุ่งที่จะลดต้นทุนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรม และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ ลดขั้นตอนการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เอกสารต่าง ๆ เช่น ใบอนุญาตการนำเข้า ใบอนุญาตการส่งออก และใบรับรองต่าง ๆ ที่ออกโดยหน่วยงานหนึ่งสามารถที่จะจัดส่งทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างอัตโนมัติไปให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          ปัจจุบันระบบ NSW ของประเทศไทย มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศสมาชิกอาเซียนยังได้พัฒนาระบบเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางด้านอุตสาหกรรม การค้าระหว่าง NSW ของแต่ละประเทศให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนหรือ ASEAN Single Window (ASW) เพื่อให้อาเซียนก้าวไปสู่การเป็นตลาดเดียวและมีฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมร่วมกัน (Single Market and Production Base)

          ทั้งนี้ยังมีผลดำเนินการสำคัญหลังจากมีการประชุมอนุกรรมการในครั้งนั้นอีกประการหนึ่งคือ การดำเนินการตามพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 เพื่อเป็นการรองรับประชาคม ASEAN ในช่วงต้นปี 2559 โดยขณะนี้ดำเนินการไปตามแผนทุกประการ

 

 

ตราดลุยตั้งนิคมอุตสาหกรรม สร้างพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

 

                นายณรงค์ ธีระจันทรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดการนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมเบื้องต้นในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตราด โดยมีข้าราชการ นักธุรกิจ และผู้สนใจร่วมรับฟังจำนวนกว่า 100 คน ที่ห้องราชาวดี โรงแรมสวนปูรีสอร์ท แอนด์สปา อ.เมือง จ.ตราด

                สำหรับการจัดการนำเสนอผลการศึกษาในครั้งนี้ น่าจะเกิดความชัดเจนในเรื่องการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ของ จ.ตราด ซึ่งต้องยอมรับว่า ขณะนี้ใกล้ความจริงแล้ว แต่การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจของ จ.ตราด ยังมีอุปสรรคในหลายด้าน ทั้งระเบียบในเรื่องการนำเข้าและการส่งออกสินค้าทางการเกษตรที่จะต้องมีการแก้ไข ซึ่งแน่นอนว่า จ.ตราด จะต้องพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ และขณะนี้ก็ใกล้สำเร็จแล้ว

                สำหรับเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการก็คือ การผลักดันให้เกิดการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวเป็นเรื่องแรก เพราะหากสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นแล้วจะทำให้การค้าขายเกิดขึ้นตามมา เหมือนที่มีการนำสินค้าไปค้าขายในพื้นที่ จ.พระตะบอง หรือในหลายจังหวัดในกัมพูชาและขายได้ดี

                อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตราด อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี เนื่องจากต้องมีการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคในพื้นที่ 888.68 ไร่ และการจัดสรรที่ดินให้ส่วนราชการและภาคเอกชนที่ต้องมีระยะการเช่า 50 ปี และต่อไปอีกตามมติของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ จะแบ่งพื้นที่เป็นเขตอุตสาหกรรมบริการ 625.78 ไร่ ศูนย์โลจิสติกส์ และกระจายสินค้า 625.78 ไร่ ซึ่งเป็นที่ที่ก่อให้เกิดรายได้ และพื้นที่ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก 229.51 ไร่ พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 48.76 ไร่

 

 

ดึงลงทุน เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพิ่มการค้าไทย-ลาว 8 พันล้านเหรียญ

 

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกด้านชายแดน ไทย สปป.ลาว 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2558 เท่ากับ 52,513 ล้านบาท ขยายตัว 21.67% และนำเข้า 12,044 ล้านบาท ขยายตัว 6.82% ไทยได้ดุลการค้า 40,468 ล้านบาท

          ทั้งนี้รัฐบาลให้การสนับสนุนภาคเอกชน เพื่อขยายโอกาสการค้าการลงทุนในอาเซียน โดยการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้า อาทิ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด เพื่อเชื่อมโยงการค้า การขนส่ง และส่งเสริมการลงทุนด้วย เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ดึงดูดนักลงทุนทั้งสินค้าแปรรูป ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และในอนาคตจะขยายไปยัง จ.หนองคาย และนครพนม

          นอกจากนี้ รัฐยังเร่งขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน รถไฟ ใน 8 เส้นทาง เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างไรก็ดีเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าไทย-สปป.ลาว ให้ได้ตามเป้าหมาย 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 3 ปี

          กรมการค้าต่างประเทศจึงได้จัดคณะเอกชน 40 รายในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เดินทางเพื่อไปเจรจาจับคู่ธุรกิจ ขยายการค้า และการลงทุน ที่นครเวียงจันทน์สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พร้อมทั้งสำรวจเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุน

 

 

ไทย-เวียดนาม ตั้งเป้าการค้า 2 หมื่นล้านเหรียญ ในปี 63

 

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายหวู ฮวี ฮว่าง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ได้เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ระหว่างไทยกับเวียดนาม ครั้งที่ 2 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมด้วย

          ผลการประชุมที่สำคัญมีดังนี้ ไทยและเวียดนามเห็นชอบให้ตั้งเป้าการค้า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 และได้ให้การรับรองแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับเวียดนาม ปี 2558-2563 อันจะเป็นกรอบในการดำเนินงานความร่วมมือด้านต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ อาทิ การส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน และการสนับสนุนความเชื่อมโยงด้านการขนส่ง ดังนี้

  1. ในความร่วมมือด้านเกษตร ได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีศักยภาพ โดยขณะนี้เวียดนามกำลังพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิกไตรภาคียางพารา ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

          นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความร่วมมือในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกผลไม้ระหว่างกัน สำหรับผลไม้ไทย 4 ชนิด คือ มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ และเงาะ และผลไม้จากเวียดนาม 3 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย และลิ้นจี่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการจัดทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช

  1. ทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการมุ่งสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการปฏิบัติตามพันธกรณีข้อตกลงด้านการขนส่งข้ามพรมแดนในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้มีความคล่องตัวในการเดินทางของคนและการขนส่งสินค้าไปมาระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

          ทั้งสองฝ่ายจะผลักดันให้การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการให้บริการรถโดยสารประจำทางในเส้นทางระหว่างไทยกับเวียดนามสรุปผลได้โดยเร็ว และจะร่วมกันชักชวนให้ สปป.ลาว เห็นด้วยกับที่จะรวมเส้นทาง R8 และ R12 ไว้ในความความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregional Cross Border Transport Agreement: GMS CBTA) ด้วย

  1. เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในการลดต้นทุนการทำธุรกรรมการเงิน ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกันในด้านการธนาคาร โดยจะส่งเสริมการเข้าไปจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ในประเทศของอีกฝ่าย
  2. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในหลักการเรื่องการจัดตั้งกลไกการหารือเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนอย่างไม่เป็นทางการ อันจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้นักลงทุนของทั้งสองฝ่ายได้พบหารือและเจรจาทางธุรกิจระหว่างกัน ในโอกาสเดียวกัน ฝ่ายไทยได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนของเวียดนามเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย
  3. ด้วยตระหนักถึงบทบาทสำคัญของภาคเอกชนในการเป็นกลไกขับเคลื่อนการค้าและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในรายละเอียดเรื่องการจัดตั้งสภาธุรกิจร่วมไทย-เวียดนาม ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นช่องทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ อันจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
  4. ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะมีความร่วมมือกันในด้านแรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา และการส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้า อีกทั้งตกลงที่จะศึกษาการเปิดเส้นทางการเดินเรือชายฝั่งระหว่างสองประเทศ สนับสนุนสายการบินของทั้งสองประเทศ และความร่วมมือด้านพลังงาน

          ปัจจุบัน เวียดนามเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทยในอาเซียนและอันดับที่ 11 ของไทยในโลก ในขณะที่ไทยเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 5 ของเวียดนาม ในด้านการนำเข้า และอันดับที่ 12 ในด้านการส่งออกในปี 2557 การค้าไทย-เวียดนาม มีมูลค่า 11,826.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 13.1

 

 

นักธุรกิจไทยชี้หลายปัจจัยเอื้อการลงทุนในเวียดนาม

 

          นายธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ ผู้จัดการทั่วไปธนาคารกรุงเทพ ประเทศเวียดนาม สาขาโฮจิมินห์ กล่าวในงานเสวนา "โอกาสและความท้าทายในการค้าและการลงทุนกับประเทศเวียดนามจากกูรู" จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ หอการค้า และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า เวลานี้เป็นโอกาสที่เหมาะสมที่นักลงทุนไทยควรเข้าไปลงทุนในเวียดนามก่อนที่จะช้าเกินไป หลังจากเวียดนามมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

          ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ดัชนีบ่งชี้เศรษฐกิจของเวียดนามมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นเกือบทั้งหมด หลังจากรัฐบาลปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินด่องที่มีเสถียรภาพ อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ เงินเฟ้อต่ำ การส่งออกขยายตัวอย่างรวดเร็ว

          นอกจากนี้ เวียดนามยังมีปัจจัยสนับสนุนอีกหลายประการ เช่น การเมืองที่มีเสถียรภาพ ประชากรส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาวที่กำลังจะมีรายได้ขึ้นมาในระดับปานกลาง อีกทั้งเวียดนามกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรีหลายฉบับ อาทิ ข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหภาพยุโรป รัสเซีย เกาหลีใต้ ตลอดจนข้อตกลงความร่วมมือหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) กับอีก 13 ประเทศ โดยในจำนวนนั้นมีสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วย

           ด้าน ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เวียดนามมีความน่าสนใจในฐานะแหล่งลงทุน คือ แรงงานจำนวน 53 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานอายุน้อย แรงงานเวียดนามมีประสิทธิภาพ วัดจากผลผลิตต่อแรงงานที่อยู่ในระดับสูง มีสัดส่วนแรงงานมีฝีมือต่อแรงงานไม่มีฝีมือสูงที่สุดในอาเซียน ขณะเดียวกันค่าแรงยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังสนับสนุนการลงทุนด้วยการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 200 แห่งกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ

           ทั้งนี้ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้เข้ามายึดเวียดนามเป็นฐานการลงทุนผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ ทำให้นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เกาหลีใต้สามารถแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 ของเวียดนาม ประเภทการลงทุนที่เวียดนามจะดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไปได้ อาทิ อุตสาหกรรมที่เน้นแรงงาน การแปรรูปสินค้าเกษตร ประมง รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

 

 

ไฟเขียวสัมปทานลงทุนเขตศก.ทวาย คาดมูลค่าการลงทุน 1,600 ล.เหรียญ

 

          รายงานข่าวจากคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และ นายอูญาณ ทุน รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ได้เป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้องครั้งที่ 4 ณ นครเนปิดอว์ โดยที่ประชุมเห็นชอบสาระสำคัญของร่างสัญญาสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรกและบันทึกความเข้าใจฉบับเพิ่มเติม ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเมียนมาร์และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมาร์แล้ว

          สำหรับโครงการดังกล่าว มีโครงการย่อย ประกอบด้วย ท่าเรือขนาดเล็ก พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมระยะแรกและการบริหารจัดการถนนสองช่องทาง โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก โรงงานผลิตไฟฟ้าชั่วคราว อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ระบบโทรคมนาคมภาคพื้นดินและพื้นที่อยู่อาศัยระยะแรก ซึ่งภายหลังการประชุมได้มีการลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรกระหว่างคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และกลุ่มธุรกิจไทย คือบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอลเอ็นจี พลัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

          ทั้งนี้ที่ประชุมยังอนุมัติแผนแม่บทการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในระยะสมบูรณ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเนด้าเพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาโครงการร่วมกับประเทศญี่ปุ่นต่อไป พร้อมทั้งเห็นชอบให้มีโครงการคลังเชื้อเพลิงลอยน้ำ ที่เป็นส่วนหนึ่งในโครงการทวาย ซึ่งเป็นไปตามกรอบความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยเมียนมาร์ที่ได้ลงนามไปก่อนหน้านี้

          และเห็นชอบในหลักการให้สามารถใช้เงินบาทไทยเป็นสกุลเงินในการทำธุรกรรมด้านการค้าการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมาร์ โดยให้มีคณะทำงานร่วมด้านการเงินจากทั้งสองประเทศร่วมจัดทำข้อเสนอต่อไป

          นายอูญาณ ทุน กล่าวว่า โครงการทวายระยะแรกคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี และก่อให้เกิดการจ้างงานต่อคนในพื้นที่ประมาณ 300,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2568 โดยจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสู่พื้นที่ภูมิภาคที่มุ่งเน้นการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างยั่งยืน

          นอกจากนี้ยังได้ประชุมสามฝ่ายระหว่างไทย เมียนมาร์ และญี่ปุ่น มีข้อสรุปว่า ญี่ปุ่นยืนยันที่จะเข้าร่วมการพัฒนาโครงการทวายต่อไป และเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจำเป็นต้องมีการหารือในระดับคณะทำงานกลุ่มย่อยจากทั้งสามประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด