สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ หากกล่าวถึงประเด็นที่กำลังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและรวมถึงเจ้าของธุรกิจในตอนนี้ คงจะต้องยกให้ประเด็นของการเปิดการค้าเสรี TPP (Trans Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะหลังจากมีการเจรจามานานกว่า 5 ปี ในที่สุด กรอบความตกลงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ก็บรรลุข้อตกลงกัน และถือเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ
TPP หมายถึงกรอบความตกลงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือก็คือ FTA (Free Trade Area) ในรูปแบบหนึ่ง สำหรับสมาชิก TPP ปัจจุบันประกอบไปด้วย 12 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก ชิลี เปรู มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น การทำการค้าในกลุ่มสมาชิกจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกันทำให้ส่งผลกระทบมายังผู้ประกอบการไทยกับประเทศที่ยังไม่มีข้อตกลง FTA ด้วยกัน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และแคนาดา สำหรับเป้าหมายของ TPP ก็เหมือนกับเป้าหมายของเอฟทีเอทั่วไป คือ ต้องการลดอุปสรรคทางการค้าสินค้าและบริการระหว่างกัน ต้องการส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งตั้งใจที่จะร่วมมือกันในการปรับกฎระเบียบมาตรฐานต่าง ๆ เช่น มาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานแรงงาน ให้มีความสอดคล้องกัน
และเนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าสำคัญของทุกประเทศ สหรัฐฯ จึงมีบทบาทอย่างมากในการเจรจากรอบ TPP มีการวิเคราะห์กันว่าเหตุผลที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับ TPP เป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ จริงอยู่ที่อาเซียนจะรวมตัวกันเป็น AEC จึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจของนักธุรกิจอเมริกันให้ทำการค้าและลงทุนในภูมิภาคอาเซียน แต่สิ่งสำคัญมากไปกว่านี้ก็คือ สหรัฐฯ ต้องการที่จะกันท่าจีน ซึ่งมีอิทธิพลค่อนข้างมากในภูมิภาค เพราะมีส่วนร่วมอยู่ใน อาเซียน+3 และอาเซียน+6 ในขณะที่สหรัฐไม่มี ฉะนั้นสหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องผลักดัน TPP อย่างสุดแรง เพื่อเป็นช่องทางที่จะทำให้ตนเองมีบทบาทมากขึ้นในอาเซียนนั่นเอง
สำหรับท่าทีของประเทศไทยที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาก็ได้พยายามเข้ามาล็อบบี้ให้ไทยเราเข้าร่วมด้วย แต่ไทยก็บ่ายเบี่ยงมาตลอดเพราะว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับข้อดีก็คือ ประโยชน์ในเรื่องของการส่งออกสู่สมาชิก TPP 12 ประเทศ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ 40% ของการค้าโลก การเป็นสมาชิก TPP จะทำให้เราก็จะค้าขายได้เยอะ แต่ถ้าเราดูรายชื่อ 12 ประเทศ เกือบทั้งหมดเรามี FTA กับเขาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นการทำ TPP หรือไม่ทำก็ไม่มีผลอะไรเท่าไหร่ เพราะเราก็สามารถค้าขายกับเขาได้คล่องตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าประเทศหนึ่งที่เราไม่มี FTA ด้วยแล้วเราอาจจะได้ผลประโยชน์จะ FTA มากก็คือ สหรัฐฯ ซึ่งเราไม่ได้ทำ FTA ด้วย และเราก็หวังว่าถ้าเข้า TPP ก็จะเข้าตลาดสหรัฐฯ และส่งออกไปสหรัฐฯ ได้มากขึ้น นี่เป็นประเด็นที่มองว่าเราจะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปสหรัฐฯ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตอนนี้เราค้าขายกับอาเซียนเยอะมากถึง 25% ของการค้าขายกับอาเซียน และประเทศจีนก็อยู่ในอันดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นตอนนี้เรื่องของตลาดจึงไม่ได้อยู่ที่ สหรัฐฯ แล้ว ตลาดของเราคือ อาเซียน ตลาดของเราคือจีน เพราะฉะนั้นสหรัฐฯ ไม่ได้สำคัญมากมายเหมือนกับในอดีต ฉะนั้นประเด็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการค้าอาจจะไม่ได้มากมายอย่างที่เราหวัง และถ้าถามว่าการที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราเข้าร่วม TPP สะท้อนว่าเราเสียโอกาสไหม ก็คงต้องกลับมากันดูที่ผลประโยชน์ในระยะยาวมากกว่า
แน่นอนครับว่าการทำธุรกิจในปัจจุบัน มีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำการค้า โดยเฉพาะกฎและระเบียบทางการค้าใหม่ ๆ ดังนั้น ทางออกที่ดีคือผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญในการยกระดับการผลิต โดยการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตเพื่อช่วยตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งเป็นการช่วยรักษาฐานตลาดเดิมที่มีอยู่ และยังเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดใหม่ ๆ ได้อีกด้วย
เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์
sedthakarn@se-ed.com