Management

“เปิดใจรับคำติชม” เพราะการแก้ไขต้องใช้ข้อมูล

พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล

 

 

คนส่วนใหญ่ยินดีรับคำชื่นชมมากกว่าที่จะยืนฟังคนตำหนิติเตียน นั่นเป็นเพราะการกล่าวคำชมจากเพื่อนร่วมงานหัวหน้า หรือลูกค้าเป็นกำลังใจที่ดีที่ทำให้คนทำงานมีกำลังใจในการทำงานต่อไป แต่อย่าลืมว่าคำชื่นชมบางครั้ง มันอาจจะทำให้เราไม่ทราบถึงข้อบกพร่องบางอย่างที่เรายังมองไม่เห็นหรือยังไม่เคยเจอมาก่อน และนั่นอาจจะทำให้พลาดโอกาสที่เราจะได้สร้างศักยภาพให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

 

     พนักงานทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องการกำลังใจในการทำงาน ดังนั้นสิ่งแรกที่ช่วยเป็นกำลังใจให้กับพนักงานก็คือ “คำชม” ทว่าบ่อยครั้งที่งานออกมาแล้วด้วยการตั้งใจทำอย่างเต็มที่แต่โดนตำหนิมากกว่าคำชม นั่นเลยเป็นการทำลายกำลังใจกันแบบไม่ทันตั้งตัว แต่หากมองในทางบวกหรือมุมที่ช่วยให้เรามองเห็นสิ่งที่ต้องแก้ไขเราก็จะรู้สึกดีขึ้น แม้ว่ามันยากที่จะทำใจได้ก็คงต้องหันมาหาทางสร้างความรู้สึกดี ๆ กับคำพูดแย่ ๆ หรือคำติตรง ๆ กัน

 

คำพูดติเตียนแบบตรง ๆ ชัดเจนดี

 

          พอเราได้รับคำติชม ความรู้สึกแรกก็คือจริงหรือ ? แกล้งชมกันหรือเปล่า นั่นเป็นเพราะเราเองมีความรู้สึกเบื้องต้นเป็นทุนอยู่แล้วว่า “เราทำดีพอแล้วหรือยัง ?” ดังนั้นหากเราจะโดนติหรือตำหนิความผิดพลาดแบบตรง ๆ น่าจะเป็นเรื่องดี และดีมากเพราะมันชัดเจนเราทราบสิ่งที่เป็นข้อผิดพลาดได้เลยไม่ต้องเอากลับไปคิดต่อหรือมานั่งหาจุดที่ผิดพลาดเอง เป็นข้อมูลที่ได้รับทางตรง และหากมีหลายคนให้คำตำหนิที่ตรงกันย่อมแสดงว่าเราเองผิดพลาดแล้ว ต้องเร่งแก้ไขเป็นอันดับแรกไม่ใช่มานั่งเสียใจหรือโกรธแค้นใคร

               

          มีคำพูดที่ว่า “ไม่รักไม่บอก” นั่นเป็นเรื่องจริงเลยทีเดียว แม้ว่าจะมีเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานบางท่านที่อาจจะรู้สึกไม่ค่อยชอบหน้าเราเอามาก ๆ และมักจะเป็นคนที่ติเตียนงานเรามาตลอด ก็คงต้องชั่งน้ำหนักว่าคนติกับคนชมมีสัดส่วนต่างกันอย่างไร ข้อมูลที่เราได้รับมามันต้องมีทั้งสองด้านอยู่แล้ว เราคงต้องขอบคุณคนให้ข้อมูลกับเราทั้งสองทาง ไม่ต้องคิดมาก มีคนรักมากกว่าคนเกลียดย่อมดีกว่ามีคนเกลียดมากกว่าคนชอบ มุ่งเน้นที่งานและมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนสบายใจว่าคุณเปิดใจยอมรับคำแนะนำติชมจริง ๆ ไม่ใช่พอติชมไปแล้วมาแอบโกรธกันภายหลัง ความสุขในการทำงานหรือการประสานงานร่วมกันในองค์กรจะแย่ลงไปทุกวัน คิดในทางบวกทำงานอย่างเต็มที่ ศึกษาค้นคว้าต่อเนื่อง งานจะพัฒนาและคุณจะเป็นพนักงานอีกคนที่น่ารักในสายตาของทุกคน

 

การเขียนโครงการที่ดีต้องมีข้อมูลที่ดี

 

          เป็นเรื่องที่เข้าใจตรงกันว่า หากเราจะเขียนโครงการเพื่อนำเสนอผู้บริหารย่อมต้องอาศัยข้อมูลที่ชัดเจนเชื่อถือได้และมีความเป็นไปได้พร้อมกับทางแก้ไขต่าง ๆ หากเกิดความผิดพลาด เรียกได้ว่าข้อมูลที่นำมาประกอบเป็นโครงการนั้น ๆ จะต้องมีข้อมูลที่ถามมาตอบได้จึงจะมีสิทธิ์ผ่านการพิจารณา เช่นกันกับงานที่ได้รับการติชมย่อมต้องมีความชัดเจนว่า “ผิดหรือบกพร่องตรงไหน” มีอะไรที่เป็นตัวเปรียบเทียบคุณภาพงานได้ชัดเจน” และ “ควรจะหรือต้องทำอย่างไรเพื่อให้งานมีคุณภาพหรือลดข้อบกพร่องลง” ที่กล่าวมาคือการติเพื่อก่อ หากมองในทางบวกย่อมจะได้ข้อมูลมากมายเพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุง แต่หากมองในทางลบมันคือข้อมูลที่มาทำลายความมั่นใจในการทำงาน

               

          การจัดการกับสิ่งที่ไร้ประโยชน์กับตัวเองในการทำงานย่อมจะนำมาซึ่งความสบายใจและความสุขในการทำงาน การหาเวลาที่เหมาะสมรวบรวมข้อมูลและมีสมาธิกับการทำงานย่อมจะสร้างคุณค่าให้กับพนักงาน คำติชมต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นผลจากการกระทำ ดังนั้นเนื้อแท้ของผลงานจะเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนสามารถแก้ไขได้ อย่างแย่สุดคือการยอมรับความผิดพลาดหรือชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วค่อยเริ่มกันใหม่ ทำงานกันใหม่ให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประสบการณ์เป็นการเรียนรู้ และพยายามอย่าให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก

 

ความมั่นใจเกิดขึ้นได้จากใจที่มั่นคง

 

          เมื่อไรที่ทำงานด้วยความหวาดระแวงกลัวแต่จะผิดพลาด เมื่อนั้นโอกาสผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอเพราะสภาพจิตใจเราไม่นิ่งพอหรือขาดสมาธิในการทำงาน เช่นเดียวกัน นักฟุตบอลที่ต้องยิงลูกจุดโทษเพื่อชี้ผลแพ้ชนะ นักฟุตบอลเก่ง ๆ ระดับโลกยิงพลาดได้เสมอเพราะมีความกดดัน มีเสียงเชียร์และความเป็นคนเก่งค้ำคออยู่ มีแต่คำว่าต้องชนะ ต้องทำได้ มันเลยกลายเป็นความกดดัน แต่หากปรับอีกนิดเดียวว่า “พยายาม” และ “ทำให้ดีที่สุด” สองคำนี้จะช่วยให้พนักงานลดความกดดันลง ทำให้ดีที่สุดที่ทำได้และพยายามเรียนรู้ศึกษาเพิ่มเติมให้งานมีคุณภาพที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากผิดพลาดมาทุกคนก็พร้อมที่จะให้อภัยและมาช่วยกันชี้ข้อบกพร่องต่าง ๆ ให้

           

          พนักงานที่ทำงานด้วยความหวาดระแวงต่อคำติชมจะทำงานอย่างไร้ความสุข ตรงกันข้ามกับคนที่ทำงานอย่างเต็มที่และยิ้มรับคำติชมตลอดเวลา ทุกอย่างแก้ไขได้แต่อย่าให้แก้ไขบ่อย ๆ ยิ้มรับเสมอว่างานที่ยังไม่เสร็จก็คืองานที่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้เสมอ แต่งานที่ต้องแก้ไขเสมอจะเป็นงานที่เสร็จช้าลงไปเรื่อย ๆ ดีที่สุดคือศึกษางานและทำงานนั้น ๆ ให้เสร็จลุล่วงอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งมองปัญหาระหว่างการทำงานให้ออก เพื่อที่จะเก็บข้อมูลไว้สำหรับแก้ไขหากเกิดปัญหาตามมาภายหลัง หรือหากสามารถแก้ไขงานได้ทันเวลาก่อนกำหนดก็จะยิ่งช่วยสร้างคุณภาพงาน ความมั่นใจไม่อาจเรียกกลับมาได้หากมันเสียไป แต่ความมั่นใจจะเกิดขึ้นได้อย่างถาวรก็ต่อเมื่อ “เราทำงานด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง” นั่นเองที่จะเป็นแรงผลักดันให้เราเกิดความมั่นใจในการทำงานและแม้ว่ามันจะมีปัญหาหรือข้อบกพร่องเกิดขึ้นนั่นคือการทำงานที่ต้องแก้ไขต่อไปเป็นกระบวนการทำงาน

 

คำติชมย่อมเป็นได้ทั้งแรงผลักดันและแรงทำลายล้างกำลังใจในการทำงาน ขอเพียงแต่รู้ว่าทำอะไรอยู่ ทำอย่างไร และทำอย่างเต็มความสามารถหรือยัง ถ้าตอบโจทย์ตัวเองได้ก็ทำให้เต็มที่ “เพราะคำติชมคือสิ่งที่ต้องตามมาหลังงานเสร็จเสมอ...จงทำให้ดีที่สุด”

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด