Logistic & Supply Chain

มองรอบทิศคิดอย่าง Supply Chain e-Logistics System ในการดำเนินกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์

ดร.ชิตพงษ์ อัยสานนท์

วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ayasanond@hotmail.com

 

 

ระบบโลจิสติกส์ ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก การมีระบบบริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร และสารสนเทศ ที่ดีนั้น ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ และมีความจำเป็นอย่างมากในการดำเนินธุรกิจยุคการสื่อสาร และการค้าไร้พรมแดน เพราะยิ่งข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศ สามารถไหลไปได้อย่างรวดเร็วถูกต้องเท่าใด ก็ยิ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และทำให้ธุรกิจสามารถเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันได้เป็นอย่างมาก

 

     ทั้งนี้ การที่หลาย ๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้พยายามเอานำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวล้ำทันสมัย มาพัฒนาเป็นระบบที่ใช้ในการ “บริหารจัดการโลจิสติกส์ ด้วยอิเล็กทรอนิกส์” หรือที่เรียกว่า “e-Logistics System” โดยในกระบวนการและกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์นั้น มีมากมาย แตกต่างกันในแต่ละกิจกรรม ดังนั้นระบบสารสนเทศในแต่ละกิจกรรมย่อมแตกต่างกันอย่างแน่นอน แต่สิ่งสำคัญคือทุก ๆ ระบบหรือทุกกิจกรรม จะต้องมีการออกแบบการเชื่อมโยงและสามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งสามารถควบคุมสถานการณ์ Log In และตรวจสอบของบุคคลที่มีสิทธิ์ (Access) และหรือตรวจสอบลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการดำเนินธุรกรรมในกิจกรรมของโซ่อุปทาน ทั้งภายนอกและภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลภายใต้ความพึงพอใจของลูกค้าสูงสุด 

 

ระบบการบริหารจัดการ e-Logistics

 

          โดยระบบการบริหารจัดการ e-Logistics นั้น อาจจะจำแนกได้เป็น 2 ภาคใหญ่ ๆ ตามขนาดของการเชื่อมโยง และจำนวนของหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องคือ

 

          1. ระบบ e-Logistics ในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม

 

          อาจกล่าวได้ว่าภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจต่างชาติและธุรกิจไทยขนาดใหญ่ได้มีการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในองค์กรและการเชื่อมโยงกับสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศหรือสำนักงานสาขา บางกิจการได้พัฒนาไปสู่การเป็น Best Practice ซึ่งอาจจะเป็นการเชื่อมโยงเฉพาะองค์กร, เชื่อมกับลูกค้า หรือคู่ค้า ซึ่งจะมีจำนวนของหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในระดับธุรกิจ มากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดขององค์กร และเครือข่ายของธุรกิจ โดยในส่วนนี้ เป็นการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งทางด้าน Hardware, Software และ People Ware เข้ามาใช้ในการบริหารกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทางด้านโลจิสติกส์ มีทั้งที่สั่งซื้อ/นำเข้า-ส่งออกสินค้าโดยเชื่อมโยงเป็นระบบบูรณาการทั้งด้านการเงิน-บัญชี, การตลาด, การบริหารงานโลจิสติกส์และระบบการสร้างมูลค่าเพิ่มต่าง ๆ เช่น ระบบ ERP: Enterprise Resource Planning เป็นต้น รวมถึง ระบบที่ทำการพัฒนาขึ้นมาใช้เอง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ และสนองตอบกับกระบวนการทำงานของแต่ละองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันได้พัฒนาทำให้ต้นทุนทั้งด้าน Software และ Hardware ให้มีราคาพอเหมาะกับกิจการของตน และพัฒนาไปสู่องค์กร e-Logistics โดยได้มีการนำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งในด้านฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์ รวมถึงการตั้งทีมพัฒนาระบบ e-Logistics System เพื่อใช้ในการบริหารจัดการกระบวนการทางด้านโลจิสติกส์ให้กับลูกค้าที่เป็น B2C และ B2G เช่น ระบบ Job Electronics Online System, E-Tracking, E-Document Center, EDI., ebXML Paperless Customs, GPS Truck Tracking , WMS: Warehouse Management Systems

 

          2. ระบบ e-Logistics ในภาครัฐ หรือระดับประเทศ

 

          ในส่วนนี้ ถือเป็นระบบที่มองในภาพรวมของกระบวนการโลจิสติกส์ในการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น กับกรมศุลกากร, การท่าเรือฯ หรือการท่าอากาศยาน หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำกับควบคุมและพิธีการต่าง ๆ เช่น กรมศุลกากร, กรมปศุสัตว์, กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อใช้เชื่อมโยงข้อมูลกับบริษัทขนส่ง (Carries) เช่น บริษัทเดินเรือ สายการบิน, ธนาคาร และสถาบันการเงิน, บริษัทประกันภัย, ผู้ให้บริการเสริมอื่น ๆ, ผู้ให้บริการด้านไอซีที เช่น ISP, Gateway โดยทิศทางการพัฒนาระบบ e-Logistics System ของภาครัฐควรมุ่งเน้น เพื่อการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้มีการสนองตอบและสร้างความเชื่อมั่นให้กับแต่ละหน่วยงานทั้งของภาครัฐและภาคธุรกิจในการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารในโซ่อุปทานอย่างเป็นบูรณาการในรูปแบบทั้ง B2B และ B2G เพื่อให้สามารถสนองตอบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกิจกรรมในการเคลื่อนย้ายสินค้า-บริการ การจัดเก็บและการกระจายสินค้าจากแหล่งกำเนิดสินค้า (Origin Sources) ไปสู่ End User โดยนัยสำคัญของ e-Logistics ควรสนองตอบต่อประการแรก เพื่อการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายข้อมูลภาครัฐ และภาคการขนส่ง ในกระบวนการนำเข้าส่งออกและโลจิสติกส์ ให้เป็น “การบริการเบ็ดเสร็จจากหน้าต่างเดียว” (Single Window Entry) โดยบทบาทความรับผิดชอบหลักของหน่วยงานต่าง ๆ คงเดิม เช่น การกำกับควบคุม การทดสอบ และการอนุมติ เป็นต้น ประการที่สอง มุ่งสู่การพัฒนาระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ลดและทดแทนเอกสารกระดาษ และมุ่งไปสู่ระบบการค้าไร้กระดาษ (Paperless Trade) ทั้งธุรกรรมภาครัฐและภาคธุรกิจ ประการที่สาม พัฒนาระบบการเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานเพื่อการทำ Data Crossing และลดการตรวจสอบเอกสารกระดาษ

 

 

(http://image.slidesharecdn.com/e-logisticsss2011-121101042400-phpapp01/95/e-logistics-9-638.jpg?cb=1351743912)

 

          การพัฒนา e-Logistics จะเข้ามามีบทบาททั้งภาครัฐ, ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม เป็นอย่างมาก คงปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กร จะต้องนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์ แต่การที่ธุรกิจจะเริ่มต้นนำระบบ e-Logistics ใด ๆ มาใช้ จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการเลือกซื้อระบบงานแต่ละระบบ โดยจะต้องครอบคลุมการทำงาน และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งก็แล้วแต่ประเภทธุรกิจ และขนาดขององค์กร ไม่เช่นนี้จะกลายเป็นความสูญเปล่าที่ทำให้เกิดต้นทุน และเป็นภาระมากกว่าที่จะช่วยลดภาระ ส่งผลให้แทนที่จะเป็นการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ตามที่คาดหวังไว้ กลับเป็นการเพิ่ม Cost และเพิ่ม Lead Time โดยส่วนใหญ่แล้วในปัจจุบัน ผู้พัฒนาจะพัฒนาและแยกจำหน่ายเป็น Module เพื่อให้สามารถ Customize ให้กับลูกค้าแต่ละรายได้ แต่ก็มีข้อจำกัดของการปรับแก้ของแต่ละซอฟต์แวร์แตกต่างกัน จึงควรมีการศึกษาข้อมูลและมีการออกแบบระบบอย่างรอบคอบ หากจะซื้อทั้งระบบจากต่างประเทศก็ต้องแน่ใจว่าระบบนั้นสอดคล้องกับลักษณะการทำงานของประเทศไทย และต้องมีการได้ทดลองใช้ ในฟังก์ชั่นที่ต้องการ ก่อนการตัดสินใจซื้อ รวมถึงต้องพิจารณาถึงการบริการ, การรับประกัน รวมถึงเงื่อนไขอื่น ๆ ที่มีผลในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่หน่วยงานของรัฐก่อนที่จะพัฒนาไปสู่ e-Logistics จะต้องให้มีการเห็นพ้องกับภาคธุรกิจในฐานะทั้งที่เป็นลูกค้าและเป็นผู้รับบริการเกี่ยวกับข้อกำหนด ทางด้านเทคนิคที่สำคัญของระบบ e-Logistics System เช่น ระบบ Interconnection การเชื่อมโยง คือการกำหนดมาตรฐานด้านการเชื่อมโยงเครือข่าย และโปรโตคอลที่ใช้รับส่งข้อมูลระหว่างองค์กร เช่น ebXML, ebMS, ebXML over SMTP, CPA ระบบ Data Exchange คือการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการบูรณาการข้อมูล เช่น XML Schema, XML Namespaces รวมถึง ระบบ Content Management Metadata คือ การกำหนดพจนานุกรมข้อมูลและ คำอธิบายรูปแบบข้อมูล หรือข้อมูลที่บอกรายละเอียดของข้อมูล (Data About Data) เพื่อให้ทราบว่าข้อมูลที่ได้รับคืออะไร นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงความสะดวกของผู้ใช้ และการป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตอีกด้วย

               

          e-Logistics เป็นกลุ่มของระบบสารสนเทศที่ทำหน้าที่จัดสรรให้ปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาสู่การผลิตและนำสินค้าไปส่งถึงยังลูกค้า โดยมีการติดต่อและจัดส่งสินค้าที่สะดวกรวดเร็วเพื่อให้สามารถจัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้าได้เร็วที่สุดและสะดวกที่สุด ประหยัดค่าขนส่งที่สุดและเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด

 

          e-Logistics ที่ใช้ในการบริหารจัดการด้านการขนส่งและจัดเก็บสินค้า มีดังนี้ คือ

 

  • PMS (Parking Management System) การจัดการการขนส่งทางรถ ตั้งแต่การรับคำสั่ง การวางแผน การจ่ายงาน การเก็บประวัติรถ และพนักงาน รวมถึงการวางบิล
  • WMS (Warehouse Management System) ระบบบริหารคลังสินค้า การรับสินค้า การจัดเก็บ การจ่ายสินค้า
  • Phase Management System ระบบบริหารการขนส่งเป็นการเจาะเน้นค่าบริหารการขนส่งในแต่ละรูปแบบ
  • CMS (Container Yard Management System) รูปแบบการจัดการกับลานตู้ Container
  • SMS (Ship Management System) การจัดการสินค้าในเรือ เพื่อให้การขนถ่ายมีประสิทธิภาพ
  • MMS (Maintenance Management System) การบริการการจัดการการซ่อมบำรุงควบคุมอะไหล่ ปริมาณช่าง ประวัติการซ่อม
  • LMS (Logistics Management System) เป็นระบบการบริการการจัดการ Logistics ในรูปแบบของ One Stop Service

 

          นอกจากนี้ใน e-Logistics ยังประกอบด้วยระบบ EDI การรับ-ส่งเอกสารทางธุรกิจแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้สำหรับบริหารจัดการส่งต่อเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ในกระบวนการนำเข้า-ส่งออกในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการและระบบ ERP เพื่อใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กรอีกด้วย

 

 

          ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ e-Logistics ในการบริหารการขนส่งแบบ Real-Time เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน เนื่องจากการบริหารจัดการงานขนส่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์หรือธุรกิจที่มีภารกิจด้านการขนส่ง เนื่องด้วยต้นทุนค่าขนส่งถือเป็นต้นทุนสำคัญที่ส่งผลกระทบกับต้นทุนรวมของสินค้าและบริการ จึงทำให้หน่วยงานต่าง ๆ เลือกเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการเพื่อควบคุมดูแลงานขนส่งให้มีประสิทธิภาพตลอดจนลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้น้อยลง โดยหลักการของโลจิสติกส์ในระบบของการขนส่ง คือไปให้ถึงที่หมายอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และทันเวลา (Right Position, Right Time, Right Place, Right Person, Right Cost, Right Condition, Right Value)

 

 

(http://positioningmag.com/57278)

 

          ระบบติดตามยานพาหนะแบบเรียลไทม์ (GPS Tracking System) เป็นระบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในส่วนของงานขนส่งสินค้าของธุรกิจ ซึ่งผู้บริหารหรือผู้ควบคุมดูแลสามารถตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้ผ่านระบบ เช่น การจัดส่งสินค้าเป็นไปตามแผนหรือไม่ การขับรถอยู่ในเส้นทางที่กำหนดหรือไม่ พฤติกรรมการขับรถมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ระบบติดตามยานพาหนะจะช่วยสนับสนุนการตรวจสอบติดตามในระหว่างการขนส่งเป็นหลัก ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์องค์กรธุรกิจที่ต้องการระบบไอทีที่เข้ามาช่วยสนับสนุนงานขนส่งอย่างครบวงจร ผู้ประกอบการควรจะต้องพิจารณาระบบที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีในรูปแบบบริหารจัดการการขนส่งตั้งแต่การวางแผนการขนส่ง การติดตามและตรวจสอบระหว่างการขนส่ง และการรายงานผลหลังจากงานขนส่งเสร็จสิ้น จึงจะสามารถจัดการงานขนส่งได้อย่างเต็มรูปแบบ

 

 

(http://geotrackglobal.com/wp-content/uploads/2016/04/GPS-Vehicle-Tracking-System-How-Does-It-Work.jpg)

 

องค์ประกอบของระบบการขนส่งแบบ Real-time จะประกอบด้วย

 

          อุปกรณ์ติดตั้งภายในยานพาหนะ หรือ เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา ที่มีองค์ประกอบของตัวรับสัญญาณ GPS เพื่อการระบุตำแหน่งและการสื่อสารในระบบ ทำหน้าที่ส่งตำแหน่งและสถานะของรถยนต์ไปยังผู้ดูแลระบบแบบ Real-time นอกจากนี้ ยังรวมถึงอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ที่ติดตั้งในตัวรถที่ใช้ในการวัดหรือตรวจจับการเปลี่ยนแปลงสถานะอื่น ๆ ในตัวรถ เช่น การเปิดปิดประตู อุณหภูมิในตัวรถหรือภายในตู้ขนส่งสินค้า

 

          ระบบสารสนเทศที่ให้บริการ Application และระบบข้อมูลผ่านทาง Cloud Service เพื่อให้ผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบระบบขนส่งสามารถติดตามความคืบหน้า หรือรับแจ้งความผิดปกติของรถยนต์ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ได้แบบ Real-time

 

          ระบบการให้บริการข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เป็นระบบที่ใช้ในการสนับสนุน Application โดยจะเป็นระบบที่ใช้แสดงข้อมูลแผนที่ฐานและตำแหน่งรถทั้งในปัจจุบันและในอดีต นอกจากนี้แล้ว องค์กรสามารถนำไปใช้ในการวางแผนได้ด้วย เช่น การวางแผนเส้นทาง การเก็บตำแหน่งลูกค้าหรือจุดจอด ระบบฐานข้อมูลแผนที่ ยังรวมถึงการให้บริการข้อมูลเสริมอื่น ๆ เช่น สถานะจราจรแบบ Real-time เพื่อใช้ช่วยในการตัดสินใจ

 

          ระบบผู้ใช้งานบริหารการขนส่ง (Client application) เป็นระบบที่ผู้บริหารงานขนส่งสามารถตรวจสอบและจัดการยานพาหนะผ่านทางอินเทอร์เน็ตจากที่ใดก็ได้ผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktop) หรือผ่านทางโทรศัพท์แบบ Smart Phone หรือ Tablet ทำให้ผู้จัดการสามารถสั่งงานและควบคุมดูแลระบบขนส่งได้อย่างรวดเร็วทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

(https://cdn.techinasia.com/wp-content/uploads/2014/12/mailinh-grabtaxi-uber-vinasun-easytaxi.jpg)

 

          ระบบ e-Logistics และ e-Fulfillment ยังได้ถูกพัฒนาเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน

 

 

          หลากหลายธุรกิจ ได้เริ่มต้นขยายช่องทางการขายสินค้าออกมาทางออนไลน์กันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถสร้างรายได้และกลายเป็นช่องทางที่เข้าถึงลูกค้าได้ทั่วประเทศและทั่วโลกได้ทันที โดยสิ่งสำคัญนอกเหนือจากการขายของนั้นคือ การชำระเงิน ซึ่งตอนนี้พัฒนาไปมาก เรามีวิธีการชำระเงินที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชำระผ่านทางออนไลน์หรือออฟไลน์ สร้างความสะดวกให้กับผู้ซื้อเป็นอย่างมาก และระบบการขนส่งสินค้าเองก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะเริ่มมีผู้ให้บริการหน้าใหม่ที่เปิดขึ้นมารองรับการส่งสินค้าของธุรกิจออนไลน์โดยตรง หรือ e-Logistic ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และหลากหลายรูป

                               

          ในอดีตที่ผ่านมาการค้าขายผ่านทางออนไลน์ การส่งสินค้ามักจะผูกขาดกับการขนส่งโดยไปรษณีย์ไทย แทบจะเรียกได้ว่า เกือบ 100% ผู้ค้าออนไลน์ของคนไทยใช้ไปรษณีย์ไทยแทบทั้งหมด ด้วยราคาที่ถูก, จุดให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศไทย และคุ้นเคยกับคนไทยมาช้านาน แต่ด้วยการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ทำให้ และความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขายมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผู้บริการขนส่งหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลาย ๆ แห่งเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับธุรกิจการค้าผ่านออนไลน์ โดยเฉพาะประเภทของการขนส่งทางออนไลน์

 

          เราสามารถแบ่งกลุ่มผู้ให้บริการขนส่งทางออนไลน์ออกเป็นในด้านการขนส่ง และจัดเก็บสินค้า ได้ดังนี้ คือ

 

          1. ผู้ให้บริการขนส่ง (e-Delivery) คือ ผู้ให้บริการการขนส่งสินค้าโดยจะมีหลายรูปแบบทั้งด้วยรถยนต์ รถบรรทุกหรือมอเตอร์ไซค์ โดยการขนส่งจะมีความหลากหลายมากขึ้น รวดเร็วขึ้น แม่นยำมากขึ้น โดยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกัน เช่น มีแอพพลิเคชั่น และเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสาร ทำให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถเรียกผู้ให้บริการขนส่งที่อยู่ในละแวกใกล้ ๆ โดยการเช็คตำแหน่งของผู้ส่งผ่านมือถือ มารับสินค้าและไปส่งปลายทาง (ภายในกรุงเทพฯ ได้ทันที) โดยเจ้าหน้าที่ผู้ส่งก็ใช้แอพพลิเคชั่นในมือถือเป็นช่องทางในการติดต่อกับบริษัทขนส่ง และผู้ส่งสินค้าได้ง่าย ๆ และผู้ส่งยังสามารถเช็คตำแหน่งของสินค้าได้ทันที โดยตอนนี้มีผู้ให้บริการหลากหลายบริษัทและแอพที่เพิ่งเปิดตัวออกมา ได้แก่ Skootar, Lalamove, RushBike, Deliveree, GrabBike เป็นต้น

 

          2. ผู้ให้บริการคลังสินค้าพร้อมจัดส่ง (e-Fulfillment คือผู้ให้บริการที่ครอบคลุมบริการหลายอย่างไว้ด้วยกัน ซึ่งจะเหมาะกับธุรกิจที่ค้าขายออนไลน์ที่มีคนมาบริหารการส่งสินค้าให้แบบครบวงจร ได้แก่ -บริการพื้นที่เก็บสินค้า (Storage and Warehouse) โดยมีพื้นที่ในการเก็บสินค้าให้กับเจ้าของธุรกิจ

 

  • บริการจัดการการสั่งซื้อ (Order Management) เมื่อมีการสั่งซื้อเข้ามา เจ้าหน้าที่จะทำการจัดการกับการสั่งซื้อนั้น ๆ
  • บริการหยิบและบรรจุหีบห่อ (Pick & Pack) เป็นการหยิบสินค้าและนำไปบรรจุหีบห่อและจ่าหน้าข้อมูลผู้ซื้อ
  • บริการจัดส่ง (Delivery) บริการส่งสินค้า ซึ่งในส่วนนี้อาจจะเป็นผู้ให้บริการในข้อที่ 1 ที่เกริ่นมาข้างต้น

 

          ซึ่งตอนนี้มีผู้ให้บริการคลังสินค้าพร้อมจัดส่ง และเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์หลายแห่ง ได้แก่ Sokochan, Shipyours, aCommerce, Alpha, Nikos, Kerry, CJ และอีกหลาย ๆ แห่ง ซึ่งนี่คือบางส่วนของผู้ให้บริการการขนส่งและคลังสินค้าครบวงจร ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างมากในวงการการค้าออนไลน์ ที่จะทำให้ผู้ทำการค้าสามารถโฟกัสกับการค้าได้มากขึ้น และแบ่งงานในส่วนการขนส่งและการเก็บสินค้าออกไปให้บริษัทที่เชี่ยวชาญทำ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำธุรกิจออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ทำธุรกิจการค้าออนไลน์ลองเริ่มหันมาดูว่าคุณจะใช้บริการนี้พวกนี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ากับธุรกิจคุณมากที่สุดครับเลิกส่งสินค้าเองได้แล้วควรไปให้มืออาชีพบริหารจัดการให้เราดีกว่า

 

 

เอกสารอ้างอิง
• วารสาร LOGISTICS MANAGEMENT
• กิจกรรมหลักของโลจิสติกส์ http://www.lopburi.go.th/logistic.htm
• รายงานเรื่อง E-Logistics นายสุทธิพจน์ ประกอบสุข มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
• ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 23 ก.ค.
https://cdn.techinasia.com/wp-content/uploads/2014/12/mailinh-grabtaxi-uber-vinasun-easytaxi.jpg
http://geotrackglobal.com/wp-content/uploads/2016/04/GPS-Vehicle-Tracking-System-How-Does-It-Work.jpg
http://image.slidesharecdn.com/e-logisticsss2011-121101042400-phpapp01/95/e-logistics-9-638.jpg?cb=1351743912
http://positioningmag.com/57278
http://www.ftilogistics.org/index.php/2016/07/25/news2572559-3/
http://www.logisticafe.com
http://www.thailandindustry.com/dbweb/file_attach/images_contents/cfaaf22ce0c493284da5b251471b2836.JPG

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด