เนื้อหาวันที่ : 2009-11-24 19:04:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3013 views

ประหยัดพลังงานด้วยวัฒนธรรมลีนลอจิสติกส์

ทุกกิจกรรมในชีวิตประวันของเรา รวมทั้งการดำเนินธุรกิจล้วนมีแนวคิดของลอจิสติกส์เป็นส่วนประกอบเสมอ โดยเฉพาะกิจกรรมการเคลื่อนย้ายอันเป็นกิจกรรมของลอจิสติกส์ การเคลื่อนย้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสสาร หรือทรัพยากรเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตหรือการบริการ หรือการเคลื่อนย้ายผู้คนย่อมต้องการพลังงาน และพลังงานกลที่คิดค้นโดยมนุษย์ใช้เพื่อการเคลื่อนย้ายทั้งสิ้น แต่พลังงานที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายเหล่านั้นก็มาจากธรรมชาติอยู่ดี

ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

.

.

เราคงจะต้องหันมาดูเรื่องการประหยัดพลังงานกันอีกครั้งหนึ่งตามประสาคนไทยที่มักแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุกันเป็นปกติ หรือหากจะพูดภาษาไทยง่าย ๆ แต่ระคายหูว่า “วัวหายล้อมคอก” ครับ

.

ผมลองสังเกตดูในหลายสิบปีที่ผ่านมา เรามีโครงการประหยัดพลังงานกันเป็นช่วง ๆ พอวิกฤตการณ์ผ่านไป เราก็อนุโลมให้ตัวเอง “ผ่อนเชือก” ได้ จากเดิมที่ “ดึงเชือก” จนตึงแทบหายใจไม่ออก แล้วเราก็กลับมามีพฤติกรรมเหมือนเดิมอีก

 .

พฤติกรรม “ดึงเชือก–ผ่อนเชือก” เกิดขึ้นในสังคมไทยมานานแล้ว จริงไหมครับ ?  ไม่เชื่อท่านก็ลองนึกดูก็แล้วกันว่า วิกฤตพลังงานครั้งนี้จะทำให้คนไทยมีโอกาสได้กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมอีกหรือไม่

 .

“การออกแบบ” และ “การใช้งาน” คือ สองประเด็นที่ผมอยากจะจุดประกายการแก้ปัญหาพลังงานอย่างยั่งยืน ถ้าเราออกแบบมาเพื่อใช้ได้อย่างฟุ่มเฟือย การใช้งานก็ย่อมฟุ่มเฟือยตาม ส่วนการใช้งานผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของผู้ใช้งานว่าจะใช้งานอย่างเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งผมมองว่า นั่นคือวัฒนธรรมการใช้พลังงาน

 .
สร้างวัฒนธรรมในการจัดการ

ทุกกิจกรรมในชีวิตประวันของเรา รวมทั้งการดำเนินธุรกิจล้วนมีแนวคิดของลอจิสติกส์เป็นส่วนประกอบเสมอ โดยเฉพาะกิจกรรมการเคลื่อนย้ายอันเป็นกิจกรรมของลอจิสติกส์ การเคลื่อนย้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสสาร หรือทรัพยากรเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตหรือการบริการ หรือการเคลื่อนย้ายผู้คนย่อมต้องการพลังงาน และพลังงานกลที่คิดค้นโดยมนุษย์ใช้เพื่อการเคลื่อนย้ายทั้งสิ้น แต่พลังงานที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายเหล่านั้นก็มาจากธรรมชาติอยู่ดี  

 .

การเคลื่อนย้ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา หรือในการดำเนินธุรกิจก็ยังเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในวงจรลอจิสติกส์ เนื่องจากการเคลื่อนย้ายนั้นคือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเคลื่อนไหว ความมีชีวิตของผู้คนและองค์กร ตลอดจนความมีชีวิตชีวาของเครื่องจักรที่มุ่งผลิตหรือสรรค์สร้างสิ่งต่างให้กับตลาดหรือสังคม ตรงกันข้าม หากไม่มีการเคลื่อนย้ายหรือไม่มีการเคลื่อนไหวก็เท่ากับส่งสัญญาณหายนะได้เช่นกัน  

 .

แต่อย่างไรก็ตาม การใช้แนวคิดลีนลอจิสติกส์ไม่ใช่แค่การพิจารณาการเคลื่อนย้ายหรือการเคลื่อนไหวเท่านั้น แต่เป็นการพิจารณาตัดสินใจอย่างมีสติหรือมีการใช้ข้อมูลสำหรับประกอบการตัดสินใจเคลื่อนย้ายได้อย่างถูกเวลาและสถานที่และประหยัดต้นทุนโดยไม่มีความสูญเปล่า

.

ยกตัวอย่าง สิ่งที่คุณจะต้องตัดสินใจและมีความเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่/เคลื่อนย้าย/เคลื่อนไหว ไม่ว่าเราจะคิดและตัดสินใจอะไรในชีวิตประจำวันของเราล้วนอยู่ในวงจรลอจิสติกส์ทั้งสิ้น

 .

อย่างคุณวางแผนที่จะเดินทางไปกับครอบครัวในวันหยุดคุณก็จะเริ่มจากการคิดว่า เราไปไหนกันดี แล้วจะไปอย่างไร ออกเดินทางเมื่อไรหรือถึงที่หมายเมื่อไร (เดินทางกี่ชั่วโมง) จะพักที่ไหนระหว่างการเดินทาง แม้แต่การจะหาโรงเรียนให้ลูก หรือหาเรือนหอสักหลังหนึ่งก็มักจะมีคำถามที่เริ่มด้วย 5 W 1 H “อะไร เมื่อไร ที่ไหน อย่างไร ทำไม” (What, When, Where, How, Why) กันอยู่บ่อย ๆ 

 .

เรามักจะนึกถึงทำเลที่ตั้งที่สะดวกต่อการเดินทาง เนื่องจาก “ระยะทาง”เป็นทำให้เวลาของคนเมืองหลวงทุกวันนี้สูญไปโดยเปล่าประโยชน์ และการใช้เวลาที่ยาวนานนั้นหมายถึงการสูญเสียพลังงานไปอย่างมากมายด้วย ลักษณะเช่นนี้เป็นลอจิสติกส์ที่ขาดการจัดการโดยแท้ หรือ ไม่ลีนเอาเสียเลย เพราะการจัดการลีนลอจิสติกส์ที่ดีจะต้องสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้งาน ประหยัดทั้งเวลาและเงิน และกำจัดความสูญเปล่า     

 .

ภาครัฐและภาคเอกชนมีการพูดถึงลอจิสติกส์กันมามากในช่วงระยะนี้  เพราะคิดว่าลอจิสติกส์ คือคำตอบ ทั้งที่สำคัญผิดว่า ถ้าใช้ลอจิสติกส์แล้วจะเป็นคนทันยุคทันสมัย แต่บางครั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงแต่เพียงผิวเผิน เช่น เปลี่ยนชื่อบริษัทเพื่อให้มี “กลิ่นอาย” ของลอจิสติกส์    

 .

ทว่า มิได้เปลี่ยนโลกทัศน์ในการมองลอจิสติกส์แบบลีน และมิได้พัฒนาความรู้ให้กับตนเอง จนสามารถที่จะต่อยอดได้ ทั้งที่จริง ความรู้ความเข้าใจถึงการจัดการลอจิสติกส์นี่ยังต้องพัฒนากันอีกมาก และควรพัฒนาความเข้าใจร่วมกันในการจัดการ หรือ “การสร้างวัฒนธรรมในการจัดการลีนลอจิสติกส์” นั่นเอง 

 .

ถ้าใครเคยเรียนการจัดการพื้นฐานมาก็จะเข้าใจว่า “การประหยัดคือหัวใจของการจัดการ”  แต่ผมไม่ได้หมายถึงการประหยัดแบบใช้ให้น้อยที่สุด  

 .

การจัดการที่ดีต้องพยายามจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมหรือพอดีกับความต้องการ ไม่มากเกินจำเป็น ไม่น้อยจนขาดแคลน วัฒนธรรมตรงนี้แฝงอยู่ในหลักการจัดการโดยทั่วไปอยู่แล้ว คนไทยเราเองอาจจะไม่เคยชิน เพราะในน้ำมีปลาในนามีข้าว และเคยร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติมาแต่เดิม มาคราวนี้เรากำลังจะหมดตัวกันแล้วจะทำใจปรับตัวยอมรับสภาพได้หรือไม่  

 .

นอกจากการประหยัดแล้วเราคงจะต้องมองไปในอนาคตแบบเชิงรุก ด้วยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้วย หาหนทางในการรองรับสถานการณ์ในอนาคต มิใช่ย่ำอยู่กับที่ ประเด็นหรือวัฒนธรรมในการจัดการตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้าผู้นำและทุกคนในสังคมมีวัฒนธรรมในการคิดไปข้างหน้าย่อมทำให้ตัวเราหรือประเทศมีความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน

 .
ลีนลอจิสติกส์ไม่ใช่แค่การขนส่ง แต่เป็นการจัดการ

ตั้งแต่ผมเริ่มบรรยายในหัวข้อของการจัดการลอจิสติกส์เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ผมพบว่าปัญหาที่สำคัญที่สุดในการจัดการลอจิสติกส์ คือ ความเข้าใจความหมายที่ไม่ตรงกัน จากความเข้าใจดั้งเดิมที่มองว่า ลอจิสติกส์เป็นแค่การขนส่ง จนวันนี้ความเข้าใจได้ก้าวมาสู่ความเข้าใจที่เป็นศิลปะแห่งการจัดการแบบบูรณาการหรือเป็นการจัดการการดำเนินการ (Management of Operations) ตลอดจนโซ่คุณค่า (Value Chain) ขององค์กรหรือวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์    

 .

เมื่อความเข้าใจต่างกัน ผลลัพธ์ในเชิงความคิดหรือนโนบายก็ย่อมต่างกันด้วย  ยิ่งหากผู้กำหนดนโยบายและผู้ตอบสนองนโนบายมองไม่เหมือนกันแล้ว ผลที่เกิดขึ้นคงจะไม่เป็นประโยชน์อันใดเลยกับสังคม เหมือนกับสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่สังคมไทยในเวลานี้ที่เล่นดนตรีกับคนละเพลงแต่อยู่บนเวทีเดียวกัน

 .

เรื่องของการจัดการนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ผู้ใช้จะต้องผสมผสานกันอย่างกลมกลืน เพื่อทำความเข้าใจถึงตัวปัญหาและหนทางแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงไป หลักการสำคัญของการจัดการนั้นคือการจัดการความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ของปัญหาหรือสิ่งที่เราสนใจ แล้วองค์ประกอบของธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ก็ตามมักจะเชื่อมต่อกันด้วยกิจกรรมลอจิสติกส์หรือการเคลื่อนย้ายและการจัดเก็บ

 .

ดังนั้น การจัดการขนส่งหรือการจัดการการเคลื่อนย้ายเพียงอย่างเดียวคงจะไม่พอสำหรับภาพที่แสดงถึงสภาพของปัญหาทั้งหมดที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันไปทั่วไปหมด

 .
พลังงาน: ปัญหาพื้นฐานของทุกสิ่ง  

ถ้าเคยดูหนังเรื่อง Mad Max ที่พระเอกเมลล์ กิ๊บสันแสดงเมื่อสมัยตอนเป็นหนุ่ม ๆ ก็เป็นเรื่องราวที่ช่วงชิงแหล่งพลังงานกัน และมีหนังอีกหลายเรื่องที่สะท้อนถึงความต้องการพลังงาน และชีวิตจริงที่ยิ่งไปกว่าหนังเสียอีก คือ สงครามที่เกิดขึ้นในระยะหลังนี้ดูเหมือนจะกลายเป็นสงครามเพื่อช่วงชิงแหล่งพลังงานน้ำมันที่สำคัญ   

 .

น้ำมันแพงคราวนี้หรือคราวไหน ๆ ก็ตามนั้นมิได้ผลต่อการขนส่งเท่านั้น แต่มีผลต่อโซ่คุณค่าของสังคมมนุษย์โดยตรง เพียงแต่ว่าเราจะปรับตัวได้ดีขนาดไหน ที่สำคัญ เรามองไปในอนาคตเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ดีขนาดไหน ดังนั้น ถ้าประเทศไทยเรายังจัดการกับสิ่งที่เป็นพื้นฐานของทุกสิ่งอย่างพลังงานไม่ได้ เราคงตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบเป็นอย่างมาก

 .

พลังงานเป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป ไม่สามารถทดแทนได้ หรืออาจทดแทนได้ก็อาจจะยังมีราคาที่สูงกว่า หรืออาจต้องลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งกว่าจะนำกลับมาใช้ได้ก็คงจะไม่ทันกับปริมาณการใช้ของประชากรบนโลก   

 .

ทรัพยากรพลังงานที่อยู่บนโลกถูกใช้ไปเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์จนเกือบจะหมดไปแล้ว ใครสามารถสร้างพลังงานทดแทน หรือหาแหล่งพลังงานใหม่ได้ย่อมที่จะเป็นจ้าวโลกไปในทันที การที่จะเป็นจ้าวโลกได้ไม่ใช่ใช้สถานะความเป็นเจ้าของเท่านั้น แต่ควรจะเป็นการใช้อย่างชาญฉลาดมากกว่า

 .

ผมมองว่ามันเหมือนการลงทุนในยุคปัจจุบัน การมีน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาตินั้นไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่การใช้ประโยชน์จากพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีการวางแผนในอนาคตอย่างต่อเนื่องทั้งระยะสั้นและระยะยาว

 .
วัฒนธรรมการใช้พลังงาน

ปัญหาทั้งหลายที่เกิดในสังคมทุกวันนี้ก็มาจากกิเลสของคนทั้งสิ้น ประเทศจะเจริญหรือไม่พัฒนานั้นก็มาจากคนในทุกระดับชั้นที่ร่วมกันสร้างชาติ แต่การที่กลุ่มคนในชาติเหล่านั้นจะร่วมมือกันได้นั้นก็คงจะต้องมีความคิดร่วมกันที่เหมือนกัน  ยอมรับร่วมกันเสียก่อน เพื่อที่จะได้ทุกคนที่มีหน้าที่ต่าง ๆ ได้กำหนดบทบาทของตัวเองได้สอดคล้องกันทั่วทั้งสังคม  

.

พลังงานนั้นเป็นของมีค่า เมื่อใช้แล้วย่อมหมดไป เงินเรามีไม่มาก พลังงานกลายเป็นสินค้าราคาแพงเมื่อเริ่มขาดแคลน     ความเข้าเบื้องต้นเหล่านี้จะต้องอยู่ในความตระหนักของทุกคนในสังคม ไม่ใช่มีปัญหาเมื่อไรก็ออกมารณณรงค์ประหยัดพลังงานกันเป็นช่วง ๆ เหมือนกับการแก้ปัญหาแบบวัวหายแล้วค่อยล้อมคอก ผมว่ามันไม่ทันแล้ว ผมเคยไปต่างประเทศ 

.

บางครั้งยังนึกว่าทำไมห้างสรรพสินค้าเขาถึงปิดเร็วนัก โดยมีกำหนดเวลาให้เราเลือกซื้อสินค้าน้อยเหลือเกิน ผมมองว่าเพื่อเป็นการประหยัดพลังงานและแรงคน แล้วดูบ้านเราสิครับ เปิดเร็ว ปิดดึก ไว้รอคอยดักรอคนมาซื้อของทุกช่วงเวลา จะมีสักกี่ช่วงเวลาที่มีคนมาซื้อของมาก ๆ พอมีการนโนบายประหยัดการเปลี่ยนเวลาปิดเปิดห้างสรรพสินค้าก็ทำได้ไม่ไหร่ก็เลิกกลับมาเหมือนเดิม

.

ดูสิว่าแม้แต่ตัวเราเองก็ไม่ได้มีวัฒนธรรมของการประหยัดพลังงานอย่างฝังรากลึกลงไปในการดำเนินธุรกิจหรือการกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ ของสังคม เมื่อจำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิต ก็ต้องเปลี่ยนให้  ต้องทำให้ได้  แม้ว่าจะลำบากในตอนนี้

.

แต่ถ้าทำให้ชีวิตข้างหน้าเราสบายขึ้น ให้นึกว่าสร้างวัฒนธรรมดี ๆ นี้ไว้ให้ลูกหลาน เพราะว่าเขายังคงต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้อีกนานกว่าเรามาก วัฒนธรรมที่ดีน่าจะเป็นมรดกที่ดีให้กับลูกหลานมากกว่าทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป หันมาช่วยกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการประหยัดพลังงานกันเถอะครับ เพื่ออนาคต

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด