เนื้อหาวันที่ : 2009-11-03 18:26:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 22184 views

เครื่องมือลีนเพื่อผลิตภาพสายการผลิต (ตอนที่ 2)

โดยทั่วไปสภาพแวดล้อมการผลิตมักมีความผันผวน ดังนั้น การควบคุมกระบวนการจึงเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้กระบวนการเกิดความเสถียรภาพในขอบเขตการควบคุม ซึ่งผลักดันให้เกิดกิจกรรมปรับปรุงผลิตภาพอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหลักในการสนับสนุนการควบคุมกระบวนการให้เกิดสภาพการผลิตแบบลีน ประกอบด้วย กิจกรรม 5 ส. การบริหารโรงงานด้วยหลักการมองเห็น (Visual Factory Management) กลไกป้องกันความผิดพลาด (Poka-Yoke) การบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม (Total Productive Maintenance) และการลดเวลาการตั้งเครื่อง (Setup Reduction)

โกศล ดีศีลธรรม
koishi2001@yahoo.com

.

.
การควบคุมกระบวนการ

โดยทั่วไปสภาพแวดล้อมการผลิตมักมีความผันผวน ดังนั้น การควบคุมกระบวนการจึงเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้กระบวนการเกิดความเสถียรภาพในขอบเขตการควบคุม ซึ่งผลักดันให้เกิดกิจกรรมปรับปรุงผลิตภาพอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหลักในการสนับสนุนการควบคุมกระบวนการให้เกิดสภาพการผลิตแบบลีน ประกอบด้วย

.

กิจกรรม 5 ส. การบริหารโรงงานด้วยหลักการมองเห็น (Visual Factory Management) กลไกป้องกันความผิดพลาด (Poka-Yoke) การบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม (Total Productive Maintenance) และการลดเวลาการตั้งเครื่อง (Setup Reduction) ซึ่งจะกล่าวรายละเอียด ต่อไปนี้

.
กิจกรรม 5 ส.

กิจกรรม 5 ส.เป็นกิจกรรมพื้นฐานที่สนับสนุนให้เกิดสภาพการผลิตแบบลีน โดยเฉพาะการมุ่งขจัดความสูญเปล่าด้วยการจัดสถานที่ทำงานให้เป็นระเบียบ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถพบเห็นปัญหาซ่อนเร้น เช่น การทำความสะอาดเครื่องจักรประจำวัน ทำให้สามารถพบเห็นความบกพร่องก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้นอย่าง การรั่วของน้ำมัน การแตกร้าว สกรูหลวม เป็นต้น

.

รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจกับพนักงาน ซึ่งเป็นก้าวแรกในการพัฒนาจัดทำระบบมาตรฐาน ISO 9000 โดยทั่วไป 5 ส. จะดำเนินการให้เกิด 3 ส. แรกเป็นรูปธรรมก่อน และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิด ส. ตัวที่ 4 และ 5 ต่อไป นอกจากนี้เป้าหมายการดำเนินกิจกรรม 5 ส. คือ

.

• สร้างความคิดริเริ่มของพนักงานและเกิดความร่วมมือภายในองค์กร
• เพิ่มขีดความสามารถในการควบคุม
• เสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร
• สร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน
• ลดพื้นที่จัดเก็บสินค้าคงคลังและต้นทุนการเก็บรักษา
แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการทำ 5 ส. คือ ต้องรู้ว่าเรามองหาอะไร ที่ไหน โดยสนใจในประเด็นต่อไปนี้

.

1. ความไม่เป็นระเบียบ
- สิ่งของที่ไม่ได้ใช้ล้ำเข้ามาบนทางเดิน
- ไม่มีการกำหนดสถานที่จัดวางเครื่องมือและเอกสาร ทำให้ยากในการค้นหา
- ไม่มีป้ายแสดงชื่อสถานที่ เลขที่ ชื่อหรือผู้รับผิดชอบควบคุมติดอยู่
- มีของเสียวางระเกะระกะรอบ ๆ พื้นที่ทำงาน
- สิ่งของที่ยากต่อการค้นหาเพื่อนำมาใช้งานได้ทันที
- พื้นที่ว่างถูกใช้ประโยชน์อย่างไม่คุ้มค่า

.
2. ความสกปรก
- ไม่มีเส้นบอกทางเดินหรืออาจมีเส้นแบ่งระยะแต่ไม่ชัดเจน
- เศษฝุ่นหรือน้ำยาสารเคมีหกเรี่ยราดอยู่ตามพื้นโรงงาน
- มีเศษขยะหรือฝุ่นเกาะตามเกจมิเตอร์ แผงควบคุมวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์แสงสว่าง
- สภาพแวดล้อมรอบบริเวณโรงงาน
.
3. ประเด็นอื่น ๆ เช่น สายไฟฟ้าที่ระเกะระกะ ท่อบริเวณโรงาน ความชำรุดของเครื่องจักรและโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ
.
สำหรับการดำเนินกิจกรรม 5 ส. ประกอบไปด้วย

1. สะสาง (Seiri) เป็น ส. ตัวแรก โดยมุ่งขจัดสิ่งของหรือรายการที่ไม่จำเป็นออกจากบริเวณพื้นที่ทำงาน เช่น รายการที่เสื่อมสภาพหรือล้าสมัย, ของเสีย, เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ไม่สำคัญ การจำแนกประเภทรายการมักใช้การติดป้ายแดง (Red Tagging) กับรายการที่ไม่ได้ใช้งาน หรือยุทธการป้ายแดง โดยมีการทบทวนรายการต่าง ๆ ด้วยการตั้งคำถามและดำเนินการติดป้ายแดงสำหรับรายการที่ไม่จำป็นเพื่อนำไปจัดเก็บแยกจากรายการหลัก

.

ส่วนรายการที่ไม่ค่อยถูกใช้งานหรือของเสียก็อาจดำเนินการขจัดหรือขาย ซึ่งการดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลจะต้องได้รับความร่วมมือจากแต่ละฝ่ายในการคัดแยกรายการ หากรายการที่ถูกคัดแยกไม่มีความสำคัญกับพื้นที่ทำงานที่รับผิดชอบ ก็จะถูกเคลื่อนย้ายมาที่พื้นที่ส่วนกลาง  โดยมีขั้นตอนหลัก ดังนี้

.

1. เริ่มประกาศโครงการติดป้ายแดง ประกอบด้วยสมาชิกจากฝ่ายงานต่าง ๆ เช่น ฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายควบคุมพัสดุ เป็นต้น โดยมีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน แต่ควรแจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ไม่ให้ปกปิดหรือซ่อนเร้นสิ่งของที่ไม่ใช้ประโยชน์

.

2. ดำเนินการจำแนกประเภทรายการแต่ละพื้นที่ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายติดป้ายแดง เช่น 
     -  คลังสินค้า: วัตถุดิบ ชิ้นส่วน งานระหว่างผลิต (WIP) ผลิตภัณฑ์
     -  บริเวณพื้นที่ทำงาน: เครื่องจักร อุปกรณ์อำนวยความสะดวก แม่พิมพ์
     -  พื้นที่ว่าง: พื้นที่ทางเดิน ชั้นวางของ

.

3. กำหนดเกณฑ์สำหรับติดป้ายแดง เพื่อคัดแยกรายการที่ใช้งานกับไม่ใช้งานออกจากกันด้วยคำถามง่าย ๆ เช่น สิ่งนี้มีความจำเป็นหรือไม่ ปริมาณเท่าใด สถานที่ควรจัดเก็บ

.

.

4. จัดทำป้ายแดง โดยใช้กระดาษขนาด A4 แสดงความชัดเจน สำหรับของในคลังสินค้าให้กรอกข้อมูลต่าง ๆ เช่น ชื่อรุ่น จำนวน ระยะเวลาที่ค้างสต็อก
5. ดำเนินการติดป้ายแดง       

.

รูปที่ 1 แสดงตัวอย่างป้ายแดงเพื่อการสะสาง

.
6. ดำเนินการประเมินและตัดสินประเภทรายการที่ติดป้ายแดง
• รายการที่จัดเก็บไว้อยู่ในสต็อกให้ทำการคัดแยกรายการป้ายแดงออกเป็น Dead Stock กับรายการสินค้าค้างสต็อก

รูปที่ 2 แสดงตัวอย่างพื้นที่จัดเก็บรายการที่ติดป้ายแดง

.

• สำหรับเครื่องจักร ให้ทำการเคลื่อนย้ายหรือคัดแยกเครื่องที่ไม่ได้ใช้งานภายหลังจากการยื่นขออนุมัติการขจัดทิ้งตามกฎเกณฑ์ที่ระบุไว้

7. จัดทำเอกสารรายงานผลจากการติดป้ายแดง

รูปที่ 3 แสดงกระบวนการคัดแยกเพื่อติดป้ายแดง

.

เมื่อดำเนินการสะสางอย่างมีประสิทธิผล ก็จะทำให้ลดปัญหาการไหลของงานและเวลาสูญเปล่าจากการค้นหาชิ้นงานหรือเครื่องมือ รวมทั้งลดความสูญเปล่าจากพื้นที่ใช้งานและปัญหาการล้นสต็อก

.

2. สะดวก (Seiton) เมื่อดำเนินการ ส. แรกแล้ว ขั้นต่อไปจะเป็นการจัดเก็บรายการสิ่งของให้สะดวกต่อการค้นหาและจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบหลังจากใช้งานเสร็จ ซึ่งเป็นพื้นฐานการจัดทำมาตรฐาน โดยพิจารณาถึงหลักเศรษฐศาสต์การเคลื่อนไหว (Motion Economy) และการใช้สีหรือป้ายสัญญาณ (Signboard) แสดงอย่างชัดเจน หรือเรียกว่าหลักการ Visual 5S ซึ่งมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้

.

• พิจารณาตำแหน่งพื้นที่จัดเก็บเครื่องมือ โดยพิจารณาหลักการความสูญเปล่าจากการเคลื่อนไหว และการจัดทำแผนที่ 5 ส. (5S Map) เพื่อแสดงพื้นที่ซึ่งถูกใช้สำหรับกำหนดตำแหน่งเพื่อจัดเก็บเครื่องมืออย่างเหมาะสมที่สุด

.

รูปที่ 4 แสดงการระบุตำแหน่งจัดเก็บเครื่องมืออย่างเป็นระเบียบ

.

• จัดเก็บคู่มือและเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับใช้งานไว้รอบบริเวณพื้นที่ทำงาน
• ออกแบบพื้นที่และอุปกรณ์ จัดเก็บให้สะดวกต่อการเข้าถึงหรือหยิบใช้งาน
• จัดวางผังพื้นที่จัดเก็บไว้ตามแนวผนังกำแพง เพื่อประหยัดพื้นที่การใช้งาน
• จัดเก็บรายการที่มีลักษณะการใช้งานใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน และคัดแยกรายการที่ไม่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันความสับสน
• อย่าจัดวางสิ่งของไว้ซ้อนกัน ควรใช้ชั้นวางที่เหมาะสมเพื่อจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ
• ใช้รหัสแถบสีเพื่อสะดวกต่อการจำแนกและค้นหา

.

รูปที่ 5 แสดงการติดแถบสัญลักษณ์เพื่อให้เกิด ส. สะดวก

.

3.  สะอาด (Seiso) ด้วยการเก็บกวาดทำความสะอาดเครื่องจักร พื้นที่ทำงานให้ปราศจากฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรก รวมทั้งการทาสี เพื่อมั่นใจว่าทุกสิ่งในบริเวณที่ทำงานได้มีความสะอาด โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้

.

• จัดทำกำหนดการทำความสะอาดแต่ละพื้นที่
• กำหนดผู้รับผิดชอบแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน
• จัดทำรายการตรวจสอบความสะอาด

.

รูปที่ 6 ตัวอย่างแบบฟอร์มตรวจประเมิน  5 ส.

.
• ค้นหาสาเหตุความสกปรกเพื่อดำเนินการขจัดต้นตอปัญหา  รวมทั้งตรวจสอบสภาพเครื่องจักรประจำวัน

รูปที่ 7 แสดงการกำหนดพื้นที่รับผิดชอบความสะอาด

.

4. สุขลักษณะ (Seiketsu) คือการรักษาความสะอาดให้เรียบร้อยอยู่เสมอด้วยการดำเนินกิจกรรม 3 ส. แรกอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำเอกสารมาตรฐานเพื่อเป็นแนวทางปฎิบัติงาน ซึ่งเป็นพื้นฐานให้พนักงานปฏิบัติตามมาตรฐานและลดความผิดพลาดด้วยการบูรณาการเครื่องมือสนับสนุน ดังนี้

.

a.  แผนภูมิวงจรกิจกรรม 5 ส. แสดงรายการกิจกรรมแต่ละ ส. ช่วงเวลาดำเนินกิจกรรมและ ฝ่ายงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและรับทราบโดยทั่วกัน

.

รูปที่ 8 ตัวอย่างแผนภูมิวงจรกิจกรรม 5 ส.

.

b. Visual 5S   เป็นการแสดงสถานะดำเนินกิจกรรม 5 ส. อย่างชัดเจนเพื่อให้ทุกคนได้รับทราบสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น เป้าหมาย ผลลัพธ์การดำเนินการ ขั้นตอนก่อนหน้าหรือถัดไป    วิธีการทำงานอย่างปลอดภัย และการจำแนกสิ่งผิดปกติ
c. มาตรฐานและรายการตรวจสอบ 5 ส. สำหรับโรงงาน (5S Checklists for Factory)
d. ห้านาทีกับ 5 ส. (Five-minute 5S) โดยแสดงข้อความกระชับสั้น ๆ แต่ละ ส. เพื่อกระตุ้นให้ดำเนินการจนเป็นนิสัย

.

รูปที่ 9 ตัวอย่างข้อความห้านาทีกับ 5 ส. (Five-minute 5S)

.

5.  สร้างนิสัย (Shitsuke) เป็นการปฏิบัติตามแนวทางสี่ ส. แรก อย่างเป็นกิจวัตร โดยเฉพาะการฝึกอบรมให้ความรู้การทำงานอย่างถูกต้อง เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงบทบาทและความมีส่วนร่วมในกิจกรรม 5 ส. โดยมีเครื่องมือและกิจกรรมสนับสนุน เช่น การใช้โป๊สเตอร์ 5 ส. (5S Poster) จดหมายข่าว (5S Newsletter) การจัดประกวดกิจกรรม 5ส. การจัดเยี่ยมชมโรงงาน 5 ส. ดีเด่น

.

สำหรับแนวทางดำเนินกิจกรรมปรับปรุงผลิตภาพด้วย 5 ส. อย่างเกิดประสิทธิผลจะใช้แนวทางตามวงจรคุณภาพของเดมมิง (Plan > Do > Check > Action) ดังนี้ 

.

1. จัดตั้งทีมงานและคณะกรรมการ (PLAN)
2. จัดทำแผนงานแต่ละ ส.
(PLAN)
3. ประกาศและเริ่มดำเนินโครงการ (DO)
4. ให้การฝึกอบรมกับพนักงาน
(DO)
5. กำหนดวันทำความสะอาดในพื้นที่แต่ละฝ่ายงานที่รับผิดชอบโดยมีพนักงานทุกคนมีส่วนร่วมดำเนินกิจกรรม
(DO)
6. ดำเนินการประเมินผลจากการดำเนินกิจกรรม
(CHECK)
7. ตรวจสอบด้วยตนเองและดำเนินการแก้ไข (ACTION)

.

รูปที่ 10 แสดงความสัมพันธ์กิจกรรม 5ส.กับวงจรคุณภาพ

.

ดังนั้น องค์กรที่ดำนินกิจกรรมปรับปรุงด้วย 5 ส. อย่างจริงจังจะส่งผลให้เกิดการลดความสูญเปล่าที่ซ่อนเร้นในพื้นที่ทำงาน เกิดการปรับปรุงคุณภาพและสภาพความปลอดภัยจากการทำงาน ตลอดจนการลดต้นทุนและสร้างผลกำไรให้กับองค์กร ซึ่งสอดคล้องกับตัวย่อ 5S ดังนี้

.

• Sales-การเพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งตลาด (Market Share)
• Savings-การประหยัดต้นทุน
• Safety-เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย
• Standardization-เกิดมาตรฐานการปฏิบัติงาน
• Satisfaction-พนักงานและลูกค้าเกิดความพึงพอใจ

.
เอกสารอ้างอิง

1. Gerhard J. Plenert, The Plant Operations Handbook: A Tactical Guide to Everyday Management, Richard D. Irwin, Inc., 1993
2. James P. Womack and Daniel T. Jones, Lean Thinking, New York: Simon & Schuster, 1996
3. John M. Nicholas, Competitive Manufacturing Management, McGraw-Hill, Inc., 1998
4. Lee J. Krajewski, Larry P. Ritzman, Operations Management: Strategy and Analysis, Addison-Wesley, 1999
5. Mark A. Vonderembse, Gregory P. White, Operations Management, West Publishing Company, 1996
6. Michael Quirk, Manufacturing, teams, and improvement: the human art of manufacturing ,Prentice-Hall,Inc.,1999
7. Richard   B.  Chase, Nicholas J. Aquilano, F. Robert Jacobs, Operation Management for Competitive Advantage, McGraw-Hill, 2001
8. Steven A. Melnyk, Morgan Swink, Value-Driven Operations Management: An Integrated Modular Approach, McGraw-Hill, 2002
9. โกศล ดีศีลธรรม, เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้วยแนวคิดลีน, ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2548
10. โกศล ดีศีลธรรม, การสร้างประสิทธิผลระบบบำรุงรักษา, ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2548

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด