เนื้อหาวันที่ : 2009-10-30 18:41:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 14496 views

ซัพพลายเชนในกระบวนการขนส่ง (Logistics)

กิจกรรมของการจัดส่งกำลังบำรุงทางธุรกิจ (Logistics) เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารโซ่อุปทาน และเป็นตัวการที่ทำให้กระบวนการจัดการโซ่อุปทานสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการบริการลูกค้า (Customer Service) ซัพพลายเชนในกระบวนการขนส่ง (Logistics) จึงป็นเรื่องที่ขาดไปไม่ได้ในขั้นของกระบวนการจัดจำหน่าย (Distribution) ที่ต้องการให้เกิดประสิทธิภาพรวดเร็วและแม่นยำขึ้น สามารถสนองความต้องการของลูกค้าในตลาด สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้

บูรณะศักดิ์  มาดหมาย 
Buranasak_madmaiy@yahoo.com

.

กิจกรรมของการจัดส่งกำลังบำรุงทางธุรกิจ (Logistics) เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารโซ่อุปทาน และเป็นตัวการที่ทำให้กระบวนการจัดการโซ่อุปทานสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการบริการลูกค้า (Customer Service) ซัพพลายเชนในกระบวนการขนส่ง (Logistics) จึงป็นเรื่องที่ขาดไปไม่ได้ในขั้นของกระบวนการจัดจำหน่าย (Distribution) ที่ต้องการให้เกิดประสิทธิภาพรวดเร็วและแม่นยำขึ้น สามารถสนองความต้องการของลูกค้าในตลาด สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้

.

ภาพซัพเชื่อมโยงพลายเชนที่เกี่ยวกับกระบวนการขนส่ง (Logistics)

.

ลอจิสติกส์ในกระบวนการซัพพลายเชน

ปัจจุบันประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะเศรษฐกิจ การเมือง สังคม นโยบาย และเทคโนโลยี ส่งผลให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม ต้องมีการปรับตัวพัฒนาระบบและรูปแบบในการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับภาคธุรกิจที่สำคัญได้ในระดับโลก

.

ซึ่งปัจจุบันมีการแข่งขันกันในระดับที่สูง ทุกหน่วยงานจะต้องมีการตื่นตัวตลอดและคิดค้นหาแนวทางในการที่จะปรับกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีอยุ่ให้เป็นระบบเพิ่มมากขึ้น  เช่น การจัดซื้อ การผลิต การตลาด การวิจัยและพัฒนา

.

การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ทันต่อการแข่งขันในตลาดโลกและการแข่งขันในอนาคต สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากกว่าคู่แข่งขัน ภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีความพยายามที่จะมีการพัฒนาโดยการเชื่อมโยง เพื่อการบูรณาการพัฒนาร่วมกันตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก ปิโตรเคมี ยางพารา เกษตรพันธุ์พืข ผักผลไม้ เส้นใย ฯลฯ

.

อุตสาหกรรมกลางน้ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ปั่นด้าย  ทอผ้า ฟอกย้อม และอุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ รองเท้าและเครื่องหนัง ทอผ้าและเครื่องนุ่งห่ม เซรามิกและแก้ว เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป ฯลฯ

.

ที่มา: กรมพัฒนาอุตสากรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

.

ต้นทุนของลอจิสติกส์ของไทยยังสูงถึง 19% ของ GDP เทียบกับประเทศที่เจริญ มีเพียง 7%-11% เท่านั้น ดังนั้น ขณะนี้รัฐจึงหันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น และตั้งเป้าจะลดลงให้เหลือ 15% ให้ได้ในปี 2551  

.

ขณะที่ภาคของธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อมการแข่งขันล้วนกระทบต่อการจัดการลอจิสติกส์ขององค์กรเอง ตั้งแต่เรื่องของการสร้างความได้เปรียบที่มีอยู่ 2 ด้าน คือความสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า และการลดต้นทุนขององค์กร โดยการพัฒนาในอุตสาหกรรมให้มีการเชื่อมโยงตลอดโซ่อุปทาน มุ่งไปสู่การจัดการด้านลอจิสติกส์ของระดับโลก 

.

ที่มา: กรมพัฒนาอุตสากรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

.

ปัจจุบันจึงเกิดการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ทำให้องค์กรต้องปรับปรุงต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนลงให้ได้เรื่อย ๆ นอกจากนี้ อำนาจการต่อรองในช่องทางการจัดจำหน่าย ขณะนี้อยู่ในมือค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งระบบบริหารจัดการขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจสูงสุด ประกอบกับลูกค้าเรียกร้อง และต้องการควบคุมมากขึ้น

.

สินค้าและบริการมีวงจรชีวิตที่สั้นลง ความต้องการไม่แน่นอนมากขึ้น ทำให้การพยากรณ์ไม่ได้ตอบสนองความต้องการได้แน่ชัด เวลาที่องค์กรต้องการติดตั้งระบบไอทีเพื่อการจัดการด้านลอจิสติกส์ ต้องไม่ละเลยต่อซัพพลายเชน ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงผู้บริโภค ซึ่งจะมีซัพพลายเออร์อยู่หลายระดับ ขั้นที่ 1, 2 และ 3 ฯลฯ

.

ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ถ้าธุรกิจมองไม่ทะลุทั้งระบบ การวางระบบไอที อาจจะกลายเป็นการผลักภาระไปให้ผู้อื่นแทน สุดท้ายก็ไม่สามารถลดต้นทุนได้ทั้งระบบอยู่ดี สิ่งที่พยายามเน้นย้ำอีกก็คือ องค์กรจะใช้แนวคิดในการบริหารลอจิสติกส์ใดก็ตามให้คำนึงถึงความเสี่ยงและความไม่แน่นอน ซึ่งมีอยู่ 5 ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง คือ

.

• ซัพพลายเออร์
• ความต้องการของลูกค้า
• กระบวนการที่องค์กรออกแบบมา
• ระบบควบคุมขององค์กร

.

• ความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมของธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากที่สุด องค์กรต้องเรียงลำดับความสำคัญความเสี่ยง และพยายามลด โดยประเมินและเตรียมแผนรับมือแก้ไขไว้ สิ่งสำคัญของแนวคิดซัพพลายเชนในอนาคตก็คือ การนำไอทีเข้ามาใช้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันทั้งระบบ และมุ่งที่ความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ

.

ลอจิสติกส์ (Logistics) หมายถึง กระบวนการวางแผนการดำเนินการเพื่อควบคุมประสิทธิภาพการไหลเวียนสินค้า/บริการ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การจัดการคลังสินค้า บริหารต้นทุน การขนส่ง ห่วงโซ่แห่งคุณค่า ไปจนถึงจุดที่มีการใช้งานหรือถึงมือผู้บริโภค การจัดการซัพพลายเชน (Supply Chain Management) จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ผลิต (ผู้ให้บริการ) กับผู้ขายปัจจัยผลิต (ซัพพลายเออร์) เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิต อันนำไปสู่การเพิ่มผลกำไรของกิจการได้ในที่สุด

.

โดยกระบวนการนี้จะเริ่มตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อ (Procurement) การผลิต (Manufacturing) การจัดเก็บ (Storage) เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) การจัดจำหน่าย (Distribution) ตลอดจนการขนส่ง (Transportation) ซึ่งมีผลสำคัญต่อการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

.

ที่มา: ธนิต โสรัตน์ (2007)
.

ลอจิสติกส์จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งหนึ่งที่จะช่วยในการวางแผน สนับสนุน การควบคุมการไหลของกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งการเก็บรักษาสินค้าจากจุดเริ่มต้น ไปสู่จุดสุดท้าย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ

.

กิจกรรมหลักในการจัดการลอจิสติกส์ประกอบด้วย งานบริการลูกค้า การวางแผนเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของอาคารโรงงาน คลังสินค้า การพยากรณ์และการวางแผนอุปสงค์ การจัดซื้อจัดหา การจัดการสินค้าคงคลัง การจัดการวัตถุดิบ การเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ การบรรจุหีบห่อ การดำเนินการกับคำสั่งซื้อ

.

การขนของและการจัดส่ง การจัดการรับคืนสินค้า การจัดการช่องทางจัดจำหน่าย การกระจายสินค้า คลังสินค้าและการเก็บสินค้าเข้าคลัง การจราจรและการขนส่ง กิจกรรมการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการรักษาความปลอดภัย จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวดเร็วและแม่นยำขึ้น ด้วยต้นทุนที่ลดต่ำลงอันเนื่องมาจากการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรอื่นในสาย Supply Chain

.

.

เมื่อพิจารณาเรื่องการขนส่ง โดยทั่วไปรูปแบบปัญหาการขนส่งปัญหาหลักของการขนส่งสินค้าซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนการดำเนินงานคือ

.

• ขั้นตอนการผลิต คือ ต้องดำเนินการส่งวัตถุดิบ จากหลายแหล่งวัตถุดิบไปยังหลายโรงงาน ทำอย่างไรที่จะทำให้มีต้นทุนต่ำสุด

• ขั้นตอนการตลาด คือ การกระจายสินค้าจากโรงงานหลายโรงงานที่มีกำลังผลิตต่างกันไปเก็บไว้ที่คลังสินค้า ทำอย่างไรที่จะทำให้มีต้นทุนต่ำสุดซึงรูปแบบปัญหาการขนส่ง ประกอบด้วย

.

แหล่งต้นทาง (Source) ได้แก่ แหล่งผลิตที่มีการผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบที่มีการตอบสนองความต้องการได้ (Supply) แหล่งต้นทางนี้มีหลายแหล่ง

.
แหล่งปลายทาง (Destinations) ได้แก่ แหล่งปริมาณความต้องการวัตถุดิบหรือสินค้า แหล่งปลายทางทางนี้มีหลายแหล่ง

• ต้นทุนขนส่ง (Transportation Cost) ต้นทุนการขนส่งจากแหล่งต้นทางไปยังแหล่งปลายทาง ให้มีต้นทุนรวมต่ำสุดลอจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจะสามารถวางแผนการดำเนินการ เพื่อควบคุมประสิทธิภาพการไหลเวียนสินค้า/บริการ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การจัดการคลังสินค้า บริหารต้นทุน การขนส่ง ห่วงโซ่แห่งคุณค่า ไปจนถึงจุดที่มีการใช้งานหรือถึงมือผู้บริโภค จะ

.

เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวดเร็วและแม่นยำขึ้น ด้วยต้นทุนที่ลดต่ำลงอันเนื่องมาจากการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรอื่นในสาย Supply Chain 

.

การจัดการลอจิสติกส์จะเน้นไปที่การเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมตั้งแต่ขั้นตอนในการจัดหาวัตถุดิบ (Raw Material) สินค้า (Goods) และบริการ (Services) การเคลื่อนย้ายจากต้นทาง (Source of Origin) ไปยังผู้บริโภคปลายทาง (Final Destination) ได้ทันเวลา (Just in Time) และมีประสิทธิภาพ โดยมีการสร้างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ และติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย เพื่อช่วยในการบริหารจัดการ 

.

นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายสินค้าในความหมายของลอจิสติกส์ยังครอบคลุมถึงการขนส่งสินค้า (Cargoes Carriage) การเก็บรักษาสินค้า (Warehousing) และการกระจายสินค้า (Cargoes Distribution) กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ (Procurement) และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการคาดคะเนของตลาด (Market Predict) โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ

.

o ความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้า (Speed Delivery)
o การไหลลื่นของสินค้า (Physical Flow)
o การไหลลื่นของข้อมูลข่าวสาร (Information Flow)
o การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added)
o การลดต้นทุนการดำเนินการเกี่ยวกับสินค้า การดูแลและขนส่งสินค้า (Cargo Handling & Carriage Cost)

.

กระบวนการของการจัดการห่วงโซอุปทาน (Supply Chain Management) จึงมีความสำคัญและประโยชน์ของกระบวนการทางธุรกิจ และยังมีประโยชน์อีกหลายประการที่ยังมิได้กล่าวถึง เช่น ประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบและบริการและการผลิต เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ยังได้รับการยืนยันจากผลวิจัยของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้าน SCM ที่พบว่าบริษัท 110 แห่งทั่วโลกที่นำระบบ SCM ไปใช้มีต้นทุนการผลิตและบริหารงานที่ลดลง  

.

ทำให้การบริหารกระแสเงินสดดีขึ้น มีกระบวนการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ความเร็ว และ ความยืดหยุ่น แต่ยังคงไว้ซึ่งความแม่นยำและเชื่อถือ แนวคิดเรื่องการจัดการห่วงโซอุปทาน (Supply Chain Management) จึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทย

.

แต่จากกระแสการตื่นตัวและตอบรับจากองค์กรธุรกิจทั่วโลก ถึงเวลาแล้วที่องค์กรธุรกิจไทยไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ค้าปลีกในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมควรจะต้องหันกลับมาปรับปรุงกระบวนการทำงานของตัวเองพร้อมกับนำความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจไทย

.

กิจกรรมหลักด้านลอจิสติกส์ มีทั้งหมด 13 กิจกรรมด้วยกัน โดยสามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่เป็นกิจกรรมหลักขององค์กรและกลุ่มที่เป็นกิจกรรมสนับสนุนการทำงานขององค์กร กิจกรรมซึ่งถือเป็นกิจกรรมหลักขององค์กรประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 8 กิจกรรม ส่วนที่เหลืออีก 5 กิจกรรม ถือเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กร ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้

.

• การบริการลูกค้า (Customer Service) เป็นกิจกรรมที่องค์กรพยายามตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะทำได้ดีเพียงใดต้องขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของกิจกรรมลอจิสติกส์อื่น ๆ เข้ามาประกอบ โดยเฉพาะการส่งมอบสินค้าที่ตรงเวลาและครบตามจำนวน

.

• การดำเนินการตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (Order Processing) เป็นกิจกรรมที่จะต้องพยายามดำเนินการให้รวดเร็วที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ในปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่มักนำระบบคอมพิวเตอร์และการจัดการธุรกิจเชิงอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วย เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว

.

• การคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า (Demand Forecasting) เป็นการคาดการณ์ความต้องการในตัวสินค้าหรือการบริการลูกค้าในอนาคต ซึ่งนับเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญในการที่จะสร้างผลกำไรหรือทำให้บริษัทขาดทุนในการดำเนินการ การคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าล่วงหน้า จะช่วยให้บริษัทสามารถกำหนดทิศทางในการดำเนินงานว่าจะผลิตสินค้าจำนวนเท่าไร หรือเตรียมบุคลากรและอุปกรณ์มากน้อยเพียงใด

.

หากการคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าผิดพลาด ก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและผลประกอบการของบริษัท จากการที่ไม่มีสินค้าให้ลูกค้า หรือในทางตรงกันข้ามอาจมีสินค้าในคลังสินค้ามากเกินไป

.

• การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management) เป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่ง เนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังที่มีอยู่ย่อมส่งผลต่อองค์กรไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเงินทุน องค์กรที่มีระดับปริมาณสินค้าคงคลังที่สูงย่อมสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดี

.

แต่ในขณะเดียวกันปริมาณสินค้าที่มาก ก็ส่งผลให้องค์กรเกิดค่าเสียโอกาสด้านการนำเงินทุนไปหมุนเวียน เสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้า ดังนั้น องค์กรจะต้องคำนึงถึงระดับของสินค้าคงคลังที่เหมาะสมที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ เพื่อที่จะสามารถลดต้นทุนต่าง ๆ

.

• กิจกรรมการขนส่ง (Transportation) ครอบคลุมถึงทุกกิจกรรมที่เป็นการเคลื่อนย้ายตัวสินค้า จากจุดกำเนิดไปยังจุดที่มีการบริโภคให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยจะต้องจัดส่งสินค้าถูกต้องครบจำนวนในสภาพที่สมบูรณ์ และตรงเวลาที่กำหนด ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าในมุมมองของคนทั่วไป การขนส่งเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ที่มีบทบาทชัดเจนที่สุด

.

• การบริหารคลังสินค้า (Warehousing and Storage) เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการคลังสินค้า อาทิ การจัดเก็บสินค้า การจัดการพื้นที่ในคลังสินค้า อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นในการดำเนินกิจกรรมภายในคลังสินค้า ซึ่งในปัจจุบันกิจกรรมการบริหารคลังสินนับเป็นกิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าอีกทางหนึ่งด้วย

.

• Reverse Logistics คือกระบวนการจัดการสินค้าที่ถูกส่งกลับคืน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่เสียหาย  หมดอายุการใช้งาน เป็นต้น

.

• การจัดซื้อ (Purchasing) เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ จัดหาวัตถุดิบและบริการทั้งในส่วนของการเลือกผู้จำหน่ายวัตถุดิบ กำหนดช่วงเวลาและปริมาณในการสั่งซื้อ และสร้างความสัมพันธ์กับผู้จำหน่ายวัตถุดิบ

.

• การจัดเตรียมอะไหล่และชิ้นส่วนต่าง ๆ (Part and Service Support) นับเป็นความรับผิดชอบต่อสินค้าหลังการขาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริการหลังการขายที่บริษัทให้กับลูกค้า โดยการจัดหาชิ้นส่วน อะไหล่ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการให้บริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพแก่ลูกค้า ในกรณีที่สินค้าเกิดความชำรุด ความรับผิดชอบต่อสินค้าหลังการขายเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

.

ซึ่งจะส่งผลระยะยาวต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าในอนาคต เกิดความรู้สึกที่ดีกับยี่ห้อสินค้า ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ากิจกรรมนี้มีส่วนช่วยให้บริษัทสามารถดำรงความสัมพันธภาพระยะยาวกับลูกค้าไว้ได้

.

• การเลือกที่ตั้งโรงงานและคลังสินค้า (Plant and Warehouse Site Selection) การเลือกที่ตั้งโรงงานของโรงงานและคลังสินค้าจะต้องให้ความสำคัญกับความใกล้-ไกลของแหล่งวัตถุดิบและลูกค้า เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงและเกี่ยวข้องกับระยะทางการขนส่ง รวมถึงความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วย

.
•  Material Handling เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ และสินค้าคงคลังในระหว่างการผลิต รวมถึงการขนย้ายตัวสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้ว ภายในโรงงานหรือคลังสินค้า วัตถุประสงค์ของการจัดการเพื่อ

o ลดระยะทางการเคลื่อนย้ายให้ได้มากที่สุด
o ลดจำนวน
o แก้ไขกระบวนการที่เป็นคอขวดให้มีการไหลได้ดีขึ้น
o ลดการขนถ่ายให้มากที่สุดเพื่อการประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่าย

.

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวองค์กรต้องการพยายามลดจำนวนการเคลื่อนย้ายวัตถุต่าง ๆ ให้มากที่สุด เนื่องจาก ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย จะมีต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายวัตถุต่าง ๆ ดังนั้น หากสามารถลดค่าใช้จ่ายในด้านนี้ก็จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อชิ้นลดลงด้วย

.

• บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ในด้านการตลาดนั้น บรรจุภัณฑ์ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงลักษณะภายนอกของสินค้า ซึ่งจะต้องสามารถดึงผู้บริโภคให้สนใจในตัวสินค้า แต่ทางด้านลอจิสติกส์ บรรจุภัณฑ์จะมีบทบาทสำคัญต่างออกไปจากด้านการตลาด โดยประการแรก บรรจุภัณฑ์จะเป็นสิ่งที่ปกป้องตัวผลิตภัณฑ์ไม่ให้เกิดความเสียหายในขณะที่มีการเคลื่อนย้าย ประการที่สอง บรรจุภัณฑ์ที่ดีจะช่วยให้กระบวนการเคลื่อนย้ายและเก็บรักษาสินค้ามีความสะดวกมากขึ้น

.

• การติดต่อสื่อสารทางด้านลอจิสติกส์ (Logistics Communications) การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพภายในองค์กร ถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลต่อความสำเร็จขององค์กร การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการตัดสินใจต่าง ๆ สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การสื่อสารที่ประสิทธิภาพขององค์กรควรจะมีลักษณะดังนี้

.

o มีการสื่อสารระหว่างองค์กร ซัพพลายเออร์ และลูกค้า
o มีการสื่อสารระหว่างหน่วยงานภายในองค์กรโดยเฉพาะฝ่ายการบัญชี การตลาด ฝ่ายผลิต
o มีการสื่อสารระหว่างกิจกรรมลอจิสติกส์ทั้ง 13 กิจกรรม
o มีการสื่อสารกันในหน่วยงานย่อย เช่น ฝ่ายขายกับฝ่ายบริการลูกค้าในฝ่ายการตลาด
o มีการสื่อสารระหว่างสมาชิกในระบบโซ่อุปทานที่ไม่ได้มีการติดต่อกับองค์กรโดยตรง เช่น ซัพพลายเออร์รายแรกสุดในโซ่อุปทาน

.

กิจกรรมหลักทางลอจิสติกส์ทั้ง 13 กิจกรรม อาจนำมาจัดเป็นกลุ่มได้ 5 กลุ่ม คือกิจกรรมทางด้านการบริหารจัดการการผลิต การตลาดและการบริการลูกค้า การจัดหาวัตถุดิบและอุปกรณ์ต่าง ๆ การกระจายสินค้าและการจัดการสินค้าคงคลัง การจัดส่ง ซึ่งครอบคลุมองค์ความรู้ทางด้านลอจิสติกส์

.

ที่มา: รุโณทัย มหัทธนานนท์ ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
.
ตัวอย่างของนโยบาย และวิธีดำเนินงานด้านลอจิสติกส์ของ Tesco Lotus

ถ้ากล่าวถึงธุรกิจค้าปลีกแล้ว ปัจจัยหลักที่มีผลทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและสามารถที่จะแข่งขันกับผู้ค้ารายอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นมีหลายประการด้วยกัน และหนึ่งในปัจจัยหลักนั้นก็คือ ระบบด้านลอจิสติกส์ ซึ่งทางบริษัทฯ มีนโยบายมุ่งเน้นในการที่จะศึกษาและ พัฒนาระบบลอจิสติกส์อย่างมีระบบและต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของบริษัทฯ

.

ในช่วงเวลา 11 ปีที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ได้ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องซึ่งในปัจจุบันนี้ถ้าพูดถึงจำนวนสาขาแล้วทั้งหมดก็จะมีประมาณ 190 สาขาด้วยกัน โดยสามารถจำแนกออกได้เป็น 4 รูปแบบคือ

1. ไฮเปอร์มาร์เก็ต 
2. สโตร์คุ้มค่า 
3. ตลาดโลตัส 
4. สโตร์เอ็กเพรส  
.

ด้วยจำนวนสาขาและรูปแบบที่แตกต่างกันไปนั้น ทำให้มีความจำเป็นที่ระบบลอจิสติกส์จะต้องมีศักยภาพ, ประสิทธิภาพและความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการที่ต่างกันไปในแต่ละรูปแบบของสาขาด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด ขณะเดียวกันนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

.

ด้วยแนวทางนโยบายดังที่กล่าวมาแล้วทางบริษัทฯ จึงจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีหน้าที่ในการที่จะรับและกระจายสินค้าทั้งอาหารสด และอาหารแห้งไปยังสาขาทั้งหมด หรืออาจกล่าวได้ว่าประมาณ 98% ของสินค้าที่ขายในแต่ละสาขาได้จัดส่งผ่าน ศูนย์กระจายสินค้า โดยที่ทำการรับสินค้า 7 วัน/อาทิตย์ วันละ 24 ชั่วโมง และทำการจัดส่งสินค้าให้กับสาขา 7 วัน/อาทิตย์ โดยสามารถแบ่งส่วนการปฏิบัติการในศูนย์กระจายสินค้าดังนี้

.

• ส่วนการจัดเก็บ (Stock Chamber) ในส่วนนี้จะทำการจัดเก็บสินค้าประมาณ 3,000 รายการ ซึ่งได้คัดเลือกแล้วว่าเหมาะสมที่จะจัดเก็บ โดยที่ทางแผนกเติมเต็มสินค้า (Replenishment) จะสั่งสินค้าแล้วบริษัทคู่ค้า (Vendor) จะทำการจัดส่งสินค้าที่ศูนย์กระจายสินค้าตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ จากนั้นจะทำการจัดเก็บ

.

ส่วนของสาขาจะสามารถเบิกสินค้าเหล่านี้ได้ทุกวัน ๆ ละ 1 ครั้ง ไม่เกิน 12:00 น. ณ วันที่สั่ง โดยที่ข้อมูลการเบิกของแต่ละสาขาจะถูกส่งมารวบรวมผ่านระบบออนไลน์มาที่สำนักงานใหญ่ หลังจากนั้นส่งผ่านลงไปที่ ศูนย์กระจายสินค้า ประมาณ 18:00 น. ในวันเดียวกัน เพื่อทำการจัดเบิกสินค้าแล้วส่งไปถึงสาขาภายใน 2 วันนับจากวันที่สั่งเบิกสินค้า

.

• ส่วนสินค้าส่งผ่าน (Cross Docking Chamber) สินค้าทุกรายการที่ส่งผ่านศูนย์กระจายสินค้า แต่ไม่ได้จัดเก็บจะผ่านในส่วนงานนี้ โดยที่ทางสาขาจะทำการสั่งสินค้าผ่านระบบบริหารการสั่งสินค้าภายใน 14:00น. ของวันที่ตกลงกับบริษัทคู่ค้าว่าจะมีการสั่งซื้อ จากนั้นข้อมูลการสั่งซื้อของแต่ละสาขาจะถูกรวบรวมผ่านระบบออนไลน์มาที่สำนักงานใหญ่

.

จากนั้นจะออกเป็นใบสั่งซื้อส่งไปยังบริษัทคู่ค้าเพื่อทำการจัดส่งที่ศูนย์กระจายสินค้า ตามวันและเวลาที่กำหนด ทางศูนย์กระจายสินค้าจะทำการรับ และคัดแยกสินค้าตามที่สาขาได้สั่งมา จากนั้นทำการจัดส่งไปถึงสาขาภายใน 2 วันนับจากวันที่สินค้ามาส่งที่ศูนย์กระจายสินค้า

.

• ส่วนจัดเก็บสินค้าของเอ็กซ์เพรส (Express Chamber) เนื่องจากรูปแบบสาขา เอ็กซ์เพรส มีลักษณะเป็นคอนวีเนี่ยนสโตร์ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีรูปแบบการกระจายสินค้าที่แตกต่างจากสาขารูปแบบอื่น ๆ กล่าวคือ

.

1. สินค้าทุกรายการยกเว้นอาหารสด ที่ขายในร้านเอ็กซ์เพรสจะต้องจัดเก็บที่ศูนย์กระจายสินค้า และสาขาสามารถเบิกสินค้าได้ทุกวัน ส่วนระยะเวลาในการจัดส่งยังสาขาประมาณ 6-12 ชั่วโมง นับจากเวลาสั่งเบิก  

.

2. รายการสินค้าประมาณ 60 - 70% จากทั้งหมด ทางสาขาสามารถเบิกเป็นชิ้นได้ โดยจำเป็นต้องเบิกทั้งกล่อง ทั้งนี้เพื่อให้สาขาไม่ต้องแบกรับปริมาณสต็อกสินค้าที่มากในพื้นที่ที่จำกัด ดังนั้น ส่วนของพื้นที่จัดเก็บ, สต็อคสินค้า, งานปฏิบัติการจะแยกออกมาจากส่วนงานหลักดังที่กล่าวมาในข้อ 1 และ 2

.

4. ส่วนอาหารสด (Fresh Food Chamber) ในส่วนนี้จะทำการกระจายสินค้าอาหารสดให้กับสาขาทุกรูปแบบ โดยรายการสินค้าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จะถูกส่งผ่านที่นี่ โดยวิธีการสั่งซื้อจะเหมือนกับในส่วนของอาหารแห้ง ระยะเวลาในการจัดส่งยังสาขาประมาณไม่เกิน 24 ชั่วโมงนับจากรับสินค้า

.

ในส่วนของประเภทรถที่มีใช้ในระบบการกระจายสินค้า มีดังนี้
1. รถเทรลเลอร์ ขนาด 40 ฟุต จะใช้ในการขนส่งสินค้าของแห้ง
2. รถเทรลเลอร์ปรับอุณหภูมิ 20 ฟุต ใช้ในการขนส่งสินค้าอาหารสด
3. รถเทรลเลอร์ ขนาด 20 ฟุต ใช้ในการขนส่งสินค้าให้ สโตร์ เอ็กซ์เพรส
4. รถปิกอัพ ใช้ในการขนส่งสินค้าให้ สโตร์ เอ็กซ์เพรส

.

การนำระบบลอจิสติกส์มาประยุกต์ใช้ของเทสโก้ สามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันเป็นอย่างยิ่ง เพิ่มประสิทธิภาพ, ความสามารถให้ธุรกิจเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในกระบวนการด้านลอจิสติกส์และจัดการซัพพลายเชน, และเป็นเครื่องรับประกันว่าสาขาจะมีสินค้าเพียงพอต่อการขายในแต่ละวัน

.

อีกทั้งลดความเสี่ยงที่สินค้าจะขาดที่หน้าร้านถ้าหากมียอดการขายที่มากกว่าปกติ ซึ่งจากข้อมูลจะพบความพอเพียงของสินค้าที่หน้าร้านจะมีส่วนต่อยอดขาย ช่วยเพิ่มความถี่ในการสั่งสินค้าของสาขารวมถึงลดระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าเพิ่มคุณภาพความสดใหม่ของสินค้า อันเนื่องมาจากความถี่ในการสั่งและส่งสินค้าของบริษัทคู่ค้าและระยะเวลาในการจัดส่งไปยังสาขา

.

ลดปริมาณสินค้าคงคลังที่สาขา โดยที่สาขาไม่ต้องสต็อกสินค้าในปริมาณที่มากในขณะเวลาหนึ่ง ๆ เพราะสามารถเบิกสินค้าในความถี่ที่มากขึ้นด้วยระยะเวลาที่สั้นลง ลดต้นทุนในแง่ของลอจิสติกส์ โดยการรวมการกระจายสินค้าจากจุดเดียวทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันสามารถที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้มีมากขึ้น

.

อีกทั้งยังสามารถลดความยุ่งยากซับซ้อนที่สาขาในการที่จะต้องดําเนินการรับสินค้าโดยตรงจากบริษัทคู่ค้า (Vendor) อันเป็นสาเหตุของความล่าช้าและง่ายต่อความผิดพลาด ทำให้ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของสาขาที่จะต้องมีพื้นที่มากขึ้นสำหรับจัดเก็บสินค้า, พนักงานรับสินค้า, อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ชั้นจัดเก็บ (Rack), และเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

.

ข้อมูลอ้างอิง

• http://classroom.hu.ac.th/courseware/Marketing/index26.html
• http://www.lopburi.go.th/logistic.htm
• รุโณทัย มหัทธนานนท์ “การจัดการลอจิสติกส์ในองค์กร”. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย  (เอกสารประกอบการบรรยาย)
• 
www.tanitsorat.com
• www.dpu.ac.th/businessuploadtutorial
• รายงาน ระบบช่วยจัดการด้าน Supply Chain เพื่อการจัดหาสินค้า, มานิตา ศฤงคารินทร์

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด