เนื้อหาวันที่ : 2006-11-30 11:40:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4635 views

ลดความเสี่ยงด้วยระบบตรวจวัดความดันยางรถยนต์

อุบัติเหตุบนท้องถนนมักเกิดขึ้นโดยง่าย และป้องกันได้ไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ หากเรามั่นใจว่าผู้ขับขี่มีความระมัดระวังเป็นอย่างดีแล้ว ตัวแปรอื่น ๆ ของอุบัติเหตุโดยหลักก็คือสภาพของตัวรถ แต่อาการยางระเบิดยังเป็นสาเหตุหนึ่งให้รถเสียหลักจนเกิดอุบัติเหตุได้ และเชื่อว่าคนที่ใช้จะต้องเคยมีประสบการณ์กันมาบ้าง

อุบัติเหตุบนท้องถนนมักเกิดขึ้นโดยง่าย และป้องกันได้ไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ หากเรามั่นใจว่าผู้ขับขี่มีความระมัดระวังเป็นอย่างดีแล้ว ตัวแปรอื่น ๆ ของอุบัติเหตุโดยหลักก็คือสภาพของตัวรถ แต่อาการยางระเบิดยังเป็นสาเหตุหนึ่งให้รถเสียหลักจนเกิดอุบัติเหตุได้ และเชื่อว่าคนที่ใช้จะต้องเคยมีประสบการณ์กันมาบ้าง

.

 

.

ในเรื่องดังกล่าวนี้ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตยางรถยนต์พยายามออกแบบระบบป้องกันต่าง ๆ มาช่วยป้องกันความเสียหาย และถึงวันนี้เรากำลังจะมีระบบตรวจสอบความดันลมยาง (Tire Pressure Monitoring) ใช้กันแล้ว เรื่องราวเป็นอย่างไรโอกาสนี้ผู้เขียนขอนำเสนอให้ได้รู้ และเข้าใจกัน

.
ทำไมต้องตรวจสอบความดันลมยาง

ความดันลมของยางรถยนต์ เป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถทั่วไปคงไม่ค่อยที่จะตรวจสอบกันบ่อย ๆ หากไม่ใช่รถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ใช้งานบรรทุกกันอยู่เป็นประจำ สาเหตุก็เนื่องจากไม่มีเกจวัดความดันลมยางอยู่บนหน้าปัดด้านหน้าคนขับ แต่ระดับน้ำมันเชื้อเพลิง, ระดับไฟแบตเตอรี่ หรืออุณหภูมิเครื่องยนต์นั้นมีเกจวัดแสดงอยู่ในรถยนต์ทุกคัน ทั้ง ๆ ที่ระดับความดันลมยางเป็นพารามิเตอร์ที่สำคัญต่อสมรรถนะการทำงานของรถยนต์ และยังมีความสำคัญต่อเรื่องของความปลอดภัย

.

ถ้าความดันลมยางเหมาะสมกับสภาพถนน, สภาพอากาศรวมทั้งน้ำหนักของรถ เราก็จะควบคุมรถได้อย่างปลอดภัย ถ้าเติมลมอ่อนเกินไป ยางจะสึกหรอผิดปกติ โดยเฉพาะบริเวณไหล่ยางทำให้อายุยางสั้นลง, ทำให้แก้มยางทำงานมาก ยางบวมได้ง่าย, พวงมาลัยหนัก กินน้ำมันมากขึ้น รวมทั้งลดประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนน แต่ถ้าเติมลมมากเกินไป ยางจะสึกหรอบริเวณกลางหน้ายางและทำให้อายุยางสั้นลง, โครงยางระเบิดได้ง่ายเมื่อได้รับแรงกระแทก หรือตะปูทิ่ม เนื่องจากโครงยางเบ่งตัวเต็มที่ เกิดการยืดหยุ่นตัวได้น้อย, เกิดการลื่นไถลได้ง่าย เนื่องจากพื้นที่การยึดเกาะถนนลดลง

.

นอกจากการเติมลมยางให้เหมาะสมแล้ว ก่อนเติมลมยางทุกครั้งคุณควรจะตรวจสภาพความเรียบร้อยของยาง ตรวจสอบดูว่ายางมีบาดแผลหรือบวมล่อนหรือไม่ กระทะล้อมีรอยแตกหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยางรถยนต์

.

ระบบตรวจสอบความดันลมยาง (Tire monitoring Systems: TPMS) อาจเป็นเทคโนโลยีที่ยาก และแพงเกินกว่าจะนำมาประกอบในรถยนต์ราคาปานกลางได้ ในขณะที่รถยนต์ราคาแพงก็เริ่มมีระบบนี้ติดตั้งอยู่กันบ้างแล้ว จนถึงวันนี้ และในอนาคตอันใกล้นี้ถ้ามีการผลิตไอซีระบบควบคุมซึ่งมีต้นทุนที่ถูกลง รถยนต์ทั่วไปก็จะมีเกจวัดลมยางติดตั้งเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง

.
ระบบตรวจสอบความดันลมยาง

ระบบตรวจสอบความดันลมยางที่กำลังกล่าวถึงนี้จะอาศัยเซนเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ในยางเป็นตัวตรวจวัดค่าความดัน แล้วส่งสัญญาณมายังตัวรับสัญญาณภายในห้องโดยสาร เพื่อแสดงค่าความดันให้ผู้ขับขี่รู้ค่าความดันลมยางโดยตลอด ดังแสดงในรูปที่ 1

.

 

.

ข้อมูลจากเซนเซอร์จะถูกส่งผ่านไปยังส่วนประมวลผลผ่านคลื่นความถี่วิทยุ (RF) เนื่องจากการต่อสายสัญญาณจากเซนเซอร์ในล้อรถยนต์คงเป็นไปได้ยาก

.

ในส่วนของชุดตรวจจับค่าความดันนั้น ประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลักคือ เซนเซอร์ความดัน (Pressure Sensor), ตัวประมวลผลสัญญาณ (Signal Processing), เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ (ที่ต้องใช้เพื่อชดเชยค่าความดันที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ) และชุดส่งสัญญาณผ่านคลื่น RF โดยระบบทั้งหมดได้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่มีเทคโนโลยีสูงทำให้อายุการใช้งานยาวนานมาก เพราะถ้าต้องคอยเปลี่ยนแบตเตอรี่คงไม่สะดวกอย่างแน่นอน รวมทั้งถ้าต้องมีเปลี่ยนระบบต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาด้วยคงเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มทุนสักเท่าไหร่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ระบบของรถยนต์ SUBARU ซึ่งใช้แบตเตอรี่ที่มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 10 ปี (หรือระยะทาง 1 แสนไมล์) ถ้าแบตเตอรี่เสื่อมก็ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนอื่น ๆ ไปพร้อมกันด้วย

.

ตัวรับสัญญาณจากชุดตรวจจับค่าความดัน (Receiver) สามารถที่จะทำงานร่วมกับฟังก์ชันอื่น ๆ ในรถยนต์ ยกตัวอย่างเช่นตัวรับสัญญาณอาจใช้สัญญาณร่วมกับระบบกุญแจรีโมต ซึ่งใช้ความถี่ย่านเดียวกัน ด้วยการทำงานร่วมกันนี้ก็จะช่วยลดต้นทุน และความซับซ้อนในการติดตั้งระบบได้เป็นอย่างมาก ซึ่งในเรื่องนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ผลิตรถยนต์แต่ละรายว่าจะออกแบบมาในลักษณะใด

.

โมดูลการตรวจวัดความดันระยะไกล 

โมดูลตรวจวัดค่าความดันลมยาง เป็นอุปกรณ์ที่ทำงานอย่างอิสระ (Stand-Alone Device) และต้องได้รับการติดตั้งอย่างดีเยี่ยมเพื่อให้สามารถทำงานได้ตรงตามฟังก์ชัน ซึ่งได้แก่ฟังก์ชันการตรวจจับค่าความดัน, ฟังก์ชันประมวลผลค่าที่วัดได้, ฟังก์ชันการส่งสัญญาณแบบไร้สาย และฟังก์ชันในการจัดการด้านพลังงาน โดยการทำงานทั้ง 4 ฟังก์ชันนี้จะอาศัย 2 ส่วนอุปกรณ์คือ เซนเซอร์ TSM และไอซีควบคุม

.

 เซนเซอร์ TPMS  

หน้าตาของเซนเซอร์ TPMS ที่นำมากล่าวถึงนี้แสดงอยู่ในรูปที่ 2 ซึ่งเป็นเซนเซอร์ยี่ห้อ Motorola อนุกรม MPXY8000, MPX8020A และ MPX8040A

.

.

MPX8000 เป็นสถาปัตยกรรม CMOS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กินกำลังไฟฟ้าต่ำ และมีความทนทาน โดยในสภาวะ Standby จะกินกระแสไฟฟ้าน้อยกว่า 5 mA และเนื่องจากเซนเซอร์จะอยู่ในสภาวะนี้เป็นส่วนใหญ่ในช่วงระหว่างการทำงาน ดังนั้นจึงประหยัดกำลังไฟฟ้าเป็นอย่างมาก

.

เซนเซอร์ความดัน ประกอบไปด้วยเซลล์ความจุไฟฟ้า (Capacitive) จำนวนมากดังแสดงในรูปที่ 3 ทำหน้าที่แปลงค่าความจุไฟฟ้าไปเป็นแรงดันไฟฟ้า และนอกจากการทำงานในฟังก์ชันอะนาลอกแล้ว ยังมีส่วนการทำงานในฟังก์ชันดิจิตอลด้วย นั่นคือการประมวลผลดิจิตอล ยกตัวอย่างเช่นส่วนของหน่วยความจำที่จะทำหน้าที่เก็บข้อมูล และส่วนของการแปลงสัญญาณอะนาลอกเป็นดิจิตอล ซึ่งก็ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อไมโครคอนโทรลเลอร์กับเซนเซอร์ได้

.

การอ่านค่าความดันของเซนเซอร์อาศัยการแปลงค่าความจุไฟฟ้าไปเป็นแรงดันไฟฟ้าของวงจรขยายสัญญาณที่สามารถปรับค่าออฟเซ็ต และเกน (Gain) ได้ นอกจากนี้วงจรขยายยังมี EEPROM สำหรับเก็บข้อมูลการ Calibrate และวงจรชดเชยอุณหภูมิที่สามารถปรับค่าความไว และค่าออฟเซ็ตได้ อย่างไรก็ตามพารามิเตอร์ต่าง ๆ ถูกกำหนดมาจากโรงงานผลิตเรียบร้อยแล้ว และในลำดับต่อไปการอ่านค่าความดันก็จะเป็นหน้าที่ของวงจรเปรียบเทียบแรงดัน

.

ความสามารถที่โดดเด่นของเซนเซอร์อนุกรม MPX8020 อีกอย่างหนึ่งคือการทำให้ระบบสามารถแยกแยะยางแต่ละเส้นของรถได้ (รวมทั้งยางสำรอง) โดยที่ฟังก์ชันการทำงานหลักของเซนเซอร์ก็ได้แก่

- แจ้งสถานะความดันเกิน (Over Pressure)

- ตรวจจับสถานะความดันต่ำ (Under Pressure)

- ชดเชยค่าเมื่อน้ำหนักบรรทุกของรถเปลี่ยนไป

- ตรวจวัดอุณหภูมิของยาง

.

เซนเซอร์อนุกรม MPX8000 มีโหมดการทำงาน 4 โหมดด้วยกันคือ โหมด (Standby), โหมดการวัดค่าความดัน (Pressure Monitoring), โหมดการวัดค่าอุณหภูมิ (Temperature Monitoring) และโหมดอ่านข้อมูล (Read)

.

.

ทั้งนี้โหมดการทำงานทั้ง 4 จะถูกกำหนดด้วยขาสัญญาณอินพุต 2 ขาของไอซี และจะถูกควบคุมโดยไมโครคอนโทรลเลอร์

.

ไมโครคอนโทรลเลอร์  

ส่วนการทำงานหลักของระบบนี้ก็คือไมโครคอนโทรลเลอร์ และตระกูลของไมโครคอนโทรลเลอร์ที่ใช้ในระบบตรวจวัดความดันยางรถยนต์คือ HC08 ยกตัวอย่างเช่น 68HC908RF2 ซึ่งโดยรหัสชื่อก็ระบุว่าเป็นการผสมผสานระหว่างคอนโทรลเลอร์ HC08 และตัวส่งสัญญาณความถี่วิทยุ (RF Transmitter) ลักษณะตัวถังเป็นแบบ LQFP 32 ขาสัญญาณ

.

.

ในรูปที่ 3 จะเห็นได้ว่าไม่มีการเชื่อมต่อภายในระหว่างส่วนของ HC08 กับ RF Transmitter และส่วนของขาสัญญาณก็ถูกปรับให้สั้นกว่าปกติเพื่อการเชื่อมต่อที่จำเป็นเท่านั้น

.

ไมโครคอนโทรลเลอร์ 68HC908 เหมาะกับระบบตรวจวัดความดันยางรถยนต์ในเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้า, จำนวนอินพุต/เอาต์พุต และประสิทธิภาพในการคำนวณ นอกจากนี้หน่วยความจำขนาด 2KB และ Charge Pump ก็ช่วยให้การเขียนโปรแกรมได้อย่างเหมาะสมกับฟังก์ชันที่ระบบ TPMS ต้องการ

.

ตัวส่งสัญญาณความถี่ RF เป็นแบบ Phase-Locked-Loop โดยมีการกำหนดตำแหน่งทั้งแบบ ASK (Amplitude Modulation) และ FSK (Frequency Modulation) มีอัตราการส่งสัญญาณข้อมูลได้ถึง 9600 Baud ทั้งนี้ด้วยความถี่จาก Quartz ที่ระดับ 13.56 MHzทำให้ Phase-Locked-Loop สามารถส่งสัญญาณพาหะความถี่ระดับ 315, 433 และ 868 MHz ครอบคลุมย่านความถี่ที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ

.
สถาปัตยกรรมระบบ

เซนเซอร์ตรวจวัดความดันลมยางได้รับการออกแบบให้ทำงานร่วมกับคอนโทรลเลอร์ ดังนั้นในบางฟังก์ชันก็ต้องทำงานร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น การจัดการพลังงานของระบบ (Power Management) ดังแสดงในรูปที่ 4 โดยถ้าเซนเซอร์อยู่ในโหมด Standby ตัวกำเนิดความถี่ต่ำจะทำหน้าที่กระตุ้น หรือปลุกให้คอนโทรลเลอร์ทำงาน และหลังจากทำงานแล้วคอนโทรลเลอร์ก็อาจทำงานที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาตามโปรแกรมที่เขียนเอาไว้ และในระหว่างพัลส์ Wakeup สองรูปคลื่น คอนโทรลเลอร์ก็จะอยู่ในโหมดหยุดการทำงาน (Stop Mode) และฟังก์ชันทั้งหมดก็จะไม่ทำงานเพื่อประหยัดการใช้พลังงาน และคอนโทรลเลอร์จะทำงานอีกครั้งจากการกระตุ้นภายนอกเท่านั้น

.

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการพลังงานแบตเตอรี่ จะมีการใช้สวิตซ์ Inertial เพื่อตรวจสถานะการจอดรถ (Park Mode) เพราะในความเป็นจริงนั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการส่งสัญญาณข้อมูลแต่อย่างใด ดังนั้นตัวส่งความถี่ RF ก็อาจจะหยุดทำงานไปก่อนได้เพื่อประหยัดพลังงาน และสวิตซ์ดังกล่าวนี้อาจเป็นแบบ Micro Machined Silicon ซึ่งติดตั้งอยู่ในเซนเซอร์ หรือเป็นอุปกรณ์สวิตซ์ภายนอกแบบ Electromechanical นอกจากนี้แล้ว การตรวจสอบสถานะการจอดรถยังช่วยลดความเสี่ยงในการชนกันของข้อมูลระหว่างตัวส่งข้อมูล, RKE และตัวส่งข้อมูล TPM และยังช่วยลดสัญญาณรบกวนที่ไม่จำเป็นต้องส่งในย่านความถี่วิทยุได้อีกด้วย

.

ในส่วนของวงจรส่งสัญญาณความถี่วิทยุนั้นได้ถูกออกแบบมาใช้กับไมโครคอนโทรลเลอร์ HC08 ได้อย่างเหมาะสม โดยอาศัยเทคนิคการส่งข้อมูลแบบ Register Transfer ซึ่งช่วยลดเวลาในการประมวลผลของ CPU และใช้กำลังไฟฟ้าน้อย วงจรส่งสัญญาณความถี่จะต้องถูกติดตั้งอยู่ในยางรถยนต์ ทั้ง 4 ดังนั้นมันจะต้องมีขนาดเล็กมาก และต้องมีน้ำหนักเบาด้วยเพื่อไม่ทำให้ล้อรถเสียสมดุลด้วย

.

ตัวรับสัญญาณ

ตัวรับสัญญาณจะถูกใส่อยู่ในส่วนของคอนโทรลเลอร์ ทั้งนี้ตัวรับสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุได้มีการใช้งานกันมานานแล้วในระบบกุญแจรีโมต (Remote Keyless Entry) ของรถยนต์ ดังนั้นระบบตรวจวัดลมยางก็สามารถใช้ตัวส่งเดียวกันนี้ได้ และอาจใช้ระบบร่วมกัน เนื่องจากมีรูปแบบการส่งข้อมูลเหมือนกัน ทำให้ประหยัดต้นทุนระบบไปได้อีกด้วย

.

ในสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ ตัวรับสัญญาณจะต้องถูกบรรจุเอาไว้ในโครงสร้างของไมโครคอนโทรลเลอร์เพื่อให้สามารถสร้างฟังก์ชันการควบคุมได้มากตามต้องการ และเวลาในการประมวลผลก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะระบบตรวจวัดลมยางต้องตอบสนอง และแสดงผลได้อย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นที่ตัวรับสัญญาณความเร็วสูงจะต้องได้รับการพัฒนาขึ้นมาใช้

.

ยกตัวอย่างก็คือ MC33591 หรือที่เรียกว่า Romeo II ดังแสดงในรูปที่ 5 ได้รับการออกแบบมาเพื่อสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างระบบกุญแจรีโมต และระบบตรวจวัดลมยางในการรับ/ส่งข้อมูลผ่านคลื่นความถี่วิทยุ

.

.

เครื่องมือวัดความเร่ง (Accelerometer) อาจติดตั้งอยู่กับโมดูลตรวจจับระยะไกล เพื่อวัดความเร็วในการหมุนของล้อรถ และข้อมูลนี้จะถูกส่งผ่านคลื่น RF ไปยังตัวรับสัญญาณ เพื่อประมวลผลร่วมกับข้อมูลที่ส่งมาจากเซนเซอร์ในระบบอื่น ๆ ของรถ เช่น ระบบเบรก (Anti-Lock Braking) และระบบควบคุมเสถียรภาพ (Stability Control) จากนั้นจะมีการคำนวณตำแหน่งของยาง และคำนวณระดับความหนืดของพวงมาลัยรถให้เหมาะกับความเร็วรถในขณะนั้น ๆ ด้วยการวางตำแหน่งของตัวรับสัญญาณที่บริเวณล้อรถแต่ละข้างจะช่วยให้ง่ายในการระบุตำแหน่ง เพราะจะมีระยะการส่งสัญญาณที่สั้นที่สุด จากนั้นสัญญาณจากตัวรับแต่ละตัวจะได้รับการส่งผ่านไปยังส่วนควบคุมผ่านสายสัญญาณพิเศษ

.

อุณหภูมิการทำงานของระบบตรวจวัดความดันลมยางนั้นถูกกำหนดไว้ในช่วง -40C ถึง 150C บนชั้นอากาศที่มีฝุ่นละออง และสารเคมี จะต้องทนแรงจากความเร่งการหมุนของล้อรถยนต์ 1000 g และทนแรงสั่นสะเทือนกว่า 2000 g. แต่เซนเซอร์จะไม่ถูกบรรจุอยู่ในตัวถังห่อหุ้มเพราะต้องการใช้สัมผัสอยู่ในอากาศ เพื่อตรวจสอบความดันอากาศโดยรอบด้วย

.

ระบบตรวจวัดลมยางแบบต่าง ๆ

ที่ต้องกล่าวถึงแบบต่าง ๆ ของระบบวัดลมยางก็เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบตรวจวัดลมยางใช้กันแล้วหลาย ๆ รูปแบบ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ผลิตในแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา ดังแสดงในตารางที่ 1 เป็นระบบตรวจวัดที่มีการติดตั้งในรถยนต์ยี่ห้อต่าง ๆ

.

.

หมายเหตุ :    WSB = Wheel Speed Based TPMS,

                          PSB = Pressure-Sensor Based TPMS

.

ระบบ A

.

.

ระบบนี้จะมีการเตือนความดันลมยางสถานะเดียวคือเมื่อลมยางอ่อน โดยจะมีไฟสัญลักษณ์เตือนด้านหน้าคนขับ และจะเตือนก็ต่อเมื่อมีการขับขี่อยู่เท่านั้น ทั้งนี้จะมีเสียงเตือนดังขึ้นด้วย บนสัญลักษณ์นี้หากเป็นสีแดงหมายถึงลมยางอ่อน แต่ถ้าเป็นสีเหลืองก็หมายถึงระบบเกิดผิดพลาด (Malfunction)

.

.

ระบบนี้จะเตือนเมื่อลมยางข้างใดอ่อนกว่า 70KPa หรือ 10Psi และสัญญาณเตือนจะเกิดขึ้นพร้อมข้อความ “CHECK TIRE PRESSURES” ในขณะที่ระบบ C จะแสดงข้อความเตือน “TIRE DEFECT” ส่วนระบบ D เป็นระบบตรวจสอบความดันลมยางลดลง เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่รู้ว่าความดันลมยางที่ล้อรถข้างใดข้างหนึ่งลดลงจนถึงระดับวิกฤติ การเตือนจะเกิดขึ้นตอนที่รถเคลื่อนที่เท่านั้น

.

ระบบ E  

 

.

ระบบนี้ใช้เซนเซอร์แบบใหม่ ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์พื้นฐานของระบบตรวจวัดลมยาง (TPMS) เซนเซอร์จะทำการวัดทั้งความดันลมยาง และอุณหภูมิของอากาศ โดยเซนเซอร์ถูกใส่เอาไว้ในขอบของล้อรถ เซนเซอร์แต่ละตัวจะมีรหัส IDของตัวเอง เพื่อเชื่อมต่อกับ ECU ของรถแล้ว ความแม่นยำของระบบ E ในการวัดค่าความดันลมยางคือ ±1 Psi โดยจะมีการสุ่มวัดความดันทุก ๆ 3 วินาทีแต่จะมีการส่งความความดันไปยังส่วนประมวลผลทุก ๆ 54 วินาที อย่างไรก็ตามในกรณีที่เกิดการสูญเสียความดันอย่างรวดเร็ว ระบบก็สามารถส่งข้อมูลได้ภายใน 0.8 วินาที

.

การเตือนของระบบ E จะอยู่ในรูปของข้อความ TYREPRESS ตามด้วยข้อความ FRONT หรือ REAR เพื่อแจ้งว่าล้อด้านหน้า หรือหลัง และตัวอักษร L หรือ R  เพื่อแจ้งว่าเป็นล้อด้านซ้ายหรือด้านขวา

.

System F  

ระบบ F ถือเป็นต้นแบบระบบตรวจสอบความดันลมยาง และระบบตรวจสอบการขยายตัวของยาง ความดันลมยางจะถูกตรวจสอบทุก ๆ 30 วินาที และสถานะของความดันลมยางจะถูกส่งไปยังไมโครคอนโทรลเลอร์ทุก ๆ 10 นาที โดยมีความแม่นยำระดับ ±1 Psi เซนเซอร์ความดัน, ตัวส่งสัญญาณ และปัดขับแรงเฉื่อยจะถูกประกอบอยู่ในตัวเซนเซอร์ซึ่งติดตั้งอยู่จุดศูนย์กลางล้อรถ

.

ระบบ F จำเป็นต้องมีการดัดแปลงขอบล้อรถ เพราะจะมีพอร์ตความดันแบบพิเศษติดตั้งอยู่ในรูซึ่งเจาะผ่านขอบล้อ โดยกระบวนการต่าง ๆ ต้องทำมาจากโรงงานผลิต พอร์ตความดันดังกล่าวจะถูกเชื่อมต่อเข้ากับเซนเซอร์ และปัดผ่านข้อต่อยางในขั้นตอนของการติดตั้ง และปรับตั้ง

.

ระบบ G

ระบบ G ก็เป็นต้นแบบของระบบตรวจวัดลมยาง TPMS โดยเซนเซอร์แบบหมวกถูกนำมาใช้แทนแบบเดิม และเซนเซอร์แต่ละตัวจะมีรหัส ID ของตัวเอง และระบบนี้สามารถรองรับสัญญาณได้จากล้อรถสูงถึง 22 ล้อ ระบบนี้ได้รับการดัดแปลงมาจากระบบของรถบรรทุกขนาดใหญ่ ตัวเซนเซอร์ได้รับการออกแบบมาเพื่อการขยายตัวของยาง การเตือนของระบบจะถูกกำหนดด้วยค่า Threshold เท่ากับ 20 Psi ความสะดวกในการใช้ระบบนี้ก็คือเซนเซอร์และแบตเตอรี่จะถูกติดตั้งได้โดยไม่ต้องถอดล้อ และยางออกมา และตัวรับสัญญาณของระบบจะประกอบไปด้วยเสาอากาศ และวงจรขับสัญญาณ ซึ่งโดยรวมแล้วความแม่นยำของระบบ G จะอยู่ที่ ±1.0 Psi

.

ระบบ I

.

ระบบ I เป็นระบบที่มีการติดตั้งในรถยนต์ในท้องตลาด มีการใช้เซนเซอร์ความดันแบบ TPMS ซึ่งใส่เอาไว้ด้านในของล้อรถด้วยวาล์วอะลูมิเนียม แทนการใช้วาล์วแบบเดิม ดังแสดงในรูป เซนเซอร์แต่ละตัวจะมีรหัส ID และมีเสาอากาศติดตอยู่ที่บริเวณล้อทั้งหมดของรถเพื่อทำหน้าที่ส่งสัญญาณกับส่วนประมวลผลระบบนี้ให้ความแม่นยำประมาณ 1.8 Psi

.

ระบบ J

.

ระบบ J ได้รับการติดตั้งในยานยนต์ทั่วไปเหมือนระบบ F และ H อย่างไรก็ตามระบบ J ถือเป็นระบบที่ทันสมัยที่สุด พร้อมด้วยรูปแบบการแสดงผลด้วยหน้าจอแบบ Full Function Display อันได้แก่การแสดงค่าความดันลมยางปัจจุบัน, อุณหภูมิของอากาศในยาง, ระดับการชดเชยค่าความดันอันเนื่องมาจากผลของอุณหภูมิ และการเปลี่ยนค่าความดันจากอุณหภูมิที่เย็นกว่าปกติ

.

เซนเซอร์จะถูกติดตั้งที่ล้อด้วยสายรัดโลหะดังแสดงในรูป และเซนเซอร์แต่ละตัวจะมีรหัส ID ดิจิตอลเฉพาะตัว, ส่วนรับสัญญาณ (Receiving Unit) จะประกอบไปด้วยเสาอากาศ และจอแสดงผล การทำงานของระบบโดยหลักก็คือการตรวจสอบค่าความดัน และค่าอุณหภูมิในทุก 6 วินาที ทั้งนี้ค่าอุณหภูมิของอากาศภายในยางรถยนต์จะถูกใช้เพื่อคำนวณค่าความดันชดเชย

.

ระบบ J ให้ความแม่นยำในระดับ 1.5 Psi สำหรับการตรวจวัดความดัน และ 5.4 องศาฟาเรนไฮต์สำหรับการวัดค่าอุณหภูมิ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจวัดค่าจากยางรถยนต์ได้พร้อมกันถึง 20 เส้น

.

การพัฒนาในอนาคต

ในอนาคตต่อจากนี้ระบบตรวจวัดลมยาง จะมีรูปแบบใหม่ ๆ และข้อกำหนดระบบที่เพิ่มขึ้นตามเทคโนโลยีการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาระบบความปลอดภัยภายในรถยนต์ของผู้ผลิตรถยนต์ต่าง ๆ ก็จะทำให้ระบบตรวจวัดลมยางกลายเป็นระบบมาตรฐานระบบหนึ่ง และนอกจากการส่งข้อมูลสัญญาณผ่านคลื่นความถี่วิทยุแล้วปัจจุบันยังมีการทดลองใช้การส่งข้อมูลไร้สาย อย่างเช่น เทคโนโลยี Bluetooth ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในตอนนี้

.

ภายในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้ระบบตรวจวัดลมยางจะแพร่หลายในรถยนต์ที่ออกสู่ตลาด โดยมีการคาดการณ์เอาไว้ว่าจะมีการผลิตโมดูลตรวจจับระยะไกลได้รับการผลิตขึ้นในระดับ 100-150 ล้านเครื่อง อย่างไรก็ตามถ้าโมดูลต่าง ๆเหล่านี้ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ปัญหาเรื่องของสภาพแวดล้อมก็อาจเพิ่มขึ้นหากไม่มีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่หมดอายุแล้ว ทั้งนี้สิ่งที่ท้าทายของระบบตรวจวัดลมยางก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ให้มีอายุการใช้งานยาวนานนั่นเอง

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด