เนื้อหาวันที่ : 2009-08-05 16:42:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 19271 views

มารู้จักสายใยแก้วนำแสง (ตอนที่ 1)

การสื่อสารข้อมูลโดยสายใยแก้วนำแสง จะใช้สัญญาณแสงยิงเข้าไปในแกนใยแก้ว (Fiber Core) สายใยแก้วนำแสงจะทำตัวเสมือนไกด์นำทางให้แสงเดินทาง แสงจะถูกนำทางให้วิ่งภายในแกนกลางของสายสัญญาณ ในทางทฤษฎีแสงจะถูกนำทางให้วิ่งตามแกนกลางของใยแก้วด้วยการควบคุมขอแคลดดิ้ง (Cladding) ที่มีดัชนีการหักเหของแสงที่ต่ำกว่า (Refractive Index) เคลือบรอบแกนกลางของใยแก้ว

การสื่อสารข้อมูลในงานอุตสาหกรรม  ตอนที่ 5 มารู้จักสายใยแก้วนำแสง (ตอนที่ 1)

.
พิชิต จินตโกศลวิทย์
pichitor@yahoo.com
.

การสื่อสารข้อมูลโดยสายใยแก้วนำแสง จะใช้สัญญาณแสงยิงเข้าไปในแกนใยแก้ว (Fiber Core) สายใยแก้วนำแสงจะทำตัวเสมือนไกด์นำทางให้แสงเดินทาง แสงจะถูกนำทางให้วิ่งภายในแกนกลางของสายสัญญาณ ในทางทฤษฎีแสงจะถูกนำทางให้วิ่งตามแกนกลางของใยแก้วด้วยการควบคุมขอแคลดดิ้ง (Cladding) ที่มีดัชนีการหักเหของแสงที่ต่ำกว่า (Refractive Index) เคลือบรอบแกนกลางของใยแก้ว 

.

ในทางทฤษฎีจะไม่มีพลังงานแสงใดที่สามารถหนีจากแกนกลางของใยแก้วเข้าไปในบริเวณ Cladding ได้ และไม่มีพลังงานใดที่มาจากภายนอกเข้ามาที่แกนกลางของใยแก้วได้ ดังนั้นการส่งสัญญาณข้อมูลด้วยสายใยแก้วนำแสงจะไม่ถูกรบกวนจากสัญญาณประเภทอิเล็กโตรแมกเนติก

.

แกนกลางของใยแก้วและแคลดดิ้งจะดักลำแสงให้อยู่ในแกนกลางของใยแก้วโดยการทำให้ลำแสงเข้าไปในแกนที่มีมุมหักเหของแสงมากกว่ามุมวิกฤติ (Critical Angle) ลำแสงจะวิ่งภายในแกนกลางใยแก้วนำแสงด้วยอัตราการสูญเสียพลังงานที่ต่ำ โดยทั่วไปแล้วพลังงานที่สูญเสียไปจะเกิดจากการสะท้อนของแสงภายในสายสัญญาณ รูปที่ 1 แสดงการเดินทางของแสงในสายใยแก้วนำแสง

.

รูปที่ 1 แสดงการเดินทางของแสงภายในสายใยแก้วนำแสง

.

พลังงานแสงจำนวนน้อยจะถูกดูดซับโดยแกนกลางของใยแก้ว ดังนั้นสายใยแก้วนำแสงสามารถถูกใช้สำหรับส่งข้อมูลระยะทางไกลได้เป็นอย่างดีโดยสัญญาณไม่จำเป็นต้องถูกขยายหรือทวนซ้ำบ่อยยกเว้นระยะทางไกลมาก ๆ บางประเภทสายใยแก้วนำแสงสามารถใช้ส่งสัญญาณได้หลาย ๆ กิโลเมตรก่อนที่จะต้องการตัวรีพีตเตอร์ (Repeater) ช่วยในการทวนซ้ำข้อมูล

.

การใช้ความเร็วในการส่งข้อมูลด้วยสัญญาณแสงจะทำได้เร็วกว่าการใช้สัญญาณไฟฟ้าหลายเท่าตัว และอาจเร็วมากกว่า 10 Gbps สายใยแก้วนำแสงยังให้ความเชื่อถือได้ที่สูงแต่อย่างไรก็ตามราคาของมันก็แพงกว่าเช่นกันถ้าเทียบจำนวนแกนต่อแกนกับสายทองแดง

.

แต่ถ้าเทียบความคุ้มทุนก็ขึ้นอยู่กับระบบงานที่ใช้เพราะสายใยแก้วนำแสงสามารถส่งข้อมูลได้เป็นจำนวนมากและจำนวนหลายช่องทาง (Channel) สายใยแก้วนำแสงมีลักษณะความแตกต่างกันตรงที่ขนาดทางกายภาพ ส่วนผสมของวัสดุและองค์ประกอบของสายสัญญาณรวมทั้งความยาวของคลื่นแสงที่ใช้ในการส่งข้อมูล

.
ทำไมต้องการใช้งานสายใยแก้วนำแสง     

การใช้งานสายใยแก้วนำแสงมีข้อดีกว่าสายสัญญาณชนิดอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
* สัญญาณแสงไม่สามารถถูกรบกวนโดย EMI (Electromagnetic Interference) และครอสทอล์ค (Crosstalk)
* สัญญาณแสงไม่ถูกรบกวนด้วยสัญญาณชนิดอื่น ๆ เป็นผลให้การเชื่อมต่ออุปกรณ์ด้วยสายใยแก้วนำแสงสามารถถูกใช้ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย เช่น ภายในช่องลิฟต์ หรือ โรงงานประกอบชิ้นส่วนที่มีมอเตอร์ขนาดใหญ่ที่สร้างสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าปริมาณมาก

.

* สายใยแก้วนำแสงมีแบนด์วิดธ์ที่กว้างและแบนราบกว่าสายสัญญาณประเภทอื่น ๆ ดังนั้นการทำให้ระดับสัญญาณเท่ากันโดยการเปรียบเทียบจุดอ้างอิงทางไฟฟ้าจึงไม่มีความจำเป็นเหมือนสัญญาณไฟฟ้า

.

* สายใยแก้วนำแสงมีการลดทอดสัญญาณที่น้อย ดังนั้นสัญญาณข้อมูลสามารถถูกส่งได้ระยะไกลกว่าสายสัญญาณชนิดอื่น ๆ ก่อนที่จะต้องการการขยายสัญญาณ หรือทวนสัญญาณ

.

* สายใยแก้วนำแสงไม่นำไฟฟ้าและดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการเกิดกราวด์ลูป ความเสียหายจากฟ้าผ่า และการลัดวงจรไฟฟ้าเมื่อลากสายสัญญาณไปยังพื้นที่ที่มีแรงดันไฟฟ้าสูง

.

* โดยทั่วไปแล้วสายใยแก้วนำแสงจะบางและเบากว่าสายโลหะหรือสายทองแดงจึงติดตั้งได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะในตำแหน่งที่มีความสูง เช่น บนฝ้าเพดาน

.

* สายใยแก้วนำแสงมีความปลอดภัยต่อข้อมูลมากกว่าสายทองแดงเนื่องจากไม่สามารถแทปสัญญาณ หรือการคล้องสายสัญญาณเพื่อลักลอบอ่านสัญญาณ

.
องค์ประกอบของสายใยแก้วนำแสง

องค์ประกอบหลักของสายใยแก้วแสงประกอบด้วย แกนใยแก้ว, แคลดดิ้ง, บัฟเฟอร์,ตัวเสริมแรง และตัวแจ็คเก็ตป้องกันสาย ซึ่งแสดงในรูปที่ 2 สายใยแก้วนำแสงบางประเภทอาจจะมีสายทองแดงร่วมอยู่ด้วยเพื่อจุดประสงค์ในการจ่ายไฟเลี้ยงให้กับตัวรีพีตเตอร์

.

รูปที่ 2 องค์ประกอบของสายใยแก้วนำแสง

.
* แกนใยแก้ว (Fiber Core)

แกนหรือคอร์ของสายใยแก้วนำแสงประกอบด้วยใยแก้วที่ให้สัญญาณแสงวิ่ง ขนาดของแกนที่มักถูกใช้คือ 50 และ 62.5 ไมครอน (Microns) หรือไมโครเมตรสำหรับสายมัลติโหมด และขนาด 8.5 ไมครอนที่ถูกใช้สำหรับสายซิงเกิลโหมด

.
* แคลดดิ้ง (Cladding) 

จริง ๆ แล้วคอร์ใยแก้วและแคลดดิ้งถูกสร้างมาด้วยกันเสมือนเป็นชิ้นส่วนใยแก้วเดียวกัน แคลดดิ้งเป็นชั้นป้องกันควบคุมแสงโดยมีดัชนีหักเหของแสงน้อยกว่าตัวแกนใยแก้ว ดัชนีหักเหที่น้อยกว่า หมายความว่าทุกแสงที่กระทบพนังหรือขอบของชั้นแกนใยแก้วจะถูกเปลี่ยนทิศทางสะท้อนกลับแล้วกระทบหักเหไปมาตามแนวเส้นทางเดินสายของแกนใยแก้ว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของแคลดดิ้งโดยทั่วไปอยู่ที่ 125 ไมครอน

.
* บัฟเฟอร์ของสายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Buffer)

บัฟเฟอร์ของสายใยแก้วนำแสงสร้างโดยใช้ชั้นพลาสติกจำนวนหลายชั้นห่อหุ้มแคลดดิ้ง บัฟเฟอร์ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของสายสัญญาณดังนั้นมันสามารถช่วยลดการแตกหรือการร้าวขนาดจิ๋วซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุให้แกนใยแก้วขาดได้ บัฟเฟอร์ยังสามารถป้องกันแกนใยแก้วและแคลดดิ้งจากน้ำและสารเคมีอื่น ๆ จากสภาพแวดล้อมภายนอก โดยทั่วไปแล้วบัฟเฟอร์จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางเป็น 2 เท่าของใยแก้ว บัฟเฟอร์อาจจะจับตัวหนาแน่นหรือจับตัวกันหลวม ๆ ดังแสดงในรูปที่ 3 บัฟเฟอร์แบบหนาแน่นจะแนบติดกับใยแก้ว

.

บัฟเฟอร์แบบหนาแน่นสามารถป้องกันใยแก้วจากความเครียดของสายเนื่องจากแรงดัน แรงกดทับ และแรงกระแทกแต่ไม่สามารถป้องกันใยแก้วจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง บัฟเฟอร์แบบหลวมจะเป็นท่อแข็งที่มักทำจากพลาสติกโดยอาจมีใยแก้วภายในใยแก้วเพียงเส้นเดียวหรือจำนวนหลายใยแก้วก็ได้ ตัวใยแก้วจะยาวกว่าตัวท่อบัฟเฟอร์เสมอ ดังนั้นท่อบัฟเฟอร์จะรับแรงเครียดทั้งหมดที่มายังตัวสายหรือพูดง่าย ๆ ว่า คือการแยกความเครียดออกจากตัวใยแก้วนั้นเอง

.

รูปที่ 3 ชนิดบัฟเฟอร์ของสายใยแก้วนำแสง

.
* ตัวเสริมแรง (Strength Member)

สายใยแก้วนำแสงจะมีส่วนเสริมแรงซึ่งเป็นสายสแตรนด์หรือสายสลิงที่ทำจากวัสดุที่มีความเหนียว (เช่น โลหะ, ไฟเบอร์กล๊าส หรือเคฟลาร์) ที่ให้ความทนทานต่อแรงดึงสาย

.
* เคเบิลชีท (Cable Sheath)

เคเบิลชีทของสายใยแก้วนำแสงจะอยู่ด้านรอบนอกของตัวสายหรือหุ้มสายเพื่อป้องกันจากความเสียหายทางกลเช่นเดียวกับที่ใช้ในสายไฟฟ้า

.
พารามิเตอร์ของสายใยแก้วนำแสง
* ค่าการลดทอน (Attenuation) 

ค่าการลดทอนของสายมัลติโหมดจะขึ้นอยู่กับความยาวคลื่นแสงและโครงสร้างของใยแก้ว ค่าการลดทอนจะอยู่ในช่วง 3-8 dB/km ที่ 850 nm และ 1-3 dB/km ที่ 1300 nm ค่าการลดทอนของสายซิงเกิลโหมดจะอยู่ในช่วงประมาณ 0.4-0.6 dB/km ที่ 1300 nm และ 0.25-0.35 dB/km ที่ 1550 nm

.
* เส้นผ่านศูนย์กลาง (Diameter)

ใยแก้วแบบมัลติโหมด (50 หรือ 62.5 ไมคอรน) ลำแสงจะมีพื้นที่เหลือพอที่จะวิ่งได้ในหลาย ๆ เส้นทางภายในแกนใยแก้ว การวิ่งได้หลาย ๆ เส้นทางหรือหลายโหมดจะทำให้เกิดการบิดเบือนของสัญญาณที่ปลายสายด้านฝั่งรับ เนื่องจากมีความแตกต่างของเวลาที่มาถึงปลายทางระหว่างเส้นทางของแสงที่เร็วที่สุดและช้าที่สุด

.

ใยแก้วแบบซิงเกิลโหมด (8.5 ไมครอน) แกนใยแก้วจะมีพื้นที่หน้าตัดค่อนข้างแคบซึ่งทำให้แสงสามารถวิ่งได้เพียงเส้นทางเดียว ใยแก้วนำแสงแบบซิงเกิลโหมดจะมีการลดทอนของสัญญาณน้อยที่สุด โดยปกติอัตราลดทอนจะน้อยกว่า 0.5 dB/km สายสัญญาณชนิดนี้ยังเป็นสายสัญญาณที่ทำการติดตั้งได้ยากที่สุดเพราะว่าต้องการความแม่นยำระหว่างเส้นทางเดินของแสงและแหล่งกำเนิดแสง ตัวตรวจจับหรือเซนเซอร์มีราคาแพงมาก อย่างไรก็ตามความเร็วในการส่งสามารถส่งได้ 50 Gbps หรือมากกว่า

.
* ความยาวคลื่นแสง (Wave Length)

ปัจจุบันระบบสายใยแก้วนำแสงทำงานอยู่ที่ 3 ช่วงความยาวคลื่นแสงนั้น คือ 850 nm, 1300 nm และ 1550 nm ความยาวคลื่นแสงที่สั้นกว่าจะมีการลดทอนของสัญญาณมากกว่าความยาวคลื่นแสงที่ยาวกว่า ระบบช๊อตฮอลล์ (Short Haul) หรือระบบระยะทางสั้นมีแนวโน้มที่จะใช้ความยาวคลื่นแสงที่ 850 nm หรือ 1300 nm โดยใช้สายเแบบมัลติโหมด และใช้ตัว LED เป็นตัวกำเนิดแสง ระบบสายใยแก้วนำแสงที่ใช้ความยาวคลื่นแสง 1550 nm ส่วนมากแล้วจะถูกใช้ระบบที่มีระยะทางไกลโดยการใช้สายซิงเกิลโหมดและใช้ตัวยิงเลเซอร์เป็นตัวกำเนิดแสง

.
* แบนด์วิดธ์ (Bandwidth)

แบนด์วิดธ์ของสายใยแก้วนำแสงถูกกำหนดด้วยช่วงของความถี่ที่เป็นกำลังของเอาต์พุตที่ต้องถูกรักษาค่าให้ได้ 3 dB ของกำลังของเอาต์พุตปกติ มันอาจถูกแสดงในรูปของผลคูณความถี่ของแบนด์วิดธ์กับระยะทาง ยกตัวอย่าง แบนด์วิดธ์ขนาด 500 MHZ–km นั้นหมายความว่า ความถี่ 500 MHZ จะใช้งานได้บนระยะทางหนึ่งกิโลเมตร หรือความถี่ 100 MHZ ของแบนด์วิดธ์จะวิ่งได้บนระยะทางห้ากิโลเมตร

.
* การกระจายของแสง (Dispersion)

การกระจายแบบโหมด (Modal Dispersion) จะถูกวัดเป็นพัลล์เวลาในหน่วยนาโนวินาทีต่อกิโลเมตร (ns/km) ค่าจะกำหนดอยู่ที่ระดับสูงสุดของแบนด์วิดธ์สัญญาณหรือสัญญาณแสงที่ไปถึงปลายทางช้าสุด สายใยแก้วนำแสงแบบสเต็ปอินเด็กซ์ (Step - index) ประเมินค่าอยู่ที่ 15 และ 30 ns/km จำไว้เสมอว่าการกระจายของแสงแบบโหมดที่ 20 ns/km นั้นทำให้ความเร็วของการส่งข้อมูลทำได้น้อยกว่า 50 mbps สำหรับสายแบบซิงเกิลโหมดจะไม่มีการกระจายของแสงแบบโหมด เพราะว่ามีเพียง 1 โหมดหรือ 1 ลำแสงที่วิ่งในแกนใยแก้ว

.

กระจายแสงแบบโครเมติก (Chromatic) สามารถเกิดขึ้นในสายซิงเกิลโหมดและถูกวัดได้จากการกระจายของพัลส์ในหน่วยระดับพิโกวินาทีสำหรับแต่ละสเปคตรัมสีของแสงในระดับนาโนเมตรของพัลส์ในแต่ละกิโลเมตรที่แสงวิ่งผ่าน ปรากฏการณ์กระจายแสงแบบนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในสายซิงเกิลโหมด และมีค่าประมาณ 3.5 ps/nm-km ที่ 1300 nm และ 20 ps/nm-km ที่ 1550 nm

.
ชนิดของสายใยแก้วนำแสง

หนึ่งในเหตุผลของการใช้สายใยแก้วนำแสงคือสายใยแก้วนำแสงเป็นสื่อสัญญาณที่ดีมาก โดยมันใช้ความแตกต่างของดัชนีหักเหของแสงของแกนใยแก้วและแคลดดิ้งนำแสงไปตามแนวสายสัญญาณ สายใยแก้วนำแสงสามารถถูกสร้างให้เปลี่ยนแปลงเส้นทางของแสงแบบกะทันหันหรือสะท้อนเป็นแนวตรง หรือการเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินของแสงแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้การออกแบบโครงสร้างของแคลดดิ้งและแกน 2 ชนิดหลักของสายใยแก้วนำแสงแบบมัลติโหมดมีดังต่อไปนี้

.
* สายแบบสเต็ปอินเด็กซ์ (Step–index Cable) 

สายสัญญาณที่เปลี่ยนแปลงแนวเส้นทางเดินของแสงแบบทันทีใดโดยใช้ดัชนีหักเหของแสงที่เรียกว่าแบบสเต็ปอินเด็กซ์ ในสายใยแก้วนำแสงแบบสเต็ปอินเด็กซ์ การเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินของแสงภายในหนึ่งสเต็ปจะใช้ในสายสัญญาณมัลติโหมดแบบซิงเกิลสเต็ป และมันเป็นรูปแบบการนำแสงที่ทำได้ง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุดรวมทั้งยังติดตั้งได้ง่ายที่สุด  

.

ขนาดของแกนใยแก้วมักจะอยู่ที่ 50 หรือ 62.5 ไมครอนโดยวัดจากเส้นผ่านศูนย์กลาง ขนาดแคลดดิ้งปกติจะอยู่ที่ 125 ไมครอน ความกว้างของแกนใยแก้วมีพื้นที่ว่างมากพอให้ลำแสงสะท้อนไปมาในตัวสายสัญญาณและส่งผลทำเกิดการลดทอนสัญญาณได้สูงขึ้น (เทียบจากสายใยแก้วนำแสงด้วยกัน) ซึ่งค่าอยู่ระหว่าง 10 และ 50 dB/km แต่ความเร็วในการส่งข้อมูลยังสามารถส่งได้ถึง 10 Mbps บนสายระยะทาง 1 กิโลเมตร

.
* สายแบบเกรดอินเด็กซ์ (Graded–index Cable) 

สายสัญญาณที่เปลี่ยนเส้นทางเดินของแสงแบบค่อยเป็นค่อยไปถูกเรียกว่า สายสัญญาณแบบเกรดอินเด็กซ์ หรือ สายมัลติโหมดแบบเกรดอินเด็กซ์ สายแบบเกรดอินเด็กซ์มีขนาดของแกนใยแก้วขนาดใกล้เคียงหรือเท่ากันกับสายมัลติโหมดแบบซิงเกิลสเต็ป การเปลี่ยนแปลงทางเดินของแสงจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปซึ่งเป็นผลมาจากการมีชั้นของแก้วหลายชั้น

.

แต่ละชั้นจะมีดัชนีหักเหของแสงค่อย ๆ ลดลงจากการเกรดหรือเกลี่ยดัชนีหักเหของแสงจึงควบคุมสัญญาณแสงได้ดีกว่าแบบสเต็ปอินเด็กซ์ ส่งผลทำให้มีการลดทอนของสัญญาณต่ำกว่าโดยปกติจะน้อยกว่า 15 dB/km การกระจายของแสงแบบโหมดสามารถอยู่ที่ 1ns/km หรือต่ำกว่าดังนั้นมันจึงมีขนาดแบนวิดธ์มากกว่า 10 เท่าของขนาดแบนด์วิดธ์ของสายแบบสเต็ปอินเด็กซ์

.

รูปที่ 4 โปรไฟล์ดัชนีการสะท้อนของแสง

.
* การระบุสายใยแก้วนำแสง (Fiber Designation)

สายใยแก้วนำแสงอาจถูกกำหนดในเทอมของแกนใยแก้ว, แคลดดิ้ง, และโค้ตติ้งสำหรับตัวอย่างได้แก่ 62.5/125/250 ซึ่งหมายความว่าสายใยแก้วนำแสงมีเส้นผ่านศูนย์กลางของแกนใยแก้วที่ 62.5 ไมครอน เส้นผ่านศูนย์กลางของแคลดดิ้งที่ 125ไมครอนและเส้นผ่านศูนย์กลางของโค้ตติ้งอยู่ที่ 250 ไมครอน

.
ชนิดสายสัญญาณพื้นฐานที่ใช้งาน

โดยทั่วไป ลักษณะการใช้งานที่สายใยแก้วนำแสงถูกจัดแบ่งกลุ่มนั้นคือ สายอากาศ, สายใต้ดิน, สายใต้น้ำ และสายเดินภายใน ควรจำไว้ว่ายังมีสายใยแก้วนำแสงชนิดอื่น ๆ ซึ่งมีความพิเศษ โดยรวบรวมคุณสมบัติของหลายลักษณะงานเข้าด้วยกัน แต่ราคาก็จะแพงตามคุณสมบัติเช่นกัน

.
1. สายอากาศ (Aerial Cable)

สายอากาศ เป็นสายที่ต้องเจอสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงมากกว่าสายชนิดอื่น ๆ เช่น แรงกระทำจากภายนอกรวมทั้งสภาพความเสี่ยงที่คาดการณ์ไม่ได้ สายอากาศโดยทั่วไปจะถูกติดตั้งบนเสาแต่ก็มีสายใยแก้วนำแสงบางประเภทที่มีโครงสร้างรับน้ำหนักในตัวสาย จึงสามารถพาดสายได้โดยตรง สายอากาศยังต้องถูกออกแบบรับแรงดึง (Tensile Force) ที่เกิดจากลม, ฝน หรือในประเทศเขตหนาวยังต้องรับน้ำหนักของน้ำแข็งที่เกาะบนตัวสายอีกด้วย ตัวป้องกันความชื้นเป็นสิ่งจำเป็นโดยส่วนใหญ่แล้วจะเติมสารเยลลี่ (Jelly) หรือเจลลงในสายที่ใช้ท่อบัฟเฟอร์แบบหลวม   

.

การที่มีน้ำหลงติดในสายสัญญาณถ้านำมาติดตั้งในประเทศเขตหนาว น้ำจะแข็งตัวภายในสายและเกิดการขยายตัว ส่งผลทำให้สายใยแก้วนำแสงเกิดการงอได้ ตัววัสดุที่ทำเป็นชีท (Sheath) ของสายอากาศต้องสามารถทนอุณหภูมิที่สูง รวมทั้งทนต่อรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตที่แผดเผาจากดวงอาทิตย์ โดยปกติแล้วชีทจะทำจากสารโพลีเอทีลีนชนิดที่สามารถทนแสงแดดได้ (Sunlight UV Stabilized Polyethylene) 

.

การออกแบบสายอากาศนั้นมีพารามิเตอร์เกี่ยวกับระยะสแปน (Span) และระยะตกท้องช้าง (Sag) ซึ่งมีความสำคัญเนื่องจากมันมีผลต่อระดับแรงดึงสูงสุดที่จะเกิดขึ้นบนตัวสายใยแก้วนำแสงและยังเป็นตัวกำหนดโครงสร้างภายในของสายใยแก้วนำแสง ถ้าระยะสแปนสั้นอาจจะใช้สายใยแก้วนำแสงที่มีชั้นเคฟลาร์ (Kevlar) ก็สามารถรับแรงดึงได้ แต่ถ้าระยะสแปนนั้นยาว บางทีอาจต้องใช้สายสัญญาณที่มีสายสลิงที่เป็นโลหะเหนียวจำนวนหลายเส้นเพื่อช่วยรองรับแรงดึงสูงสุดที่อาจเกิดขึ้นได้

.

ข้อดีของสายอากาศ
* ใช้งานในพื้นที่ที่ติดตั้งยาก หรือ ราคาติดตั้งแพงเกินกว่าที่จะฝังดินหรือติดตั้งสายในท่อดัคท์ (Duct)
* สามารถใช้ติดตั้งในงานชั่วคราวได้ดี

.

ข้อด้อยของสายอากาศ
* ความต่อเนื่องในการใช้งาน (Availability) ไม่สูงเมื่อเทียบกับสายใต้ดิน เพราะว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ เช่น พายุสามารถทำความเสียหายกับที่ยึดตัวสายได้ และทำให้สายสัญญาณเสียหายจากการหล่นหรือ เสียหายจากแรงลม มีสิ่งของปลิวมากระทบกับตัวสาย การติดตั้งสายอากาศบนเสาตามสองข้างทางแนวถนนาอาจจะโดนชนโดยรถได้เป็นต้น

.
2. สายใต้ดิน

สายใต้ดินโดยทั่วไปจะมีโอกาสประสบปัญหาจากสภาพแวดล้อมที่ร้ายแรงน้อยกว่าสายอากาศ สายใต้ดินสามารถถูกร้อยในท่อดัคท์หรือฝังในดินโดยตรงก็ได้ หรือบางสถานที่สายอาจจะเดินตามแนวคูน้ำก็เป็นได้

.

ชนิดของสายเคเบิล
สายใต้ดินโดยทั่วไปแล้วจะใช้บัฟเฟอร์แบบหลวมหรือมีช่องเป็นช่อง ๆ วัตถุประสงค์เพื่อแยกตัวสายใยแก้วออกจากแรงกระทำหรือสิ่งรบกวนภายนอก เช่น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงจากร้อนเป็นเย็นและจากเย็นเป็นร้อน

.

ข้อดีของสายใต้ดิน
* โดยทั่วไปเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการติดตั้งสายภายนอก
* มีการป้องกันที่ดีกว่าสายอากาศในเรื่องผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมเนื่องจากมีดินช่วยในการป้องกัน
* โดยทั่วไปสายสัญญาณจะปลอดภัยกว่าสายอากาศ

.

ข้อด้อยของสายใต้ดิน
* สามารถถูกทำให้เสียหายโดยแผ่นดินไหว, การขุด, การทำเกษตรกรรมและน้ำท่วม เป็นต้น
* สัตว์ประเภทกัดแทะ ปัญหานี้สามารถป้องกันโดยใช้อาร์เมอร์ที่เป็นโลหะ หรือท่อพลาสติกที่มีความหนามากกว่า 38 mm. และยิ่งกว่านั้นการทาสารเทฟลอน (Teflon) เคลือบบนชีททำให้สายสัญญาณลื่นกัดแทะยากลำบากขึ้น

.
3. สายใต้น้ำ

สายใต้น้ำโดยที่จริงก็คือสายเดินภายนอกหรือสายเอาต์ดอร์นั้นเอง แต่ได้ถูกออกแบบให้สามารถอยู่ใต้น้ำอย่างยาวนานต่อเนื่องได้ การวางสายสัญญาณใยแก้วนำแสงระหว่างประเทศต้องการการใช้สายใต้น้ำที่มีคุณสมบัติพิเศษมากเพราะต้องวางสายใต้ท้องทะเลหรือมหาสมุทร แต่สำหรับผู้ใช้ระดับเล็กอาจยังต้องมีการลากสายใต้แม่น้ำ, ทะเลสาบ, คลองและร่องน้ำ ซึ่งบางทีการติดตั้งไม่ค่อยคุ้มค่า      

.

สายใยแก้วใต้น้ำยังสามารถถูกนำไปฝังดินในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม หรือมีระดับปริมาณน้ำสูง และอีกตัวอย่างคือการฝังสายสัญญาณที่ระดับความลึกมากกว่า 1 เมตรในบางพื้นที่ สายสัญญาณอาจจะชุ่มน้ำตลอดเวลาเนื่องจากมีการขังของน้ำใต้ดิน สายใต้น้ำมีโครงสร้างที่ถูกปิดผนึกอย่างดีโดยมีชั้นโลหะที่เชื่อมป้องกันตัวใยแก้วนำแสง

.
ข้อดีของสายใต้น้ำ

* ราคาถูกกว่าในบางลักษณะหรือชนิดของงาน เช่นลากใต้ทะเล ถ้าใช้สายประเภทอื่นอาจจะต้องเดินในท่อโลหะอีกชั้น
ข้อด้อยของสายใต้น้ำ
* ราคาต่อหน่วยของสายใต้น้ำจะราคาสูง

.
4. สายภายใน (Indoor Cable)

สายอินดอร์ (Indoor) หรือสายเดินภายในอาคารซึ่งควรต้องมีคุณสมบัติทนไฟตามข้อกำหนดความปลอดภัยมาตรฐาน เพื่อลดการกระจายของไฟให้น้อยที่สุดในกรณีเกิดอัคคีภัย และต้องถูกต้องตามกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับอัคคีภัยในสถานที่นั้น ๆ ตัวอย่าง เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะใช้มาตรฐานของ NEC (National Electrical Codes)

.

โดยทั่วไปแล้วสายภายนอกจะประกอบด้วยสารป้องกันความชื้นที่มีส่วนประกอบของน้ำมันหรือปิโตรเลียมซึ่งมีลักษณะคล้ายเยลลี่ซึ่งสามารถเป็นสารที่ช่วยในการเผาไหม้หรือเป็นเชื้อเพลิงนั้นเอง ดังนั้นถ้ามันถูกนำมาใช้เดินในตัวอาคารมันต้องถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดหรือห้ามใช้ โดยปกติสายภายนอกมักจะถูกสไปลซ์ (Splice) หรือเชื่อมต่อกับสายภายในที่จุดหรือช่องทางเดินสายเข้าตัวอาคารเพื่อประหยัดค่าร้อยท่อโลหะของสายภายนอกที่อยู่ในตัวอาคารนั้นเอง

.

สายเดินภายในและภายนอกอาคารโดยทั่วไปจะใช้บัฟเฟอร์แบบจับตัวแน่นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว บัฟเฟอร์แบบหนาแน่นมีระดับการป้องกันน้ำเพียงพอสำหรับการเดินสายภายในแต่สำหรับเดินภายนอกอาจจะไม่เพียงพอ สายสัญญาณที่มีบัฟเฟอร์ให้ความแข็งแรงเพียงพอในเชื่อมต่อสายโดยตรงเข้ากับอุปกรณ์สื่อสารโดยไม่ต้องใช้สายไฟเบอร์แพทช์คอร์ดและกล่องต่อพักสาย

.
การต่อสายใยแก้วนำแสง 

การต่อสายใยแก้วนำแสงสองเส้นเข้าด้วยกันรวมถึงการต่อเข้ากับตัวอุปกรณ์ ตัวอย่าง เช่น การเชื่อมตัวกำเนิดแสงและตัวเซนเซอร์ตรวจจับแสง สามารถทำได้โดยใช้วิธีการสไปลซิ่งหรือใช้ตัวคอนเน็กเตอร์ การสไปลซ์ คือการต่อสายใยแก้วแบบถาวร ส่วนการใช้คอนเน็กเตอร์มีไว้สำหรับเชื่อมต่อแบบสามารถถอดเข้าถอดออกหลาย ๆ ครั้ง เช่น ที่ตัวแพทช์พาเนล (Patch Panel) เป็นต้น

.
1. การสูญเสียเนื่องจากการเชื่อมต่อ

พารามิเตอร์หรือปัจจัยหลักที่เกี่ยวกับการเชื่อมต่อ 2 อุปกรณ์ที่ใช้สายใยแก้วนำแสงเข้าด้วยกันคือการลดทอนของสัญญาณซึ่งจะแสดงในรูปของอัตราส่วนพลังงานของแสงที่สูญเสียจากกระบวนการเชื่อมต่อ การลดทอนของสัญญาณนี้จะคิดมาจากผลรวมของการสูญเสียหลาย ๆ ปัจจัย ดังต่อไปนี้

.

* การจัดแกนใยแก้วต่อกันไม่ตรงเป็นแนวเดียวกัน
* ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของแกนใยแก้วไม่เท่ากัน
* การไม่เข้าล็อกของเขี้ยวของตัวคอนเน็กเตอร์
* ความแตกต่างของการกระจายแสงของสายใยแก้วนำแสง
* การสะท้อนของสัญญาณแสงที่ปลายของใยแก้วนำแสง
* ระยะห่างที่ปลายสัญญาณ
*.การเข้าหัวสายสัญญาณและความสะอาดของสายใยแก้วนำแสงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดที่ส่งผลต่อการสูญเสียของระดับสัญญาณรวมทั้งการต่อหัวเข้าหากันไม่ดี

.

สำหรับตัวคอนเน็กเตอร์ การสูญเสียที่ต่ำสุดระหว่างช่องว่างเป็นอากาศกับใยแก้วโดยส่วนใหญ่จะประมาณ 0.35 dB เว้นแต่จะใช้เจลในการจัดเส้นทางแสงช่วยในการเชื่อมต่อ (Index-matching Gel)

.
2. การสไปลซ์สายใยแก้วนำแสง

มีสองเทคนิคพื้นฐานที่ถูกใช้สำหรับการทำสไปลซิ่งสายใยแก้วนำแสงนั้นคือ การทำฟิวชันสไปลซิ่ง (Fusion Splicing) หรือ การสไปลซ์แบบหลอมใยแก้วเข้าด้วยกัน การทำแมคานิคอลสไปลซ์ (Mechanical Splicing) หรือการทำสไปลซ์ทางกล ด้วยเทคนิคการทำฟิวชันสไปลซ์ใยแก้วนำแสงจะถูกหลอมและเชื่อมเข้าด้วยกันซึ่งต้องใช้อุปกรณ์สไปลซ์ที่ราคาแพง แต่อย่างไรก็ตามผลงานที่ได้จะมีค่าการสูญเสียของสัญญาณที่ต่ำกว่าและคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการเพิ่มตัวรีพีตเตอร์ ถ้าส่งข้อมูลในระยะทางไกลอาจจะคุ้มทุนกว่า  

.

ส่วนการทำการแมคานิกส์สไปลซ์ ใยแก้วจะถูกเชื่อมชนกันด้วยโครงสร้างทางกลโดยอาจใช้กาวชนิดพิเศษช่วยต่อติดหรือการสร้างแรงกดของโครงสร้างสายสัญญาณเพื่อต่อสายเข้าด้วยกัน การทำการสไปลซ์ทางกลใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ราคาไม่แพง แต่อาจมีการสูญเสียของสัญญาณปริมาณสูง

.
* ฟิวชั่นสไปลซ์

ฟิวชั่นสไปลซ์ทำโดยการหลอมหน้าสัมผัสของสายใยแก้วแล้วนำมาชนและหลอมติดกัน การปฏิบัติหน้างานหรือไซต์ (Site) เครื่องมือในการทำสไปลซิ่งจะใช้กระแสไฟฟ้าทำการอาร์คหลอมใยแก้วนำแสง แต่ถ้าเป็นที่โรงงานเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการทำสไปลซิ่งจะใช้เปลวไฟของไฮโดรเจนสำหรับการหลอมใยแก้ว    

.

การสไปล์ซิ่งต้องการความแม่นยำเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการจัดใยแก้วให้ตรงกันในขณะที่มันหลอมละลายและพร้อมที่นำมาเชื่อมติดกัน ฟิวชั่นสไปลซ์จะมีการสูญเสียของสัญญาณที่ต่ำ และเป็นวิธีที่ปรารถนาของผู้วางระบบสายในการเชื่อมต่อใยแก้วนำแสงโดยเฉพาะในระบบที่ใช้สายซิงเกิลโหมด อย่างไรก็ตามเครื่องมือสไปลซ์สมัยใหม่สำหรับซิงเกิลโหมดจะมีตัวช่วยจัดแกนใยแก้วนำแสงให้ตรงกันก่อนที่จะทำการสไปลซิ่งซึ่งช่วยผู้ปฏิบัติงานได้ค่อนข้างมาก

.
* แมคานิคอลสไปลซ์

แมคานิคอลสไปลซ์หรือการทำการสไปลซิ่งทางกลมีหลาย ๆ วิธีการ การนำปลายทั้ง 2 ของใยแก้วนำแสงมาจัดเรียงและแคลมป์ (Clamping) ด้วยโครงสร้างยึดติดหรือหูสาย หรือใช้กาวพิเศษต่อใยแก้วนำแสงเข้าด้วยกัน การทำการสไปลซิ่งทางกลจะดีไม่ดีขึ้นอยู่กับการจัดขอบวงนอกของแคล็ดดิ้งให้ตรงกัน แมคานิคอลสไปลซ์จะใช้ทำการเชื่อมต่อสายแบบซิงเกิลโหมดไม่ได้ เพราะโอกาสที่จะคลาดเคลื่อนไม่ตรงมีสูง ตัวโครงสร้างที่ใช้ในการจัดใยแก้วนำแสงที่นิยมคือ V-groove, Sleeve และ 3–rod รวมทั้งแบบไม่มาตรฐานอีกหลายชนิดตามผู้ผลิต

.
3. คอนเน็กเตอร์ (Connector) 

คอนเน็กเตอร์ถูกใช้เพื่อทำให้การเชื่อมต่อนั้นมีการยืดหยุ่นและง่ายขึ้น คอนเน็กเตอร์จะมีการสูญเสียของสัญญาณมากกว่าการสไปลซ์มาก เพราะว่ามันยากจะจัดเรียงใยแก้วนำแสงให้ตรงกันในระดับที่ต้องการความแม่นยำสูง การจัดเรียงสายขณะต่อใช้งานเพื่อหาค่าสูญเสียที่น้อยที่สุดแทบเป็นไปไม่ได้ การจัดเรียงใยแก้วนำแสงจะเกิดการสูญเสียของสัญญาณทุกทุกจุดเชื่อมต่อ การสูญเสียที่เกิดจากคอนเน็กเตอร์สามารถอยู่ในช่วงตั้งแต่ 0.2 ถึง 0.3 dB

.

คอนเน็กเตอร์ส่วนใหญ่ถูกออกแบบเป็นบัทท์จอยท์ (Butt Joint) เพื่อทำให้ปลายของใยแก้วนำแสงเข้าใกล้กันมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ใยแก้วนำแสงจะถูกติดตั้งภายในเฟอร์รูล (Ferrule) โดยปกติเฟอร์รูลถูกสร้างจากโลหะหรือเซรามิก จุดประสงค์คือเพื่อการจัดสายใยแก้วให้ตรงกันง่ายขึ้น เนื่องจากมีโครงสร้างแข็งแรงรองรับแรงป้องกันการบิดงอและยังป้องกันทางกลบนปลายสายสัญญาณ   

.

ใยแก้วนำแสงโดยทั่วไปจะถูกทากาวให้ติดกับเฟอร์รูลแล้วส่วนปลายที่เหลือโผล่จะถูกตัดออกและถูกถูขัดจนราบเรียบตามแนวหน้าเฟอร์รูล คอนเน็กเตอร์ที่ถูกใช้โดยทั่วไปมากที่สุดคือ หัว SC และ ST โดยมีรายละเอียดดังข้างล่าง และในปัจจุบันยังมีหัวคอนเน็กเตอร์อีกมากมายที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษมาพร้อมอุปกรณ์ที่จะก่อปัญหาในการใช้งานหรือบำรุงรักษาได้เนื่องจัดซื้อได้ยาก

.
* SC คอนเน็กเตอร์

ถูกสร้างด้วยเฟอร์รูลแบบเซรามิกทรงกระบอกเล็ก ๆ พร้อมด้วยช็อกเก็ตคัปปลิ้งสาย (Coupling Receptacle) ตัวคอนเน็กเตอร์มีหน้าตัดสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีกลไกการต่อแบบแลตชิ่งล็อกการดึงเข้าออก (Push Pull latching) องค์กร ISO และ TIA ได้นำ SC คอนเน็กเตอร์แบบโพลาไรซ์ดูเพล็กซ์เข้ามาเป็นมาตรฐานสำหรับคอนเน็กเตอร์แบบราคาต่ำของระบบ FDDI คอนเน็กเตอร์ SC ยังถูกกำหนดระดับค่าการสูญเสียต้องน้อยกว่า 0.6 dB (โดยปกติจะอยู่ที่ 0.3 dB) สำหรับซิงเกิลโหมด และ ที่ 45 dB สำหรับสายมัลติโหมด

.
* ST คอนเน็กเตอร์

คอนเน็กเตอร์แบบ ST ดังแสดงในรูปที่ 5 เป็นมาตรฐานของคอนเน็กเตอร์แบบเก่าสำหรับการสื่อสารข้อมูล เหมือนกับ SC คอนเน็กเตอร์ ST สร้างด้วยเฟอร์รูลเซรามิกทรงกระบอกที่ถูกเชื่อมเข้ากับตัวรับรีเซบเตเคิลได้พอดี คอนเน็กเตอร์มีหน้าตัดเป็นทรงกลม และเชื่อมต่อแบบบิดล็อกด้วยสปริงกับเขี้ยวที่เรียกว่า สปริงโหลดบาโยเน็ต (Spring–loaded Bayonet) การเชื่อมต่อจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับแรงสปริงภายในเพื่อยึดเฟอร์รูลเข้าด้วยกัน หน้าสัมผัสของใยแก้วนำแสงสามารถเกิดการสูญเสียได้ถ้าแรงกดกระทำทางกลมากกว่าหนึ่งกิโลกรัม

.

รูปที่ 5 คอนเน็กเตอร์แบบ ST

.
4. การจัดการคอนเน็กเตอร์ (Connector Handling) 

โดยทั่วไปคอนเน็กเตอร์ถูกออกแบบมาใช้ภายในอาคาร คอนเน็กเตอร์ที่ใช้ภายนอกอาคารต้องมีการชีล (Seal) หรือปิดผนึกป้องกันอย่างดี เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องป้องกันหน้าใยแก้วนำแสงจากสิ่งแปลกปลอม ประสิทธิภาพของสายใยแก้วสามารถถูกลดทอนได้ด้วยสิ่งสกปรกหรือฝุ่นที่จับเกาะปลายใยแก้วนำแสง ผงฝุ่นเล็ก ๆ เพียงขนาด 10 ไมครอนสามารถทำให้แสงนั้น แตกกระจายหรือดูดซับแสงไว้และสามารถทำให้ระบบสื่อสารล้มเหลวได้    

.

คอนเน็กเตอร์และแพทช์พาเนลควรถูกจัดวางภายในครอบป้องกัน ตัวครอบป้องกันต้องเข้ากันได้พอดีกับคอนเน็กเตอร์ เพราะว่าไม่เฉพาะการป้องกันจากฝุ่นและสิ่งสกปรก แต่ยังให้การป้องกันสิ่งแปลกปลอมอื่นเพื่อให้สายสัญญาณสามารถใช้งานได้ระยะยาว เช่น ปลายสายใยแก้วสะอาดตลอดเวลา 

.

อีกอย่างสเปรย์กระป๋องอัดอากาศสามารถใช้ทำความสะอาดคอนเน็กเตอร์และอะแดปเตอร์ โดยไม่ต้องสัมผัสหน้าพื้นผิวสายใยแก้วนำแสง ระมัดระวังไม่สัมผัสตัวเฟอร์รูลของคอนเน็กเตอร์โดยตรง เพียงน้ำมันจากนิ้วของคุณสามารถทำความสกปรกและติดบริเวณปลายใยแก้วนำแสง การทำความสะอาดคอนเน็กเตอร์ควรทำด้วยผ้าที่ไม่มีขุยใยผ้าพร้อมด้วยแอลกอฮอล์ธรรมดาหรือแบบไอโซโพรพิล (Isopropyl Alcohol)

.

ความคงทนของคอนเน็กเตอร์มีความสำคัญต่ออายุการใช้งานของระบบสายใยแก้วนำแสง โดยทั่วไปคอนเน็กเตอร์สายใยแก้วที่เดินภายในถูกออกแบบให้สามารถถอดเข้าถอดออกมากกว่า 500 ถึง 1000 รอบโดยไม่เกิดการลดทอนของสัญญาณ และการลดทอนของสัญญาณโดยทั่วไปต้องไม่เปลี่ยนแปลงมากกว่า 0.2 dB ต่อช่วงอายุการใช้งานของคอนเน็กเตอร์ แต่อย่างไรก็ตามการถอดเข้าถอดออกคอนเน็กเตอร์หลาย ๆ ครั้งอาจจะทำให้กลไกการเชื่อมต่อชำรุดหรือทำความเสียหายต่อเส้นทางเดินของสัญญาณแสงเร็วยิ่งขึ้น

.
5. ออปติคอลคัปเปลอร์ (Optical Couplers)

ตัวออปติคอลคัปเปลอร์หรือสปลิตเตอร์และคอมไบเนอร์ถูกใช้เพื่อเชื่อมต่อสายใยแก้วนำแสงมากกว่าสามอุปกรณ์ขึ้นไป ออปติคอลคัปเปลอร์สามารถแยกสัญญาณอินพุทออกเป็นหลายเอาท์พุท ออปติคอลคัปเปลอร์จะมีตัวแอมพลิฟายเออร์ (Amplifier) ที่จะเพิ่มระดับสัญญาณก่อนและหลังกระบวนการกระจายสัญญาณ คัปเปลอร์ส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่องานมอนิเตอร์ระบบเครือข่าย

.

เอกสารอ้างอิง

1. J.E Goldman and P.T Rawles, Applied Data Communications. Addison-Wesley, New York,2001
2. J. Fulcher, An Introduction to Microcomputer Systems: Architecture and Interfacing. Addison-Wesley, Sydney,1989
3. S. Mackay, E. Wright, D. Reynders and .J Park, Practical Industrial Data Network: Design, Installation and Troubleshooting. IDC Technologies, Perth, 2004
4. J.R. Vacca, High-speed Cisco Networks: Planning, Design, and Implemention. CRC Press LLC, Florida,2001       

.
.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด