เนื้อหาวันที่ : 2009-07-28 17:28:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5947 views

กระแสเงินสดกับงบประมาณการจ่ายลงทุน (ตอนที่ 1)

โครงการงบประมาณการจ่ายลงทุนใด ๆ มักจะเริ่มต้นที่กระแสเงินสดจ่ายออกซึ่งจ่ายเป็นเงินลงทุนครั้งแรก จ่ายเป็นค่าใช้จ่าย หรือจ่ายตามเงื่อนไขที่เป็นพันธะผูกพัน หลังจากนั้นจึงเป็นรายการประเภทรายจ่ายที่จ่ายเป็นเงินสดในจำนวนที่ลดลงกว่าเดิม การเพิ่มขึ้นของจำนวนเงินสดที่ได้รับเข้ามา ตลอดรอบระยะเวลาที่มีความสืบเนื่องกันในการดำเนินโครงการ เงินลงทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอาจจำเป็นต้องนับรวมเพิ่มอยู่ในโครงการจ่ายลงทุนในระหว่างช่วงอายุที่กำลังดำเนินโครงการจ่ายลงทุนเหล่านั้นด้วย

ผศ.วิวัฒน์ อภิสิทธิ์ภิญโญ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา,
wiwatapi@gmail.com

.

.

โครงการงบประมาณการจ่ายลงทุนใด ๆ มักจะเริ่มต้นที่กระแสเงินสดจ่ายออกซึ่งจ่ายเป็นเงินลงทุนครั้งแรก จ่ายเป็นค่าใช้จ่าย หรือจ่ายตามเงื่อนไขที่เป็นพันธะผูกพัน หลังจากนั้นจึงเป็นรายการประเภทรายจ่ายที่จ่ายเป็นเงินสดในจำนวนที่ลดลงกว่าเดิม การเพิ่มขึ้นของจำนวนเงินสดที่ได้รับเข้ามา หรืออาจจะเป็นรายการทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้นตลอดรอบระยะเวลาที่มีความสืบเนื่องกันในการดำเนินโครงการ เงินลงทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอาจจำเป็นต้องนับรวมเพิ่มอยู่ในโครงการจ่ายลงทุนในระหว่างช่วงอายุที่กำลังดำเนินโครงการจ่ายลงทุนเหล่านั้นด้วย

.
กระแสเงินสดรับเข้าหรือกระแสเงินสดจ่ายออกที่เกิดขึ้นสำหรับช่วง 3 ระดับขั้นของการดำเนินโครงการจ่ายลงทุน มีดังนี้

1.เมื่อเริ่มต้นโครงการลงทุน กระแสเงินสดที่เกิดขึ้นที่ระดับขั้นนี้มีความหมายรวมถึง
* กระแสเงินสดจ่ายออกเพื่อการลงทุนและการดำเนินงานในช่วงเริ่มต้นโครงการลงทุน
* กระแสเงินสดที่เป็นพันธะผูกพันสำหรับเงินทุนหมุนเวียนที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน
* กระแสเงินสดรับหรือกระแสเงินสดจ่ายเพื่อการกำจัดหรือทำลายสินทรัพย์ดำเนินงานที่ถูกเปลี่ยนทดแทน

.

2.ระหว่างการดำเนินโครงการ กระแสเงินสดระหว่างการดำเนินงานของโครงการจ่ายลงทุน มีความหมายรวมถึง
* กระแสเงินสดจ่ายสำหรับรายจ่ายเพื่อการดำเนินงานและเงินลงทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมหลังจากการลงทุนเมื่อเริ่มต้นโครงการไปแล้ว
* รายจ่ายที่มีลักษณะเป็นพันธะผูกพันสำหรับเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นซึ่งจำเป็นต่อการดำเนินงาน
* กระแสเงินสดเข้าที่เกิดขึ้นหรือได้รับจากโครงการลงทุน (รายได้หรือเงินสดที่ประหยัดได้) และเงินสดส่วนของเงินทุนหมุนเวียนที่ได้รับคืนจากโครงการลงทุนซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ในช่วงระยะเวลาที่ยาวนานตลอดการดำเนินงานของโครงการ

.

3.เมื่อสิ้นสุดการดำเนินโครงการ กระแสเงินสดเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานของโครงการจ่ายลงทุน มีความหมายรวมถึง
* กระแสเงินสดรับและกระแสเงินสดจ่ายที่มีความเกี่ยวข้องกับการกำจัดการทำลายสินทรัพย์ดำเนินงานที่หมดอายุหรือไม่ต้องการใช้ต่อไปแล้ว
* กระแสเงินสดรับจากการได้รับเงินทุนหมุนเวียนส่วนที่สิ้นสุดพันธะผูกพันของโครงการลงทุนระยะยาว

.
การคำนวณมูลค่ากระแสเงินสดในงบประมาณการจ่ายลงทุน

เงินสดรับที่เพิ่มขึ้นและเงินสดจ่ายหรือพันธะผูกพันที่ลดลงที่มีผลต่อจำนวนเงินสดที่มีอยู่ของกิจการ ส่วนของผลกระทบที่เกิดขึ้นในทันทีเนื่องจากเงินสดรับ หรือเงินสดจ่าย หรือพันธะผูกพันที่มีต่อกระแสเงินสดบ่อยครั้งจะถูกกล่าวอ้างว่าเป็น ผลกระทบทางตรง เช่น การจ่ายค่าเงินเดือนพนักงาน 10,000 บาท ทำให้เงินสดของกิจการลดลงในทันที 10,000 บาท ส่วนนี้เป็นผลกระทบทางตรง เป็นต้น

.

เหตุการณ์หรือรายการค้าใด ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นบ่อยครั้งที่มักจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับค่าภาษีเงินได้ของกิจการ ผลกระทบของเหตุการณ์หรือรายการค้าที่มีต่อจำนวนเงินค่าภาษีเงินได้ที่กิจการต้องจ่ายสำหรับงวดเป็น ผลกระทบทางภาษีหรือผลกระทบทางอ้อม เช่น ถ้ากิจการจ่ายเงินเดือนพนักงาน 10,000 บาท สมมติว่ากิจการเสียภาษีเงินได้ที่อัตรา 25%  

.

ในกรณีนี้กิจการจะเสียเงินค่าภาษีเงินได้ลดลงไปเท่ากับ 2,500 บาท (10,000 บาท x 25%) ในที่นี้แสดงผลกระทบทางอ้อมที่มีต่อค่าภาษีเงินได้โดยทำให้กิจการจ่ายเงินค่าภาษีเงินได้ลดลงไปเท่ากับ 2,500 บาท หรือประหยัดค่าภาษีเงินได้เป็นเงินจำนวน 2,500 บาท

.

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าผลกระทบทางตรงและผลกระทบทางอ้อมล้วนส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดสำหรับงวดเวลา ดังนั้นผลกระทบทางตรงและผลกระทบทางอ้อมหรือผลกระทบทางภาษีจึงถูกนำมาพิจารณารวมเป็นผลกระทบสุทธิที่มีต่อกระแสเงินสด เช่น ผลกระทบสุทธิที่มีต่อเงินสดของรายการจ่ายเงินเดือนจำนวน 10,000 บาท คือกระแสเงินสดจ่ายสุทธิเท่ากับ 7,500 บาท (กระแสเงินสดจ่าย 10,000 บาท – กระแสเงินสดรับ 2,500 บาท) แสดงผลกระทบในลักษณะดังกล่าวนี้ได้ดังตารางที่ 1

.
ตารางที่ 1 ผลกระทบต่อกระแสเงินสด

.
ตัวอย่างที่ 1

สมมติว่ากิจการแห่งหนึ่งมีรายการที่เป็นรายได้และค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสดเพื่อนำไปคำนวณกำไรเท่ากับ 20,000 บาท และ 5,000 บาทตามลำดับ กิจการเสียภาษีเงินได้ที่อัตรา 25% ผลกระทบสุทธิที่มีต่อกระแสเงินสดเนื่องจากรายการดังกล่าวจะเท่ากับเท่าใด

.

ผลกระทบที่มีต่อเงินสดรับจะเท่ากับ 15,000 บาท (20,000 บาท - 5,000 บาท) ไม่ใช่ 20,000 บาท เนื่องจากรายได้ที่เกิดขึ้นจำนวนดังกล่าวทำให้กิจการต้องเสียภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นเท่ากับ 5,000 บาทด้วย (20,000 บาท x 25%) ในขณะเดียวกันผลกระทบสุทธิที่มีต่อเงินสดจ่ายจะเท่ากับ 3,750 บาท (5,000 บาท - 1,250 บาท) ไม่ใช่ 5,000 บาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจำนวนดังกล่าวทำให้กิจการสามารถประหยัดค่าภาษีเงินได้หรือจ่ายค่าภาษีเงินได้ลดลงเป็นเงิน 1,250 บาท (5,000 บาท x 25%) จากที่กล่าวมาข้างต้นสามารถสรุปผลกระทบที่มีต่อเงินสดได้ดังตารางที่ 2 ต่อไปนี้

.
ตารางที่ 2 ผลกระทบสุทธิต่อกระแสเงินสดของกิจการตัวอย่าง

.

รายการรายได้และค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสดทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกระแสเงินสดของกิจการ แต่ถ้าพิจารณาถึงรายการรายได้และค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นเงินสดจะก่อให้เกิดผลกระทบในลักษณะอย่างไรพิจารณาได้จากตัวอย่างต่อไปนี้

.
ตัวอย่างที่ 2

สมมติว่ากิจการแห่งหนึ่งมีรายการที่เป็นรายได้และค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นเงินสดสำหรับงวดเพื่อนำไปคำนวณกำไรดังนี้ รายได้จากการขายเป็นเงินเชื่อเท่ากับ 20,000 บาท และค่าเสื่อมราคาจำนวน 5,000 บาท กิจการเสียภาษีเงินได้ที่อัตรา 25% ผลกระทบสุทธิที่มีต่อกระแสเงินสดเนื่องจากรายการดังกล่าวจะเท่ากับเท่าใด

.

รายได้ที่ขายเป็นเงินเชื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางตรงต่อกระแสเงินสดรับของกิจการแต่อย่างใดเนื่องจากยังไม่ได้รับเงินสดจากลูกค้า แต่รายได้จากการขายเชื่อเป็นรายได้ที่ต้องนำไปคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษี ดังนั้นรายได้จากการขายเชื่อดังกล่าวจึงก่อให้เกิดผลกระทบทางอ้อมหรือผลกระทบทางภาษีเท่านั้น

.

กล่าวคือการที่กิจการมีรายได้ตามเกณฑ์คงค้างทำให้กิจการต้องเสียค่าภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นในที่นี้ต้องจ่ายค่าภาษีเงินได้เท่ากับ 5,000 บาท (20,000 บาท x 25%) นั่นหมายความว่าการที่กิจการมีรายได้ที่ไม่เป็นเงินสดก่อให้เกิดผลกระทบต่อกระแสเงินสดจ่ายเพิ่มขึ้นแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกระแสเงินสดรับแต่อย่างใด

.

ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นเงินสดในที่นี้คือค่าเสื่อมราคา ค่าใช้จ่ายค่าเสื่อมราคาไม่ได้จ่ายเงินสดแต่อย่างใด แต่กิจการต้องจดบันทึกรับรู้การเสื่อมสภาพของสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการคำนวณกำไรที่ต้องนำไปเสียภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาทำให้กิจการเสียภาษีเงินได้ลดลง ในที่นี้กิจการจะเสียภาษีเงินได้ลดลงเท่ากับ 1,250 บาท (5,000 บาท x 25%) จากที่กล่าวมาข้างต้นสามารถสรุปผลกระทบที่มีต่อเงินสดได้ดังตารางที่ 3 ต่อไปนี้  

.
ตารางที่ 3 ผลกระทบสุทธิต่อกระแสเงินสดของกิจการตัวอย่าง

.

จากที่กล่าวมาข้างต้นสรุปได้ว่ารายการรายได้ที่ไม่เป็นเงินสดไม่เกิดผลกระทบทางตรงต่อเงินสดรับเข้า แต่จะส่งผลกระทบทางภาษีทำให้มีกระแสเงินสดจ่ายเพิ่มขึ้นจากการต้องจ่ายค่าภาษีเงินได้ ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นเงินสดไม่เกิดผลกระทบทางตรงต่อเงินสดจ่าย แต่จะส่งผลกระทบทางภาษีทำให้เกิดกระแสเงินสดรับเพิ่มขึ้นจากการที่สามารถประหยัดค่าภาษีเงินได้หรือจ่ายค่าภาษีเงินได้ลดลง

.

กิจกรรมการดำเนินงานที่เกิดขึ้น ณ ระดับขั้นต่าง ๆ ของโครงการลงทุนใด ๆ นั้นล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดด้วยจำนวนที่มีความแตกต่างกันไป ก่อนหน้านี้ได้ทำการจำแนกระดับขั้นต่าง ๆ ของโครงการลงทุนออกเป็นช่วงแรกของการเริ่มลงทุน ระหว่างการดำเนินโครงการ และช่วงสิ้นสุดโครงการ ดังนั้นในส่วนต่อไปจะได้กล่าวถึงรายละเอียดที่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดทั้งสามขั้นตอน

.
ช่วงเริ่มต้นโครงการ
กิจกรรมในช่วงแรกของการเริ่มดำเนินโครงการลงทุนมีความเป็นไปได้ที่รวมถึงรายการดังนี้
 1. การได้มาหรือการซื้อสินทรัพย์
 2. เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน
 3. การกำจัดหรือการทำลายสินทรัพย์ที่เปลี่ยนทดแทน 
.
ผลกระทบของการจัดหาสินทรัพย์เมื่อเริ่มต้นโครงการลงทุนที่มีต่อกระแสเงินสด

กิจกรรมในช่วงแรกของการดำเนินโครงการลงทุนในส่วนของกระแสเงินสดจ่ายนั้นรวมถึงการสร้าง หรือการซื้อสินทรัพย์ดำเนินงานระยะยาว การซื้อ การติดตั้ง และการทดสอบการทำงานของสินทรัพย์ที่จัดหามาใหม่ และการฝึกอบรมพนักงาน โดยส่วนใหญ่แล้วกระแสเงินสดจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลงทุนระยะยาวมักจะเกิดขึ้นที่จุดเริ่มต้นโครงการ เมื่อเริ่มต้นงบประมาณการจ่ายลงทุน เวลาที่จุดเริ่มต้นของกระแสเงินสดจ่ายลงทุนเมื่อทำการจัดหาสินทรัพย์ดำเนินงานระยะยาวจะถูกกล่าวถึงว่าเป็นจุดเวลาที่ 0 (ปีที่ 0)

.

กระแสเงินสดจ่ายส่วนใหญ่จะมีผลกระทบในทางภาษี เช่น การเช่า การฝึกอบรม สามารถรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับงวดเวลาที่มีรายการเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ เมื่อค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นค่าภาษีเงินได้จะลดลง ค่าภาษีเงินได้ที่ลดลงคือจำนวนเงินสดจ่ายที่ลดลงหรือเงินสดรับที่เพิ่มขึ้น

.

ผลกระทบในลักษณะอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการจัดหาที่มีต่อกระแสเงินสดคือ ค่าเสื่อมราคาทั้งนี้เพราะค่าเสื่อมราคาเป็นการรับรู้การเสื่อมสภาพของสินทรัพย์ที่ใช้ไปเป็นค่าใช้จ่ายแต่ไม่ได้มีการจ่ายเงินสำหรับค่าเสื่อมราคาในแต่ละงวดเวลาจริงแต่อย่างใด จำนวนเงินค่าเสื่อมราคาจึงไม่มีผลกระทบต่อเงินสดจ่ายในทันที แต่ค่าเสื่อมราคาเป็นค่าใช้จ่ายในทางบัญชีจริงจึงทำให้เสียภาษีเงินได้ลดลง สรุปผลกระทบที่มีต่อกระแสเงินสดเมื่อเริ่มต้นโครงการได้ดังตารางที่ 4 ต่อไปนี้

.
ตารางที่ 4 ผลกระทบต่อกระแสเงินสดเมื่อเริ่มต้นโครงการ

.
ตัวอย่างที่ 3

สมมติว่ากิจการแห่งหนึ่งกำลังพิจารณาจะซื้อเครื่องจักรใหม่ราคาซื้อมูลค่า 1,000,000 บาท มีต้นทุนในการติดตั้งเครื่องจักรประมาณ 10,000 บาท ต้นทุนในการทดสอบและการปรับปรุงก่อนการนำเครื่องจักรไปใช้ในการผลิต 20,000 บาท หลังจากใช้ครบอายุการใช้งานประมาณ 4 ปีจะขายเครื่องจักรดังกล่าวได้ประมาณ 200,000 บาท โดยจะมีค่าใช้จ่ายในการขนย้ายและทำความสะอาดเครื่องจักรประมาณ 40,000 บาท มูลค่าซากเมื่อครบอายุการใช้งาน 4 ปี โดยคิดค่าเสื่อมราคาวิธีเส้นตรงจะเท่ากับ 150,000 บาท สมมติว่าอัตราภาษีเงินได้เท่ากับ 20%

.
จากข้อมูลข้างต้น กระแสเงินสดที่เกิดขึ้น ณ ปีที่ 0 และกระแสเงินสดแต่ละปีแสดงได้ดังตารางที่ 5 หรือตารางที่ 6 ได้ดังนี้

ตารางที่ 5 กระแสเงินสด ณ ปีที่ 0 และกระแสเงินสด ณ ปีที่ 1-4

.
ตารางที่ 6 ทางเลือกการคำนวณกระแสเงินสด ณ ปีที่ 0 และกระแสเงินสด ณ ปีที่ 1-4 

.

จากการคำนวณข้างต้นแสดงให้เห็นว่ากิจการมีเงินลงทุนเมื่อเริ่มโครงการ ณ ปีที่ 0 เท่ากับ 1,030,000 บาท เมื่อกิจการเลือกคิดค่าเสื่อมราคาวิธีเส้นตรง มูลค่าซากเครื่องจักรเมื่อสิ้นปีที่ 4 จะเท่ากับ 150,000 บาท จำนวนเงินที่นำมาคิดค่าเสื่อมราคาโดยรวมจึงเท่ากับ 880,000 บาท คำนวณเป็นค่าเสื่อมราคาในแต่ละปีเท่ากับ 220,000 บาท เมื่อพิจารณาจากการคำนวณในตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่ารายการค่าเสื่อมราคานั้นไม่ส่งผลกระทบทางตรงที่มีต่อกระแสเงินสดจ่าย 

.

เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้จ่ายเป็นเงินสดจริงในงวดเวลาที่มีการคิดค่าเสื่อมราคา อย่างไรก็ตามค่าเสื่อมราคาส่งผลกระทบทางภาษีทำให้กิจการสามารถประหยัดจำนวนเงินค่าภาษีเงินได้ไปได้ตามสัดส่วนของอัตราภาษีเงินได้และจำนวนเงินค่าเสื่อมราคา ในที่นี้อัตราภาษีเงินได้เท่ากับ 20% จำนวนเงินค่าเสื่อมราคาเท่ากับ 220,000 บาท กำไรที่ลดลงจากค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเสื่อมราคาจึงทำให้กิจการสามารถประหยัดค่าภาษีเงินได้เท่ากับ 44,000 บาท เงินภาษีที่ประหยัดได้คือกระแสเงินสดรับเข้าของกิจการ

.
ผลกระทบของเงินทุนหมุนเวียนเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการที่มีต่อกระแสเงินสด

เงินทุนหมุนเวียนเป็นจำนวนเงินทุนที่ต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้การดำเนินงานของโครงการบรรลุผลที่ต้องการได้ ในทางบัญชีเงินทุนหมุนเวียนคือส่วนเกินของสินทรัพย์หมุนเวียนที่มากกว่าหนี้สินหมุนเวียน ความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการลงทุนจึงเป็นส่วนเกินของสินทรัพย์หมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าส่วนเกินของหนี้สินหมุนเวียนอันเนื่องมาจากการลงทุน    

.

การลงทุนในอาคารโรงงานและอุปกรณ์บ่อยครั้งที่มักมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเพื่อการจ่ายหนี้สินรายใหม่ จ่ายค่าใช้จ่ายอื่น ๆ วัตถุดิบ งานระหว่างทำ สินค้าสำเร็จรูป วัสดุสิ้นเปลือง และลูกหนี้การค้า ในระหว่างการดำเนินงานโครงการลงทุน

.

เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการดำเนินงานเป็นกระแสเงินสดจ่ายในปีที่นำเงินทุนหมุนเวียนดังกล่าวมาใช้ เงินทุนหมุนเวียนจำนวนนี้ก่อให้เกิดผลกระทบทางตรงต่อกระแสเงินสดเท่านั้น เนื่องจากจำนวนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการไม่จัดว่าเป็นรายการรายได้หรือค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดจึงไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางภาษี

.

อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่าทุก ๆ โครงการลงทุนจะต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเสมอไป ในบางครั้งบางโครงการที่กิจการเลือกลงทุนอาจจะทำให้มีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการดำเนินงานลดลงไปก็เป็นไปได้ จำนวนเงินทุกหมุนเวียนที่มีความต้องการลดลงไปจากเดิมคือกระแสเงินสดรับเข้าในงวดเวลาที่จำนวนเงินทุนหมุนเวียนลดลงไป

.

บ่อยครั้งมักจะพบว่ากิจการที่มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารห่วงโซ่คุณค่า การบริหารงานแบบทันเวลาพอดี หรือระบบการผลิตแบบอัตโนมัติจะมีความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากเมื่อกิจการทำการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้วจะช่วยส่งเสริมให้กระบวนการดำเนินงานของกิจการเหล่านั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้นซึ่งจะมีผลทำให้ระดับเงินลงทุนในสินค้าคงเหลือลดลง และต้นทุนการดำเนินงานในส่วนอื่น ๆ สามารถลดลงไปได้ด้วย

.
ตัวอย่างที่ 4

จากตัวอย่างที่ 3 ผู้บริหารคาดการณ์การลงทุนนำเครื่องจักรใหม่มาใช้จะทำให้กิจการต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเพื่อการลงทุนในสินค้าคงเหลือและลูกหนี้การค้า แม้ว่ากิจการคาดการณ์ไว้ว่าการเพิ่มขึ้นในสินทรัพย์หมุนเวียนดังกล่าวจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของเจ้าหนี้การค้าและหนี้สินหมุนเวียนอื่น ๆ  

.

แต่หนี้สินหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะครอบคลุมสินค้าคงเหลือและลูกหนี้การค้าเพียงบางส่วนเท่านั้น กิจการจึงมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอีก 400,000 บาท เพื่อให้ครอบคลุมสินค้าคงเหลือที่ต้องการเพื่อการดำเนินงานและลงทุนในลุกหนี้การค้าที่จะเพิ่มขึ้น

.

เงินทุนหมุนเวียนที่จัดหามาเพิ่มขึ้นเพื่อการดำเนินงานของโครงการจำนวน 400,000 บาท นี้เป็นส่วนที่จะถูกจำกัดขอบเขตกับการหมุนเวียนในส่วนของสินค้าคงเหลือและลูกหนี้การค้าที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่สามารถที่จะนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในลักษณะอื่น ๆ ได้ ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่าเงินทุนหมุนเวียนที่ต้องการเพิ่มเติมส่งผลกระทบทางตรงต่อกระแสเงินสดออกสำหรับการลงทุนในปีที่ 0 เท่านั้นทำให้กระแสเงินสดจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 1,030,000 บาท มาเป็น 1,430,000 บาท แสดงการคำนวณได้ดังตารางที่ 7

.
ตารางที่ 7 ผลกระทบทางตรงที่มีต่อกระแสเงินสดจ่าย ณ ปีที่ 0

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด