เนื้อหาวันที่ : 2009-07-21 12:16:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8705 views

การขยายแนวคิดลีนสู่ห่วงโซ่คุณค่า

หากมีการมอบรางวัลโนเบลให้กับผู้ผลิตที่เป็นเลิศแห่งศตวรรษที่ 20 คงปฏิเสธไม่ได้ว่า โตโยต้าสมควรจะได้รางวัลนี้ เนื่องจากโตโยต้าคือหนึ่งในผู้นำระบบการผลิตระดับโลก (World Class Manufacturing) ซึ่งเป็นต้นแบบการผลิตแบบลีนให้กับอุตสาหกรรมทั่วโลก แต่ศตวรรษใหม่นี้องค์กรชั้นนำอย่าง Dell Computer และ Wal-Mart ได้พัฒนาขยายแนวคิดลีนแบบเดิมที่มุ่งผลิตภาพสายการผลิต สู่องค์กรภายนอกเป็นองค์กรลีนแบบขยายผล (The Extended Lean Enterprise)

โกศล ดีศีลธรรม
koishi2001@yahoo.com

.

หากมีการมอบรางวัลโนเบลให้กับผู้ผลิตที่เป็นเลิศแห่งศตวรรษที่ 20 คงปฏิเสธไม่ได้ว่า โตโยต้าสมควรจะได้รางวัลนี้ เนื่องจากโตโยต้าคือหนึ่งในผู้นำระบบการผลิตระดับโลก (World Class Manufacturing) ซึ่งเป็นต้นแบบการผลิตแบบลีนให้กับอุตสาหกรรมทั่วโลก แต่ศตวรรษใหม่นี้องค์กรชั้นนำอย่าง Dell Computer และ Wal-Mart ได้พัฒนาขยายแนวคิดลีนแบบเดิมที่มุ่งผลิตภาพสายการผลิต สู่องค์กรภายนอกเป็นองค์กรลีนแบบขยายผล (The Extended Lean Enterprise) ที่เน้นการปรับปรุงแบบองค์รวมตลอดทั้งสายธารแห่งคุณค่า (Value Stream)

.

เนื่องจากทุกองค์กรต้องมีการประสานงานกับคู่ค้าหรือองค์กรภายนอก ดังนั้นหากเกิดปัญหาหรือความผันผวนขึ้นก็จะส่งผลกระทบทั้งในระดับต้นน้ำและปลายน้ำ

.

รูปที่ 1 องค์กรลีนแบบขยายผล

.

โดยทั่วไปแนวคิดลีนได้มุ่งกลยุทธ์ดึงหรืออาจกล่าวว่าการผลิต และกระจายสินค้าเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าขึ้นอยู่กับปัจจัยผลักดันด้วยอุปสงค์ (Demand Driven) ด้วยการใช้ข้อมูลความต้องการแท้จริงของลูกค้า(Demand Pull) จึงมุ่งผลิตเฉพาะตามคำสั่งซื้อจากลูกค้าโดยมีระบบสารสนเทศสนับสนุนทำให้ข้อมูลเกิดความแม่นยำกว่าการพยากรณ์ ดังนั้นทางผู้ผลิตจึงไม่จำเป็นต้องสต็อกสินค้าไว้จำนวนมากและเกิดการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

.

รวมทั้งเกิดต้นทุนต่ำกว่าเมื่อเทียบกับระบบผลัก เนื่องจากคุณค่าตามแนวคิดลีน คือ สิ่งที่ลูกค้าพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ต้องการ ดังนั้นการสร้างคุณค่าจึงต้องมุ่งขจัดความสูญเปล่าที่ก่อให้เกิดความล่าช้าหรือต้นทุนสูงขึ้นแต่ไม่เพิ่มคุณค่าในมุมมองลูกค้า (Customer's Perspective) เพื่อให้การไหลของงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

.

ดังนั้นองค์กรลีนแบบขยายผลจึงมุ่งเชื่อมโยงตลอดทั้งกระบวนการที่สร้างคุณค่าหรือสายธารแห่งคุณค่า ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นที่ส่งมอบคุณค่าให้กับกระบวนการถัดไปจนถึงมือลูกค้า ประกอบด้วย การรับคำสั่งซื้อ การผลิต การส่งมอบ การเรียกเก็บเงิน และบริการหลังการขาย รวมทั้งการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลกับระบบห่วงโซ่คุณค่า ดังเช่น การเมือง สังคม กฎหมาย และความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

.

ประเภทกลยุทธ์สนับสนุน

กลยุทธ์ต้นทุนต่ำ
(Low-Cost Strategy) 

กลยุทธ์การตอบสนอง
(Response Strategy)

กลยุทธ์สร้างความแตกต่าง
(Differentiation Strategy)

เป้าหมายผู้ส่งมอบ  จัดส่งสินค้าด้วยต้นทุนต่ำสุดเท่าที่เป็นไปได้  ความรวดเร็วในการตอบสนองความเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อโดยมีระดับสต็อกขาดมือน้อย   ร่วมวิจัย-พัฒนาผลิตภัณฑ์
เกณฑ์สำหรับการคัดเลือก  ต้นทุน  กำลังการผลิต ความเร็ว และความยืดหยุ่น  ทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์
คุณลักษณะกระบวนการ รักษาอัตราการใช้ทรัพยากร  ความยืดหยุ่นกระบวนการและการใช้ประโยชน์จากกำลังการผลิตส่วนเกิน   มุ่งตอบสนองความต้องการหลากหลายของลูกค้าตามแนวคิด Mass Customization
สินค้าคงคลัง  มุ่งการจัดเก็บสินค้าคงคลังไม่มากเพื่อลดต้นทุน   พัฒนาระบบการตอบสนอง และสต็อกกันชนสำรอง   ลดการจัดเก็บสต็อกเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเสื่อมสภาพ
ช่วงเวลานำ   ระยะเวลานำที่สั้นลงโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มการลงทุน   การลงทุนเพื่อลดเวลานำการผลิต  การลงทุนเพื่อลดเวลานำการพัฒนาผลิตภัณฑ์
การออกแบบผลิตภัณฑ์  มุ่งสมรรถนะสูงสุดด้วยต้นทุนต่ำ มุ่งออกแบบสิ่งที่สามารถลดเวลาการตั้งเครื่อง (Set Up Time) มุ่งสร้างความแตกต่างด้วยการออกแบบ
.

ตามที่ Michael E. Porter ได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรมภายในห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การจัดหาแหล่งวัตถุดิบ การแปรรูป ตลอดจนถึงกระบวนการส่งมอบสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าเพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจที่เกิดจากคุณค่าเพิ่มแต่ละกิจกรรม ดังนั้นห่วงโซ่คุณค่าจึงเป็นการเชื่อมโยงกระบวนการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับธุรกิจด้วยการเชื่อมโยงกิจกรรมทั้งภายในองค์กรกับคู่ค้าที่มีผลกับตำแหน่งการแข่งขัน (Competitive Position) โดยมุ่งความสามารถบริหารกระบวนการให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันหรือกล่าวได้ว่าผลตอบแทนจากผลการดำเนินงานขององค์กร เกิดขึ้นจากการส่งมอบสินค้าได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า

.

ดังนั้นจึงต้องวิเคราะห์กิจกรรมห่วงโซ่คุณค่าเพื่อจำแนกกิจกรรมที่สร้างคุณค่าเพิ่มกับกิจกรรมที่สร้างความสูญเปล่าเพื่อให้เกิดการลดต้นทุนด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงจากคำสั่งซื้อและเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เช่น ข้อมูลระดับสต็อก ปริมาณคำสั่งซื้อ ช่วงเวลานำ เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินการในห่วงโซ่คุณค่าเกิดความสอดคล้อง

.

รูปที่ 2 แนวคิดเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าระหว่างคู่ค้า

.

เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่มักไม่ดำเนินการในทุกกิจกรรมด้วยตนเอง แต่ได้มีการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรด้วยการพัฒนาเครือข่ายองค์กร (Organizational Networks) ที่นำมาสู่การแสวงหาพันธมิตรหรือคู่ค้า โดยสร้างความสัมพันธ์ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจทั้งในระดับต้นน้ำกับปลายน้ำที่มีเครือข่ายคู่ค้าครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก ดังที่พบในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่าง อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

.

สำหรับกรณี Cisco ผู้ค้าอุปกรณ์เครือข่ายคอมพิวเตอร์ชั้นนำได้ใช้กลยุทธ์ว่าจ้างผู้ผลิตภายนอก ทำให้ลดความสูญเปล่าในการจัดเก็บสต็อก หรือกรณี Hewlett-Packard (HP) ได้สั่งซื้อชิ้นส่วนจากผู้ผลิตภูมิภาคอื่น เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และแคนาดา ทำให้เกิดรูปแบบองค์กรขยายผลที่มุ่งเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้า(Customer-Perceived Value) กลยุทธ์ดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในองค์กรข้ามชาติที่มุ่งสร้างความสามารถด้านการแข่งขันจากฐานการผลิตในภูมิภาคอื่น

.

ส่วนห่วงโซ่คุณค่าองค์กรได้มุ่งการเชื่อมโยงกิจกรรมภายในองค์กรกับคู่ค้าทั้งระดับต้นน้ำกับปลายน้ำตลอดจนลูกค้าปลายทาง หรืออาจเรียกว่าระบบคุณค่า ประกอบด้วย ผู้ส่งมอบ การคลังสินค้า การกระจายสินค้า และคู่ค้าทางธุรกิจ ดังกรณี Wal-Mart FedEx และ Dell ที่ประสบผลสำเร็จในการประยุกต์แนวคิดดังกล่าว

.

ดังนั้นการพัฒนาความได้เปรียบการแข่งขันจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในองค์กรเท่านั้น แต่จะต้องเชื่อมโยงกิจกรรมตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ด้วยเหตุนี้ประสิทธิผลตามแนวคิดองค์กรลีนแบบขยายผลจึงไม่เพียงแค่ปรับปรุงการบริหารคลังสินค้าและระบบโลจิสติกส์เท่านั้น แต่ยังต้องประกอบด้วยปัจจัยหลักสนับสนุน นั่นคือ

.

1. ประสานการทำงานร่วมกันระหว่างสมาชิกคู่ค้า (Collaboration) ดังกรณีผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ประกอบด้วย Chrysler Corp., General Motors Corp., และ Ford Motor Co. ได้ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างคู่ค้ากับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ผ่านเครือข่ายเสมือนส่วนตัว (VPN) เรียกว่า Automotive Network Exchange หรือ ANX สำหรับการโอนถ่ายข้อมูลและดำเนินธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (B2B)

.

ตลอดจนการทำงานร่วมกันแบบเวลาจริง ทำให้สามารถลดต้นทุนการสื่อสารและลดรอบเวลาการออกแบบจาก 5 ปีให้เหลือไม่ถึง 3 ปี ส่วน Ford กับ Nissan ได้ร่วมมือกันสร้างระบบเครือข่ายเพื่อสนับสนุนกิจกรรมจัดหาจัดซื้อทางออนไลน์ (e-Procurement) ทำให้เกิดการลดต้นทุนธุรกรรมการจัดซื้อ

.

รูปที่ 3 ระบบเครือข่ายสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์

.

สำหรับผู้ค้าปลีกรายใหญ่อย่าง Wal-Mart ได้ใช้ระบบสารสนเทศติดตามสต็อกสินค้าและระบบบาร์โค้ด ตลอดจนการนำระบบ EDI เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคู่ค้าด้วยเทคโนโลยีไร้สายสำหรับการสแกน (Wireless Scanning) ทำให้ลดต้นทุนดำเนินงานได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ Wal-Mart ยังได้เชื่อมโยงข้อมูลทางออนไลน์กับคู่ค้ากว่า 10,000 ราย และคู่ค้าเหล่านี้ สามารถเข้าถึงระบบฐานข้อมูลของ Wal-Mart ด้วยระบบซอฟต์แวร์จัดเก็บข้อมูลการขายแบบเวลาจริงเพื่อสนับสนุนการวางแผนสต็อก และจัดส่งสินค้า

.

สำหรับผู้ส่งมอบและผู้ค้าส่งได้ดำเนินการบริหารสต็อกสินค้าให้กับร้านค้าปลีก (Vendor Managed Inventory หรือ VMI) เพื่อให้ระดับสินค้าในร้านค้าปลีกได้รับการเติมเต็มอย่างอัตโนมัติ (Replenished Automatically) นั่นคือ เมื่อระดับสต็อกสินค้าลดลงถึงจุดสั่งซื้อ ก็จะมีการออกคำสั่งซื้อไปยังผู้ส่งมอบโดยอัตโนมัติ เพื่อดำเนินการจัดส่งสินค้าให้ทันเวลา ลดภาระจัดเก็บสต็อกสินค้าและเวลาในกระบวนการจัดเตรียมสินค้า

.

รวมทั้งยกระดับการให้บริการ (Service Level) แต่ประสิทธิผลการเติมเต็มอย่างต่อเนื่องจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ค้าส่งกับผู้ค้าปลีก ประกอบด้วย การประมวลคำสั่งซื้อจากข้อมูลยอดขายแต่ละประเภทสินค้าที่ถูกบันทึกในเครื่องบันทึกเงินสด (Cash Register) และคำสั่งซื้อนี้ได้ถูกส่งไปยังคลังสินค้าเพื่อดำเนินการส่งมอบสินค้าตามกำหนดการ

.

ด้วยเหตุนี้ธุรกิจค้าปลีกจึงต้องสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับผู้ส่งมอบเพื่อสั่งซื้อได้บ่อยครั้ง และสามารถติดตามระดับสต็อกได้อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันปัญหาสินค้าขาดสต็อก ทำให้ผู้ค้าปลีกสามารถลดต้นทุนจัดเก็บสต็อกและสูญเสียพื้นที่จัดเก็บน้อยที่สุด รวมทั้งสนับสนุนการออกคำสั่งซื้อด้วยปริมาณที่ต้องการตามแนวคิดเติมเต็มสต็อก (Replenishing Stock) อย่างทันเวลา นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ผู้ผลิตสามารถปรับปรุงรอบการหมุนสต็อกสินค้า (Inventory Turnover) ด้วยการติดตามข้อมูลยอดขายจริงจากผู้จำหน่าย (Vendor)

.

รูปที่ 4 ระบบบริหารสต็อกโดยผู้จำหน่าย

.

2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) โดยใช้กลยุทธ์ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบง่ายสำหรับการประกอบด้วยมาตรฐานแต่ละส่วนที่หลากหลายในลักษณะโมดูล (Module) หรือ Modular  Design อย่างคอมพิวเตอร์ ได้ออกแบบอุปกรณ์แต่ละส่วน ดังเช่น แผงควบคุม การ์ด หรือดิสก์ไดร์ฟ ให้สามารถถอดประกอบได้อย่างสะดวก ดังกรณีของ Dell ที่สร้างผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์พีซีจากโมดูลมาตรฐาน (Standard Module) อันหลากหลายตามคำสั่งซื้อลูกค้า ด้วยแนวทางการออกแบบสำหรับการผลิตและประกอบ (Design for Manufacturing and Assembly หรือ DFMA)

.

โดยมุ่งให้ความสำคัญตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นกระบวนการออกแบบและทบทวนทุกชิ้นส่วนที่ใช้สำหรับกระบวนการผลิตด้วยต้นแบบเสมือน (Virtual Prototype) ทำให้วิศวกรเห็นผลกระทบและจุดบกพร่องในกระบวนการออกแบบเพื่อดำเนินการแก้ไข ทำให้สามารถลดชิ้นส่วนการประกอบได้ร้อยละ 50 และลดเวลาการประกอบไปได้ร้อยละ 32 นอกจากนี้ยังเกิดการลดต้นทุนแรงงานและวัสดุสิ้นเปลืองอีกด้วย

.

รูปที่ 5 ลักษณะชิ้นส่วนแบบโมดูล

.

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ใช้แนวทางออกแบบคู่ขนาน (Concurrent Design) เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงคุณภาพ ตั้งแต่ช่วงต้นการออกแบบที่สอดคล้องกับแนวคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบลีน (Lean Product  Development) โดยมีการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายงานในช่วงเวลาเดียวกันเรียกว่า Concurrent Team ซึ่งมีการร่วมประชุมระดมสมอง (Brainstorming) ประกอบด้วยฝ่ายงานหลักคือ การตลาด การผลิต และวิศวกรรม เพื่อร่วมร่างรายละเอียดข้อกำหนด (Specification) โดยเฉพาะการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือกับคู่ค้า โดยที่ฝ่ายตลาดและฝ่ายผลิตต้องทำงานประสานระหว่างกันอย่างใกล้ชิดจึงจะเกิดความมีส่วนร่วมในการผลิตอย่างต่อเนื่อง

.

รูปที่ 6 การพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบลีนกับแบบทั่วไป

.

กรณี Daimler Chrysler สามารถเปิดตัวรถสปอร์ตโดยใช้เวลาตั้งแต่การออกแนวคิด (Concept) จนถึงการผลิตเสร็จสิ้นน้อยกว่า 3 ปี ทำให้ประหยัดงบประมาณได้ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแต่ละทีมงานประกอบด้วยสมาชิกตั้งแต่ 20-85 คน ทำงานด้วยการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการสื่อสารร่วมกันอย่างใกล้ชิด สำหรับวิศวกรของ Ford ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลรายละเอียดการออกแบบสามมิติ เพื่อให้ผู้ผลิตภูมิภาคอื่นสามารถวางแผนและทำงานร่วมกันได้   

.

ดังเช่น วิศวกรอังกฤษสามารถส่งไฟล์รายละเอียดแบบ (Drawing) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังวิศวกรออกแบบในอเมริกา และส่งข้อมูลผ่านต่อไปยังฝ่ายผลิตที่อิตาลี เพื่อดำเนินการผลิต ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานโดยไม่จำกัดสถานที่ จึงส่งผลให้เกิดการลดระยะเวลานำการออกแบบและความบกพร่องในกระบวนการออกแบบ รวมทั้งลดต้นทุนการออกแบบ และเวลาการออกตัวผลิตภัณฑ์  

.
3. เครื่องมือสนับสนุนการบริหารแบบลีน (Miscellaneous Lean Enablers) ประกอบด้วย

ความมีส่วนร่วมของพนักงาน ปัจจุบันบุคลากรเป็นปัจจัยสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับธุรกิจ โดยกว่าร้อยละ 50 ของกฎ 14 ข้อของเดมมิ่ง (Deming's 14 Points) กล่าวถึงบทบาทพนักงาน นั่นหมายถึง ความสำเร็จขององค์กรต้องเกิดจากความมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน โดยเฉพาะกิจกรรมกลุ่มคุณภาพ (QC Circle) มุ่งให้พนักงานมีส่วนร่วมแก้ปัญหาเพื่อปรับปรุงผลิตภาพกระบวนการ

.

โดยแรงงานในสายการผลิตสามารถเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดจากงานประจำวันด้วยการฝึกอบรมเพิ่มทักษะการทำงาน ซึ่งจัดเป็นการลงทุนทรัพยากรบุคคลระยะยาว และสนับสนุนการทำงานร่วมกันเป็นทีม ทำให้องค์กรสามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้อย่างคล่องตัวและบรรลุได้ตามเป้าหมาย   

.

.

ระบบผลตอบแทนตามทักษะความรู้ (Knowledge-Based Pay) เพื่อจูงใจให้พนักงานปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากสามารถทำงานได้บรรลุเกินเป้าหมายก็ควรมีโบนัสหรือผลตอบแทนพิเศษตามผลงานที่เกิดขึ้น บางองค์กรจะมีการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษให้กับแรงงานที่มีทักษะการทำงานหลากหลาย (Multi-Skilled Work Force) เพื่อกระตุ้นให้พนักงานเกิดการพัฒนาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

.

จำแนกตัวผลักดันต้นทุนระดับองค์กร (Organizational Cost Driver) ด้วยการจำแนกปัจจัยกิจกรรมที่เกิดขึ้นแต่ละระดับขององค์กร และกระทบต่อโครงสร้างต้นทุนระยะยาว ดังเช่น จำนวนหน่วยการทำงาน ลำดับขั้นตอนทำงานแต่ละกระบวนการ วัฒนธรรมการทำงานและสไตล์การบริหาร  

.

สำหรับเครื่องมือสนับสนุนการจำแนกโครงสร้างตัวผลักดันต้นทุนกิจกรรม คือ การบริหารต้นทุนกิจกรรม (Activity Based Management หรือ ABM) เนื่องจากแนวทาง ABM ได้มุ่งจำแนกเพื่อขจัดความสูญเปล่าในกิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่าเพิ่มด้วยการลดความซับซ้อนกระบวนการทำงาน และลดจำนวนตัวผลักดันต้นทุน นอกจากนี้ข้อมูลผลลัพธ์จากการศึกษาตัวผลักดันต้นทุนองค์กรยังถูกใช้ระบุตำแหน่งการแข่งขันขององค์กรเมื่อเทียบเคียงกับกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน

.

รูปที่ 7 การจำแนกกิจกรรมระดับองค์กร

.

สำหรับธุรกิจการค้าปลีกอาจประเมินผลิตภัณฑ์ที่จัดเก็บบนชั้นวางด้วยผลกำไรต่อหน่วยพื้นที่จัดเก็บ (Product Per Cubic Meter) เพื่อบริหารพื้นที่ชั้นวางสินค้า จากการวิเคราะห์ความสามารถสร้างกำไรผลิตภัณฑ์โดยตรง (Direct Product Profitability) และต้นทุนผลิตภัณฑ์โดยตรง (Direct Product Costing) โดยทั้งสองแนวทางเป็นองค์ประกอบต้นทุนตามฐานกิจกรรม (Activity Based Costing หรือ ABC) ทำให้ทราบต้นทุนแท้จริงกับผลกำไรที่เกิดขึ้นได้ถูกใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในผลิตภัณฑ์

.

แต่การดำเนินการดังกล่าวต้องมีการจัดเก็บข้อมูลที่มีความถูกต้องเพื่อใช้จัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมกับผลกำไรต่อหน่วยพื้นที่ ดังนั้นการจัดทำฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์และบันทึกประวัติยอดขายจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวางแผนกำหนดประเภทผลิตภัณฑ์เพื่อจัดวางบนชั้นสินค้าสำหรับให้บริการกับลูกค้า

.

รูปที่ 8 แนวคิดจัดสรรต้นทุนตามฐานกิจกรรม

.

การเทียบเคียงกระบวนการ (Process Benchmark) โดยมุ่งศึกษากระบวนการจากผู้เป็นเลิศ (Best Practices) สำหรับอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มักดำเนินการเทียบเคียงกระบวนการจากองค์กรคู่แข่ง เช่น อัตราการเกิดของเสีย ระยะเวลานำการผลิต และอัตราส่งมอบทันเวลา เป็นต้น โดยนำข้อมูลจากการศึกษามาใช้กำหนดแนวทางพัฒนากระบวนการให้เป็นเลิศ ปัจจุบันแนวทางดังกล่าวยังถูกใช้สนับสนุนองค์กรลีนขยายผลด้วย

.
สรุป

ปัจจุบันความร่วมมือระหว่างเครือข่ายคู่ค้าคือปัจจัยสนับสนุนการสร้างประสิทธิผลให้กับธุรกิจ เพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อและสามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ทัน โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือและร่วมใช้ข้อมูลสำคัญ ดังเช่น ข้อมูลระดับสต็อก ปริมาณคำสั่งซื้อ ช่วงเวลาการผลิต และสร้างประสิทธิผลการวางแผน รวมทั้งคาดการณ์อุปสงค์ตลาดได้อย่างแม่นยำ แต่การดำเนินการดังกล่าวจะต้องสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ดังนั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดจึงต้องสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันทั้งภายในองค์กรกับคู่ค้า ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างศักยภาพการแข่งขันระยะยาวให้กับธุรกิจ

.

เอกสารอ้างอิง

1. James P. Womack and Daniel T. Jones, Lean Thinking, New York: Simon & Schuster, 1996
2. Joseph L. Walden, Velocity Management in Logistics and Distribution, The St. Lucie Press Series on Resource Management, 2005
3. Schragenheim, Eli. and Dettmer, H. William. Manufacturing at Warp Speed: Optimizing Supply Chain Financial Performance, FL: The St. Lucie Press, 2000
4. โกศล ดีศีลธรรม, เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้วยแนวคิดลีน, ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2548
5. โกศล ดีศีลธรรม, การวางแผนปฏิบัติการโลจิสติกส์สำหรับโลกธุรกิจใหม่, สำนักพิมพ์ฐานบุ๊คส์, 2551
6. โกศล ดีศีลธรรม, เพิ่มศักยภาพธุรกิจไทยด้วย LEAN LOGISTICS , สำนักพิมพ์ฐานบุ๊คส์, 2551
7. โกศล ดีศีลธรรม, โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานสำหรับการแข่งขันยุคใหม่, สำนักพิมพ์ฐานบุ๊คส์, 2551
8. โกศล ดีศีลธรรม, กระบวนทัศน์การวัดผลยุคใหม่, สำนักพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ, 2552
9. 
http://www.anx.com
10. www.bptrends.com
11. http://imvp.mit.edu
12. 
http://www.saic.com

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด