เนื้อหาวันที่ : 2009-07-17 17:27:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9524 views

การอนุรักษ์พลังงานในระบบอัดอากาศ

เครื่องอัดอากาศเป็นเครื่องจักรกลพื้นฐานที่นิยมใช้เป็นส่วนสนับสนุน (Facilities) ในกระบวนการผลิต และวิธีที่ประหยัดพลังงานในเครื่องอัดอากาศที่ดีควรเริ่มตั้งแต่การสั่งซื้อ การติดตั้ง การเดินเครื่อง ตลอดจนการซ่อม-บำรุงรักษา เพื่อให้ประสิทธิภาพในการเดินเครื่องพร้อมใช้งาน และมีค่าใช้จ่ายในการใช้งานถูกลง

โชคชัย  อลงกรณ์ทักษิณ
ผู้รับผิดชอบด้านพลังงานในโรงงาน  (ผชร.247)
กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน  กระทรวงวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
 
E-mail:alongkrontuksin@yahoo.com

.

เครื่องอัดอากาศเป็นเครื่องจักรกลพื้นฐานที่นิยมใช้เป็นส่วนสนับสนุน (Facilities) ในกระบวนการผลิต และวิธีที่ประหยัดพลังงานในเครื่องอัดอากาศที่ดีควรเริ่มตั้งแต่การสั่งซื้อ การติดตั้ง การเดินเครื่อง ตลอดจนการซ่อม-บำรุงรักษา เพื่อให้ประสิทธิภาพในการเดินเครื่องพร้อมใช้งาน และมีค่าใช้จ่ายในการใช้งานถูกลง

.

รูปที่ 1 Mobile Air Compressor

.

เครื่องอัดอากาศ (Air Compressor) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ปั๊มลม"  ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ถูกนัก เนื่องจากปั๊ม (Pump) หมายถึงอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ดูด-อัด-จ่ายสสารที่เป็น "ของเหลว" ส่วนเครื่องอัดไอ (Compressor) หมายถึง อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ดูด-อัด-จ่ายสสารที่เป็น “ก๊าซ” ตามปกติแล้วเครื่องอัดอากาศนับว่าเป็นเครื่องจักรกลพื้นฐานที่นิยมใช้เป็นส่วนสนับสนุน (Facilities) ในกระบวนการผลิต 

.

แต่จากประสบการณ์ในงานภาคสนามส่วนใหญ่ พบว่ามีปัญหาตั้งแต่การสั่งซื้อ การติดตั้ง การเดินเครื่อง ตลอดจนการซ่อม-บำรุงรักษา จึงเป็นสาเหตุให้ประสิทธิภาพในการเดินเครื่องไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ยังผลให้เกิดค่าใช้จ่ายในการใช้งานที่สูง เกิดต้นทุนแอบแฝงที่คนในองค์กรไม่ทราบ และอาจละเลยให้ความสำคัญ ดังนั้นในบทความนี้จึงขอนำเสนอแนวทางในการอนุรักษ์พลังงานในระบบอัดอากาศ เพื่อเพิ่ม "ขีดความสามารถในการแข่งขัน" (Competition) ของอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยของเรา

.

รูปที่ 2 การติดตั้งเครื่องอัดอากาศแบบสกรู

.
การอนุรักษ์พลังงานในประเทศไทย

รูปที่ 3 วงจรการอนุรักษ์พลังงาน

.

ในการอนุรักษ์พลังงานควรจะเดินการในลักษณะอย่างเป็นระบบ ดังตัวอย่างที่แสดงในรูปที่ 3 ซึ่งมีลักษณะที่เป็นวงจร หรือวัฎจักร (Cycle) คือ 1) การค้นหาศักยภาพ (ปัญหา) ในการอนุรักษ์พลังงาน 2) ทำการประเมินศักยภาพของการอนุรักษ์พลังงาน โดยจะต้องลงมือตรวจวัดเพื่อเก็บข้อมูล 3) กำหนดมาตรการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์แล้ว 4) ลงมือดำเนินการอนุรักษ์พลังงานตามมาตรการต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ 5) ประเมินผลการอนุรักษ์พลังงานตามมาตรการต่างๆ

.

รูปที่ 4 ถังพักอากาศอัด

.
โดยในประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงาน ดังนี้

1.  พระราชบัญญัติการพัฒนาและการส่งเสริมพลังงาน พ.ศ. 2535
2.  พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535
3.  พระราชกฤษฎีกากำหนดพลังงานควบคุม พ.ศ. 2536
4.  พระราชกฤษฎีกากำหนดอาคารควบคุม พ.ศ. 2538
5.  พระราชกฤษฎีกากำหนดโรงงานควบคุม พ.ศ. 2540
6.  กฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาในการกำหนดเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และการตรวจสอบและวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงานสำหรับโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. 2547
7.  กฎกระทรวง พ.ศ. 2539 ออกตามความในพระราชบัญญัติการพัฒนาและการส่งเสริมพลังงาน
8.  กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2539 ออกตามความในพระราชบัญญัติการพัฒนาและการส่งเสริมพลังงาน
9.  กฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการส่งข้อมูลและการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2547
10.  พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550

.

รูปที่ 5 การตรวจสอบถังพักอากาศอัดทุกๆ 5 ปี

.
ส่วนประกอบของระบบอัดอากาศ
ตามปกติแล้วหน่วยผลิตอากาศอัดจะประกอบด้วยส่วนประกอบหลักพื้นฐาน ดังต่อไปนี้
1. เครื่องอัดอากาศ (Air Compressor)
1.1 สกรู (Screw) หรือลูกสูบ (Reciprocating) ทำหน้าที่ดูด-จ่ายอากาศอัด
1.2 ไส้กรองแยกน้ำมันหล่อลื่นออกจากอากาศอัด (Oil Separator) ตามปกติแล้วจะให้มีน้ำมันหล่อลื่นหลุดรอดไปกับอากาศอัดเล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุทำไส้กรอง อัตราการไหล และความดันของอากาศอัด
1.3 ไส้กรองอากาศ (Air Filter) ทำหน้าที่ดักกรองสิ่งสกปรกที่ปะปนมากับอากาศที่ทางเข้าด้านดูด      
.

1.4 ไส้กรองน้ำมันหล่อลื่น (Oil Filter)
1.5 ลิ้นควบคุมการจ่ายน้ำมันหล่อลื่นขณะเปิด-ปิดเครื่อง (Oil Control Valve)
1.6 ลิ้นควบคุมความดันอากาศอัดที่ออกจากเครื่อง (Minimum Pressure Valve) ตามปกติแล้วจะตั้งค่าให้อากาศอัดต้องมีค่าความดันไม่น้อย 5 bar
1.7 อุปกรณ์ควบคุมความดันขณะเดินเครื่อง (Pressure Regulator)

.
2.  ถังพักอากาศอัด (Reservoir Tank)
3.  ไส้กรองอากาศหลัก (Main Filter)
4.  เครื่องทำอากาศแห้ง (Air Dryer)
5.  ระบบท่อทาง (Piping)
6.  อุปกรณ์ปรับปรุงคุณภาพอากาศอัด (Service Units)             
.

รูปที่ 6 หน่วยผลิตแผนกอากาศอัด

.
แนวทางการอนุรักษ์พลังงาน
ในที่นี้ขอนำเสนอแนวทางการอนุรักษ์พลังงานที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

1. การเลือกประเภท และขนาดเครื่องอัดอากาศ หากเราทราบปริมาณการใช้อากาศอัด และระดับความดันที่ใช้งาน ตลอดจนการขยายโรงงานในอนาคต ก็จะทำให้สามารถเลือกประเภทและขนาดเครื่องอัดอากาศได้อย่างถูกต้อง เช่น ระบบอัดอากาศต้องการใช้งานที่ความดัน 25 bar ก็ควรเลือกเครื่องอัดอากาศแบบลูกสูบแทนการใช้แบบสกรู หรือการเลือกเครื่องอัดอากาศที่มีขนาดใหญ่ หรืออัดแบบหลายๆ ขั้น (Multi-Stage) จะให้ประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีกว่า 

.

2. การติดตั้งอุปกรณ์ในระบบอัดอากาศ เช่น Main Filter และ Air Dryer ควรเลือกขนาดให้เหมาะสมต่อการทำงาน
3. ถังพักอากาศอัด ต้องมีขนาดที่เหมาะสม ซึ่งจะมีผลต่อการตัดต่อการทำงาน
4. ระบบท่อ ต้องเลือกขนาดท่อให้เหมาะสม ไม่ทำการเกิดความดันตกคร่อมมากกว่า 0.5 bar (ต้นทางกับปลายทาง)

.
5. ห้องเครื่อง

* ตำแหน่งติดตั้ง ระยะห่างระหว่างเครื่องอัดอากาศกับผนังอาคาร หรือส่วนอื่นๆ จะต้องมีค่าไม่น้อยกว่า 1.5 m. เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนถ่ายเทความร้อนได้สะดวก ตลอดจนสะดวกแก่การปฏิบัติงาน

.

* อุณหภูมิภายในห้องเครื่อง ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิภายในห้องเครื่องกับภายนอกห้อง หากแตกต่างกันเกิน 3o จะทำให้เกิดการสิ้นเปลื้องถึง 1%

.
6.  การรั่วซึม ควรทำการสำรวจและซ่อมแซมรอยรั่วซึมที่เกิดขึ้นในระบบ
.

7.  วิธีการควบคุมการเดินเครื่อง เริ่มตั้งแต่การจัดลำดับการสตาร์เครื่องว่าต้องเรียงลำดับจากเครื่องใดไปเป็นยังเครื่องใด การกำหนดค่าความดันแตกต่าง (ความห่าง) ในการเดินเครื่องแต่ละเครื่อง ตลอดจนการกำหนดว่าเครื่องใดที่มีประสิทธิภาพจะต้องเดินเครื่องเป็นส่วนใหญ่ (Based Load) หรือเป็นตัวเลือกแรกๆ ในการเดินเครื่อง

.

8.  การจัดกลุ่มความดันใช้งาน หากในกระบวนการผลิตมีการใช้ค่าความดันที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มเครื่องจักรที่ใช้ค่าความดัน 3 bar และกลุ่มเครื่องจักรที่ใช้ค่าความดัน 8 bar ดังนั้นเราควรแบ่งแยกการใช้งานโดยการสั่งซื้อเครื่องอัดอากาศมา 2 กลุ่มความดัน

.

9.  พฤติกรรมการใช้งาน เราควรให้ความรู้แก่พนักงานภายในโรงงาน ในเรื่องการนำอากาศอัดมาทำการเป่าทำความสะอาดร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นอันตรายและสิ้นเปลื้องพลังงานเป็นอย่างยิ่ง เช่น เศษสนิมเหล็กที่ปะปนมากับอากาศอัดอาจกระเด็นเข้าตา ละอองน้ำมันอาจเข้าสู่ระบบหายใจ

.

10.  การระบายความร้อน ในขณะที่เครื่องอัดอากาศกำลังทำงาน จำเป็นที่จะต้องมีการระบายความร้อนเพื่อให้งานที่ใช้ในการอัดตัวของอากาศไม่สูงมากนัก ยังผลให้ประสิทธิภาพดีขึ้น ดังนั้นเราจำเป็นต้องควบคุมของอุณหภูมิของน้ำมันหล่อลื่นและน้ำหล่อเย็น (ที่มาแลกเปลี่ยนความร้อนกับน้ำมันหล่อลื่น) ในกรณีที่เป็นระบายความร้อนด้วยน้ำ หรือถ้าเราเลือกระบบการระบายความร้อนเป็นแบบอากาศ (Air Cooled) จะช่วยลดค่าบำรุงรักษาลงได้ถึง 15%

.

รูปที่ 7 ปากกาวัดความสั่นสะเทือน

.

11.  การบำรุงรักษาเครื่องอัดอากาศ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าสภาวะการเดินเครื่องไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องการ เช่น ค่าความสั่นสะเทือนมากกว่า 5 m/sec. ไส้กรองอากาศอุดตัน ไส้กรองน้ำมันอุดตัน ไส้กรองแยกน้ำมัน (Oil Separator) แตกชำรุด น้ำมันหล่อลื่นเสื่อมสภาพ ลิ้นควบคุมการจ่ายน้ำมัน (Oil Control Valve) ชำรุด สายท่ออ่อนน้ำมันรั่วซึม การระบายความร้อนที่ Oil Cooler และ After Cooler ไม่มีประสิทธิภาพ ลิ้นระบายน้ำที่ถังพักอากาศอัดชำรุด ฯลฯ ก็จะมีผลทำให้ประสิทธิภาพในการเดินเครื่องต่ำ

.

12.  การกำหนดค่าความดันเดินเครื่อง (ON-OFF) ตามปกติแล้วเราจะตั้งค่าความดันในการต่อให้เครื่องอัดอากาศทำงาน ณ ที่ระดับความดันเหนือค่าความดันต่ำสุดที่ยอมรับได้ของโรงงานประมาณ 0.5-1 bar เท่านั้น ส่วนค่าความดันในการตัดให้เครื่องอัดอากาศทำงาน ณ ที่ระดับความดันเหนือค่าความดันสูงสุดที่ยอมรับได้ของโรงงานประมาณ 0.5-1 bar เช่นกัน

.
13.  การควบคุมการเดินเครื่อง มี 2 แบบ ดังนี้

* Modulate Control เป็นการควบคุมการเปิด-ปิด (หรี่) ลิ้นด้านดูดของเครื่องอัดอากาศให้ผลิตปริมาณอากาศใกล้เคียงกับปริมาณการใช้งาน ยังผลทำให้การควบคุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีผู้โต้แย้งว่าการเดินเครื่องในขณะหรี่ลิ้นด้านอยู่นั้น มอเตอร์จะทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ

.

* On-Off Control เป็นการควบคุมการเดินในลักษณะเปิด-ปิดตามค่าความดันที่ตั้งค่าไว้ที่อุปกรณ์ควบคุมความดัน เช่น Pressure Switch โดยปริมาณการผลิตอาจไม่สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้ทำให้เกิดการสิ้นเปลื้องพลังงาน

.

รูปที่ 8 เครื่องอัดอากาศแบบสกรู

.
เอกสารอ้างอิง

* โชคชัย  อลงกรณ์ทักษิณ./ 2545./  การอนุรักษ์และการจัดการพลังงาน (Energy Conservation and Management)/ กรุงเทพฯ./ บริษัท สยามสติลซินดิเกต จำกัด.  (อัดสำเนา)

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด