เนื้อหาวันที่ : 2009-07-16 19:04:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 18905 views

รายละเอียดของสาเหตุและความเสียหายจากการเกิดคาวิเทชั่น (ตอนที่ 1)

การเกิดคาวิเทชั่นหรือโพรงไอเป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบปั้ม เนื่องจากค่า NPSH ที่ศูนย์กลางปากทางดูดของปั้มไม่เพียงพอกับความต้องการเพื่อที่จะทำงานอย่างสมบูรณ์ บางครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการสูญทั้งเสียเวลาและกำลังคนที่ใช้ในการแก้ไข ซึ่งอาจกินเวลานานถ้าเราไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดคาวิเทชั่น

อาจหาญ ณ นรงค์
ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกวิศวกรรมและซ่อมบำรุง
บริษัท โยโกฮาม่า ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด     

.

การเกิดคาวิเทชั่นหรือโพรงไอเป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบปั้ม เนื่องจากค่า NPSH ที่ศูนย์กลางปากทางดูดของปั้มไม่เพียงพอกับความต้องการเพื่อที่จะทำงานอย่างสมบูรณ์ บางครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการสูญทั้งเสียเวลาและกำลังคนที่ใช้ในการแก้ไข ซึ่งอาจกินเวลานานถ้าเราไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดคาวิเทชั่น

.

ดังที่กล่าวในตอนต้นถึงผลเสียของการเกิดคาวิเทชั่นที่กล่าวมา ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนจงจะรู้จักคำว่า "คาวิเทชั่น" ที่เกิดขึ้นในระบบปั้มดี แต่หลายคนรู้จักคำคำนี้เพียงเผิน ๆ บทความต่อไปนี้จะนำเสนอถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของสาเหตุที่ทำให้เกิดคาวิเทชั่นอย่างละเอียด ดังนั้นเนื้อหาต่าง ๆ ที่จะนำเสนอต่อไปนี้อาจจะมากและวกไปวนมาสำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องนี้ แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจอย่างละเอียด ผู้เขียนเชื่อว่าเนื้อหาต่อไปนี้จะทำให้ท่านเข้าใจถึงสาเหตุและรายละเอียดของคำว่า "คาวิเทชั่นได้ดีขึ้น"

.

คาวิเทชั่นคืออะไร 

คาวิเทชั่น (Cavitation) หรือปรากฏการณ์การเกิดโพรงไอ เป็นปรากฏการณ์ในการเปลี่ยนสถานะของน้ำจากของเหลวเป็นไอและมีปริมาตรเพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายตัวและยุบตัวลงในภายหลังเนื่องมาจากเมื่อน้ำไหลผ่านส่วนต่างๆของปั้มนั้น น้ำจะเปลี่ยนแปลงความเร็วในการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาอันเนื่องมาจากพื้นที่หน้าตัดที่เปลี่ยนแปลงหรือรูปร่างลักษณะของปั้มและสถานการณ์อื่น ๆ ที่ส่งผลให้แรงดันของน้ำเพิ่มขึ้นและลดลงอยู่ตลอดเวลาโดยลำดับขั้นตอนในการเกิดโพรงไอโดยคร่าว ๆ มีดังนี้คือ

.

* เกิดลดลงของแรงดันน้ำในปั้มเนื่องจากการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงผ่านจุดที่มีพื้นที่เล็กด้วยอัตราการไหลของน้ำที่คงที่ หรือน้ำที่เคลื่อนที่อยู่บริเวณปลายใบพัดของปั้ม ทำให้แรงดันตรงจุดนั้นของน้ำลดลงต่ำกว่าแรงดันไอของน้ำทำให้น้ำเกิดการเปลี่ยนสถานะจากของเหลวกลายเป็นไอหรือฟองไอ (Bubbles or Gas Bubbles) ที่แรงดันต่ำกว่าแรงดันไอการระเหยกลายเป็นฟองไอของน้ำที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงดังกล่าวนั้น ทำให้ปริมาตรเพิ่มขึ้นจากเดิมถึงสูงสุดประมาณ 1,700 เท่าโดยมีลักษณะเป็นฟองสีขาวเคลื่อนที่อยู่ในน้ำที่มองเห็นด้วยตาเปล่า และฟองไอขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

.

* เมื่อฟองไอ (Bubbles or Gas Bubbles) ที่เกิดขึ้นเคลื่อนที่ต่อไปและเข้าสู่ในจุดที่มีแรงดันในน้ำสูง เช่น ผ่านจุดที่มีพื้นที่หน้าตัดใหญ่ขึ้นก็จะมีความเร็วในการเคลื่อนที่ลดลง ดังนั้นแรงดัน ณ จุดดังกล่าวจึงสูงขึ้นและไปบีบหรือกดให้ฟองไอดังกล่าวเกิดการยุบตัว และการยุบตัวที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว อัตราส่วนปริมาตรในการยุบตัวของฟองไอจากแรงกดเนื่องจากแรงดันที่เพิ่มจะกดให้ฟองไอยุบตัวกลับภายในเสี้ยววินาที

.

ทฤษฎีและความเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของน้ำที่เกี่ยวข้องกับการเกิดคาวิเทชั่น
       โดยหลัก ๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของน้ำที่เกี่ยวข้องกับการเกิดคาวิเทชั่นคือ
* คุณสมบัติของน้ำที่อุณหภูมิต่าง ๆ
* การกลายเป็นไอของน้ำและแรงดันไอ
* NPSH (Net Positive Suction Head) ของระบบปั้มที่ทำงานในสภาวะต่าง ๆ
      ซึ่งจะอธิบายในลำดับต่อไป

.

การกลายเป็นไอของน้ำ 

ลักษณะของน้ำเมื่อเกิดคาวิเทชั่น น้ำหรือของเหลวจะเกิดการระเหยตัวกลายเป็นไอหรือที่เราเรียกว่าโพรงไอเมื่อแรงดันของน้ำเปลี่ยนแปลง เพื่อความเข้าใจในกระบวนการดังกล่าวจึงจะนำเสนอรายละเอียดในการกลายเป็นไอของน้ำดังต่อไปนี้คือ

.

* แรงดันไอ (Vapour Pressure)

ตอนนี้เราจะกล่าวถึงจุดสมดุลระหว่างสสารในสถานะเหลว (Liquid) และไอ (Vapour) โดยจะกล่าวถึงอุดมคติของแรงดันไออิ่มตัว (Saturated Vapour Pressure) และตอบคำถามที่ว่าทำไมแรงดันไออิ่มตัวจึงเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างแรงดันไออิ่มตัวและจุดเดือด 

.

อุณหภูมิ (Temperature) เป็นตัวที่บ่งบอกถึงระดับพลังงานที่มีอยู่ในสสารทุกสถานะ รวมถึงสสารที่มีสถานะเป็นของเหลว ที่อุณหภูมิสูงระดับพลังงานก็จะสูงตามไปด้วย ซึ่งพลังงานที่มีอยู่นั้นจะเป็นพลังงานโดยเฉลี่ยบางอณุภาคก็มีพลังงานน้อยกว่า บางอณุภาคก็มีระดับพลังงานต่ำหรือสูงกว่าระดับพลังงานเฉลี่ยโดยที่พื้นผิวของของเหลว เช่นน้ำ ที่อุณหภูมิสูง อณุภาคต่าง ๆ ของของเหลวเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว บางอณุภาคนั้นเคลื่อนที่หลุดออกมาจากแรงยึดระหว่างอณุภาคได้ เราเรียกว่าการระเหยของของเหลว (Vaporization) ดังรูปที่ 1

.

การระเหยจะเกิดขึ้นตรงบริเวณผิวหน้าของของเหลวเท่านั้น การระเหยจะเกิดขึ้นเมื่อมีพลังงานมากพอที่จะทำให้อณุภาคของของเหลวหลุดจากการยึดติดซึ่งกันและกันซึ่งก็คือเมื่อของเหลวมีอุณหภูมิสูงพอนั่นเอง ถ้าจะถามว่าการระเหยเกิดขึ้นได้อย่างไร เราคงจะเคยเห็นน้ำที่กำลังเดือดซึ่งในน้ำเดือดดังกล่าวจะมีฟองหลุดออกมาจากน้ำที่กำลังเดือด แต่ถ้าดูน้ำที่กำลังระเหยตามธรรมชาติ เราก็จะไม่เห็นฟองดังกล่าวเกิดขึ้น ซึ่งในการระเหยของน้ำนั้นอนุภาคของน้ำจะสามารถระเหยจากผิวหน้าของของเหลวได้อย่างง่ายดาย 

.

รูปที่ 1 บางอณุภาคที่หลุดออกจากพื้นผิวเนื่องจากพลังงานที่มีในของเหลว

.

การระเหยตัวของของเหลวในภาชนะปิด

มานึกต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อของเหลวที่ระเหยนั้นอยู่ในภาชนะปิดสนิท โดยความคิดของเราอาจคิดว่าถ้าน้ำหรือของเหลวอื่น ๆ นั้นอยู่ในภาชนะที่ปิดและซีลอย่างมิดชิดและแน่นหนาแล้ว น้ำจะไม่เกิดการระเหยหรือสูญหายไปไหนอย่างแน่นอน แต่ในความเป็นจริงแล้วของน้ำหรือของเหลวอื่น ๆ ที่อยู่ในภาชนะปิดนั้นเกิดการระเหยตัวอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากว่ามันไม่สามารถออกจากระบบที่ปิดได้ ในสภาวะของอณุภาคที่เป็นแก๊สนั้น อณุภาคจะอยู่รอบ ๆ บริเวณขอบเขตของภาชนะปิดดังกล่าว

.

และจากการที่อณุภาคดังกล่าวเหล่านั้นมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาจึงทำให้อณุภาคดังกล่าวบางส่วนไปชนกับผิวของภาชนะและย้อนกลับมาเป็นของเหลวอีกครั้งหนึ่ง และการเกิดขึ้นดังกล่าวจะเป็นไปอย่างสมดุลจนทำให้ดูเหมือนว่าทุกอย่างยังมีสถานะเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในสภาวะการสมดุลนี้ เราสามารถที่จะจำกัดอณุภาคที่เป็นแก๊สที่อยู่เหนือของเหลวได้

.

รูปที่ 2 อณุภาคที่หลุดออกจากพื้นผิวเมื่อได้รับความร้อน

.

รูปที่ 3 ในระบบปิดอัตราการระเหยเท่ากับอัตราการกลั่นตัวเนื่องจากไอน้ำไม่สามารถออกนอกระบบได้

.

เมื่ออณุภาคที่มีพลังงานเพียงพออณุภาคเหล่านั้นก็จะเกิดการเคลื่อนที่ เช่นเมื่อให้ความร้อนกับน้ำหรือของเหลวในภาชนะปิด โมเลกุลของของเหลวมีพลังงานเพิ่มขึ้นและเกิดการขยายตัววิ่งไปชนกันเข้ากับผนังของภาชนะปิดก็จะเกิดแรงขึ้นซึ่งเมื่อแรงเหล่านี้กระทำกับพื้นที่ผนังเราเรียกแรงนี้ว่า แรงดัน (Pressure)  

.

สำหรับในน้ำหรือของเหลวที่อุณหภูมิต่าง ๆ แรงดันดังกล่าวที่อุณหภูมินั้น ๆ เราเรียกว่าแรงดันไออิ่มตัว เช่นแรงดันไออิ่มตัวของน้ำที่อุณหภูมิ100 C จะเท่ากับ 1.013 บาร์ หรือแรงดันไออิ่มตัวที่แรงดันบรรยากาศนั่นเอง ดังนั้นเราจะเห็นว่าที่แรงดันบรรยากาศน้ำจะเดือดหรือเริ่มระเหยตัวที่ 100 C นั่นเอง ซึ่งของเหลวทุกชนิดจะเดือดหรือกลายเป็นไอได้นั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบคือ น้ำหนักจำเพาะ ความหนาแน่น อุณหภูมิและแรงดัน ดังแรงดันไอของน้ำที่อุณหภูมิและแรงดันต่าง ๆ ในตารางที่ 1

.
ตารางที่ 1 แสดงแรงดันไอและความหนาแน่นของน้ำที่อุณหภูมิต่าง ๆ

.

แรงดันไอน้ำอิ่มตัวและจุดเดือด

น้ำและของเหลวอื่น ๆจะเกิดการเดือดเมื่อแรงดันไออิ่มตัวของของเหลวนั้น ๆ เท่ากับหรือมากกว่าแรงดันเหนือพื้นผิวหรือแรงดันแวดล้อมของของของน้ำหรือของเหลวนั้น ๆ ตัวอย่างของปรากฏการณ์ดังกล่าวคือ ถ้าหากแรงดันเหนือพื้นผิวต่ำกว่าแรงดันไออิ่มตัวแล้ว จะเกิดการระเหยตัวขึ้นที่ผิวของของไหลนั้น ๆ  

.

สำหรับน้ำที่อยู่ในระบบเปิดที่แรงดันแวดล้อมเท่ากับแรงดันบรรยากาศ น้ำจะระเหยตัวที่อุณหภูมิ 100 ?C แรงดันเท่ากับ 1 บรรยากาศหรือที่แรงดัน 1.013 บาร์ แต่ถ้าแรงดันเปลี่ยนแปลงจาก 1บรรยากาศหรือ 1.013 บาร์ จุดเดือดของน้ำก็จะเปลี่ยนไป เช่น ถ้าเราต้มน้ำที่ยอดเขาเอเวอร์เรสซึ่งมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 8,000 เมตร น้ำจะเดือดที่อุณหภูมิประมาณ 70 ?C ดังแสดงความสัมพันธ์ของกราฟในรูปที่ 4

.

รูปที่ 4 กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิและแรงดันไอของน้ำ

.

* เข้าใจการทำงานของปั้มด้วยการทำความเข้าใจความหมายของ NPSH

ถ้าพูดถึง NPSH แล้วเชื่อว่าเป็นที่รู้จักและนำเอามาใช้ในการคำนวณออกแบบกันอย่างกว้างขวางในงานออกแบบและติดตั้งปั้ม แต่ความหมายลึก ๆ นั้นหลายคนที่ทำงานกับปั้มมานานยังนึกภาพไม่ออก ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเพื่อความเข้าใจในเรื่องนี้เราควรที่จะทำความเข้าใจถึงกระบวนการทำงานของปั้มกันก่อนที่จะคุยกันเรื่อง NPSH ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวถึงเรื่องต่าง ๆ เพื่อความเข้าใจเป็นเรื่อง ๆ ดังต่อไปนี้คือ

.

แรงดันบรรยากาศ (Atmospheric Pressure)

ในการศึกษาถึงการทำงานของปั้มเรื่องหนึ่งที่จะขาดเสียไม่ได้และจะต้องมีความเข้าใจก็คือเรื่องของแรงดันบรรยากาศ (Atmospheric Pressure) เพื่อให้ผู้อ่านมองภาพถึงแรงดันบรรยากาศออกจึงจะขออธิบายโดยคร่าว ๆ ดังนี้คือ

.

ก่อนอื่นให้เรานึกภาพถึงน้ำทะเลที่อยู่ในมหาสมุทร เรารู้ว่าที่ระดับความลึกต่าง ๆ ของน้ำในมหาสมุทรมีแรงดันมากน้อยต่างกันไปตามระดับความลึก ที่ก้นมหาสมุทรจะมีแรงดันสูงมากเนื่องจากระดับน้ำที่ลึกน้ำหนักของน้ำจะกดทับลงไปเรื่อย ๆ แรงดันที่จุดดังกล่าวจึงมาก

.

นักวิทยาศาสตร์ของอิตาลีท่านหนึ่งชื่อ Evangelista Torricelli กล่าวไว้ถึงเรื่องแรงดันบรรยากาศว่า "We live submerged at the bottom of an ocean of the element air" ถ้าจะขยายความถึงคำพูดนี้ก็คือว่า "เราอาศัยอยู่ในก้นของมหาสมุทรที่ไม่ใช่มหาสมุทรแห่งน้ำ แต่เป็นมหาสมุทรแห่งมวลอากาศ" ถ้าจะให้เข้าใจลึกไปกว่านั้นก็คือ โลกที่เราอาศัยอยู่นั้นถูกปกคลุมไปด้วยมวลของอากาศที่มีน้ำหนักของอากาศกดทับเอาไว้ ต่างกันที่อากาศนั้นเบากว่าน้ำ

.

โดยมีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำประมาณ 800 เท่า เราอาศัยอยู่บนพื้นโลกก็เหมือนกับอาศัยอยู่ที่ก้นของมหาสมุทรเพียงแค่เปลี่ยนจากน้ำที่ปกคลุม กลับกลายเป็นอากาศที่ปกคลุมอยู่เท่านั้น และอากาศที่กดเราอยู่นั้นจริง ๆ แล้วมันมีแรงดันอยู่ซึ่งเราเรียกว่าแรงดันบรรยากาศ 1.013 บาร์ หรือ 10.33 เมตรน้ำ

.

รูปที่ 5 แรงดันบรรยากาศที่ระดับความสูงต่าง ๆ

.

แต่เราไม่รู้สึกว่ามีแรงดันมากดก็เนื่องจากว่าเราเคยชินกับมันทุกวันเหมือนปลาน้ำลึกที่อยู่ในมหาสมุทร แรงดันบรรยากาศที่ 1.013 บาร์ หรือ 10.33 เมตรน้ำนี่เองที่ทำให้ปั้มสามารถสูบน้ำได้ ซึ่งจะอธิบายในลำดับต่อไป ที่ระดับความสูงที่เพิ่มขึ้นแรงดันบรรยากาศจะลดลงเนื่องจากที่ระดับความสูงขึ้นไปนั้นน้ำหนักที่กดทับลงมาของอากาศจะลดลงตามลำดับ

.

หลักการทำงานของปั้ม (Principle of Operation of Pump)

ถ้าถามว่าปั้มทำงานอย่างไร คำตอบที่ได้รับก็คือ "สูบน้ำ" ซึ่งหลายคนก็คงจะนึกว่าปั้มต้องดูดน้ำจากที่ต่ำขึ้นไปที่สูง แต่จริง ๆ แล้วคือการเข้าใจที่ถูกครึ่งและไม่ถูกครึ่ง ถ้าเราแบ่งปั้มออกเป็นสองส่วนคือ

.

* ด้านจ่ายของปั้ม (Discharge Side)

หลักการทำงานคือไม่ว่าจะเป็นปั้มแบบไหน หน้าที่หลักก็คือการเพิ่มพลังงาน (Energy) ให้กับน้ำหรือของเหลวเพื่อให้สามารถเคลื่อนที่ไปได้ ถ้าเป็นปั้มแบบแทนที่ปริมาตรหรือปั้มแบบลูกสูบก็ใช้ลูกสูบดันให้เกิดการแทนที่ปริมาตรการเคลื่อนที่ของลูกสูบทำให้ของน้ำหรือของไหลเกิดแรงดัน แต่ถ้าเป็นปั้มแบบแรงเหวี่ยง (Centrifugal Pump) ก็ทำงานโดยอาศัยหลักการเปลี่ยนรูปพลังงานจากพลังงานจลน์ (พลังงานในรูปความเร็วในการเคลื่อนที่ของน้ำ) เป็นพลลังงานศักย์ (พลังงานในรูปของแรงดัน)  

.

โดยหลักการทำงานของปั้มแรงเหวี่ยงตามรูปที่ 6 เริ่มต้นจากเมื่อน้ำไหลเข้าสู่ตัวปั้มผ่านทางปากทางดูด (Suction Eye) จากนั้นน้ำก็เคลื่อนที่เข้าไปยังใบพัด (Impeller) ที่กำลังหมุนอยู่และน้ำถูกเหวี่ยงออกสู่ด้านข้างด้วยความเร็วสูง เมื่อเคลื่อนที่ผ่านปลายใบพัดน้ำจะลดความเร็วลงและเคลื่อนที่เข้าสู่ช่องทางเดินน้ำหรือก้นหอย (Volute) ตรงนี้เองที่พลังงานที่อยู่ในน้ำซึ่งเป็นพลังงานจลน์จากความเร็วในการเคลื่อนที่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานศักย์ในรูปของแรงดันจากนั้นก็เคลื่อนที่ออกจากปั้มด้วยแรงดันดังกล่าว ซึ่งแรงดันและอัตราการไหลจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรายละเอียดและการออกแบบปั้ม เช่น

.

* ปั้มขนาดเดียวกัน ปั้มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่าจะสร้างแรงดันได้สูงกว่าเนื่องจากน้ำจะเคลื่อนที่ผ่านใบพัดด้วยความเร็วที่สูงกว่าที่ความเร็วรอบเดียวกันจึงทำให้น้ำมีพลลังงานจลน์มากกว่าและเมื่อเปลี่ยนเป็นแรงดันก็จะสูงกว่าปั้มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่น้อยกว่า
*  ปั้มที่ใบพัดมีความหนามากกว่าจะมีอัตราการไหลมากกว่าที่รอบการทำงานเท่ากันเนื่องจากน้ำสามารถไหลผ่านได้มากกว่า

.

รูปที่ 6 ส่วนประกอบของปั้มแบบแรงเหวี่ยง (Centrifugal Pump)

.

* ด้านดูดของปั้ม (Suction Side) 

หลายคนอาจเข้าใจว่าปั้มทำงานโดยดูดน้ำจากแหล่งน้ำผ่านท่อมาเข้าสู่ตัวปั้มซึ่งจริงแล้วไม่ใช่ การที่น้ำสามารถไหลผ่านท่อดูดเข้าสู่ตัวปั้มได้นั้นเนื่องจากในขณะที่ปั้มทำงาน ปั้มจะสร้างแรงดันสุญญากาศหรือแรงดันที่ต่ำกว่าแรงดันบรรยากาศขึ้นที่ทางดูดของปั้ม ในกรณีที่เป็นปั้มแบบลูกสูบสามมารถสร้างสุญญากาศที่ทางดูดได้มาก แต่สำหรับปั้มแรงเหวี่ยงนั้นสุญญากาศที่เกิดขึ้นตรงทางดูดจะน้อยกว่า ดังนั้นเราจึงต้องล่อน้ำหรือเติมน้ำให้เต็มท่อทางดูดของปั้มก่อนที่จะทำการเดินเครื่องปั้มได้   

.

 รูปที่  7 แรงดันทางดูดของปั้ม             รูปที่ 8 แรงยกจากแรงดันบรรยากาศที่ระดับน้ำทะเล      รูปที่ 9 ปั้มแช่ (Submerge Pump)

.

เมื่อตรงทางดูด (Suction Eye) ถูกทำให้มีแรงดันต่ำกว่าแรงดันบรรยากาศ และขณะเดียวกันบนผิวน้ำถูกแรงดันบรรยากาศกดทับไว้ ดังนั้นเมื่อแรงดันที่ผิวน้ำซึ่งเท่ากับแรงดันบรรยากาศมากกว่าแรงดันสุญญากาศที่ปากทางดูดปั้ม ดังนั้นน้ำจะถูกดันให้ไหลผ่านท่อดูดเข้ามาด้วยแรงดันบรรยากาศด้านนอกนั่นเอง

.

ดังรูปที่ 7 ปั้มตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำ เมื่อปั้มทำงานปั้มจะสร้างแรงดูดซึ่งเป็นแรงดันสุญญากาศที่ทางดูดของปั้ม(Entrance Pressure, PE) สมมติว่าปั้มสามารถสร้างแรงดันสุญญากาศได้ –0.02 เมตรน้ำ แต่ในขณะเดียวกันแรงดันบรรยากาศที่กดทับบนผิวน้ำเท่า10.33 เมตรน้ำ ถ้าระดับน้ำอยู่ที่ระดับน้ำทะเล

.

ดังนั้นเราจะเห็นว่าเมื่อเราเปรียบเทียบแรงดันที่ผิวน้ำ (Patm) กับแรงดันที่ปากทางเข้าปั้ม (PE) แล้วเราจะเห็นว่าแรงดันที่ผิวน้ำมากกว่าถึง 10.33 + (-0.02) = 10.35 เมตรน้ำ เมื่อเอา 10.35 – ระยะความสูงจากผิวน้ำถึงปากทางเข้าปั้ม (Z) แล้วเราก็จะได้แรงดันที่ปากทางเข้าปั้ม เราจะเห็นว่าถ้าเราติดตั้งปั้มยิ่งสูง แรงดันที่ดันน้ำเข้าปั้มจะยังเหลือน้อยเนื่องจากระยะความสูง (Z) มีมาก แต่ถ้าเราเลื่อนปั้มลงมาติดตั้งให้ใกล้กับผิวน้ำ แรงดันที่จะดันน้ำเข้าปั้มที่ปากทางเข้าปั้มจะเหลือมากเพราะระยะ Z ลดลง ทีนี้เชื่อว่าผู้อ่านคงจะพอจะนึกออกแล้วว่าน้ำเข้าสู่ท่อทางดูดปั้มได้เพราะอะไร 

.

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าน้ำที่เข้าสู่ท่อดูดของปั้มนั้นเกิดจากการยกของแรงดันบรรยากาศ ดังนั้นปั้มจึงไม่สามารถสูบน้ำที่มีความหนาแน่นปกติผ่านท่อดูด (Suction Pipe) ได้เกิน 10.33 เมตรในกรณีที่เราต้องการสูบน้ำจากแหล่งน้ำที่ระดับผิวน้ำลึกกว่านี้เราจะต้องใช้ปั้มแช่ (Submerge Pump) เพราะตัวปั้มอยู่ใต้น้ำ หรือใช้วิธีการอื่น ๆ เช่นอัดแรงดันบนผิวน้ำเพื่อให้ยกน้ำขึ้นมา    

.

NPSH คือค่าอะไร 

แรงที่ยกน้ำเข้าสู่ปั้มไม่ใช่แรงที่ปั้มสร้างขึ้นมา แต่เป็นแรงที่เกิดจากแรงดันบรรยากาศ  ซึ่งแรงดันบรรยากาศที่ผิวโลกที่ระดับน้ำทะเลจะเท่ากับ 1.013 บาร์หรือถ้าเปลี่ยนไปเป็นความสูงของน้ำก็จะเท่ากับ10.33เมตรน้ำแล้ว  ถ้าพูดถึงแรงดันด้านดูดให้เรานึกถึงแรงดันบรรยากาศอย่างเดียว  แต่การที่แรงดันบรรยากาศมันจะสำแดงพลังออกมาได้นั้นที่ปากทางดูดของปั้มต้องเป็นสุญญากาศ นั่นคือเรากำลังพูดถึงแรงดันสัมบูรณ์ (Absolute Pressure, Patm) นั่นเอง ซึ่ง
แรงดันสัมบูรณ์ (Pabs) = แรงดันเกจน์ (Pg) + แรงดันบรรยากาศ (Patm) …………… (1)

.

ดังที่กล่าวมาในตอนแรกแล้วว่า เราอาศัยอยู่ภายใต้แรงดันบรรยากาศเหมือนปลาน้ำลึกในทะเลที่คุ้นเคยกับแรงดันดังกล่าว ดังนั้นเมื่อพูดถึงแรงดันเราจะนึกภาพออกแต่เฉพาะแรงดันที่เหนือแรงดันบรรยากาศ ก็คือแรงดันที่เกจน์วัดได้ ซึ่งโดยสภาวะปกติที่แรงดันบรรยากาศเข็มของเกจน์วัดแรงดันจะชี้ไปที่ศูนย์  ดังนั้นแรงดันสัมบูรณ์ก็คือแรงดันทั้งหมดที่มีอยู่ ซึ่งหมายถึงผลบวกระหว่างแรงดันบรรยากาศที่มีอยู่ตามธรรมชาติและแรงดันเกจน์ซึ่งเป็นแรงดันที่เครื่องจักรหรือมนุษย์สร้างขึ้น

.

NPSH หรือ Net Positive Suction Head ถ้าแปลตรงตัวตามภาษาอังกฤษก็จะแปลว่า "แรงดันสุทธิทางบวกของทางดูด" ซึ่งในความหมายก็คือ "แรงดันสัมบูรณ์ที่ระดับศูนย์กลางปากทางดูดของปั้ม" จากที่กล่าวในหัวข้อ ด้านดูดของปั้ม (Suction Side) NPSH ก็คือ "จำนวนแรงดันสัมบูรณ์ที่สามารถยกน้ำเข้าปั้มได้ที่ยังเหลือสุทธิหลังจากที่หักการสูญเสียอื่น ๆออกแล้ว" นั่นเอง ซึ่ง NPSH นั้นมีอยู่ 2 แบบคือ 

.

รูปที่ 10 แสดงจุดศูนย์กลางทางดูดของปั้ม

.

1. Net Positive Suction Head Available, NPSHA คือค่า NPSH ของระบบหรือค่า NPSH ที่ระบบมีอยู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับค่าตัวแปรต่าง ๆ ของระบบปั้มนั้น ๆ หรือจะมีค่าเป็นไปตามสภาพของระบบ 

.

2. Net Positive Suction Head Require, NPSHR คือค่า NPSH ที่มาจากการทดสอบและกำหนดขึ้นมาโดยผู้ผลิตปั้ม โดยผู้ผลิตจะทำการทดสอบหาค่า NPSH ที่ปั้มจะทำงานที่อัตราการไหล แรงดันและสภาพที่กำหนด โดยที่ปั้มยังคงทำงานได้ตามที่ต้องการ ซึ่งค่า NPSHR ที่ทางผู้ผลิตกำหนดมาเป็นค่าที่น้อยที่สุดซึ่งปั้มจะยังสามารถทำงานได้ตามที่ต้องการที่ทางผู้ผลิตระบุมา เช่น อัตราการไหลหรือแรงดัน  

.

เพื่อความเข้าใจให้ดูรูปที่ 11 และรูปที่ 12 จากรูปเราจะเห็นว่าที่ด้านขวาของรูปเป็นสเกลบอกขนาดของแรงดันบรรยากาศเป็นหน่วยความสูงของน้ำ ซึ่งเราจะเห็นว่าที่ระดับน้ำทะเลแรงดันบรรยากาศที่กระทำต่อผิวน้ำเท่ากับ 10.33 เมตรน้ำ ในรูปจะเป็นรูปปั้มที่ใช้สูบน้ำจากผิวน้ำที่ระดับน้ำทะเลขึ้นไปสู่ด้านบน 

.

รูปที่ 11 อธิบายแรงดันบรรยากาศและการสูญเสียต่าง ๆ ในท่อดูดของปั้มที่ ระดับน้ำทะเล

.

รูปที่ 12 แสดงการทำงานของปั้มที่เกิดจากแรงดันบรรยากาศ

.

ถ้าเราจะพิจารณาแรงดันในท่อดูด เราจะเห็นว่าเมื่อปากทางดูดของปั้มเป็นสุญญากาศในขณะที่ปั้มทำงาน แรงดันตรงจุดดังกล่าวจะต่ำกว่าแรงดันบรรยากาศที่กดอยู่บนผิวน้ำ (1.013 บาร์ หรือ 10.33 เมตรน้ำ) ดังนั้นจะเกิดแรงยกน้ำจากปากท่อดูดของปั้มเข้าสู่ตัวปั้มด้วยแรงดันบรรยากาศซึ่งดันให้น้ำไหลเข้าท่อดูดจากปากทางของท่อดูด จากรูปที่ 11 เป็นผิวน้ำอยู่ในระดับน้ำทะเล ดังนั้นแรงดันที่มีอยู่ซึ่งคือแรงดันบรรยากาศเท่ากับ 10.33 เมตรน้ำ แต่จากรูปเราจะเห็นว่าแรงดันสุทธิที่ใช้ยกน้ำเข้าปั้มหรือ NPSH ไม่ใช่แรงดันบรรยากาศทั้งหมดที่จะเอาไปใช้ได้เนื่องจากเมื่อเราเอาแรงดันบรรยากาศเป็นตัวตั้งแล้ว เราต้องเอาแรงดันสูญเสียต่าง ๆ มาลบออกดังนี้คือ

.

1. แรงดันไอ (Vapour Pressure, HPV) ของน้ำหรือของเหลวที่ต้องการสูบ เพื่อป้องกันการเดือดกลายเป็นไอของน้ำ  โดยแรงดันไอจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ถ้าอุณหภูมิสูงแรงดันไอจะมากและอุณหภูมิต่ำแรงดันไอจะน้อย ดังแสดงในรายละเอียดดังตารางที่ 1 เช่นที่อุณหภูมิ 20 C น้ำจะเดือดที่แรงดัน 2.3 kPa หรือ 0.235 เมตรน้ำ แต่ที่อุณหภูมิ 35 C น้ำจะเดือดที่แรงดัน 5.6 kPa หรือ 0.571 เมตรน้ำ

.

รูปที่ 13 ความสัมพันธ์ระหว่างแรงดันกับระยะระหว่างผิวน้ำกับทางดูดของปั้ม                          รูปที่ 14 การสูญเสียในท่อดูด

.

2. การสูญเสียจากระดับความสูงของปั้ม (Elevation Loss, HZ) คือความสูญเสียที่เกิดจากระดับความแตกต่างระหว่างระดับผิวน้ำกับระดับศูนย์กลางของปากทางเข้าปั้ม ในกรณีที่ปากทางเข้าปั้มติดตั้งสูงกว่าระดับน้ำดังรูปที่13 A เราต้องเอาระดับความสูงไปลบออกจากแรงดันบรรยากาศ เนื่องจากน้ำต้องสูญเสียแรงดันด้วยน้ำหนักตัวของน้ำเองในการเคลื่อนที่จากที่ต่ำขึ้นไปในที่สูง แต่ในกรณีที่ระดับน้ำอยู่สูงกว่าตัวปั้มดังรูปที่ 13B ให้เอาแรงดันที่เกิดจากระยะความสูงดังกล่าวมาบวกกับแรงดันบรรยากาศเนื่องจากการที่น้ำอยู่ในระดับที่สูงกว่าปั้มน้ำหนักของน้ำจะเป็นแรงดันที่ช่วยในการเคลื่อนที่ของน้ำเข้าสู่ปั้ม

.

3. การสูญเสียจากความฝืดในท่อทางดูด (Friction Loss, Hf) คือความสูญเสียที่เกิดจากความฝืดในท่อดูด ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของของเหลวที่ปั้มสูบ ชนิดของวัสดุที่ใช้ทำท่อและขนาดพื้นที่ของท่อดูด ดังรูปที่ 14
              จากที่กล่าวมาเราจึงสรุปการหาค่า NPSHA ในรูปสมการได้เท่ากับ
HPSHA = Hp- Hvp- Hf - Hz ……… (2)

.

โดยที่ Hp คือ แรงดันสัมบูรณ์ที่ผิวน้ำหรือของเหลวที่ต้องการสูบ ในกรณีที่เป็นแรงดันบรรยากาศ คือค่าแรงกดดันจริงของบรรยากาศที่ระดับความสูงของผิวของเหลวนั้น ๆ มีหน่วยเป็นระดับความสูงของแท่งของเหลวนั้น ๆ แต่สำหรับงานปั้ม, นิยมใช้เป็นเมตรน้ำ

.

     Hvp คือ แรงดันไอของน้ำหรือของเหลว ณ อุณหภูมินั้น ๆ บอกเป็นระดับความสูงของแท่งของเหลว, เมตรน้ำ
     Hf คือ ผมรวมของความสูญเสียทั้งหมดในท่อดูดบอกเป็นระดับความสูงของแท่งของเหลว, เมตรน้ำ
     Hz คือระยะแตกต่างระหว่างผิวน้ำกับจุดศูนย์กลางของทางดูดปั้มที่ติดตั้ง, เมตรน้ำ
     * ในการหาความสูงของเมตรน้ำนั้นให้เอาค่าคุณสมบัติของน้ำที่อุณหภูมินั้น ๆ เทียบกับน้ำที่อุณหภูมิที่ 4 C เนื่องจากที่4 C ความหนาแน่นของน้ำเท่ากับ 1,000 kg/m3

.

ในกรณีที่ปั้มสำหรับสูบน้ำติดตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลที่ระดับต่าง ๆ ค่า HP จะเป็นดังสมการ
     Hp = 10.33 – 0.00108 El …………. (3)
     โดยที่ EI คือความสูงของผิวน้ำเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางจากการคำนวณ, เมตร
      ค่าความดันบรรยากาศเหนือระดับน้ำทะเลนั้นนอกจากการคำนวณตามสมการที่ 3 แล้วยังสามารถดูได้จากตารางที่ 2    

.
ตารางที่ 2 แสดงแรงดันบรรยากาศเหนือระดับน้ำทะเลที่ระยะต่าง ๆ

.

ตัวอย่างที่ 1

ตามรูปที่ 15 ปั้มตัวหนึ่งมีค่า NPSHR ของปั้ม 4 เมตรน้ำ ต้องการสูบน้ำที่อุณหภูมิ 20 C ให้ได้ตามอัตราการไหลที่กำหนด โดยปั้มตัวนี้ใช้งานอยู่ที่ระดับน้ำทะเล ถ้าผลรวมของเฮดความสูญเสียทางดูดทั้งหมดของปั้มนี้เท่ากับ 1 เมตรน้ำ จงหาระยะสูงสุดที่จะตั้งปั้มเหนือผิวน้ำได้

.

จากโจทก์ข้างต้น ได้บอก NPSHR มาเท่ากับ 4 เมตรน้ำ ปั้มสูบน้ำที่ระดับน้ำทะเล อนุมานให้ผิวน้ำอยู่ที่ระดับน้ำทะเล ซึ่งแรงดันบรรยากาศเท่ากับ 10.33 เมตรน้ำ การสูญเสียทั้งหมดในท่อดูดเท่ากับ 1เมตรน้ำ ที่ระดับน้ำทะเลแรงดันไอของน้ำเท่ากับ  

.

จากสมการที่ 1 HSV = HP+HZ-Hf-HPV
       ในที่นี้เรารู้ค่า HSV ในที่นี้เท่ากับ NPSHR ซึ่งเท่ากับ NPSHA คือ 4 เมตรน้ำ, HP คือ 10.33/0.9983 = 10.35 เมตรน้ำ, Hf คือ 1 เมตรน้ำ, HPV คือ ที่อุณหภูมิ 20 C จากตารางที่1 = 0.239 เมตรน้ำ และความหนาแน่นของน้ำเท่ากับ 998.3 kg/m3 ดังนั้นแรงดันไอของน้ำที่สภาวะดังกล่าวเมื่อเทียบกลับมาเป็นแรงดันในความสูงของแท่งน้ำจะเท่ากับ 0.239/0.9983 = 0.239 เมตรน้ำ

.
ดังนั้น   HZ = HSV + HZ - Hf - HPV = 10.35 – 1 – 4 – 0.239 = 5.1 เมตรน้ำ
.

                 รูปที่ 15 รูปประกอบตัวอย่างที่ 1                                           รูปที่ 16 รูปประกอบตัวอย่างที่ 2

.

ตัวอย่างที่ 2 

ดังรูปที่ 16 ถ้ายกปั้มตามตัวอย่างที่ 1 ไปทำงานที่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลโดยที่ผิวน้ำที่ต้องการสูบอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,600 เมตร (1.6 กิโลเมตร) จงหาระยะสูงสุดที่ปั้มจะตั้งเหนือผิวน้ำได้ โดยที่คุณสมบัติต่าง ๆ ของน้ำเท่ากับตัวอย่างที่ 1 เนื่องจากอุณหภูมิเท่ากัน

.

จากโจทก์ในข้อนี้ตัวแปรที่แตกต่างจากโจทก์ข้อ1 คือระดับผิวน้ำสูงจากระดับน้ำทะเล 1, 600 เมตร ซึ่งที่แรงดันดังกล่าวแรงดันบรรยากาศจะลดลงเหลือ 8.6 เมตรน้ำ โดยการประมาณจากสมการที่ 2
         Patm = 10.33 – 0.00108 x 1,600 = 8.6 เมตรน้ำ

.

จากสมการที่ 1   
     HSV = HP + HZ - Hf - H
PV
     ในที่นี้เรารู้ค่า HSV ในที่นี้เท่ากับ NPSHR คือ 4 เมตรน้ำ, HP คือ 8.6/0.9983 = 8.61 เมตรน้ำ, Hf คือ 1 เมตรน้ำ, HPV คือ ที่อุณหภูมิ 20 C จากตารางที่ 1 = 0.239/0.9983 = 0.239 เมตรน้ำ
     ดังนั้น   HZ = HSV + HZ - Hf - HPV = 8.61 – 1 – 4 – 0.239 = 3.37 เมตรน้ำ

.

ตัวอย่างที่ 3

ปั้มตัวหนึ่งติดตั้งอยู่ที่ระดับน้ำทะเลและศูนย์กลางทางดูดของปั้มต่ำกว่าระดับผิวน้ำ 5 เมตร เพื่อสูบน้ำที่อุณหภูมิ 20 C ดังรูปที่ 17 ถ้าการสูญเสียในท่อดูดทั้งหมดคิดเป็น1เมตรน้ำ จงหาค่า NPSHA ของปั้ม

.

จากสมการที่ (2) HPSHA = Hp - Hvp - Hf - Hz
     Assume: แรงกดของแรงดันบรรยากาศที่ผิวน้ำเท่ากับ 10.33 เมตรน้ำ (Hp = 10.33/0.9983 = 10.33 เมตรน้ำ)
     แรงดันไอของน้ำ ที่ 20 C = 0.239 เมตรน้ำ (Hvp 0.239/0.9983 = 0.239 เมตรน้ำ)
     การสูญเสียรวมในท่อดูด (Hf) = 1 เมตรน้ำ
     ระดับความสูงที่แตกต่างระหว่างผิวน้ำกับศูนย์กลางทางดูด
    ปั้มเท่ากับ 5 เมตร เปลี่ยนเป็นเมตรน้ำได้เท่ากับ 5/0.9983
     Hz = 5 เมตร
     ดังนั้น NPSHA = 10.33– 0.239 –1 + 5 = 14.014 เมตรน้ำ

.

เราจะเห็นว่าตามตัวอย่างที่ 1 และตัวอย่างที่ 2 นั้นค่า NPSH จะน้อยกว่าแรงดันบรรยากาศ เนื่องจากจะต้องเอาการสูญเสียแรงดันเนื่องจากระดับ (Hz) เพื่อยกน้ำเข้าสู่ปั้ม ซึ่งจะต้องเอา Hz มาลบออก แต่จากโจทย์ข้อนี้เนื่องจากระดับผิวน้ำอยู่เหนือปั้ม ดังนั้นนอกจากแรงดันบรรยากาศแล้ว แรงจากน้ำหนักของน้ำเองก็เป็นตัวบวกเพิ่มแรงดันในการดันน้ำเข้าสู่ปั้มอีกด้วย ดังนั้นค่า Hz จึงเป็นบวก     

.

รูปที่ 17 รูปประกอบตัวอย่างที่ 3

.

จากสามตัวอย่างข้างต้นที่ยกมา ทำให้เราเข้าใจถึงขนาดของแรงดันบรรยากาศที่มีผลต่อ NPSH โดยตัวอย่างแรกเป็นแรงดันบรรยากาศที่ระดับน้ำทะเล ส่วนตัวอย่างที่ 2 เป็นแรงดันบรรยากาศที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งแรงดันบรรยากาศในที่ยิ่งสูงแรงดันจะยิ่งลดลงซึ่งสามารถคำนวณได้จากสมการที่ 3 และดูได้จากตารางที่ 2 และตัวอย่างที่ 3 เป็นสภาพ NPSH ที่ระดับผิวน้ำอยู่เหนือศูนย์กลางท่อทางดูดของปั้ม ต่อไปจะขอยกตัวอย่างถึงผลกระทบจากอุณหภูมิที่มีต่อค่า NPSH

.

ตัวอย่างที่ 4

ถ้าปั้มจากตัวอย่างที่ 1 เปลี่ยนจากสูบน้ำที่อุณหภูมิ 20 C ไปเป็นสูบน้ำที่อุณหภูมิ 70 C โดยที่ค่าและสภาวะต่าง ๆ ยังคงเหมือนเดิมให้หาจงหาระยะสูงสุดที่จะตั้งปั้มเหนือผิวน้ำได้และเปรียบเทียบถึงความแตกต่างกับตัวอย่างที่1

.

จากโจทก์เมื่อพิจารณาถึงตัวแปรต่าง ๆ ดังนี้คือ โจทก์ตัวอย่างที่ 1 ได้บอก NPSHR มาเท่ากับ 4 เมตรน้ำ, แรงดันบรรยากาศเท่ากับ 10.33mH2O การสูญเสียทั้งหมดในท่อดูดเท่ากับ 1 เมตรน้ำแรงดันไอของน้ำเปลี่ยนจากที่ 20 ๐C ซึ่งเท่ากับ 0.239 เมตรน้ำ ไปเป็นแรงดันไอของน้ำที่ 70 C ซึ่งเท่ากับ 3.183 เมตรน้ำ และความหนาแน่นของน้ำเท่ากับ 977.6 kg/m3

.

จากสมการที่ 1 HSV = HP + HZ - Hf - HPV
      HSV ในที่นี้เท่ากับ NPSHR = NPSHA คือ 4 เมตรน้ำ, HP คือ 10.33/0.9776 = 10.57 เมตรน้ำ, Hf คือ 1 เมตรน้ำ, HPV คือ ที่อุณหภูมิ 70 C จากตารางที่ 1 = 3.183/0.0.9776 = 3.26 เมตรน้ำ
     ดังนั้น   HZ = HSV + HZ - Hf - HPV = 10.57– 1 – 4 – 3.26 = 3.21/0.9776 = 3.26 เมตรน้ำ

.

เมื่อเราเปรียบเทียบตัวอย่างที่1กับตัวอย่างที่4 เราจะเห็นว่า การที่น้ำมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นแรงดันไอก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งสามารถดูรายละเอียดของแรงดันไอของน้ำที่อุณหภูมิต่าง ๆ ได้จากตารางที่สอง ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาในการสูบน้ำที่อุณหภูมิที่สูงกว่า 70 ๐C ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ปั้มแบบแนวแกน หรือปั้มแรงเหวี่ยงที่ตัวปั้มจุ่มอยู่ไต้ระดับผิวน้ำดังรูปที่ 17

.

จากตัวอย่างข้างต้นทั้ง 4 ตัวอย่างข้างต้นพอที่จะทำให้เราพอจะมองของตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงของค่า NPSH แต่จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนั้นเป็นใช้การคำนวณจากตัวแปรต่าง ๆ ที่เรารู้ค่าในระบบ อาจเรียกได้ว่าเป็นค่าประมาณ ส่วนจะถูกต้องแม่นยำขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับความถูกต้องของตัวแปรต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการคำนวณ                 

.

รูปที่ 18 รูปประกอบตัวอย่างที่ 4                               รูปที่ 19 การติดตั้งปั้มสำหรับสูบน้ำที่มีอุณหภูมิสูง

.

การวัด NPSH จากปั้มที่ติดตั้งแล้ว

ในกรณีที่เป็นปั้มที่ติดตั้งแล้วเราก็สามารถที่จะทำการวัดแรงดันเพื่อที่จะทำการหาค่า NPSH ได้โดยการทำการติดตั้งเกจน์วัดความดันเข้าไปยังตรงกลางของทางดูดของปั้มเพื่อวัดแรงดัน โดยในการใช้งานปั้มจริง ๆ นั้นเราสามารถนำเอาพลังงานจลน์ของของไหลที่อยู่ในรูปความเร็ว (เนื่องจากเมื่อน้ำเคลื่อนที่พลังงานศักย์จากความสูงของน้ำจะเปลี่ยนรูปเป็นพลลังงานจลน์ในรูปของความเร็วของน้ำซึ่งเราต้องนำมาหักออกจากแรงดันสัมบูรณ์) และสามารถนำมาคำนวณได้ดังสมการ

.

                NPSHA = HP + Hg + - HVp ………………… (4)
     โดยที่   HP คือ แรงดันบรรยากาศสัมบูรณ์ พื้นผิวของเหลว, เมตรน้ำ
                Hg คือแรงดันเกจน์ที่วัดได้ที่ศูนย์กลางของปั้ม, เมตรน้ำ
   V คือความเร็วในการไหลของน้ำในท่อทางดูด m/s
                HVp คือแรงดันไอที่ผิวน้ำ ณ อุณหภูมินั้น ๆ
     * ในเทอมของหัวความเร็ว () นั้น วัดออกมาเป็น เมตรน้ำ

.

รูปที่ 20 แสดงการติดตั้งเกจน์วัดแรงดันเข้าที่ศูนย์กลางของทางดูดของปั้มเพื่อวัดแรงดันเพื่อนำมาคำนวณหาหัวความเร็ว

.

ตัวอย่างที่ 5 แสดงวิธีการคำนวณหาค่า NPSH ที่มีอยู่จริงในปั้มที่ติดตั้งแล้ว

ถ้าปั้มจากตัวอย่างที่ 2 หลังจากที่ติดตั้งปั้มแล้วสามารถคำนวณความเร็วในท่อได้ 3 m/s (สามารถคำนวณได้จากอัตราการไหลจริงและขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายในของท่อ) แรงดันเกจน์ตรงศูนย์กลางปากทางเข้าปั้ม

.

จากโจทก์ของตัวอย่างที่2  HP คือ 8.6/0.9983 = 8.61 เมตรน้ำ, Hf คือ 1 เมตรน้ำ, HPV คือ ที่อุณหภูมิ 20 C
     จากตารางที่ 1 = 0.239/0.9983 = 0.239 เมตรน้ำ
     แรงดันเกจน์ = 0.5 บาร์ เปลี่ยนเป็นความสูงของน้ำได้

.

.

จากโจทก์ข้อ 2 เราจะเห็นว่าค่า NPSH นั้นมีค่าเท่ากับ 4 เมตรน้ำ แต่เมื่อเราเอาผลของความเร็วเข้าไปคิดด้วยเราจะเห็นว่าค่า NPSHที่มีอยู่จริงนั้นจะมีค่าน้อยกว่า 4 เมตรน้ำ โดยเหลือเพียง ประมาณ 3.7 เมตรที่ความเร็วในท่อดูด 3 m/s ดังนั้นเราจะเห็นว่าถ้าหากความเร็วน้ำในท่อดูดยิ่งเพิ่มมากขึ้น ค่า NPSH ที่มีอยู่จริงก็จะน้อยลงเป็นเงาตามตัว

.

จากตัวอย่างของปั้มทั้งห้าข้อข้างต้นที่ยกตัวอย่างมา เราสรุปได้ว่าองค์ประกอบหลายอย่างในระบบปั้มและการติดตั้งปั้มนั้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่า NPSH เช่นระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลของผิวน้ำ ตำแหน่งการติดตั้งปั้ม อุณหภูมิของน้ำที่ปั้มทำการสูบ ตลอดจนอัตราการไหลของน้ำในปั้ม ดังนั้นในการพิจารณาระบบปั้มเราจึงต้องมองสิ่งเหล่านี้แต่ละจุดอย่างถี่ถ้วน

.

สรุป

จากบทความที่ผ่านมาคิดว่าคงจะทำให้ผู้อ่านคงพอจะเข้าใจถึงเรื่องของแรงดันไอของน้ำและของเหลว ตลอดจนรายละเอียดเรื่องของ NPSH และตัวแปรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าดังกล่าว เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานของการเกิดคาวิเทชั่น ซึ่งเราจะนำเสนอในรายละเอียดต่อไปในฉบับหน้า

.

อ้างอิง

[1] Dan R. Rankin, "What is NPSH?". Peerless Pump Company, Indianpolis, Indiana, USA
[2] http://
www.chemguide.co.uk
[3] http:// www.irrigationcraft.com

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด