เนื้อหาวันที่ : 2009-07-14 17:43:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3418 views

สำรวจการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในจีน

การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ เป็นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มุ่งความสนใจเกี่ยวกับวงจรการไหลของวัสดุและพลังงานเป็นสำคัญ ในปัจจุบัน การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศกำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นว่ามีรัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศกำลังพยายามที่นำเอาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศไปประยุกต์ใช้ รวมทั้งประเทศไทยเองก็มีโครงการพัฒนาหลายโครงการที่จัดอยู่ในข่ายของการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศด้วย

ศิริรัตน์ ศิริพรวิศาล
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา    

.

.

การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ เป็นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มุ่งความสนใจเกี่ยวกับวงจรการไหลของวัสดุและพลังงานเป็นสำคัญ ซึ่งอิงตามแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรม (Industrial Ecology) ในปัจจุบัน การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศกำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

.

ดังจะเห็นว่ามีรัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศกำลังพยายามที่นำเอาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศไปประยุกต์ใช้ รวมทั้งประเทศไทยเองก็มีโครงการพัฒนาหลายโครงการที่จัดอยู่ในข่ายของการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศด้วย ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศของแต่ละประเทศก็มีกลยุทธ์ นโยบาย และแผนการพัฒนาที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับบริบทของประเทศนั้น ๆ 

.

สาธารณรัฐประชาชนจีนก็เป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่ได้มีการริเริ่มดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศอย่างเป็นระบบ โดยมีการวางกลยุทธ์ในการพัฒนาที่มีแบบฉบับจำเพาะ ซึ่งน่าสนใจมากทีเดียว ฉะนั้น ในฉบับนี้ ผู้เขียนจึงขอหยิบยกเอาเรื่องราวของการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในประเทศจีนมานำเสนอเป็นกรณีศึกษา เพื่อให้ผู้อ่านได้ร่วมวิเคราะห์กันดูว่า ประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาอำนาจแห่งเอเชียเขามีวิธีการในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศที่แยบยลเพียงไร

.
บริบทแห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศของจีน

พิจารณาในเชิงเศรษฐกิจ ปัจจุบันจีนจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาหรืออยู่ระหว่างการพัฒนาตัวเองไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยกัน เศรษฐกิจของจีนนับว่าเข้มแข็งและมีขนาดใหญ่ที่สุด ที่สำคัญคือ จีนมีอัตราการพัฒนาทางอุตสาหกรรมที่รวดเร็วมาก โดยเฉพาะในระยะสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายเร่งรัดพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง    

.

โดยมีการกระจายการพัฒนาไปสู่ท้องถิ่นต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ซึ่งไม่เพียงแต่จะเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ดึงดูดความสนใจของนักลงทุนจากต่างชาติเป็นอย่างมาก มีวิสาหกิจต่างด้าวจำนวนมากพากันขยับขยายไปลงทุนในประเทศจีนมากขึ้น และใช้จีนเป็นฐานการผลิตใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ของตน ในจำนวนนั้นก็มีทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์และเภสัชกรรมรวมอยู่ด้วย

.

ในขณะเดียวกัน จีนก็มีการใช้เครื่องมือด้านการส่งเสริมการส่งออกที่ค่อนข้างมีประสิทธิผลมาก โดยเฉพาะมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ส่งออก และการเปิดช่องทางการส่งออกสินค้าทางอุตสาหกรรมไปยังตลาดต่างประเทศหลายช่องทาง ที่มีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้นด้วย ซึ่งนับว่าเป็นวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของจีนสมัยใหม่มีการเปิดกว้างสู่สากลมากขึ้น 

.

แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทางอุตสาหกรรมอย่างยิ่งยวด ก็มิได้นำเฉพาะผลลัพธ์เชิงบวกมาสู่ประเทศจีนเท่านั้น จากการที่ต้องเร่งมือกระตุ้นการเพิ่มผลผลิตภาคอุตสาหกรรมให้เพียงพอทั้งต่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก จีนต้องผันทรัพยากรธรรมชาติปริมาณมหาศาลเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ทั้ง ๆ ที่ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีการผลิตยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ทำให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างสิ้นเปลืองและด้อยประสิทธิภาพ

.

ผลที่ตามมาก็คือการร่อยหรอลงอย่างรวดเร็วของทรัพยากรธรรมชาติ พร้อม ๆ กับการเพิ่มพูนของมลภาวะและกากของเสียทางอุตสาหกรรม มีข้อมูลทางสถิติระบุว่า ในระยะ 50 ปีแรกนับจากการสถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชนจีน GDP ของจีนโตขึ้น 10 เท่า ขณะที่การบริโภคสินแร่ต่าง ๆ ได้ถีบตัวขึ้นมากถึง 40 เท่าตัว

.

นอกจากนั้น ผลการสำรวจสภาพแวดล้อมโดยองค์การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของจีน (SEPA) เมื่อปี ค.ศ. 2003 ยังบ่งชี้ว่า เมืองท่าอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ของจีนหลายแห่งก็กำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสื่อมโทรมของของทรัพยากรน้ำ การเสียสภาพของดิน สภาพอากาศที่เป็นกรดมากขึ้น ปัญหาฝนกรด

.

รวมทั้งการพอกพูนของขยะและกากของเสียอันตราย สอดคล้องกับข้อมูลอันดับมลพิษทางอากาศของเมืองสำคัญต่าง ๆ ในเอเชียซึ่งรายงานโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ที่ระบุว่าในบรรดาเมืองที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศขั้นรุนแรง 10 อันดับแรก มีเมืองที่ตั้งอยู่ในประเทศจีนรวมอยู่ด้วยถึง 8 เมือง ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนในระยะที่ผ่านมานั้นมีแนวโน้มว่าจะถอยห่างออกจากวิถีแห่งความยั่งยืนมากขึ้นทุกที

.

เพื่อที่จะกำกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เบนเข้าสู่วิถีแห่งความยั่งยืนกว่า รัฐบาลจีนได้มีการตัดสินใจด้านนโยบายครั้งสำคัญ ๆ หลายครั้งด้วยกัน โดยเวทีการตัดสินใจที่น่าจะถือว่าเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งในการเบนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไปสู่วิถีแห่งความยั่งยืนอย่างแท้จริงคือ การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติครั้งที่ 16 ได้มีการผ่านร่างกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับความเป็นอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 (Economic development strategies for a new type of Industrialization in the 21st century) ที่มีการระบุวิถีทางใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในศตวรรษที่ 21 ไว้อย่างชัดเจน 3 วิถีทางหลัก

.

และหนึ่งในนั้นก็คือ วิถีการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยการส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจวงรอบ (Circular Economy) อันหมายถึงระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและพลังงานอย่างพอเหมาะและเป็นวงจรปิด และวิถีการพัฒนาเศรษฐกิจวงรอบนี้เองที่เป็นจุดเริ่มของการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศอย่างจริงจังในประเทศจีน

.
โครงการนำร่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศของจีน

เพื่อที่จะเร่งรัดให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม จีนได้มีการกำหนดให้องค์การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (The State Environmental Protection Administration: SEPA) เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการให้การสนับสนุนโครงการริเริ่มด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในระดับต่าง ๆ โดยความจริงแล้ว SEPA ได้เริ่มดำเนินภารกิจดังกล่าวตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 แล้ว และยังคงดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

.

จากข้อมูลรายงานในปี ค.ศ.2005 มีโครงการนำร่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศที่ได้รับการสนับสนุนจาก SEPA จำนวน 15 โครงการ กระจายไปตามหัวเมืองอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ มีทั้งโครงการที่บริหารโดยรัฐและโดยวิสาหกิจเอกชน          ในจำนวนโครงการนำร่องทั้ง 15 โครงการนั้น ยังแบ่งออกเป็นโครงการพัฒนาระดับกลาง คือ ระดับอุทยานอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-industrial Park) จำนวน 13 โครงการ และโครงการระดับมหภาค 2 โครงการ คือ โครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ 1 โครงการ และโครงการมณฑลอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ 1 โครงการ ดังแสดงในตารางที่ 1 

.
ตารางที่ 1 โครงการนำร่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในประเทศจีนที่ได้รับสนับสนุนจาก SEPA (SEPA 2005)

โครงการ

ที่ตั้ง

ผู้บริหารโครงการ

ประเภท

ปีที่ได้รับ
การอนุมัติ

กุ้ยกัง (Guigang) เมืองกุ้ยกัง เขตปกครองตนเองกว่างสีจ้วง (กวางสี) กลุ่มบริษัท กุ้ยถัง EIP 2001
หนานไห่ (Nanhai) เมืองหนานไห่ มณฑลกวางตุ้ง เทศบาลนคร EIP 2001
เป่าโถว (Baotou) เมืองเป่าโถว เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน กลุ่มบริษัท เป่าโถว อะลูมิเนียม อินดัสทรี EIP 2003
หวงซิง (Huangxing) เมืองฉางชา มณฑลหูหนาน เทศบาลนคร EIP 2003
หลิวเป่ย (Lubei) อำเภอหวูตี้, มณฑลชานตง กลุ่มบริษัทหลิวเป่ย EIP 2003
เขตการพัฒนาต้าเหลียน
(Dalian Development Zone)
เมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง Municipality EIP 2004
เขตการพัฒนาเถียนจิน
(Tianjin Development Zone)
เทศบาลนครเถียนจิน  เทศบาลนคร EIP 2004
ฟุชุน (Fushun) เมืองฟุชุน มณฑลเหลียวหนิง กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฟุชุน
(Fushun Mining Industry Group)
EIP 2004

เขตการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮ-เทค ซูโจว
(Suzhou Hi-Tech Development Zone)

เมืองซูโจว มณฑลเจียงซู เทศบาลนคร EIP 2004
อุทยานอุตสาหกรรมซูโจว เมืองซูโจว, มณฑลเจียงซู เทศบาลนคร EIP 2004
เขตการพัฒนาเยียนไถ่
(Yantai Development Zone)
เมืองเยียนไถ่ มณฑลชานตง เทศบาลนคร EIP 2004
กุ้ยหยาง-ไก่หยาง(Kuiyang–Kaiyang) เมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว เทศบาลนคร EIP 2004
เว่ยฝาง (Weifang) เมืองเว่ยฝาง มณฑลชานตง เทศบาลนคร EIP 2005
กุ้ยหยาง เมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว เทศบาลนคร Eco-city 2002
มณฑลอุตสาหกรรมเหลียวหนิง มณฑลเหลียวหนิง รัฐบาลมณฑล Eco-province 2002
.

โดยพื้นฐานแล้ว โครงการนำร่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศทั้ง 15 โครงการข้างต้น จะดำเนินตามแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมเป็นหลัก มีการสนับสนุนให้เกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนเป็นวงจรปิด โดยการสร้างภาวะการพึ่งพากันระหว่างอุตสาหกรรม (Industrial Symbiosis) และการสร้างห่วงโซ่อุปทานวงปิด (Closed-loop Supply Chain) ขึ้นภายในระบบ     

.

ส่วนในรายละเอียดแต่ละโครงการก็จะมีกลยุทธ์และรูปแบบการพัฒนาตามอัตลักษณ์ของตัวเอง คือ การพัฒนาตามพื้นฐานด้านทรัพยากรธรรมชาติ และลักษณะโครงสร้างทางอุตสาหกรรมในเขตที่ตั้งของแต่ละโครงการ ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอหยิบยกมานำเสนออย่างคร่าว ๆ เพียง 2 โครงการเพื่อเป็นกรณีศึกษาอย่างคร่าว ๆ นั่นคือ โครงการอุทยานอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศกุ้ยกัง และโครงการเมืองเชิงเศรษฐนิเวศกุ้ยหยาง ดังนี้

.
โครงการอุทยานอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศกุ้ยกัง

ในบรรดาโครงการนำร่องทั้ง 15 โครงการ โครงการอุทยานอุตสาหกรรมกุ้ยกัง (Guigang Eco-industrial Cluster) เป็นโครงการแรกสุดที่ได้รับการอนุมัติจาก SEPA เมื่อปี ค.ศ.2001 ดำเนินการโดยกลุ่มบริษัทกุ้ยถัง (Guitang Group) ซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของและเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของเมืองกุ้ยกัง มีการดำเนินธุรกิจหลายประเภท ตั้งแต่ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำตาล เยื่อกระดาษและกระดาษ ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย และธุรกิจการผลิตและกลั่นแอลกอฮอล์

.

ทั้งนี้ การที่กลุ่มกุ้ยถังได้หันมาเข้าร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศนั้น ก็มีที่มาที่ไปที่น่าสนใจทีเดียว และอาจจะถือได้ว่าเป็นการเข้าร่วมโดยเกิดจากแรงกระตุ้นจากภายในองค์กรเป็นสำคัญ กล่าวคือ กลุ่มบริษัทกุ้ยถังก่อร่างสร้างตัวและมั่งคั่งขึ้นมาจากธุรกิจน้ำตาลทราย ซึ่งเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ปี ค.ศ.1954 แต่พอถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ถึงต้นทศวรรษที่ 1990 ได้เกิดภาวะถดถอยของอุตสาหกรรมน้ำตาลในจีน ทำให้โอกาสทางธุรกิจของกุ้ยถังก็เริ่มหดตัวไป

.

ประกอบกับการพอกพูนของปัญหากากของเสียและมลภาวะที่จะต้องจัดการมากขึ้น ทำให้กลุ่มกุ้ยถังต้องทำการทบทวนวิสัยทัศน์และปรัชญาของการดำเนินธุรกิจเสียใหม่ โดยเห็นชอบให้หันไปดำเนินธุรกิจแบบระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่มีอุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นพื้นฐาน และมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ อันได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตและกลั่นแอลกอฮอล์ อุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษ และอุตสาหกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าจากชีวมวล เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีการบริหารสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ และนำไปสู่การริเริ่มโครงการอุทยานอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศกุ้ยกังขึ้น      

.

ซึ่งผลจากการดำเนินการโครงการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันบ่งชี้ว่า กลุ่มกุ้ยถังได้รับประโยชน์หลายประการจากโครงการกุ้ยกัง ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและเชิงนิเวศ อาทิ การประหยัดต้นทุนวัสดุและพลังงาน การลดต้นทุนด้านการควบคุมบำบัดของเสียและมลพิษ การลดภาวะกดดันจากกฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงประโยชน์ในเชิงภาพลักษณ์ด้วย 

.

จุดแข็งของอุทยานอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศกุ้ยกังก็คือ การสร้างภาวะพึ่งพาระหว่างวิสาหกิจต่าง ๆ ในเครือกุ้ยกังและชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนของเสียระหว่างกันอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยกลยุทธ์การออกแบบและบริหารห่วงโซ่อุปทานวงปิดที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดโครงข่ายการส่งมอบของเสียระหว่างวิสาหกิจมีความต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ

.

ซึ่งศูนย์กลางของระบบห่วงโซ่อุปทานของเสียหรือผลพลอยผลิตภัณฑ์ก็คืออุตสาหกรรมน้ำตาล อันเป็นอุตสาหกรรมหลักของกลุ่มกุ้ยถัง โดยของเสียจากอุตสาหกรรมน้ำตาลจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เรียกแบบตรงไปตรงมาว่า สายน้ำตาล (Sugar Chain) และ สายกระดาษ (Paper Chain) ดังรูปที่ 1  

.

รูปที่ 1 แผนภาพการพึ่งพาระหว่างวิสาหกิจและระบบห่วงโซ่อุปทานวงปิดในโครงการอุทยานอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศกุ้ยกัง

.

รูปที่ 2 หน่วยการผลิตต่าง ๆ ของกลุ่มบริษัทกุ้ยถัง ซึ่งอยู่ในโครงการอุทยานอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศกุ้ยกัง (A) โรงงานผลิตน้ำตาลจากอ้อย (B) โรงงานหมักและกลั่นแอลกอฮอล์ (C) โรงงานผลิตปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุและเศษชานอ้อย (D) โรงผลิตกระดาษซึ่งใช้ชานอ้อยจากโรงงานน้ำตาลเป็นวัตถุดิบส่วนหนึ่งในการผลิตเยื่อกระดาษ

.
ที่มา: Zhu และ Côté (2004)
.
โครงการเมืองเศรษฐนิเวศกุ้ยหยาง

ดังที่เกริ่นไว้ในตอนต้นว่า นอกเหนือจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในระดับกลางหรือระดับอุทยานอุตสาหกรรมแล้ว จีนยังมีการริเริ่มโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในระดับมหภาคหรือระดับภูมิภาคด้วย นั่นก็คือ โครงการเมืองเศรษฐนิเวศ (Eco-city) และโครงมณฑลเศรษฐนิเวศ (Eco-province)     

.

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าจีนได้มีการตระเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งระบบ เพื่อผลักดันแนวคิดระบบเศรษฐกิจวงรอบให้ปรากฏผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งโครงการเมืองเศรษฐนิเวศกุ้ยหยางก็ถือเป็นโครงการนำร่องที่ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ และน่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งสำหรับเมืองอื่น ๆ ที่กำลังมีความคิดว่าจะพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองเศรษฐนิเวศเช่นเดียวกัน

.

กุ้ยหยางเป็นเมืองหนึ่งในมลฑลกุ้ยโจว อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีพื้นที่ 8034 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 3.2 ล้านคน (สถิติเมื่อปี ค.ศ.1999) ในทางเศรษฐกิจ กุ้ยหยางถือเป็นเมืองท่าอุตสาหกรรมที่สำคัญเมืองหนึ่งของจีน พื้นฐานเศรษฐกิจของเมืองกุ้ยหยางประกอบด้วยการเกษตร 9.1 เปอร์เซ็นต์ อุตสาหกรรมการผลิต 50.9 เปอร์เซ็นต์ และอุตสาหกรรมบริการ 40 เปอร์เซ็นต์

.

และด้วยความเป็นเมืองที่มีกิจกรรมทางอุตสาหกรรมเข้มข้นนี้เองที่ทำให้กุ้ยหยางกลายเป็นเมืองที่มีปัญหามลภาวะรุมเร้ามากที่สุดอีกเมืองหนึ่ง โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่มีการปนเปื้อนของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ปริมาณเข้มข้นเกินมาตรฐาน

.

ทั้งนี้เพราะว่า กุ้ยหยางเป็นแหล่งถ่านหินที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีน อีกทั้งยังมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก และที่สำคัญ ถ่านหินที่ผลิตได้ในกุ้ยหยางก็มีปริมาณซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบสูงถึง 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับเชื้อเพลิงถ่านหินทั่ว ๆ ไป นอกจากนั้นแล้ว สถิติอัตราการปล่อยมลพิษโดยรวมของเมืองกุ้ยหยางก็นับว่าน่ากังวลทีเดียว จากปี ค.ศ.1996 - 2002 อัตราการปล่อยมลพิษของเมืองอุตสาหกรรมแห่งนี้ได้กระโดดจาก 3.18 ล้านตัน เป็น 4.55 ล้านตัน เพิ่มขึ้นถึง 43.2 เปอร์เซ็นต์ ในเวลาเพียง 6 ปี

.

ในส่วนของอัตราการบริโภคทรัพยากร เมืองกุ้ยหยางมีการใช้ทรัพยากรอย่างเข้มข้นและสิ้นเปลืองมากขึ้น จากปี ค.ศ.1978-2002 GDP ของเมืองกุ้ยหยางโตขึ้น 9.5 เท่า ในขณะที่อัตราการบริโภคทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งทรัพยากรชีวภาพ เคมีและเชื้อเพลิง สินแร่โลหะ อโลหะ และวัสดุก่อสร้างทั้งหมดรวมกันได้เพิ่มจาก 4.43 ล้านตัน เป็น 19.03 ล้านตัน นั่นหมายความว่าเฉลี่ยแต่ละปีอัตราการบริโภคทรัพยากรในเมืองกุ้ยหยางจะเพิ่มขึ้น 6.3 เปอร์เซ็นต์ 

.

เคยมีผู้เชี่ยวชาญทำนายว่า ในช่วงราว ๆ ค.ศ.2020 ขนาดเศรษฐกิจของเมืองกุ้ยหยางจะโตขึ้นเป็น 3 เท่า (ทำนายไว้ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ) ถ้าการบริโภคทรัพยากรและการปล่อยมลพิษเป็นไปในอัตราเดิม ปัญหาสิ่งแวดล้อมของก็จะเมืองกุ้ยหยางก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นถึงขั้นวิกฤติได้ และข้อเท็จจริงทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่ทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของเมืองกุ้ยหยางต้องทบทวนและแสวงหากลยุทธ์ใหม่ สำหรับนำพาการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองแห่งนี้ให้ก้าวหน้าไปบนวิถีที่ยั่งยืนกว่า และนำไปสู่การเสนอตัวเป็นเมืองเชิงเศรษฐนิเวศสาธิตในเวลาต่อมา 

.

ทันทีที่มีการเสนอแนวคิดใหม่ในการพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองเชิงเศรษฐนิเวศ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของเมืองกุ้ยหยางได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยชิงหัว และตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดแนวทางและแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศของเมืองกุ้ยหยางขึ้น ซึ่งจุดที่น่าสนใจของแผนพัฒนาที่ร่วมกันกำหนดขึ้น คือ การโฟกัสตรงไปที่ฐานทรัพยากรอันเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมของเมืองกุ้ยหยางเป็นอันดับแรก โดยเริ่มจากทรัพยากรปฐมภูมิชนิดหลัก ๆ ที่มีการผันเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมของเมืองแห่งนี้ นั่นคือ อะลูมิเนียม ฟอสฟอรัส

.

เมืองกุ้ยหยางเป็นเมืองที่อุดมด้วยทรัพยากรสินแร่อะลูมิเนียม และฟอสฟอรัส ว่ากันว่า อะลูมิเนียมที่ผลิตได้ในเมืองกุ้ยหยาง มีปริมาณคิดเป็น  20 เปอร์เซ็นต์ของอะลูมิเนียมทั้งหมดที่ผลิตได้ในจีน และแหล่งแร่ฟอสฟอรัสที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน 1 ในจำนวน 3 แหล่ง ก็อยู่ในอาณาเขตของเมืองกุ้ยหยาง ฉะนั้น อุตสาหกรรมการถลุงและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากอะลูมิเนียมและฟอสฟอรัส จึงเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของเมืองกุ้ยหยางอย่างมาก

.

ฉะนั้น ความจำเป็นอันดับต้น ๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศของเมืองกุ้ยหยาง จึงโฟกัสไปที่การสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานวงปิดของอะลูมิเนียมและฟอสฟอรัสขึ้นในระบบอุตสาหกรรมของเมืองกุ้ยหยาง เพื่อปรับปรุงการใช้ประโยชน์จากอะลูมิเนียมและฟอสฟอรัสให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการสนับสนุนให้มีการรีไซเคิลและการผันกลับมาผลิตใหม่อย่างเป็นระบบ (รูปที่ 3 และ4)

.

รูปที่ 3 แผนภาพระบบห่วงโซ่อุปทานวงปิดของอลูมิเนียมตามโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศเมืองกุ้ยหยาง

.

รูปที่ 4 แผนภาพระบบห่วงโซ่อุปทานวงปิดของฟอสเฟตตามโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศเมืองกุ้ยหยาง

.
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในจีน

เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศเป็นงานที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการพัฒนาอุตสาหกรรมวิถีดั้งเดิม การสร้างชุมชนอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศให้ทำงานได้ไม่ใช่แค่เพียงการนำโรงงานที่มีกิจการที่สอดคล้องต้องกันมาตั้งในคลัสเตอร์เดียวกันเท่านั้น แต่มันหมายถึงการวางกรอบอำนวยการและการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ที่เอื้อให้เกิดโครงข่ายของการแลกเปลี่ยนเศษวัสดุและพลังงานส่วนเกินขึ้นอย่างแท้จริง เป็นโครงข่ายความสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งต่อเศรษฐกิจและระบบนิเวศอย่างแท้จริง     

.

ซึ่งในกรณีของการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในจีน ก็มีให้ความสำคัญกับการปรับปรุงปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลเกื้อหนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นท่าทีที่ชัดเจนของรัฐบาลในการวางกรอบนโยบายและกลยุทธ์การพัฒนาที่เป็นขั้นเป็นตอน การปรับเปลี่ยนทัศนคติของภาควิสาหกิจให้เปิดรับวิถีแห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ การแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ เป็นต้น

.

ในส่วนของปัจจัยด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ จีนมีท่าทีที่เปิดกว้างมากขึ้นในการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นมิติหนึ่งของจีนสมัยใหม่ โดยรัฐบาลจีนได้สนับสนุนให้มีการประสานความร่วมมือระดับต่าง ๆ ระหว่างจีนกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งแบบพหุภาคีและทวิภาคี ยังผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศของจีนก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

.

ตัวอย่างความร่วมมือที่นำคุณประโยชน์มาอยู่อุตสาหกรรมของจีนอย่างมาก ได้แก่ การประสานความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) โดย ADB เคยเข้าไปให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ในการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม (Center of Environmentally Sound Technology Transfer: CESTT) ซึ่งมีพันธกิจในการให้ความช่วยเหลือแก่ภาคอุตสาหกรรมของจีน โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันพร้อม ๆ กับการยกระดับขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยเทคโนโลยีที่สะอาดกว่า     

.

นอกจากนั้น จีนยังมีความพยายามที่จะประสานความร่วมมือกับชาติอื่น รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศทั้งหลายที่กำลังให้ความสนใจหรือกำลังมีการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศและการผลิตที่สะอาดกว่า (Cleaner Production) เช่นเดียวกัน อาทิ สหภาพยุโรป โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เป็นต้น

.

การแสดงออกของภาควิสาหกิจก็เป็นอีกปัจจัยที่หนึ่ง ที่มีอิทธิพลอย่างมากในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในประเทศจีน วิสาหกิจทั้งหลายในประเทศจีนเคยประสบกับความยากลำบากที่จะต้องบรรลุวัตถุประสงค์หลายอย่างในเวลาเดียวกัน ไหนจะต้องทำกำไรให้ได้ แล้วยังต้องดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายของรัฐและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เข้มงวดขึ้น

.

การตกอยู่ภายใต้สภาวะที่กดดันเช่นนี้ทำให้พวกเขาต้องแสวงหาวิธีในการบริหารจัดการแนวใหม่ อันจะนำพาไปสู่ความสำเร็จที่สมดุลกันระหว่างความสำเร็จด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศก็เป็นคำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนสำหรับการบรรลุถึงความความสำเร็จที่สมดุลดังกล่าว ใน 

.

ปัจจุบัน วิสาหกิจต่าง ๆ ในจีนเริ่มมีความเชื่อมั่นว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศจะช่วยหนุนให้วิสาหกิจของตนมีความเข้มแข็งและมีความได้เปรียบเชิงการค้า ไม่เฉพาะการค้าในประเทศเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการค้าระหว่างประเทศด้วย 

.

หันมาพิจารณาปัจจัยด้านการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่และการค้นคว้าวิจัยกันบ้าง ซึ่งต้องยอมรับเลยว่า ขีดความสามารถด้านการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความรุ่งโรจน์ของจีนมาตั้งแต่สมัยบรรพกาลแล้ว และขีดความสามารถด้านการศึกษานี้ก็ยังคงเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงชาวจีนรุ่นปัจจุบัน ในกรณีของการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ

.

ถึงแม้ว่าโดยพื้นฐานจีนจะดำเนินการโดยอิงภูมิปัญญาสากล ไม่ว่าจะเป็นแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรม หลักการพึ่งพาระหว่างอุตสาหกรรม (Industrial Symbiosis) หรือแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจวงรอบ (Circular Economy) แต่จีนก็มีการปรับแต่งรูปแบบการประยุกต์ใช้ให้เข้าบริบทของตนเองได้อย่างกลมกลืน ไม่ใช่การดำเนินตามวิถีทางของชาติอื่น ๆ เสียทั้งหมด

.

โดยอาศัยข้อมูลและองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐกับสถาบันการศึกษา และระหว่างสถาบันการศึกษาภายในประเทศกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่ว่าด้วยนิเวศอุตสาหกรรม

.

ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยของจีนหลายแห่งที่เปิดสอนหลักสูตรด้านนิเวศอุตสาหกรรมในระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่าปริญญาตรี เช่น มหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University) มหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น (Northeastern University) มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น (Wuhan University) มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคปักกิ่ง (Beijing Polytechnic University) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งต้าเหลียน (Dalian University of Technology) เป็นต้น

.

ถึงแม้ว่า หลักสูตรดังกล่าวจะยังได้รับความสนใจในวงแคบ ๆ และผู้สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่จะนิยมเข้าทำงานในภาคราชการมากกว่า มีเพียงส่วนน้อยที่เข้าทำงานในภาคเอกชน แต่จุดนี้จะเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะหนุนให้เกิดการค้นคว้าวิจัยด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศของจีนมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นอนาคต 

.

มีความจริงอย่างหนึ่งเกี่ยวกับจีนที่เราทั้งหลายต้องยอมรับ นั่นคือ ความเป็นชาติที่มีความยิ่งใหญ่และมีขีดความสามารถสูงในการพัฒนา ในประวัติศาสตร์ บรรพชนจีนได้สร้างความสำเร็จอันน่าทึ่งมากมายมอบไว้เป็นมรดกแก่ชนรุ่นหลัง สำหรับจีนในปัจจุบัน เราได้เห็นความทุ่มเทจริงจังในหลาย ๆ ด้าน ที่นำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการกีฬา การเกษตร การพัฒนาเทคโนโลยี และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

.

เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยันว่า ถ้าลองประเทศจีนมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอะไรแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่ใช่แค่ความสำเร็จ แต่เป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งด้วย และการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศก็เป็นอีกหนึ่งความทุ่มเทที่จีนกำลังดำเนินอยู่ และผู้เขียนเชื่อว่านี่จะเป็นการพัฒนาที่จะนำความสำเร็จสำเร็จอันน่าทึ่งมาสู่ประเทศจีนอีกชิ้นหนึ่ง และจะเป็นเครื่องการันตีความเป็นมหานำอาจแห่งเอเชียของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เป็นอย่างดี

.
เอกสารอ้างอิง

* Fang Y., Côté R.P. and Qin R. (2007) Industrial sustainability in China: Practice and prospects for eco-industrial development. Journal of environmental Management 83: 315-328
* Yan Zhao & Jin-cheng Shang & Chong Chen & He-nan Wu (2008) Simulation and evaluation on the eco-industrial system of Changchun economic and technological development zone, China. Environ Monit Assess 139: 339–349
* Zhu Q.H. and C?t? R.P. (2004) Integrating green supply chain management into an embryonic eco-industrial development: a case study of the Guitang Group. Journal of Cleaner Production 12: 1025–1035
* State Environmental Protection Administration (SEPA) (2003) National Environmental Report. China Environmental Science: Beijing.
* Asian Development Bank (ADB). (2001) Development of Industrial Estates in Sri Lanka, TA 3524-SRI.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด