จากสถานการณ์และความต้องการทางด้านพลังงานของประเทศปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่กว่าร้อยละ 50 ของความต้องการนี้เราจำเป็นต้องมีการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งราคาทางด้านพลังงานที่นำเข้านี้ก็มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในการจัดหาและการใช้พลังงานของประเทศ ขณะเดียวกัน ทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศที่สามารถนำมาผลิตและใช้เป็นพลังงานก็มีปริมาณลดลง และมีแนวโน้มว่าจะหมดไปในที่สุด ดังนั้นการแสวงหาพลังงานทดแทนในรูปแบบอื่น ๆ จึงมีความจำเป็นมากขึ้นในปัจจุบัน
. |
"…น้ำมันสมัยใหม่แพงไม่รู้ทำไมมันแพง แต่ก็ยังไงเป็นสมัยนี้อะไร ๆ ก็แพงขึ้นทุกที จะให้น้ำมันถูกลงมาก็ลำบาก นอกจากจะหาวิธีที่จะทำให้น้ำมันราคาถูกซึ่งก็ทำได้เหมือนกัน ถูกกว่านิดหน่อยคือ แทนที่จะใช้น้ำมันที่มีออกเทน 95 ก็ใช้ออกเทน 91 แล้วก็เติมแอลกอฮอล์เข้าไปนิดหนึ่ง ก็เป็นออกเทน 95 อาจเป็นได้ว่า รถจะวิ่งไม่เร็วก็ดีเหมือนกัน รถไม่วิ่งเร็วเกินไป รถจะได้ไม่ชนกันมากเกินไป ก็จะช่วยประหยัดทั้งหมดนี้เป็นความคิดที่ให้พอเพียง..." |
. |
"… พูดแบบคนไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องการคลังการเศรษฐกิจ แต่ว่าลองนึกดูถ้าสมมติว่า ใช้ของที่ทำในเมืองไทย ทำในประเทศได้เองแล้วก็ทำได้ดีมาก อ้อยที่ปลูกที่ต่าง ๆ เขาบ่นว่ามีมากเกินไปขายไม่ได้ ราคาตก เราก็ไปซื้อในราคาที่ดีพอสมควร มาทำแอลกอฮอล์แล้วผู้ที่ปลูกอ้อยก็ได้เงิน ผู้ที่ทำแอลกอฮอล์ก็ได้เงิน..." |
. |
ส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว |
. |
จากสถานการณ์และความต้องการทางด้านพลังงานของประเทศปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่กว่าร้อยละ 50 ของความต้องการนี้เราจำเป็นต้องมีการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งราคาทางด้านพลังงานที่นำเข้านี้ก็มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในการจัดหาและการใช้พลังงานของประเทศ ขณะเดียวกัน ทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศที่สามารถนำมาผลิตและใช้เป็นพลังงานก็มีปริมาณลดลง และมีแนวโน้มว่าจะหมดไปในที่สุด ดังนั้นการแสวงหาพลังงานทดแทนในรูปแบบอื่น ๆ จึงมีความจำเป็นมากขึ้นในปัจจุบัน |
. |
สำหรับประเทศไทยนั้น นับว่าเป็นความโชคดีที่เรามีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระมหากษัตริย์ ด้วยพระองค์ทรงมีพระอัจริยภาพ มีพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในการที่ทรงริเริ่มการศึกษาวิจัย ค้นคว้าทดลองด้านการพลังงานในหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี ก่อเกิดเป็นโครงการทางด้านพลังงานที่สามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างทันท่วงทีในยามที่เกิดวิกฤติราคาน้ำมันแพง ดังเช่น พลังงานทดแทนจากเอทานอล แก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล ที่สามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรพยุงราคาพืชผลที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้อีกทางหนึ่งด้วย |
. |
. |
ดังที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้กล่าวไว้ในงานเสวนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในหัวข้อ "เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาพลังงาน" ณ ห้องประชุมใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่า "โครงการพระราชดำริอันเกี่ยวกับกิจการพลังงานนั้น ไม่เพียงการพระราชทานเป็นแนวพระราชดำริเท่านั้น |
. |
แต่พระองค์ทรงพระราชทานโครงการตัวอย่าง ผลการศึกษามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาได้กลายเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่งของการพัฒนาพลังงานในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานั้น ทรงสนพระทัยเรื่องนี้อย่างมาก |
. |
ถ้าใครเคยเข้าไปที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พระองค์ท่านทรงทำให้สิ่งของเหลือนำมาใช้ได้ มีโรงสี มีแกลบ ก็นำมาทำเป็นถ่าน มีตัวประสานอัดเป็นแท่งกลับไปใช้เป็นพลังงานได้ ทรงเลี้ยงวัว มีมูลวัวออกมาก็ทำเป็นก๊าซชีวภาพ เข้าไปเดินเครื่องในโรงงานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เกือบจะเรียกได้ว่า ช่วยเหลือตัวเองพร้อมกันไปหมด ทำอย่างนี้เรียกว่า ใช้ปัญญานำ เพราะไม่มีของเหลือออกไปเลย" |
. |
สำหรับโครงการแห่งพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางด้านพลังงานทดแทนที่ทรงมอบหมายให้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ดำเนินการมีหลายโครงการด้วยกัน อาทิเช่น |
. |
. |
โครงการผลิตเอทานอล |
โครงการผลิตเอทานอลของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดานั้น เริ่มตั้งแต่การศึกษาวิจัยและทดลองปลูกอ้อยหลายพันธุ์ เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุดมาทำแอลกอฮอล์ นอกจากอ้อยที่ผลิตได้ภายในโครงการแล้ว ยังออกไปรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบอีกด้วย |
. |
โรงงานแอลกอฮอล์จะมีทั้งเครื่องหีบอ้อย ถังหมัก หอกลั่นขนาดเล็ก เริ่มเดินเครื่องการผลิตครั้งแรกในปี พ.ศ.2529 สามารถผลิตแอลกอฮอล์ 91 เปอร์เซ็นต์ ได้ในอัตรา 2.8 ลิตรต่อชั่วโมง สำหรับแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้ในช่วงแรก ยังไม่สามารถนำไปผสมกับเบนซินได้ จึงนำผลผลิตที่ได้ไปทำเป็นน้ำส้มสายชู |
. |
ต่อมาก็ทำเป็นแอลกอฮอล์แข็งใช้อุ่นอาหารให้กับทางห้องเครื่องของสวนจิตรลดา เนื่องจากเดิมใช้แอลกอฮอล์เหลว ครั้งหนึ่งเมื่อมีการขนส่งแอลกอฮอล์เหลวไปยังพระตำหนักในภาคเหนือ รถเกิดอุบัติเหตุทำให้ไฟไหม้รถทั้งคัน เพราะแอลกอฮอล์เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี จึงได้มีการนำแอลกอฮอล์มาทำเป็นเชื้อเพลิงแข็งเพื่อความปลอดภัยแทน |
. |
โรงงานแอลกอฮอล์มีการปรับปรุงการกลั่นเรื่อยมา จนต่อมาก็สามารถผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95 เปอร์เซ็นต์หรือที่เรียกว่าเอทานอลได้เป็นผลสำเร็จ |
. |
. |
โครงการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ |
น้ำมันแก๊สโซฮอล์ หมายถึง น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการผสมแอลกอฮอล์และน้ำมันเบนซิน งานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชนิดนี้เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2528 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และมีพระราชดำรัสให้ศึกษาต้นทุนการผลิตแอลกอฮอล์ (เอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอลหรือเอทานอล) จากอ้อย เพราะในอนาคตอาจเกิดภาวะน้ำมันขาดแคลนหรือราคาอ้อยตกต่ำ การนำอ้อยมาแปรรูปเป็นเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้ |
. |
สำหรับแอลกอฮอล์เดิมที่ใช้ผสมกับเบนซินนั้น ได้จากแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95 เปอร์เซ็นต์ที่ผลิตได้จากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95 เปอร์เซ็นต์มีน้ำผสมอยู่ด้วย ต้องนำไปกลั่นเพื่อแยกน้ำให้ได้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5 เปอร์เซ็นต์หรือเอทานอล ก่อนนำไปผสมกับน้ำมันเบนซิน |
. |
โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จึงนำแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95 เปอร์เซ็นต์ไปผ่านกระบวนการแยกน้ำที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เพื่อให้ได้เอทานอล และนำกลับมาผสมกับน้ำมันเบนซินที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา |
. |
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี |
. |
พ.ศ.2544 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ผลิตและจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยเริ่มจำหน่าย ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท.สำนักงานใหญ่ ถ.วิภาวดีรังสิต |
. |
ปีเดียวกัน บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ผลิตเอทานอลบริสุทธิ์ 99.5 เปอร์เซ็นต์จากมันสำปะหลัง แล้วนำมาผสมกับน้ำมันเบนซินในสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ ทดแทนสาร MTBE เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ออกเทน 95 |
. |
บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ทดลองจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นครั้งแรกที่สถานีบริการน้ำมัน ถ.ติ วานนท์ ถ.พหลโยธิน ถ.เจริญกรุงตัดใหม่ และ ถ.นวมินทร์ ปีถัดมาเปิดเพิ่มอีก 1 แห่งที่ ถ.สุทธิสารวินิจฉัย จนกระทั่งปัจจุบันเปิดจำหน่ายทั่วประเทศผ่านสถานีบริการกว่า 600 แห่ง รวมถึงนำเอทานอลมาผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 |
. |
ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี น้ำมันแก๊สโซฮอล์ก็ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตตกต่ำแล้ว ยังเป็นการช่วยลดการนำเข้าน้ำมันส่วนหนึ่งและยังช่วยลดมลภาวะเป็นพิษในอากาศได้อีกด้วย |
. |
ปัจจุบัน สถานีบริการเชื้อเพลิงในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา นอกจากผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์เติมให้กับรถยนต์ทุกคันในโครงการแล้ว งานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดายังคงเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ประชาชนที่สนใจอีกด้วย |
. |
. |
โครงการผลิตน้ำมันดีโซฮอล์ |
โครงการดีโซฮอล์เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2541 โดยการนำเอาน้ำมันดีเซลมาผสมกับเอทานอลและสารอิมัลซิไฟเออร์ เพื่อนำไปใช้แทนน้ำมันของเครื่องยนต์ดีเซล โดยโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาได้ร่วมมือกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเพื่อทดลองผสมสารเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 95 กับน้ำมันดีเซล และสารอิมัลซิไฟเออร์ในอัตราส่วน 14: 95: 1 สามารถนำดีโซฮอล์นี้ไปใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล รถกระบะ รถแทรกเตอร์ของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งจากการทดลองพบว่าสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ดีพอสมควร และสามารถลดควันดำลงไปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ |
. |
โครงการผลิตไบโอดีเซล |
โครงการผลิตไบโอดีเซลเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็กกำลังผลิตวันละ 110 ลิตร ที่ศูนย์การศึกษาพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส |
. |
ต่อมาพระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้เริ่มมีการทดลองนำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ดีเซล ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาและกองงานส่วนพระองค์ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ.2543 ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และจากการทดสอบพบว่า น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล โดยไม่ต้องผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงอื่น ๆ หรืออาจใช้ผสมกับน้ำมันดีเซลได้ตั้งแต่ 0.01 เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึง 99.99 เปอร์เซ็นต์ได้เช่นเดียวกัน |
. |
. |
โดยน้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ (R.B.D Palm Olein) เป็นน้ำมันที่สกัดจากผลปาล์มตามกรรมวิธีสะอาด จึงสามารถใช้ปรุงอาหารรับประทานได้ และด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้จึงมีการนำเอามาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลที่มีระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปั๊มและหัวฉีดน้ำมันที่ผลิตมาด้วยงานละเอียด จากผลการทดลองพบว่า ไม่มีผลกระทบใด ๆ ในทางลบกับเครื่องยนต์ดีเซล |
. |
นอกจากนี้การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ ยังทำให้เพิ่มกำลังแรงบิดให้กับเครื่องยนต์ ลดมลพิษในไอเสียของเครื่องยนต์ เพิ่มการหล่อลื่น ทำให้เครื่องยนต์มีอายุการใช้งานได้นาน ประหยัดเงินตราในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลได้บางส่วน ช่วยเหลือเกษตรกร นอกจากนี้ ยังเป็นทางเลือกใหม่ในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่สามารถปลูกทดแทนได้ |
. |
จากผลความสำเร็จดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ยื่นจดสิทธิบัตร ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์คือ "การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล" สิทธิบัตรเลขที่ 10764 |
. |
และเป็นหนึ่งในสามผลงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงได้รับเหรียญทองประกาศนียบัตรสดุดีเทิดพระเกียรติคุณ พร้อมถ้วยรางวัล จากการส่งผลงานนี้ไปแสดงในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ BRUSSELS EURAKA 2001 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีตียินดีแก่ประชาชนชาวไทยทั้งมวล |
. |
สิทธิบัตรการประดิษฐ์ |
. |
โครงการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง |
โครงการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งนี้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2518 จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าแกลบที่ได้จากการสีข้าว นอกจากจะนำไปเป็นอาหารสัตว์ และทำเป็นปุ๋ยแล้ว ควรจะนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงด้วย เพื่อเป็นการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาสร้างสร้างประโยชน์อีกครั้ง ทั้งยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ป่าไม้และสภาพแวดล้อมอีกทางหนึ่ง |
. |
ดังนั้นในปี พ.ศ.2523 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาจึงร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ทำการศึกษาวิจัย และทดลองนำแกลบที่ได้จากการสีข้าวในสวนจิตรลดามาอัดเป็นแท่ง และแปรสภาพให้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งช่วงแรกเมื่อนำแกลบอัดแท่งไปใช้งานพบว่า มีควันมาก ดังนั้น เพื่อขจัดควันให้หมดไป จึงได้ทำการปรับปรุงโดยการนำแกลบที่อัดแล้วไปเผาให้เป็นถ่าน จึงมีความสะดวกในการนำไปใช้งาน นอกจากนี้ยังไม่มีควันและสามารถให้ความร้อนที่สูงกว่าแกลบอัดแท่งอีกด้วย |
. |
. |
จากโครงการที่กล่าวมาเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งจากหลายโครงการ ที่เกิดขึ้นจากพระปรีชาสามารถ พระอัจริยภาพ พระวิริยะอุตสาหะ และสายพระเนตรอันกว้างไกลขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพ่อหลวงของเหล่าพสกนิกรชาวไทยเท่านั้นครับ โดยแนวทางในการพัฒนาทางด้านพลังงานของพระองค์นั้น |
. |
พระองค์ท่านทรงใช้พื้นฐานของทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศอย่างมีเหตุมีผล ความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกัน และที่สำคัญยิ่งคือ พระราชดำริด้านพลังงานทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มาจากพระกรุณาธิคุณที่ต้องการให้ประชาชนของพระองค์ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของความพอเพียงนั่นเองครับ |
. |
ข้อมูลอ้างอิง |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด