เนื้อหาวันที่ : 2009-06-29 10:41:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3844 views

NGV ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ ทางเลือกของยุคน้ำมันแพง

ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและรวมถึงทั่วโลก ได้ประสบกับปัญหาวิกฤติจากสภาวะราคาน้ำมันแพงกันถ้วนหน้า ทั้งนี้เป็นเพราะน้ำมันที่ประเทศไทยใช้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังคงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งราคาจะแปรผันตามสภาวะของตลาดน้ำมันโลกและประเทศไทยไม่มีความสามารถที่จะควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อราคาน้ำมันได้ ในส่วนของรัฐบาลเองก็พยายามที่จะรณรงค์ให้คนไทยใช้น้ำมันอย่างประหยัดให้มากที่สุดผ่านทางนโยบายต่าง ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV (Natural Gas Vehicle)

ธิระศักดิ์ เสภากล่อม

.

.

ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและรวมถึงทั่วโลก ได้ประสบกับปัญหาวิกฤติจากสภาวะราคาน้ำมันแพงกันถ้วนหน้า ทั้งนี้เป็นเพราะน้ำมันที่ประเทศไทยใช้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังคงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งราคาจะแปรผันตามสภาวะของตลาดน้ำมันโลก และประเทศไทยก็ไม่มีความสามารถที่จะควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อราคาน้ำมันได้  ในส่วนของรัฐบาลเองก็พยายามที่จะรณรงค์ให้คนไทยใช้น้ำมันอย่างประหยัดให้มากที่สุดผ่านทางนโยบายต่าง ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV (Natural Gas Vehicle) นั่นเองครับ   

.

เมื่อพูดถึงก๊าซธรรมชาติ ผู้อ่านหลายท่านคงจะรู้จักกันบ้างพอสมควรในแง่ของการนำมาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงทดแทนการใช้ถ่านหินและน้ำมันเตาในการผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ยานพาหนะ ประเทศไทยเราได้มีการสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและนำขึ้นมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524         

.

โดยนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า และในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนการใช้ถ่านหินและน้ำมันเตาซึ่งมีราคาสูงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งในแต่ละปีมีมูลค่ามหาศาล และขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งเสี่ยงต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ

.

ส่วนการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์นั้นมีมากว่า 80 ปีแล้ว โดยประเทศ อิตาลีเป็นประเทศแรก และต่อมาความนิยมใช้ก๊าซ NGV ก็มีแพร่หลายมากขึ้นทั้งในทวีปอเมริกาใต้ ทวีปอเมริกาเหนือ และในทวีปเอเชีย รวมถึงทวีปอัฟริกา ซึ่งในปัจจุบันทั่วโลกมีรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือ NGV กว่า 4.7 ล้านคัน สำหรับประเทศไทยของเรามีการส่งเสริมอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง

.
ก๊าซธรรมชาติ ที่มาของเชื้อเพลิงยานยนต์

ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คือส่วนผสมของก๊าซไฮโดรคาร์บอน และสิ่งเจือปนต่าง ๆ ในสภาวะก๊าซ ซึ่งเกิดจากการสะสมและทับถมกันของซากพืชซากสัตว์ สะสมกันเป็นเวลานาน จนเกิดการรวมตัวกันเป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วย สารประกอบไฮโดรคาร์บอนต่าง ๆ ได้แก่ มีเทน อีเทน โพรเพน เพนเทน เฮกเซน และสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอื่น ๆ อีก นอกจากนี้ยังมีสิ่งเจือปนอื่นอีก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ฮีเลียม ไนโตรเจนและไอน้ำ เป็นต้น

.

ก๊าซธรรมชาติเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีสารสำคัญ 2 ชนิด คือ ไฮโดรเจน (H) กับ คาร์บอน (C) รวมตัวกันในสัดส่วนของอะตอมที่ต่าง ๆ กัน โดยเริ่มตั้งแต่สารประกอบไฮโดรคาร์บอนอันดับแรกที่มีคาร์บอนเพียง 1 อะตอม กับ ไฮโดรเจน 4 อะตอม มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า ก๊าซมีเทน จนกระทั่งมีคาร์บอนเพิ่มมากขึ้นถึง 8 อะตอม กับไฮโดรเจน 18 อะตอม มีชื่อเรียกว่า ออกเทน

.

ก๊าซธรรมชาติที่ได้จากแต่ละแหล่งอาจประกอบด้วยก๊าซมีเทนล้วน ๆ หรืออาจจะมีก๊าซไฮโดรคาร์บอนชนิดอื่น ๆ ปนอยู่บ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแหล่งธรรมชาติแต่ละแห่งเป็นสำคัญ แต่โดยทั่วไปแล้ว ก๊าซธรรมชาติจะประกอบด้วยก๊าซมีเทนตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป และมีก๊าซไฮโดรคาร์บอนชนิดอื่นปนอยู่บ้าง 

.

ก๊าซธรรมชาติที่ประกอบด้วยมีเทนเกือบทั้งหมดเรียกว่า ก๊าซแห้ง (Dry Gas) แต่ถ้าก๊าซธรรมชาติใดมีพวกโพรเพน บิวเทน และพวกไฮโดรคาร์บอนเหลวหรือก๊าซโซลีนธรรมชาติ เช่น เพนเทน เฮกเทน ฯลฯ ปนอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูง เรียกก๊าซธรรมชาตินี้ว่า ก๊าซชื้น (Wet Gas)

.

ก๊าซธรรมชาติที่ประกอบด้วยมีเทนหรืออีเทนหรือที่เรียกว่าก๊าซแห้งนั้นจะมีสถานะเป็นก๊าซที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ ดังนั้น การขนส่งจึงจำเป็นต้องวางท่อส่งก๊าซ ส่วนก๊าซชื้นที่มีโพรเพนและบิวเทน ซึ่งทั่วไปมีปนอยู่ประมาณ 4 - 8 เปอร์เซ็นต์ จะมีสถานะเป็นก๊าซที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศเช่นกัน เราสามารถแยกโพรเพนและบิวเทนออกจากก๊าซธรรมชาติได้แล้วบรรจุลงในถังก๊าซ เรียกก๊าซนี้ว่า ก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือ LPG (Liquefied Petroleum Gas)  

.

ส่วนก๊าซธรรมชาติเหลวหรือก๊าซโซลีนธรรมชาติ ซึ่งเรียกกันว่า คอนเดนเสท (Condensate) คือ พวกไฮโดรคาร์บอนเหลว ได้แก่ เพนเทน เฮกเซน เฮปเทน และออกเทน ซึ่งมีสภาพเป็นของเหลวเมื่อผลิตขึ้นมาถึงปากบ่อบนแท่นผลิตสามารถแยกออกจากก๊าซธรรมชาติได้บนแท่นผลิต การขนส่งอาจลำเลียงทางเรือหรือส่งไปตามท่อได้

.

ก๊าซธรรมชาติ ค้นพบได้ในแอ่งใต้พื้นดิน บนบกหรือในทะเล ส่วนใหญ่มักมีการค้นพบในแหล่งเดียวกันกับน้ำมันดิบหรือคอนเดนเสท (ผลิตภัณฑ์ของเหลวไฮโดรเจนคาร์บอนที่กลั่นตัวจากก๊าซธรรมชาติ) โดยคาดว่าจะเป็นแหล่งพลังงานหลักที่จะนำมาใช้ได้อีกประมาณ 65 ปีข้างหน้า

.

ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วทั่วโลกเมื่อปี พ.ศ.2548 มีปริมาณ 6,348 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต โดยพบมากที่สุดในรัสเซีย มีประมาณ 1,688 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต รองลงมาคืออิหร่าน 944 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และกาตาร์ 910 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต     

.
ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย

ประเทศไทยได้มีการสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ 2 แหล่งคือ ในทะเลบริเวณอ่าวไทย และบนบก อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งนำขึ้นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า และในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนการใช้ถ่านหินและน้ำมันเตาซึ่งมีราคาสูงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมมีราคาที่ไม่แน่นอน

.

การนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้จึงเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการพึ่งพาพลังงานที่มีอยู่ภายในประเทศของเราเองอย่างเป็นรูปธรรม และเนื่องด้วยก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสะอาด คุณภาพดี และราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ ทำให้ปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทยสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตก๊าซจึงได้เสาะแสวงหาแหล่งก๊าซใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา และคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อนำก๊าซจากแหล่งที่มีอยู่ขึ้นมาให้ได้มากที่สุด         

.

ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้พยายามนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด นอกเหนือจากการนำไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และยานพาหนะ โดยการสนับสนุนเป็นพิเศษในการนำก๊าซธรรมชาติมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ หรือที่เราเรียกว่า NGV นั่นเอง   

.

โดยปริมาณก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยในปี พ.ศ.2548 ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของไทยมีอยู่ประมาณ 11-32 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หากไม่ค้นพบแห่งก๊าซใหม่เลย ด้วยอัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน ประเทศไทยจะยังมีก๊าซธรรมชาติเหลือเพียงพอให้ใช้ได้อีกประมาณ 13-38 ปี   

.

.
คุณสมบัติและข้อดีของก๊าซธรรมชาติ

1. ก๊าซธรรมชาติไม่มีสี ไม่มีกลิ่น (ยกเว้นกลิ่นที่เติมเพื่อให้รู้เมื่อเกิดการรั่วไหลในการขนส่งหรือในกระบวนการผลิต เพื่อความปลอดภัย)
2. มีค่าถ่วงจำเพาะต่ำจึงเบากว่าอากาศ ทำให้มีความปลอดภัยกว่า เมื่อเกิดการรั่วไหลจะฟุ้งกระจายไปตามบรรยากาศอย่างรวดเร็ว จึงไม่มีการสะสมลุกไหม้บนพื้นราบ
3. เป็นเชื้อเพลิงสะอาด เผาไหม้ได้สมบูรณ์กว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และไม่มีกากของเชื้อเพลิงหลังจากการเผาไหม้

.

4. ก๊าซธรรมชาติไม่มีฝุ่นออกไซด์ของกำมะถันและไนโตรเจนซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
5. ก๊าซธรรมชาติช่วยบรรเทาสภาวะโลกร้อนเพราะปล่อยความร้อนสู่บรรยากาศโลกน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น
6. ก๊าซธรรมชาติขนส่งโดยทางท่อ ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมมากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ ซึ่งขนส่งทางรถยนต์หรือทางเรือ

.

7. ก๊าซธรรมชาติมีประสิทธิภาพในการสันดาปดีกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น เช่น ถ่านหินหรือน้ำมัน
8. ก๊าซธรรมชาติไม่ทำลายหรือกัดกร่อนอุปกรณ์ และวัสดุในกระบวนการผลิต
9. ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยในปัจจุบัน ยังคงมีราคาอยู่ในระดับเดียวกับ 20 ปีที่แล้วเมื่อประเทศไทยเริ่มผลิตก๊าซครั้งแรก

.

10. ราคาก๊าซของไทยขณะนี้เฉลี่ยประมาณ 3 ดอลลาร์สหรัฐต่อค่าความร้อน 1 ล้านบีทียู ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นราคาเฉลี่ยประมาณ 5-6 ดอลลาร์สหรัฐ

.

11. ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติผลิตขึ้นมาใช้ในตลาดทั่วโลก จึงทำให้มีการแข่งขันด้านราคาสูง ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้ราคาก๊าซต่ำตามหลักเศรษฐศาสตร์

.
ประโยชน์ของก๊าซธรรมชาติ 

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าในก๊าซธรรมชาตินั้นจะมีสารประกอบอยู่หลายชนิด เมื่อนำมาผ่านกระบวนการแยกองค์ประกอบที่โรงแยกก๊าซแล้ว เราจะได้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันโดดเด่นของก๊าซธรรมชาติที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติกันมากขึ้น เช่น

.

1. ก๊าซมีเทน (C1) ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม และนำไปอัดใส่ถังด้วยความดันสูง เรียกว่าก๊าซธรรมชาติอัด สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ รู้จักกันในชื่อว่า ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (Natural Gas for Vehicles: NGV)

.

2. ก๊าซอีเทน (C2) เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นสำหรับผลิตเม็ดพลาสติกและเส้นใยพลาสติกชนิดต่าง ๆ รวมถึงเส้นใยสังเคราะห์ผลิตเสื้อผ้า เชือก แห อวน พรมปูพื้น สายไฟฟ้า ท่อน้ำ ผงซักฟอก และอื่น ๆ 

.

3. ก๊าซโปรเพน (C3) และ ก๊าซบิวเทน (C4)  ก๊าซโพรเพนใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP) เช่น ยางใน ห้องเครื่องรถยนต์ หม้อแบตเตอรี่ กาว สารเพิ่มคุณภาพน้ำมันเครื่อง และหากนำเอาก๊าซโพรเพนกับก๊าซบิวเทนมาผสมกัน อัดใส่ถังเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas: LPG) หรือที่เรียกว่าก๊าซหุงต้ม สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ และใช้ในการเชื่อมโลหะได้ รวมทั้งยังนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทอีกด้วย

.

4. ไฮโดรคาร์บอนเหลว (Heavier Hydrocarbon) อยู่ในสถานะที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ เมื่อผลิตขึ้นมาถึงปากบ่อบนแท่นผลิต สามารถแยกจากไฮโดรคาร์บอนที่มีสถานะเป็นก๊าซบนแท่นผลิต เรียกว่า คอนเดนเสท (Condensate) สามารถลำเลียงขนส่งโดยทางเรือหรือทางท่อ นำไปกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปต่อไป

.

5. ก๊าซธรรมชาติเหลว (C5) หรือก๊าซโซลีนธรรมชาติ (Natural Gasoline: NGL) ใช้ในโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งจะได้ผลผลิตน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น และใช้เป็นตัวทำละลายในโรงงานอุตสาหกรรม และยังเป็นวัตถุดิบในการผลิต Olefins (Ethylene, Propylene) ซึ่งเป็นวัตถุดิบเริ่มต้นในการผลิตเม็ดพลาสติก เพื่อนำไปใช้แปรรูปต่าง ๆ ที่เราใช้กันอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ถุงพลาสติก เสื้อผ้า ของเล่น ฯลฯ

.

6.   ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เมื่อผ่านกระบวนการแยกแล้ว จะถูกนำไปทำให้อยู่ในสภาพแข็ง เรียกว่า น้ำแข็งแห้ง นำไปใช้ในอุตสาหกรรมถนอมอาหาร อุตสาหกรรมน้ำอัดลมและเบียร์ ใช้ในอุตสาหกรรมหล่อเหล็ก เชื่อมเหล็ก เครื่องดับเพลิง ทำฝนเทียม และการทำหมอกควันในการแสดงบนเวทีหรือการถ่ายทำภาพยนตร์        

.

.
สภาพสถานะของก๊าซธรรมชาติ 

1. Pipe Natural Gas เป็นการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ เรียกชื่อทางการตลาดว่า Sale Gas ซึ่งเป็นก๊าซมีเทนเป็นส่วนใหญ่ การขนส่งด้วยระบบท่อ จะนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าและในโรงงานอุตสาหกรรม ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยคิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ผลิตไฟฟ้า

.

2. NGV หรือ Natural Gas for Vehicles เป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน การขนส่งก๊าซธรรมชาติมาทางท่อและขนส่งทางรถยนต์ เข้าสู่สถานีบริการ และเครื่องเพิ่มความดันก๊าซ ณ สถานีบริการ ซึ่งจะรับก๊าซธรรมชาติที่มีความดันต่ำจากระบบท่อมาอัดเพิ่มความดันประมาณ 3,000-3,600 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว จากนั้นก็เข้าสู่ระบบกระบวนการในการบรรจุลงในถังเก็บก๊าซของรถยนต์ต่อไป

.

3. LNG หรือ Liquefied Natural Gas เป็นการขนส่งด้วยเรือที่ออกแบบไว้เฉพาะ โดยการทำก๊าซธรรมชาติให้กลายเป็นของเหลว เพื่อให้ปริมาตรลดลงประมาณ 600 เท่า โดยทั่วไปจะมีอุณหภูมิ -160 องศาเซลเซียส ซึ่งการขนส่งก๊าซในรูปของ LNG นี้ จะประหยัดค่าใช้จ่าย มากกว่าการขนส่งด้วยระบบท่อ

.
ตาราง เปรียบเทียบคุณสมบัติระหว่างก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเตา และก๊าซหุงต้ม

ข้อเปรียบเทียบ

ก๊าซธรรมชาติ

น้ำมันเตา

ก๊าซหุงต้ม (LPG)

ความปลอดภัย เบากว่าอากาศ เมื่อรั่วไหลจะลอยขึ้นสู่ที่สูง กระจายไปในอากาศ ปลอดภัยน้อยเมื่อรั่วไหลจะนองอยู่บนพื้น ปลอดภัยน้อย เนื่องจากหนักกว่าอากาศ เมื่อรั่วจะสะสมอยู่ระดับพื้น
ความพร้อมในการนำมาใช้งาน สถานะเป็นก๊าซ นำไปใช้ได้เลย สถานะเป็นของเหลว ต้องอยู่ในสภาพที่เหมาะสมในการผสมกับอากาศก่อนการเผาไหม้ สถานะเป็นของเหลวต้องทำให้เป็นก๊าซก่อนนำไปใช้งาน
ประสิทธิภาพของการเผาไหม้ เผาไหม้ได้สมบูรณ์ สถานะเป็นก๊าซ
สามารถผสมกับอากาศได้ดีกว่า
เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ทำให้น้ำมันเป็นฝอยได้ยากผสมกับอากาศได้ไม่ดี
เผาไหม้ได้สมบูรณ์กว่าน้ำมันเตา สามารถผสมกับอากาศได้ดีกว่า
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจาก การเผาไหม้ เผาไหม้ได้สมบูรณ์กว่า สะอาด ปราศจากเขม่าไม่เกิดมลภาวะ เผาไหม้ได้สมบูรณ์น้อยกว่ามีเขม่าติดและไอเสียมาก เผาไหม้ได้สมบูรณ์ปราศจากเขม่า
คุณลักษณะของเชื้อเพลิง
ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นเผาไหม้สมบูรณ์
ไม่เกิดผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์เป็นการเผาไหม้แบบ Direct Fired ปราศจากเขม่าและกำมะถัน
มีสี เขม่า และกลิ่นที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่โดยทั่วไปจะเติมสารมีกลิ่นเพื่อความปลอดภัย
คุณลักษณะทางเคมี
มีกำมะถันน้อยมากและไม่มี
วานาเดียมทำให้เกิดการกัดกร่อน
อุปกรณ์น้อยกว่า
เกิดการกัดกร่อนของอุปกรณ์ที่เกิดจาก Low-Temperature Corrosion ของ Sulfur และ High Temperature Corrosion มีกำมะถันน้อยกว่าน้ำมันเตา ทำให้เกิดการกัดกร่อนของอุปกรณ์น้อย

ค่าใช้จ่ายอื่น

ขนส่งโดยระบบท่อเข้าสู่โรงงาน
ไม่ต้องมีถังเก็บเชื้อเพลิง
ไม่ต้องมีการสำรองเชื้อเพลิง
ไม่ต้องเสียเนื้อที่สำหรับถังเก็บ เชื้อเพลิง

ต้องมีถังเก็บเพื่อสำรองน้ำมัน
ต้องมีการสั่งซื้อเชื้อเพลิงล่วงหน้า
ต้องเสียเนื้อที่สำหรับสร้างถังเก็บเชื้อเพลิง

ต้องมีถังเก็บเพื่อสำรองก๊าซปิโตรเลียมเหลว
ต้องเสียเนื้อที่ในการสร้างถังเก็บและบริเวณโดยรอบ
ต้องสั่งซื้อเชื้อเพลิงล่วงหน้า               

.
ก๊าซธรรมชาติกับการพัฒนาประเทศ

จากคุณสมบัติของก๊าซธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้นานัปการทั้งทางด้านคมนาคมขนส่ง การผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม และใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย 

.

.
* การใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคคมนาคมขนส่ง 

จากการประสบปัญหาในเรื่องอากาศเป็นพิษ ซึ่งล้วนมีสาเหตุมาจากการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ หลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย จึงหันมาส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันมากขึ้น

.
* การใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้า 

การผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทยนั้น ใช้พลังงานน้ำ ถ่านหิน และน้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เมื่อความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในขณะที่การสร้างเขื่อนพลังงานน้ำไม่สามารถขยายตัวได้ตามความต้องการใช้งานของกระแสไฟฟ้า และการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันก็มีข้อจำกัดในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและราคาเชื้อเพลิงน้ำมันที่สูงขึ้น ก๊าซธรรมชาติจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการนำไปทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ

.

ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย คือมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 69 โดย ปตท.เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติป้อนโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทั่วประเทศ เช่น  

.

โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าน้ำพอง และโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer หรือ IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer หรือ SPP) โดยล่าสุดในปี 2546 มีปริมาณเฉลี่ยวันละประมาณ 2,053 ล้านลูกบาศก์ฟุต

.
* โรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติดีกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน น้ำมัน และนิวเคลียร์อย่างไร 

- โรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติมีต้นทุนต่ำ ผลิตไฟฟ้าได้ราคาถูกเพราะใช้เงินลงทุนน้อยกว่า เวลาก่อสร้างสั้นกว่า ความเสี่ยงด้านการเงินน้อยกว่า และที่สำคัญก็คือก๊าซธรรมชาติที่ใช้ส่วนใหญ่ในประเทศไทยสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ จึงช่วยลดการนำเข้าและประหยัดเงินตราต่างประเทศได้มาก นอกจากนี้ก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลก ทำให้มีการแข่งขันด้านราคา ซึ่งทำให้ราคาของก๊าซในตลาดต่ำและมีความผันผวนน้อย

.

- โรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพราะไม่มีฝุ่นออกไซด์ของกำมะถันและไนโตรเจน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ฝนกรดต่อชุมชนโดยรอบอีกด้วย

.

- โรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติมีประสิทธิภาพดีกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือน้ำมัน เนื่องจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติมีประสิทธิภาพสูงถึง 60% ในขณะที่โดรงไฟฟ้าถ่านหินหรือน้ำมันมีประสิทธิภาพเพียง 40% และด้วยประสิทธิภาพที่สูงถึง 60% นี้ทำให้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติสามารถประหยัดเงินค่าใช้จ่ายได้ถึง 40,000 ล้านบาทในระยะเวลา 25 ปี เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงชนิดอื่น

.

- ค่าใช้จ่ายและค่าบำรุงรักษาของโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติถูกกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินและพลังงานนิวเคลียร์เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าดูแลรักษาคลังกักเก็บเชื้อเพลิง มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าในการซ่อมบำรุงวัสดุอุปกรณ์ และไม่ต้องหยุดเดินเครื่องเพื่อทำความสะอาดบ่อย ๆ เพราะก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานสะอาด

.
* การใช้ก๊าซธรรมชาติในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 

ก๊าซธรรมชาติถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 หลังจากการสร้างโรงแยกก๊าซโดยได้ก๊าซอีเทน โปรเพน และก๊าซโซลีน นำมาเป็นวัตถุดิบเบื้องต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ เป็นต้น

.
* การใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงงานอุตสาหกรรม

ก๊าซธรรมชาติสามารถนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงหรือใช้กับเครื่องจักร ได้แก่ หม้อน้ำ อุปกรณ์เป่าหรืออบแห้ง เตาหลอม เตาเผา ในโรงงานแทนเชื้อเพลิงอื่น อาทิ ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ ถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เซรามิก กระจก แก้ว เหล็ก และเคมีภัณฑ์ เนื่องจากคุณสมบัติที่ดีกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ทั้งยังมีประสิทธิภาพในการให้ความร้อนที่สูงกว่า

.
NGV ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ 
ทางเลือกของยุคน้ำมันแพง

ก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ หรือ NGV นี้ มีส่วนประกอบหลักคือ ก๊าซมีเทนที่มีคุณสมบัติเบากว่าอากาศ ส่วนใหญ่จะมีการใช้ อยู่ในสภาพเป็นก๊าซที่ถูกอัดจนมีความดันสูง (ประมาณ 3,000-3,600 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว) เก็บไว้ในถัง ที่มีความแข็งแรงทนทานสูงเป็นพิเศษ เช่น เหล็กกล้า บางครั้งเรียกก๊าซนี้ว่า CNG ซึ่งย่อมาจาก Compressed Natural Gas หรือก๊าซธรรมชาติอัด

.

.

การใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ มีข้อดีคือ เกิดการเผาไหม้สมบูรณ์ให้มลพิษต่ำ โดยเฉพาะปริมาณฝุ่นละออง (Particulate) และควันดำ ดังนั้นเมื่อคำนึง ถึงปัญหาสภาวะที่อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น และปัญหามลพิษ รวมถึงสภาวะราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติกาล นานาประเทศ ก็มุ่งไปสู่การลดปัญหา โดยส่งเสริมและสนับสนุน ให้มีการใช้ยานยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง      

.

โดยประเทศที่มีการใช้ยานยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่แล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะขยายการใช้มากขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เกาหลี เป็นต้น ส่วนประเทศที่ยังไม่เริ่มใช้ รัฐบาลก็กำลังส่งเสริมให้มีการใช้ในอนาคต ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย

.

สำหรับประเทศไทยของเรานั้น โดยการนำของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ได้มีการจัดทำแผนการขยายการใช้ก๊าซธรรมชาติในยานยนต์ต่าง ๆ โดยในระยะแรก เป็นการดำเนินการดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลเป็นระบบเชื้อเพลิงร่วม (Dual-fuel System) ซึ่งใช้ได้ทั้งน้ำมันดีเซล และก๊าซธรรมชาติ 

.

ต่อมาได้ดัดแปลงเครื่องยนต์เบนซินเป็นระบบเชื้อเพลิงสองชนิด หรือ ระบบเชื้อเพลิงทวิ (Bi–fuel System) ซึ่งเป็นระบบที่สามารถเลือกใช้น้ำมันเบนซิน หรือใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงได้ โดยเพียงแต่ปรับสวิตช์เลือกใช้เชื้อเพลิงเท่านั้น ระบบนี้มีทั้งผลิตจากโรงงานโดยตรง หรือนำรถยนต์เบนซินเดิมมาติดตั้งอุปกรณ์ใช้ NGV เพิ่มเติม ซึ่งแบ่งได้ 2 ระบบ คือ

.
1. ระบบดูดก๊าซ (Fumigation System)

ระบบนี้จะมีอุปกรณ์ผสมก๊าซและอากาศ (Gas Mixer) ทำหน้าที่ผสมอากาศที่เครื่องยนต์ดูดเข้าไปกับก๊าซ NGV ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับการเผาไหม้ก่อนที่จะจ่ายเข้าเครื่องยนต์ โดยระบบนี้จะเหมาะกับรถยนต์รุ่นเก่าที่เป็นเครื่องยนต์คาร์บูเรเตอร์และหัวฉีด ระบบนี้บำรุงรักษาง่าย คุ้มทุนเร็ว อุปกรณ์หลัก ๆ จะประกอบด้วย 

.

* ถังก๊าซ ซึ่งต้องรับความดันก๊าซโดยปกติสูงถึง 200 บาร์หรือ 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว จึงต้องมีความแข็งแรง ถังก๊าซอาจจะทำด้วยเหล็กหรืออลูมิเนียมหรือเรซิ่นเสริมใยสังเคราะห์ก็ได้ ขนาดถังที่ติดตั้งกับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถแท็กซี่ขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นถังเหล็ก ขนาดความจุประมาณ 70 ลิตร (น้ำ) มีน้ำหนักประมาณ 63 กิโลกรัม เมื่อรวมกับน้ำหนักก๊าซ NGV ที่บรรจุเต็มถังอีกประมาณ 15 กิโลกรัม จะมีน้ำหนักรวมประมาณ 78 กิโลกรัม ติดตั้งอยู่ในกระโปรงหลังรถซึ่งจะทำให้มีที่พื้นที่เก็บของน้อยลงไป

.
* หัวเติมก๊าซ ทำหน้าที่รับก๊าซไปบรรจุในถังก๊าซที่ติดตั้งในกระโปรงหลังรถ

* หม้อต้มหรืออุปกรณ์ปรับความดันก๊าซ (Pressure Regulator or Reducer) เป็นอุปกรณ์ที่จะลดความดันก๊าซจากถังก๊าซให้อยู่ในระดับที่จะใช้งานในเครื่องยนต์ เนื่องจากเมื่อลดความดันก๊าซแล้ว ก๊าซจะเย็นลงจนอาจจะทำให้เกิดน้ำแข็งเกาะหม้อต้มหรืออุดตันทางไหลของก๊าซได้ จึงต้องใช้น้ำที่ระบายความร้อนจากเครื่องยนต์มาอุ่น คนทั่วไปจึงเรียกอุปกรณ์ลดความดันนี้ว่า หม้อต้ม

.

* อุปกรณ์ปรับเวลาการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ (Timing Advancer) ทำหน้าที่ปรับจังหวะการจุดระเบิดของหัวเทียนให้เหมาะกับการเผาไหม้ก๊าซ (กรณีที่ใช้ก๊าซจะปรับให้หัวเทียนจุดระเบิดเร็วขึ้น เนื่องจากต้องการเวลาในการเผาไหม้นานกว่าน้ำมันเบนซิน)
* สวิตช์เลือกชนิดเชื้อเพลิง ทำหน้าที่ตัด/ต่อระบบควบคุมแต่ละเชื้อเพลิง    

.

แสดงเครื่องยนต์สำหรับรถ NGV ระบบดูดก๊าซ (Fumigation System)

.

ระบบดูดก๊าซนี้ ยังสามารถแบ่งระบบควบคุมการจ่ายก๊าซได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ แบบวงจรเปิด (Open Loop) และแบบวงจรปิด (Close Loop)

ก. แบบวงจรเปิด ปริมาณก๊าซที่จ่ายจะเข้าไปผสมกับอากาศที่บริเวณท่อร่วมไอดี โดยอาศัยแรงดูดจากอากาศที่ป้อนเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ทั้งนี้ปริมาณก๊าซที่จ่ายจะขึ้นอยู่กับการปรับตั้งสกรูปรับก๊าซหรือวาล์วจ่ายก๊าซที่ผู้ติดตั้งทำการปรับแต่ง ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถควบคุมประสิทธิภาพการเผาไหม้ของก๊าซให้สมบูรณ์ได้ในทุกช่วงการทำงานของเครื่องยนต์ตามสภาวะการขับขี่ต่าง ๆ ค่าอุปกรณ์และการติดตั้ง ประมาณ 30,000–35,000 บาท (ถังก๊าซขนาด 70 ลิตร)

.

ข. แบบวงจรปิด นอกจากจะมีอุปกรณ์หลัก ก็แล้วยังจะประกอบด้วยชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Control Unit) ชุดควบคุมการจ่ายก๊าซ (Actuator) ตัวตรวจวัดตำแหน่งปีกผีเสื้อ (Throttle Position Sensor) และตัวตรวจวัดออกซิเจน (Oxygen Sensor) แบบวงจรนี้จะควบคุมส่วนผสมแบบใช้อากาศพอดีสำหรับการเผาไหม้ (Lambda =1) ทำให้เกิดการเผาไหม้ของก๊าซสมบูรณ์

.

ทั้งนี้ปริมาณก๊าซที่จ่ายไปผสมกับอากาศที่บริเวณท่อร่วมไอดีจะถูกควบคุมโดยชุดควบคุมการจ่ายก๊าซ ซึ่งจะมีชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมการเปิด-ปิดของโซลินอยด์วาล์วอีกทีหนึ่ง            

.

ปริมาณก๊าซที่จ่ายจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณออกซิเจนที่เหลือจาการเผาไหม้ในท่อไอเสียโดยใช้ตัวตรวจวัดออกซิเจนและตำแหน่งการเปิดปิดของปีกผีเสื้อมาประมวลผลการจ่ายปริมาณก๊าซให้เหมาะกับการทำงานของเครื่องยนต์ตามสภาวะการขับขี่ต่าง ๆ ค่าอุปกรณ์และการติดตั้ง ประมาณ 40,000 - 50,000 บาท (ถังก๊าซฯ ขนาด 70 ลิตร)

.
2. ระบบฉีดก๊าซ (Multi Point Injection System: MPI) 

ระบบฉีดก๊าซนี้จะเหมาะกับรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นระบบไฮเทค ให้อัตราการเร่งเครื่องยนต์ใกล้เคียงกับการใช้น้ำมันเบนซิน ระบบนี้มีการจ่ายเชื้อเพลิงก๊าซด้วยหัวฉีดที่ท่อไอดีของแต่ละสูบโดยเฉพาะ และควบคุมส่วนผสมแบบใช้อากาศพอดี โดยชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ รับสัญญาณมาจากตัวตรวจวัดออกซิเจน และตัวตรวจวัดอื่น ๆ ทำการประมวลผลควบคุมการเปิด-ปิด ของหัวฉีดก๊าซปล่อยก๊าซออกไป ที่ท่อไอดีแต่ละสูบให้เหมาะสม กับปริมาณอากาศทุกสภาวะการทำงานของเครื่องยนต์ และเกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์

.

ระบบนี้ใช้กับเครื่องยนต์ที่จ่ายน้ำมันเบนซินด้วยหัวฉีด (EFI) ค่าอุปกรณ์และการติดตั้ง ประมาณ 52,000–65,000 บาท (ถังก๊าซฯ ขนาด 70 ลิตร) โดยชุดอุปกรณ์หลัก ๆ มีดังนี้

.

* ชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Control Unit)
* อุปกรณ์ปรับความดันก๊าซ (Pressure Regulator)
* อุปกรณ์ปรับเวลาการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ (Timing Advancer)
* สวิตซ์เลือกชนิดเชื้อเพลิง ถังบรรจุก๊าซ (CNG Cylinder)
* ชุดจ่ายก๊าซ (Gas Distributor)
* ตัวตรวจวัดออกซิเจน (Oxygen Sensor)
* ตัวตรวจวัดตำแหน่งของปีกผีเสื้อ (Throttle Position Sensor)

.

แสดงเครื่องยนต์สำหรับรถ NGV ระบบหัวฉีด (Multi Point Injection System, MPI)

.

หมายเหตุ: ระบบดูดอากาศ (Fumigation System) สามารถใช้กับเครื่องยนต์จ่ายน้ำมันเบนซินด้วยหัวฉีด (EFI) ได้ ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายถูกลง แต่สมรรถนะของเครื่องยนต์จะลดลง นอกจากนี้ อาจเกิดปัญหาการเผาไหม้ย้อนกลับ (Back Fire) ซึ่งอาจเกิดความเสียหายได้กับท่อร่วมไอดีที่ทำมาจากพลาสติกหรือไฟเบอร์และไส้กรองอากาศ      

.

ทั้งนี้เครื่องยนต์รุ่นใหม่ ๆ จะมีขนาดท่อร่วมไอดีใหญ่ขึ้นทำให้ความเร็วของอากาศที่ผสมกับก๊าซเข้าห้องเผาไหม้ช้าลง เมื่อเกิดประกายไฟจากหัวเทียนหรือ ในห้องเผาไหม้ จึงมีโอกาสเกิดการเผาไหม้ย้อนกลับได้ ทั้งนี้อาจป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยเปลี่ยนท่อร่วมไอดีเป็นชนิดเหล็กหล่อ (Cast Iron) แทน หรืออุปกรณ์ระบายความดันที่เกิดจากการเผาไหม้ย้อนกลับนี้

.
คุณสมบัติพิเศษของ NGV เมื่อใช้กับยานยนต์

1. สะอาด เนื่องจาก NGV มีสัดส่วนของคาร์บอนน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และมีคุณสมบัติเป็นก๊าซ ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์มากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และปริมาณไอเสียที่ปล่อยออกจากเครื่องยนต์ใช้ก๊าซธรรมชาติมีปริมาณต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น NGV จึงนับเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดไม่ก่อให้เกิดควันดำหรือสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน จึงสามารถลดปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

.

จากการศึกษาพบว่าเครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจะมีระดับการปล่อยสารพิษที่ต่ำ สามารถลดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ถึงร้อยละ 50-80 ลดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ได้ร้อยละ 60-90, ลดก๊าซไฮโดรคาร์บอนได้ร้อยละ 60-80 และไม่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองหรือเขม่าจากท่อไอเสีย (ทั้งก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ เป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า Green House Effect)

.

2. ปลอดภัย ก๊าซ NGV นับว่าเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในรถยนต์ที่มีความปลอดภัยมากที่สุด เพราะก๊าซ NGV เบากว่าอากาศ ในขณะที่ก๊าซหุงต้มและน้ำมันเบนซินหรือดีเซลหนักกว่าอากาศ ดังนั้น เมื่อเกิดรั่วไหล ก๊าซ NGV จะไม่สะสมอยู่บนพื้นดินจนเกิดการลุกไหม้เหมือนเชื้อเพลิงอื่น ๆ 

.

นอกจากนี้ อุณหภูมิที่ก๊าซ NGV จะลุกติดไฟในอากาศเองได้ (เมื่อมีความเข้มข้นของเชื้อเพลิงพอ) สูงถึง 650 องศาเซลเซียส ในขณะที่ก๊าซหุงต้มจะติดไฟได้เองที่ 481 องศาเซลเซียส น้ำมันเบนซินที่ 275 องศาเซลเซียส และน้ำมันดีเซลที่ 250 องศาเซลเซียส ส่วนความเข้มข้นขั้นต่ำสุดที่จะลุกติดไฟได้เองของก๊าซ NGV จะต้องมีปริมาณสะสมถึง 5%

.

ในขณะที่ก๊าซหุงต้มจะอยู่ที่ 2.0% จากคุณสมบัติข้างต้นก๊าซ NGV จึงมีโอกาสเกิดการลุกไหม้ได้ยากกว่าเชื้อเพลิงอื่น ๆ นอกจากนี้ หากมีการรั่วไหลจะเกิดเสียงดังเนื่องจากมีความดันสูงจึงเป็นสัญญาณเตือนภัยได้อย่างดี       

.

รถประจำทางที่ใช้ก๊าซ NGV

.
การใช้ NGV ของประเทศไทยในอนาคต 

สำหรับประเทศไทยได้มีการกำหนดเป็นนโยบายด้านพลังงานของประเทศ ที่ต้องการให้มีการขยายการใช้ก๊าซ NGV ในภาคคมนาคมขนส่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันแพง และปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในส่วนของภาคเอกชน บริษัท ปตท.จึงได้จัดตั้งโครงการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV Project) เพื่อสนับสนุนผลักดันให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ให้มากขึ้น 

.

.

แต่ปัญหาปัจจุบันที่สำคัญของการใช้ NGV ในประเทศไทยคือ การผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการและความสะดวกในการใช้งาน เพราะมีการผูกขาดโดยให้ ปตท. เป็นผู้ผลิตรายเดียว แม้ว่าจะเริ่มมีการขยายปั๊ม NGV ให้มากขึ้นในปัจจุบัน แต่ผู้ใช้ NGV ก็ยังไม่มีความสะดวกเพราะต้องแย่งกันเติม บางครั้งต้องใช้เวลานาน หรือบางครั้งก๊าซก็หมด เหล่านี้เป็นต้น

.

อุปสรรคอีกอย่างของการติดตั้งก็คือ ตัวถัง NGV จะทำให้สมรรถนะของรถยนต์ลดลง เนื่องจากรถต้องแบกรับน้ำหนักของถังก๊าซ และขณะการใช้งานภายในถังจะมีแรงดันสูงมาก หากเกิดระเบิดจะมีความรุนแรงและสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้ใช้ต้องมีการตรวจสภาพถังและอุปกรณ์ที่เป็นส่วนประกอบของ NGV อยู่เสมอ ขณะเดียวกัน การติดตั้งถัง NGV ปัจจุบันก็ยังมีราคาสูง 

.

ดังนั้นในการพัฒนาตลาดรถ NGV นอกจากจะต้องสร้างความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยและสมรรถนะของรถยนต์ รวมทั้งการชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการหันมาใช้ NGV แล้ว ยังจะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างบริการพื้นฐานควบคู่ไปด้วย เช่น ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และสถานีเติมก๊าซ ซึ่งโครงสร้างบริการพื้นฐานดังกล่าวมีค่าลงทุนค่อนข้างสูง

.

ดังนั้นการที่จะพัฒนาตลาดรถ NGV ให้แพร่หลายมากขึ้น จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างบริการพื้นฐาน

.

อุปกรณ์การผลิต และอุปกรณ์ดัดแปลงต่าง ๆ ในการขจัดปัญหาและอุปสรรค เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตลาดรถ NGV ให้แพร่หลายมากขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ก๊าซธรรมชาติจึงเป็นทางเลือกเชื้อเพลิงหนึ่ง ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในภาคคมนาคมขนส่งต่อไปในอนาคต

.

.

แต่อย่างไรก็ตามก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดสิ้นไป การนำมาใช้จึงควรพิจารณาเรื่องราคา ความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ และความมั่นคงที่เก็บสำรองไว้ใช้ในอนาคต การเร่งใช้ก๊าซธรรมชาติจะทำให้ก๊าซธรรมชาติหมดเร็วขึ้น ไม่พอใช้สำหรับลูกหลานในอนาคต ฉะนั้นควรมีการวางแผนการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศโดยส่วนรวมในระยะยาว

.

ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการ เนื่องจากมีการใช้พลังงานน้อย และมีน้ำมันดิบอยู่เหลือเฟือเกินความต้องการ แต่ในปัจจุบันนี้ ก๊าซธรรมชาติถูกนำมาใช้ทดแทนน้ำมันมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากน้ำมันเหลือน้อยลงนั่นเอง และราคาน้ำมันของโลกก็สูงขึ้น ประกอบกับก๊าซธรรมชาติจัดเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด ดังนั้นด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพัฒนาในการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้เป็นพลังงานทดแทนมากขึ้น

.

ในขณะนี้ประเทศไทยได้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแล้ว โดยได้ทดลองใช้กับรถประจำทางของขนส่งมวลชนและรถแท็กซี่จำนวนหนึ่ง ซึ่งต่อไปจะพัฒนาระบบและอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับสถานีบริการที่รองรับสำหรับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ และทางภาคอุตสาหกรรมได้นำก๊าซธรรมชาติไปใช้ทดแทนน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลวแล้ว ซึ่งในอนาคตก๊าซธรรมชาติจะมีบทบาทมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว

 .

ทั้งนี้เนื่องจากราคาของน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลวจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับราคาก๊าซธรรมชาติ จึงนับว่าก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งและควรจะสนับสนุน และอีกประการหนึ่งเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันได้อีกด้วย

.

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
*
www.doeb.go.th (กรมธุรกิจพลังงาน)
*
www.unocalthailand.com (บริษัท ยูโนแคล ไทยแลนด์ จำกัด)
*
www.energy.go.th (กระทรวงพลังงาน)
*
www.pttplc.com (บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน))
*
www.vcharkarn.com, ก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวี (NGV) พระเอกตัวจริงช่วงวิกฤตน้ำมันแพง, ดร.อรสา อ่อนจันทร์
* วารสาร Energy Plus ฉบับที่ 5 มกราคม-มีนาคม 2548

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด