จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีที่ผ่านมานั้น มีการขยายตัวเพียงร้อยละ 4.0 ซึ่งมีปัจจัยมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ตลอดจนปัญหาความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลต่อสถานการณ์พลังงานของประเทศไทยในปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง
จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีที่ผ่านมานั้น มีการขยายตัวเพียงร้อยละ 4.0 ซึ่งมีปัจจัยมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ตลอดจนปัญหาความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลต่อสถานการณ์พลังงานของประเทศไทยในปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องซึ่งสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ทางด้านพลังงานได้พอสังเขปดังนี้คือ |
. |
. |
1.สัดส่วนการใช้น้ำมันต่อการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ |
การใช้น้ำมันต่อการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ในปี 2551 อยู่ในระดับร้อยละ 38.5 ลดลงจากร้อยละ 41.1 ในปี 2550 เนื่องจากการยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมัน แต่ก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ในระดับร้อยละ 35.8 แม้ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การผลิตน้ำมันดิบ คอนเดนเสทและก๊าซธรรมชาติในประเทศจะเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าตัว แต่การใช้พลังงานก็เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวในช่วงเวลาเดียวกัน จึงทำให้การนำเข้าน้ำมันของไทยยังอยู่ในระดับสูงอยู่ |
. |
รูปที่ 1 แสดงสัดส่วนการใช้น้ำมันต่อการใช้พลังงานขั้นต้น (เปอร์เซ็นต์) |
. |
2. การขยายตัวของการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ |
มาตรการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งมีการกำหนดมาตั้งแต่ปลายปี 2547 ได้ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน จากการเพิ่มส่วนต่างราคาจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ ประกอบกับการให้ค่าการตลาดสูงกว่าเบนซินและการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้ทำให้การใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ154 เป็น 11.5 ล้านลิตรต่อวัน ณ สิ้นปี 2551ในขณะที่การใช้เบนซิน 95 ได้ลดลงถึงร้อย 78 เหลือเพียงประมาณ 0.5 ล้านลิตรต่อวัน |
. |
สำหรับไบโอดีเซล การเพิ่มส่วนต่างราคาจำหน่ายดีเซลหมุนเร็ว บี 5 (จาก 0.7 บาท/ลิตร เป็น 1.0-1.5 บาท/ลิตร ในปี 2551) ประกอบกับการเร่งรัดการผลิตไบโอดีเซล เชิงพาณิชย์ที่ได้มาตรฐาน ได้ทำให้การใช้ดีเซลหมุนเร็ว บี 5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 118,000 ลิตรต่อวัน เป็น 16.5 ล้านลิตรต่อวัน ณ สิ้นปี 2551 |
. |
ขณะเดียวกันการกำหนดให้มีการจำหน่ายดีเซลหมุนเร็ว บี5 โดยความสมัครใจก่อน โดยรัฐให้การอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯ และเริ่มบังคับใช้บี 2 ตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2551 ทำให้มีการจำหน่ายดีเซลหมุนเร็วบี 2 ในระดับ 35.5 ล้านลิตรต่อวัน ณ สิ้นปี 2551 ซึ่งทำให้ความต้องการไบโอดีเซลบี 100เพิ่มขึ้นจาก 6 พันลิตรต่อวันในปี 2549 เป็นระดับ 1.5 ล้านลิตรต่อวัน ในเดือนธันวาคม 2551 |
. |
รูปที่ 2 แสดงสถิติการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์และเบนซิน 95 |
. |
3. การผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานหมุนเวียนและระบบความร้อนร่วม |
มาตรการสนับสนุนผ่านผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer: SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (Very Small Power Producer: VSPP) ประสบความสำเร็จเกินคาด นับตั้งแต่ปี 2535 ที่มีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายเล็กจนถึง ตุลาคม 2551มี SPP ที่เสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบ 60 ราย กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 3,887 เมกะวัตต์ปริมาณการขายไฟฟ้าเข้าระบบ 2,286 เมกะวัตต์ |
. |
โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียนหรือเชื้อเพลิงผสม 34 โรง กำลังการผลิตรวม 1,165 เมกะวัตต์ ปริมาณไฟฟ้าที่ขาย 615 เมกะวัตต์ ส่วน VSPP ที่จำหน่ายไฟฟ้าแล้ว 109 ราย ปริมาณการขายไฟฟ้า 226 เมกะวัตต์ |
. |
หลังจากการแก้ไขระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP และ VSPP เมื่อธันวาคม 2549 พร้อมการเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับโครงการที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ได้ทำให้มีผู้สนใจลงทุนในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นมาก ณ สิ้นเดือน ตุลาคม 2551 การไฟฟ้าได้รับข้อเสนอโครงการ VSPP ใหม่ ทั้งหมด 210 โครงการ (พลังงานหมุนเวียน 205 โครงการ) |
. |
ซึ่งใช้เชื้อเพลิงหลากหลาย ตั้งแต่แกลบ ชานอ้อย เศษไม้ ขี้เลื่อย ทะลายปาล์มฟาง ขุยมะพร้าว ขยะ น้ำเสีย แสงอาทิตย์ จนถึงพลังงานลม ปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายรวม 576 เมกะวัตต์ (พลังงานหมุนเวียน 556 เมกะวัตต์) และเมื่อรวมปริมาณการเสนอขายจาก SPP พลังงานหมุนเวียน 7 โครงการที่ได้รับการคัดเลือกจากระบบประมูลแข่งขันแล้ว จะได้ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายรวมถึง 911 เมกะวัตต์ |
. |
นอกจากนั้น รัฐยังได้อนุมัติการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ SPP ที่เป็นระบบผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกันอีก 19โครงการ ปริมาณไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบรวม 1,584 เมกะวัตต์ ซึ่งทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และจากระบบผลิตความร้อนร่วมที่เพิ่มขึ้นอีกรวม 2,495 เมกะวัตต์ |
. |
4. การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่และจากประเทศเพื่อนบ้าน |
ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า PDP-2007 เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต กระทรวงพลังงานได้เปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ ได้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินและก๊าซธรรมชาติรวม 4,400 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงปี 2555-2557 และได้ขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จาก 3,000 เมกะวัตต์ เป็น 7,000 เมกะวัตต์ |
. |
แต่ในช่วงปี 2551 ที่เกิดสภาวะข้าวของแพงตามราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้หลายโครงการใน สปป.ลาว จำเป็นที่จะต้องปรับการคำนวณต้นทุนต่าง ๆ ใหม่ จึงทำให้ไม่สามารถตกลงกับ กฟผ. ได้ และจะต้องมีกระบวนการเจรจาใหม่ |
. |
อีกทั้งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการปรับแผน PDP2007เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและความต้องการไฟฟ้าของประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะได้พิจารณาถึงกำหนดการที่เหมาะสมในการเข้าระบบของโครงการ IPP และการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อบ้านต่อไป |
. |
. |
5. มูลค่าการนำเข้าพลังงาน |
จากมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการ โดยเฉพาะการกำหนดราคาน้ำมัน ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง การส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล ก๊าซธรรมชาติในยานพาหนะ (NGV) และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ได้ทำให้ปริมาณนำเข้าน้ำมันสุทธิของไทยลดลงร้อยละ 13.6 ตั้งแต่ปี 2547 โดยในปี 2551 ปริมาณนำเข้าสุทธิลดลงร้อยละ 9.3 จากปี 2550 |
. |
แต่เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น ทำให้มูลค่าการนำเข้าสุทธิอยู่ในระดับ 733,365 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.1 จากปี 2550 อย่างไรก็ตามจากการที่โรงกลั่นทุกโรงภายในประเทศได้ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการกลั่นของตนเอง ทำให้สามารถนำเข้าน้ำมันมากลั่น เพื่อการส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยปริมาณส่งออกสุทธิเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41.9 |
. |
6. ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในประเทศ |
สำหรับค่าความยืดหยุ่นการใช้พลังงาน (Energy Elasticity) ซึ่งเป็นสัดส่วนอัตราการขยายตัวของการใช้พลังงานต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 2551 ได้ลดลงเหลือ 0.59: 1 (คำนวณแบบ Y-0-Y Basis หรือหากคำนวณแบบ Rolling-Ave ค่า Energy Elasticity จะอยู่ที่ 0.716: 1) เทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตประมาณ 1.4: 1 ในช่วงปี 2529-2546 ซึ่งเป็นผลที่ชัดเจนของการประหยัดและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อันเกิดจากการกำหนดราคาพลังงานในประเทศที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงที่สูงขึ้น |
. |
และจากการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน นำโดยนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลชุดใหม่ได้ออกมาแถลงถึงนโยบายทางด้านพลังงานที่จะดำเนินการต่อไป ซึ่งประกอบด้วยนโยบายพลังงาน 5 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน ซึ่งได้มีการนำแถลงต่อรัฐสภาโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ดังมีรายละเอียดดังนี้คือ |
. |
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ความมั่นคงทางด้านพลังงาน |
ประเด็นนโยบายคือ การพัฒนาพลังงานให้ประเทศไทยสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้นโดยจัดหาพลังงานให้เพียงพอ มีเสถียรภาพ ด้วยการเร่งสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานประเภทต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และเร่งให้มีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในระดับรัฐบาลเพื่อร่วมพัฒนาแหล่งพลังงาน |
. |
วางแผนพัฒนาไฟฟ้าให้มีการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านการจัดหา ความผันผวนทางด้านราคา และลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก และโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า โดยมีกลยุทธ์การดำเนินงานคือ |
. |
1. พึ่งพาแหล่งผลิตพลังงานภายในประเทศเพื่อเสถียรภาพ ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายการสำรวจและผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท เพิ่มเป็น 250,000 บาร์เรล/วัน ภายในปี 2554 และเร่งรัดแหล่งก๊าซ JDA: B-17 ให้เข้าระบบตามกำหนด ส่วนในเรื่องของไฟฟ้านั้นจะส่งเสริมให้มีระบบผลิตในประเทศให้มากขึ้นโดยเฉพาะ SPP และ VSPP ที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน |
. |
2. เชื่อมโยงแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ ส่งเสริมให้มีการลงทุนในแหล่งผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อป้อนกลับมายังประเทศไทย โดยเฉพาะแหล่งก๊าซธรรมชาติ M9 จากประเทศพม่า ที่ท่านรัฐมนตรีพูนภิรมย์ ได้เคยลงนามใน HOA ไว้ ก็จะต้องดำเนินการลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกันต่อไป |
. |
. |
และเร่งรัดดำเนินการแหล่งปิโตรเลียมอื่น ๆ ที่ ปตท.สผ.ได้ลงทุนและเริ่มพัฒนาในภูมิภาคตะวันออกกลางให้ดำเนินการสู่การผลิตและป้อนกลับสู่ประเทศไทย ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านต้องมีการปรับแผนให้มีความเหมาะสมกับความต้องการตามสถานการณ์ เศรษฐกิจภายในประเทศในปัจจุบัน |
. |
3. บริหารจัดการ LPG ป้องกันการขาดแคลน ให้มีการศึกษาวางแผนเกี่ยวกับแนวทางและปริมาณการสำรองให้เหมาะสมกับความต้องการในปัจจุบัน และเพิ่มขีดความสามารถในการนำเข้าและระบบลอจิสติกส์ของ LPG ภายในประเทศ เพื่อป้องกันการขาดแคลน LPG ตลอดจนการดูแลนโยบายด้านราคาให้เหมาะสมเกิดดุลยภาพกับทุกฝ่าย |
. |
4. ปรับแผน PDP เนื่องจากปัจจุบันปริมาณไฟฟ้าสำรองอยู่ในเกณฑ์สูงกว่า 20% จึงเห็นสมควรในการพิจารณาปรับระดับปริมาณไฟฟ้าสำรองให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยเร็ว เพื่อลดภาระการลงทุนของประเทศ และลดผลกระทบค่า Ft ที่จะเป็นภาระต่อประชาชน และให้ กฟผ. รักษาระดับสัดส่วนกำลังการผลิตของตนเองให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อเป็นหลักประกันให้กับเสถียรภาพความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของชาติในระยะยาว |
. |
5. ศึกษาพลังงานนิวเคลียร์อย่างละเอียด เพื่อเป็นการสร้างทางเลือกและเพิ่มเสถียรภาพด้านไฟฟ้าในอนาคตจะต้องเร่งรัดดำเนินการศึกษาอย่างละเอียดก่อนนำเสนอประกอบการพิจารณาตัดสินใจของรัฐบาลในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยต้องมีคำตอบที่ชัดเจนใน 2 ประเด็นหลักคือ 1) ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม 2) การยอมรับของประชาชน |
. |
6. กระจายความเสี่ยงด้านพลังงาน สร้างความหลากหลายของชนิดเชื้อเพลิงเพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงใดเชื้อเพลิงหนึ่งที่มากเกินไปทั้งในภาคขนส่งและการผลิตไฟฟ้าและเป็นการเพิ่มทางเลือกการใช้พลังงานให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นทางออกในภาวะที่เชื้อเพลิงหลายประเภทมีความผันผวนทั้งด้านปริมาณ และราคา |
. |
7. ส่งเสริมการต่อยอดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโอเลโอเคมี โดยเตรียมการศึกษาต่อยอดการพัฒนาปิโตรเคมีให้บูรณาการเข้ากับการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมโอเลโอเคมี |
. |
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พลังงานทดแทน |
ประเด็นนโยบายคือ ดำเนินการให้นโยบายด้านพลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ โดยสนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและชีวมวล เช่น แก๊สโซฮอล์ (E10, E20 และ E85) ไบโอดีเซล ขยะ และมูลสัตว์ เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดภาวะมลพิษ |
. |
และเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรโดยสนับสนุนให้มีการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียนในระดับชุมชน หมู่บ้าน ภายใต้มาตรการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่งให้มากขึ้นโดยขยายระบบขนส่งก๊าซธรรมชาติให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ตลอดจนส่งเสริมและวิจัยพัฒนาพลังงานทดแทนทุกรูปแบบอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยมีกลยุทธ์การดำเนินงานคือ |
. |
1. ผลักดันแผนแม่บทพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี หรือ REDP โดยเร่งรัดให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างก่อนการนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาประกาศใช้ต่อไป |
. |
2. เดินหน้าเต็มตัวในการส่งเสริมเอทานอล และไบโอดีเซล เพื่อให้เป็นพลังงานของคนไทย ที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ อีกทั้งยังเป็นพลังงานหมุนเวียนไม่มีวันหมด และมีส่วนในการยกระดับราคาสินค้าเกษตร ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันประหยัดเงินตราต่างประเทศ มีราคาไม่แพง เป็นพลังงานที่สะอาดลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะ E85 ที่จะเป็นอีกทางเลือกที่สำคัญด้านพลังงานในภาวะน้ำมันแพงให้กับพี่น้องประชาชน โดยจะดูแลสมดุลระหว่างการนำพืชเกษตรเหล่านี้มาผลิตเป็นพลังงานกับการนำไปผลิตเป็นอาหาร |
. |
3. ส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) เดินหน้าเต็มตัวและต่อเนื่องโดยเน้นการนำ NGV ไปใช้ในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ เตรียมการพิจารณาการปรับราคา NGV โดยคำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริงและสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศโดยรวม เตรียมแผนการขยายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นระบบ รองรับการขยายตัวของ NGV |
. |
4. ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พิจารณาเพิ่มเติมมาตรการจูงใจที่เหมาะสม นอกเหนือจาก Adder ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบ |
. |
5. วิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทนและพลังงานในรูปแบบใหม่ สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาที่จำเป็นต้องพัฒนาพลังงานทดแทน โดยเฉพาะงานวิจัยเกี่ยวกับพืชพลังงาน และอุปกรณ์การผลิตพลังงานจากชีวมวลและก๊าซชีวภาพ การพัฒนาให้รถยนต์เก่าสามารถใช้น้ำมัน E20, E85 ได้ สนับสนุนงานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ไฮโดรเจนและเซลล์แสงอาทิตย์ เพิ่มสัดส่วนเทคโนโลยีที่ผลิตในประเทศ |
. |
. |
6. พลังงานทดแทนระดับชุมชน ส่งเสริมการพัฒนาให้เกิดหมู่บ้านพลังงานต้นแบบที่เน้นให้นำวัฒนธรรม และพื้นฐานการดำรงชีวิตเดิมของชาวบ้านมาเป็นพื้นฐานหลักในการจัดการพลังงานในหมู่บ้าน เพื่อการพึ่งพาตนเองพร้อมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ควบคู่ด้วย |
. |
ยุทธศาสตร์ที่ 3 กำกับดูแลราคา ความปลอดภัย |
ประเด็นนโยบายคือ กำกับดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมีเสถียรภาพ และเป็นธรรมต่อประชาชน โดยกำหนดโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงที่เหมาะสม และเอื้อต่อการพัฒนาพืชพลังงาน รวมทั้งสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากที่สุด และบริหารจัดการผ่านกลไกตลาดและกองทุนน้ำมัน เพื่อให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัด และส่งเสริมการแข่งขันและการลงทุนในธุรกิจพลังงาน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัย โดยมีกลยุทธ์การดำเนินงานคือ |
. |
1. กำกับดูแลราคาพลังงานให้มีเสถียรภาพและเป็นธรรมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามกลไกตลาด กำกับนโยบายราคา และโครงสร้างราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และก๊าซธรรมชาติให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และดูแลความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนโดยกลไกกองทุนน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งดูแลค่าการกลั่นและค่าการตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม |
. |
สำหรับราคา LPG และ NGV จะดำเนินการตามมติ กพช./ครม. และจะไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับภาระ การคำนวณสูตรราคาเอทานอล มอบหมายให้ สนพ.หารือกับสมาคมผู้ผลิตเอทานอลปรับปรุงสูตรกำกับราคาเอทานอลในประเทศให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น |
. |
2. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัยของกิจการ สถานประกอบการ สถานีบริการและอุปกรณ์ด้านพลังงาน โดยเร่งเสริมสมรรถนะให้แก่พลังงานจังหวัด เพื่อให้ดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ปรับให้สำนักวิชาการพลังงานภูมิภาคเป็นแหล่งศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านพลังงานของรัฐ กำหนดมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของ NGV ทั้งระบบและดูแลความปลอดภัยการใช้งาน LPG ไม่ให้มีการนำไปใช้งานผิดประเภท |
. |
3. ส่งเสริมการแข่งขันและการลงทุนในธุรกิจพลังงาน มีหน่วยงานรับผิดชอบขั้นตอนกระบวนการการลงทุนในกิจการพลังงานอย่างชัดเจนในลักษณะ Investor Relation Office สร้างกลไกในการส่งเสริมบริษัทให้เป็น Service Company ด้าน O&M (Operation & Maintenance) ในกิจการไฟฟ้า โรงกลั่นโรงแยกก๊าซ แท่นผลิต ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการลงทุนในธุรกิจพลังงาน มีการแข่งขันอย่างโปร่งใสและมีมาตรฐานระดับสากล |
. |
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การอนุรักษ์พลังงานและประสิทธิภาพ |
แนวนโยบายคือ ส่งเสริมการอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน ทั้งในภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม บริการ และขนส่ง โดยรณรงค์ให้เกิดวินัยและสร้างจิตสำนึกในการประหยัดพลังงาน และสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรการจูงใจให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และมาตรการสนับสนุนให้ครัวเรือนลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุด |
. |
รวมทั้งการวิจัยพัฒนาและกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ไฟฟ้าและมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงาน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และการขนส่งระบบราง เพื่อให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถชะลอการลงทุนด้านการจัดหาพลังงานของประเทศ โดยมีกลยุทธ์การดำเนินงานคือ |
. |
1. การพัฒนาและการอนุรักษ์พลังงานของประเทศ เตรียมการยกร่างแผนอนุรักษ์พลังงานระยะที่ 4 (2555-2559) ให้มีความเข้มข้นเพียงพอเพื่อรองรับวิกฤตจากความผันผวนของราคาน้ำมัน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและวิกฤติอาหารของโลกในอนาคตโดยมุ่งเน้นให้มีส่วนร่วมจากประชาชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกระดับ |
. |
. |
2. รณรงค์ สร้างจิตสำนึกในการประหยัดพลังงานและการให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ปรับวิธีการผลักดัน "11 มาตรการประหยัดพลังงาน" โดยมุ่งเน้นที่จังหวัดนำร่อง 3 ขนาด (SM-L: จังหวัดขนาดใหญ่, กลาง และเล็ก) และขับเคลื่อนมาตรการประหยัดพลังงานต่าง ๆ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมโดยอาศัยกลไก "อาสาสมัครพลังงานชุมชน" หรือ อส.พน. เป็นกลไกหลัก ก่อนขยายผลสู่จังหวัดอื่น ๆ ในปี 2554 |
. |
มีการออกมาตรการบังคับการติดฉลากประหยัดไฟฟ้าภาคบังคับได้ภายในปี 2552 โดยเริ่มที่ตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศโดยยกระดับ/เพิ่มประสิทธิภาพเบอร์ 5 ของตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ อย่างน้อย 10% เร่งรัดประสาน สคบ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถออกมาตรการบังคับสำหรับมาตรการ Standby Power 1 Watt ให้ได้ภายในต้นปี 2553 สำหรับอุปกรณ์นำร่อง |
. |
เช่น โทรทัศน์และเครื่องปรับอากาศและตั้งเป้าประหยัดไฟฟ้า 4,000 ล้านบาท/ปี เร่งรัดเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอดประหยัดพลังงาน (หลอดตะเกียบเบอร์ 5 กับหลอด T5) ในวัด-มัสยิด ตัวอย่าง 100 แห่ง ภายในปี 2552 และดำเนินการทั้ง 500 แห่งให้เรียบร้อยภายในปี 2554 เพื่อเปลี่ยนใช้หลอดประหยัดพลังงาน |
. |
1 ล้านหลอดและก่อให้เกิดวิทยากรตัวคูณทุกแห่ง เร่งรัดการออกกฎกระทรวงและประกาศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามมาตรฐานประหยัดพลังงานในการออกแบบ (Building Energy Code) ให้เรียบร้อยภายในปี 2552 พร้อมจัดอบรม/สัมมนาใหญ่ให้กับสถาปนิก วิศวกร และสถาบันที่เกี่ยวข้อง |
. |
ทั้งนี้มีการประหยัดพลังงานอย่างน้อย 10% ในอาคารสร้างใหม่ ประหยัดไฟฟ้า 2,365 ล้านหน่วยต่อปี เร่งรัดการออกกฎหมายและประกาศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของมาตรการการกำกับการอนุรักษ์พลังงานในโรงงาน (ISO - พลังงาน) ได้เรียบร้อยภายในปี 2552 และประหยัดพลังงานได้ 90,000 ล้านบาท ภายในปี 2554 |
. |
กำหนดให้หน่วยปฏิบัติการพลังงานเคลื่อนที่ (Energy Mobile Unit) ออกปฏิบัติการในพื้นที่อย่างน้อย 576 ตำบลทั่วประเทศผ่านการดำเนินการของสำนักงานวิชาการพลังงานภูมิภาคทั้ง 12 ภาค ปรับโครงการ "แอร์สะอาดเพิ่มเงินบาทให้ครัวเรือน" และโครงการ "ปรับแต่งเครื่องยนต์เพื่อลดการใช้น้ำมัน" เป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องในทุกปีโดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน |
. |
3. สร้างแรงจูงใจและสิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพื่อประหยัดพลังงาน ส่งเสริมผ่าน 4 มาตรการหลักคือ สินเชื่อพลังงานและเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน, มาตรการและสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งในรูปแบบของ Cost-based และ Performance-based, กองทุนร่วมลงทุน ESCO Fund, DSM Bidding |
. |
4. วิจัยและพัฒนาระบบและเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการประหยัดพลังงาน รวบรวมนวัตกรรมการประหยัดพลังงานใน ท้องถิ่น และผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อยอด พิจารณากำหนดสัดส่วนงบประมาณและงบกองทุนอนุรักษ์พลังงานในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น |
. |
5. กำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบ สำหรับอุปกรณ์ วัสดุและวิธีการบริหารจัดการในการประหยัดพลังงาน เร่งรัดการออกกฎกระทรวงให้มีผลบังคับใช้ทันที |
. |
6. ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายต้นแบบ เช่น ผู้ประกอบการ SME ที่มีความโดดเด่น สนใจในการประหยัดพลังงาน โดยการผลักดันผ่านโครงการ Thailand Energy Award |
. |
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การดูแลสิ่งแวดล้อม |
แนวนโยบายคือ ส่งเสริมการจัดหาและการใช้พลังงานที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยกำหนดมาตรฐานด้านต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดโครงการกลไกการพัฒนาพลังงานที่สะอาด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยมีกลยุทธ์การดำเนินงานคือ |
. |
. |
1. การดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มาจากการผลิต การแปรรูป และการใช้พลังงาน โดยการเลือกโรงไฟฟ้านำร่อง (Pilot Power Plant) และดำเนินการศึกษาการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก |
. |
2. ส่งเสริมกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) สาขาพลังงาน เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการขยายผลการนำก๊าซเผาทิ้ง (Flare Gas) มาใช้ประโยชน์โดยทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม ในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน หรืออาจจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับชุมชน เป็นต้น |
. |
การจัดการ Flare Gas ให้มีน้อยที่สุดหรือการเตรียมประกาศนโยบาย Zero Flare โดยเฉพาะพื้นที่ปิโตรเลียมบนบก ส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือเทคโนโลยี CCS) เพื่ออัดกลับลงสู่ชั้นใต้ดิน พร้อมจัดทำแผนการสร้างโครงการนำร่องเพื่อทดลองใช้จริง |
. |
3. ควบคุม ดูแลมาตรฐานการปล่อยสาร VOC จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและการกลั่นไม่ให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อม โดยการขยายผลนโยบาย Vapor Recovery Unit จากปัจจุบัน 4 จังหวัด เพิ่มอีก 7 จังหวัดในพื้นที่ที่มีคลังสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในปริมาณมาก เตรียมการหารือกับกลุ่มโรงกลั่นเกี่ยวกับการกำหนดการประกาศใช้มาตรฐาน EURO4 |
. |
4. ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่เป็น Appropriate Technology ที่ต้นทุนไม่สูงมากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และง่ายต่อการใช้งานรวมทั้งการบำรุงรักษา |
. |
ถ้าย้อนกลับไปสัก 1-2 ปีที่ผ่านมา คณะรัฐบาลชุดใหม่คงจะค่อนข้างวิตกกังวลกันพอสมควรครับ กับการที่จะบริหารจัดการเกี่ยวกับพลังงานในประเทศ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับทั้งภาคของประชาชน หรือแม้แต่ภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตต่าง ๆ เนื่องจากราคาน้ำมันที่เป็นปัจจัยหลักของพลังงานในประเทศได้ถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนยากที่จะหากลยุทธ์มาปรับใช้ในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว |
. |
แต่ปัจจุบันนี้ สถานการณ์ทางด้านพลังงาน ถือว่าเอื้ออำนวยต่อการบริหารงานด้านพลังงานมากครับ เพราะราคาน้ำมันได้ลดลงสู่ระดับเมื่อหลายปีก่อนแล้ว ทำให้รัฐบาลไม่ต้องวิตกกังวลต่อผลกระทบของราคาน้ำมันและปัญหาการเมืองจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากนัก ดังนั้นรัฐบาลจึงควรถือโอกาสนี้ในการวางรากฐานของการพัฒนาพลังงานในระยะยาว |
. |
โดยการปรับโครงสร้างกิจการผลิตและการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย กำหนดแนวทางในการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว สร้างความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ใช้ ผู้ผลิตและประชาชนใกล้เคียงแหล่งผลิตพลังงาน และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาและการใช้พลังงาน ด้วยยุทธศาสตร์และแนวนโยบายทางด้านพลังงานที่รัฐบาลได้วางไว้ดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จครับ |
. |
ข้อมูลอ้างอิง |
* สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงาน (www.energy.go.th) |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด