เนื้อหาวันที่ : 2009-06-11 15:05:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5289 views

กลยุทธ์การสอนงานให้ได้ผล

เนื่องจากหัวหน้างานไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดด้วยตัวเอง แต่เป็นผู้ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาหรือคนงานปฏิบัติงานให้เป็นตามแผนงานที่วางไว้และได้ผลงานตามเป้าหมาย แต่การที่ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือคนงานจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความรู้และความชำนาญงาน

สนั่น เถาชารี     

.

.

เนื่องจากหัวหน้างานไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดด้วยตัวเอง แต่เป็นผู้ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาหรือคนงานปฏิบัติงานให้เป็นตามแผนงานที่วางไว้และได้ผลงานตามเป้าหมาย แต่การที่ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือคนงานจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความรู้และความชำนาญงาน  

.

ดังนั้น ถ้าผู้ใต้บังคับบัญชาหรือคนงานไม่สามารถปฏิบัติได้ดีเพียงพอ ย่อมเกิดความเสียหายต่องาน หัวหน้างานจึงมีหน้าที่ต้องสอนงานแด่ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือคนงานตลอดเวลา หัวหน้างานที่มีการสอนงานที่ดี นอกจากจะทำให้ลูกน้องสามารถเพิ่มพูนฝีมือในการทำงานและยกระดับมาตรฐานการทำงานของหน่วยงานแล้ว ยังเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้ใต้บังคับบัญชาในการรอบรู้งาน และเป็นที่พึ่งเมื่อมีปัญหาในการทำงานด้วย  

.
ความหมายของการสอนงาน

การสอนงาน คือ การที่ผู้บังคับบัญชาสอนหรือแนะนำผู้ใต้บังคับบัญชาได้เรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะงาน วิธีปฏิบัติงาน และมีพฤติกรรมในการทำงานที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถทำงานได้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ อีกนัยหนึ่ง การสอนงานเป็นกระบวนการถ่ายทอดวิธีการทำงานที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ปฏิบัติ เพื่อที่จะได้ไม่มีการลองผิดลองถูก ผู้ที่สอนงานนั้นอาจเป็นหัวหน้างานเอง หรือมีการมอบหมายให้คนงานที่มีความชำนาญอยู่แล้วเป็นผู้สอนงานแทนก็ได้

.

การสอนงานนี้ปกติมุ่งสอนงานกับคนงานใหม่เป็นสำคัญ เพื่อให้รู้งาน เข้าใจงาน และสามารถทำงานนั้นได้อย่างถูกต้องภายในเวลาอันสั้น แต่ในบางกรณีก็อาจมีความจำเป็นต้องสอนงานแก่คนงานที่อยู่เดิมหรือคนงานเก่าด้วย โดยเฉพาะคนงานที่ยังไม่มีฝีมือได้มาตรฐานหรือเมื่อมีการเลื่อนตำแหน่ง โอนย้าย สับเปลี่ยนหน้าที่การงาน เป็นต้น

.

นอกจากนี้ถ้าได้มีการนำเทคนิควิธีการทำงานใหม่ ๆ เครื่องจักรระบบใหม่หรือระเบียบการใหม่มาใช้ในหน่วยงาน หัวหน้างานก็จำเป็นต้องสอนงานให้คนงานทุกคนได้รู้และเข้าใจ เพื่อจะได้สามารถทำงานต่อไปได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่อง

.

การสอนงานอาจครอบคลุมถึงคนงานที่ไม่ได้รับผิดชอบงานนั้นโดยตรง แต่มีการทำงานที่เกี่ยวพันกันก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจปัญหาในการทำงานร่วมกัน และเอื้อประโยชน์ในกรณีที่มีการโอนย้าย หรือการเร่งการปฏิบัติงานเพราะสามารถนำผู้ที่ได้รับการสอนงานไว้แล้วมาปฏิบัติงานได้ทันที

.

จุดมุ่งหมายของการสอนงาน
ในการสอนงานนั้น ผู้สอนมุ่งจุดมุ่งหมายที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

1. ให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องทุกอย่างที่สอน
2. ให้ผู้เรียนสามารถทำงานนั้นได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐาน
3. ให้ผู้เรียนสามารถทำงานได้ด้วยวิธีการที่ปลอดภัย
4. ให้ผู้เรียนสามารถทำงานนั้นได้ด้วยความรวดเร็ว
5. ให้ผู้เรียนสามารถแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งได้ด้วยตนเอง  

.
ในการสอนให้บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว หัวหน้างานต้องใช้หลักในการเรียนรู้ด้วย โดยปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้

(ก) สบายใจ ผู้สอนต้องทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกสบายใจไม่คิดว่าการสอนงานเป็นการบังคับ แต่เป็นการเรียนเพื่อประโยชน์ของผู้เรียนเอง ผู้สอนควรชี้แจงว่า ผู้เรียนต้องทำงานนั้นไปทำไม และงานนั้นมีความสำคัญอย่างไร หากผู้เรียนสามารถทำงานได้ดีแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างไร

.

(ข) เร้าใจ ผู้สอนต้องทำให้ผู้เรียนเกิดความปรารถนาที่จะเรียน เพระถ้าผู้เรียนไม่พร้อมที่จะเรียนหรือขาดความสนใจแล้ว การเรียนรู้จะเกิดขึ้นน้อยมาก การเร้าใจอาจทำได้โดยวิธีการสอนที่น่าสนใจ มีการเตรียมการสอนที่ดี และใช้อุปกรณ์การสอนช่วยสนับสนุน

.

(ค) เข้าใจ การสร้างความเข้าใจในเรื่องที่สอนนั้น ผู้สอนควรเริ่มต้นจากสิ่งที่ผู้เรียนได้รู้เรื่องมาบ้างแล้ว และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เขารู้อยู่เดิมกับงานใหม่ หรือเริ่มจากสิ่งเข้าใจง่ายก่อนแล้วจึงนำไปสู่เรื่องที่ยากหรือสลับซับซ้อน

.

(ง) เข้ามีส่วนร่วม การที่ผู้เรียนจะสามารถเข้าใจและจดจำได้ดีรวมทั้งสามารถนำไปปฏิบัติได้นั้น ผู้เรียนจะต้องได้มีโอกาสฝึกหัดทำด้วยตนเองเพื่อให้ประสาทสัมผัสหลาย ๆ ทาง นอกเหนือจากการได้ยินหรือได้เห็น ดังคำกล่าวที่ว่า "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าลงมือทำ"     

.

(จ) การจำความรู้ไปปฏิบัติ เมื่อสอนแล้ว ผู้เรียนควรได้มีโอกาสนำความรู้นั้นไปปฏิบัติจริง โดยระยะแรกผู้สอนอาจช่วยกำกับดูแลและให้คำแนะนำจนสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องเป็นนิสัย และเกิดความมั่นใจจนสามารถทำงานด้วยความชำนาญได้ต่อไป

.
การเตรียมการสอนงาน
ในการสอนงาน ผู้สอนจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อการสอนงาน ดังนี้

1. จัดตารางการสอนงาน เพื่อที่จะได้รู้กำหนดเวลาที่แน่นอน ว่าจะต้องสอนงานประเภทใด เมื่อใด ทั้งได้มีการศึกษางานที่จะสอนไว้ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง โดยเลือกวิธีการทำงานที่ดีที่สุดมาเป็นหลักในการสอน

.

2. แบ่งงานที่สอนออกเป็นขั้นตอน หรือที่เรียกว่า การซอยงาน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถติดตามการสอนได้อย่างถูกต้อง ขั้นตอนนี้จะเริ่มจากเรื่องที่ง่ายไปหายาก มีการแบ่งเป็นตอน ๆ เพื่อความเข้าใจเป็นเรื่อง ๆ โดยในแต่ละตอนนั้นจะชี้ให้เห็น "หัวใจ" หรือหลักสำคัญของขั้นตอน และมีการกำหนดรายละเอียดไว้ เพื่อผู้สอนสามารถใช้ประกอบการสอนให้เป็นไปตามลำดับขั้น และเน้นจุดสำคัญได้อย่างถูกต้อง

.

3. การจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์การสอน ได้แก่ ห้องที่จะใช้สอนซึ่งควรเป็นสัดส่วนไม่มีสิ่งรบกวน มีแสงสว่างเพียงพอ และมีอุปกรณ์ที่จะใช้ประกอบการสอนอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร ตัวอย่าง เครื่องมือที่ต้องใช้ กระดานดำ เครื่องฉายสไลด์ เครื่องฉายข้ามศีรษะ เครื่องฉายวิดีโอ (ถ้ามี) ห้องสำหรับการประชุมกลุ่ม หรือถ้าเป็นการสอนในที่ทำงานก็ต้องสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมแก่การเรียนรู้ด้วย

.
ขั้นตอนการสอนงาน
การสอนงานมีขั้นตอนที่สำคัญอยู่ 4 ขั้นตอน คือ

1. ก่อนการสอนงาน ต้องมีการเตรียมผู้เรียนให้พร้อมที่จะเรียนโดยสร้างบรรยากาศที่ดี มีการทักทายผู้เรียนอย่างเป็นกันเอง มีการสอบถามดูว่าผู้เรียนได้เรียนรู้อะไรแล้วบ้าง เพื่อจะได้สอนเฉพาะสิ่งที่เขาไม่รู้เป็นการประหยัดเวลา ต่อจากนั้นก็เป็นการชี้แจงถึงประโยชน์ที่จะได้จากการเรียนงาน เพื่อเร้าใจให้ผู้เรียนมีความสนในเรื่องที่จะสอน

.

2. ทำการสอน ผู้สอนควรสอนไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามลำดับ โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการสอนงานเพื่อให้เรียนได้มีความเข้าใจในเรื่องที่สอน เทคนิคในการสอนงาน ได้แก่ การบรรยาย การแสดงให้ดู อธิบายให้ฟัง สาธิตเป็นตัวอย่าง ยกกรณีปัญหาให้มีการวิเคราะห์ แบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นหรือร่วมแก้ปัญหา เป็นต้น     

.

ในขณะที่ทำการสอน ควรมีการย้ำจุดสำคัญของงาน รวมทั้งข้อที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อผู้เรียนจะได้เข้าใจและทำงานได้ง่ายขึ้นโดยไม่ผิดพลาด การที่จะรู้ว่าผู้เรียนมีความเข้าใจเรื่องที่สอนหรือไม่ ผู้สอนจะต้องหมั่นถามคำถามเพื่อเป็นการตรวจสอบความเข้าใจของผู้เรียนอยู่เสมอ การถามคำถามจะช่วยให้ผู้เรียนมีความตื่นตัวและสนใจการเรียนมากขึ้นด้วย

.

3..ให้ทดลองทำ เป็นขั้นตอนที่จะทำให้ทราบว่า ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้แล้วหรือยังและยังต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ในระหว่างที่ให้ทดลองทำนี้ผู้สอนต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด อธิบายว่าเขากำลังทำอะไรและทำไมต้องใช้วิธีนี้ เมื่อมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้สอนต้องชี้ถึงสาเหตุ และแนะนำวิธีป้องกันและแก้ไข และถ้าทำได้ดีพอก็ควรให้คำชมเพื่อกระตุ้นให้เกิดความภาคภูมิใจ การให้ทดลองทำนี้ควรให้ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนรู้เรื่องดีพอแล้ว

.

4. ติดตามผล เมื่อได้มีการสอนงานไปแล้ว งานของผู้สอนยังไม่จบสิ้น ผู้สอนควรจัดให้ผู้เรียนได้มีโอกาสนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติ โดยผู้สอนอาจมอบงานให้ทำ หรือให้ผู้เรียนได้เข้าปฏิบัติการจริง ในระหว่างนี้ผู้สอนควรติดตามการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด สอดส่องดูแลการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เมื่อเห็นว่าผู้เรียนพอทำงานได้แล้วจึงค่อยลดความช่วยเหลือลง แต่ก็ยังพร้อมที่จะให้คำแนะนำและตอบข้อสงสัยได้เสมอ การมอบหมายให้ทำจะช่วยให้ผู้เรียนมีความมั่นใจในตัวเอง และสามารถทำงานต่อไปได้โดยไม่ผิดพลาด        

.
สัมพันธภาพกับการสอนงาน
1. สิ่งที่ผู้สอนงานให้แก่ผู้เรียน คือ

- การเป็นผู้ฝึกสอน
- ความเป็นมิตร
- การเป็นผู้สนับสนุน
- การเป็นแบบอย่างที่ดี
- ความรู้สึกปลอดภัย
- อุปถัมภ์โดยไม่ประเมินผล
- ให้ทิศทางในการทำงานไปสู่เป้าหมาย

.
2. สิ่งที่ผู้เรียนจะได้รับ คือ

- ผู้ช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาตนเองและองค์กร
- แรงกระตุ้น และแรงจูงใจ
- ประโยชน์จากประสบการณ์ ความรู้ ของผู้สอนงาน    

.
3. สิ่งที่องค์กรจะได้รับ

- วัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง
- คุณค่าหลักจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง
- ความต่อเนื่อง และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
- การพัฒนาผู้นำในอนาคต
- ความยืนยงขององค์กร
- ลดอัตราการลาออกของพนักงาน

.
4. สิ่งที่ผู้สอนงานจะได้รับ คือ

- เสริมทักษะการสื่อสารของผู้สอนงาน
- เพิ่มความละเอียดถี่ถ้วน
- มีโอกาสในการทบทวนความรู้ และประสบการณ์จากการทำงานในอดีต
- สร้างสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นในองค์กร     

.
บรรยากาศ การสนับสนุน และการตอบสนองต่อกระบวนการเรียนรู้ในการสอนงาน
หน้าที่สำคัญของผู้สอนงาน ก็คือ

- สร้างความรู้สึกปลอดภัยและบรรยากาศที่สบาย ๆ
- สังเกตและให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนงาน รวมถึงการถ่ายทอดทักษะสำคัญ ๆ
- ให้คำชี้แนะและข้อมูลย้อนกลับที่เพียงพอต่อการที่ผู้เรียนงานจะนำไปปรับปรุงแก้ไขตนเอง

.

เมื่อกระบวนการสอนงานประสบผลสำเร็จ พัฒนาการก็จะเกิดขึ้นแก่ตัวผู้สอนงานและผู้เรียนรู้งาน โดยที่ผู้สอนงานจะเริ่มต้นในการสร้างสัมพันธภาพโดยสนทนากับผู้เรียนรู้งาน ในแง่ของเป้าหมายองค์กรและเป้าหมายในการทำงาน หน้าที่รับผิดชอบในงาน ประสิทธิภาพในการทำงาน และอื่น ๆ

.

ส่วนผู้เรียนรู้งานก็จะปรึกษากับผู้สอนงาน ในด้านวิสัยทัศน์ส่วนตน เป้าหมายองค์กร กระบวนงานที่เกี่ยวข้อง คุณภาพงาน และความคาดหวังในอนาคต เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็เป็นข้อมูลที่ผู้สอนงานควรต้องทราบ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการให้แนวทางและสอนงานในโอกาสต่อ ๆ ไป

.
สิ่งที่สำคัญ 3 ประการ ในการสอนงาน ประกอบด้วย
1. บรรยากาศ (Climate)

บรรยากาศเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการที่จะสร้างความอบอุ่นละการร่วมแรงร่วมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นำไปสู่อิสระในการเปิดโอกาสต่อการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเรียนรู้

.
จากนั้นแนวทางในการปฏิสัมพันธ์ก็จะเกิดขึ้น เช่น จะมีการนัดปรึกษาหารือกันในทุก 3 วัน จุดอ่อนและจุดแข็งในงานก็ต้องมีการวิเคราะห์ออกมา ลักษณะการสื่อสารต้องมีการปรึกษาหารือ ความรู้เฉพาะทาง และความสามารถส่วนบุคคลจะต้องมีการระบุไว้อย่างชัดเจน
.

ในฐานะของผู้สอนงาน สิ่งที่สำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาระหว่างผู้สอนและผู้เรียนรู้ ความมีส่วนช่วยเหลือ อุปถัมภ์ ของกันและกัน รวมถึง การสร้างความเข้าใจร่วมกัน

.

กระบวนการในการสอนงานถูกสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพ พรสวรรค์ และความสามารถเฉพาะตัวของผู้เรียน เพื่อที่จะเสริมศักยภาพให้แก่องค์กร เพราะความสำเร็จที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็เนื่องมาจากการทำให้บุคคลมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล แต่สิ่งที่พึงระวังไว้คืออย่าได้เอาตัวคุณไปใส่ตัวเขา เพราะหน้าที่ของคุณก็เพียงแค่พัฒนาทรัพยากรบุคลเท่านั้น      

.
2. การให้ความสนับสนุน (Support)

การเป็นผู้คอยสนับสนุนนั้น
- จงอย่าสั่ง แต่จงฟัง
- งานของคุณ คือการดึงความคิดของพวกเขาออกมา และอย่าบีบบังคับให้พวกเขาต้องคิด แต่ควรให้อิสระพวกเขาในการพัฒนาช่วยพวกเขาในการทำแผนงาน ให้คำแนะนำเมื่อพวกเขาถาม เราจะถามก็เพื่อที่จะเข้าใจในความรู้สึกของพวกเขา ให้พวกเขาเขียนรายงานอธิบายสิ่งที่พวกเขาต้องการจะบรรลุ รวมถึงทักษะที่พวกเขาต้องการจะได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา

.

- ให้พวกเขาได้มีโอกาสในการอธิบายถึงพัฒนาการในอาชีพ ความสามารถเฉพาะทางในงานที่ต้องการ สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ งานส่วนรวม งานอาสา เป็นต้น

.

เมื่อรายงานเหล่านี้เสร็จสมบูรณ์ ให้พวกเขาระบุด้วยว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้สิ่งเหล่านั้นเป็นไปด้วยความคาดหวัง เพื่อนำไปสู่การเขียนแผนปฏิบัติการในลำดับต่อไป                               

.
3. การตอบสนองต่อกระบวนการเรียนรู้ (Feedback)

การให้ผู้เรียนมีการตอบสนอง เป็นการทำให้พวกเขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญและมีคุณค่า เมื่อมีการตอบสนองแล้ว จงเน้นไปที่ประเด็นสำคัญ ๆ ที่อยู่ภายใต้คำย่อที่ว่า "FOCUS" ดังนี้

.

F = Focus - key issues
O = Opportunities for development
C = Care - empathy - concern - compassion
U = Understanding and unconditional acceptance Strengths

.
Focus (โฟกัส) กุญแจสำคัญ
Opportunities (โอกาส) ในการพัฒนา
Care (ห่วงใย) มีความรู้สึกร่วม-ตระหนัก-เห็นอกเห็นใจ
Understanding (เข้าใจ) ยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข
Strengths (แข็งแกร่ง) จะนำมาซึ่งความเข็มแข็ง

ในบางครั้ง ปฏิกิริยาบางอย่าจากผู้เรียนอาจเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นผู้สอนงานจึงควรทำความเข้าใจและยอมรับ ดังเช่นในตารางข้างล่างนี้

.
ตารางที่ 1 แสดงปฏิกิริยาของผู้รับการสอนงาน

.

เมื่อผู้สอนงานได้รับการตอบสนองข้างต้น เขาอาจจะแสดงออกด้วยคำพูดหรือวิธีการใด ๆ ก็ตามที แต่มันไม่สำคัญเท่าใดนัก เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การที่ผู้เรียนรู้จะยอมรับในบทบาทของผู้สอนนั้นหรือไม่ต่างหาก 

.

ผู้เรียน 9 ประเภท
ในการสอนงาน ผู้สอนจะพบผู้เรียนประเภทต่าง ๆ ดังนี้

ประเภทที่ 1 ชวนทะเลาะวิวาท

ตั้งคำถามออกมาแต่ละครั้ง พูดอะไรออกมาแต่ละคำ มีลักษณะก่อกวนชวนวิวาท เสียดสีคนโน้น แขวะคนนี้อยู่เรื่อย ๆ เป็นที่น่ารำคาญยิ่งนัก
วิธีแก้ไข พยายามอดทน ใจเย็น ๆ เฉย ๆ ไว้ อย่าสนใจ อย่าต่อล้อต่อเถียงด้วย ปล่อยให้พูดพร่ำไปคนเดียว ในที่สุดจะเงียบไปเอง

.
ประเภทที่ 2 รู้ทุกอย่าง

ใครจะพูดอะไรถามอะไรรู้ดีหมดทุกอย่าง เป็นเจ้าทฤษฎีอยู่คนเดียวไม่มีใครเสมอเหมือน
วิธีแก้ไข ให้กลุ่มผู้เรียนวิจัย "ทฤษฎี" ของเขาเอง อย่าไปตัดสินเสียคนเดียว คนหมั่นไส้อยู่มาก จะช่วยกันเล่นงานให้เงียบลงเอง

.
ประเภทที่ 3 ดาวค้าน

คอยจ้องจะค้าน หาจังหวะพลาดของผู้บรรยาย เพื่อแสดงภูมิของตนเองอยู่บ่อย ๆ 
วิธีแก้ไข อย่าปล่อยเลยตามเลย ฟังและยอมรับ (ถ้ารับฟังได้) ยอมนับถือว่าเขาก็เป็นฝ่ายถูกเหมือน เมื่อเรายอมรับเขา เขาก็พอใจแล้ว อาจค้านน้อยลงหรือเลิกค้านในที่สุด  

.
ประเภทที่ 4 พูดมาก

โวยวายเจี๊ยวจ๊าวไม่มีหยุดปาก พูดซ้ำซากวกวนอยู่นั่นเอง และไม่รู้จักจบลงง่าย ๆ 
วิธีแก้ไข คอยขัดจังหวะด้วยชั้นเชิง จำกัดเวลาให้พูด ให้เขาเป็นตัวตลกถ้าไม่หยุดพูด

.
ประเภทที่ 5 ไม่สนใจเลย

ไม่ยอมเปิดปากพูดอะไรทั้งสิ้น นั่งหลับบ้าง ตื่นบ้าง ใครจะพูดอะไร ซักถามอะไรไม่สนใจทั้งนั้น นั่งเฉย ๆ ซึม ๆ เหมือนตัว "ฮิปโป"
วิธีแก้ไข ซักไซ้ไล่เลียงเรื่องการงานของเขาให้เขาพูดเรื่องหน้าที่การงานของเขาเอง ปัญหาของเขาเอง เรื่องที่เขาสนใจ ในที่สุดก็จะมีส่วนร่วมในกับการฝึกอบรมจนได้

.
ประเภทที่ 6 ขี้อาย

นั่งนิ่ง ชำเลียงมองคนโน้นคนนี้เวลาเขาพูดกัน พอถูกถามเข้าก็อายม้วน บิดไปบิดมาไม่ยอมพูดยอมจา ไม่กล้าอ้าปาก แม้จะหัวเราะยังปิดปากหัวเราะ
วิธีแก้ไข ถามเขาบ่อย ๆ เรียกชื่อเขาบ่อย ๆ พยายามเพิ่มความเชื่อมั่นให้เขา เมื่อเขาตอบถูกก็ยกย่องชมเชย และใช้ความคิดของเขาเป็นตัวอย่าง

.
ประเภทที่ 7 ชอบช่วยเหลือ

ร่วมมือด้วยดีทุกอย่าง อาสาตอบถ้าไม่มีใครตอบ นั่งเฉยเมื่อมีคนพูดมากอยู่แล้ว คอยเอาใจใส่ไม่ให้ผู้บรรยายผิดหวังหรือเคอะเขิน
วิธีแก้ไข ไม่ต้องหนักใจอะไร มีมากเท่าไรยิ่งดี คอยใช้เขาบ่อย ๆ ให้เขาได้โอกาสได้อภิปรายเพิ่มเติมเสมอ 

.

ประเภทที่ 8 หัวสูง
ทำท่าเป็นคนรู้แจ้งเห็นจริงทุกอย่าง ที่พูด ๆ กันมาทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่อง "ขี้ผง" สำหรับเขาเท่านั้น มักแสดงออกว่ามีภูมิเหนือกว่าอยู่เสมอ

วิธีแก้ไข อย่าวิจารณ์ความคิดเขา ใช้เทคนิคคล้อยตามและแก้ไข (Yes-but) อย่าทักท้วงตรง ๆ สอนเขาทางอ้อม ในที่สุดเขาจะรู้ตัวว่ามีความรู้ยังไม่สมบูรณ์ก็จะค่อย ๆ ลดทิฐิลงมาเอง

.
ประเภทที่ 9 หัวรั้น

เถียงไม่รู้จักหยุดจักหย่อน คิดว่าตัวเองถูกเสมอ คือ รั้นพูดอยู่แต่เรื่องเดิม ยืนยันเรื่องนั้นว่าตัวเป็นฝ่ายถูก ใคร ๆ เขาไปถึงไหนแล้วก็ยังไม่ยอมเลิกพูด

วิธีแก้ไข ให้เก็บเรื่องนี้ไว้เจรจากันส่วนตัวหลังการบรรยายไปแล้ว

.

ประโยชน์ของการสอนงาน
การสอนงานที่ดีจะก่อให้เกิดประโยชน์ ดังต่อไปนี้

1. ผลงานของหน่วยงานเพิ่มขึ้น งานที่รับผิดชอบเป็นไปตามมาตรฐานหรือเป้าหมายที่กำหนดไว้
2. ข้อผิดพลาดในการทำงานลดน้อยลง
3. คนงานมีความเข้าใจในงานเพิ่มขึ้น มีฝีมือเพิ่มขึ้น สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามวิธีการ
4. อุบัติเหตุในการทำงานลดน้อยลง
5. ผลผลิตมีคุณภาพดี ตรงตามมาตรฐาน เป็นที่พอใจของลูกค้า
6. หน่วยงานและองค์กรมีกำไรเพิ่มขึ้น

.

จากประโยชน์ต่าง ๆ ของการสอนงานนี้เอง องค์กรต่าง ๆ จึงควรเร่งรัดให้หัวหน้างานทำการสอนงานเพื่อเพิ่มพูนและพัฒนาฝีมือของคนงานให้กว้างขวางมากขึ้นต่อไป

..
สรุป

การสอนงานนั้นถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญประการหนึ่งของการเป็นหัวหน้างาน หัวหน้างานจึงควรทำความเข้าใจกับวิธีการสอนงาน และพยายามนำไปใช้เพื่อพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชาและคนงานให้มีความรู้ความชำนาญเพิ่มขึ้น ลดข้อผิดพลาดในการทำงานลง การสอนงานที่ดีจะเพิ่มผลงานของหน่วยงานและองค์กร และเพิ่มคุณค่าของหัวหน้างานให้มากขึ้น

..

หัวหน้างานที่สอนงานเป็น จะมีผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดีที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้หัวหน้างานลดภาระการติดตามงานและการแก้ไขข้อบกพร่องของงานออกไป ทั้งมีเวลาในการพัฒนางานมากขึ้น การสอนงานจึงถือเป็นเครื่องมือของหัวหน้างานในการทำงาน ซึ่งหัวหน้างานต้องรู้จักใช้เพื่อเพิ่มผลงานของตนเอง และขององค์กร ธุรกิจในท้ายที่สุด

..
เอกสารอ้างอิง

1. สนั่น เถาชารี. การบริหารทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ อีกหนึ่งยุทธวิธีแห่งความสำเร็จขององค์กร. Industrial Technology Review 2550; 13(163): 158-162.
2. สนั่น เถาชารี.กลยุทธ์การสร้างแรงจูงใจ กลไกที่ผู้บริหารองค์กรพึงพินิจ. Industrial Technology Review 2550; 13(173): 130-139.
3. สนั่น เถาชารี. กลยุทธ์การฝึกอบรมบุคลากรให้ได้ผล. Technic Magazine 2551; 25(288): 136-144.
4. สนั่น เถาชารี. บริหารงานบุคคลด้วยกลยุทธ์เชิงรุก ตอนที่ 1. ส่งเสริม เทคโนโลยี 2551; 35(199): 39-44.
5. อัชฌพร อังกินันทน์. การเพิ่มประสิทธิภาพในองค์กร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศูนย์ส่งเสริมอาชีวะ, 2546.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด