เนื้อหาวันที่ : 2009-06-04 22:16:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5095 views

ทำความรู้จักกับงบประมาณการจ่ายลงทุน

บ่อยครั้งที่องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่โดยคาดการณ์ไว้ว่าโครงการเหล่านั้นจะให้ผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ในอนาคตที่คุ้มค่าในอนาคต ลักษณะโครงการที่กล่าวถึงนี้รู้จักกันในชื่อว่า งบประมาณการจ่ายลงทุน (Capital Budgeting) โครงการจ่ายลงทุนที่ดีจะก่อให้เกิดกระแสเงินสดรับที่เพิ่มขึ้น แต่หากการบริหารโครงการจ่ายลงทุนที่ไม่ดีพอสามารถทำให้องค์กรประสบปัญหาความยุ่งยากทางการเงินขึ้นได้

ผศ.วิวัฒน์ อภิสิทธิ์ภิญโญ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา,
wiwatapi@gmail.com              

.

.

บ่อยครั้งที่องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่โดยคาดการณ์ไว้ว่าโครงการเหล่านั้นจะให้ผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ในอนาคตที่คุ้มค่าในอนาคต ลักษณะโครงการที่กล่าวถึงนี้รู้จักกันในชื่อว่า งบประมาณการจ่ายลงทุน (Capital Budgeting) ตัวอย่างโครงการในลักษณะดังกล่าวมีความหมายรวมถึง การซื้อเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ใหม่ การสร้างโรงงานแห่งใหม่ การพัฒนาเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ การขยายสาขาแห่งใหม่

.

โครงการจ่ายลงทุนที่ดีจะก่อให้เกิดกระแสเงินสดรับที่เพิ่มขึ้น หรือลดจำนวนกระแสเงินสดจ่าย หรืออาจเป็นไปได้ทั้งสองอย่างโดยตลอดอายุโครงการ ซึ่งจะทำให้สามารถได้รับผลตอบแทนตามเป้าหมายกำไรที่ต้องการ คงไม่มีองค์กรธุรกิจใดที่จะสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาวโดยที่ไม่ทำการลงทุนในโครงการจ่ายลงทุนในระยะยาวเลย การบริหารโครงการจ่ายลงทุนที่ไม่ดีพอสามารถทำให้องค์กรประสบปัญหาความยุ่งยากทางการเงินขึ้นได้ จากการที่มีเงินลงทุนจมในทรัพยากรที่ต้องใช้เวลานานเกินกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ ทำให้เสียโอกาสในการที่จะได้รับประโยชน์ หรือพนักงานขาดความเชื่อมั่นในองค์กร หรือผิดนัดชำระหนี้ต่อผู้จัดส่งปัจจัยการผลิตหรือไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ทันเวลา

.
ประเภทของโครงการลงทุน

กิจการจัดทำงบประมาณการจ่ายลงทุนเนื่องจากมีความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ดำเนินงานระยะยาวด้วยเหตุผลและวัตถุประสงค์หลายประการ ที่พบโดยทั่วไปสามารถจำแนกได้ 3 ประเภท ดังนี้

.

1.สินทรัพย์ที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้เป็นไปตามข้อปฏิบัติในเรื่องของความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม การจัดหาสินทรัพย์เพื่อวัตถุประสงค์ในข้อนี้มีความเป็นไปได้มากที่จะไม่สามารถปฏิเสธหรือยืดระยะออกไปได้ไม่นานนักโดยปราศจากเงื่อนไขข้อบังคับเกี่ยวกับบทลงโทษที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้นทุนที่ใช้เพื่อจัดหาสินทรัพย์เหล่านี้เป็นต้นทุนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป

.

2.สินทรัพย์ที่จำเป็นเพื่อการขยายการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและ/หรือเพื่อเพิ่มรายได้ สินทรัพย์เหล่านี้จะช่วยทำการปรับปรุงหรือรักษาระดับกำลังการผลิตให้มีประสิทธิภาพ หรือช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่กิจการ โดยบ่อยครั้งการจัดหาสินทรัพย์เหล่านี้สามารถดำเนินการในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ในระดับขั้นที่ผู้บริหารมีอำนาจในการตัดสินใจดำเนินการ

.

3.สินทรัพย์ที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สินทรัพย์เหล่านี้ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้แก่กิจการซึ่งจะทำให้สามารถเข้าสู่ส่วนแบ่งตลาดใหม่ หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการปรับปรุงการดำเนินงานขั้นพื้นฐานให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น

.

หลักการในการประเมินค่าและกระบวนการตัดสินใจสำหรับการทำให้ได้มาซึ่งสินทรัพย์ต่าง ๆ เหล่านั้นมีความเป็นไปได้มากที่จะมีแนวทางในการดำเนินการที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์หรือเหตุผลของความต้องการสินทรัพย์นั้น ลักษณะของกลยุทธ์ในการดำเนินงานที่มีความแตกต่างกันไปเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพิจารณาเพื่อตัดสินใจว่าจะดำเนินการจัดหาสินทรัพย์ดำเนินงานในลักษณะต่าง ๆ อย่างไร ความต้องการจัดหาสินทรัพย์เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับในด้านความปลอดภัย สุขภาพ              

.

หรือสิ่งแวดล้อมมีความเป็นไปได้มากที่จะต้องดำเนินการตามข้อบังคับของกฎหมายและไม่สามารถปล่อยให้ล่าช้าได้ บ่อยครั้งที่มักจะต้องกระทำในทันที เป้าหมายของการตัดสินใจในการจัดหาสินทรัพย์เหล่านี้คือการเลือกสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดความมีประสิทธิผลในด้านของต้นทุนและสอดคล้องกับเงื่อนไขข้อบังคับทางกฎหมาย กลยุทธ์ในการดำเนินงานจึงอาจจะไม่มีบทบาทมากนักในการตัดสินใจจัดหาสินทรัพย์ดำเนินงานในลักษณะนี้

.

บทบาทของกลยุทธ์ในการดำเนินงานจะจำกัดบทบาทในการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและ/หรือเพิ่มรายได้ให้แก่กิจการ กิจการมีความต้องการนำสินทรัพย์เหล่านี้ไปใช้เพื่อรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันหรือการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ โดยส่วนใหญ่การจัดหาสินทรัพย์ในลักษณะนี้มักจะไม่ส่งผลกระทบที่สำคัญต่อสายผลิตภัณฑ์หรือส่วนแบ่งทางการตลาด ประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากในการตัดสินใจลงทุนมีความเป็นไปได้มากว่าให้ความสำคัญไปที่การเปรียบเทียบต้นทุนและผลประโยชน์ รวมถึงความสามารถในการจัดหาเงินทุนของกิจการ

.

การจัดหาสินทรัพย์ดำเนินงานเพื่อขยายความสามารถในการแข่งขันให้เพิ่มขึ้นมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกระแสเงินสดในการดำเนินงานและกำไรในระยะสั้นของกิจการ ตลอดจนความสามารถในด้านการแข่งขันในระยะยาว สินทรัพย์ดำเนินงานในกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแนวทางของการกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงาน ก่อนที่จะดำเนินการจัดหาสินทรัพย์ในลักษณะนี้ ข้อเสนอของโครงการลงทุนควรจะต้องได้รับการทบทวนว่ามีความสอดคล้องในแนวทางเดียวกันกับเป้าหมายและกลยุทธ์ในการดำเนินงานขององค์กรอย่างแท้จริง

.
กระบวนการของงบประมาณการจ่ายลงทุน    

กระบวนการของงบประมาณการจ่ายลงทุนประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 3 ประการคือ การระบุลักษณะและอธิบายรายละเอียดของโครงการ การประเมินค่าและคัดเลือก การตรวจสอบและทบทวน

.
การระบุลักษณะและอธิบายรายละเอียดของโครงการ

กระบวนการของงบประมาณการจ่ายลงทุนเริ่มต้นจากการระบุ และการอธิบายรายละเอียดของโครงการ การดำเนินการในขั้นนี้จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก และเป็นขั้นตอนที่มีความยุ่งยากมากที่สุดสำหรับความสำเร็จของการดำเนินโครงการการจ่ายลงทุน

.

เริ่มต้นจากข้อเสนอของโครงการลงทุนที่ได้รับมาจากผู้บริหารงานในทุกระดับขั้นจากทุกส่วนงานย่อยขององค์กร งบประมาณการจ่ายลงทุนที่มีลักษณะของการเปลี่ยนทดแทนสินทรัพย์เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น หรือการปรับปรุงระบบความปลอดภัยโดยต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพการดำเนินงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้ดีขึ้นกว่าเดิม โครงการลักษณะดังกล่าวนี้มีความเป็นไปได้ที่จะมีจุดเริ่มต้นมาจากผู้บริหารระดับล่างหรือพนักงาน          

.

ในทางตรงกันข้ามผู้บริหารในระดับที่สูงกว่ามักจะนำเสนอโครงการในลักษณะของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ระบบการดำเนินงาน เช่น การสร้างโรงงานใหม่ การนำระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดีหรือระบบการผลิตแบบยืดหยุ่นเข้ามาประยุกต์ใช้ การพัฒนาสายผลิตภัณฑ์ใหม่ การขยายเขตการขายหรือสาขาใหม่ การเพิ่มทรัพยากรหรือแนวปฏิบัติใหม่ให้มีความสอดคล้องกับระบบการบริหารงานแนวใหม่ สภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน สภาพแวดล้อมของการแข่งขัน พฤติกรรมผู้บริโภค ข้อบังคับหรือกฎหมายใหม่ ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

.

ก่อนที่เริ่มดำเนินการโครงการลงทุนใด ๆ จะต้องอธิบายให้ชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ของโครงการลงทุนและกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการโครงการให้เข้าใจอย่างชัดเจน ผู้บริหารต้องไม่ควรสนใจแต่เพียงรายละเอียดของโครงการที่ควรจะลงทุนเท่านั้น แต่จะต้องให้ความสนใจถึงเหตุผลและรายละเอียดของโครงการอื่น ๆ ที่ไม่ควรลงทุนด้วย การขาดรายละเอียดที่ชัดเจนในแต่ละโครงการจะทำให้ประสบปัญหาที่ยุ่งยากมากขึ้นในการประมาณการรายได้ ต้นทุน และกระแสเงินสดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในแต่ละโครงการ และบ่อยครั้งที่มักจะพบว่าโครงการลงทุนที่ขาดรายละเอียดที่ชัดเจนนั้น เมื่อนำไปดำเนินการตามแผนการลงทุนทำให้กิจการต้องใช้ทรัพยากรการดำเนินงานที่มากเกินกว่าความจำเป็น    

.
การประเมินค่าและการคัดเลือกโครงการ

การประเมินค่าโครงการลงทุนหนึ่ง ๆ นั้นต้องการข้อมูลของผลประโยชน์ รายได้ ต้นทุน และกระแสเงินสดครอบคลุมโดยตลอดอายุของโครงการเหล่านั้น การทราบข้อมูลดังกล่าวจะช่วยทำให้ฝ่ายบริหารสามารถเข้าใจได้ถึงผลกระทบที่มีต่อทรัพยากรของกิจการ และช่วยทำให้ตัดสินใจได้ว่ากิจการจะสามารถรับภาระต้นทุนในการดำเนินการดังกล่าวได้หรือไม่ ผลประโยชน์และต้นทุนของโครงการลงทุนมีความหมายรวมถึงองค์ประกอบของข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่ไม่เป็นตัวเงินด้วย

.

ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคตบ่อยครั้งที่มักจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการประมาณการรายได้ ผลประโยชน์ ต้นทุน และกระแสเงินสดของโครงการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโครงการลงทุนเหล่านั้นมีระยะเวลาที่ยาวนาน การเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยี ความต้องการทางการตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงไป การดำเนินการใด ๆ ของกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกัน ผลกระทบจากสภาพของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในประเทศ หรือระดับท้องถิ่น หรือในพื้นที่ล้วนแต่เป็นปัจจัยโดยทั่วไปที่กิจการจำเป็นต้องนำมาพิจารณาในการวิเคราะห์โครงการลงทุนทั้งสิ้น นอกจากนี้ปัจจัยที่มีลักษณะเฉพาะและมีความเกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนจำเป็นต้องนำมาพิจารณาประกอบกันด้วย

.

ผลกระทบของข้อมูลทางการเงินไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้นในการพิจารณาเพื่อประเมินค่าและคัดเลือกโครงการลงทุน กิจการจะต้องให้ความสำคัญทั้งในส่วนของข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่ไม่เป็นตัวเงินประกอบกันด้วย ลักษณะของข้อมูลที่ไม่เป็นตัวเงินอันเป็นเหตุผลหนึ่งที่สำคัญอันก่อให้เกิดพันธะผูกพันที่ทำให้กิจการต้องพิจารณาโครงการจ่ายลงทุน เช่น ประเด็นในเรื่องของความปลอดภัยที่มีต่อพนักงานภายในองค์กร หรือสาธารณชนทั่วไป สิ่งอำนวยความสะดวกความสบายของพนักงาน หรือสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

.

การควบคุมมลพิษ การปฏิบัติตามข้อบังคับทางกฎหมาย พันธะผูกพันที่มีความต่อเนื่อง การลงทุนเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดหรือสายการผลิตเดิมให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ อย่างไรก็ตามในการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัจจัยที่ไม่เป็นตัวเงินนั้น อาจจะมีปัจจัยในข้อในข้อหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งปัจจัยไม่ได้ถูกกล่าวถึงในการพิจารณาโครงการจ่ายลงทุน ถ้าปัจจัยในเรื่องนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลทางการเงิน  

.
การติดตามและตรวจสอบโครงการ

ความสำเร็จของโครงการลงทุนต้องการการติดตามและตรวจสอบการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง การประเมินค่าโครงการลงทุนด้วยความระมัดระวังก่อนที่จะตัดสินใจเลือกลงทุนในโครงการใดนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ในขณะที่โครงการลงทุนกำลังดำเนินงานไปนั้นอาจจะมีสถานการณ์หรือปัจจัยบางประการที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดการเปลี่ยนแปลงไปได้ ทำให้กิจการอาจจะต้องดำเนินการปรับปรุงแผนการลงทุนในครั้งแรกหรือขยายการลงทุนในส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติมถ้าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการที่จะทำให้บรรลุผลสำเร็จที่ต้องการ

.
ข้อมูลสำหรับการจัดทำงบประมาณการจ่ายลงทุน

ข้อมูลที่ใช้สำหรับการตัดสินใจในโครงการลงทุนจะมีความแตกต่างไปจากข้อมูลที่นำมาใช้ในกระบวนการจดบันทึกรายการและการจัดทำรายงานทางบัญชี 2 ประการคือ ลักษณะของข้อมูลเหล่านั้น และปัจจัยในเรื่องของความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ              

.
ลักษณะของข้อมูลงบประมาณการจ่ายลงทุน

ลักษณะของข้อมูลงบประมาณการจ่ายลงทุนจะแตกต่างไปจากข้อมูลรายงานทางการเงิน 3 ประการคือ ช่วงเวลาของข้อมูล ข้อมูลที่นำมาประเมินค่า และรอบระยะเวลาแนวนอน

.
ช่วงเวลาของข้อมูล

แนวคิดพื้นฐานของข้อมูลในรายงานทางการเงินคือ รอบระยะเวลาและการบัญชีตามเกณฑ์คงค้าง ช่วงเวลาหรือรอบระยะเวลาโดยปกติที่กิจการทำการจดบันทึกข้อมูลทางบัญชีเพื่อการจัดทำรายงานทางการเงินในระหว่างงวดหรือสิ้นงวดบัญชีหนึ่ง ๆ คือ รายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี ดังนั้นข้อมูลในรายงานทางการเงินจึงเป็นข้อมูลสำหรับงวดเวลาใดเวลาหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น

.

อย่างไรก็ตามถ้าเป็นกระบวนการของงบประมาณการจ่ายลงทุน การประเมินค่าโครงการใดจะต้องพิจารณาข้อมูลที่เกิดขึ้นตลอดอายุโครงการลงทุนนั้น ไม่จำกัดเพียงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในทางบัญชีเท่านั้น เช่น การตัดสินใจแนะนำสายผลิตภัณฑ์ใหม่ จะต้องไม่พิจารณาแต่เพียงงบประมาณการลงทุนเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการเปิดตลาดใหม่ในครั้งแรกเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณารวมไปถึงรายได้และต้นทุนอื่น ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยตลอดอายุของสายผลิตภัณฑ์ที่ยังคงอยู่ในตลาดนั้น ๆ ในทางตรงกันข้ามถ้าใช้หลักการบัญชีตามเกณฑ์คงค้างจะต้องทำการแยกวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ออกเป็นหลายช่วงเวลา และจะมุ่งความสำคัญแยกเป็นแต่ละช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ของช่วงวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เหล่านั้น

.
ข้อมูลที่นำมาประเมินค่า

การบัญชีตามเกณฑ์คงค้างต้องการให้กิจการทำการรวบรวมข้อมูลรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นสำหรับงวดเวลาบัญชีหนึ่ง ๆ เพื่อจัดทำรายงานทางการเงินมากกว่าที่จะรายงานให้ทราบถึงเงินสดรับและเงินสดจ่ายสำหรับงวด 

.

งบประมาณการจ่ายลงทุนมุ่งให้ความสำคัญต่อกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นมากกว่าจะเป็นเพียงรายได้และค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์คงค้างเท่านั้น เช่น การขายสินค้าแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงินจะไม่ได้ถูกรวมนำมาประเมินค่าในงวดเวลาการลงทุน ในทำนองเดียวกันถ้ามีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้ทำการจ่ายเงินออกไปจริงสำหรับงวดเวลาหนึ่ง ๆ จะไม่ถูกรวมเพื่อการวิเคราะห์งบประมาณการจ่ายลงทุนด้วยเช่นกัน ในขณะที่กระบวนการบัญชีตามเกณฑ์คงค้างจะรวมรายการรายได้และค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นเงินสดเข้าไว้ด้วยแล้วถ้ารายการค้าเหล่านั้นเกิดขึ้นในงวดเวลาที่ต้องการวัดค่าผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินเพื่อการจัดทำรายงานทางการเงิน

.
รอบระยะเวลาแนวนอน

ความแตกต่างอีกประเด็นหนึ่งระหว่างข้อมูลงบประมาณการจ่ายลงทุนและข้อมูลในรายงานทางการเงินคือ รอบระยะเวลาในแนวนอน ข้อมูลงบประมาณการลงทุนมุ่งเน้นที่ข้อมูล และเหตุการณ์ในอนาคต ในขณะที่ข้อมูลในรายงานทางการเงินอยู่บนฐานข้อมูลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ความเหมาะสมของการจดบันทึกรายการค้าเพื่อการรายงานทางการเงินนั้นจะต้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างงวดเวลาและมีความเกี่ยวข้องต่อเนื่องกับการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในอดีต ในทางตรงกันข้ามข้อมูลที่เกิดขึ้นในอดีตจะมีความเป็นอิสระในการที่จะถูกนำมารวมเพื่อการพิจารณาในการวิเคราะห์การลงทุน และการประเมินค่าผลกระทบที่มีต่อกระแสเงินสดในปัจจุบันและกระแสเงินสดในอนาคต

.

จากที่กล่าวมาข้างต้นสามารถสรุปลักษณะของการคัดเลือกข้อมูลที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์งบประมาณการลงทุนและการรายงานทางการเงินได้ดังตารางที่ 1 ต่อไปนี้

ตารางที่ 1 ลักษณะข้อมูลของงบประมาณการลงทุนและการรายงานทางการเงิน
.
ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับงบประมาณการจ่ายลงทุน

สิ่งที่มีความสำคัญของกิจการและนักลงทุนคือ ฐานะทางการเงินในแง่ของเงินสด ดังนั้นปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับงบประมาณการจ่ายลงทุนใด ๆ คือ กระแสเงินสดรับและกระแสเงินสดจ่ายของโครงการลงทุนหนึ่ง ๆ 

.

กิจการทำการลงทุนในโครงการใด ๆ เพื่อต้องการปรับปรุงกำไร ความสนใจที่มีต่อกำไรจึงทำให้กิจการมุ่งเป้าหมายไปยังผลกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นสำหรับรอบระยะเวลา การมุ่งให้ความสนใจในของตัวเลขกำไรที่มากจนเกินไปสามารถจะนำไปสู่ความผิดพลาดในการตัดสินใจลงทุนในโครงการใด ๆ ได้เช่นกัน เนื่องจากกำไรสุทธิที่ให้ความสำคัญกันนั้นถูกคำนวณขึ้นโดยใช้หลักการบัญชีตามเกณฑ์คงค้างเพื่อการจัดทำรายงานทางการเงินซึ่งอาจไม่เหมาะสมอย่างเพียงพอต่อการที่จะนำมาใช้เพื่อการประเมินค่าผลตอบแทนจากโครงการลงทุน

.

ไม่ว่าจะเป็นประเด็นในเรื่องรอบระยะเวลาของรายงานที่ต้องการรวมถึงหลักการของกระบวนการในการประเมินค่าผลกำไรในทางบัญชีทำให้ตัวเลขผลกำไรที่ได้ในลักษณะดังกล่าวให้ประโยชน์ได้น้อยเมื่อจะนำไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน กำไรสุทธิเป็นผลลัพธ์ที่ได้มาจากการเลือกนำกฎเกณฑ์และวิธีการทางบัญชีที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ ทำให้กำไรของงวดเวลาบัญชีใด ๆ อาจจะมีความแตกต่างกันไปอย่างมีนัยสำคัญเมื่อกิจการเลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่แตกต่างกันไป แม้ว่าวิธีการบัญชีเหล่านั้นจะเป็นวิธีการที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปก็ตาม

.

ความเป็นจริงแล้วการตัดสินใจเกี่ยวกับงบประมาณการจ่ายลงทุนนั้นจะพิจารณารายการที่ไม่เป็นเงินสด โดยรายการที่ไม่เป็นเงินสดอย่างเช่น ค่าเสื่อมราคาจะถูกรวมในการคำนวณเพื่อการวิเคราะห์งบประมาณการจ่ายลงทุนแต่เพียงการประเมินค่าถึงผลกระทบของรายการที่เป็นเงินสดที่มีต่อกระแสเงินสดเกี่ยวกับการจ่ายค่าภาษีเงินได้เท่านั้น เนื่องจากค่าเสื่อมราคาไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายเป็นเงินสดและด้วยลักษณะของรายการค่าใช้จ่ายจัดว่าเป็นรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์การลงทุน แม้ว่าที่จริงแล้วรายการเหล่านี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการประเมินค่าหาผลกำไรของกิจการ

.

ค่าใช้จ่ายประเภทค่าเสื่อมราคาจึงมีความเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์การลงทุนเฉพาะส่วนของผลกระทบที่มีต่อจำนวนเงินค่าภาษีเงินได้ที่กิจการต้องจ่ายสำหรับงวดเวลาเท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาถึงจำนวนเงินสดที่จ่ายไปเพื่อซื้อสินทรัพย์ดำเนินงานระยะยาวสำหรับงวดเวลาใด ๆ รายการลักษณะนี้จัดเป็นรายการที่มีความเกี่ยวข้องเพื่อวัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์งบประมาณการจ่ายลงทุนทั้งจำนวน แม้ว่ารายการในลักษณะนี้จะไม่ถือเป็นรายการค่าใช้จ่ายในการคำนวณหาค่ากำไรสุทธิสำหรับงวดเวลาก็ตาม

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด