ในภาวะปัจจุบันการประหยัดพลังงานไฟฟ้าเป็นเป้าหมายสำคัญเป้าหมายหนึ่งในการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้โรงงานอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานต่าง ๆ ได้ เครื่องมือทดสอบชนิด Power Logging Tester ซึ่งปกติใช้ในการตรวจวัดการใช้พลังงาน หรือแก้ไขปัญหาทางไฟฟ้า นั้นยังสามารถอ่านและบันทึกค่าทางไฟฟ้าต่าง ๆ ได้แก่ แรงดันไฟฟ้า กระแสไฟฟ้า แนวโน้มของพลังงาน การเกิดทรานเซี้ยนต์ และการบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ
ขวัญชัย กุลสันติธำรงค์ |
. |
ในภาวะปัจจุบันการประหยัดพลังงานไฟฟ้าเป็นเป้าหมายสำคัญเป้าหมายหนึ่งในการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้โรงงานอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานต่าง ๆ ได้ เครื่องมือทดสอบชนิด Power Logging Tester ซึ่งปกติใช้ในการตรวจวัดการใช้พลังงาน (Energy Audit) หรือแก้ไขปัญหาทางไฟฟ้า (Troubleshooting) นั้นยังสามารถอ่านและบันทึกค่าทางไฟฟ้าต่าง ๆ ได้แก่ แรงดันไฟฟ้า กระแสไฟฟ้า แนวโน้มของพลังงาน (Power Trend) การเกิดทรานเซี้ยนต์ (Transients) และการบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ (Event Log) |
. |
เราสามารถลดค่าไฟฟ้าและทำให้เกิดการประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้โดยการนำเอาค่าแรงดันไฟฟ้าและค่ากระแสไฟฟ้าที่ไม่สมดุลที่อ่านค่าได้โดยเครื่อง Power Logging Tester มาศึกษาและวิเคราะห์เพื่อจัดโหลดไฟฟ้าให้เกิดความสมดุลในระบบไฟฟ้า 3 เฟส และศึกษาค่ากำลังไฟฟ้าที่วัดและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่บันทึกไว้ได้เพื่อกำหนดตารางเวลาการทำงานของโหลดไฟฟ้าให้เกิดความเหมาะสมซึ่งจะช่วยลดค่าดีมานด์ไฟฟ้า (Electric Demand) ลงได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่สามารถลงมือปฏิบัติได้เลย เชิญติดตามรายละเอียดในบทความฉบับนี้ได้เลยครับ |
. |
การจัดโหลดสมดุล (Load Balancing) |
วิศวกรไฟฟ้าพยายามจัดโหลดไฟฟ้าให้เกิดความสมดุลในระบบไฟฟ้ากำลัง 3 เฟสตั้งแต่เริ่มต้นของการออกแบบจนถึงเวลาติดตั้ง การคำนวณโหลดไฟฟ้านั้นสามารถคำนวณโหลดไฟฟ้าตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ.2545 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ.2551) ข้อ 3.1.6 การคำนวณโหลดสำหรับวงจรย่อย และข้อ 3.2.3 การคำนวณโหลดสำหรับสายป้อน โดยค่าที่คำนวณได้จะมีหน่วยเป็นโวลต์ - แอมแปร์ (VA) หรือ กิโลโวลต์ - แอมแปร์ (kVA) |
. |
การจัดโหลดไฟฟ้าให้เกิดความสมดุลในแต่ละเฟสตั้งแต่เริ่มต้นของการออกแบบนั้น วิศวกรไฟฟ้าพยายามทำให้แต่ละเฟสมีค่ากำลังไฟฟ้าในหน่วย กิโลโวลต์–แอมแปร์ ใกล้เคียงกัน ซึ่งสามารถทำได้ในทางทฤษฏีเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะเกิดโหลดสมดุลได้อย่างสมบูรณ์ โหลดที่ไม่สมดุลก็คือแรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าในแต่ละเฟสที่ไม่สมดุลนั่นเอง ดังนั้นการตรวจจับและบันทึกค่าแรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นขณะหนึ่งขณะใดในวงจรไฟฟ้าจึงเป็นการตรวจสอบว่าเกิดสภาวะโหลดไฟฟ้าไม่สมดุลขึ้นในระบบไฟฟ้ากำลังหรือไม่ การตรวจสอบว่าเกิดโหลดไม่สมดุลในระบบไฟฟ้ามีวิธีปฏิบัติได้ 2 วิธี |
. |
วิธีที่ 1 เป็นการอ้างอิงมาตรฐาน IEEE หรือ NEMA โดยการใช้เครื่องมือวัดชนิดดิจิตอลมัลติมิเตอร์วัดค่าแรงดันไฟฟ้าขณะใดขณะหนึ่ง (Spot Voltage Reading) โดยวัดค่าแรงดันระหว่างเฟส AB, AC, BC รวมค่าที่อ่านได้และหารด้วยสามเพื่อหาค่าแรงดันไฟฟ้าเฉลี่ย เมื่อแรงดันระหว่างเฟสค่าใดค่าหนึ่งมากกว่าแรงดันเฉลี่ยเกินกว่า 1% แสดงว่าต้องการการแก้ไข อย่างไรก็ตามขั้นตอนนี้อาจจะมีความไม่แน่นอนอยู่ เนื่องจากอาจจะมีโหลดไฟฟ้าทำงานเปิด–ปิด ในแต่ละช่วงเวลาจึงต้องศึกษาควบคู่กับแนวโน้มของกำลังไฟฟ้า (Trending) และค่ากำลังไฟฟ้าที่บันทึกได้ (Power Logging) |
. |
วิธีที่ 2 เป็นการตรวจสอบโหลดไม่สมดุลโดยการใช้เครื่องมือ Power Quality Analyzer ที่มีวิธีการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า "Symmetrical Components" เพื่อวิเคราะห์โหลดไม่สมดุลที่เกิดขึ้นในระบบไฟฟ้ากำลัง โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะแยกและแสดงผลของแรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าในแต่ละเฟสเป็นส่วนประกอบสามส่วน คือ Positive Sequences, Negative Sequences และ Zero Sequences |
. |
ส่วนประกอบที่หนึ่งคือ Positive Sequences เป็นแรงดันไฟฟ้าหรือกระแสไฟฟ้าปกติที่สมดุลในระบบไฟฟ้า 3 เฟส ส่วนประกอบที่สองคือ Negative Sequences แสดงความไม่สมดุลของระบบไฟฟ้ากำลัง ทำให้โหลดไฟฟ้าประเภทอินดักตีฟโหลด เช่น มอเตอร์ หรือ หม้อแปลงไฟฟ้าเกิดความร้อนเกิน (Overheating) รวมถึงทำให้แรงบิดของมอเตอร์ลดลงมีผลต่อความเร็วรอบของมอเตอร์อีกด้วย ส่วนประกอบที่สามคือ Zero Sequences แสดงความไม่สมดุลของกระแสไฟฟ้าที่ไหลในตัวนำนิวตรอลหรือตัวนำเส้นศูนย์ในระบบไฟฟ้ากำลัง 3 เฟส ทำให้เกิดพลังงานสูญเสียในรูปของความร้อนเกินในตัวนำไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้า |
. |
มาตรฐานไฟฟ้า EN50160 คุณภาพพลังงานไฟฟ้า "Voltage Distributions: Voltage Characteristics in Public Distribution System" ได้กำหนดความไม่สมดุลในระบบไฟฟ้ากำลังที่จุด Point of Coupling ไว้ไม่เกิน 2% ในรูปของอัตราส่วนระหว่าง Vneg/Vpos หรือ Vzero/Vpos โดยค่าแต่ละค่าที่คำนวณได้ต้องไม่เกิน 2% ถ้าค่าที่คำนวณได้เกินกว่าแสดงว่าได้เกิดโหลดไม่สมดุลขึ้นในระบบไฟฟ้ากำลัง 3 เฟส ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขเพราะพลังงานที่สูญเสียมีนัยสำคัญกับระบบไฟฟ้ากำลัง |
. |
. |
รูปที่ 1 ค่าที่ตรวจวัดและวิเคราะห์โดยเครื่องมือ PQ Analyzer พบว่า Vneg เท่ากับ 9.2% แสดงว่าได้เกิดความร้อนเกินขึ้นในโหลดประเภทมอเตอร์และหม้อแปลง ทำให้แรงบิดของมอเตอร์ลดลง ส่งผลต่อความเร็วรอบของมอเตอร์ด้วย ในขณะเดียวกัน ค่า Vzero มีค่าสูงถึง 8.2% แสดงถึงกระแสไฟฟ้าปริมาณมากไหลในตัวนำนิวตรอลเกิดขึ้นเนื่องจากโหลดไม่สมดุลทำให้เกิดความร้อนเกินในตัวนำและหม้อแปลงไฟฟ้า |
. |
การกำหนดตารางเวลาการทำงานของโหลดไฟฟ้า (Load Scheduling) |
นอกเหนือจากการลดค่าพลังงานไฟฟ้าด้วยวิธีการจัดโหลดให้สมดุลแล้ว เรายังสามารถลดค่าพลังงานไฟฟ้าได้โดยการกำหนดตารางเวลาการทำงานของโหลดในระบบไฟฟ้ากำลังอย่างเหมาะสม ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารโหลดไฟฟ้า หรือ Load Management นั่นเอง |
. |
ค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฯ เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก ๆ สองส่วนคือ ค่ากำลังไฟฟ้า (Electrical Demand) ที่วัดในหน่วยของ กิโลวัตต์ และค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Demand) ที่วัดในหน่วยของ กิโลวัตต์ - ชั่วโมง หรือ การไฟฟ้าฯ จะเก็บค่ากำลังไฟฟ้าสูงสุดที่วัดได้ในหน่วย กิโลวัตต์ (kW) ทุก ๆ 15 นาที โดยค่าสูงสุดที่วัดได้นี้เรียกว่า ค่า Peak Demand ถ้าโรงงานอุตสาหกรรมใดมีค่า Peak Demand สูง การไฟฟ้าฯ ก็ต้องลงทุนในส่วนของการไฟฟ้าฯ ให้มีความพร้อมจ่ายกำลังไฟฟ้าค่าดังกล่าวได้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการไฟฟ้าฯ จึงต้องเก็บค่า Peak Demand นี้จากผู้ใช้ไฟฟ้า |
. |
ส่วนใหญ่แล้วค่า Peak Demand ที่เกิดขึ้นในระบบไฟฟ้ากำลังของผู้ใช้ไฟฟ้า เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด เป็นลักษณะโหลดไฟฟ้าประเภท Simultaneous Loads หรือโหลดจำนวนมากที่ทำงานพร้อมกัน ดังนั้นในบิลค่าไฟฟ้าแต่ละเดือนจะพบว่าผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องจ่ายค่า Peak Demand ในสัดส่วนที่สูงมากของค่าไฟฟ้าทั้งหมด ดังนั้น การลดค่าไฟฟ้าจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงการจัดตารางเวลาการทำงานของโหลดไฟฟ้าในระบบไฟฟ้ากำลังให้มีความเหมาะสม ในกรณีนี้เครื่องมือวัดชนิด Power Logger ช่วยได้ |
. |
การจัดตารางเวลาการทำงานของโหลดไฟฟ้าเริ่มจากการใช้เครื่องมือ Power Logger ตรวจติดตาม (Monitor) การทำงานของโหลดไฟฟ้าในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งอย่างต่อเนื่องเพื่อศึกษาลักษณะการทำงานของโหลดไฟฟ้าในระบบไฟฟ้ากำลัง โดยต้องศึกษาจากไดอะแกรมไฟฟ้า (Single Line Diagram) ด้วยเพื่อเปรียบเทียบกับค่าพลังงานไฟฟ้าที่วัดได้จริง |
. |
การจัดตารางเวลาการทำงานของโหลดไฟฟ้าต้องศึกษาร่วมกับ Operation Manager เพื่อหาวิธีว่าสามารถจัดตารางเวลาการทำงานของโหลดไฟฟ้าให้อยู่ในช่วงเวลาของ "OFF PEAK" เพื่อลดค่า Demand Charge นอกจากนี้ต้องวัดการใช้พลังงานไฟฟ้ารวมที่เมนสวิตซ์ทุกช่วงเวลา 15 นาที และตรวจติดตามเป็นระยะหนึ่งรอบบิลไฟฟ้า (ประมาณ 30 วัน) เพื่อศึกษาการบริหารโหลดไฟฟ้าอย่างรอบด้าน |
. |
เมื่อได้ข้อมูลจาก Power Logger Devices เพียงพอแล้วก็โหลดข้อมูลดังกล่าวลงในเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อศึกษาและตรวจวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ ตรวจสอบว่ามีโหลดไฟฟ้าใดที่ทำให้เกิดค่า Peak Demand มีโหลดไฟฟ้าใดบ้างที่ทำงานในช่วง ON PEAK และในช่วง OFF PEAK พิจารณาว่าจะสามารถปรับเวลาการทำงานของโหลดไฟฟ้าหรือขั้นตอนการผลิตเพื่อลดค่า Peak Demand ลงได้หรือไม่ |
. |
สรุป |
เราสามารถใช้ PQ Analyzer Tester และ Power Logger Devices ในการตรวจติดตามการทำงานของโหลดไฟฟ้าเพื่อศึกษาข้อมูลที่วัดได้ในการลดค่าไฟฟ้าจากการจัดโหลดไฟฟ้าให้สมดุลและจัดตารางเวลาการทำงานของโหลดไฟฟ้าให้เกิดความเหมาะสม |
. |
ข้อมูลอ้างอิง |
* EC&M January 2009: Saving Energy Through Load Balancing and Scheduling page 16–20 |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด