เนื้อหาวันที่ : 2006-10-02 10:36:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 11007 views

การเลือกใช้น้ำมันเกียร์ในงานอุตสาหกรรม

โดยทั่วไปแล้วการเลือกใช้น้ำมันเกียร์ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน จะช่วยยึดอายุการให้งานของชิ้นส่วนเครื่องมือ เครื่องจักรนั้น ๆ อีกทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในการผลิตและบำรุงรักษาอีกด้วย ทั้งนี้เราควรต้องศึกษาถึงความจำเป็นที่ต้องเลือกใช้น้ำมันเกียร์ในเกรดที่ถูกต้องกับลักษณะงาน โดยคำนึงคุณสมบัติและหน้าที่หลักของน้ำมันเกียร์ว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง

โดยทั่วไปแล้วการเลือกใช้น้ำมันเกียร์ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน จะช่วยยึดอายุการให้งานของชิ้นส่วนเครื่องมือ เครื่องจักรนั้นๆ อีกทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในการผลิตและบำรุงรักษาอีกด้วย ทั้งนี้เราควรต้องศึกษาถึงความจำเป็นที่ต้องเลือกใช้น้ำมันเกียร์ในเกรดที่ถูกต้องกับลักษณะงาน โดยคำนึงคุณสมบัติและหน้าที่หลักของน้ำมันเกียร์ว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง ดังต่อไปนี้

.

 

1.ช่วยในการหล่อลื่นและป้องกันการสึกหรอของชุดเกียร์ ทั้งนี้ในขณะที่เกียร์ขบกัน จะเกิดแรงกระทำที่หน้าสัมผัสของฟันเกียร์ทั้งในแนวตั้งฉากและทางด้านข้าง การเสียดสีย่อมเกิดขึ้นตลอดเวลาอันเป็นสาเหตุทำให้ชุดเกียร์เกิดการสึกหรอและเสียหายได้ น้ำมันเกียร์ที่ใช้จะต้องมีฟิล์มที่แข็งแกร่งและสารรับแรงกดที่ทำหน้าที่ลดแรงเสียดทานและป้องการเสียดสีระหว่างผิวสัมผัสของเกียร์ เพื่อป้องกันการสึกหรอตลอดสภาวะการทำงาน โดยเฉพาะในสภาวะความเร็วรอบต่ำ โหลดมากและอุณหภูมิสูง

.

2.ช่วยในการระบายความร้อน การหล่อลื่นชุดเกียร์ พบว่ามีปริมาณน้ำมันเพียง 2% ของน้ำมันในอ่างทั้งหมดที่ทำหน้าที่หล่อลื่นระหว่างฟันเกียร์ ส่วน 98% ที่เหลือทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อระบายความร้อน ซึ่งในแต่ละครั้งที่ฟันเกียร์ขบกัน แรงกดระหว่างฟันเกียร์จะทำให้เกิดความร้อนสะสมจนถึงจุดหนึ่งที่อุณหภูมิของชุดเกียร์คงที่ คือจุดที่ความร้อนที่เกิดจากการเสียดสีของผิวเกียร์ที่เกิดขึ้นและความร้อนที่เกิดจากการปฎิบัติงาน เท่ากับความร้อนที่น้ำมันระบายให้กับอากาศหรือระบบหล่อเย็นภายนอก ในกรณีที่น้ำมันเกียร์ไม่สามารถถ่ายเทความร้อนจากชุดเกียร์ไปยังระบบหล่อเย็นได้ อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น เป็นผลให้น้ำมันเกียร์เกิดการเสื่อมสภาพและทำให้ชุดเกียร์เกิดการสึกหรออย่างรวดเร็ว

.

3.ช่วยในการป้องกันสนิมและกำจัดสิ่งสกปรกออกจากระบบ น้ำมันเกียร์ช่วยป้องกันสนิม โดยทำหน้าที่เคลือบผิวโลหะเพื่อป้องกันไม่ให้อากาศและน้ำมีโอกาสทำปฏิกริยากับโลหะในขณะเดียวกันน้ำหรือสารแปลกปลอมอื่น ๆ เช่น เศษโลหะหรือฝุ่นละออง จะถูกชะออกจากผิวหน้าเกียร์ หลังจากนั้นสารแปลกปลอมเหล่านี้จะแขวนลอยในน้ำมันเกียร์และกำจัดออกจากระบบ โดยไส้กรองหรือเกิดการแยกตัวในอ่างน้ำมัน

.
การเลือกใช้น้ำมันเกียร์
การใช้น้ำมันเกียร์ที่เหมาะสมกับงาน ช่วยให้การทำงานของเกียร์สม่ำเสมอ เงียบและได้ประสิทธิภาพ การส่งถ่ายกำลังสูงสุด การใช้น้ำมันเกียร์ที่ไม่ถูกต้องหรือคุณภาพต่ำ ทำให้เกียร์เกิดการสึกหรอ สั่น เสียงดัง สูญเสียกำลังและเกิดความเสียหายต่อชุดเกียร์ในที่สุด ดังนั้นจึงมีหลายปัจจัยที่ใช้พิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกใช้น้ำมันเกียร์ ได้แก่
.

          - อุณหภูมิเริ่มต้นก่อนใช้ทำงานจนถึงอุณหภูมิสูงสุดที่เกียร์ทำงาน 

          - ชนิดของเกียร์ เช่น เฟืองไฮปอยด์ เฟืองเดือยหมู หรือ เฟืองดอกจอก เป็นต้น 

          - วัสดุที่ใช้ทำเกียร์ 

          - ลักษณะของโหลดที่กระทำกับชุดเกียร์ เช่น โหลดเป็นลักษณะต่อเนื่อง เป็นจังหวะของรอบการทำงานหรือมีลักษณะกระแทก (Shock Load) 

          - สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น ฝุ่นละออง ความชื้นหรือการปะปนของน้ำเข้าไปในระบบ

..
น้ำมันเกียร์ในงานอุตสาหกรรม  
ปัจจุบันน้ำมันเกียร์ที่ใช้กันในปัจจุบัน แบ่งออก ได้ 3 ชนิด ใหญ่ ๆ ดังนี้
.

1.น้ำมันเกียร์สำหรับงานเบา เกียร์ที่รับโหลดน้อยและใช้ความเร็วรอบสูง ซึ่งหน้าที่สำคัญของน้ำมันเกียร์ในงานนี้ คือ ระบายความร้อน ดังนั้นจึงนิยมใช้น้ำมันที่ใสกว่าปกติ เช่น เบอร์ 68 หรือ เบอร์ 100 น้ำมันที่ใช้หล่อลื่นเกียร์สำหรับงานเบา สามารถใช้น้ำมันเทอร์ไบน์หรือน้ำมันไฮดรอลิกแทนน้ำมันเกียร์ได้

.

2.น้ำมันเกียร์สำหรับงานปานกลางจนถึงงานหนัก เกียร์ที่ต้องทำงานภายใต้แรงกดสูงตลอดเวลา ชุดเกียร์มีแนวโน้มที่จะเกิดการสึกหรอได้ง่าย น้ำมันที่ใช้จะต้องมีความหนืดมากพอที่จะรักษาสภาพของฟิล์มน้ำมันได้ น้ำมันเกียร์ประเภทนี้ยังต้องการสารรับแรงกดสูง เพื่อช่วยในการหล่อลื่นและป้องกันการสึกที่เกิดจากแรงกด แรงสไลด์ หรือ จากการกระแทก

.

3.น้ำมันเกียร์สังเคราะห์ นิยมใช้หล่อลื่นชุดเกียร์ที่ต้องทำงานภายใต้สภาวะที่รุนแรงกว่าปกติ เนื่องจากน้ำมันแร่ธรรมดาไม่สามารถรองรับการทำงานได้ ทำให้น้ำมันเกิดการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วและชุดเกียร์เกิดการสึกหรอ การใช้น้ำมันเกียร์สังเคราะห์จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ โดยทั่วไปน้ำมันสังเคราะห์จะเหมาะกับ ชุดเกียร์ที่ต้องรับโหลดสูงเป็นพิเศษ, อุณหภูมิของการทำงานสูงกว่าปกติ และเพื่อเพิ่มอายุการใช้งานของให้ยาวนานขึ้น

.

น้ำมันสังเคราะห์ที่นำมาผลิตเป็นน้ำมันเกียร์ ส่วนใหญ่จะเป็นสารสังเคราะห์ที่เรียกว่า Polyalkylene Glycols หรือเรียกสั้นๆ ว่า PAG เนื่องจากมีคุณสมบัติที่โดดเด่นและเหนือกว่าน้ำมันสังเคราะห์ชนิดอื่นๆ ดังนี้

.

          - ด้านการหล่อลื่น PAG มีฟิล์มน้ำมันที่แข็งแกร่งไม่สลายตัว เมื่อได้รับความร้อนหรือโหลด ช่วยให้หล่อลื่นเกียร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

          - ค่าดัชนีความหนืดสูง (Extra High Viscosity Index) PAG มีค่าดัชนีความหนืดสูงกว่า 200 เมื่อเทียบกับน้ำมันแร่ที่มีค่าดัชนีความหนืดอยู่ที่ 100 หรือ น้ำมันสังเคราะห์ชนิดอื่นๆ เช่น PAO ที่มีดัชนีชนิดความหนืดน้อยกว่า 150 ช่วยให้น้ำมันสามารถรักษาความหนืดได้คงที่ตลอดช่วงอุณหภูมิการใช้งาน และฟิล์มน้ำมันยังมีความหนาพอที่จะแยกผิวสัมผัสของเกียร์ออกจากกัน

.

          - ค่าความคงตัวสูง (Thermal & Oxidation stability) PAG ทนต่อความร้อนและต้านทานการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดนชันได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้อายุการใช้งานนานกว่า สารที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของ PAG จะเปลี่ยนเป็นสารประกอบที่ละลายในตัวมันเองได้ ดังนั้นการใช้ PAG เป็นน้ำมันเกียร์จะช่วยให้ชุดเกียร์สะอาดและช่วยให้ระบายความร้อนได้ดียิ่ง เนื่องจากการเสื่อมสภาพของ PAG ไม่ทิ้งคราบเขม่าหรือคราบยางเหนียวในระบบ ผิดกับน้ำมันแร่หรือน้ำมันสงเคราะห์บางชนิดเมื่อเกิดการเสื่อมสภาพ สารประกอบที่เกิดขึ้นจะไม่ละลายในตัวมันเองและจะแยกตัวออกมา ทำให้มีคราบเขม่าหรือคราบยางเหนียวในระบบ

.

จากข้อมูลข้างต้นที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการเลือกใช้น้ำมันเกียร์ในงานอุตสาหกรรมโดยรวม หากท่านต้องการข้อมูล

.

เพิ่มเติมในเรื่องของน้ำมันเกียร์ที่ใช้อยู่ให้เหมาะกับอุตสาหกรรมของท่าน สามารถติดต่อสอบถามมาได้ที่ บริษัท AsPac Oil () Ltd. แผนกเทคนิคบีพีอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0-2684-3730 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด