ปัจจุบันเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ประเภทและชนิดต่างๆเข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการผลิตเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการที่จะให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ให้มีความสะดวกและรวดเร็วในการผลิต และให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และความต้องการดังกล่าวเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ
ปัจจุบันเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ประเภทและชนิดต่างๆเข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการผลิตเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการที่จะให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ให้มีความสะดวกและรวดเร็วในการผลิต และให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และความต้องการดังกล่าวเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพตลอดมา ซึ่งจะเห็นได้จากที่มีการพัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์รูปแบบเดิมให้ดีขึ้นและมีการพัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์ใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้มีการนำเอาเครื่องจักรและอุปกรณ์อัตโนมัติรวมถึงหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่สามารถทำงานตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ล่วงหน้ามาใช้กันมากขึ้นด้วย |
. |
. |
การนำเอาเครื่องจักรและอุปกรณ์มาใช้ในการผลิตนั้น มิได้มีเพียงข้อดีที่เครื่องจักรและอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถทำงานตามความต้องการในการผลิตเท่านั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งแสดงว่าการผลิตนั้นๆขึ้นอยู่กับเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการผลิต นั่นก็คือ ถ้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่นำมาใช้เกิดการชำรุดเสียหายก็จะทำให้การผลิตต้องหยุด หรือถ้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เมื่อใช้งานไปแล้วเกิดการเสื่อมสภาพขึ้น สินค้าที่ผลิตออกมาก็จะไม่ได้คุณภาพตามที่กำหนด และความเร็วในการผลิตก็อาจลดลงไปด้วย นอกจากนี้เมื่อเครื่องจักรและอุปกรณ์เสื่อมสภาพ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์นั้นๆลดลง เป็นผลให้มีการสิ้นเปลืองพลังงานเพิ่มมากขึ้น และหากเครื่องจักรและอุปกรณ์มีการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง หรือออกแบบมาไม่ดีพอ รวมทั้งไม่มีการดูแลรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ก็จะเกิดอันตรายต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องและทำให้เกิดมลภาวะในด้านต่างๆตามมาอีกด้วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นข้อเสียของเครื่องจักรและอุปกรณ์เมื่อนำมาใช้ในการผลิต นอกเหนือไปจากการลงทุนในการจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายในการใช้งานและบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์เหล่านี้ที่จะต้องเสียอยู่แล้ว |
. |
การปฏิบัติต่อเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อรักษาข้อดีไว้ และทำให้ข้อเสียที่จะเกิดขึ้นมีน้อยที่สุดนั้นก็คือ การใช้งาน(operation) และการบำรุงรักษา(maintenance) ที่ถูกต้องและเหมาะสมนั่นเอง โดยการปฏิบัติต่อเครื่องจักรและอุปกรณ์ทั้งสองประการนี้ จะต้องนำมาพิจารณาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการสร้างเครื่องจักรและอุปกรณ์นั้นๆขึ้นมา หรือระยะต้นของวงจรชีวิต(life cycle) ของเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งก็คือ ระยะของการศึกษาความเหมาะสมและการออกแบบเบื้องต้น (ถ้าเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์มาใช้งานเอง) หรือระยะของการกำหนดรายละเอียด(specifications) ของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จะจัดหามาใช้ในการผลิต ผลของการนำเอาประเด็นของการใช้งานและการบำรุงรักษามาพิจารณาตั้งแต่ระยะแรกของวงจรชีวิตนั้น ก็จะทำให้ปัญหาของการใช้งานและการบำรุงรักษาที่จะต้องปฏิบัติต่อเครื่องจักรและอุปกรณ์นั้นๆเกิดขึ้นน้อยลง |
. |
อย่างไรก็ตามการนำเอาเครื่องจักรและอุปกรณ์อัตโนมัติมาใช้ในการผลิต จะทำให้ความต้องการของการใช้งานทั้งปริมาณและความยุ่งยากน้อยลง แต่ในทางตรงกันข้ามความต้องการของการบำรุงรักษาทั้งปริมาณและความยุ่งยากซับซ้อนจะมีมากขึ้น นอกจากนี้ลักษณะของงานบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังขึ้นอยู่กับตัวแปรจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันและมักมีลักษณะที่ไม่แน่นอนอีกด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีระบบการจัดการงานบำรุงรักษาที่ดีเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์จะเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ |
. |
ปัญหาของการจัดการบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ของโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาก็คือ ระบบการจัดการงานบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ขาดประสิทธิภาพและมีการสูญเสียค่าใช้ในการบำรุงรักษาที่ไม่จำเป็นสูง ทั้งนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการปล่อยปละละเลยต่อการปรับปรุงการจัดการงานบำรุงรักษาที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากแนวความคิดและทัศนคติที่มีต่อการบำรุงรักษาเครื่องจักรกลที่ผิดๆ เช่น การยึดถือภาษิตเก่าๆที่ว่า ถ้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ไม่ชำรุดเสียหายก็อย่าไปซ่อมแซม และการมองว่างานบำรุงรักษาเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นงานหรือกิจกรรมในด้านลบ ถือว่าเป็นงานที่เป็นอุปสรรคต่อการผลิต และเป็นงานที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปโดยไม่ได้มีการพิจารณาตัดสินว่าสมควรหรือไม่ รวมทั้งมักจะไม่เห็นผลตอบแทนจากการดำเนินงานบำรุงรักษาที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังเข้าใจว่าการบำรุงรักษาเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายให้กลับสู่สภาพเดิมเท่านั้น การจัดการงานบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ของโรงงานในประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ จึงอยู่ในลักษณะของการตั้งรับและเป็นการดำเนินงานตามที่เครื่องจักรและอุปกรณ์จะกำหนด หรือการรอให้เครื่องจักรและอุปกรณ์ชำรุดเสียหายแล้วถึงจะทำการซ่อมแซม ซึ่งการจัดการงานบำรุงรักษาแบบนี้จะไม่สามารถประเมินผลของการดำเนินงานได้ เนื่องจากไม่มีการกำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น การปรับปรุงการจัดการงานบำรุงรักษาที่เป็นอยู่ก็จะไม่สามารถทำได้ในที่สุด |
. |
การแก้ไขปัญหาของการจัดการงานบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่กระทำได้ค่อนข้างยาก ซึ่งจะเห็นได้จากสถานการณ์ของการบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ของโรงงานทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมที่ยังมีการสูญเสียเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สาเหตุที่สำคัญก็คือ ความลำบากในการเปลี่ยนแนวความคิดที่ผิดซึ่งมีต่อการบำรุงรักษาของผู้บริหารและพนักงานทั้งหมดของโรงงาน ดังนั้นการเริ่มต้นของการแก้ปัญหาในการจัดการงานบำรุงรักษาก็คือผู้บริหารและพนักงานจะต้องยอมรับความจริงว่าแนวความคิดและทัศนคติที่มีต่อการบำรุงรักษาที่มีอยู่นั้นเป็นแนวทางและทัศนคติที่ผิดเสียก่อน แล้วถึงเรียนรู้แนวทางที่ถูกต้องเพื่อนำไปสู่การบำรุงรักษาที่ดี และรับรู้สิ่งตอบแทนที่จะได้รับจากการปรับปรุงการจัดการงานบำรุงรักษาทั้งในส่วนของโรงงานโดยรวมและในส่วนของพนักงานแต่ละคน |
. |
การบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้ (reliability-centered maintenance, RCM) เป็นแนวทางในการจัดการงานบำรุงรักษารูปแบบหนึ่งที่จะนำไปสู่ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งได้มีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายและได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างมากในประเทศอุตสาหกรรม ดังนั้นผู้บริหารโรงงานที่ยังคงประสบกับปัญหาของการจัดการงานบำรุงรักษาและกำลังหาทางแก้ไขจึงน่าที่จะศึกษาและทำความเข้าใจกับการจัดการงานบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้นี้เป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ได้มุมมองในด้านการจัดการงานบำรุงรักษาใหม่อีกมุมมองหนึ่ง |
. |
ความหมาย |
ความหมายของการบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้นั้น เข้าใจว่ายังไม่มีการกำหนดไว้เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่มีผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ปรึกษาในด้านการฝึกอบรม และ/หรือวางระบบการจัดการงานบำรุงรักษา และ/หรือพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับระบบการจัดการงานบำรุงรักษาได้กำหนดความหมายของการบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้ไว้ ซึ่งเท่าที่รวบรวมได้มีดังต่อไปนี้ |
. |
1. หลักการในการพัฒนาหรือจัดทำแผนหรือโครงการบำรุงรักษาโดยคำนึงถึงความเชื่อถือได้ของส่วนประกอบต่าง ๆ ของระบบ(การผลิต) ที่มีปัญหา |
. |
2. กรรมวิธีที่ใช้ในการกำหนดความต้องการในการบำรุงรักษาของ เครื่องจักรและส่วนประกอบที่เกี่ยวกับการทำงานของเครื่องจักรและส่วนประกอบนั้น ๆ |
. |
3. กฎเกณฑ์ที่มีเหตุผลซึ่งใช้สำหรับการพัฒนาหรือจัดทำแผนหรือโครงการบำรุงรักษาโดยคำนึงถึงระดับของความเชื่อถือได้ของเครื่องจักรและส่วนประกอบหนึ่งๆด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยที่สุด |
. |
4. กรรมวิธีที่ใช้ในการกำหนดสิ่งที่จะต้องดำเนินการ(การบำรุงรักษา) เพื่อให้เครื่องจักรและส่วนประกอบสามารถทำงานได้ตามที่ผู้ใช้ต้องการให้ทำในหน้าที่ของการทำงานที่เป็นอยู่ |
. |
จากความหมายของการบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้ข้างต้นพอสรุปได้ว่า การบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้เป็นกรรมวิธีที่ใช้ในการกำหนดความต้องการหรือแผนการบำรุงรักษาของเครื่องจักรและส่วนประกอบโดยคำนึงถึงความเชื่อถือได้ของเครื่องจักรและส่วนประกอบด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยที่สุด ส่วนความเชื่อถือได้ (reliability) ของเครื่องจักรและอุปกรณ์นั้นหมายถึงความน่าจะเป็นของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่สามารถทำงานได้ตามต้องการภายใต้เงื่อนไขและสภาวะการทำงานที่กำหนดในช่วงเวลาที่กำหนดไว้หนึ่ง ๆ ซึ่งถ้าเป็นสมรรถนะความเชื่อถือได้ (reliability performance) ก็นิยมที่จะวัดในค่าของเวลาเฉลี่ยที่เครื่องจักรสามารถทำงานได้ตามปกติระหว่างจุดหยุดการทำงานของเครื่องจักรสองจุดอันเนื่องมาจากการบำรุงรักษา (Mean Time To Failure , MTTF) ซึ่งเครื่องจักรที่มีสมรรถนะความเชื่อถือได้สูงก็จะมีค่า MTTF ที่ยาวนาน |
. |
หลักการ |
กรรมวิธีและการดำเนินงานของการบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้กำหนดขึ้นมาจากหลักการเบื้องต้นที่สำคัญ 8 ประการ คือ |
. |
1. การบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาให้ระบบทำงานได้ ซึ่งไม่ได้เน้นไปที่การดูแลรักษาเครื่องจักรหรือส่วนประกอบแต่ละชิ้นให้ทำงานได้ แต่จะมุ่งเน้นไปที่การดูแลรักษาการทำงานของระบบ ตัวอย่างเช่น ระบบ ( เช่น สายการผลิต ) ยังสามารถทำงานได้ถ้าเครื่องจักรหรือส่วนประกอบอันใดอันหนึ่งชำรุดก็แสดงว่าสามารถให้เครื่องจักรหรือส่วนประกอบนั้น ๆ ใช้งานจนชำรุดได้ (run to failure) เป็นต้น |
. |
2. การบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้ ใช้วิธีการทางสถิติในการคาดการณ์ ได้แก่ สถิติของการชำรุดเสียหาย และความน่าจะเป็นของการเกิดความเสียหายที่อายุการใช้งานต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อคาดการณ์ข้อขัดข้องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต |
. |
3. การบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้ คำนึงถึงข้อจำกัดในการออกแบบเครื่องจักรและส่วนประกอบ แผนหรือโครงการบำรุงรักษาที่จัดทำขึ้นจะสามารถรักษาระดับความเชื่อถือได้ตามคุณภาพของการออกแบบ ปริมาณของการบำรุงรักษาจะไม่สามารถชดเชยการออกแบบที่ไม่ดีได้ แต่จะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบำรุงรักษาเพื่อการปรับปรุงการออกแบบครั้งต่อไป |
. |
4. การบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้ พิจารณาถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมก่อนแล้วถึงพิจารณาความประหยัด ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมจะต้องรักษาไว้ไม่ว่าค่าใช้จ่ายจะเป็นเท่าได |
. |
5. การบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้ ให้นิยามการชำรุดเสียหายเป็นสภาวะที่ไม่น่าพอใจ การชำรุดเสียหายเป็นการสูญเสียระดับที่ยอมรับได้ของคุณภาพของผลิตภัณฑ์ หรือเป็นสภาวะเมื่อการทำงานตามหน้าที่ของระบบไม่ได้ถูกรักษาไว้ให้เป็นไปตามมาตรฐาน |
. |
6. การบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้ ให้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม งานที่ปฏิบัติจะต้องทำให้จำนวนการชำรุดขัดข้องลดลง หรืออย่างน้อยที่สุดจะต้องลดความเสียหายที่เกิดจากการชำรุดขัดข้อง |
. |
7. การบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้ คำนึงถึงการบำรุงรักษาทั้ง 4 รูปแบบและใช้ผังการวิเคราะห์เหตุผล ( logic tree ) ในการเลือกรูปแบบที่เหมาะสม รูปแบบแรกเป็นการใช้จนเกิดการชำรุดเสียหาย (run to failure) หรือการบำรุงรักษาหลังเหตุขัดข้องหรือการบำรุงรักษาแก้ไข รูปแบบที่สองเป็นการบำรุงรักษาตามกำหนดเวลาแน่นอน (calendar based maintenance) หรือการบำรุงรักษาป้องกันทางตรง รูปแบบที่สามเป็นการบำรุงรักษาตามสภาพ (condition based maintenance) โดยอาศัยการตรวจสอบสภาพของเครื่องจักรและส่วนประกอบและกำหนดหรือคาดการณ์เวลาที่จะทำการบำรุงรักษา รูปแบบที่สี่เป็นการบำรุงรักษาเชิงรุก (proactive maintenance) โดยจะใช้บทเรียนจากประสบการณ์ในการบำรุงรักษาที่ผ่านมาสำหรับสถานะการณ์ในอนาคต ซึ่งรวมถึงใช้ในการกำหนดรายละเอียดของเครื่องจักรที่จะจัดซื้อใหม่ให้ดีขึ้น การวิเคราะห์ชิ้นส่วนที่เสียหาย และการหาสาเหตุราก ( root cause ) ของการชำรุดเสียหาย |
. |
8. การบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้ เป็นกรรมวิธีที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง วิธีการบำรุงรักษาจะต้องมีการทบทวน ข้อมูลของการบำรุงรักษาที่รวบรวมได้จะต้องนำมาพิจารณาเพื่อปรับปรุงวิธีการที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต |
. |
การวิเคราะห์เครื่องจักรและส่วนประกอบ |
การนำเอาการบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้ไปใช้จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เครื่องจักรและส่วนประกอบของระบบ ซึ่งกระทำโดยการตอบปัญหาที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรและส่วนประกอบแต่ละชิ้นจำนวน 7 คำถาม ได้แก่ |
. |
1.อะไรคือหน้าที่และมาตรฐานของสมรรถนะที่เกี่ยวข้องในการทำงานที่เป็นอยู่ของเครืองจักรหรือส่วนประกอบ ซึ่งหน้าที่ยังแบ่งเป็นหน้าที่หลักที่ผู้ใช้ต้องการให้เครื่องจักรหรือส่วนประกอบสามารถทำได้เป็นลำดับแรก ได้แก่ ความเร็ว อัตราการผลิต และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และหน้าที่รองเป็นหน้าที่นอกเหนือไปจากหน้าที่หลักที่เครื่องจักรหรือส่วนประกอบสามารถทำได้ เช่น ความปลอดภัย การประหยัด ประสิทธิภาพของการทำงาน และการเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ เป็นต้น ส่วนมาตรฐานสมรรถนะก็คือขีดความสามารถในแต่ละหน้าที่ของเครื่องจักรหรือส่วนประกอบ |
. |
2.ในลักษณะใดที่เครื่องจักรหรือส่วนประกอบไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เมื่อเครื่องจักรหรือส่วนประกอบไม่สามารถทำหน้าที่ตามที่ผู้ใช้ต้องการให้ทำ ก็ต้องถือว่ามีข้อขัดข้องในการทำงาน(functional failure) เกิดขึ้นกับเครื่องจักรหรือส่วนประกอบนั้น ๆ ซึ่งข้อขัดข้องในการทำงานของเครื่องจักรหรือส่วนประกอบแต่ละชิ้นที่อาจเกิดขึ้นก็จะมีหลายลักษณะ เช่น มอเตอร์ไฟฟ้าไม่หมุน มอเตอร์ไฟฟ้าร้อนเกินไป และมอเตอร์ไฟฟ้ามีเสียงดัง เป็นต้น |
. |
3.อะไรทำให้เกิดข้อขัดข้องในการทำงานแต่ละลักษณะ เมื่อกำหนดข้อขัดข้องในการทำงานของเครื่องจักรหรือส่วนประกอบแต่ละลักษณะแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องกำหนดเหตุการณ์ทั้งหมดที่อาจทำให้เกิดหรือเป็นสาเหตุของข้อขัดข้องดังกล่าว ซึ่งนิยมเรียกเหตุการณ์นี้ว่ารูปแบบของข้อขัดข้อง (failure mode) โดยมักจะรวมข้อขัดข้องที่เกิดจากการเสื่อมสภาพหรือการสึกหรอที่เกิดขึ้นตามปกติ และข้อผิดพลาดในการใช้งานและการบำรุงรักษาด้วย เช่น มอเตอร์ไฟฟ้าไม่หมุนอาจเกิดจากรูปแบบของข้อขัดข้อง ได้แก่ โรเตอร์ไหม้ ตลับลูกปืนจับติด ฉนวนของสเตเตอร์ชำรุด และอุปกรณ์ควบคุมเสีย เป็นต้น |
. |
4.อะไรเกิดขึ้นเมื่อข้อขัดข้องในการทำงานแต่ละลักษณะเกิดขึ้น รายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเครื่องจักรหรือส่วนประกอบมีข้อขัดข้องในการทำงานเกิดขึ้น เช่น มอเตอร์ไม่หมุนทำให้เครื่องสูบไม่สามารถสูบส่งน้ำได้ เป็นต้น |
. |
5. อะไรคือผลที่ตามมาเมื่อข้อขัดข้องในการทำงานแต่ละลักษณะเกิดขึ้น ผลที่ตามมาอาจแยกเป็นผลที่ตามมาในด้านการผลิต เช่น จะทำให้การผลิตต้องหยุด หรืออัตราการผลิตลดลง เป็นต้น ผลที่ตามมาในด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เช่น ทำให้เกิดอันตรายต่อพนักงาน หรือทำให้มลพิษที่ปล่อยออกไปสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น |
. |
6. อะไรที่สามารถทำได้เพื่อป้องกันข้อขัดข้องในการทำงานแต่ละลักษณะ ซึ่งได้แก่กิจกรรมของการบำรุงรักษาป้องกันที่เหมาะสมสำหรับข้อขัดข้องในการทำงานแต่ลักษณะที่จะเกิดขึ้นกับเครื่องจักรหรือส่วนประกอบนั้น ๆ เช่น การเปลี่ยนสารหล่อลื่นก่อนที่สารหล่อลื่นนั้นจะเสื่อมสภาพ เป็นต้น |
. |
7. อะไรที่ควรจะทำถ้าไม่สามารถหาการป้องกันที่เหมาะสมได้ ซึ่งได้แก่การปล่อยให้มีการใช้งานของเครื่องจักรหรือส่วนประกอบจนชำรุดเสียหายแล้วค่อยทำการซ่อมแซม แต่ถ้าข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นมีผลกระทบที่รุนแรงก็อาจต้องใช้ระบบการติดตั้งเครื่องจักรและส่วนประกอบนั้นๆสำรองไว้ ถ้าได้วิเคราะห์แล้วว่าให้ผลที่คุ้มค่า |
. |
กรรมวิธี |
การดำเนินงานตามกรรมวิธีของการบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้นั้นโดยทั่วไปจะประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ |
. |
1. การเลือกระบบ โดยทั่วไปนิยมที่จะเลือกระบบ (สายการผลิต เครื่องจักร และส่วนประกอบ) ซึ่งมีผลกระทบต่อการผลิต ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ค่าซ่อมแซม การเก็บสำรองอะไหล่ และอื่น ๆ |
. |
2. การรวบรวมข้อมูลของระบบที่เลือก ซึ่งควรประกอบข้อมูลที่เป็นทางการของระบบ แผนผัง ข้อมูลจากผู้จำหน่าย ประวัติของระบบ คู่มือการใช้งาน และข้อมูลของข้อกำหนดในการออกแบบ |
. |
3. การกำหนดขอบเขตของระบบที่เลือก ด้วยรายละเอียดขอบเขตทางกายภาพที่แน่นอนของระบบ และรายละเอียดของเครื่องจักรและส่วนประกอบที่อยู่ภายในของระบบที่เลือก |
. |
4. การกำหนดรายละเอียดของระบบ ซึ่งได้แก่รายละเอียดและผังการทำงานของระบบ ส่วนที่ป้อนเข้าและส่วนที่ให้ออกมาจากระบบ โครงสร้างที่แยกการทำงานของระบบ รวมถึงประวัติของเครื่องจักรและส่วนประกอบ |
. |
5. การกำหนดข้อขัดข้องในการทำงานของระบบ เป็นการกำหนดหน้าที่ในการทำงานของระบบ ข้อขัดข้องในการทำงานแต่ละลักษณะ และรูปแบบของข้อขัดข้องแต่ละรูปแบบ |
. |
6. การวิเคราะห์รูปแบบและผลที่เกิดจากข้อขัดข้องแต่ละรูปแบบ (failure mode and effect analysis, FMEA) สำหรับรูปแบบของข้อขัดข้องแต่ละรูปแบบ จะต้องกำหนดสาเหตุราก (root cause) และผลที่เกิดจากข้อขัดข้องนั้น ๆ |
. |
7. การวิเคราะห์ความสำคัญ (criticality analysis) การกำหนดความสำคัญของรูปแบบของข้อขัดข้องและผลที่เกิดขึ้นโดยพิจารณาจากความรุนแรงและความน่าจะเป็นของข้อขัดข้องแต่ละรูปแบบ และถ้าเป็นรูปแบบข้อขัดข้องที่ซ่อนเร้นให้พิจารณาถึงผลที่มีต่อความปลอดภัย หรือผลที่จะทำให้ระบบต้องหยุดการทำงานทั้งหมดหรือบางส่วน หรืออาจกำหนดเป็นผลเล็กน้อยหรือที่ไม่สำคัญ |
. |
8. การเลือกงานบำรุงรักษาสำหรับรูปแบบข้อขัดข้องแต่ละรูปแบบ การกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างอายุการใช้งานกับความเชื่อถือได้สำหรับรูปแบบของข้อขัดข้องแต่ละรูปแบบ แล้วเลือกรูปแบบของงานบำรุงรักษาที่เหมาะสมที่คุ้มกับค่าใช้จ่ายมากที่สุดโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก สำหรับรูปแบบของข้อขัดข้องที่ไม่สามารถกำหนดงานบำรุงรักษาที่เหมาะสมได้ ให้พิจารณาว่าการปรับปรุงการออกแบบสามารถจะทำให้รูปแบบของข้อขัดข้องหรือผลของข้อขัดข้องหมดไปหรือไม่ เมื่อกำหนดรูปแบบการบำรุงรักษาที่เหมาะสม รวมถึงการปรับปรุงแล้วให้เปรียบเทียบกับงานบำรุงรักษาที่ทำอยู่(ถ้าดำเนินการอยู่แล้ว) และตัดงานที่ซ้ำซ้อนและงานที่ไม่จำเป็นออกไป |
. |
ประโยชน์ที่จะได้รับ |
การดำเนินงานบำรุงรักษาตามกรรมวิธีของการบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้นี้เป็นการจัดการกับข้อขัดข้องที่จะเกิดขึ้นกับระบบที่ประกอบด้วยเครื่องจักรและส่วนประกอบอย่างมีเหตุผลและให้ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งพอสรุปประโยชน์ที่จะได้รับได้ คือ |
. |
1. ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงานดีขึ้น เนื่องจากการบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้จะพิจารณาในด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมของรูปแบบข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบ จึงจะมีการดำเนินการเพื่อลดอันตรายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรและส่วนประกอบให้เหลือน้อยที่สุดหรือกำจัดให้หมดไปถ้ามีความเป็นไปได้ |
. |
2. สมรรถนะการทำงานของระบบดีขึ้น ผลผลิต และคุณภาพของผลิตภัณฑ์จะดีขึ้น เนื่องจากการบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้จะคำนึงถึงรูปแบบของการบำรุงรักษาทุกรูปแบบแล้วเลือกรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละสถานะการณ์ ซึ่งเป็นผลให้เครื่องจักรและส่วนประกอบแต่ละชิ้นได้รับการบำรุงรักษาในรูปแบบที่ได้ผลดีที่สุด การทำงานของระบบย่อมได้รับผลดีไปด้วยในที่สุด |
. |
3.ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากขึ้น เนื่องจากการบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้จะมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมการบำรุงรักษาที่ให้ผลที่ดีที่สุดต่อสมรรถนะของเครื่องจักรและส่วนประกอบของระบบ ซึ่งก็ทำให้แน่ใจได้ว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ไปในการบำรุงรักษาได้ใช้ไปอย่างดีที่สุด นอกจากนี้ถ้าเป็นการนำเอากรรมวิธีของการบำรุงรักษาเพื่อความเชื่อถือได้ไปใช้กับระบบการบำรุงรักษาที่มีอยู่แล้ว ก็จะช่วยลดปริมาณงานบำรุงรักษาที่ต้องทำเป็นประจำลง ซึ่งก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาลดลงในที่สุด |
. |
4. อายุการใช้งานของเครื่องจักรและส่วนประกอบของระบบยาวขึ้น เนื่องจากเครื่องจักรและส่วนประกอบจะได้รับการบำรุงรักษาในรูปแบบที่เหมาะสม โดยทั่วไปก็มีการบำรุงรักษาตามสภาพที่มากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นการบำรุงรักษาป้องกันที่มีผลทำให้อายุการใช้งานของเครื่องจักรและส่วนประกอบยาวขึ้น |
. |
5. พนักงานมีแรงจูงใจและมีการทำงานเป็นทีมมากขึ้น พนักงานทั้งของหน่วยงานผลิตและหน่วยงานบำรุงรักษาจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดปัญหาและหาวิธีการแก้ไขปัญหาโดยร่วมกันวิเคราะห์รูปแบบของข้อขัดข้องและผลที่จะเกิดขึ้นรวมถึงการกำหนดกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติต่อเครื่องจักรและส่วนประกอบที่เหมาะสมที่สุด ทำให้มีความรู้สึกในความเป็นเจ้าของแนวความคิดดังกล่าว เมื่อมีการนำไปใช้ก็จะรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนในการกำหนดแผนการบำรุงรักษา และความร่วมมือกันระหว่างพนักงานบำรุงรักษาและพนักงานผลิตก็จะมีมากขึ้นด้วย |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด