เนื้อหาวันที่ : 2006-09-14 09:26:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7501 views

การควบคุมต้นทุนกับการพัฒนาผลิตภาพ

โดยทั่วไปหน้าที่และภารกิจหลักของผู้บริหารระดับกลาง อย่างผู้จัดการฝ่าย นั่นคือ การควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพื่อสร้างผลกำไรสูงสุด ตามเป้าหมายขององค์กร ซึ่งความสำเร็จสามารถประเมินได้จากประสิทธิผลการควบคุมต้นทุนซึ่งเป็นแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการประเมินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงเทียบกับมาตรฐานที่ได้ตั้งไว้

โดยทั่วไปหน้าที่และภารกิจหลักของผู้บริหารระดับกลาง อย่างผู้จัดการฝ่าย นั่นคือ การควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพื่อสร้างผลกำไรสูงสุด (Profit Maximization) ตามเป้าหมายขององค์กร ซึ่งความสำเร็จสามารถประเมินได้จากประสิทธิผลการควบคุมต้นทุน (Cost Control) ซึ่งเป็นแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการประเมินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงเทียบกับมาตรฐานที่ได้ตั้งไว้ เพื่อใช้วิเคราะห์หาสาเหตุเบี่ยงเบนที่เกิดขึ้นและดำเนินการแก้ไขต่อไป ดังนั้นการควบคุมต้นทุนจึงมีบทบาทต่อการบริหารและเชื่อมโยงกับการติดตามวัดผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้น ซึ่งประกอบด้วย

.

.

          - การจัดทำเป้าหมาย แผนงาน นโยบาย และมาตรฐาน สำหรับการประเมิน 

          - ระบุแนวทางเปรียบเทียบและวัดผลกิจกรรม 

          - กลไกสำหรับการแก้ไขเพื่อบรรลุตามเป้าหมายที่ระบุไว้

รูปที่ 1 กระบวนการวิเคราะห์ปัญหาความผันแปร

.

วัตถุประสงค์หลักของการควบคุมก็เพื่อหาจุดอ่อนหรือความคลาดเคลื่อน (Errors) เพื่อที่จะทำการแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นซ้ำอีก ดังนั้นการควบคุมจึงต้องมีการดำเนินการในทุกระดับและทุกหน่วยงานขององค์กร

.
กระบวนการควบคุม
โดยทั่วไปการควบคุมจะประกอบด้วยกระบวนการต่าง ๆ ดังนี้

1.การกำหนดมาตรฐาน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์หรือมาตรวัดสำหรับเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแสดงในรูปต่าง ๆ เช่น เป้าหมาย แผนงาน บรรทัดฐาน

.

2.การติดตามวัดผล ขั้นตอนนี้จะประกอบด้วย การกำหนดวิธีการจัดเก็บข้อมูล การตรวจสอบ และการจัดทำรายงาน ซึ่งการติดตามวัดผลจะดำเนินการในทุกระดับขององค์กร โดยทั่วไปผลลัพธ์หรือข้อมูลที่จัดเก็บได้จะถูกนำมาวิเคราะห์และจัดทำรายงานสรุปผลตามรอบเวลาของการดำเนินงาน

.

รูปที่ 2 กระบวนการวางแผนและควบคุ

.

3.การเปรียบเทียบผลลัพธ์กิจกรรม โดยนำข้อมูลที่ได้รับจากการติดตามเทียบกับมาตรฐานที่ระบุในขั้นตอนแรก  เพื่อระบุความเบี่ยงเบน (Deviation) นั่นคือ หากเกิดความเบี่ยงเบนทางลบ (Negative Deviation) ก็หมายถึง เกิดความสูญเสียขึ้นและต้องดำเนินการแก้ไขด้วยกิจกรรมปรับปรุงตามวงจรคุณภาพ (PDCA) แต่หากเกิดความเบี่ยงเบนทางบวก (Positive Deviation) ก็แสดงถึงผลกำไรหรือผลิตภาพที่เกิดขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกป้อนกลับ (Feedback) เพื่อใช้สำหรับการวางแผนต่อไป

.

รูปที่ 3 การดำเนินการปรับปรุงด้วยวงจรคุณภาพ

.

4.ดำเนินการปรับปรุงและแก้ไขปัญหา จัดว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการควบคุม โดยมีการทบทวนผลลัพธ์หรือความเบี่ยงเบนที่เกิดขึ้น เพื่อระบุแนวทางแก้ไขและปรับปรุงไม่ให้ปัญหาเดิมเกิดขึ้นซ้ำอีก

.
องค์ประกอบของระบบควบคุมที่มีประสิทธิผล
โดยทั่วไปการออกแบบระบบควบคุมขององค์กรมักจะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังเช่น
.

1.วัตถุประสงค์ ควรมีการระบุวัตถุประสงค์และเกณฑ์สำหรับการวัดผลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะมาตรฐานการควบคุมควรสามารถวัดผลได้ในเชิงปริมาณ (Quantitative)

2.ความเหมาะสม ระบบการควบคุมควรมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ได้มีการระบุไว้ 

3.ความรับผิดชอบสำหรับการควบคุม โดยมีการระบุและจัดสรรงานให้กับบุคคลเพื่อรับผิดชอบต่อการดำเนินแผนงาน

4.ความยืดหยุ่นต่อการตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของแผนหรือสภาพเงื่อนไข

5.การรายงานผลอย่างทันการ ระบบควบคุมที่มีประสิทธิผลควรมีการรายงานผลอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดปัญหาความเบี่ยงเบนจากแผนหรือเป้าหมาย

6.สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย โดยมีการระบุรายละเอียดที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุมและชัดเจน

..
ขอบเขตและประเด็นของการควบคุมต้นทุน
ในสถานประกอบการทั่วไปมักมีการดำเนินกิจกรรมควบคุมต้นทุน โดยมีขอบเขตที่ครอบคลุมถึง
.

1.วัสดุทางตรง โดยมุ่งเน้นการติดตามค่าใช้จ่ายต้นทุนวัสดุทางตรงที่เกิดจากกการดำเนินงาน ซึ่งมีประเด็นการพิจารณา ดังเช่น 

.

          - วัสดุที่ใช้ในปัจจุบันมีต้นทุนการจัดหาประหยัดที่สุดหรือไม่

          - มีทางเลือกอื่นที่สามารถทดแทนวัสดุที่ใช้อยู่หรือไม่

          - มีแนวทางออกแบบที่สามารถลดต้นทุนหรือไม่

          - เปรียบเทียบต้นทุนรวมของวัสดุ เพื่อที่จะประเมินปริมาณการจัดซื้อที่ประหยัด

.
2.ค่าแรงงานทางตรง เนื่องจากค่าจ้างที่จ่ายให้กับแรงงานไม่สามารถลดได้โดยตรง ดังนั้นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว นั่นคือ การลดอัตราค่าแรงงานต่อหน่วยผลิตผล (Labor Rate Per Unit) ด้วยการพัฒนาวิธีการทำงานและฝึกอบรมเพื่อให้เกิดผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)รวมทั้งการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานและการจูงใจในรูปแบบต่าง ๆ
.

รูปที่ 4 ตัวอย่างการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน

.
3.การควบคุมค่าโสหุ้ย โดยทั่วไปค่าโสหุ้ยจะแฝงกับกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้นจึงควรทำการศึกษาเพื่อค้นหากิจกรรมที่เกิดความสูญเปล่าและดำเนินการขจัดออก
.
เครื่องมือสำหรับควบคุมต้นทุน

1.ต้นทุนมาตรฐาน เพื่อใช้สำหรับเปรียบเทียบต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานเทียบกับต้นทุนที่จัดทำขึ้นล่วงหน้าและนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาสาเหตุความเบี่ยงเบนที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นต้นทุนมาตรฐานจึงถูกจัดทำขึ้นล่วงหน้าเพื่อแสดงถึงเป้าหมายของการควบคุมค่าใช้จ่ายและใช้เป็นแนวทางสำหรับการปรับปรุงความเบี่ยงเบนที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถวัดได้ทั้งในรูปมูลค่าทางการเงินหรือปริมาณหน่วยทางกายภาพ (Monetary & Physical Terms)

.

รูปที่ 5 การหาความเบี่ยงเบนระหว่างต้นทุนมาตรฐานกับต้นทุนที่เกิดขึ้น

.

2.การควบคุมวัสดุคงคลัง ประกอบด้วยกิจกรรมการจัดเก็บวัสดุและบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งสำรองวัสดุหรือสินค้าเพื่อสามารถเบิกใช้งานได้ตามแผนการผลิต (Production Control) ด้วยค่าใช้จ่ายสำหรับจัดเก็บน้อยที่สุด ดังนั้นหน้าที่การควบคุมวัสดุคงคลังจึงประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ดังเช่น

          - การดำเนินการจัดเก็บอย่างมีประสิทธิผล 

          - มีวัสดุหรือสินค้าพร้อมเมื่อต้องการใช้งาน 

          - พัฒนาระบบควบคุมและติดตามวัสดุคงคลัง 

          - การจัดทำแผนและมาตรฐานเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการควบคุมวัสดุคงคลัง 

          - การตรวจสอบระดับวัสดุคงคลังอย่างต่อเนื่อง

.

.

โดยทั่วไปการจัดเก็บรายการวัสดุที่มีประเภทรายการและปริมาณมากก็อาจส่งผลต่อข้อจำกัดทางด้านภาระงานของพนักงาน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เวลาติดตามในทุกรายการเท่า ๆ กัน ทำให้บางครั้งอาจไม่สามารถตอบสนองการให้บริการเมื่อต้องการเบิกใช้วัสดุคงคลัง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแนวทางดำเนินการที่แตกต่างกันตามลำดับความสำคัญด้วยการวิเคราะห์แบบ ABC (ABC Analysis) ดังนี้

.

- กลุ่ม A  เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูง โดยมีปริมาณเพียง 10–20% ของยอดรวมทั้งหมด แต่มีมูลค่าสูงถึง 80% ดังนั้นจึงมักมีการสั่งซื้อเฉพาะส่วนที่ขาดด้วยการคำนวณจากปริมาณที่ต้องการใช้จากแผนการผลิตประจำสัปดาห์หรือแผนประจำเดือน 

- กลุ่ม B เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าต่อหน่วยต่ำกว่ากลุ่ม A และมีปริมาณรวมประมาณ 30–40% ของยอดรวม และมีมูลค่ารวมประมาณ 15% ดังนั้นจึงควรมีการกำหนดปริมาณจุดสั่งซื้อคงที่ (Fix Volume) เมื่อปริมาณของลดลงถึงจุดสั่งซื้อ ก็ให้ดำเนินการสั่งซื้อล่วงหน้า

- กลุ่ม C จะมีมูลค่าต่อหน่วยน้อยที่สุด โดยมีปริมาณจัดเก็บประมาณ 40–50% (บางกรณีอาจสูงถึง 80%) ของปริมาณรวม ในขณะที่มีมูลค่ารวมเพียง 5-10% จึงมักทำการควบคุมด้วยระบบการควบคุมด้วยสายตา (Visual Control) หรือ ระบบถาดคู่ (Two-bin System) ซึ่งสามารถใช้สายตาในการติดตามและตรวจสอบระดับวัสดุคงคลัง

.

ที่ 5 การจำแนกเพื่อลำดับความสำคัญของการจัดเก็บวัสดุคงคลังด้วย ABC

.

3.การควบคุมการผลิต เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนล่วงหน้า ด้วยการกำหนดลำดับขั้นตอนและกำหนดเวลาเริ่มต้น-สิ้นสุดการผลิตในแต่ละรายการ เพื่อใช้สำหรับติดตามความก้าวหน้า (Follow-up the Progress) ในแต่ละรายการผลิตและมีการแสดงบนบอร์ดติดตามความก้าวหน้าของงาน ซึ่งแสดงด้วยข้อมูลกำลังคนและผู้รับผิดชอบในแต่ละกิจกรรมรวมทั้งระบุกำหนดการในแต่ละกิจกรรม ดังนั้นการควบคุมการผลิตจึงเป็นกลไกสำหรับการติดตามบันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังเช่น แรงงาน การเดินเครื่องจักร และสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น โดยนำข้อมูลเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับแผนการผลิต เพื่อใช้สำหรับปรับแผนงานต่อไป นอกจากนี้การควบคุมการผลิตยังมุ่งให้เกิดการผลิตด้วยปริมาณที่ถูกต้อง (Right Quantity)เวลาที่ถูกต้อง (Right Time) ด้วยการใช้แนวทางที่เหมาะสมที่สุดและเกิดค่าใช้จ่ายน้อยสุด (Least Expensive)

.

รูปที่ 6 ตัวอย่างบอร์ดติดตามงานในสายการผลิต

.

4.ระบบรายงานผล เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงระหว่างการผลิตมักเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นในพื้นที่ปฏิบัติการ (Shop Floor) ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียต่าง ๆ ทั้งในรูปของ ค่าใช้จ่าย และความล่าช้า  ดังนั้นจึงควรมีการติดตาม (Follow-up) ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะสนับสนุนการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น (Corrective Action) แล้วยังใช้เป็นข้อมูลสำหรับวางแผนป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำอีก โดยทั่วไปรายงานที่ได้รับจากการติดตามปัญหาจะมีวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้

          - ใช้สำหรับเปรียบเทียบความก้าวหน้าของงานเทียบกับกำหนดการหรือเป้าหมาย

          - ติดตามต้นทุนที่เกิดขึ้นในแต่ละหน่วยผลิต โดยนำข้อมูลที่จัดเก็บมาเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ได้จัดทำไว้

          - ใช้ข้อมูลสำหรับทบทวนเป้าหมายและจัดทำกำหนดการหรือตารางการผลิตในการวางแผนครั้งต่อไป 

          - ระบุจำแนกสาเหตุความเบี่ยงเบนที่เกิดขึ้นและใช้เป็นข้อมูลสำหรับแก้ไข

.

สำหรับการบันทึกผลอาจแสดงในรูปแบบต่าง ๆ ดังเช่น แผนภาพ  แผนภูมิ กราฟ และตารางบันทึกผล ดังตัวอย่างรูปที่ 7 โดยมีการแสดงรายละเอียดของสถานการณ์ผลิตที่เกิดขึ้น

.

ตารางสรุปประเภทความบกพร่อง  เดือนมกราคมมิถุนายน 2544

.

ตารางแสดงความสูญเสียที่เกิดในสายการผลิต

รูปที่ 7 ตัวอย่างบันทึกการติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นในสายการผลิต

.

5.การศึกษาการทำงาน (Work Study) เป็นเทคนิคที่ประกอบด้วยการจัดทำมาตรฐานวิธีการทำงาน โดยมีการศึกษาทั้งวิธีการทำงานและศึกษาเวลา (Time Study) ที่ใช้ในปัจจุบันเพื่อนำเสนอแนวทางการทำงานแบบใหม่ที่เพิ่มผลิตภาพ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ยังถูกนำมาใช้ประมาณค่าใช้จ่ายแรงงานและเป็นมาตรฐานสำหรับการควบคุม 

.

6.การควบคุมงบประมาณ (Budgetary Control) การงบประมาณ (Budget) เป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารสำหรับวางแผนค่าใช้จ่ายล่วงหน้า ซึ่งประกอบด้วยการประมาณการจากฝ่ายงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประมาณยอดขาย การผลิต เป็นต้น โดยทั่วไปงบประมาณจะถูกกำหนดขึ้นจากข้อมูลฐานในอดีตและสภาวะทางธุรกิจ รวมทั้งแนวโน้มในอนาคต (Future Trend)  ซึ่งงบประมาณอาจแสดงในรูปทางการเงิน (Financial Term) หรืออาจแสดงด้วยปริมาณ เช่น หน่วยผลิตผล ชั่วโมงเดินเครื่อง ชั่วโมงแรงงาน เป็นต้น  ดังนั้นงบประมาณจะถูกใช้เป็นฐานสำหรับควบคุมการดำเนินงาน

.

รูปที่ 8 การไหลสารสนเทศสำหรับควบคุมงบประมาณ

.

สำหรับการควบคุมงบประมาณ เป็นวิธีการที่ใช้ควบคุมงบประมาณ โดยมีการเปรียบเทียบระหว่างผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น (Actual Results) เทียบกับข้อมูลงบประมาณ ทำให้ทราบถึงสาเหตุของความแตกต่างที่เกิดขึ้น (Actual Cause of Differences) ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานสำหรับการติดตามและควบคุมต้นทุน 

.

การควบคุมต้นทุนเป็นแนวทางที่ใช้สำหรับการติดตามเพื่อประเมินต้นทุนที่เกิดขึ้นเทียบกับมาตรฐานที่กำหนดในแผนและมีบทบาทต่อการบริหารโดยมีการเชื่อมโยงและติดตามวัดผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้น ซึ่งแสดงด้วยความแตกต่างที่ถูกใช้วิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของความเบี่ยงเบนจากมาตรฐาน โดยนำข้อมูลจากการวิเคราะห์ไปใช้วางแผนปรับปรุงเพื่อสร้างผลิตภาพให้เกิดขึ้นจากกการดำเนินงาน ต่อไป

.
เอกสารอ้างอิง

โกศล  ดีศีลธรรม, Industrial Management Techniques for Executive, . ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) , 2546.

โกศล  ดีศีลธรรม, การเพิ่มผลิตภาพในงานอุตสาหกรรม, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, 2546.

โกศล  ดีศีลธรรม, การบริหารต้นทุนสำหรับนักบริหารยุคใหม่, . อินฟอร์มีเดีย อินเตอร์เนชันแนล จำกัด, 2547.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด