เนื้อหาวันที่ : 2006-02-18 15:19:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4162 views

การพัฒนาทักษะการให้บริการคำปรึกษา

การพัฒนาทักษะการให้บริการคำปรึกษา การให้บริการคำปรึกษาของวงการอุตสาหกรรมในประเทศไทย ส่วนใหญ่มักจะมาจากบุคคลในวงการ หรือไม่ก็จากบุคลากรของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ สาเหตุที่ก่อให้เกิดความต้องการใช้บริการคำปรึกษานี้ เนื่องจากภายในสถานประกอบการมีปัญหาในการบริหารงาน

 

ความเป็นมาของที่ปรึกษา

การให้บริการคำปรึกษาของวงการอุตสาหกรรมในประเทศไทย ส่วนใหญ่มักจะมาจากบุคคลในวงการ หรือไม่ก็จากบุคลากรของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ สาเหตุที่ก่อให้เกิดความต้องการใช้บริการคำปรึกษานี้ เนื่องจากภายในสถานประกอบการมีปัญหาในการบริหารงาน และอีกเหตุผล หนึ่ง ที่สำคัญ คือ การหลั่งไหลเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของชาวต่างชาติในประเทศมีจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่มีการเชื่องโยงจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำเป็นเครือข่ายขยายตัว ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กหรือ SME ตามมา ซึ่งโรงงานเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นลักษณะการใช้แรงงานจำนวนมากในการผลิต เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้นโยบายการสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจของภาครัฐบาล ที่ต้องการกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมได้มีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และสร้างความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น จึงต้องการทักษะของแรงงานและการบริหารงานที่ดี จากสภาพของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติดังกล่าว ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการปรับตัวของสถานประกอบการ ที่ต้องการขอคำปรึกษาแนะนำจากผู้มีความรู้ความชำนาญในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารงาน เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กรให้เจริญเติบโตและมั่นคงต่อไปในอนาคต

.
ทำความเข้าใจกับงานที่ปรึกษา

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าที่ปรึกษาที่ทำงานเต็มเวลา โดยไม่ได้ใช้เวลาว่างจากงานประจำมาเป็นที่ปรึกษานั้น จะมีเวลาทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่ ในการรับรู้และแก้ปัญหาภายในองค์กรของผู้ขอรับบริการ นั่นหมายถึง ผู้ขอรับบริการสามารถติดต่อขอรับคำแนะนำได้ตลอดเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่าการให้คำปรึกษาจะสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ 100 เปอร์เซ็นต์เสมอไป จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบความพร้อมต่าง ๆ ของผู้ขอรับบริการด้วย ดังนั้น ผู้ที่เข้าสู่วงการให้บริการคำปรึกษานี้ จึงไม่ใช่ผู้ที่ตกงานหรือผู้ที่ประสบความล้มเหลวในอาชีพรับจ้างกินเงินเดือนประจำ แต่ที่ปรึกษาเป็นอาชีพที่มีเกียรติและใช้วิชาชีพแบบมืออาชีพไม่ใช่สมัครเล่น และผู้ขอรับบริการก็คงไม่กล้าพอที่จะเสี่ยงกับที่ปรึกษาสมัครเล่นเป็นแน่ มีหลายคนที่พยายามจะเข้าสู่วงการนี้ แต่ไม่ได้คิดจริงจังกับอาชีพนี้เท่าไหร่ อาจจะเป็นอาชีพเสริมยามว่าง ถึงแม้จะมีความรู้มากมายเพียงใดก็ตาม ถ้าไม่มีความพร้อมและขาดคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็นที่ปรึกษาที่ดี เช่น การถ่ายทอด การทุ่มเทเวลา การพัฒนาตนเองตลอดจนความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิชาการไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม หากผู้ขอรับบริการต้องการความโก้หรูมีที่ปรึกษาระดับภูมิความรู้สูงมาประดับองค์กรก็ต้องยอมรับความเสี่ยงต่อไป แต่มีหลาย ๆ บริษัทที่ว่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามาไว้ใช้งาน เพราะมีทัศนะเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาที่ไม่เอนเอียงและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด สิ่งนี้ คือ ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับอย่างแท้จริง และผู้ขอรับบริการต้องมั่นใจในภารกิจว่าจะให้ผลลัพธ์มากกว่าที่อิงกับหน่วยงานใดหรือรายงานที่เย็บเล่มสวยงาม

.

ในปัจจุบันวงการให้คำปรึกษาเริ่มแพร่กระจายไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจบริการมากขึ้น ผู้ขอรับบริการจะต้องพิจารณาที่ปรึกษาจากประสบการณ์ความรู้ความสามารถซึ่งที่ปรึกษามีเป็นหลัก โดยต้องแยกกันให้ออกระหว่างหน่วยงานที่ปรึกษาสังกัดกับความสามารถของตัวที่ปรึกษาเอง เพราะคุณต้องการปรึกษามาทำงานให้บรรลุผลสำเร็จ ไม่ใช่ใช้หน่วยงานนั้นมาทำงานให้คุณ จากประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับการใช้ที่ปรึกษาเป็นเรื่องจำเป็น ในสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของธุรกิจปัจจุบัน แต่ผู้ขอรับบริการต้องขวนขวายหาข้อมูลและข่าวสารต่าง ๆ ตลอดจน การติดตามความเคลื่อนไหวของธุรกิจอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ เพื่อใช้ในการตัดสินใจการบริหารงานตลอดจนการวางแผน และปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน จะต้องติดตามหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร นอกจากการได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาเพียงอย่างเดียว

.

ที่ปรึกษา คือ ใคร ?

ที่ปรึกษาเป็นบุคคลที่ตอบสนองต่อผู้ขอรับบริการคำปรึกษาแนะนำด้วยพื้นฐาน 4 ประการ ดังนี้

1.เป็นผู้ให้ความรู้และประสบการณ์ทางการบริหารงานในหลาย ๆ เรื่องแก่ผู้ประกอบการ เช่น การผลิต การตลาดการเงินและการบริหารบุคคล เป็นต้น

2.เป็นผู้ทราบวิธีการทำงานและระบุการแก้ปัญหางาน ตลอดจนวิเคราะห์สาเหตุปัญหาต่าง ๆ และสามารถชี้แนะแนวทางการเปลี่ยนแปลง เพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมแล้วนำไปตัดสินใจในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่ปรึกษาจะต้องมีทักษะในเชิงจิตวิทยาและการสื่อสารที่ดี นอกเหนือจากเป็นผู้ชำนาญในด้านการให้บริการคำปรึกษาแล้ว

3.ที่ปรึกษาจะต้องเป็นอิสระและเป็นกลาง ที่สามารถบอกความจริงแก่ผู้ประกอบการโดยไม่ลำเอียง และไม่กังวลเกี่ยวกับผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น ที่จะมีผลต่อความเป็นอิสระและความตรงไปตรงมาต่ออาชีพของที่ปรึกษา

4.เป็นบุคคลที่เคารพและยึดถือจรรยาบรรณ หรือหลักประพฤติปฏิบัติในวิชาชีพของตนอย่างเคร่งครัด เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกับที่ปรึกษา จะต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างมากในขณะให้คำปรึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรู้สึกมั่นใจว่าที่ปรึกษา จะต้องมีความซื่อสัตย์และรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการอย่างเต็มที่

.
คุณสมบัติการเป็นที่ปรึกษา

ก่อนที่จะกล่าวถึงคุณสมบัติทางวิชาชีพที่ปรึกษานั้น อยากจะกล่าวถึงมาตรฐานทางวิชาชีพให้บริการคำปรึกษาแนะนำเสียก่อนว่า มันมีความแตกต่างจากสินค้าและบริการอื่น ๆ เพราะเป็นความเชี่ยวชาญทางวิชาการหรือศิลปะของการให้บริการคำแนะนำทางวิชาชีพแก่ผู้ขอรับบริการ ที่สามารถวัดผลการปฏิบัติงานได้และมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งเป็นเรื่องของการบูรณาการทางวิชาชีพและมาตรฐานทางจรรยาบรรณที่แทรกอยู่ในกิจกรรมบริการ หากหลักการแห่งการบูรณาการความคิดนี้ถูกละเลยไป เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของผู้ที่เป็นที่ปรึกษา กระบวนการให้บริการคำปรึกษาแนะนำก็ไม่อาจเรียกได้ว่า เป็นที่ปรึกษาซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อวิชาชีพนี้อีกต่อไป คุณสมบัติของที่ปรึกษาควรจะมีดังนี้ คือ

 .
ความสามารถทางเทคนิค

อาจกล่าวได้ว่าเป็นความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะของที่ปรึกษาท่านนั้น เช่น

  • ด้านวิศวกรรม ความสามารถในการคำนวณออกแบบโดยที่ปรึกษามีความชำนาญเฉพาะสาขา เมื่อผู้ขอรับบริการต้องการความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค เช่น การออกแบบเครื่องจักร การคำนวณระบบระบายอากาศ หรือแม้แต่การออกแบบก่อสร้างโรงงานเป็นต้น
  • ด้านการผลิต  ความสามารถในการแก้ปัญหาในระบบการผลิตของอุตสาหกรรมที่มีความสลับซับซ้อนในกระบวนการ ตลอดจนสามารถสร้างระบบควบคุมการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาดังกล่าวจะต้องผ่านการวิเคราะห์กระบวนการผลิตอย่างรอบคอบ และเข้าใจลึกซึ้งถึงกระบวนการผลิตเป็นอย่างดี จึงต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในการมองหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องได้อย่างมืออาชีพ
  • ด้านการตลาด ที่ปรึกษามีความเข้าใจในสภาพตลาดและการแข่งขันที่ดี ตลอดจนความสามารถในการวิเคราะห์แนวโน้มทางการตลาด ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคตลอดเวลา เพื่อกำหนดกล ยุทธ ์ทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สอดคล้องกับแผนการขายและกำไรของบริษัท
  • การวิเคราะห์ระบบ ที่ปรึกษาเข้าใจถึงจุดอ่อนของระบบการบริหารงานของผู้ขอรับบริการอย่างละเอียด ที่สามารถนำข้อมูลการบริหารงานมาวิเคราะห์การทำงานและคุณภาพของงานที่เป็นประเด็นปัญหา เพื่อนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นมากำหนดแนวทางการแก้ไขต่อไป
 
ความมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี
  • ความผูกพัน ความทุ่มเทตั้งใจต่อการแก้ปัญหาของผู้ขอรับบริการ มองเห็นปัญหาของผู้ขอรับบริการเป็นส่วน หนึ่ง ของปัญหาที่ปรึกษาที่ต้องพยายามหาทางแก้ไขให้ได้ โดยทำงานร่วมกับทีมทำงานของบริษัทอย่างใกล้ชิดร่วมสังเกตการณ์ และวิเคราะห์ปัญหา ตลอดจนติดตามผลการปฏิบัติงานนั้นอย่างต่อเนื่อง
  • การสนับสนุน ให้การสนับสนุนข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ  และพัฒนาทักษะการทำงานของพนักงานทุกระดับ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการปฏิบัติงานของพนักงานให้สูงขึ้น
  • การรับฟังความคิดเห็น ที่ปรึกษายินดีพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของพนักงานทุกระดับ และเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นออกมา โดยไม่ยึดติดกับความคิดของตนเองเป็นหลัก เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาสรุปผลและวิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริง
  • การจัดการที่ดี  จัดระบบการทำงานอย่างมีระเบียบแบบแผนและขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนในช่วงเวลาต่าง ๆ ตลอดจนสามารถจัดลำดับความสำคัญของงานได้เป็นอย่างดี มีภาวะความเป็นผู้นำสูง

ความมีทักษะการเป็นที่ปรึกษา

  • การติดต่อ ในกระบวนการให้คำปรึกษานั้น ขั้นตอนแรก คือ การติดต่อผู้ขอรับบริการจะด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรก็ตามแต่ จะต้องมีความชัดเจนในวันเวลาและสถานที่ ความเป็นมืออาชีพของที่ปรึกษาเริ่มต้นจากจุดนี้ หากผู้ขอรับบริการมีความไม่สะดวกใจในการติดต่อ หรือมีความผิดพลาดจากความไม่ชัดเจนของที่ปรึกษา อาจจะทำให้กระบวนการให้คำปรึกษาสะดุดจบอยู่เพียงเท่านี้ก็เป็นได้
  • การวินิจฉัย กระบวนการวินิจฉัยเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง ในเบื้องต้นก่อนที่จะเริ่มให้คำปรึกษาแนะนำตามมา เพื่อวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กร และกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาไปสู่เป้าหมายได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น ผู้ที่จะมาทำการวินิจฉัยจะต้องเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในหลาย ๆ ด้าน ของการบริหารงาน เพื่อไม่ให้เบี่ยงเบนประเด็นปัญหาไปตามความถนัดของที่ปรึกษาบางราย หรือมองหาสาเหตุของปัญหาไม่ออก ซึ่งจะมีผลต่อกระบวนการให้คำปรึกษาต่อมา
  • การวิเคราะห์และป้อนกลับ ความสามารถของที่ปรึกษามืออาชีพที่เด่นอย่างหนึ่ง คือ ความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาที่ตรงประเด็น และสามารถนำผลการปฏิบัติงานป้อนกลับเข้าสู่ระบบการวิเคราะห์งานได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว  
  • การตัดสินใจ  เป็นการนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลและป้อนกลับ ให้ผู้บริหารนำไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจการบริหารงานได้อย่างถูกต้องแม่นยำ นี่คือ ภารกิจที่สำคัญของที่ปรึกษาในการสร้างระบบฐานข้อมูลในการปฏิบัติงาน และสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จะนำข้อมูลเหล่านี้มาเปิดเผยได้ 
  • การปฏิบัติการ ที่ปรึกษาจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการภายในองค์กร ในบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลงภายใน ที่ส่งผลกระทบต่อทัศนะคติและพฤติกรรมของพนักงาน ซึ่งต้องผสมผสานกันระหว่างศิลปะการบริหารคนและจิตวิทยาขั้นพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่กำหนด 
  • การประเมินผล ที่ปรึกษาสามารถสรุปผลการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนได้ในรูปแบบของรายงานสรุปผล หรือนำเสนอผลงานตอนปิดโครงการ ที่สามารถชี้วัดความสำเร็จของโครงการตามเป้าหมายแก่ผู้ขอรับบริการได้

รูปที่ 1 แสดงคุณสมบัติการเป็นที่ปรึกษา

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด