ความก้าวหน้าเทคโนโลยีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการบริหารจัดการธุรกิจ โดยได้เกิดแนวคิดการบริหารจัดการแบบใหม่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว แต่ก็หมดความสนใจจากหลายฝ่ายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน แล้ว ปัจจัยอะไร คือสิ่งที่ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถสร้างผลสำเร็จในการบริหารจัดการธุรกิจดังที่ปรากฏได้
จากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการบริหารจัดการธุรกิจ โดยได้เกิดแนวคิดการบริหารจัดการแบบใหม่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งหลายแนวคิดได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว แต่ก็หมดความสนใจจากหลายฝ่ายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่ว่ายังมีบริษัทจำนวนหนึ่งที่มีระยะเวลาดำเนินงานมายาวนาน แต่ยังคงสามารถดำรงความเป็นบริษัทผู้นำในธุรกิจอุตสาหกรรมอยู่ได้อย่างโดดเด่นและต่อเนื่อง เหนือคู่แข่งรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าแท้ที่จริงแล้ว ปัจจัยอะไร คือสิ่งที่ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถสร้างผลสำเร็จในการบริหารจัดการธุรกิจดังที่ปรากฏได้ |
. |
จากข้อสงสัยเหล่านี้ นำไปสู่การดำเนินการวิจัยโครงการ Evergreen ซึ่งเป็นการวิจัยที่ดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี โดยทำการวิจัยอย่างละเอียดรอบคอบ ในบริษัทต่าง ๆ ที่มีการบริหารจัดการที่มั่นคง โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 160 บริษัท ที่ถูกแบ่งออกเป็น 40 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มละ 4 บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และมีสถานะทางการเงินที่ใกล้เคียงกัน จากนั้นทำการศึกษาวิจัยผลการดำเนินงานย้อนหลัง จนถึงช่วงเวลาที่วิจัยระหว่างปี ค.ศ.1986-1996 โครงการนี้เริ่มทำในปี ค.ศ.1996 และใช้เวลา 5 ปีในการรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผลการวิจัย เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินในด้านต่าง ๆ แล้ว จะสามารถจัดอันดับบริษัทในแต่ละกลุ่มได้ ดังนี้ |
. |
Winner - เป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นกว่าคู่แข่งรายอื่นตลอดช่วงเวลาที่ศึกษาวิจัย Climber - เป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าบริษัทอื่นในช่วงแรก แต่สามารถพัฒนาดีขึ้นได้ในเวลาต่อมา Tumbler - เป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานดีในช่วงแรก แต่จะลดลงในช่วงเวลาต่อมา Loser - เป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าบริษัทอื่นในกลุ่ม ตลอดช่วงเวลาที่ศึกษาวิจัย |
. |
เราสามารถแสดงภาพรวมของผลการดำเนินงานของแต่ละบริษัทได้ ดังรูปที่ 1 |
. |
สิ่งที่พบจากการวิจัย ได้สร้างความประหลาดใจ เนื่องจากพบว่า เครื่องมือและเทคนิคการบริหารจัดการต่าง ๆ ที่บริษัทได้ประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ นั้น โดยส่วนมากแล้วมิได้มีความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุและผล ต่อผลการดำเนินงานธุรกิจที่ดีเลิศของบริษัทเหล่านี้เลย แต่สิ่งที่สามารถสร้างผลสำคัญต่อการดำเนินงานก็คือ สิ่งที่คณะผู้วิจัยเรียกว่า ปัจจัยปฐมภูมิของการบริหารจัดการ (Primary Management Practice) โดยที่ทุกบริษัทที่มีผลการปฏิบัติงานโดดเด่นกว่าบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม จะมีความเป็นเลิศในปัจจัยเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วย กลยุทธ์ (Strategy) การปฏิบัติงาน (Execution) วัฒนธรรมองค์กร(Culture) และโครงสร้าง (Structure) นอกจากปัจจัยปฐมภูมิทั้งสี่ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีองค์ประกอบอีก 2 ปัจจัยจาก 4 ปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้ที่คณะผู้วิจัยเรียกว่า ปัจจัยทุติยภูมิของการบริหารจัดการ (Secondary Management Practice) ที่เป็นส่วนเสริมในปัจจัยปฐมภูมิของบริษัท ปัจจัย 2 ส่วนนี้รวมกันเป็นส่วนผสมที่มีผลต่อความโดดเด่นในผลการปฏิบัติงานขององค์กร ซึ่งปัจจัยทุติยภูมิดังกล่าว ประกอบด้วย ความสามารถเฉพาะตัว (Talent) นวัตกรรม (Innovation) ความเป็นผู้นำ (Leadership) และการควบรวมกิจการและความเป็นหุ้นส่วน (Mergers and Partnerships) ซึ่งคณะผู้วิจัยเรียกองค์ประกอบที่พบเหล่านี้ว่า สูตร 4+2 เพื่อความสำเร็จของธุรกิจ ซึ่งบริษัทที่นำปัจจัยองค์ประกอบเหล่านี้มาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จะสามารถสร้างโอกาสที่จะดำรงผลการปฏิบัติงานที่ดีกว่าได้ |
. |
ปัจจัยสำคัญของการบริหารจัดการ 8 ประการนี้ มิได้เป็นสิ่งใหม่ หรือเป็นแนวคิดที่ค้านกับความคิดการบริหารจัดการแบบเดิม แต่การนำสูตร 4+2 เพื่อความสำเร็จของธุรกิจมาปฏิบัติให้เกิดผล ก็มิได้ง่ายดายอย่างที่คิดไว้ บริษัทต่าง ๆ อาจมองข้ามในปัจจัยเหล่านี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา และการจะนำมาใช้ให้เกิดผลได้ จะต้องอาศัยความพยายามอย่างหนักและต่อเนื่องเช่นกัน |
. |
ความเป็นเลิศในปัจจัยปฐมภูมิทั้งสี่ประการ |
ในการบริหารจัดการธุรกิจให้เกิดผลการปฏิบัติงานที่ดีเลิศนั้น ผู้บริหารอาจต้องอาศัยองค์ประกอบปัจจัยต่าง ๆ ควบคู่กัน โดยมิได้อาศัยเพียงทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งอย่างชัดเจน คณะผู้วิจัยได้สำรวจ วิเคราะห์ และสรุปแนวทางในการประยุกต์ใช้สูตร 4+2 เพื่อความสำเร็จของธุรกิจไว้ดังนี้ |
. |
กลยุทธ์ (Strategy) : กำหนดและดำรงรักษากลยุทธ์ที่มุ่งเน้น และกำหนดไว้อย่างชัดเจน |
กุญแจในการบรรลุความเป็นเลิศในกลยุทธ์ก็คือ คุณต้องมีความชัดเจนในกลยุทธ์ว่าคืออะไร และต้องสื่อสารอย่างต่อเนื่องสู่ลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้นของคุณ กลยุทธ์ควรเป็นคำกล่าวที่เรียบง่าย สื่อชัดเจนถึงคุณค่าที่นำเสนอ ซึ่งมีรากฐานจากความรู้และเข้าใจลึกซึ้งชัดเจนในบริษัท กลุ่มลูกค้า และอยู่บนการประเมินศักยภาพที่แท้จริงของคุณ |
. |
ความชัดเจนในกลยุทธ์หมายความรวมถึง การระมัดระวังของบริษัทที่จะปฏิบัติให้สอดคล้องกับแนวทางการเติบโตของบริษัท ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้บริหารอาจเห็นโอกาสในการขยายกิจการ หรือผลักดันบริษัทไปสู่ธุรกิจอื่นที่ไม่ชำนาญ หรือไม่สอดคล้องกับธุรกิจหลัก และส่งผลเสียต่อการปฏิบัติงานโดยรวมได้ และการทำเช่นนี้อาจนำบริษัทไปสู่การเบี่ยงเบนในกลยุทธ์ (Strategic Shift) อันสร้างความสับสน ลดทอนผลการปฏิบัติงาน และผลกำไรลดต่ำลงได้ |
. |
บริษัทที่เป็น WINNER จะกำหนดกลยุทธ์เป้าหมายการเติบโตเชิงรุก โดยความเป็นจริงแล้ว บริษัทเหล่านี้มีการเติบโตรวดเร็วเป็น 2 เท่าเหนือค่าเฉลี่ยของบริษัทต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เป้าหมายหลักของบริษัทเหล่านี้คือ การเติบโตในธุรกิจหลัก (Core Business) ในขณะเดียวกัน ก็ขยายตัวไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของบริษัทเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ธุรกิจเสริมก็อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจหลักของบริษัทได้ ซึ่งทำให้บริษัทปรับเปลี่ยนความสนใจอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ ในขณะที่อุปสงค์ของตลาดเปลี่ยนไป เพื่อสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมของธุรกิจต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีใหม่ แนวโน้มทางด้านสังคม หรือกฎข้อบังคับจากภาครัฐได้อย่างเหมาะสม |
. |
การปฏิบัติงาน(Execution) : พัฒนาและดำรงรักษาการปฏิบัติงานที่เหมาะสมต่อลูกค้า |
บริษัทที่เป็น WINNER จะตระหนักดีว่า บริษัทไม่สามารถเป็นเลิศในทุก ๆ ด้านของการปฏิบัติงานได้ จึงเลือกพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานที่สำคัญ และเกิดผลสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และจะทุ่มเททรัพยากรต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงกระบวนการเหล่านี้ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ บริษัทเหล่านี้จะนำเสนอสิ่งที่สอดคล้องกับความคาดหวังของลูกค้า และมีความชัดเจนต่อมาตรฐานที่บริษัทต้องบรรลุถึง แต่จะไม่มุ่งพยายามให้เกิดความสมบูรณ์แบบ โดยความเป็นจริงแล้ว 1 ใน 3 ของบริษัทที่เป็น Winner จะนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพในระดับปานกลางเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ลูกค้าส่วนมากมิได้ใส่ใจในระดับคุณภาพของสินค้าที่เกินขอบเขตความจำเป็นและความต้องการ ลูกค้าจะมิได้ตอบแทนบริษัทในสิ่งที่ได้เกินเลยความคาดหวังของเขา แต่จะลงโทษบริษัท ถ้าไม่สามารถบรรลุถึงความต้องการของเขาได้ |
. |
สิ่งที่พบจากการวิจัยอีกประการหนึ่งคือ ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญของระดับการ Outsourcing ของหน้าที่ต่าง ๆ หรือระดับการลงทุนในด้าน ERP ด้าน CRM หรือในเทคโนโลยีด้าน Supply Chain Management ที่มีต่อผลการปฏิบัติงานของธุรกิจ เช่น ในด้านสถานะทางการเงิน อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่า เครื่องมือและเทคนิคเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานขององค์กร แต่อาจกล่าวได้ว่า การนำมาใช้ไม่ได้เป็นสิ่งกำหนดให้คุณเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของคุณได้ แต่การกำหนดกระบวนการปฏิบัติงานที่เหมาะสม จะเป็นสิ่งที่ปูทางไปสู่ความสำเร็จที่ชัดเจนกว่า |
. |
วัฒนธรรมองค์กร (Culture) : พัฒนาและดำรงรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นผลการปฏิบัติงาน |
จากการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า กลุ่มบริษัทที่เป็น Winner ได้วางรากฐานวัฒนธรรมองค์กร และสนับสนุนวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งส่งเสริมการปฏิบัติงานที่เกิดผลในระดับสูง โดยส่งเสริมบุคลากรที่มีผลงานโดดเด่น และอุทิศตนให้แก่ทีมงาน และส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับชั้น ไม่เพียงแต่บุคลากรในระดับจัดการ มีความรับผิดชอบต่อผลสำเร็จของงาน แม้ว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้อาจอยู่ในระดับสูง และไม่สามารถทำสำเร็จได้ แต่ยังคงเป็นโอกาสสำหรับแสดงผลงานของพนักงานหรือบุคลากรที่มีผลงานโดดเด่นเช่นกัน |
. |
วิธีที่ดีในการรักษาระดับบุคลากรให้มีผลการปฏิบัติงานในระดับสูงคือ การกำหนดการจ่ายค่าตอบแทนที่ขึ้นตรงต่อผลสำเร็จของงาน ในกลุ่มบริษัทที่เป็น Winner ในการวิจัยนี้เกือบ 90% จะกำหนดการจ่ายเงินตอบแทนที่เชื่อมโยงกับผลการปฏิบัติงาน และจะมีความละเอียดรอบคอบในการกำหนดเป้าหมาย โดยพยายามยกระดับในทุก ๆ ปี โดยเฉพาะสำหรับผู้บริหารระดับสูงขององค์กร |
. |
นอกจากนี้แล้ว บริษัทที่เป็น Winner จะกำหนดและยึดถือปฏิบัติตามค่านิยมที่กล่าวไว้ชัดเจนด้วยภาษาที่สร้างแรงผลักดัน และแสดงออกถึงค่านิยมนั้นด้วยการกระทำที่รับรู้ได้เป็นรูปธรรม |
. |
โครงสร้าง (Structure) : สร้างและดำรงรักษาองค์กรให้มีลักษณะคล่องแคล่ว ยืดหยุ่น และมีลำดับชั้นการบริหารน้อย |
การมีลำดับชั้นการบริหารมากเกินไป จะขัดขวางความก้าวหน้า และบั่นทอนความกระตือรือร้นของพนักงานได้ บริษัทที่เป็น Winner จะพยายามลดลำดับขั้นตอนหรือกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นหรือมีความซ้ำซ้อนออกไป บริษัทเหล่านี้จะพยายามทำให้โครงสร้าง และกระบวนการทำงานง่ายเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่เพียงเพื่อพนักงานเท่านั้น แต่ยังสำหรับลูกค้า และ Supplier ด้วย |
. |
จากการวิจัยโครงสร้างของบริษัทที่เป็น Winner พบว่า มิได้แตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัดเจน แต่สิ่งที่จะทำให้แตกต่างได้คือ โครงสร้างนั้นจะทำให้ลำดับขั้นตอนของงานง่ายขึ้นหรือไม่ |
. |
บริษัทเหล่านี้จะเชื่อว่า ความเติบโตขององค์กรมิได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้บริหารเพียงสิ่งเดียว แต่ต้องอาศัยการอุทิศตนและความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มผู้บริหารระดับกลาง และพนักงานขององค์กร จึงพยายามมิให้การตัดสินใจต่าง ๆ ถูกขวางกั้นโดยขั้นตอนการควบคุมที่มากมายและซ้ำซ้อน ดังนั้นพนักงานจึงได้รับอิสระในการสร้างสรรค์ คิดค้นสิ่งต่าง ๆ เพื่อนำเสนอต่อองค์กรได้ตลอดเวลา |
. |
ปัจจัยทุติยภูมิของการบริหารจัดการ : 2 ใน 4 ปัจจัยที่เสริมปัจจัยปฐมภูมิ |
ความสามารถเฉพาะตัว (Talent) : รักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้และค้นหาเพิ่มเติมจากภายในองค์กร |
บริษัทที่แสดงถึงปัจจัยนี้ จะเห็นได้จากการที่บริษัทสามารถค้นหาผู้บริหารคนใหม่ขึ้นมาทดแทนผู้บริหารคนเดิมที่อาจสูญเสียไปให้กับคู่แข่งได้จากภายในองค์กรอย่างไม่ยากนัก บริษัทที่เป็น Winner จะมีการสรรหาบุคลากรระดับหัวหน้าผู้บริหารจากภายนอกองค์กรในอัตราเพียงครึ่งหนึ่งที่บริษัทที่เป็น Loser ได้จัดหา ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงความพอใจที่จะพัฒนาผู้บริหารจากภายในองค์กร และการเลื่อนตำแหน่งให้กับผู้บริหารที่โดดเด่นภายในองค์กร และยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการรักษาผู้บริหารที่มีผลการปฏิบัติงานโดดเด่นไว้ได้เป็นอย่างดี |
. |
การเลื่อนตำแหน่งจากภายในองค์กร เพื่อทดแทนบุคลากรในตำแหน่งต่าง ๆ จะเกิดผลได้ต่อเมื่อบริษัทได้จัดแผนการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรที่สามารถเตรียมความพร้อมของพนักงาน สำหรับตำแหน่งงานใหม่ในบริษัท และควรสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนส่งเสริมให้พนักงานเข้าร่วมในการฝึกอบรมพัฒนานี้ |
. |
นวตกรรม (Innovation) : สร้างนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบของอุตสาหกรรม |
องค์กรที่มีความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม จะมุ่งสนใจต่อการค้นหาความคิดใหม่ ๆ หรือการค้นหาเทคโนโลยีที่สำคัญ ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนรูปแบบของอุตสาหกรรมที่ดำเนินธุรกิจอยู่ นวัตกรรมที่ค้นพบนี้ นอกจากจะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่แล้ว ยังสามารถประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานภายในองค์กร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบของอุตสาหกรรมได้ นวัตกรรมยังอาจรวมถึงความสามารถในการคาดการณ์ และเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนั้นเช่นกัน |
. |
จากการวิจัยพบว่า ไม่มีความโน้มเอียงของแหล่งที่มาของนวัตกรรมต่าง ๆ ของบริษัทที่เป็น Winner (แหล่งดังกล่าวอาจได้แก่ การวิจัยภายในและนอกองค์กร ความคิดใหม่ ๆ จากพนักงานระดับล่างหรือระดับบริหาร จากลูกค้าหรือ Supplier ของบริษัท) แต่จะพบลักษณะร่วมของบริษัทที่เป็น Winner คือ ความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรมที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม และความพร้อมยอมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อยอดขายในผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในตลาด อันจะเกิดจากการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าวออกสู่ตลาดที่มีอยู่ |
. |
ความเป็นผู้นำ (Leadership) : ค้นหาผู้นำซึ่งสร้างคำมั่นสัญญาต่อธุรกิจและบุคลากรของตน |
จากการวิจัยได้พบว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่ง CEO จะมีความสัมพันธ์ต่อความสามารถในการสร้างผลกำไร (Profitability) และผลตอบแทนโดยรวมต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งวิเคราะห์พบว่า ทักษะและความสามารถบางสิ่งของตัว CEO เป็นปัจจัยสำคัญต่อสิ่งที่ได้พบนี้ สิ่งนั้นคือ ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ต่อบุคลากรทุกระดับในองค์กร และความสามารถในการสร้างแรงจูงใจให้ฝ่ายบริหารในส่วนต่าง ๆ เห็นชอบในการดำเนินงานในทิศทางเดียวกัน CEO ที่วางตัวในฐานะเพื่อนร่วมงานของเหล่าพนักงาน มากกว่าจะเป็นเจ้านายคอยสั่งงาน จะสามารถเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวกในองค์กร และส่งผลต่อผลการปฏิบัติงานโดยรวมที่พัฒนาสูงขึ้นได้ |
. |
ความสามารถอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ความสามารถในการเล็งเห็นโอกาสและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ ทั้งนี้ผู้นำบางคนอาจเชื่อในสัญชาติญาณ หรืออาศัยกลุ่มทำงานติดตามรายงานความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ผู้นำที่มีประสิทธิผล จะทำให้องค์กรอยู่ในระดับผู้นำได้โดยการฉกฉวยโอกาสที่มีขึ้นได้ก่อนที่คู่แข่งจะทำได้ และจะจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ก่อนหน้าที่จะขยายตัวกลายเป็นผลเสียรุนแรงต่อองค์กรต่อไป |
. |
การควบรวมกิจการและการเป็นหุ้นส่วนต่อกัน (Mergers and Partnerships) : สร้างการเติบโตโดยอาศัยการควบรวมกิจการและการเป็นหุ้นส่วนต่อกัน |
การควบรวมกิจการและการเป็นหุ้นส่วนต่อกัน เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำให้บริษัทเติบโตได้ จากการวิจัยพบว่า มีเพียง 22% ของจำนวนการทำการควบรวมกิจการ จะเกิดผลสำเร็จต่อบริษัท และยังได้พบว่า ขนาดมูลค่าการควบรวมกิจการที่มีสัดส่วนไม่ใหญ่มากนัก (ประมาณ 20% เมื่อเทียบกับมูลค่าของบริษัทที่ทำการซื้อกิจการที่เล็กกว่า) และมีการทำการควบรวมกิจการอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง (ประมาณ 2-3 ปีต่อครั้ง) มีแนวโน้มจะเกิดผลสำเร็จมากกว่าการควบรวมกิจการขนาดใหญ่และทำเป็นครั้งคราวเท่านั้น การควบรวมกิจการหรือการซื้อกิจการจะเกิดประโยชน์เมื่อสามารถทำให้บริษัททั้งสองสามารถใช้ประโยชน์จากกันและกัน เป็นส่วนเสริมความแข็งแกร่งของตนได้ ซึ่งในบางกรณีสามารถสร้างความเติบโตของกิจการได้โดยการร่วมกันเข้าไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ โดยอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละฝ่ายควบคู่กันไปในการดำเนินงาน และจากการวิจัยพบว่าบริษัทที่เป็น Winner และ Climber จะให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานร่วมกันในการควบรวมกิจการ โดยมีการจัดตั้งทีมงานดำเนินงาน ที่ประกอบด้วยบุคลากรที่มีความสามารถในด้านการวิเคราะห์การเงิน และด้านการเจรจาต่อรอง เพื่อทำหน้าที่ประสานงานในการควบรวมกิจการ |
. |
ผลสรุปจากการวิจัยนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้บริษัทจำนวนหนึ่งสามารถดำรงสถานภาพผู้นำในอุตสาหกรรมที่ดำเนินอยู่ได้ และผลการวิจัยอาจช่วยสร้างความชัดเจน ความแน่นอน ในทิศทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจได้ ซึ่งสูตร 4+2 เพื่อความสำเร็จของธุรกิจนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะนำเสนอสิ่งที่ฝ่ายบริหารควรมุ่งสนใจ หรือปรับลดความสำคัญลง เพื่อนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายที่ต้อง การได้ |
. |
The Evergreen Project |
โครงการวิจัยนี้เริ่มในปี ค.ศ.1996 ใช้เวลา 5 ปี โดยมีจุดเริ่มต้นจากคำถามว่า เพราะเหตุใดบางบริษัทจึงสามารถมีผลการดำเนินธุรกิจที่โดดเด่นกว่าบริษัทคู่แข่งอย่างต่อเนื่องและเครื่องมือหรือเทคนิคการจัดการทางธุรกิจใดที่สามารถช่วยให้บริษัทสามารถสร้างความยิ่งใหญ่ได้ |
. |
การวิจัยได้รับความร่วมมือจากที่ปรึกษาและนักวิชาการมากกว่า 50 ท่าน ทำการวิจัยศึกษากลุ่มตัวอย่าง 160 บริษัทในหลายอุตสาหกรรม โดยศึกษาผลการดำเนินงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำการวัดผลโดยดูจากผลตอบแทนโดยรวมต่อผู้ถือหุ้น (Total Return to Shareholders) บริษัทที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีมูลค่ากิจการระหว่าง 100 ล้านเหรียญและ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 40 กลุ่ม ในแต่ละกลุ่มประกอบด้วย 4 บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันในการวิจัยจะทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ |
. |
1. สำรวจศึกษาและให้คะแนนในเรื่องปัจจัยทางการบริหารจัดการต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเป็นสิ่งสำคัญต่อการบริหารจัดการธุรกิจ และพิสูจน์ผลการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหารต่าง ๆ ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ |
. |
2. ศึกษาในเชิงลึกถึงปัจจัยบางสิ่งที่ได้ข้อสรุปว่ามีบทบาทสำคัญในการกำหนดผลการดำเนินงานขององค์กรว่าจะดีหรืออ่อนแอลงได้ ซึ่งทำการศึกษาโดยนักวิชาการที่ทรงคุณวุฒิ |
. |
3. ทำการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารจากสื่อสิ่งพิมพ์ กรณีศึกษาที่ถูกเขียนขึ้น รายงานการวิเคราะห์ ฯลฯ เพื่อทำการประเมินผลเปรียบเทียบกับผลการศึกษาในขั้นที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด