ปั๊มน้ำจัดว่าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์พื้นฐานทั่วไปที่มีการใข้งานมากที่สุดในโลก ปัจจุบันเราสามารถนำปั๊มไปใช้งานได้ในหลายรูปแบบและมีการพัฒนาให้สามารถใช้งานได้หลากหลายเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ตามมาด้วย จนอาจจะกล่าวได้ว่า ไม่มีทางที่เราจะคาดเดาหรือวิเคราะห์ปัญหาของปั๊มที่จะเกิดได้ทั้งหมด ไม่ว่าในปัจจุบันหรือในอนาคต
ปั๊มน้ำจัดว่าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์พื้นฐานทั่วไปที่มีการใข้งานมากที่สุดในโลก ปัจจุบันเราสามารถนำปั๊มไปใช้งานได้ในหลายรูปแบบและมีการพัฒนาให้สามารถใช้งานได้หลากหลายเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ตามมาด้วย จนอาจจะกล่าวได้ว่า ไม่มีทางที่เราจะคาดเดาหรือวิเคราะห์ปัญหาของปั๊มที่จะเกิดได้ทั้งหมด ไม่ว่าในปัจจุบันหรือในอนาคต ยกเว้นแต่ว่าเราจะมีความรู้อย่างลึกและเข้าใจในตัวแปร ที่มีผลต่อคุณสมบัติของปั๊มนั้น ๆ มากน้อยขนาดไหน |
. |
อย่างไรก็ตาม ด้วยความรู้ที่เรามีอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะค้นหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นกับปั๊ม ถึงแม้ว่าจะเป็นปัญหาแบบเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะปัญหาเดียวกันแต่อาจเกิดจากสาเหตุแตกต่างกันได้ หรือบางทีรู้และเข้าใจปัญหาดีอยู่แล้ว แต่อาจจะลืมหรือนึกไม่ถึง ดังนั้นถ้าเราจัดกลุ่มของปัญหาและสาเหตุความผิดปกติของปั๊มไว้ ช่วยให้สะดวกและลดเวลาในการค้นหาบัญหาที่จะเกิดกับปั๊ม ได้จากข้อมูลและประสบการณ์เบื้องต้น สามารถสร้างตัวอย่างจัดกลุ่มปัญหาและสาเหตุดังนี้ |
. |
ปัญหาพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นเมื่อใช้งานปั๊ม |
1. ไม่มีน้ำออกจากปั๊ม ไม่มีแรงแรงดัน 2. ไม่มีน้ำออกจากปั๊มแต่มีแรงดันบ้าง 3. มีน้ำออกจากปั๊มแต่มีน้ำน้อยกว่าปกติ หรือ มีน้ำออกจากปั๊มแต่มีแรงดันน้อยกว่าปกติ 4. ปั๊มใช้พลังงานมากกว่าปกติ (กินไฟฟ้า, กินน้ำมัน) 5. ปั๊มดูเหมือนทำงานผิดปกติ แต่ไม่มีอะไรผิดปกติ 6. ปั๊มเริ่มต้นทำงานได้ปกติ แต่สักพักหนึ่งจึงเริ่มทำงานผิดปกติ 7. ปั๊มส่งเสียงดัง หรือ สั่นสะท้าน 8. น้ำรั่วจากห้องปะเก็นเชือกมากเกินไป หรือมีอายุการใช้งานสั้นเกินไป 9. น้ำรั่วจากแม็คแคนนิคอลซีล หรือมีอายุการใช้งานสั้นเกินไป 10. ลูกปืนร้อน หรือมีอายุการใช้งานสั้นเกินไป 11. ลูกปืนส่งเสียงดัง 12. ปั๊มร้อนมาก หมุนติด หรือ ฝืดมาก 13. เสื้อปั๊ม หรือ ใบพัด มีอายุการใช้งานสั้นเกินไป 14. มีเสียงดังตอนปั๊มเริ่มหมุนและหยุดหมุน 15. เสื้อปั๊มแตกรั่วตอนปั๊มเริ่มหมุนและหยุดหมุน 16. ปะเก็นรั่วซึมขณะปั๊มทำงาน 17. ขณะใช้งานปั๊มปริมาณน้ำเดี๋ยวมากเดี๋ยวน้อยหรือหยุดไหลเป็นพักๆ 18. เกิดฟองสุญญากาศในน้ำ (Cavitation) |
. |
สาเหตุเบื้องต้นจากปัญหาของปั๊ม |
1. ไม่มีน้ำออกจากปั๊ม ไม่มีแรงแรงดัน อาจเกิดจาก |
1.1 ไม่ได้เติมน้ำหรือมีปริมาณน้ำในปั๊มไม่เพียงพอต่อการเริ่มต้นใช้งาน
1.2 เพลาของปั๊มขาด 1.3 เพลาขับของเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไม่หมุน 1.4 ข้อต่อระหว่างปั๊มกับตัวขับขาดหรือเสียหาย 1.5 ลิ่มขับใบพัด หรือลิ่มขับเพลา หลุดหรือเสียหาย 1.6 ไม่มีใบพัดหรือใบพัดแตก |
. |
2. ไม่มีน้ำออกจากปั๊มแต่มีแรงดันบ้าง อาจเกิดจาก |
2.1 มีกลุ่มฟองอากาศหรือโพรงอากาศค้างในท่อน้ำหรือในตัวปั๊ม ทำให้ปั๊มดูดน้ำไม่ได้ 2.2 ท่อทางดูดอุดตันทำให้น้ำเข้าท่อดูดไม่สะดวก 2.3 ตะแกรงกรองวาล์วกักน้ำทางดูดตันหรือถูกบัง 2.4 ลิ้นวาล์วกักน้ำทางดูดติดขัด หรือฝืดมากไม่ยอมเปิดให้น้ำเข้า 2.5 แรงดันใช้งานจริงสูงกว่าแรงดันที่ปั๊มทำได้ 2.6 ความเร็วรอบของปั๊มต่ำกว่าความเร็วที่ต้องการใช้งาน 2.7 ปั๊มหมุนผิดทิศทาง 2.8 มีอากาศจำนวนมากปนมากับของเหลวที่ดูดเข้าปั๊ม 2.9 มีอากาศซึมหรือถูกดูดเข้าไปในตัวปั๊ม หรือ ไม่ได้ไล่อากาศออกจากตัวปั๊ม 2.10 ใบพัดของปั๊มอาจถูกตัดหรือสึกหรอจนขนาดเล็กเกินไป 2.11 แรงดูดของปั๊มไม่เพียงพอกับความต้องการของระบบ (available NPSH too low) |
. |
3. มีน้ำออกจากปั๊มแต่มีน้ำน้อยกว่าปกติ อาจเกิดจาก |
3.1 สาเหตุเบื้องต้นเหมือน ข้อ 2. 3.2 อุปกรณ์วัดปริมาณน้ำเสียหายหรือผิดปกติ 3.3 แหวนกันสึกในตัวปั๊มหรือใบพัดหลวม 3.4 มีน้ำรั่วออกจากปํ๊ม 3.5 ของเหลวที่ดูดมีความหนืดหรือข้นเกินไป 3.6 มีสิ่งแปลกปลอมไปอุดอยู่ในเสื้อปั๊มหรือใบพัด 3.7 มีสิ่งแปลกปลอมไปอุดหรือขวางท่อทางดูดทางส่ง 3.8 ติดตั้งอุปกรณ์หรือมีครีบ หรือชิ้นส่วนบางอย่างขวางทางน้ำ เช่น รูปะเก็นหน้าแปลนเล็กกว่ารูท่อของปั๊ม หรือ ลิ้นวาล์วต่าง ๆขวางทางน้ำ 3.9 เกิดความเสียหายที่ใบพัด 3.10 รูปร่างของใบพัดหรือเสื้อปั๊มหล่อมามาผิดปกติ 3.11 การติดตั้งใบพัดไม่ถูกต้อง 3.12 การใช้งานปั๊มนอกขอบเขตความสามารถของปั๊ม หรือเลือกปั๊มไม่ถูกต้อง 3.13 การติดตั้งท่อทางดูดทางส่งไม่ถูกต้อง เช่น บางส่วนของท่อดูดอยู่สูงกว่าปั๊มและระดับน้ำ 3.14 แหล่งน้ำมีปัญหาเช่นตื้นเกินไป ระดับน้ำต่ำเกินไป 3.15 เกิดการไหลวนของน้ำเลี้ยงซีลมากเกินไป 3.16 ในระบบมีการทำงานของปั๊มร่วมกันมากกว่า 1 ตัว การทำงานของปั๊มทุกตัวจะมีผลกระทบต่อปั๊มตัวอื่น ๆ ด้วย |
. |
4. ปั๊มใช้พลังงานมากกว่าปกติ (กินไฟฟ้า, กินน้ำมัน) อาจเกิดจาก |
4.1 ความเร็วรอบของปั๊มสูงเกินไป 4.2 ปั๊มหมุนผิดทิศทาง 4.3 ค่าความถ่วงจำเพาะสูงกว่าปกติ (ของเหลวมีน้ำหนักต่อหน่วยปริมาตรสูงกว่าปกติ) 4.4 ของเหลวที่ดูดมีความหนืดหรือข้นเกินไป 4.5 ใบพัดของปั๊มมีขนาดใหญ่เกินไป 4.6 แรงดันที่ต้องใช้งานสูงหรือต่ำกว่าที่ปั๊มจะทำงานได้ 4.7 การติดตั้งปั๊มกับตัวขับไม่ร่วมศูนย์กัน 4.8 ชิ้นส่วนที่หมุนเช่นใบพัดมีการเสียดสี 4.9 ลูกปืนสึกหรอหรือเสียหาย 4.10 อัดปะเก็นเชือกไม่ถูกต้อง เอียงหรือแน่นเกินไป 4.11 เลือกปะเก็นเชือกไม่เหมาะสม 4.12 ใส่จาระบีหรือน้ำมันหล่อลื่นลูกปืนผิดชนิด 4.13 ใส่จาระบีหรือน้ำมันหล่อลื่นลูกปืนมากเกินไป 4.14 เพลาปั๊มคดงอ 4.15 ชิ้นส่วนภายในปั๊มมีการขยายตัวเนื่องจากความร้อน 4.16 อุปกรณ์วัดการใช้พลังงานแสดงผลผิดพลาด ชำรุด หรือติดตั้งไม่ถูกต้อง 4.17 ของเหลวที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิเพื่อให้มีความข้นใสพอเหมาะ อาจจะไม่ได้รับการควบคุมอุณหภูมิที่ถูกต้อง 4.18 มีสิ่งแปลกปลอมไปอุดอยู่ในเสื้อปั๊มหรือใบพัด 4.19 ผิวของเสื้อปั๊มหรือใบพัดมีความขรุขระมาก (อาจเกิดจากงานหล่อหรือตะกรันจากการใช้งาน) 4.20 เกิดความเสียหายที่ใบพัด 4.21 รูปร่างของใบพัดหรือเสื้อปั๊มหล่อมามาผิดปกติ 4.22 การติดตั้งใบพัดไม่ถูกต้อง 4.23 ใส่ใบพัดผิดทิศทาง (ใส่ใบหมุนซ้ายในปั๊มหมุนขวา) 4.24 การใช้งานปั๊มนอกขอบเขตความสามารถของปั๊ม หรือเลือกปั๊มไม่ถูกต้อง 4.25 การติดตั้งท่อทางดูดทางส่งไม่ถูกต้อง เช่น บางส่วนของท่อดูดอยู่สูงกว่าปั๊มและระดับน้ำ 4.26 ท่อทางส่งแตกรั่ว |
. |
5. ปั๊มดูเหมือนทำงานผิดปกติ แต่ไม่มีอะไรผิดปกติ อาจเกิดจาก |
5.1 อุปกรณ์การวัดต่างๆแสดงผลผิดพลาด ชำรุด หรือติดตั้งไม่ถูกต้อง 5.2 สายนำสัญญาณ สายไฟฟ้า ท่อต่าง ๆ สำหรับอุปกรณ์การวัด อาจขาด ชำรุด หลวม หรือติดตั้งไม่ถูกต้อง 5.3 ระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของอุปกรณ์วัดอาจสกปรก หรือชำรุด 5.4 ท่อสำหรับวัดแรงดันชนิดใช้น้ำเป็นตัวส่งแรงดันอาจมีอากาศค้างอยู่ในท่อ 5.5 ท่อสำหรับวัดแรงดันชนิดใช้อากาศเป็นตัวส่งแรงดันอาจมีน้ำปนอยู่ในท่อ 5.6 ข้อต่อท่อต่าง ๆ อาจจะรั่ว 5.8 ท่อที่ใช้งานมีขนาดภายในเล็กกว่าปกติ 5.9 ฟองสุญญากาศในน้ำ (Cavitation) อยู่บริเวณข้อต่อของอุปกรณ์วัด 5.10 ฟองสุญญากาศในน้ำ (Cavitation) หลุดเข้าไปในอุปกรณ์วัด |
. |
6. ปั๊มเริ่มต้นทำงานได้ปกติ แต่สักพักหนึ่งจึงเริ่มทำงานผิดปกติ อาจเกิดจาก |
6.1 มีอากาศซึมหรือถูกดูดเข้าไปในตัวปั๊ม 6.2 มีอากาศจำนวนมากปนมากับของเหลวที่ดูดเข้าปั๊ม 6.3 ท่อน้ำไหลกลับที่สูงกว่าผิวน้ำ อาจจะทำให้น้ำที่ไหลกลับกระแทกผิวน้ำและพาฟองอากาศปนเข้าไปในท่อดูด 6.4 มีกลุ่มฟองอากาศหรือโพรงอากาศค้างในท่อดูด |
. |
7. ปั๊มส่งเสียงดัง หรือ สั่นสะท้าน อาจเกิดจาก |
7.1 การติดตั้งปั๊มกับตัวขับไม่ร่วมศูนย์กัน 7.2 ชิ้นส่วนที่หมุนเช่นใบพัดมีการเสียดสี 7.3 ลูกปืนสึกหรอหรือเสียหาย 7.4 ปั๊มหมุนผิดทิศทาง 7.5 แรงดูดของปั๊มไม่เพียงพอกับความต้องการของระบบ (available NPSH too low) 7.6 มีสิ่งแปลกปลอมไปอุดอยู่ในเสื้อปั๊มหรือใบพัด 7.7 ติดตั้งอุปกรณ์หรือมีครีบ หรือชิ้นส่วนบางอย่างขวางทางน้ำ เช่น รูปะเก็นหน้าแปลนเล็กกว่ารูท่อของปั๊ม หรือ ลิ้นวาล์วต่าง ๆ ขวางทางน้ำ 7.8 เกิดความเสียหายที่ใบพัด 7.9 การติดตั้งใบพัดไม่ถูกต้อง 7.10 ตะแกรงกรองวาล์วกักน้ำทางดูดตันหรือถูกบัง 7.11 การใช้งานปั๊มนอกขอบเขตความสามารถของปั๊ม หรือเลือกปั๊มไม่ถูกต้อง 7.12 การติดตั้งท่อทางดูดทางส่งไม่ถูกต้อง เช่น บางส่วนของท่อดูดอยู่สูงกว่าปั๊มและระดับน้ำ 7.13 มีอากาศซึมหรือถูกดูดเข้าไปในตัวปั๊ม 7.14 มีอากาศจำนวนมากปนมากับของเหลวที่ดูดเข้าปั๊ม 7.15 ในระบบมีการทำงานของปั๊มร่วมกันมากกว่า 1 ตัว การทำงานของปั๊มทุกตัวจะมีผลกระทบต่อปั๊มตัวอื่น ๆด้วย 7.16 แหล่งน้ำมีปัญหาเช่นตื้นเกินไป ระดับน้ำต่ำเกินไป 7.17 ระบบท่อมีตะกรันเกาะ 7.18 ใช้งานปั๊มในช่วงความเร็ววิกฤตของปั๊ม 7.19 ชิ้นส่วนหมุนไม่ได้รับการถ่วงสมดุลย์ 7.20 มีแรงในแนวรัศมีกระทำกับชิ้นส่วนหมุน 7.21 ระยะห่างระหว่างขอบใบพัดกับลิ้นสร้างแรงดันของปั๊มแคบเกินไป 7.22 ลิ้นสร้างแรงดันเสียหาย ชำรุดหรือผิดปกติ 7.23 การลดขนาดท่อดูดท่อส่งและข้อต่ออาจทำให้เกิดฟองสุญญากาศในน้ำ (Cavitation) 7.24 ลิ้นวาล์วเสียหาย หรือหลวม 7.25 เพลาปั๊มคดงอ 7.26 รูใบพัดไม่ร่วมศูนย์และตั้งฉากกับเพลาของปั๊ม 7.27 ชิ้นส่วนภายในปั๊มไม่ร่วมศูนย์กัน 7.28 ใช้ปั๊มทำงานที่ปริมาณน้ำน้อยเกินไป (ปิดวาล์วเกือบหมด หรือแรงดันระบบสูงเกินไป) 7.29 ฐานรองรับปั๊มหลวม ชำรุด หรือไม่แข็งแรงพอ 7.30 ความถี่ธรรมชาติของระบบกับปั๊มเสริมกันพอดี 7.31 ความถี่ธรรมชาติของท่อและอุปกรณ์กับความถี่จากความเร็วรอบเสริมกันพอดี 7.32 นัตหรือสกรูยึดปั๊มหรือฐานหลวม 7.33 การยืดหดเนื่องจากความร้อน 7.34 การประกอบลูกปืนไม่ถูกต้อง 7.35 ใส่จาระบีหรือน้ำมันหล่อลื่นลูกปืนผิดชนิด 7.36 ใส่จาระบีหรือน้ำมันหล่อลื่นลูกปืนไม่เพียงพอ 7.37 แรงดันที่ต้องใช้งานสูงหรือต่ำกว่าที่ปั๊มจะทำงานได้ 7.38 มีสิ่งแปลกปลอมไปอุดหรือขวางท่อทางดูดทางส่ง 7.39 เกิดฟองสุญญากาศในน้ำ (Cavitation)ในระบบท่อ 7.40 ทางผ่านน้ำในท่อหรือในเสื้อปั๊มถูกกักร่อนหรือสึกหรอมาก |
. |
8. น้ำรั่วจากห้องปะเก็นเชือกมากเกินไป หรือมีอายุการใช้งานสั้นเกินไป อาจเกิดจาก |
8.1 ลูกปืนสึกหรอหรือเสียหาย 8.2 ประกอบปะเก็นเชือกไม่ถูกต้อง 8.3 เลือกชนิดปะเก็นเชือกผิด 8.4 อัดปะเก็นเชือกไม่ถูกต้อง เอียง แน่น หรือหลวมเกินไป 8.5 ชิ้นส่วนหมุนไม่ได้รับการถ่วงสมดุลย์ 8.6 มีแรงในแนวรัศมีกระทำกับชิ้นส่วนหมุน 8.7 เพลาปั๊มคดงอ 8.8 รูใบพัดไม่ร่วมศูนย์และตั้งฉากกับเพลาของปั๊ม 8.9 ชิ้นส่วนภายในปั๊มไม่ร่วมศูนย์กัน 8.10 ชิ้นส่วนหมุน หมุนออกนอกแนวแกน (เบี้ยว) 8.11 ท่อน้ำเลี้ยงอุดตัน 8.12 ฝาปิดซีลประกอบไม่ถูกต้อง 8.13 เพลาคอดหรือประเก็นเชือกหลวม 8.14 มีช่องว่างระหว่างเพลากับห้องซีลมากเกินไป 8.15 น้ำเลี้ยงซีลสกปรกหรือมีตะกรัน |
. |
9. น้ำรั่วจากแม็คแคนนิคอลซีล หรือมีอายุการใช้งานสั้นเกินไป อาจเกิดจาก |
9.1 ลูกปืนสึกหรอหรือเสียหาย 9.2 ประกอบแม็คแคนนิคอลซีล ไม่ถูกต้อง 9.3 เลือกชนิดแม็คแคนนิคอลซีล ผิด 9.4 ปั๊มหมุนโดยไม่มีน้ำเลี้ยงแม็คแคนนิคอลซีล 9.5 ชิ้นส่วนหมุนไม่ได้รับการถ่วงสมดุลย์ 9.6 มีแรงในแนวรัศมีกระทำกับชิ้นส่วนหมุน 9.7 เพลาปั๊มคดงอ 9.8 รูใบพัดไม่ร่วมศูนย์และตั้งฉากกับเพลาของปั๊ม 9.9 ชิ้นส่วนภายในปั๊มไม่ร่วมศูนย์กัน 9.10 การติดตั้งปั๊มกับตัวขับไม่ร่วมศูนย์กัน 9.11 ชิ้นส่วนหมุน หมุนออกนอกแนวแกน (เบี้ยว) 9.12 ท่อน้ำเลี้ยงอุดตัน 9.13 ฝาปิดซีลประกอบไม่ถูกต้อง หรือซีลรั่ว 9.14 ซีลระหว่างตัวแม็คแคนนิคอลซีลกับเพลาหรือฝารั่ว 9.15 น้ำเลี้ยงซีลสกปรก มีตะกรัน หรือมีของแข็งเล็ก ๆ ปนมาด้วย 9.16 หน้าซีลไม่ตั้งฉากกับเพลา |
. |
10. ลูกปืนร้อน หรือมีอายุการใช้งานสั้นเกินไป อาจเกิดจาก |
10.1 เกิดความเสียหายที่ใบพัด 10.2 มีสิ่งแปลกปลอมไปอุดอยู่ในใบพัด 10.3 ชิ้นส่วนหมุนไม่ได้รับการถ่วงสมดุลย์ 1.4 มีแรงในแนวรัศมีกระทำกับชิ้นส่วนหมุน 10.5 มีแรงในแนวแกนเพลา 10.6 เพลาปั๊มคดงอ 10.7 รูใบพัดไม่ร่วมศูนย์และตั้งฉากกับเพลาของปั๊ม 10.8 ชิ้นส่วนภายในปั๊มไม่ร่วมศูนย์กัน 10.9 มีแรงในแนวรัศมีมากเกินไป 10.10 ใช้ปั๊มทำงานที่ปริมาณน้ำน้อยเกินไป (ปิดวาล์วเกือบหมด หรือแรงดันระบบสูงเกินไป) 10.11 ฐานรองรับปั๊มหลวม ชำรุด หรือไม่แข็งแรงพอ 10.12 ชิ้นส่วนหมุน หมุนออกนอกแนวแกน (เบี้ยว) 10.13 การประกอบลูกปืนไม่ถูกต้อง 10.14 เสื้อลูกปืนไม่ร่วมศูนย์กับเสื้อปั๊มหรือใบพัด 10.15 มีรอยร้าวหรือแตกที่เสื้อลูกปืน 10.16 ระบบหล่อลื่นลูกปืนชำรุด 10.17 ระบบหล่อเย็นลูกปืนชำรุด 10.18 ใส่จาระบีหรือน้ำมันหล่อลื่นลูกปืนผิดชนิด 10.19 ใส่จาระบีหรือน้ำมันหล่อลื่นลูกปืนมากหรือน้อยเกินไป 10.20 ลูกปืนสกปรกหรือเปียกน้ำ 10.21 แรงดันหน้าและหลังใบพัดไม่สมดุล 10.22 ลูกปืนกับเพลาหรือเสื้อลูกปืนแน่นเกินไป |
. |
11. ลูกปืนส่งเสียงดัง อาจเกิดจาก |
11.1 เสียงแบบความถี่สูงคงที่ 11.1.1 มีแรงในแนวรัศมีมากเกินไป 11.1.2 มีแรงในแนวแกนมากเกินไป 11.1.3 มีแรงในแนวรัศมีมากเกินไป 11.1.4 ลูกปืนกับเพลาหรือเสื้อลูกปืนหลวมเกินไป 11.2 เสียงแบบความถี่สูงหรือเสียงแหลมไม่สม่ำเสมอ 11.2.1 เม็ดลูกปืนไม่หมุนรอบตัวเองแต่วิ่งในราง 11.2.2 ลูกปืนชนิดที่ต้อง preload อาจไม่ได้ preload 11.2.3 เพลาหรือชิ้นส่วนหมุนเสียดสีเสื้อลูกปืน 11.3 เสียงแบบความถี่ต่ำคงที่หรือดังเป็นช่วง ๆ 11.3.1 ผิวลูกปืนชำรุด 11.3.2 รางวิ่งลูกปืนชำรุด สกปรก 11.3.3 เสียงจากความถี่ธรรมชาติของอุปกรณ์ 11.4 เสียงหอนก้อง เสียงดังกิ๊ก ๆ แกรก ๆ หรือเอี๊ยดอ๊าด ไม่สม่ำเสมอ 11.4.1 ชิ้นส่วนของปั๊มหรืออุปกรณ์หลุดหลวม 11.4.2 ลูกปืนสกปรก 11.4.3 เม็ดลูกปืนสึกหลวม 11.4.4 ลูกปืนชนิดที่ต้อง preload อาจ preload ไม่ถูกต้อง |
. |
12. ปั๊มร้อนมาก หมุนติด หรือฝืดมาก อาจเกิดจาก |
12.1 ปั๊มทำงานโดยไม่มีน้ำ 12.2 มีไอน้ำหรือโพรงอากาศขังในปั๊ม 12.3 ใช้ปั๊มทำงานที่ปริมาณน้ำน้อยเกินไป (ปิดวาล์วเกือบหมด หรือแรงดันระบบสูงเกินไป) 12.4 ในระบบมีการทำงานของปั๊มร่วมกันมากกว่า 1 ตัว ปั๊มบางตัวทำงานผิดปกติหรือไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ 12.5 เกิดการบิดตัวของปั๊มเนื่องมาจากการงัดกันของท่อหรืออุปกรณ์ประกอบ หรือจากการซ่อมบำรุงไม่ดี 12.6 ชิ้นส่วนที่หมุนภายในปั๊มเช่นใบพัดมีการเสียดสี 12.7 ลูกปืนสึกหรอหรือเสียหาย 12.8 ระบบหล่อลื่นลูกปืนชำรุด 12.9 แหวนกันสึกแน่นเกินไป หลุด หรือใช้วัสดุไม่เหมาะสม |
. |
13. เสื้อปั๊ม หรือ ใบพัด มีอายุการใช้งานสั้นเกินไป อาจเกิดจาก |
13.1 เกิดการกัดกร่อนทางเคมี 13.2 เกิดการกัดกร่อนเนื่องจากความต่างศักย์ไฟฟ้าของวัสดุ 13.3 เกิดการขัดสีจากของแข็งที่ปนมากับของเหลว 13.4 เกิดการเปลี่ยนแปลงความร้อนกระทันหัน 13.5 เกิดการสั่นสะท้าน 13.6 เกิดการผุกร่อนจากฟองสุญญากาศในน้ำ (Cavitation) 13.7 เกิดความเครียดกระทันหันขณะเริ่มหรือหยุดหมุน 13.8 ใช้งานปั๊มที่อุณหภูมิสูง 13.9 เกิดความเครียดจากท่อหรืออุปกรณ์ประกอบ 13.10 เกิดความเครียดจากการยึดปั๊มกับฐานรองรับ |
. |
14. มีเสียงดังตอนปั๊มเริ่มหมุนและหยุดหมุน อาจเกิดจาก |
14.1 เกิดแรงดันน้ำกระแทกกลับภายนอก (Water Hammer) 14.2 มีไอน้ำหรือโพรงอากาศขวางระหว่างท่อส่งกับวาล์วกันกลับ 14.3 เกิดแรงดันน้ำกระแทกกลับภายใน (Slam Pressure) |
. |
15. เสื้อปั๊มแตกรั่วตอนปั๊มเริ่มหมุนและหยุดหมุน |
15.1 เกิดแรงดันน้ำกระแทกกลับภายนอก (Water Hammer) 15.2 เกิดแรงดันน้ำกระแทกกลับภายใน (Slam Pressure |
. |
16. ปะเก็นรั่วซึมขณะปั๊มทำงาน อาจเกิดจาก |
16.1 สกรูหรือนัตยึดหลวมหลุด 16.2 ขันสกรูหรือนัตยึดแน่นไม่เท่ากัน 16.3 เกิดการขยายตัวเนื่องจากความร้อนไม่สม่ำเสมอ |
. |
17. ขณะใช้งานปั๊มปริมาณน้ำเดี๋ยวมากเดี๋ยวน้อยหรือหยุดไหลเป็นพักๆ อาจเกิดจาก |
17.1 ระดับน้ำในแหล่งน้ำขึ้นลงไม่สม่ำเสมอ 17.2 สูบน้ำออกจากแหล่งน้ำมากกว่าที่เติมกลับเข้าไป |
. |
18. เกิดฟองสุญญากาศในน้ำ (Cavitation) อาจเกิดจาก |
18.1 ใบพัดของปั๊มโตเกินไป 18.2 ปั๊มทำงานที่ความเร็วรอบสูงเกินไป 18.3 ท่อทางส่งหักหรือมีรอยรั่วขนาดใหญ่ 18.4 เปิดหรือปรับวาล์วผ่านน้ำ(bypass valve)มากเกินไป 18.5 มีช่องว่างระหว่างปั๊มกับเสื้อปั๊มมากเกินไป 18.6 มีรูที่เสื้อปั๊มที่ทำให้แรงดันทางส่งดันน้ำไปด้านทางดูด |
. |
ทั้งจากการจัดกลุ่มปัญหาและสาเหตุข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งเราสามารถจะเพิ่มเติมกลุ่มปัญหาและสาเหตุที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากเหตุการณ์จริงหรือจากประสพการณ์ที่ได้รับคำบอกเล่าจากผู้อื่น และยังสามารถผนวกวิธีการแก้ไขเข้าไป จากนั้นนำไปแจกจ่ายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากจะช่วยประหยัดเวลาในการซ่อมบำรุงแล้ว ยังทำให้การสื่อสารระหว่างหน่วยงานเป็นไปในทางเดียวกัน |
. |
บริษัท ศรีโพธิ์ทอง เมตัลเวิร์ค จำกัด ประกอบธุรกิจหลักเป็นผู้ผลิตเครื่องสูบน้ำสำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยมีวัสดุ และชิ้นส่วนที่สามารถเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งานได้เช่น เลือกเครื่องสูบน้ำที่เป็นสแตนเลสสำหรับของเหลวที่มีเคมีเจือปน หรือเลือกใช้เครื่องสูบน้ำที่มีใบพัดออกแบบพิเศษให้ใช้สำหรับของเหลวที่มีสารแขวนลอยหรือมีกากเจือปน เครื่องสูบน้ำที่ผลิตได้มีตั้งแต่ขนาดท่อ 2" จนถึงขนาด 34" ปริมาณน้ำที่สูบสูงสุดได้ ถึง 8000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง แรงดันสูงสุดได้ถึง 40 bar หรือ 400 เมตร น้ำ |
. |
นอกจากผลิตเครื่องสูบน้ำแล้ว บริษัทฯ ยังทำการผลิตปั๊มประเภทอื่น ๆ เช่น เกียร์ปั๊ม แวคคั่มปั๊ม นอกจากนี้บริษัทฯ ยังรับงานภายนอก งานซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ งานผลิตชิ้นงานตามตัวอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนของเครื่องสูบน้ำ เช่น ใบพัด ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 8000 แบบ |
. |
สำหรับความสามารถในการผลิต บริษัทฯ มีโรงหล่อโลหะที่สามารถผลิตเหล็กหล่อ ทองเหลือง อะลูมิเนียม และสแกนเดียม ที่สามารถหลอมโลหะได้ครั้งละมากกว่า 1.5 ton และยังมีเครื่องฉีดอะลูมิเนียมขนาดแรงดันถึง 800 ton ที่สามารถรับงานฉีดอะลูมิเนียมได้ด้วย |
. |
ขั้นตอนการผลิตเครื่องสูบน้ำของบริษัทฯ เริ่มจากผลิตชิ้นงานหล่อจากเครื่องจักรและกรรมวิธีที่ทันสมัยโดยใช้ระบบควบคุมของ Meehanite International Professional Processing System เพื่อควบคุมคุณภาพของงานหล่อโลหะ จากนั้นจึงส่งไปแปรรูป (Machining ) โดยเครื่องจักรที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ (CNC) เพื่อให้ได้ชิ้นส่วนที่มีคุณภาพและความเที่ยงตรงสูงสุด สำหรับชิ้นส่วนที่ต้องหมุนขณะใช้งานจะนำไปทำการถ่วงสมดุล (Dynamic Balancing) หลังจากที่ประกอบชิ้นส่วนเป็นเครื่องสูบน้ำ จะต้องทำการทดสอบแรงดันโดยการอัดน้ำเข้าเครื่องสูบน้ำให้มีแรงดันอย่างน้อย 1.5 เท่าของการใช้งาน (ทดสอบ 100%) จากนั้นจึงทำการสุ่มตรวจคุณสมบัติ (Performance Characteristic) ด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย เช่น Ultrasonic Flow Test.... Pressure Transducer... เป็นต้น |
. |
สำหรับลูกค้าของบริษัทฯ จะมีอยู่เกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรม กระดาษ แป้ง น้ำตาล น้ำมันพืช เหมืองแร่ กลุ่มผลิตเหล็ก กระเบื้อง ปูนซีเมนต์ ไม้อัด กลุ่มผลิตอาหาร ฯลฯ รวมทั้งกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ส่วนลูกค้าด้านการเกษตร จะแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรกรรมชาวบ้านและกลุ่มเกษตรกึ่งอุตสาหกรรม เช่น สวนส้ม ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด หรือ ส่วนป่า (ยูคาลิปตัส) |
. |
เป้าหมายของบริษัทฯ ในการประกอบกิจการ คือ ต้องการผลิตสินค้าให้ผู้ประกอบการในประเทศใช้เพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งประเทศเราต้องสั่งซื้อสินค้าประเภทนี้มากกว่าปีละ 6000 ล้านบาท |
. |
ข้อดีของการใช้สินค้าของบริษัทฯ นอกจากจะลดการขาดดุลการค้าของประเทศแล้ว ยังได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพทัดเทียมกันในราคาที่ถูกกว่า มีอะไหล่บริการตลอดเวลา และยังสามารถดัดแปลงให้เหมาะแก่การใช้งานโดยเฉพาะผู้ใช้สามารถร่วมกับ บริษัทฯ ในการพัฒนาดัดแปลงเครื่องสูบน้ำได้ด้วย |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด