ปัจจุบันนี้แนวคิดเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก นโยบายและยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของภาครัฐที่ออกมาล้วนอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบราช การเปลี่ยนบทบาทภาคเอกชน
ปัจจุบันนี้หลาย ๆ ท่านอาจจะได้ยินหรือได้ฟังเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศค่อนข้างบ่อยครั้ง แนวคิดเรื่องขีดความสามารถในการนั้นได้ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก นโยบายและยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของภาครัฐที่ออกมาล้วนอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบราช การเปลี่ยนบทบาทภาคเอกชน การรวมกลุ่มเศรษฐกิจ และการเปิดเสรีทางการค้า ดังนั้นทางคณะผู้เขียนจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและอยากจะหยิบเรื่องราวในประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยกัน |
ความเป็นมาและความสำคัญ |
แนวคิดเรื่องความสามารถในการแข่งขันได้เริ่มต้นขึ้นในทศวรรษที่ 80 โดยประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะนำเอาแนวคิดดังกล่าวเข้ามาปรับเป็นยุทธวิธีรับมือการขยายตัวทางการค้าของประเทศญี่ปุ่น การเพิ่มศักยภาพในการผลิต การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นตัวนำในการดำเนินการทางการค้ามากขึ้น และรวมไปถึงการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดน ความสามารถทางการแข่งขันจึงเป็นกระแสความตื่นตัวของโลกในทศวรรษใหม่อย่างแท้จริง ทั้งนี้ความสามารถในการแข่งขันนั้นมีความหมายในหลายมิติ ขึ้นอยู่กับกระแสของรูปแบบการแข่งขันในตลาดโลก |
สำหรับประเทศไทยนั้น นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ไทยได้เร่งพัฒนาฟื้นฟูให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยรักษาความสมดุลระหว่างการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และปัจจุบันแม้ภาพรวมทางเศรษฐกิจของไทยจะดีขึ้น แต่ประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนที่แท้จริงโดยได้วางยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไว้ 7 ประการ ซึ่งสามารถแบ่งได้ตามระดับการพัฒนาเป็น 3 ระดับดังนี้ |
ระดับมหภาค ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 2 ประการ คือ ประการแรกเป็นการสร้างรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่นคง โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี (SMEs) อาทิ ระบบลอจิสติกส์ ส่วนประการที่สองนั้นเป็นส่วนที่มีบทบาทที่เข้มแข็งในเวทีโลก |
ระดับภาคการผลิต ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 3 ประการคือ ประการแรกเป็นการสร้างความเป็นเลิศของสินค้าในตลาดโลก ประการที่สองความสามารถทางนวัตกรรมที่มีพื้นฐานจากการเรียนรู้และภูมิปัญญา ทั้งนี้มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรที่ไม่เพียงมีฝีมือและทักษะ แต่มีทัศนะคติและค่านิยมที่เอื้อต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันให้กับประเทศ และประการที่สามการเป็นสังคมผู้ประกอบการโดยเน้นการวางนโยบายและมาตรการที่สนับสนุนการประกอบการ |
ระดับสังคม ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 2 ประการ คือ ประการแรกการเป็นสังคมที่เชื่อมั่นและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตน และประการที่สองการเป็นสังคมที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี |
แนวคิดของการของการแข่งขัน |
การเข้าใจแนวคิดเรื่องความสามารถในการแข่งขันมีความสำคัญอย่างยิ่ง หลายท่านอาจเข้าใจว่าความสามารถในการแข่งขันจะต้องมาจากการที่สินค้ามีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าคู่ค้าหรือการที่มีค่าแรงงานถูก นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะในปัจจุบันการแข่งคือความสามารถที่จะผลิตหรือให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลิตผลเท่ากับหรือดีกว่าคู่แข่ง มิใช่เป็นเพียงการแข่งขันกันเพียงด้านต้นทุนเท่านั้น ประเทศใดที่มีค่าแรงงานถูกกว่าย่อมเข้ามาแทนที่ต่อไปในอนาคต และเมื่อเราสามารถทำให้สินค้าและบริการของเราเกิดผลผลิตแล้ว สิ่งที่เราต้องพยายามทำต่อไป และอาจเรียกได้ว่านี่คือหัวใจของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนคือ การทำให้สินค้าและบริการดียิ่งขึ้นรวมถึงการมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง คุณภาพ คุณค่า รูปแบบ ความน่าเชื่อถือ ราคา และนวัตกรรม การทำให้เกิดความแตกต่างเป็นสิ่งที่จะต้องสร้างขึ้นให้ได้ในการดำเนินกิจกรรมทางการค้าในปัจจุบัน |
Diamond Model ของดร.ไมเคิล พอร์เตอร์ |
เมื่อกล่าวถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ชื่อหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาคือ ดร.ไมเคิล พอร์เตอร์ ศาสตราจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ
|
แนวความคิดของ Prof. Porter เชื่อว่าความมั่งคั่งของประเทศในระยะยาวและคุณภาพชีวิตของประชาชนจะถูกกำหนดจากความสามารถในการใช้ทรัพยากรมนุษย์ เงินทุนและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อผลผลิตของประเทศนั้น ๆ โดยมีหลักการที่สำคัญคือ โครงสร้างเศรษฐกิจมหภาคที่ดีและความสามารถในการพัฒนารากฐานการแข่งขันในระดับเศรษฐกิจระดับจุลภาคของประเทศ โดยการพัฒนาในระดับจุลภาคนี้ประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญ 4 ประการและนำไปสู่ ทฤษฏี Diamond Model ในการยกระดับการเพิ่มมูลค่าและบริการอย่างต่อเนื่อง |
|
ปัจจัยประการที่ 1สภาวะปัจจัยการผลิต |
โดยในแต่ละประเทศนั้นจะมีความแตกต่างกันในด้านทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ ความรู้ทางเทคนิค สินค้าทุนและโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นปัจจัยประการแรกที่ต้องคำนึง คือการผสมผสานปัจจัยที่มีความได้เปรียบของประเทศมาใช้ประโยชน์มากที่สุด และแม้ว่าจะมีความเสียเปรียบในปัจจัยการผลิตบางด้าน หากรู้จักประยุกต์ดัดแปลงให้เหมาะสม ก็จะแปรสภาพมาเป็นความได้เปรียบได้ เช่น ญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงานจึงต้องคิดค้นหากรรมวิธีการผลิตแบบใหม่ๆ โดยใช้เครื่องจักรทำงานอัตโนมัติก่อให้เกิดความได้เปรียบ คือ ต้นทุนการผลิตต่ำลงและสินค้ามีคุณภาพสูงขึ้น |
ปัจจัยประการที่ 2 สภาวะอุปสงค์ |
ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นจะพิถีพิถันมากในการเลือกซื้อสินค้า ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูง ผู้ผลิตสินค้าจึงให้ความสำคัญมากกับการควบคุมคุณภาพสินค้า ทำให้สินค้าญี่ปุ่นมีคุณภาพสูง ดังนั้นการผลิตสินค้าจึงต้องดูและพิจารณาความต้องการของคนในประเทศนั้น ๆ หลักเพื่อที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ได้ตรงกับความต้องการ |
ปัจจัยประการที่ 3 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องและสนับสนุน |
ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ บริษัทต่าง ๆ จำเป็นจะต้องจัดหาชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบจากทุกแหล่งทั่วโลก รวมทั้งต้องขายสินค้าสำเร็จรูปไปยังทั่วโลกเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นบริษัทเหล่านี้จึงต้องมีการตั้งโรงงานกระจายไปทั่วโลก เพื่อแสวงหาความได้เปรียบในด้านปัจจัยการาผลิตจากบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทต่าง ๆ ยังจะต้องผูกสัมพันธ์เป็นพันธมิตรกับมิตรในต่างประเทศ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับตนเองอีกด้วย |
สำหรับทัศนะของ ดร.พอร์เตอร์นั้น เขามองว่าเพียงแต่มีอุตสากรรมที่เกี่ยวเนื่องหรืออุตสาหกรรมสนับสนุนมาตั้งรวมกันเป็นกลุ่มก้อนยังไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน เนื่องจากวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและเครื่องจักรนั้น มีลักษณะซื้อง่ายขายคล่องสามารถซื้อจากประเทศใด ๆ ก็ได้ ค่าขนส่งวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนระหว่างประเทศก็ไม่แพงมากมายนัก |
การที่ประชาชาติจะได้เปรียบในการแข่งขันนั้น จะต้องทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนมีการร่วมมือประสานงานซึ่งกันและกัน เช่น แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยจัดให้โรงงานกระจุกตัวเป็นกลุ่มก้อนเป็นคลัสเตอร์ซึ่งจะช่วยเร่งให้เกิดนวัตกรรมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น |
ปัจจัยประการที่ 4 กลยุทธ์โครงสร้างและการแข่งขัน |
กลยุทธ์โครงสร้างการจัดองค์การ การบริหารงานและการแข่งขันของบริษัทต่าง ๆ จะส่งผลต่อลักษณะอุตสาหกรรมที่แต่ละประเทศมรความชำนาญ ซึ่งจะมีผลทางอ้อมต่อความได้เปรียบในการแข่งขัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเยอรมันนีจะนิยมแต่งตั้งวิศวกรมาเป็นผู้บริหารของบริษัท ดังนั้น จะประสบความสำเร็จในการผลิตสินค้าที่ใช้ความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมระดับสูง แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการผลิตสินค้าประเภทพื้น ๆ ที่จำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ การแข่งขันระหว่างบริษัทต่าง ๆ ก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมแข็งแกร่งขึ้น อันจะเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศได้ เช่น สหรัฐฯ ได้เปรียบในด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ เนื่องจากมีบริษัทที่แข่งขันกันเองอยู่เป็นจำนวนมาก |
การหมุนเวียนของสัมพันธภาพของ 4 ปัจจัย |
ในทัศนะของ ดร.พอร์เตอร์ ปัจจัยทั้ง 4 ประการข้างต้นจะหมุนเวียนกันไปมาเหมือนกับกังหัน กล่าวคือ จะเริ่มต้นจากปัจจัยใดเพียงปัจจัยหนึ่งก่อน จากนั้นก็จะผลักดันไปยังปัจจัยอื่น ๆ ดร.พอร์เตอร์ ได้ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมรองเท้าของชาวอิตาลีที่ต้องการรองเท้าที่มีลักษณะดีเยี่ยมไม่เหมือนใคร จึงก่อให้เกิดโรงงานผลิตรองเท้าคุณภาพสูงจำนวนมากในประเทศอิตาลี โดยเฉพาะที่เมือง Vigerano ซึ่งอยู่ใกล้กับนครมิลาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว เนื่องจากชาวอิตาลีมีบุคลิกเป็นผู้ประกอบการสูง ประชาชนต้องการเป็นเจ้าของกิจการของตนเอง และไม่เกรงกลัวต่อความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับในสังคมจะมีการยกย่องบุคคลที่ประสบผลสำเร็จในการก่อตั้งธุรกิจของตนเอง |
จากการที่มีโรงงานเป็นจำนวนมากและแต่ละแห่งก็มีการแข่งขันกันเองอย่างเอาเป็นเอาตาย กระตุ้นให้ผู้ผลิตทั้งหลายต้องพยายามออกแบบรองเท้ารูปแบบใหม่ ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อให้อยู่รอดในการแข่งขัน ทำให้อิตาลีกลายเป็นผู้ได้เปรียบในการผลิตรองเท้าที่มีคุณภาพสูงในที่สุด |
หลังจากนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ อุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมฟอกหนัง เครื่องจักรผลิตรองเท้า ฯลฯ ซึ่งทำให้อิตาลียิ่งมีความได้เปรียบในการผลิตรองเท้าคุณภาพสูง และอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับการผลิตรองเท้ามากขึ้นจนสามารถแข่งขันได้ทั่วโลก ทั้ง ๆ ที่ค่าแรงงานในอุตสาหกรรมรองเท้าของอิตาลีสูงถึงชั่วโมงละ 17 เหรียญสหรัฐฯ แม้ประเทศอื่น ๆ พยายามที่จะลอกเลียนแบบแต่ก็ยังไม่สามารถแข่งกับเครื่องหนังที่ผลิตโดยชาวอิตาเลียนได้ โดยมีแบรนด์ที่มีชื่อเสียง เช่น Ferragamo, Guccio ฯลฯ |
สุดท้ายนี้ ดร.พอร์เตอร์ เห็นว่าการที่แต่ละประเทศจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยาวนานและยั่งยืนนั้น ควรจะมีปัจจัยเกื้อหนุนทั้ง 4 ประการอย่างครบถ้วน ไม่ควรมีเพียงแค่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น |
การรวมกลุ่มธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน |
กระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน การที่ประเทศจะพัฒนาความสามารถในการแข่งขันเฉพาะในส่วนของประเทศนั้นๆ เองดูจะเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ การรวมกลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ (Cluster of Countries) จึงเริ่มที่จะเข้ามามีบทบาท และได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเศรษฐกิจและการลงทุน |
ในปัจจุบัน บริษัทหรือผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความชำนาญเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งของสายการผลิต และจะใช้บริการจากภายนอก (Out-sourcing) ในส่วนการผลิตอื่น ๆ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการแข่งขัน ทั้งในด้านของความชำนาญเฉพาะด้าน (Core Competencies) และการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) |
ดังนั้น คลัสเตอร์ ซึ่งหมายถึง การรวมกลุ่มบริษัทในทุกๆด้าน ตั้งแต่ผู้จัดส่งสินค้าที่มีความชำนาญเฉพาะด้านที่แตกต่างกันรวมไปถึงผู้ให้บริการและโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะด้าน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องช่องทางการจำหน่าย ลูกค้าและสถาบันที่เกี่ยวข้อง องค์กรผู้ผลิตความรู้ เช่น มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย บริษัทวิศวกรรม ฯลฯ เข้าด้วยกันเพื่อสร้างกลุ่มการค้า กลุ่มอุตสาหกรรม จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำการแข่งขันในปัจจุบัน และแม้ว่าการรวมกลุ่มคลัสเตอร์จะมีการแข่งขัน แต่ขณะเดียวกันก็มีความร่วมมือกัน โดยกลุ่มผู้ประกอบการที่มีการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กัน แต่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องหรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่มในพื้นที่เดียวกัน จากการพึ่งพากันทำให้เกิดการเชื่อมโยงที่เป็นระบบในการถ่ายทอดความรู้จะทำให้คลัสเตอร์มีประสิทธิภาพโดยรวมเหนือกว่าผู้ประกอบการที่มีการรวมตัวหรือรวมตัวกันเฉพาะในด้านการค้าเพียงอย่างเดียว |
การเปิดเสรีทางการค้ากับความสามารถในการแข่งขัน |
ประเด็นหนึ่งที่ผมอยากให้ความสำคัญในประเด็นของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันคือ ผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะสงสัยว่าทั้ง 2 หัวข้อนั้นเกี่ยวข้องกันได้อย่างไรและมีความสัมพันธ์ในเชิงอะไร จริงแล้วการเปิดเจรจาการเปิดเสรีทางการค้าของไทยถือเป็นสิ่งที่กระทบกับประเด็นการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของไทยโดยตรงและในระดับที่มีนัยสำคัญอย่างมากด้วย เพราะการที่เราเปิดเสรีก็เท่ากับว่าข้อจำกัดหรือข้อกีดกันทางการค้าที่ปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศได้หายไป ดังนั้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละอุตสาหกรรมจึงก้าวเข้ามาเป็นเรื่องที่สำคัญและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะผู้ที่มาสามารถแข่งขันได้ในโลกของการเปิดเสรีก็จะต้องสูญสลายไป โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ของไทยหลายประเภทอาจต้องพบกับความเสี่ยงจากการคุกคามของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม เงินทุน และเทคโนโลยีที่สูงกว่า ผู้ประกอบการภายในประเทศที่ไม่สามารถปรับตัวได้ อาจสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า |
โดยทั้งนี้ เป้าหมายของการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของไทย มักให้ความสำคัญกับการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดโลกจากการส่งออกเป็นหลัก และแน่นอนว่าเมื่อประเทศไทยเปิดเสรีทางการค้า ย่อมมีความกังวลว่าการเปิดเสรีกับหลายๆ ประเทศในขณะนี้อาจไม่ได้ส่งผลดีต่อประเทศไทยอย่างแท้จริง ประเด็นที่เราควรคำนึงเป็นสิ่งแรกคือ “ทำอย่างไรเราจะสามารถดำเนินธุรกิจภายใต้สิ่งแวดล้อมนี้ได้” และอีกประเด็นที่เราควรทำความความเข้าใจ คือ ความสามารถในการส่งออกของประเทศ มิได้เป็นสิ่งเดียวกันกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศเสมอไป เพราะประเทศมีความซับซ้อนจากความเชื่อโยงภายในระหว่างภาคการผลิตหนึ่งกับอีกภาคการผลิตหนึ่ง (inter-industry linkage) ทำให้ความสามารถในการส่งออกของประเทศแตกต่างไปจากความสามารถในการแข่งขันของประเทศ |
ภาครัฐจึงควรศึกษาถึงความสามารถในการแข่งขัน การเชื่อมโยงของภาคการผลิตต่างๆไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ/ปลายน้ำ และมีการใช้ปัจจัยการผลิตขั้นต้นร่วมกัน ได้แก่ แรงงาน ที่ดิน ทุน เพราะผลกระทบจากการเปิดเสรีนั้น ครอบคลุมผลกระทบทุกด้าน การดำเนินนโยบายการพัฒนาในภาคการผลิตอื่น ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคการผลิตอื่นๆ ร่วมด้วย การวางแผนการพัฒนาภาคการผลิตจึงต้องทำการวิเคราะห์และวางแผนในภาพรวมเป็นอันดับแรก แล้วจึงค้นหายุทธศาสตร์ของแต่ละสาขาการผลิตโดยเฉพาะต่อไป |
จากนั้นจึงนำผลการวิจัยยังทำให้รัฐบาลสามารถจะจัดอันดับความสำคัญและกำหนดสาขาการผลิตที่เป็นยุทธศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถใช้เป็นกรอบในการกำหนดท่าทีในการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศได้ และเป็นการหลีกเลี่ยงการทำนโยบาย และแผนที่ขาดความสอดคล้อง หรือขัดแย้งกันเองจนขาดประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย เพราะใช้ทรัพยากรอันจำกัดไปกับภาคการผลิตที่ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาพรวมอันจะทำให้ผู้ประกอบการชาวไทยอาจต้องพบกับความเสี่ยง หากภาคการผลิตที่ตนผลิตอยู่นั้นเป็นภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการเปิดเสรีทางการค้า |
สำหรับภาคเอกชนก็จำเป็นต้องมีความเข้าใจถึงทิศทางการเปิดเสรี ต้องเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจของตน อีกทั้งความเข้าในถึงความเชื่อมโยงกันของภาคธุรกิจ รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในฐานะที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตร่วมกันไม่ว่าจะเป็นแรงงาน ที่ดิน ทุน ตลอดจนสินค้าชั้นกลางต่างๆ หรือในฐานะอุตสาหกรรมต้นน้ำ/ปลายน้ำ ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนทางธุรกิจได้อย่างรอบคอบ ตลอดจนการตัดสินใจสร้างความร่วมมือระหว่างธุรกิจ (Cluster) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ นอกจากนั้นอาจควรมีการปรับเปลี่ยนทุนที่มีอยู่ไปลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีในอนาคตมากกว่าหรือไม่ |
เอกสารอ้างอิง |
1.ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์, บทความพิเศษ เรื่องเรียนรู้กลยุทธ์การแข่งขันจาก ดร.พอร์เตอร์: วารสารส่งเสริมการลงทุน BOI 2.กฤษณา นิลศรี, คลัสเตอร์กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน: วารสารส่งเสริมการลงทุน BOI 3.รายงานสรุปผลการประชุมนานาชาติ เรื่อง Competitiveness: Challenges and Opportunities for Asian Countries 2004 4.ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, “การเปิดเสรีทางการค้ากับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ: Tax and Business Magazine |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด