เนื้อหาวันที่ : 2022-01-05 18:30:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1613 views

ไอทีกับธุรกิจในยุคการตลาด 5.0

โดย นายนครินทร์ เทียนประทีป

                                                                                    ผู้จัดการฝ่ายการตลาด

                                                                      บริษัท ยิบอินซอย จำกัด

เคยมีคำกล่าวว่า “แนวทางการตลาดที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปนานกว่าหกเดือน จะไม่มีวันย้อนกลับมาทำเหมือนเดิมได้อีกแล้ว” เทียบเคียงได้กับองค์กรที่เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลภายใต้สภาพแวดล้อมด้านไอทีใหม่ ๆ  เช่น คลาวด์ เวอร์ช่วลแมชชีน บิ๊กดาต้า แมชชีนเลิร์นนิ่ง เอไอ ไอโอที เป็นต้น ซึ่งได้เปลี่ยนแนวทางดำเนินธุรกิจไปตลอดกาล

การตลาด 5.0 ในวันที่ทุกอย่างเปลี่ยนไป

ว่ากันว่า การตลาด 5.0 คือ ยุคของเทคโนโลยีเพื่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งเห็นจริงแล้วจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลบิ๊ก ดาต้า ซึ่งถูกใช้เพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุข การพัฒนาแพลตฟอร์มธุรกิจและการตลาดใหม่ ๆ ผ่านออนไลน์ เพื่อรับใช้วิถีชีวิตแบบ Work from Home อย่างจริงจัง

การตลาด 5.0 จึงเป็นยุคที่องค์กรธุรกิจต้องเข้าถึงลูกค้าด้วยแพลตฟอร์มใหม่ ๆ แม้ในยามที่เราไม่สามารถเจอลูกค้าแบบตัวต่อตัว โดยมี ข้อมูล เป็นวัตถุดิบสำคัญในการขับเคลื่อนการตลาด (Data-Driven) ผ่านการประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ เช่น เอไอหรือแมชชีนเลิร์นนิ่ง เพื่อสร้างการตลาดแบบคาดการณ์ (Predictive Marketing) ที่พร้อมวิเคราะห์แนวโน้มความสำเร็จทางธุรกิจที่เป็นไปได้ หรือสร้างแคมเปญทางการตลาดที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละราย (Contextual Marketing) ไอโอทีในการสร้างช่องทางการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เออาร์หรือวีอาร์ในการสร้างแพลตฟอร์มการตลาดเสมือนจริง (Mixed Reality Marketing) เพื่อกระตุ้นการซื้อได้ในแบบออนไลน์และออฟไลน์ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ลูกค้ายุคการตลาด 5.0 ต่างอัพเกรดสู่การเป็นโปรซูเมอร์ (Prosumer) หรือ บอสซูเมอร์ (Bossumer) ที่รู้จริงมากขึ้น คิดก่อนซื้อมากขึ้น ต้องการสินค้าบริการที่เฉพาะตัวมากขึ้น ซึ่งไอทีจะมีส่วนช่วยให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่รูปแบบ As-a-Service ซึ่งตอบสนองได้มากกว่าการส่งมอบสินค้าและบริการ แต่คือ การทำธุรกิจที่มุ่งสร้าง ประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เป็นสำคัญ

ไอทีที่ธุรกิจ 5.0 ต้องการ

การ์ทเนอร์กล่าวว่า สิ่งที่ผู้บริหารธุรกิจคาดหวังจากเทคโนโลยีในปี 2565 และจากนี้ไปอย่างน้อย 3-5 ปี คือ การขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ โดยต้องตอบโจทย์ใน 3 สาระสำคัญ คือ

  1. ให้ความน่าเชื่อถือในทางวิศวกรรม หมายถึง ข้อมูลถูกรวบรวมและประมวลผลอย่างถูกต้องปลอดภัย และยืดหยุ่นในการทำงานข้ามไปมาทั้งบนสภาพแวดล้อมแบบคลาวด์หรือไม่ใช่คลาวด์
  2. หล่อรวมทุกการเปลี่ยนแปลง คือ เทคโนโลยีที่พร้อมต่อการปรับ-ขยาย หรือเร่งการพัฒนาสู่องค์กรดิจิทัลในทุกรูปแบบ อาทิ ช่วยให้องค์กรสามารถสร้างแอปพลิเคชันได้รวดเร็ว เกิดการทำงานที่เป็นอัตโนมัติ หรือ สนับสนุนการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจที่รวดเร็วและชาญฉลาด
  3. เสริมแกร่งการเติบโตทางธุรกิจจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างแผนจัดการเชิงกลยุทธ์ที่สามารถเอาชนะคู่แข่งทางธุรกิจและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด

สมรภูมิแรนซัมแวร์ยังเดือด

การเกิดขึ้นของ Ransomware As a Service ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นในยุคการตลาด 5.0 แต่เกิดขึ้นจริงแล้วสำหรับบริการมัลแวร์ในการโจมตีข้อมูลและระบบไอที ซ้ำการจ่ายค่าไถ่ผ่านบิตคอยน์ที่ไม่สามารถระบุตัวตนทำให้ติดตามจับกุมได้ยาก ปัจจุบัน เกิดกรณีการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ถี่ขึ้นเกือบทุกสองหรือสามเดือน ทั้งยังพบว่า ในปี 2564 องค์กรธุรกิจต้องใช้เวลานานกว่า 287 วัน ในการระบุหรือตรวจพบการละเมิดข้อมูล แม้ว่าการโจมตีของแรนซัมแวร์ยังวนเวียนอยู่ใน 3 วิธีการ คือ หนึ่ง ขโมยข้อมูลออกไปโดยไม่รู้ตัวแล้วนำกลับมาต่อรอง สอง ไม่ได้ขโมยแต่ก็อปปี้ข้อมูลออกไปใช้ และ สาม ใส่รหัสข้อมูลทำให้เจ้าของข้อมูลใช้งานไม่ได้ นอกจากเสียค่าไถ่เพื่อแลกกับกุญแจถอดรหัส แต่ปัญหาตัวโตๆ ณ ขณะนี้ คือ องค์กรที่มีระบบสำรองและกู้คืนข้อมูลก็อย่าได้วางใจ เพราะ แรนซัมแวร์สามารถโจมตีลึกถึงระบบสำรองและกู้คืนข้อมูลได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเซิร์ฟเวอร์หลัก ไฟล์เซิร์ฟเวอร์ หรือแม้กระทั่งในเทปแบ็คอัพก็ตาม

บริษัทไอทีอย่าง HPE แนะเทคนิคการสร้างความปลอดภัยไอทีที่สมบูรณ์ว่า ควรประกอบด้วยขั้นตอนป้องกัน (Prevent) และตรวจจับตอบโต้ (Detect & Response) และจำเป็นต้องใช้ เอไอ ช่วยตรวจจับ ป้องกัน และสร้างระบบอัตโนมัติให้เข้าควบคุมแก้ไขในทันที เพื่อขจัดห่วงโซ่ภัยคุกคาม       ไซเบอร์ที่แฝงมากับการใช้งานเว็บแอปพลิเคชันต่าง ๆ  ช่องโหว่จากการเปิดใช้งานไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย อีเมลฟิชชิ่ง หรือการส่งมัลแวร์เข้ามาฝังตัวโดยตรง เป็นต้น รวมถึงควรเชื่อมโยงเทคโนโลยีความปลอดภัยแต่ละจุดในองค์กรให้สามารถประสานการทำงานร่วมกันในทุกสภาพแวดล้อมทั้งคลาวด์และไม่ใช่คลาวด์ ซึ่งจะทำให้ภาพรวมการปกป้องข้อมูลขององค์กรยุคดิจิทัลมีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง 

ตัวอย่างของ Cohesity Span FS คือ หนึ่งในแพลตฟอร์มจาก HPE ที่พร้อมดูแลระบบสำรองและข้อมูลซึ่งถือเป็นปราการป้องกันข้อมูลสุดท้ายจากแรนซัมแวร์ ด้วยระบบ Data Lock ที่ช่วยปกป้องไฟล์แบ็คอัพทันทีที่พบสิ่งน่าสงสัยหรือมุ่งร้าย เทคโนโลยี Air-Gap ให้องค์กรสามารถกำหนดวิธีจัดการข้อมูลสำคัญอย่างเหมาะสม และเทคนิคการเข้ารหัสข้อมูลหลายชั้น (Multi-Factor Authentication-MFA) ด้วยการสร้างรหัสผ่านแบบใช้แล้วทิ้ง หรือ OTP อีกชุดหนึ่ง นอกเหนือรหัสผ่านที่ใช้ประจำซึ่งถูกขโมยได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ ยังมี Cohesity Helios ระบบตรวจจับผู้บุกรุกผ่านการจัดการข้อมูลแบบ Data Management as a Service พร้อมด้วยแมชชีนเลิร์นนิ่ง เพื่อเสริมการตรวจจับและจัดการทั้งข้อมูลและแอปพลิเคชันในเชิงลึกได้แม่นยำและเข้าใจง่ายผ่านการแสดงผลแบบแดชบอร์ด รวมถึงสามารถกู้คืนข้อมูลหรือแอปพลิเคชันได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กรสามารถเดินหน้าธุรกิจสู่ยุคการตลาด 5.0 ได้อย่างปลอดภัย

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด