โดย : Steve Wood รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น บริษัท อรูบ้า ในเครือบริษัท ฮิวเล็ตต์ แพ็กการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์
โรคระบาดโควิด-19 ทำให้โลกแห่งการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะให้พนักงานทำงานแบบไฮบริด (Hybrid Working) มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่พนักงานสามารถเลือกทำงานได้ทั้งจากสำนักงานใหญ่ บ้าน สาขาย่อย หรือจากที่ไหนก็ได้ระหว่างเดินทางแทนที่จะทำงานในสำนักงานเพียงแห่งเดียวเหมือนเมื่อก่อน แนวโน้มนี้บ่งชี้ว่าแนวทางปฏิบัติในการทำงานแบบเดิม ๆ จะต้องถูกรื้อใหม่ทั้งหมด ยุคแห่ง 'การทำงานได้จากทุกที่' (Work from Anywhere) ทำให้เกิดการก้าวกระโดดไปสู่สถาปัตยกรรมระบบเครือข่ายแบบใหม่ล่าสุดที่เรียกว่า Edge-to-Cloud
คาดการณ์ว่าภายในอีก 5-10 ปีข้างหน้าข้อมูลขององค์กรประมาณ 75% จะถูกสร้างและประมวลผลภายนอกศูนย์ข้อมูลแบบรวมศูนย์ดั้งเดิมและไม่ใช่บนคลาวด์เท่านั้น แต่จะถูกประมวลผลที่ Edge ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ข้อมูลนั้นถูกสร้างขึ้นมา รวมถึงจะมีอุปกรณ์เหล่านี้เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเครือข่ายมากกว่า 5 หมื่นล้านเครื่อง องค์กรต่าง ๆ จะต้องมุ่งเน้นไปที่การสร้างสถาปัตยกรรมระบบเครือข่ายที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถปลดล็อคพลังความสามารถที่ดีที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลและสามารถทำงานในสถานที่ทำงานแบบไฮบริดได้สำเร็จ ซึ่งรวมไปถึงภายหลังจากการผ่อนคลายสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 การทำงานแบบไฮบริดนี้ต้องพึ่งพาการผสานสอดคล้องกันระหว่างโซลูชันระบบเครือข่ายและระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัย
ความสำคัญของสถาปัตยกรรมระบบเครือข่ายที่เหมาะสม
โรคระบาดเปลี่ยนการทำงานให้ต้องเป็นแบบระยะไกล (Remote Working) หรือทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) อย่างกะทันหัน ทำให้ระบบเครือข่ายกลายเป็นจุดรวมที่ทุกฝ่ายสนใจในฐานะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำธุรกิจในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่การเชื่อมโยงพนักงานไปจนถึงแอพพลิเคชันที่มีความสำคัญต่อภารกิจสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความอยู่รอดของธุรกิจ รวมถึงการคิดค้นรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ แม้ว่ายังเป็นไปได้ที่จะกลับไปทำงานที่สำนักงานและยังเห็นการเดินทางเพื่อธุรกิจ แต่จากการสำรวจล่าสุดของอรูบ้าต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีทั่วโลกเปิดเผยว่าในขณะนี้ 83% ขององค์กรต้องรักษาหรือเพิ่มการลงทุนในส่วนระบบเครือข่ายแบบคลาวด์ - โดยมีธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นส่วนแบ่งใหญ่ที่อัตราส่วน 45% ผลลัพธ์นี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความต้องการระบบเครือข่ายแบบจัดการระยะไกลขนาดใหญ่เพื่อตอบสนองความต้องการของพนักงานที่มีการกระจายตัวทำงานในสถานที่ต่าง ๆ ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามการสร้างสถาปัตยกรรมเครือข่ายที่เหมาะสมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นอกเหนือจากความยืดหยุ่นในการเพิ่มขยาย ยังต้องมีคุณสมบัติที่เป็นไปตามข้อกำหนดหรือความต้องการเฉพาะอื่น ๆ สำหรับโซลูชันเครือข่ายระดับองค์กรขนาดใหญ่ (Enterprise-Grade) ที่แตกต่างจากโซลูชันเครือข่ายระดับผู้บริโภค (Consumer-Grade) โดยรวมถึงความสะดวกในการเชื่อมต่อ ตลอดจนประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือที่ต้องได้รับในระดับเดียวกันกับประสบการณ์ในสำนักงาน ทั้งในเรื่องความสะดวกและความปลอดภัยแม้จะทำงานจากที่บ้านของพนักงานเอง
ในส่วนของอุปกรณ์เครือข่าย ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์กระจายสัญญาณไร้สายสำหรับการทำงานจากระยะไกล (Remote Access Point) แบบประสิทธิภาพสูงจะต้องง่ายต่อการนำมาติดตั้งใช้งาน สามารถทำ Zero-Touch Provisioning ซึ่งเป็นคุณสมบัติแบบเสียบปลั๊กแล้วใช้ได้ทันที (Plug-and-Play) โดยไม่ต้องการความช่วยเหลือโดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีในการตั้งค่า ช่วยให้มั่นใจได้ว่าพนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลและแอพพลิเคชันที่ใช้เป็นประจำ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานอย่างต่อเนื่องในธุรกิจขนาดใหญ่
Singapore Press Holdings Limited องค์กรสื่อชั้นนำในประเทศสิงคโปร์ และ The State Cooperative Bank for the State of Telangana (TSCAB) ธนาคารสหกรณ์แห่งรัฐในประเทศอินเดีย ทั้งสองแห่งเป็นตัวอย่างขององค์กรที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบเครือข่ายของตนให้มีความมั่นคง ยืดหยุ่นและปรับขยายขนาดได้โดยคำนึงถึงความต้องการของพนักงานและลูกค้าเป็นอันดับแรก ซึ่งมีความสำคัญมากในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้
ผสานความมั่นคงปลอดภัยให้กับทั้งระบบเครือข่าย
ในการเปลี่ยนผ่านสู่สภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริด องค์กรต่าง ๆ ยังใช้ชุดอุปกรณ์ IoT เพื่อทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ ชาญฉลาด และมีการปรับตัวอย่างมีพลวัตรได้มากยิ่งขึ้น แต่ขอบข่ายที่ขยายออกครอบคลุมอุปกรณ์เหล่านี้กลับทำให้ระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัย (Security) มีช่องโหว่เกิดขึ้นชัดเจน เนื่องจากโซลูชันความมั่นคงปลอดภัยแบบเดิมจากหลายผู้ผลิตต่างถูกยึดติดกับสถาปัตยกรรมเครือข่ายแบบปะติดปะต่อไม่ผสานกลมกลืนกัน จึงกลายเป็นช่องโหว่ที่ดึงดูดการโจมตีจากผู้คุกคามที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
ผู้นำธุรกิจต้องมุ่งความสนใจไปกับการผสานความสัมพันธ์ระหว่างระบบเครือข่ายและระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัย การเกิดขึ้นของ Secure Access Service Edge (SASE) กำลังเร่งการผสานรวมเป็นหนึ่งเดียวของทั้งสองหน้าที่การทำงานนี้
ตามการจัดวางแบบดั้งเดิม องค์กรจะแยกระบบรักษาความปลอดภัยออกจากระบบเครือข่ายโดยถือว่าเป็นส่วนเสริม ซึ่งเป็นการเพิ่มความซับซ้อนจนยากที่จะมองเห็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะหลังจากระบบเครือข่ายเริ่มส่งและประมวลผลข้อมูลที่ปลายทาง (Edge) จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องแยกระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยออกจากระบบเครือข่าย ในทางกลับกันโซลูชันความมั่นคงปลอดภัยต่าง ๆ สามารถประสานเข้ากับระบบเครือข่ายเพื่อการค้นหาช่องโหว่ได้อย่างทันท่วงที (Real-Time) นี่คือที่มาของ SASE ที่จะเป็นตัวประสานการทำงานที่แตกต่างกันเหล่านี้ เพื่อให้ได้การเชื่อมต่อที่ราบรื่นและประสบการณ์ผู้ใช้ที่ยอดเยี่ยม พร้อมด้วยระบบรักษาความปลอดภัยแบบคลาวด์ (Cloud-Delivered Security Capability) ที่สามารถตอบสนองความต้องการขององค์กรได้อย่างครอบคลุม
อนาคตคือการรักษาความมั่นคงปลอดภัยแบบ Edge-to-Cloud
ขณะนี้เรากำลังเป็นพยานของช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบเครือข่ายและระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัย องค์กรต่าง ๆ สามารถประเมินการให้บริการของแพลตฟอร์มต่าง ๆ และมีสิทธิเลือกอย่างอิสระในการรวมโซลูชันระบบเครือข่ายที่ดีที่สุดและโซลูชันการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสมกับความต้องการของตนมากที่สุด ที่สำคัญที่สุดคือต้องสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร
แนวทางนี้เป็นการวางรากฐานสำหรับองค์กรในการปรับตัว เอาชนะความท้าทายในการปรับรูปแบบการทำงานเข้ากับระบบไฮบริด และตามติดทิศทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปให้เท่าทัน
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด