โดย : Partha Narasimhan, CTO of Aruba, Hewlett Packard Enterprise Company
ปี 2564 นี้เริ่มต้นขึ้นด้วยสถานการณ์ที่แตกต่างจากช่วงต้นปี 2563 ส่งผลให้บทบาทของระบบเครือข่ายและระบบไอทีกลายเป็นพระเอกที่เข้ามาช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงท่ามกลางภัยโรคระบาดนี้ แต่สำหรับบางองค์กรอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้
อย่างไรก็ดีสำหรับสถานการณ์นับจากนี้ไป CIO ต้องมองไปสู่อนาคตเพื่อกำหนดแนวทางและกลยุทธ์สำหรับโลกยุคหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19
อรูบ้า (Aruba) มองเห็นปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่ CIO จะต้องเผชิญ ซึ่งเป็นตัวแปรหลักที่จะเข้ามาช่วยผลักดัน หรือในทางตรงกันข้ามอาจเป็นอุปสรรคที่เข้ามาชะลอแผนการทางด้านไอทีขององค์กรได้ นั่นคือ
การทำงานแบบไฮบริดที่จะคงอยู่ต่อไป
แม้จะมีความคืบหน้าในด้านวัคซีนป้องกัน COVID-19 แต่พนักงานในองค์กรหลายตำแหน่งอาจยังกลับเข้าทำงานได้ไม่เต็มที่จนกว่าจะถึงปลายปี 2564 และในบางธุรกิจอาจจะยังเข้ามาทำงานในสำนักงานไม่ได้เลย
หลังจากพูดคุยกับ CIO จากทั่วโลกสิ่งที่ชัดเจนก็คือรูปแบบการทำงานจากระยะไกลจะยังคงอยู่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเรื่องการเข้าใช้พื้นที่ในสำนักงาน วัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนการเชื่อมต่อและระบบเครือข่าย
หลาย ๆ องค์กรคิดว่าการสร้างระบบทำงานจากระยะไกล (Remote Setups) จะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวในช่วงที่อัตราการแพร่ระบาดของ COVID-19 ขึ้นสูงเท่านั้น แต่การทำงานในลักษณะนี้กลับพัฒนาขึ้นไปสู่การทำงานแบบไฮบริดที่มีประสิทธิภาพและอัจฉริยะมากขึ้น โดยพนักงานสามารถจะทำงานจากที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่ไหน ๆ ก็ได้ด้วยการเชื่อมต่อที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้
สำหรับฝ่ายงานไอทีแล้ววิกฤตครั้งนี้นับว่ามีความท้าทายอย่างมาก แต่ก็กระตุ้นให้ CIO และผู้บริหารระดับสูงขององค์กรได้ตระหนักถึงผลกระทบที่ไอทีจะมีต่อธุรกิจ รวมถึงความรวดเร็วในการติดตั้งและใช้งานระบบใหม่ ๆ ซึ่งต้องดำเนินการได้แม้ในสถานการณ์ที่กดดัน
ตอนนี้ CEO รวมถึงผู้บริหารระดับสูงกำลังคิดถึงบทเรียนที่ได้รับจากการระบาดครั้งใหญ่นี้เพื่อให้ระบบเครือข่าย ระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัย และโครงการทางด้านไอทีมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น
ผลลัพธ์ก็คือการที่ฝ่ายไอทีได้เข้าไปมีบทบาทในการผลักดันการทำ Digital Transformation มากขึ้น รวมถึงยังมีส่วนในการเร่งแผนงานต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นท่ามกลางความมั่นใจของพนักงานในองค์กรที่ต้องปรับตัวไปสู่ความปรกติรูปแบบใหม่หรือ New Normal ได้นั่นเอง
มุมมองต่อความมั่นคงปลอดภัยที่ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด - จาก Endpoint ไปยัง Edge จนถึง Cloud
ด้วยการเติบโตเต็มที่ของระบบ Cloud และการขยายตัวของ Edge Networking ซึ่งมีจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้ามาที่จุด Endpoint เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว - ทั้งหมดนี้ถูกเร่งขึ้นจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ IoT – วิธีการที่กำหนดและสร้างระบบความมั่นคงปลอดภัยที่ใช้ในขณะนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการออกแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมระบบเครือข่าย ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เพียงส่วนเสริมของระบบไอทีในองค์กรอีกต่อไป
จากการเติบโตของสภาพแวดล้อมในการทำงานจากระยะไกลและการทำงานแบบไฮบริด เหล่า CSO และ CIO นั้นต่างเรียกร้องหาแนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เชื่อมโยงถึงกัน
เมื่อพิจารณาถึงหลักการออกแบบระบบครือข่ายในอดีตที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยจะเริ่มต้นจากการกำหนดนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัย แล้วออกแบบโครงสร้างระบบเครือข่ายให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งหมายถึงการที่ระบบโครงสร้างเครือข่ายและนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยจะเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก
อย่างไรก็ดีแนวทางดังกล่าวนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก เพราะโซลูชันด้านระบบเครือข่ายได้วิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการแบ่งแยกส่วนของระบบเครือข่ายได้ในหลายระดับ ในขณะที่นโยบายนั้นถูกเปลี่ยนไปเป็นในลักษณะเพิ่มความสามารถในการตั้งค่าการควบคุมการทำงานเฉพาะในเวลาและตำแหน่งที่จำเป็นเท่านั้น
โซลูชันสถาปัตยกรรมเครือข่ายแบบ Zero Trust จะยังคงเป็นแกนหลักของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพด้วยระบบงานไอทีแบบเดิมที่ย้ายออกจาก Edge ไปสู่สภาพแวดล้อมระบบ Cloud หรือ SaaS แทน รวมถึงมีการใช้งาน OT/IoT Workloads เกิดขึ้นที่ Edge อย่างมากมาย
นอกจากนี้ด้วยการนำ 5G มาใช้ สถาปัตยกรรมเครือข่ายจะต้องต่อสู้กับปริมาณงานจากการประมวลผลแบบหลายช่องทางการเข้าถึงจาก Edge (Multi-access Edge Compute : MEC) ทั้งแบบส่วนตัวและสาธารณะ ย่อมต้องการวิธีคิดและการปฏิบัติที่ยืดหยุ่นในการกำหนดนโยบายความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งต้องพัฒนาให้ก้าวล้ำไปกว่าแนวคิดการรักษาความปลอดภัยแบบผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง นำไปสู่การออกแบบระบบเครือข่ายโดยยึดข้อมูลเป็นศูนย์กลางหรือ Zero Trust ที่ลงตัวที่สุดสำหรับวันนี้
ความพึงพอใจของผู้ใช้คือเป้าหมายสูงสุด
ตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านไอทีที่สำคัญ (Key IT Metrics) มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน การทำให้โครงสร้างพื้นฐานของระบบเครือข่ายทำงานได้อย่างต่อเนื่องไม่เพียงพออีกต่อไป ต้องมีตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการทำงานตามปกติประจำวัน (Metric Du Jour) คือการสร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้ ซึ่งในมุมมองของ CIO การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานส่งผลต่อผลกำไรของธุรกิจ
ขณะที่ทางฝั่งทีมงานดูแลระบบเครือข่ายและความมั่นคงปลอดภัยนั้น พวกเขาต้องให้ความสำคัญกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของผู้ใช้ปลายทาง และคาดหวังกับบริการและแอปพลิเคชันที่เลือกใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
ดังนั้นทีมงานดูแลระบบเครือข่ายต้องปรับวิธีคิดและวิธีการทำงาน โดยแทนที่จะถามเพียงว่าอุปกรณ์ประเภทใดที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย พวกเขายังต้องให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการเชื่อมต่อ ในขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมความเสี่ยงให้ได้อีกด้วย
ที่สำคัญต้องมีเป้าหมายในการควบคุมดูแลระบบเครือข่ายไปพร้อมกับการสร้างความคล่องตัวทางธุรกิจ ด้วยการใช้มาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม CIO สามารถอำนวยความสะดวกให้กับสภาพแวดล้อมไอทีให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
ในที่สุด CIO ต้องการข้อมูลเชิงลึกมากกว่าค่าพื้นฐานต่าง ๆ จากระบบเครือข่าย นั่นหมายถึงความพร้อมใช้งานของระบบเครือข่ายและประสิทธิภาพของการใช้งานแอปพลิเคชันผ่านระบบเครือข่ายที่ผู้ใช้และผู้บริหารให้ความสำคัญ พวกเขาไม่ได้สนใจในความซับซ้อนของเครือข่ายว่าทำงานอย่างไร แต่พวกเขากังวลถึงประสบการณ์และความพึงพอใจจากการใช้งานแอปพลิเคชันประชุมทางไกลมากกว่า
นำระบบอัตโนมัติมาใช้จัดการการดำเนินงานของระบบเครือข่ายให้มากขึ้น
ความสามารถในการทำความเข้าใจกับความต้องการและประสบการณ์ของผู้ใช้งานได้นี้ ทำให้ระบบเครือข่ายอัตโนมัติเติบโตขึ้น แต่ความก้าวหน้าของระบบอัตโนมัตินั้นยังไม่ได้ถูกพัฒนาให้เทียบเท่า สม่ำเสมอกันในทุกส่วนของระบบเครือข่ายทั้งหมด เช่น ในศูนย์ข้อมูลซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมได้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ WAN หรือ LAN การนำระบบอัตโนมัติไปใช้จะง่ายและทำได้มากกว่า เพราะการเปลี่ยนแปลงในศูนย์ข้อมูลส่วนใหญ่เกิดตามโครงสร้างลำดับชั้นโดยธรรมชาติของมัน ดังนั้นจึงง่ายต่อการทำความเข้าใจและจัดการผ่านสคริปต์ที่เขียนให้ทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ
แต่ในทางกลับกัน Edge (ทั้ง LAN และ WAN) เป็นสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากปัจจัยที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของไอทีโดยสิ้นเชิง นั่นคือ รูปแบบพฤติกรรมของมนุษย์และอุปกรณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
จึงมีความจำเป็นอย่างมากในการใช้ประโยชน์จาก AI และ Machine Learning เพื่อรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงได้ทันทีที่เกิดขึ้นและตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้นทันที การเติบโตของโซลูชันซึ่งมีองค์ประกอบของการเรียนรู้แบบอัตโนมัติที่ Edge จะดีขึ้นอย่างมากในปี 2564 นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าที่สำคัญในการรวมสิ่งเหล่านี้เข้ากับ API และเครื่องมืออัตโนมัติอื่น ๆ ซึ่งจะมอบประสิทธิภาพและข้อมูลเชิงลึกที่ผู้นำด้านไอทีต้องการ
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังคงเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความสนใจในระบบเครือข่ายอัตโนมัติที่ Edge ในบรรดา CIO และผู้นำด้านไอที จากการสำรวจล่าสุดในกลุ่มผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอที 2,400 คนทั่วโลกพบว่า 35% วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในระบบเครือข่ายที่ใช้ AI เนื่องจากพวกเขาแสวงหาโครงสร้างพื้นฐานที่ทำงานโดยคล่องตัวและอัตโนมัติสำหรับสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริด
ทำให้ปี 2564 ประสบความสำเร็จ
ในปี 2563 ธุรกิจและเศรษฐกิจได้รับการช่วยเหลือจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาขึ้นในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เรื่องของความมั่นคงปลอดภัยในการเชื่อมต่อระบบคลาวด์ไปจนถึงแอปพลิเคชันที่มีการจัดการและรองรับผ่านเครือข่าย
ขณะนี้ในปี 2564 ปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่ระบุไว้ข้างต้นสามารถช่วยให้ CIO และผู้นำด้านไอทีมีเครื่องมือที่พร้อมสำหรับทิศทางที่คาดเดาไม่ได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต แม้ว่าการระบาดใหญ่นี้จะยังคงอยู่ หรือความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ตลอดจนวัฒนธรรมการทำงานและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็ตาม สามารถช่วยให้ผู้นำด้านไอทีตั้งแต่ระดับบนลงล่างไปจนถึงตำแหน่งไอทีที่มีผลต่อการวางกลยุทธ์ประสบความสำเร็จ
ประคุณ เลาหกิตติกุล ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย บริษัท Aruba บริษัทในเครือ Hewlett Packard Enterprise กล่าวเสริมว่า “สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยเทรนด์ทั้ง 4 ที่กล่าวมาสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอันมาก โดยในประเทศไทยภาวะการระบาดที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมายในทุกภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่เปลี่ยนไปและเพื่อให้สามารถแข่งขันต่อไปได้ในช่วงวิกฤตินี้ อรูบ้าได้พัฒนาระบบเครือข่ายในส่วนของ Campus Data Center และ SD-WAN โดยคำนึงถึงความท้าทายใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับเทรนด์ของการใช้งาน รวมถึงความท้าทายทางการลงทุนในระบบเครือข่าย เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้งานและผู้ดูแลระบบเครือข่ายสามารถตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้”
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด