คุณธงไชยสิทธิ์ ศิริมหากุล IT Section Manager บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทยที่เฉพาะเจาะจงเพียงแค่ธุรกิจโรงภาพยนตร์ จะมีผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดเพียงแค่ 2 รายเท่านั้นคือโรงหนังในเครือของ SF Cinema และ Major Cineplex ซึ่งการที่มีผู้เล่นน้อยรายนี้เอง อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เราคิดไปว่าการแข่งขันในธุรกิจนี้มีความรุนแรงลดน้อยลงไปด้วย แต่ในความจริงแล้วมันมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป คุณภาพของโรงภาพยนตร์ หรือแม้แต่การบริการ ซึ่งผู้ประกอบการเองต้องมีการปรับตัวให้ทัน ทั้งในเรื่องของการลงทุนระบบ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคไปควบคู่กัน
ปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญของโรงภาพยนตร์คือระบบหลังบ้านที่มีการควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์แทบทั้งหมด ดังนั้นหน่วยงานด้านไอที จึงมีบทบาทสำคัญหน่วยงานหนึ่งในองค์กร ที่จะคอยซัพพอร์ตให้ระบบสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นไม่ว่าจะเป็นการควบคุมระบบการฉายภาพยนตร์ ระบบการซื้อหรือจองตั๋วหนังด้วยช่องทางแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความพึงพอใจของนักดูหนัง และเป็นส่วนผสมแห่งความสำเร็จของธุรกิจโรงภาพยนตร์
ฉบับนี้เราได้รับเกียรติจาก คุณธงไชยสิทธิ์ ศิริมหากุล IT Section Manager บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ SF World Cinema, SFX Cinema, SF Cinema และ Emprivé Cineclub หนึ่งในเครือโรงภาพยนตร์รายใหญ่ของเมืองไทย มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับภาพรวมของธุรกิจโรงภาพยนตร์ ปัจจัยและความสำเร็จของ SF รวมทั้งการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นที่จะมาช่วยตอบโจทย์การทำงานในแผนกไอที
SF สร้างความแตกต่างด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
คุณธงไชยสิทธิ์ ศิริมหากุล เกริ่นนำถึงความเป็นมาของ SF ว่า เติบโตมาจากสายหนังและโรงภาพยนตร์ในภาคตะวันออกโดย คุณสุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ และเริ่มเข้ามาบุกเบิกตลาดในกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2542 โดยเลือกทำเลทองใจกลางเมืองคือศูนย์การค้ามาบุญครองเป็นที่แรก จากนั้นก็ขยับขยายไปสู่การเปิดโรงภาพยนตร์ในเครือเดอะมอลล์กรุ๊ป ในปี 2544 ด้วยการสร้างปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในขณะนั้นคือ การเปิดโรงภาพยนตร์พร้อมกันทีเดียวถึง 3 สาขาคือที่ เดอะมอลล์บางกะปิ, เดอะมอลล์บางแค และเดอะมอลล์งามวงศ์วาน และเติบโตขยายสาขาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันโรงภาพยนตร์ในเครือ SF มีโรงภาพยนตร์ทั้งหมด 55 สาขาทั่วประเทศครอบคลุมพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
เพราะมีผู้เล่นในตลาดน้อยราย การแข่งขันในธุรกิจโรงภาพยนตร์จึงกลับกลายเป็นเรื่องของการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ตอบโจทย์พฤติกรรมการดูหนังของลูกค้าและเกิดความประทับใจในแบรนด์ ซึ่งปัจจุบัน SF มีโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุด ที่สามารถสร้างความแตกต่างในการรับชมภาพยนตร์ให้กับผู้บริโภค ด้วยโรงภาพยนตร์ 4 มิติสุดล้ำ MX4D Cinema ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากอเมริกา ด้วยเก้าอี้ระบบนิวแมติกพลังลมที่เคลื่อนไหวได้ 360 องศา นุ่มนวลในทุกช่วงจังหวะพร้อม 15 เอฟเฟกต์ล่าสุดที่จะทำให้นักดูหนังไม่พลาดความสมจริงจากทุกทิศทางในทุกฉาก ทุกตอน ของการชมภาพยนตร์, DOLBY ATMOS ที่เป็นขีดสุดของนวัตกรรมซึ่งจะให้เสียงสมจริงและทรงพลังด้วยลำโพงเซอร์ราวด์มากสุดถึง 64 ตัว พร้อมชุดลำโพงเหนือศีรษะ เพื่อให้นักดูหนังได้สัมผัสประสบการณ์ความบันเทิงครบทุกมิติ, 3D Cinema ที่เป็นสุดยอดนวัตกรรมความบันเทิงแบบทะลุจอด้วยเทคโนโลยีของ SONY DIGITAL CINEMA 3D ซึ่งจะทำให้คุณได้เพลิดเพลินกับการรับชมภาพยนตร์ที่สมบูรณ์แบบเหนือกว่าที่เคยสัมผัส และระบบ 4K สุดยอดเทคโนโลยีแห่งความคมชัดจาก SONY DIGITAL CINEMA 4K ซึ่งเป็นเครื่องฉายระบบดิจิตอลที่ดีที่สุดแห่งโลกภาพยนตร์ ให้ความละเอียดภาพเหนือกว่าระบบ Full HD ถึง 4 เท่า ซึ่ง SF เป็นโรงภาพยนตร์แห่งเดียวในเมืองไทยที่รองรับการฉายในระบบ 4K ซึ่งเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เราสรรหามาเพื่อมอบความบันเทิงระดับโลกที่ดีที่สุดให้กับคนไทย
SF คือผู้มอบประสบการณ์บันเทิงที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศ
การประสบความสำเร็จของ SF ที่ผ่านมาเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง โดย SF ได้วางบทบาทการดำเนินงานให้กลายเป็นผู้มอบประสบการณ์บันเทิงที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศ ทั้งในเรื่องของการคัดสรรภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมและการบริการที่ดีที่สุด ดังนั้นผู้บริโภคจะสัมผัสได้ในทุกรายละเอียด ตั้งแต่ก้าวแรกจนก้าวสุดท้ายว่าทุกช่วงเวลาของคุณที่ SF จะมีแต่ความประทับใจ และความสุขอย่างแท้จริง
คุณธงไชยสิทธิ์ ได้ขยายความให้เราฟังว่า “ปัจจุบัน นอกจากการคัดเลือกหนังทำรายได้และหนังดีที่ต้องดูเพื่อฉายในเครือปีละมากกว่า 300 เรื่องแล้ว เรายังให้ความสำคัญในทุกรายละเอียดของการบริการ ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์หรือเครื่องอำนวยความสะดวกภายในโรงภาพยนตร์ที่มอบให้กับลูกค้า ครอบคลุมขยายไปยังทุกสาขา เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า หรือแม้กระทั่งการคัดเลือกหนังเข้าไปฉายในแต่ละโรงหรือแต่ละพื้นที่นั้น เรายังคำนึงถึงความเหมาะสมและตรงกับพฤติกรรมของนักดูหนังในพื้นที่นั้นอีกด้วย จึงนับเป็นความใส่ใจที่เรามีต่อลูกค้าในทุกกลุ่ม ซึ่งทำให้บรรยากาศและอารมณ์ในการดูหนังที่โรงภาพยนตร์ นั้นยังคงมีเสน่ห์ เป็นประสบการณ์ที่แตกต่างจากการดูหนังที่บ้านอย่างสิ้นเชิง”
ปกป้องความรู้สึกของลูกค้าตลอดการรับชมภาพยนตร์
แน่นอนว่า ในทุกช่วงเวลาของการรับชมภาพยนตร์นั้น นับเป็นอารมณ์ ความรู้สึก และประสบการณ์ที่น่าจดจำของนักดูหนังด้วยเช่นกัน ดังนั้นระบบที่ใช้ควบคุมการฉายภาพยนตร์ต้องมีความเสถียรภาพตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสำคัญอยู่ที่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ควบคุมทั้งหมด ต้องทำงานโดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ มารบกวน
คุณธงไชยสิทธิ์ กล่าวว่า “ปัจจุบัน เทคโนโลยีโรงภาพยนตร์กับระบบคอมพิวเตอร์นั้นแยกกันไม่ออก ที่ SF เราใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมระบบหลังบ้านทั้งหมด ซึ่งมีความเป็นดิจิทัล 100% มานานหลายปี ดังนั้นระบบไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยสำคัญในธุรกิจโรงภาพยนตร์ เพราะหากมีเหตุขัดข้องที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น เกิดหม้อแปลงระเบิดทำให้ไฟฟ้าดับทั้งห้าง หรือเกิดเหตุการณ์ไฟตกจากระบบของการไฟฟ้า ทำให้อารมณ์การรับชมภาพยนตร์ของลูกค้าขาดตอนลงได้ เราจึงพยายามอย่างดีที่สุดในการที่จะปกป้องความรู้สึกของลูกค้าตลอดการรับชมภาพยนตร์”
“เพราะระบบไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญในธุรกิจ ดังนั้นเราจึงเลือกลงทุนในระบบสำรองไฟ (UPS) ที่มีคุณภาพและช่วยให้ระบบหลังบ้านทำงานได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งปัจจุบันเราเลือกใช้อุปกรณ์และระบบสำรองไฟของ EATON มาช่วยตอบโจทย์ในธุรกิจ โดยมีหลักการเลือกจากความต้องการใช้งาน (สเปก) คุณภาพของสินค้า และราคาที่สมเหตุสมผล รวมทั้งบริการหลังการขายที่รวดเร็วทันใจ” คุณธงไชยสิทธิ์ อธิบายเพิ่มเติมถึงการเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับองค์กร
นอกจากนี้ คุณธงไชยสิทธิ์ ยังอยากเห็นถึงอนาคตของเครื่องสำรองไฟที่มีขนาดเล็กลง เนื่องจากเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ปัจจุบันมีการพัฒนาไปมาก มีประสิทธิภาพสูง น้ำหนักน้อย และราคาถูกลง การที่ระบบสำรองไฟมีขนาดที่เล็กลง จะช่วยให้ลูกค้าประหยัดพื้นที่ขึ้น ซึ่งจะเห็นว่า ปัจจุบันถ้ามองเข้าไปในห้องดาต้าเซ็นเตอร์ เราจะพบกับเครื่องสำรองไฟที่มีขนาดใหญ่มาก ถ้าอนาคตของธุรกิจเครื่องสำรองไฟเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางดังกล่าว ก็จะเกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ผลิตเองและลูกค้า
มุมมองต่ออนาคตของธุรกิจโรงภาพยนตร์ไทย
คุณธงไชยสิทธิ์ กล่าวว่า “โรงภาพยนตร์ของไทยขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่งทั้งคุณภาพโรงภาพยนตร์ เทคโนโลยีและการบริการ รวมทั้งภาพยนตร์ที่รับชมกัน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่หนังต่างประเทศบางเรื่องที่อยู่ในกระแสได้กำหนดรอบการเข้าฉายในบ้านเราก่อนที่จะฉายในประเทศต้นทาง ซึ่งนับว่าคนไทยโชคดีมาก ๆ ที่ได้ดูหนังที่ดีในโรงภาพยนตร์ที่ดีระดับโลก”
“ปัจจุบันธุรกิจโรงภาพยนตร์ในบ้านเรามีมูลค่าสูงมากกว่าหมื่นล้านบาท ในอนาคตบริษัทฯ มีแผนในการขยายโรงภาพยนตร์ให้ได้อย่างน้อยปีละ 6 สาขา โดยให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดทั่วประเทศ รวมทั้งการลงทุนในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโต และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างเต็มรูปแบบ” คุณธงไชยสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
อีตั้นมุ่งมั่นตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า
ในส่วน บริษัทอีตั้น อิเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายเครื่องสำรองไฟฟ้าแบรนด์ Eaton ให้กับทาง SF นั้น คุณดุษฎี ทองไทย ผู้จัดการฝ่ายขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำรองไฟฟ้าระดับภูมิภาคกลุ่มประเทศไทยและอินโดจีน ได้กล่าวว่า “การนำเสนอโซลูชั่นที่ใช่ ต้องเข้าใจในปัญหาของลูกค้า และแก้ปัญหาให้ตรงจุด และนี่คือ สิ่งที่ อีตั้นตระหนักและให้ความสำคัญเสมอมา และแน่นอนที่สุด ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ความรวดเร็ว ความต่อเนื่อง การให้บริการที่ว่องไว ถือเป็นหัวใจหลัก ซึ่งไม่เฉพาะแต่ธุรกิจที่ให้ความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง ทุกๆ ธุรกิจและ อุตสาหกรรมต่างๆทั้งหมด เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ใช้ในโรงภาพยนตร์ จำเป็นต้องมีระบบไฟฟ้าที่ดีป้องกันไม่ให้เกิดไฟฟ้าสะดุด หรือไฟฟ้าลัดวงจร เพราะความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ชมภาพยนตร์นั้น เป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ และอีตั้นสามารถตอบสนองความต้องการตรงจุดนี้ อีกทั้งบริการหลังการขายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ เราจึงมั่นใจได้ว่า โซลูชั่นอีตั้นจะช่วยทำให้ธุรกิจของลูกค้าเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมั่นคง”
คุณดุษฎี ทองไทย ผู้จัดการฝ่ายขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำรองไฟฟ้าระดับภูมิภาคกลุ่มประเทศไทยและอินโดจีน
สนใจสอบถามและขอคำปรึกษา กรุณาติดต่อ
บริษัท อีตั้น อิเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด (สำนักงานใหญ่)
89/1 อาคารเกษมทรัพย์ ชั้น 4 ถนนวิภาวดีรังสิต
แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ 02511 5300
โทรสาร 02511 5290
Eaton Service Hotline: 098-265-3800
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด