เนื้อหาวันที่ : 2018-01-11 12:48:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4340 views

3 นวตกรรมผู้เปลี่ยนเกมในอุตสาหกรรมการผลิตปี 2561 ตามการคาดการณ์ของไอเอฟเอส

แอนโทนี บอร์น
ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมส่วนกลาง ฝ่ายการผลิตและเทคโนโลยีระดับสูง (ไฮเทค)
บริษัท ไอเอฟเอส

ไอโอที (IOT) จะถูกสร้างรวมไว้ในผลิตภัณฑ์ที่เริ่มตั้งแต่การออกแบบ บรรดาผู้ผลิตจะนำโมเดลธุรกิจที่มีบริการเป็นศูนย์กลางเข้ามาปรับใช้เพิ่มมากขึ้น การพิมพ์ 3 มิติจะก้าวสู่จุดพลิกผันที่สามารถให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจได้ในวงกว้าง ทั้งหมดนี้เป็นการคาดการณ์ ของไอเอฟเอสที่จะเกิดขึ้นในปี 2561

1. ในปลายปี 2561 ผู้ผลิตมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์จะนำเทคโนโลยีไอโอทีไปรวมไว้ในผลิตภัณฑ์ของตน เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ
เมื่อพูดถึง "ไอโอที" สิ่งแรกที่คุณคิดถึงน่าจะเป็นเซ็นเซอร์แบบใหม่ที่สามารถหาซื้อได้ในราคาไม่แพงซึ่งกำลังถูกนำมาใส่ไว้ผลิตภัณฑ์  สำหรับผมแล้วมุมมองดังกล่าวจะเปลี่ยนไปในปี 2561 เนื่องจากไอโอทีกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด หากเราคิดว่าไอโอทีเป็นเหมือนระบบประสาทของผลิตภัณฑ์ ในปี 2561 เราจะเห็นเส้นประสาท (สัญญาณ) ต่าง ๆ ที่โยงใยและเติบโตจนเกิดเป็นสมองของผลิตภัณฑ์ขึ้นมา สิ่งนี้ครอบคลุมถึงการรับ การส่ง การขยายตัว และการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่องตลอดชั่วอายุขัยของผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดบริการและกระแสรายได้ใหม่ ๆ โดยอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหนึ่งในตลาดที่ได้รับผลกระทบจากไอโอทีมากที่สุดในปัจจุบัน จากข้อมูลของ Global Market Insights พบว่าไอโอทีในตลาดการผลิตมีมูลค่ามากกว่า 20 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ (CAGR โดยประมาณ) ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2567 การลงทุนไอโอทีในปัจจุบันในสภาพแวดล้อมของการผลิตจะก่อให้เกิด 3 โครงการหลักดังนี้

  • การผลิตอัจฉริยะเพื่อเพิ่มผลผลิต คุณภาพผลิตภัณฑ์ การดำเนินงานและความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่ลดลง
  • ผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมต่อกันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในภาคสนาม การวิเคราะห์จากระยะไกล และการบำรุงรักษาจากระยะไกล
  • ซัพพลายเชนที่มีระบบเชื่อมต่อระหว่างกันจะเพิ่มความสามารถในการมองเห็นภาพรวมทั้งระบบ การทำงานร่วมกันในซัพพลายเชน การติดตามสินทรัพย์หรือสินค้าคงคลังเพื่อส่งเสริมให้การดำเนินงานด้านซัพพลายเชนมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

เราจะเห็นไอโอทีถูกนำมารวมไว้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการออกแบบของโครงการด้านไอโอทีดังกล่าว บริษัทผู้ผลิตกำลังตระหนักว่าการสร้างเทคโนโลยีไอโอทีใส่ไว้ในผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ในขั้นตอนของการออกแบบนั้น ไม่เพียงแต่ช่วยให้คุณสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์เพื่อคาดการณ์เวลาที่ต้องดำเนินการซ่อมแซมได้เท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนเกมในตลาดด้วย!
ภายในสิ้นปี 2561 ผู้ผลิตมากกว่า 50% จะนำเทคโนโลยีไอโอทีมาใส่ไว้ในผลิตภัณฑ์ของตนตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นการคิดไว้แล้วล่วงหน้าในขั้นตอนการออกแบบ จะเริ่มทบทวนตัวเองว่าบริการและรายได้ในลักษณะใดบ้างที่จะได้รับจากผลิตภัณฑ์นี้ตลอดอายุการใช้งาน
จริง ๆ แล้วรายได้ของเราจะมาจากที่ใดบ้างในช่วงห้าปีนับจากนี้ ถือว่าเป็นคำถามที่ดีทีเดียว เพราะสิ่งนี้จะนำเราไปสู่การคาดการณ์ที่สำคัญของผมในลำดับต่อไป

2. ความก้าวหน้าของบริการภิวัตน์จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2563 รายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของบรรดาผู้ผลิตส่วนใหญ่จะมาจากบริการ
เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตเริ่มกลายเป็นตลาดเปิดเสรีที่ตัวสินค้าเริ่มไม่มีความแตกต่างกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความแตกต่างให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการอยู่รอดและการสร้างผลกำไรให้กับบริษัท ในตอนนี้เราเริ่มเห็นแล้วว่าบรรดาผู้ผลิตจำนวนมากกำลังเปลี่ยนไปใช้โมเดลธุรกิจที่เน้นการให้บริการเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า "บริการภิวัตน์" (Servitization)
บริการภิวัตน์เป็นแนวทางเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ผลิตเพื่อยกระดับข้อเสนอโดยรวมนอกเหนือจากตัวผลิตภัณฑ์แต่เพียงอย่างเดียว ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือบริษัทแอปเปิ้ลได้นำแนวทางนี้มาใช้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลังจากที่ไอพอดสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดสูงสุดมาได้ จากนั้นแอปเปิ้ลจึงได้เปิดตัวบริการ "ไอทูนส์" เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม สร้างความแตกต่างให้กับตัวเองในตลาด รวมถึงสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย คุณอาจคิดว่าสิ่งนี้ใช้ไม่ได้กับธุรกิจของคุณ แต่โปรดทราบว่าบริษัทต่าง ๆ กำลังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากบริการภิวัตน์ในภาคส่วนต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ฟิลิปส์ ซึ่งให้บริการ "แสงสว่างในรูปของบริการ" สำหรับสนามบินสคิปโฮล (Schiphol) ที่อยู่นอกกรุงอัมสเตอร์ดัม กล่าวคือ สนามบินสคิปโฮลจะต้องจ่ายเงินค่าแสงสว่างที่ใช้ไป ขณะที่ฟิลิปส์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในระบบและอุปกรณ์ติดตั้งทั้งหมด ทั้งนี้ ฟิลิปส์และคอฟลี่ (Cofely) ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้าจะร่วมกันดูแลด้านประสิทธิภาพการทำงาน ความมีเสถียรภาพของระบบ ครอบคลุมถึงการนำอุปกรณ์กลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิลเมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งาน การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้บริษัทลดค่าไฟลงได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์โดยไม่ต้องซื้อโคมไฟส่องสว่างเพิ่ม!
ผมมองเห็นการพัฒนาในรูปแบบนี้ในกลุ่มลูกค้าของไอเอฟเอสด้วยเช่นกัน อย่างเช่น ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกที่ชื่อว่าโนวี่ สไตล์ กรุ๊ป (Nowy Styl Group) ที่มองว่าบริการภิวัตน์เป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตของบริษัท ในปี 2560 บริษัทโนวี่ สไตล์ กรุ๊ป ได้ประกาศว่า "การผลิตเก้าอี้คงไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วสำหรับเรา" และได้เริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลงบริษัทจากผู้ผลิตเฉพาะอย่างก้าวสู่การเป็นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกด้านการตกแต่งภายในสำหรับสำนักงานต่าง ๆ อีกตัวอย่างหนึ่งคือบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดซึ่งได้เริ่มนำเสนอระบบการจัดส่งและการให้บริการเพิ่มเติม บริษัทเข้าใจดีว่าการเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เหมาะสมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์หลักของลูกค้าเท่านั้น นั่นคือ การรักษาสถานที่ทำงานให้ถูกสุขลักษณะ การใช้ผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด การเลือกอุปกรณ์เสริมที่เหมาะสม การสร้างขั้นตอนที่ถูกต้อง ทั้งหมดนี้ล้วนมีความสำคัญต่อการรักษาสถานที่ทำงานให้มีความสะอาดอย่างต่อเนื่อง
ทั้งสองบริษัทตระหนักดีว่าเทคโนโลยีจะช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเก้าอี้ที่สวยงามหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพ แต่อย่าลืมว่าผลิตภัณฑ์หรูหราในปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นสิ่งของที่หาซื้อได้ทั่วไปในเวลาอันสั้น ซึ่งนั่นย่อมส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ลดลงอย่างมาก แต่ด้วยบริการภิวัตน์บรรดาผู้ผลิตจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างดีเยี่ยม เพราะบริการจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สั่งสมมาเป็นเวลาหลายปีจะทำให้ลูกค้ายังคงต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทตลอดไป ไม่ว่าแนวโน้มเทคโนโลยีจะเป็นเช่นไรก็ตาม
จากการสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของไอเอฟเอส ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทวิจัยที่ชื่อว่าราคอนเตอร์ (Raconteur) พบว่า 68 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทผู้ผลิตอ้างว่าบริการภิวัตน์ "ได้รับการจัดตั้งมาเป็นอย่างดีและให้ผลตอบแทนที่ดี" และ "อยู่ระหว่างการดำเนินการและกำลังได้รับความสนใจและการสนับสนุนอย่างเหมาะสมจากผู้บริหาร" แต่ก็มีเพียงสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของบริษัทผู้ผลิตเท่านั้นที่ได้รับผลตอบแทนจากบริการภิวัตน์ "ผู้ผลิตที่ยังไม่ได้ใช้โมเดลที่มีบริการเป็นศูนย์กลางกำลังสูญเสียรายได้และแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนาข้อเสนอสำหรับผลิตภัณฑ์ของตน ดังนั้นเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าและความต้องการที่กำลังเพิ่มมากขึ้น บรรดาผู้ผลิตจะต้องมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อร่นระยะเวลาในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ครอบคลุมตั้งแต่การนำความคิดจากการออกแบบไปผลิตเป็นสินค้าและนำออกขายในตลาดให้ได้โดยเร็วที่สุด
เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ไอโอทีจะเข้ามาเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับบริการภิวัตน์ โดยเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจจับได้ว่าผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ต้องเข้ารับบริการซ่อมบำรุงเมื่อใด จะช่วยให้ระบบสามารถเรียกใช้บริการซ่อมบำรุงโดยอัตโนมัติ ซึ่งสร้างประโยชน์และทำให้องค์กรบริการของคุณมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์แบบอัตโนมัติในลักษณะนี้จะกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสิ่งนี้เป็นก้าวต่อไปหลังจากมีการนำไอโอทีมาปรับประสิทธิภาพในการให้บริการ

3. ในปี 2562 ความตื่นเต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ 3 มิติ (3D) จะหมดไป แต่ผลประโยชน์ที่แท้จริงจะเห็นอย่างเด่นชัด
คำพยากรณ์ลำดับที่ 3 ของผมก็คือการพิมพ์ 3D เช่นเดียวกับไอโอที คือกำลังจะก้าวสู่ระดับใหม่ที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากเรื่องของขนาดการพิมพ์ที่ต้องร้อง "ว้าว" เมื่อได้เห็นในครั้งแรก ซึ่งครอบคลุมถึงการผลิตในระดับที่เล็กลง เช่น เครื่องช่วยฟังและเครื่องประดับ การพิมพ์ 3D ยังสามารถก้าวไปได้อีกไกลมาก เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในปี 2561 นี้แน่นอน
เรากำลังเห็นพัฒนาการ 2 ประการที่กำลังก้าวไปในทิศทางนั้น ประการแรกคือความสามารถในการปรับขยายของโซลูชั่นการพิมพ์ 3D ที่ดียิ่งขึ้น ยุคใหม่ของบริษัทด้านการพิมพ์ 3 มิติกำลังก้าวเข้าสู่การผลิตที่แต่เดิมมีผู้ผลิตแม่พิมพ์ฉีดขึ้นรูปครองตลาดอยู่มาเป็นระบบอัตโนมัติที่เชื่อมโยงระหว่างกันได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น ส่งผลให้ลดขั้นตอนการทำงานทั้งก่อนและหลังที่ต้องใช้เวลามากอันเป็นอุปสรรคสำคัญในการผลิต ทั้งนี้ มีบริษัทแห่งหนึ่ง นั่นคือ สตราตาซิส (Stratasys) ได้สร้างเครื่องพิมพ์ใหม่ภายใต้ชื่อดีมอนสเตรเตอร์ (Demonstrator) ซึ่งเป็นการรวมเครื่องพิมพ์ 3 เครื่องไว้ในระบบสแตก (Stack) โดยที่เครื่องพิมพ์แต่ละเครื่องสามารถสื่อสารระหว่างกันได้ในแบบเรียลไทม์ เครื่องพิมพ์ใหม่นี้มีความสามารถในการปรับขยายได้สูง ซึ่งหมายความว่าผู้ผลิตสามารถเพิ่มกำลังการผลิตของการพิมพ์ได้มากขึ้น เริ่มตั้งแต่ 1,500-2,000 ชิ้นต่อวัน ส่งผลให้คุณสามารถประหยัดต้นทุนได้อย่างมาก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของเทคโนโลยีการพิมพ์ 3D
จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการบินได้เริ่มนำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติเข้ามาใช้งานแล้วในปัจจุบัน ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตสามารถเรียนรู้จากอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ ตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จคือเครื่องยนต์ GE Turboprop ATP Engine ซึ่งใช้การพิมพ์ 3 มิติ 35 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ลดจำนวนชิ้นส่วนจากจำนวน 855 ชิ้นเหลือเพียง 12 ชิ้น และยังมีส่วนช่วยให้เครื่องยนต์มีน้ำหนักเบา ขนาดกะทัดรัด ลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงลงได้ถึง 15% เมื่อเทียบกับข้อเสนอของคู่แข่ง
ความสามารถในการปรับขยายและการลดขั้นตอนการดำเนินงานทั้งก่อนและหลังที่บริษัทด้านงานพิมพ์ 3D ขนาดกลางที่มีนวัตกรรมขั้นสูงกำลังนำออกสู่ตลาด หมายความว่าในปี 2561 เราจะได้เห็นบริษัทผู้ผลิตเข้าร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอากาศยานและยุทโธปกรณ์การรบ (Aerospace and Defense : A&D) เพิ่มมากขึ้น แล้วยังจะก้าวสู่ระดับที่สูงกว่าที่เคยเป็นมาด้วยขีดความสามารถด้านการพิมพ์ 3D แบบใหม่อีกด้วย

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด