เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์
SOLIDWORKS WORLD 2017 เป็นงานประชุมประจำปีที่ แดสสอล์ท ซิสเต็มส์ (Dasssault Systemes) บริษัทแห่งแพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE ผู้นำของโลกด้านซอฟต์แวร์การออกแบบ 3D (3 มิติ) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีจัดขึ้นเป็นปีที่ 19 ระหว่างวันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ศูนย์ประชุมแห่งมหานครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมา
สำหรับในปีนี้ ทีมงานได้รับเกียรติจากทางเจ้าภาพ ให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ภายในงานนี้ด้วย จึงนับเป็นประสบการณ์และโอกาสที่ดี ที่จะได้นำข้อมูลเรื่องราวที่เป็นประโยชน์และบรรยากาศของงานดังกล่าว มาถ่ายทอดสู่ผู้อ่านในคอลัมน์นี้ครับ
ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า SOLIDWORKS คือซอฟต์แวร์ทางด้านการออกแบบวิศวกรรมแบบ 3D ที่เหล่านักออกแบบต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีครับ เพราะซอฟต์แวร์ SOLIDWORKS มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรม และถ้าจะกล่าวว่า SOLIDWORKS คือเบอร์หนึ่งในวงการนี้ก็คงไม่ผิดแต่อย่างใด ดังนั้นเราจึงไม่แปลกใจเลยว่า ภายในงานนี้ จะเป็นแหล่งรวมพลของเหล่าวิศวกรและนักออกแบบทางด้าน 3D โดยเฉพาะกว่า 5,000 คน จากทั่วทุกมุมโลก ได้มาพบปะกันจนกลายเป็นประชาคมขนาดย่อม ภายในงานนี้ผู้เข้าร่วมงานจะสามารถสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ การแบ่งปันและได้พบเห็นเทคโนโลยีทางด้านแอพพลิเคชั่นและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยเพิ่มมุมมองและโอกาสให้กับผู้เข้าร่วมงาน รวมทั้งการแบ่งปันประสบการณ์จากวิทยากรหลากหลายวงการ เพื่อได้จุดประกายทางความคิดและกระตุ้นให้ผู้เข้าฟังเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดียิ่งขึ้นต่อไป นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการฝึกอบรมแบบอินเตอร์แอคทีฟกว่า 200 บทเรียน และพาร์ทเนอร์ที่เข้าร่วมแสดงเทคโนโลยีกว่า 100 ราย อีกทั้งออกใบรับรองการทดสอบความสามารถให้แก่ลูกค้าอีกด้วย
งาน SOLIDWORKS WORLD 2017 ในปีนี้จัดขึ้น 4 วันด้วยกัน คือเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ และจบงานในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 โดยเปิดให้ผู้เข้าชมงานทั่วไปสามารถเข้าชมได้ในระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ ณ ศูนย์ประชุมแห่งมหานครลอสแอนเจลิส (Los Angeles Convention Center: LACC) โดยจัดเต็มศักยภาพในทุกพื้นที่ของฮอลล์ ไม่ว่าจะเป็นโซนของ General Session, Partner Pavilion และห้องสัมมนาปลีกย่อยอีกหลายห้อง เรียกได้ว่าครบครันและพลาดไม่ได้กันเลยทีเดียว
เปิดประตูสู่งาน SOLIDWORKS WORLD 2017
ขออนุญาตออกตัวไว้ก่อนครับ ว่าการเยี่ยมชมงานระดับโลกในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสและประสบการณ์ใหม่ของผมด้วยเช่นกัน และสำหรับการเริ่มต้นงานในวันแรก แม้ว่าจะต้องเจอกับอุปสรรคหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาการอ่อนเพลียจากการนั่งเครื่องบินเป็นเวลานาน (Jet Lag) ข้ามน้ำข้ามทะเลมากว่า 20 ชั่วโมง เพื่อมายืนอยู่ยังอีกครึ่งซีกโลกแห่งนี้ หรือแม้แต่อุปสรรคจากสภาพอากาศภายนอกที่ต้องเจอกับพายุฝนตกอย่างหนักก็ตาม อุปสรรคเหล่านี้เป็นเพียงแค่บททดสอบถึงความมุ่งมั่น ว่าเราจะฝ่าฟันไปให้ถึงยังพื้นที่จัดงาน หรือจะนอนต่อบนเตียงอันอ่อนนุ่มและอบอุ่นอยู่ภายในโรงแรม ว่าแล้วก็วัดใจกันไปเลยครับ
ด้วยความตื่นเต้นและอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่อยู่ใกล้แค่เอื้อมนี้แล้ว จิตสำนึกฝ่ายดีก็ผลักดันอย่างหนักให้เราดั้นด้นมาถึงยังงานจนได้ แม้จะต้องเปียกปอนกันบ้างนิดหน่อยก็ตาม และแน่นอนว่า เราได้เจอกับผู้คนล้นหลามที่คิดเช่นเดียวกับเรา ต่างยืนรอต่อแถวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อเตรียมตัวเข้าชมงานเมื่อประตูฮอลล์เปิด
และทันทีที่ประตูฮอลล์เปิดออกนั่นเอง ประสบการณ์ใหม่อันน่าตื่นตาตื่นใจก็ได้ปรากฏขึ้นตรงหน้าแล้วครับ เมื่อผู้เข้าชมงานหลายพันคน ต่างวิ่งเข้าไปจับจองที่นั่ง โดยเลือกทำเลที่คิดว่าดีที่สุด แต่กระนั้นทุกอย่างก็ดำเนินไปอย่างสงบ ไม่มีใครล้มให้คนข้างหลังเหยียบ และการจัดงานใหญ่ในระดับโลกเช่นนี้ ก็ดูเหมือนจะถูกคิดมาเป็นอย่างดี เพราะเวทีที่จัดขึ้นในปีนี้ ถูกออกแบบมาให้มีเวทีกลมอยู่ตรงกลาง มีจอภาพขนาดใหญ่วางเรียงตัวกันเป็นรูปวงกลมเหนือศีรษะ มีเก้าอี้เป็นแถวเป็นแนวอยู่ล้อมรอบ ไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด ไม่มีข้างซ้ายหรือข้างขวา ดังนั้นไม่ว่าคุณจะนั่งอยู่ตรงจุดไหน คุณก็สามารถสัมผัสกับบรรยากาศของงานได้อย่างเสมอภาคโดยไม่เสียอรรถรสครับ
สัมผัสกับประสบการณ์และศักยภาพของซอฟต์แวร์ SOLIDWORKS
การเปิดงาน SOLIDWORKS WORLD 2017 เริ่มต้นขึ้นด้วยพิธีกรบนเวทีประกาศคำขวัญซึ่งเป็นหัวใจของงานในปีนี้คือ “CREATE THE NEW. THE NEXT. THE NEVER BEFORE.” จากนั้นก็ทำการเปิดตัวด้วยความระทึกขวัญ จากนักมายากลชื่อดังแห่งยุค Justin Flom ที่ขึ้นเวทีมาพร้อมกับ Tim Clothier ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Illusion Projects และ Gian Paolo Bassi ซีอีโอของแดสสอล์ท ซิสเต็มส์ ทั้งหมดมาร่วมกันแสดงให้เห็นว่า SOLIDWORKS สร้างความมหัศจรรย์ได้อย่างไร
Justin Flom ได้พูดแบ่งปันประสบการณ์การทำมายากลของเขาที่ทำร่วมกับ David Copperfield โดยนำ eDrawing มาใช้ในการออกแบบสร้างสรรค์รูปแบบมายากล โดยทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริงขึ้น (Make the Impossible Possible) ข้อพิสูจน์ดังกล่าวมาพร้อมกับเลื่อยวงเดือนขนาด 26 นิ้วที่ถูกออกแบบโดย Tim Clothier และคำท้าทาย Gian Paolo Bassi ว่าเขาจะกล้าที่จะฝากชีวิตไว้กับสิ่งที่ออกแบบโดย SOLIDWORKS หรือไม่ แน่นอนว่าในฐานะซีอีโอของแดสสอล์ท ซิสเต็มส์ Gian Paolo Bassi รับคำท้าด้วยการเอาคอไปวางพาดลงในช่องดังรูป เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกออกแบบด้วย SOLIDWORKS
หลังจากที่ Justin Flom เข็นใบเลื่อยวงเดือนผ่านคอของ Gian Paolo Bassi ที่พาดอยู่โดยไม่ถูกตัดขาดแล้ว เขาลุกขึ้นมาพร้อมกับเสียงปรบมืออย่างกึกก้องจากผู้ชมทั้งห้องประชุม และประกาศว่า “ทุกคนในที่ประชุมแห่งนี้ สามารถที่จะสร้างสิ่งที่เหลือเชื่อที่สุดจากจินตนาการ ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ พวกคุณทุกคนมีจินตนาการและความรู้ที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ รวมถึงสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน พวกคุณสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้นทุกวัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่และพันธสัญญาของเรา ที่จะช่วยสร้างและพัฒนาเครื่องมือที่ล้ำเลิศอย่าง SOLIDWORKS เพื่อสร้างฝันของพวกคุณให้เป็นจริง”
Gian Paolo Bassi ซีอีโอของแดสสอล์ท ซิสเต็มส์ และ Monica Menghini รองประธานฝ่ายบริหารของแดสสอล์ท ซิสเต็มส์
นอกจากซีอีโอของทางแดสสอล์ท ซิสเต็มส์ ขึ้นกล่าวบนเวทีแล้ว ก็ถึงคิวของคุณ Monica Menghini รองประธานฝ่ายบริหารของ Dasssault Systemes ได้ขึ้นเวทีมาพูดคุยถึงประสบการณ์ในการออกแบบ ไม่เพียงแต่การนำแนวคิดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้ได้ ยังจะต้องทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีผลกระทบเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ใช้ด้วย อย่างเช่น Nike ใช้ข้อมูลของลูกค้ามาเปลี่ยนแปลงตนเองจากผู้ผลิตสปอร์ตแวร์ให้กลายเป็น Health and Fitness Platform ของลูกค้า และ Oral-B ช่วยปรับปรุงสุขภาพในช่องปากโดยการติดตามอุปนิสัยการแปรงฟันของลูกค้า ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์เท่านั้น ยังต้องทำตัวเป็น Platform อยู่ดูแลกันตลอดไปกับลูกค้าอีกด้วย
ส่วน Bernard Charles รองประธานและหัวหน้าผู้บริหารอีกท่านของทาง Dassault Systemes เป็นคนต่อไปที่ขึ้นเวทีมาพูดคุยเกี่ยวกับ 3DEXPERIENCE Platform ที่สร้างประสบการณ์การออกแบบอันน่าตื่นเต้นให้กับลูกค้าผ่านระบบคลาวด์ เขาอัพเดตเรื่องราวของ 3DEXPERIENCECity ซึ่งเป็นการสร้างเมืองเสมือนจริงเป็นคู่แฝดเมืองสิงคโปร์ โครงการนี้ทำให้ผู้บริหารสิงคโปร์สามารถวางแผนในการพัฒนาสิงคโปร์และใช้สาธารณูปโภคได้เกิดประโยชน์สูงสุดมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรมที่ใช้ 3DEXPERIENCE Platform บนคลาวด์ อย่างเช่น Zahner ใน AEC, Joby Aviation ใน Aerospace และ the Maritime Offshore Group ใน Marine and Offshore
Bernard Charles รองประธานและหัวหน้าผู้บริหารของแดสสอล์ท ซิสเต็มส์ เล่าประสบการณ์จากการใช้งาน 3DEXPERIENCE Platform
นอกจากการเปิดตัวและประสบการณ์จากผู้บริหารระดับสูงเป็นการเรียกน้ำย่อยแล้ว บนเวทียังมีการนำเสนอความมหัศจรรย์ของ SOLIDWORKS ให้รับชมกันอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น การแสดงภาพของยาน Athlete ที่ถูกออกแบบและสร้างโดย JPL โดยใช้ SOLIDWORKS ซึ่งยานอวกาศ Athlete เป็นยานอวกาศหุ่นยนต์ที่จะนำมนุษยชาติไปบุกเบิกสร้างอาณานิคมในอวกาศในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากนั้น JPL กำลังออกแบบที่จะสร้างหุ่นยนต์อวกาศที่ช่วยโลกจากเหตุการณ์ภัยพิบัติอุกกาบาตถล่มโลกอย่างในภาพยนตร์ Armageddon โดยหุ่นยนต์อวกาศที่กำลังออกแบบนี้ จะมีแขนกลที่สามารถหยิบคว้าและผลักดันอุกกาบาตให้พ้นจากวิถีทางการเคลื่อนที่ที่จะตกลงมายังโลก ส่วน The Space X Hyperloop Project เป็นโครงการที่จะปฏิวัติการเดินทางและขนส่งบนโลก มีทีมต่าง ๆ มากกว่าหนึ่งร้อยทีมจากทั่วโลกเข้าแข่งขันกันสร้างขบวนรถไฟที่จะสามารถจะเดินทางจากเมืองลอสแอนเจลิสไปยังเมืองซานฟานซิสโกภายใน 35 นาที โดยทีม MIT Hyperloop เป็นผู้ชนะของปี 2016 ส่วนในปี 2017 ทีมที่ชนะคือ Delft University ทั้งสองทีมใช้ SOLIDWORKS ออกแบบ และจะมีการก่อสร้างขบวนรถไฟของทั้งสองทีมจริงเพื่อทดสอบในปีนี้
อีกหนึ่งประสบการณ์จากการบอกเล่าเกี่ยวกับยานอวกาศก็คือ Brian Zias นักวิทยาศาสตร์ด้านการพัฒนาจรวด และเป็นผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโสทางด้านเทคโนโลยีของ SOLIDWORKS มาพร้อมกับ Chris McQuin ซึ่งเป็น Senior Electro-Mechanical Robotics Engineer ของ Motiv Robotics บริษัทหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการออกแบบยานโรเวอร์ที่จะใช้ในการสำรวจพื้นผิวดาวอังคารในปี 2020 นี้ โดย Chris เล่าว่าการออกแบบยานสำรวจดาวอังคารเป็นงานที่ซับซ้อนมาก จะต้องทำให้มันสามารถทนในสภาวะแวดล้อมที่มีความแปรปรวนสูง อุณหภูมิแปรปรวนตั้ง 200 องศาเซลเซียส นอกจากนั้น Motiv ยังได้ออกแบบหุ่นยนต์กู้ภัยพิบัติสำหรับใช้บนโลก เพื่อช่วยกู้ภัยในกรณีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดเหมือนกรณี Fukushima ที่ผ่านมาโดยออกแบบหุ่นยนต์ให้ทำงานแทนมนุษย์ในสภาวะที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ หุ่นยนต์ตัวนี้มีชื่อว่า Robosimian สามารถไต่กองซากปรักหักพังและกำแพงชัน ๆ ได้สบายได้ด้วยตัวมันเองอย่างอิสระ
นอกจากนี้ SOLIDWORKS ยังถูกนำไปใช้ออกแบบเครื่องดนตรีระดับโลก โดยนักดนตรีกีต้าร์มือหนึ่งของโลก Mark Tremonti แห่งวง Creed and Alter Bridge ร่วมกันออกแบบกับ Paul Reed Smith และ Jon Wasserman แห่ง Paul Reed Smith (PRS) Guitars บนเวทีทั้ง 3 ร่วมกันพูดคุยถึงประสบการณ์และบรรยากาศการร่วมมือออกแบบกีต้าร์โดยใช้ SOLIDWORKS อย่างสนุกสนาน
มาดูทางด้านของ Duane Elgin ผู้เชี่ยวชาญการทำการเกษตรแบบยั่งยืน และ Jon Friedman ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Freight Farms กันบ้าง ซึ่งฟาร์มแห่งนี้ใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงตู้ขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ ให้กลายเป็นแปลงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบแนวตั้ง ที่สามารถควบคุมแสง อุณหภูมิ ความชื้น ให้เหมาะสมกับผักแต่ละชนิด จึงทำให้สามารถปลูกพืชผักได้ตลอดทั้งปี และช่วยเพิ่มผลิตผลให้แก่การผลิตอาหารในท้องถิ่นได้ ซึ่งแน่นอนว่าการออกแบบฟาร์มแห่งนี้ ใช้ซอฟต์แวร์ของ SOLIDWORKS นั่นเอง
ประชาคมแห่ง SOLIDWORKS ช่วยเติมเต็มศักยภาพให้กับผู้ใช้งาน
อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า ซอฟต์แวร์โซลิดเวิร์กส์ ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งในวงการนักออกแบบ 3D ทั่วโลก ซึ่งคุณ Suchit Jain รองประธานฝ่ายกลยุทธ์และประชาคมของ SOLIDWORKS ได้ตอกย้ำให้เราทราบถึงความจริงดังกล่าวว่า ปัจจุบันประชาคมของผู้ใช้งานโซลิดเวิร์กส์มีสมาชิกรวมกันหลายล้านคนและเป็นประชาคมที่มีความหลากหลายแบบสุดขั้วมาก ๆ โดยเป็นกลุ่มคนที่รักและคลั่งไคล้ในงานวิศวกรรม การออกแบบ และต่างร่วมมือช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่
Suchit Jain รองประธานฝ่ายกลยุทธ์และประชาคมของ SOLIDWORKS
โดยสมาชิกของประชาคมโซลิดเวิร์กส์เหล่านี้สามารถที่จะเข้าถึงประชาคมเพื่อติดต่อกับสมาชิกคนอื่น ๆ ได้ตลอดเวลาผ่าน MySolidWorks ซึ่งคุณ Suchit Jain ยังได้โชว์บริการใหม่ 2 ประการของ MySolidWorks ที่ผู้ใช้งานสามารถจะเข้าไปใช้ประโยชน์ได้เสมอตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปก็คือ Online Product Trials และ eCourses ซึ่งจะมีการฝึกอบรมการใช้งานแบบครบครันให้ได้เรียนรู้ เมื่อปีที่มีแล้วผู้ใช้กว่าหนึ่งล้านคนเข้ามาใช้ประโยชน์ นับเป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมในการให้การช่วยเหลือ ฝึกอบรมและทำให้ผู้ใช้ทั่วโลกได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
คุณ Suchit Jain ยังย้ำว่าหนทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมประสบการณ์ในการใช้ SOLIDWORKS ให้ได้ดีที่สุดคือ การเข้าทำการทดสอบเพื่อรับการรับรองเป็น Certified User ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ใช้ที่ได้รับการรับรองมากกว่า 222,000 คนทั่วโลก โดยมีหัวกะทิชั้นนำกว่า 2,800 คนเป็นระดับ Certified SOLIDWORKS Experts (CSWE) เขาเน้นว่าหน้าที่ความรับผิดชอบของ SOLIDWORKS คือจะต้องช่วยประชาคมในด้านการสร้างเครื่องมือใหม่ ๆ ฝึกอบรม และเพิ่มทักษะแก่สมาชิก เพื่อจะได้มีความก้าวหน้าในอาชีพ สามารถสร้างธุรกิจที่ทำให้ The New, The Next, The Never Before กลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ครับ
SOLIDWORKS กับวงการการศึกษา
การใช้งานซอฟต์แวร์โซลิดเวิร์กส์ไม่เฉพาะเจาะจงอยู่ในวงการนักออกแบบ วิศวกรหรือผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังขยายครอบคลุมไปยังสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งในงานนี้เราได้รับการยืนยันจากคุณ Marie Planchard ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ Education & Early Engagement ของ SOLIDWORKDS กล่าวว่า เธอได้ไปเยี่ยมชมโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยทั่วโลก และพบว่ามีนักเรียนนักศึกษากว่า 2.7 ล้านคนทั่วโลกใช้ SOLIDWORKS เธอและทีมงานสนับสนุนการจัดให้มีการแข่งขันโดยใช้ SOLIDWORKS ระดับโลก ได้ยกตัวอย่าง Waseda University ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นในการสร้างหุ่นยนต์กู้ภัยพิบัติโดยใช้ SOLIDWORKS นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างบริษัท Sci-Chic ที่ก่อตั้งโดย Erin Winick นักเรียนมัธยมที่นำ SOLIDWORKS มาออกแบบเครื่องประดับอัญมณีโดย Erin ได้เรียนรู้การใช้ SOLIDWORKS ปัจจุบันนอกจาก Sci-Chic จะทำเงินได้หลายล้านแล้ว ยังเป็นสมาชิกใหม่สุดของ SOLIDWORKS Entrepreneur Program อีกด้วย
Marie Planchard ผู้อำนวยการ Education & Early Engagement และสองผู้บริหารจาก Dos Pueblos
โรงเรียนที่โดดเด่นอีกแห่งที่ใช้ SOLIDWORKS ในการเรียนการสอนคือ Dos Pueblos Engineering Academy ผู้ก่อตั้งทั้งสองท่านคือ Amir Abo-Shaeer เป็นผู้อำนวยการบริหารของโรงเรียนและ Lyle Harlow ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและแมคาทรอนิกส์ ได้ขึ้นมาเล่าเรื่องราวความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถนำความฝันและจินตนาการมาทำให้เป็นความจริงได้ โดยใช้ SOLIDWORKS โรงเรียนมีแนวคิดทางการศึกษาเรียกว่า STEAM คือมุ่งมั่นเรียนรู้สร้างสรรค์โดยผสมผสานจากวิทยาการในแขนงต่าง ๆ อันได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science), เทคโนโลยี (Technology), วิศวกรรม (Engineering), ศิลปะ (Art) และ การสร้างผลิตภัณฑ์ (Manufacturing) โดยทาง Dos Pueblos เชื่อในการผสมผสานศิลปะเข้ากับวิทยาศาสตร์และการเรียนรู้หลากหลายแขนงวิชาการจะทำให้นักเรียนสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาพลิกโลกได้ ซึ่งนักเรียนทุก ๆ คนจะได้เรียนรู้การใช้งาน SOLIDWORKS ตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียนและได้ทำงานอย่างจริงจัง เป็นเวลา 4 ปีก่อนจะเข้าสู่มหาวิทยาลัย ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนกว่า 400 คนสมัครเข้าเรียนและ 50 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง
นอกจากนี้คุณ Chin-Loo Lama ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประสบการณ์ผู้ใช้ของ SOLIDWORKS ได้ก้าวขึ้นสู่เวทีและเล่าเรื่องน่ารักเล็ก ๆ เกี่ยวกับเด็ก ๆ ที่จะมีโอกาสได้ใช้งาน SOLIDWORKS และหัดออกแบบตามใจปรารถนาได้โดยใช้ SOLIDWORKS Apps for Kids ซึ่งกำลังอยู่ในโครงการพัฒนาขั้นเบต้า ขณะนี้ได้มีการเปิดให้เด็ก ๆ สามารถเข้ามาใช้ได้แล้ว และเพียงไม่กี่สัปดาห์มีเด็กเข้ามาเล่นออกแบบกันอย่างสนุกสนานในแอพตัวนี้กว่า 1,300 คน คุณชินลูยังอวดคุณสมบัติตัวใหม่ที่มีชื่อว่า ‘Game It’ ที่ให้เด็ก ๆ สามารถออกแบบสร้างเกมและสภาพแวดล้อมภายในเกม (ฉากและด่านต่าง ๆ) ของตัวเอง โดยใช้เพียงเมาส์และ ‘Print It’ ที่เด็ก ๆ สามารถจะส่งโมเดล 3D ที่ตัวเองออกแบบ พิมพ์ออกยังเครื่องพิมพ์เครื่องไหนก็ได้ โดยคุณชินลูมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าแอพตัวนี้จะกระตุ้นให้เกิดความรักในงานวิศวกรรมและการออกแบบขึ้นในใจเด็ก ๆ ตั้งแต่ในวัยแรกเริ่มแห่งการเรียนรู้และจะทำให้ SOLIDWORKS มีฐานผู้ใช้ที่ขยายและเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงตั้งแต่ในโรงเรียนชั้นประถมเลยทีเดียว
Chin-Loo Lama ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประสบการณ์ผู้ใช้ของ SOLIDWORKS
แรงบันดาลใจ ปัจจัยสร้างสรรค์ผลงานที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับไฮไลต์ภายในงาน นอกจากเราจะได้พบกับประสบการณ์อันน่าทึ่งจากเหล่ากูรูทางด้าน SOLIDWORKS แล้ว เรายังได้พบกับวิทยากรผู้เป็นนักบุกเบิก และมีจิตนาการกว้างไกลที่เป็นเสมือนพลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงเทคโนโลยี ธุรกิจ และการสร้างสรรค์ความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เป็นแรงบันดาลใจให้วิศวกรและนักออกแบบทั้งหลายสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในอนาคต อีกหลายท่าน เช่น Jason Silva นักอนาคตวิทยา พิธีกรแห่งรายการ Brain Games อันโด่งดังของช่อง NatGeo และผู้สร้างสารคดีซีรี่การค้นพบทางเทคโนโลยีเรื่อง Shots of Awe ได้กล่าวกระตุ้นให้ผู้ฟังเห็นโลกแห่งอนาคตว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างทั้งในโลกแห่งการออกแบบและวิศวกรรม Jason Silva ยังกระตุ้นให้เราตระหนักถึงวิวัฒนาการของมนุษยชาติในอนาคตและความสามารถของเราในการกำหนดอนาคตได้ เขากล่าวว่า เริ่มแรกเราเป็นผู้สร้างเครื่องมือ หลังจากนั้นเครื่องมือจะเป็นผู้สร้างเรา แต่เดิมการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพียงในระดับท้องถิ่นและมีอัตราเป็นเส้นตรง ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในระดับโลกและมีอัตราเป็นเส้นโค้งแบบเอกซ์โพเนนเชียล มนุษย์มีความสามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ การเป็น Billionaire ไม่ใช่เพียงแค่การมีเงินหลายล้าน แต่คือความสามารถที่มีอิทธิพลสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตคนหลาย ๆ ล้านคนต่างหาก ก่อนลงจากเวที Jason Silva ยังฝากคำถามต่อว่า แล้วคุณสามารถทำได้ไหม ?
Jason Silva และ Anousheh Ansari สองนักสร้างแรงบันดาลใจภายในงาน
ส่วนทางด้านนักบินอวกาศหญิงลูกครึ่งอิหร่าน-อเมริกัน Anousheh Ansari เธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานของบริษัท Ansari X Prize เธอชอบอ่านนวนิยายวิทยาศาสตร์ของ Jules Verne ไปจนถึง Gene Roddenberry ตั้งแต่เด็ก จนเป็นแรงบันดาลใจให้สนใจดวงดาวและวิทยาศาสตร์ และกลายเป็นนักบินอวกาศเอกชนหญิงคนแรกของโลก
Anousheh พูดให้แรงบันดาลใจแก่ผู้ฟังทั้งเรื่องส่วนตัว ความฝัน อนาคตของมนุษยชาติในอวกาศ เธอเน้นว่าความฝันมีความสำคัญมากในการสร้างอนาคตให้เป็นจริง เธอเล่าถึงความฝันในวัยเด็กว่า อยากจะเข้าร่วม Star Fleet (สหพันธ์แห่งดวงดาวใน Start Trek) แม้จะฟังดูเพี้ยน ๆ แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจอย่างยิ่งยวดที่ทำให้เธอก้าวมาไกลได้ถึงวันที่เธอได้ขึ้นสู่อวกาศและใช้ชีวิตถึง 8 วันอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ เธอเชื่อในสิ่งที่ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “Imagination is more important than knowledge” อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอย่าหยุดความฝันของคุณ จงพยายามทำให้มันเป็นจริง
ภายในงาน บนเวทีทั้งสามวัน นอกจากการแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์และศักยภาพของซอฟต์แวร์ SOLIDWORKS จากคำบอกเล่าของเหล่ากูรูทั้งหลายที่นำไปใช้สร้างความสำเร็จในงานของพวกเขา ซึ่งเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของ SOLIDWORKS จะช่วยให้งานวิศวกรรม การออกแบบและการทำงานร่วมกันเป็นไปได้อย่างง่ายดายแล้ว ยังมีกิจกรรมที่น่าประทับใจอีกมากมาย ที่เกี่ยวข้องกับเหล่าสาวกของ SOLIDWORKS ให้ผู้ชมทั้งห้องประชุมได้ตื่นตาตื่นใจกันอย่างไม่มีหยุดหย่อน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการต่อสู้ของหุ่นยนต์ของกลุ่มนักเรียนที่เพิ่งจัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ ที่เรียกว่า The Robo Rumble โดยมี 4 ทีมเข้าร่วมการแข่งขันได้แก่ Fast Electric Robots, The Beaumonsters, Least Worst Robotics และ Team Bad Kitty ทั้งสี่ทีมเป็นสมาชิกของ National Robotics League ซึ่งแต่ละทีมต่างต่อสู้กันอย่างดุเดือดไม่มีใครยอมใคร แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมีหนึ่งทีมที่ครองตำแหน่งผู้ชนะนั่นก็คือ Fast Electric Robots
และในแต่ละปีจะมีการมอบรางวัลให้กลุ่มของผู้ใช้งาน SOLIDWORKS ยอดเยี่ยมประจำปีที่เรียกว่า SWUGN AWARDS ดุจประหนึ่งว่าเป็นรางวัลออสก้าของวงการเลยทีเดียว นอกจากนี้ภายในงานยังได้จัดให้มีการมอบรางวัลให้กับนักออกแบบที่คลั้งไคล้ ได้ส่งผลงานเข้ามาประกวด ที่เรียกว่า SOLIDWORKS NEXT top modeler มีคณะกรรมการตัดสินรางวัล โดยจำลองเหตุการณ์ในลักษณะของการประกวดรายการทีวีชื่อดังอย่าง America’s Next Top Model และให้ผู้ชมภายในงานได้มีส่วนร่วมในการโหวตผลงานที่ตัวเองประทับใจ ซึ่งมีความน่าตื่นเต้นไม่น้อยเลยทีเดียวครับ
นอกจากการแสดงบนเวทีแล้ว ในโซนของ Partner Pavilion ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย เรายังจะได้พบกลุ่มผู้ใช้งาน SOLIDWORKS ที่นำผลิตภัณฑ์ของตนเองมานำแสดงภายในงาน ซึ่งมีทั้งกลุ่มเมคเกอร์ที่เป็นสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการธุรกิจ ที่คอยต้อนรับและบอกเล่าประสบการณ์การนำซอฟต์แวร์โซลิดเวิร์กส์มาใช้ในงานออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีพาร์ทเนอร์มากกว่า 100 บูธ ที่เข้าร่วมแสดงเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มมุมมองและโอกาสให้กับผู้ร่วมงาน อาทิเช่น 3D SYSTEMS, Dell, HP, Lenovo, Microsoft Surface Hub, AMD, photo labs®, Sihdoh, stratasys, Zemax, 3D INFOTECH, CREAFORM, KeyShot by Luxion, nvdia, Sigmetrix, 3DP: 3D Platform, DriveWorks, Markforged, OPEN MIND The CAM Force, SolidCAM, 3D Connexion, Geometric, Mastercam, RAPID, STRATUS-X, BobCAD-CAM, iGET IT by TATA Technologies, MechWork, rize, TACTON, BOXX, LANDMARK TECHNOLOGY®, MiSUMi, Roland®, Carbon, in LEARNING, msi, SeeMeCNC®, Ulimaker, Wacom, Xometry ฯลฯ
ส่วนโซนของสัมมนาปลีกย่อย ต้องถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของงานในปีนี้ด้วยเช่นกันครับ เพราะถือเป็นการต่อยอดประสบการณ์ให้ผู้เข้าชมงานได้เลือกเข้าฟังพร้อมทั้งตั้งคำถามกับวิทยากรเพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับประเด็นที่ตนเองสนใจ โดยหัวข้อที่น่าสนใจอาทิเช่น 3DEXPERIENCE Lab: Collaborating with the New, the Next, the Never Before, What’s New in SOLIDWORKS 2017, Designing Better Parts For Manufacturing-the SOLIDWORKS Way, IoT: The SOLIDWORKS Way, Entrepreneurs, Innovation, Funding: putting it all together, Educational Ubiquity: Why Engineering Competitions Work, Investing in the Technology of the Future เป็นต้น
สิ่งที่ต้องกล่าวถึงภายในงานอีกอย่างคือ การฝึกอบรมมากกว่า 200 บทเรียน ให้แก่ผู้ใช้งาน SOLIDWORKS ตั้งแต่ระดับผู้เริ่มต้นใช้งาน ระดับกลาง ไปจนถึงระดับสูง โดยใช้การสร้างตามตัวอย่างงานชั้นเลิศ (Best Practices) ทั้งในงาน 3D CAD และการสร้างสรรค์นวัตกรรมในการออกแบบและวิศวกรรมจักรกล การออกแบบวงจรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การจำลองและจัดการข้อมูลผลิตภัณฑ์ ผู้ลงทะเบียนยังมีสิทธิ์เข้าถึงการสัมมนาที่จัดก่อนการประชุมหลักจะเริ่มขึ้นอันได้แก่ Boot Camp ของเหล่า CAD Manager และสามารถเข้าทำ Certification Testing and Reseller Preview ได้ก่อนที่จะมีการทดสอบจริง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับประกาศนียบัตร SOLIDWORKS Certification ที่แสดงถึงความเป็นมืออาชีพและมีความเชี่ยวชาญประมาณ 222,000 คนทั่วโลก ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จอย่างแท้จริงทีเดียว
และก่อนที่จะทำการปิดงานในปีนี้ แดสสอล์ท ซิสเต็มส์ ยังได้เผยความสามารถใหม่ของ SOLIDWORKS 2018 ที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง โดยคุณ Kishore Boyalakuntla ผู้อำนวยการอาวุโสของ SOLIDWORKS เป็นผู้ให้ข้อมูล โดยเปิดเผยว่าความสามารถใหม่ที่จะถูกบรรจุเข้ามานี้ จะใช้ให้ผู้ใช้งานสามารถจัดกับธุรกิจของตนได้อย่างตรงจุดไม่ว่าจะเป็นกระบวนการออกแบบไปจนถึงการผลิต การจัดการข้อมูล การจำลองภาพ (Simulation) รวมไปถึงความสามารถทางด้าน Internet of Things (IoT)
และท้ายที่สุด Gian Paolo Bassi ได้ก้าวขึ้นมากล่าวปิดงานท่ามกลางผู้ฟังในงานกว่า 5,000 คนและผู้ชมผ่านเว็บแคมกว่าล้านคนทั่วโลกว่า สิ่งที่เขาชอบมากที่สุดในงาน SOLIDWORKS World คือการได้พูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวกัน เป็นเหมือนงานรวมญาติประจำปี งานประจำปีของเราจะมีตลอดไปเหมือนกับการที่พระอาทิตย์จะต้องขึ้นทุกเช้า เราจากกันที่งาน #SWW17 ในปีนี้ที่นครลอสแอนเจนลิส ส่วนปีหน้าในงาน SOLIDWORKS World 2018 เราจะเจอกันที่นี่อีกครั้งในวันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ และหวังว่าครอบครัว SOLIDWORKS จะได้กลับมาพบกันพร้อมหน้าพร้อมตาเหมือนเดิม ขอบคุณสำหรับความสำเร็จของงานในปีนี้ แล้วพบกันอีกในปีหน้าครับ
สถานการณ์ของ SOLIDWORKS ในตลาดประเทศไทย
เราอุตสาห์ดั้นด้นมาถึงงานนี้ ครั้นจะไม่กล่าวถึงอะไรที่เกี่ยวข้องกับความเป็นประเทศไทยเลยก็ดูจะกระไรอยู่ใช่ไหมล่ะครับ สำหรับประเด็นนี้เราได้รับเกียรติจาก คุณเบนจามิน ตัน ผู้อำนวยการฝ่ายช่องทางการจัดจำหน่าย ภาคพื้นเอเชียใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ บริษัท แดสสอล์ท ซิสเต็มส์ จำกัด และ คุณบา ธอง ฟาน ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายเทคนิค ผลิตภัณฑ์ SOLIDWORKS ให้เกียรติพูดคุยถึงสถานการณ์ของซอฟต์แวร์ SOLIDWORKS ในตลาดประเทศไทยและตลาดใหม่ ๆ รวมถึงตลาดของผู้ลงทุนสตาร์ทอัพซึ่งได้รับสนุนจากภาครัฐบาลในปัจจุบัน โดยทั้งสองท่านได้กล่าวถึงการสถานการณ์ดังกล่าวว่า
คุณเบนจามิน ตัน (ขวา) ผู้อำนวยการฝ่ายช่องทางการจัดจำหน่าย ภาคพื้นเอเชียใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ บริษัท แดสสอล์ท ซิสเต็มส์ จำกัด และ คุณบา ธอง ฟาน (ซ้าย) ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายเทคนิค ผลิตภัณฑ์ SOLIDWORKS
“ปัจจุบันแดสสอล์ท ซิสเต็มส์ ยังคงทำตลาดซอฟต์แวร์ SOLIDWORKS ในประเทศไทย โดยผ่านตัวแทนจำหน่าย 2 รายด้วยกันคือ บริษัท แอพพลิแคด จำกัด และ บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้งสองรายเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงในประเทศไทยและทำให้ซอฟต์แวร์ SOLIDWORKS เติบโตอย่างสูงในหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งตลาดประเทศไทยเองมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนที่เกิดจากภาครัฐและภาคเอกชนที่ช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจในประเทศมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น การเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งได้รับอานิสงส์จากนโยบายรถยนต์คันแรกที่รัฐบาลก่อนให้การสนับสนุน แม้ปัจจุบันจะไม่มีโครงการนี้ต่อ แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ก็ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมไฮเทคและอุตสาหกรรมทางด้านบริการที่สามารถเติบโตได้ดีเช่นกัน จากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่รัฐบาลไทยกำลังส่งเสริมภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีน้อยในประเทศไทย แต่ก็ยังมีโอกาสเติบโตได้เช่นกัน”
คุณเบนจามิน ตัน กล่าวว่า “แดสสอล์ท ซิสเต็มส์ มีโปรแกรมที่ชื่อว่า International Entrepreneurship Global ซึ่งประเทศไทยอยู่ในส่วนของเอเชียแปซิฟิคใต้ ที่เราให้ความสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ประกอบการรายย่อยที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ จำนวนมาก เราจะทำการสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านั้น โดยเราจะทำการคัดเลือกจากผู้ที่สนใจและต้องการใช้ซอฟต์แวร์ SOLIDWORKS ในการทำงานจริง เพื่อผลิตสินค้าจำหน่ายจริง โดยโครงการนี้จะเริ่มทำในเดือนเมษายน 2560 นี้”
คุณบา ธอง ฟาน กล่าวเสริมว่า “ผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการจำเป็นต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน โดยเราจะทำการดัดเลือกว่าสินค้าที่จะผลิตนั้นมีโอกาสในตลาดมากน้อยแค่ไหน จะทำตลาดอย่างไร โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการต้องมียอดขายต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และต้องจ่ายเงิน 200 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อเราจะเอาไปทำการกุศล โครงการนี้เราจะติดตามอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาโครงการ 12 เดือน ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถติดสินใจได้ว่าจะเช่าหรือจะซื้อซอฟต์แวร์ที่เป็นไลเซนต์เป็นของตัวเอง โครงการนี้ประกาศไปแล้วที่ออสเตรเลีย ซึ่งมีบริษัทชื่อ Tiny Tower เข้าร่วมในโครงการทดลองทำในออสเตรเลียก่อนที่จะมายังไทย เพื่อที่จะดูการตอบรับและแก้ไขหากมีข้อผิดพลาดในโครงการ บริษัท Tiny Tower มีขนาดเล็กมาก มีเพียงวิศวกร, ฝ่ายการตลาด และฝ่ายขาย ตำแหน่งละ 1 คนเท่านั้น เราอยากได้บริษัทเล็ก ๆ แบบนี้ในเมืองไทย”
“บริษัทยังคงมุ่งขยายตลาด พร้อมเพิ่มการลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง รวมทั้งตลาดใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา บรูไน เมียนมาร์ ซึ่งแต่ละประเทศมียังมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก แต่ต้องเสริมความรู้กับผู้ใช้งานอย่างมากด้วยเช่นกัน” คุณเบนจามิน ตัน กล่าว
SOLIDWORKS กับการตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0
คุณเบนจามิน ตัน กล่าวว่า “ซอฟต์แวร์ของเราเป็น 3D Experience ซึ่งจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเมืองไทย และจะทำให้เกิดการทำงานที่ดีขึ้น ผลิตสินค้าได้เร็วขึ้นในประเทศไทย ที่ดีกว่านั้นคือ เราจำหน่ายแบบไฮบริดที่สามารถซื้อขายหรือเช่าซื้อเป็นช่วงเวลาก็ได้ เช่น บางโปรเจ็กต์ต้องใช้วิศวกรจำนวนมาก ก็ใช้หลายไลเซนต์ แต่หลังจากนั้นก็อาจจะลดลงเหลือเพียง 1 หรือ 2 ไลเซนต์ หรือบริษัทเล็ก ๆ อาจจะใช้วิธีเช่าซื้อเป็นรายเดือนจะถูกกว่า เราตอบสนองการซื้อของลูกค้าได้หลากหลายรูปแบบ”
คุณบา ธอง ฟาน กล่าวเสริมว่า “ซอฟต์แวร์เรา มี Streamline Process ที่สามารถมองเห็นตั้งแต่การเริ่มต้นการออกแบบไปจนถึงกระบวนการผลิตและออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ การที่มีเครื่องมือแบบนี้ จะทำให้มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น สินค้าใหม่ ๆ จะออกมาสู่ตลาดรวดเร็วมากขึ้น ทำให้ทุกคนพอใจ รวมถึงการสามารถทำงานอย่างคู่ขนานกัน ระหว่างโรงงานกับคนออกแบบ กลายเป็น One Single Platform และใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นแบบ Mechanical, Electronic, PCB”
“นอกนี้ SOLIDWORKS ยังใช้งานได้ง่าย เรามี E-learning ให้ทุกคนได้เรียนรู้แม้ว่าจะยังไม่มีไลเซนต์ ก็สามารถใช้การเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทางออนไลน์ได้ รวมทั้งสามารถดูวิดีโอย้อนหลัง มีแบบฝึกหัด มี Q&A และที่สำคัญเราให้ Certificate Online ช่วยให้วิศวกรในไทย สามารถเรียนรู้ได้จากทุกที่และทุกเวลา”
แดสสอล์ท ซิสเต็มส์ ยังคงตั้งเป้าการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็มุ่งเสริมให้ผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพทั้งในกลุ่มของผู้ประกอบอุตสาหกรรมทั่วไป องค์กรขนาดใหญ่หรือแม้แต่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ (สตาร์ทอัพ) เนื่องจากซอฟต์แวร์ด้านการออกแบบยังมีความต้องการใช้งานอย่างสูง และมีกลุ่มผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ SOLIDWORKS กว่า 1.3 ล้านรายทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยก็มีการใช้งานเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน
...และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งข้อมูลที่ได้จากการจัดงานในครั้งนี้ หวังว่าผู้อ่านคงจะได้อัพเดตความเคลื่อนไหวของงาน และจะประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ…
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด