กลุ่มมิลเลนเนียลให้ความสำคัญกับโซลูชั่นเพื่อการเชื่อมต่อในชีวิตประจำวัน อุปกรณ์พลังแสงอาทิตย์ รวมทั้งสินค้าหรือบริการดิจิทัลต่าง ๆ
ผลการวิจัยของเอคเซนเชอร์ (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก: ACN) พบว่า ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรยุค มิลเลนเนียล (หรือ เจ็นเอ็ม) แสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ที่เป็นผู้บริโภคอายุระหว่าง 18 - 34 ปี จะมีส่วนผลักดันให้มูลค่าของสินค้าและบริการจากผู้ผลิตพลังงานสูงขึ้นได้มาก
เอคเซนเชอร์จัดทำแบบสำรวจกลุ่มผู้บริโภคพลังงานประจำปีครั้งที่ 7 จากผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 10,000 ราย ใน 17 ประเทศ และออกรายงานเรื่อง “ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ในธุรกิจพลังงาน ซึ่งขยายตัวตามระบบนิเวศพลังงาน” (The New Energy Consumer: Thriving in the Energy Ecosystem) พบว่า เจ็นเอ็ม เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค ภายใต้สถานการณ์ที่คู่แข่งมีความซับซ้อน ที่ประชันกันด้วยสินค้า บริการ และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพลังงาน
คนเจ็นเอ็มต้องการที่จะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้ใช้สินค้าและบริการด้านพลังงานใหม่ ๆ โดยร้อยละ 24 ของคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เปิดรับและชอบทดลองใช้ก่อน (Early adopters) เทียบกับร้อยละ 17 และร้อยละ 7 ในกลุ่มคนอายุ 35 - 54 ปี และกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป ตามลำดับ นอกจากนี้ ร้อยละ 22 ของคนเจ็นเอ็มยังต้องการทดลองเทคโนโลยีใหม่ในสัดส่วนที่สูงกว่าคนรุ่นอื่น (ร้อยละ 15 ในกลุ่มคนอายุระหว่าง 35 - 54 ปี และร้อยละ6 ในกลุ่มคนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป)
ลักษณะของคนเจ็นเอ็มนั้น มีการเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ ๆ และพร้อมพิจารณาสินค้าและบริการที่รองรับการเชื่อมต่อกับระบบพลังงานทางเลือกที่หาได้ทั่วไป (Distributed Energy Resources: DER) หลังได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการนั้น ๆ คนเจ็นเอ็มให้การตอบรับถึงร้อยละ 87 เทียบกับเพียงร้อยละ 60 ในกลุ่มคนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ เกือบร้อยละ 80 ของคนเจ็นเอ็มบอกว่า พวกเขาจะพอใจมากขึ้นถ้ามีระบบผู้ช่วยดิจิทัลในบ้าน และบริการติดตามเพื่อแนะนำสินค้าและบริการใหม่ ๆ ให้ตรงตามความต้องการ เทียบกับร้อยละ 62 ในกลุ่มคนอายุ 55 ปีขึ้นไปที่มีความต้องการแบบนี้
สำหรับการบริหารพลังงานในที่อยู่อาศัยนั้น ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ร้อยละ 61 ของคนเจ็นเอ็มมีแนวโน้มที่จะใช้แอพพลิเคชั่นมาช่วยติดตามและควบคุมระบบทางไกล เทียบกับกลุ่มคนอายุ 55 ปีขึ้นไปที่มีแนวโน้มลักษณะนี้เพียงร้อยละ 36 ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มเจ็นเอ็มร้อยละ 56 ยังมีแนวโน้มจะใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มคนอายุ 55 ปีขึ้นไป ถึงสองเท่า
ชาวมิลเลนเนียลหรือเจ็นเอ็ม เป็นคนรุ่นที่มีความต้องการบริการด้านพลังงานมากขึ้น
คนยุคเจ็นเอ็มมองพลังงานอย่างลึกซึ้งและมีส่วนร่วมกับผู้ให้บริการมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ต่างจากมุมมองแบบเก่าอย่างสิ้นเชิง เห็นได้ชัดว่าพวกเขาต้องการสินค้าและบริการใหม่ ๆ มารองรับในส่วนนี้ พวกเขาต้องการข้อมูล และยังต้องการให้ทุกอย่างตอบสนองฉับไวและเข้าถึงได้ง่าย
ความคาดหวังของคนเจ็นเอ็มต่อช่องทางดิจิทัลต่าง ๆ ก็มีมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น การให้ความสำคัญกับประสบการณ์ส่วนบุคคลมากกว่าคนรุ่นก่อนในทุกช่องทางดิจิทัล และการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลล่าสุดทำให้คนเจ็นเอ็มสื่อสารกับผู้ให้บริการด้านพลังงานได้โดยสะดวก นอกจากนี้ ร้อยละ 83 ของคนเจ็นเอ็มจะไม่ค่อยอยากเปิดรับสินค้าและบริการอื่นเพิ่มเติม หากผู้ให้บริการไม่สามารถมอบประสบการณ์ต่อเนื่องอย่างไร้รอยต่อได้
"ผู้ให้บริการด้านพลังงานต้องจับความต้องการของคนเจ็นเอ็มและข้อมูลอินไซต์ต่าง ๆ ให้ได้ เพื่อพัฒนามูลค่าให้เต็มศักยภาพ เพราะความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้สภาพและปัจจัยในตลาดเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว" ภากร สุริยาภิวัฒน์ ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจพลังงานและทรัพยากร เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าว "ผู้ให้บริการด้านพลังงานที่ประสบความสำเร็จ คือผู้ที่ยึดหลักการคิดอย่างมีดีไซน์ (design thinking) เป็นสำคัญ และมองลูกค้ากับกระบวนการค้าปลีกในฐานะสินทรัพย์ที่มีผลเชิงยุทธศาสตร์
การมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้บริโภคทรงอิทธิพล ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การสำรวจแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจพลังงานมีโอกาสอย่างมากที่จะสื่อสารและมีส่วนร่วมกับคนเจ็นเอ็ม เพราะคนกลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม
ตัวอย่างเช่น ร้อยละ 41 ของกลุ่มเจ็นเอ็ม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ให้บริการด้านพลังงานมากขึ้นผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ และจะพึงพอใจหากสามารถเข้าถึงระบบของผู้ให้บริการได้จากข้อมูลที่ให้ไว้ในช่องทางเหล่านั้น
แบบสำรวจยังพบว่าคนเจ็นเอ็มให้ความสนใจกับคุณค่าที่นำเสนอมากกว่าคนรุ่นอื่น โดยร้อยละ 77 ของคนกลุ่มนี้ สนใจตลาดออนไลน์ที่ตรงกับความต้องการส่วนบุคคล ที่สามารถเลือกซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพลังงาน นอกจากนี้ กว่าหนึ่งในสามของคนเจ็นเอ็มยังสนใจในในโซลูชั่นบ้านอัจฉริยะ และยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อระบบเหล่านั้น
“การวางกลยุทธ์เกี่ยวกับลูกค้าต้องมองภาพรวมของแนวโน้มต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดผู้บริโภคในทุกวันนี้ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ แนวโน้มที่บ่งชี้ถึงผู้บริโภคในวันข้างหน้า" ภากร กล่าว "หากต้องการประสบความสำเร็จ ผู้ให้บริการด้านพลังงานต้องปรับตัวเร็ว จัดโครงสร้างใหม่ให้รองรับการเปลี่ยนแปลง พัฒนาขีดความสามารถใหม่ ๆ เพื่อให้ไม่พลาดโอกาสทางธุรกิจ ขยายตัวได้ทัน และสร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอัตโนมัติต่าง ๆ และปฏิบัติการที่รองรับงานได้หลากหลาย"
ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัย
โครงการสำรวจผู้บริโภคกลุ่มใหม่ในธุรกิจพลังงานซึ่งกินเวลานานหลายปี จัดทำขึ้นโดยมุ่งให้ธุรกิจพลังงานเข้าใจถึงความต้องการใหม่ ๆ และความพึงใจของผู้บริโภค ให้สามารถระบุโอกาสและความท้าทายในอนาคต เพื่อที่ธุรกิจจะได้มุ่งเน้นในศักยภาพหลักที่จำเป็นต่อการรับมือกับตลาดพลังงานที่เปลี่ยนแปลง โครงการสำรวจนี้ใช้ข้อมูลปฐมภูมิจากหลายแหล่ง ทั้งจากผู้บริโภคทั่วโลก แนวปฏิบัติของผู้ให้บริการด้านพลังงานและในอุตสาหกรรมอื่น รวมทั้งวิเคราะห์การยอมรับและใช้งานเทคโนโลยี
ระเบียบวิธีวิจัย
การสำรวจของเอคเซนเชอร์ที่ครอบคลุมทั่วโลกและใช้ระยะเวลานาน 7 ปีชิ้นนี้ ใช้การสัมภาษณ์ผู้บริโภคจากคำถามในแบบสอบถามเป็นหลัก แฮร์ริส อินเทอร์แอคทีฟเป็นผู้จัดทำแบบสำรวจออนไลน์ในภาษาต่าง ๆ ให้กับเอคเซนเชอร์ โดยกลุ่มตัวอย่างประเทศที่เลือกถือเป็นตัวแทนตลาดที่มีการแข่งขันและมีกฎเกณฑ์ต่างกันไป ในปี 2016 มีการสัมภาษณ์ผู้บริโภค 9,537 คนใน 17 ประเทศ ซึ่งรวมถึง 1,358 คนในสหรัฐฯ 647 คนในอังกฤษ 532 คนในแคนาดา และ 500 คนในออสเตรเลีย บราซิล จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ โปรตุเกส สิงคโปร์ และ สเปน สำหรับผู้บริโภคในประเทศต่าง ๆ นั้น มีการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนกลุ่มประชากรทั่วไป ยกเว้นบราซิล จีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างประชากรเมือง สำหรับประเทศที่มีประชากรมากหรือหลากหลาย จะเลือกกลุ่มตัวอย่างสัมภาษณ์จากพื้นที่หลาย ๆ ลักษณะ สำหรับตัวแบบสอบถาม ประกอบไปด้วยคำถามด้านทัศนคติ พฤติกรรม และลักษณะทางประชากรศาสตร์
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด