ข้อมูล : สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา
การลงทุนถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอารยประเทศ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่การขยายตัวของการผลิต การจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรม และการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทางการค้า อย่างไรก็ตาม หลายประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่สูงขึ้นได้เริ่มหันมาให้ความสนใจกับคุณภาพของกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยประเด็นสำคัญที่กลายเป็นมิติใหม่ของการลงทุนของประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบัน อาทิ การให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจเอกชน (Corporate Social Responsibility: CSR) การเติบโตแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) การลงทุนสีเขียว (Green Investment) และสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) “การลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นกระแสการพัฒนาแนวใหม่ที่ส่งผลต่อวิวัฒนาการของนโยบายการพัฒนาและการลงทุนของประเทศต่าง ๆ ในระยะต่อไป ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) หรือ อังค์ถัด ได้ดำเนินการพัฒนาและจัดทำรายงานเกี่ยวกับกรอบนโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Investment Policy Framework for Sustainable Development: IPFSD) อันสะท้อนถึงการให้ความสำคัญและต้องการผลักดันแนวทางดังกล่าวกับอารยประเทศเพื่อเป็นการนำร่องในเบื้องต้น ดังนั้น สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศสมาชิกอาเซียน อันจะนำไปสู่การยกระดับประสิทธิภาพของก้าวย่างการพัฒนาของภูมิภาคที่มุ่งสู่ความยั่งยืนในทุกมิติของการพัฒนา รวมถึงความมั่นคงและความเข้มแข็งของภูมิภาคในระยะยาวต่อไป
ปัจจุบันกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้รวมกันเป็นประชาคมทั้งทางด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น จึงควรมีนโยบายการลงทุนไปในทิศทางเดียวกัน นโยบายการลงทุนของอาเซียนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ คือ นโยบายการลงทุนระดับประเทศ และนโยบายการลงทุนในระดับภูมิภาค ซึ่งทั้ง 2 ระดับต่างให้ความสำคัญกับการอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศหรือจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกอาเซียนมีพื้นฐานที่แตกต่างกันมากโดยเฉพาะในด้านระดับการพัฒนาประเทศและโครงสร้างเศรษฐกิจ ทำให้การดำเนินนโยบายมีความแตกต่างกัน ขณะเดียวกันอาเซียนก็ยังไม่สามารถรวมตัวเพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญให้สอดคล้องกันได้อย่างเข้มแข็ง และไม่ได้มีกลไกบังคับการกำหนดนโยบายของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ การสนับสนุนนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนยังเป็นการเพิ่มต้นทุนทางธุรกิจสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ และอาจจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนของประเทศสมาชิกอาเซียนสำหรับนักลงทุนที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดเป็นหลัก ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนพร้อมกับความน่าลงทุนของประเทศ ดังนั้น การทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนยอมรับนโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันในระยะยาว จำเป็นต้องทำความเข้าใจและหาแนวทางแก้ไขเรื่องพื้นฐานความแตกต่างกันของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาที่ยั่งยืนและการดึงดูดการลงทุนของแต่ละประเทศ
ผลการศึกษาวิจัย
จากผลการประเมินนโยบายการลงทุนของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน เปรียบเทียบกับกรอบนโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (IPFSD) ของอังค์ถัด สามารถสรุปผลการศึกษาแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ ประเทศกลุ่มที่ 1 (สิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย) เป็นกลุ่มที่มีนโยบายการลงทุนที่ก้าวหน้ามากที่สุดหรือมีความพร้อมในการนำนโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภายใต้กรอบ IPFSD) ไปสู่การปฏิบัติในทุก ๆ ด้าน โดยสิงคโปร์เป็นประเทศที่โดดเด่นที่สุดและเป็นประเทศพัฒนาแล้วเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ประเทศกลุ่มที่ 1 ยังมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายโดยไม่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ไทยและมาเลเซียยังต้องให้ความสำคัญด้านข้อบังคับกับนักลงทุนมากขึ้น ขณะที่สิงคโปร์ควรเอื้อให้เกิดการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนมากขึ้น กลุ่มประเทศที่ 1 นี้ได้พยายามเชื่อมต่อกับห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก และมุ่งยกระดับตนเองให้อยู่ในตำแหน่งที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประเทศกลุ่มนี้มีความเหมาะสมที่จะแสดงบทบาทผู้นำในการช่วยเหลือประเทศสมาชิกอื่นในการปรับตัวและยกระดับนโยบายการลงทุน
สำหรับประเทศกลุ่มที่ 2 (เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) กลุ่มประเทศนี้มีระดับการพัฒนาของนโยบายการลงทุนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนเล็กน้อย ประเทศกลุ่มที่ 2 นี้มีโครงสร้างประชากรที่มีอายุเฉลี่ยไม่มาก (23 - 30 ปี) ดังนั้น จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจเนื่องจากยังมีศักยภาพด้านกำลังซื้อมากและไม่มีปัญหาเรื่องจำนวนแรงงาน นอกจากนี้ ยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง แต่โครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่มีความหลากหลาย เช่น อินโดนีเซียที่ยังคงต้องพึ่งพารายได้จากพลังงานในสัดส่วนที่สูง เป็นต้น ประเทศกลุ่มนี้มีนโยบายการลงทุนและนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปในทิศทางเดียวกัน และมีการปรับนโยบายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ประเทศกลุ่มนี้ยังต้องพัฒนาเรื่องนโยบายการส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนมากยิ่งขึ้น และพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านภาษีการถือครองที่ดิน การแข่งขัน ความรับผิดชอบของบริษัท และ บรรษัทภิบาล และนโยบายด้านสาธารณูปโภคและสัมปทาน และการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เป็นต้น
ประเทศกลุ่มที่ 3 (กัมพูชา บรูไน สปป.ลาว และเมียนมา) เป็นกลุ่มประเทศที่มีโอกาสในการวางรากฐานด้านนโยบายการลงทุนใหม่ โดยอาศัยบทเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านและแนวโน้มการพัฒนานโยบายการลงทุนของโลก ประเทศกลุ่มนี้มีโครงสร้างประชากรที่มีอายุเฉลี่ยไม่มาก (22 - 30 ปี) เช่นกัน จึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพโดยมีแรงงานจำนวนมาก และมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่ากลุ่มอื่น (ยกเว้นบรูไนที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน) โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้มีความหลากหลายน้อยที่สุด และพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติสูงมาก แม้ว่าบรูไนเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงมากที่สุดประเทศหนึ่งในอาเซียน แต่ที่ผ่านมาบรูไนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศในสาขาอื่น ๆ มากนัก เนื่องจากมีรายได้หลักมาจากพลังงานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ส่วนกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาต้องกำหนดทิศทางของนโยบายการลงทุนและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สอดคล้องกัน และต้องให้ความสำคัญกับด้านทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรม โลจิสติกส์ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises) หรือ SMEs นอกจากนี้ ประเทศกลุ่มนี้ต้องยกระดับนโยบายการปกป้องนักลงทุน การส่งเสริมการลงทุน และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน รวมถึงการพัฒนานโยบายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ประเทศกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ต้องปรับตัวมากที่สุดในอาเซียน
เมื่อพิจารณาโครงสร้างความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement: ACIA) หรือ ความตกลง ACIA พบว่า เป็นความตกลงด้านการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีด้านการลงทุนและการคุ้มครองการลงทุนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผลจากการประเมินความตกลง ACIA พบว่า ในภาพรวม ความตกลง ACIA เอื้อประโยชน์ให้กับรัฐผู้รับการลงทุนมากกว่านักลงทุนในสัดส่วนไม่มาก กล่าวคือ ความตกลง ACIA เปิดโอกาสให้รัฐผู้รับการลงทุนสามารถดำเนินนโยบายตามที่ต้องการพอสมควร ซึ่งทำให้รัฐผู้รับการลงทุนสามารถดำเนินนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในระดับหนึ่ง ประเด็นของความตกลง ACIA ที่สนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐผู้รับการลงทุน ครอบคลุมตั้งแต่การกำหนดนิยามการลงทุน การรับสิทธิการลงทุน มาตรฐานการปฏิบัติ และการคุ้มครองการลงทุนบางส่วน (ได้แก่ หลักการประติบัติเยี่ยงคนชาติ หลักการประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง หลักการประติบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียม การเวนคืน การโอนเงินทุน ความโปร่งใส เงื่อนไขการลงทุน และ Umbrella Clause)
นอกจากนี้ ความตกลง ACIA ยังให้โอกาสรัฐผู้รับการลงทุนกำหนดเงื่อนไขและให้ทางเลือกกับรัฐผู้รับการลงทุนในการปฏิบัติตามข้อบทต่าง ๆ สำหรับข้อยกเว้นด้วยเหตุด้านนโยบายสาธารณะและความมั่นคงแห่งรัฐ การระงับข้อพิพาท พันธกรณีและความรับผิดชอบของผู้ลงทุน ความเกี่ยวข้องกับความตกลงอื่น การส่งเสริมการลงทุน และการจัดตั้งองค์กร อย่างไรก็ตาม ความตกลง ACIA ไม่มีการกล่าวถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรง ความตกลง ACIA ได้ให้โอกาสรัฐสมาชิกในการดำเนินนโยบาย และให้ความสำคัญกับความแตกต่างของระดับการพัฒนาประเทศของรัฐสมาชิกต่าง ๆ นอกจากนี้ ความตกลง ACIA ยังเป็นความตกลงด้านการลงทุนที่มีพัฒนาการอย่างยาวนาน และยังคงเป็นความตกลงด้านการลงทุนหลักของอาเซียน ดังนั้น ความตกลง ACIA จึงเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการสนับสนุนให้เกิดนโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ยุทธศาสตร์นโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
การจัดทำยุทธศาสตร์นโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนานโยบายการลงทุนระดับประเทศ และยุทธศาสตร์การใช้ความตกลง ACIA ในการพัฒนานโยบายการลงทุน ยุทธศาสตร์การพัฒนานโยบายการลงทุนของประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มตามระดับความพร้อมของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน แต่มีทิศทางไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถขับเคลื่อนภายใต้ทิศทางและยุทธศาสตร์เดียวกัน บทบาทของประเทศในแต่ละกลุ่มนั้นมีความแตกต่างกัน โดยประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงกว่าสามารถเป็นผู้นำและผู้ให้คำปรึกษา ขณะที่ประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยกว่าสามารถเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมาของประเทศสมาชิกที่มีระดับการพัฒนาสูงกว่า และยกระดับการพัฒนาด้านนโยบายการลงทุนให้สูงขึ้น ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนานโยบายการลงทุน คือ (1) การร่วมมือผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการลงทุนของโลก (2) การใช้ความตกลงทางการค้าเสรีและการลงทุนในการยกระดับนโยบายการลงทุน (3) การปรับนโยบายการลงทุนให้สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (4) การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิต (Production Network) โลก (5) การเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมการลงทุนในลักษณะของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (6) การสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (7) การสนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคลากร และการใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขการขาดแคลนแรงงาน (8) การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (9) การสนับสนุนให้เกิดการนำนโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนไปใช้ได้จริง และ (10) การสำรวจความต้องการของนักลงทุนและปรับปรุงนโยบายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถใช้ความตกลง ACIA เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนนโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เช่นกัน โดยการศึกษาวิจัยนี้เสนอแนวทางการใช้ความตกลง ACIA 2 กรณี คือ (1) การใช้มาตราที่ 17 ข้อยกเว้นทั่วไป (General Exceptions) ในความตกลง ACIA ฉบับปัจจุบัน และ (2) การปรับแก้ความตกลง ACIA เพื่อให้มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะ ในกรณีที่ 1 ประเทศสมาชิกสามารถตีความมาตราที่ 17 ข้อยกเว้นทั่วไป เพื่อห้ามการกระทำที่ไม่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ซึ่งแนวทางนี้มีข้อดี คือ ไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนในการปรับเปลี่ยนเนื้อหาของความตกลง ACIA และสามารถใช้งานได้ทันที แต่มีข้อเสีย คือ ไม่สามารถขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดใช้มาตรานี้ในการสนับสนุนนโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ในกรณีที่ 2 ใช้การเปลี่ยนแปลงความตกลง ACIA เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นชอบและแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัยการปรับแก้เนื้อหาในความตกลง ACIA เป็นเครื่องมือ เมื่อมีมาตรการเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในความตกลง ACIA แล้วก็จะสามารถดำเนินการเจรจาเพื่อกำหนดกรอบระยะเวลาในปรับตัวของแต่ละประเทศในการนำนโยบายการลงทุนดังกล่าวไปใช้ได้จริงต่อไป โดยทั่วไปการดำเนินการตามกรณีที่ 2 มีความยากและใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้ฉันทามติจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด และมีต้นทุนในการดำเนินการสูง อย่างไรก็ตาม กรณีที่ 2 นี้จะทำให้เกิดการให้คำมั่นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน
นโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องประกอบด้วย การลงทุนที่ต่อเนื่อง การลงทุนที่เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การเมืองยังมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางของนโยบายการลงทุนในภาพรวม ดังนั้น ยุทธศาสตร์ระยะสั้นจะเป็นการนำการเมืองเข้ามาสนับสนุนการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย การสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน การใช้ความตกลงทางการค้าเสรีและการลงทุนในการยกระดับนโยบายการลงทุน และการร่วมมือผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการลงทุนของโลก ขณะเดียวกันประเทศสมาชิกสามารถใช้มาตรา 17 ข้อยกเว้นทั่วไป ในความตกลง ACIA ได้ ยุทธศาสตร์ระยะยาวควรเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับนโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยุทธศาสตร์ในระยะยาวที่เกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิต (Production Network) โลก การเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมลงทุนในลักษณะของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การสนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคลากร และการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการปรับแก้กฎหมายควรครอบคลุมถึงการสำรวจความต้องการของนักลงทุน การปรับปรุงนโยบายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง การปรับนโยบายการลงทุนให้สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการเพื่อปรับแก้ความตกลง ACIA ด้วย และการสนับสนุนให้เกิดการนำนโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนไปใช้ได้จริง
ขั้นตอนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติและการประเมินผล
การศึกษาวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติและการประเมินผลคือ ผู้นำประเทศสมาชิก ประชาชนในประเทศสมาชิก และเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิก โดยมีสถาบันวิชาการเป็นผู้ให้ข้อมูลในการตัดสินใจของฝ่ายต่าง ๆ มติของการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ส่งผลเป็นอย่างมากต่อการกำหนดทิศทางของนโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงส่งผลต่อแนวทางการปรับแก้เนื้อหาของความตกลง ACIA ด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับการนำโนยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนไปใช้ได้จริงต่อไป ทั้งนี้ ขั้นตอนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติและการประเมินผล มีรายละเอียดดังนี้
บทสรุป
นโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นนโยบายการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม การลงทุนสีเขียว และสังคมคาร์บอนต่ำ นโยบายการลงทุนแบบใหม่นี้ควรเป็นทิศทางของนโยบายการลงทุนในอนาคตสำหรับอาเซียน อย่างไรก็ตาม การนำนโยบายดังกล่าวมาดำเนินการสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งด้านระดับการพัฒนาและโครงสร้างเศรษฐกิจ และการรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาที่ยั่งยืนกับการดึงดูดการลงทุน
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับประเทศไทย สามารถสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้
จากตารางข้างต้น ข้อเสนอแนะขั้นตอนการปฏิบัติสำหรับประเทศไทย ได้แก่
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด