ในวันที่แดดจ้า แต่ก็ใช่ว่าธุรกิจในแวดวงพลังงานโดยเฉพาะ “พลังงานแสงอาทิตย์” หรือที่เรารู้จักกันในนาม “โซลาร์ เซลล์” ในบ้านเราจะมีหนทางสว่างใส เจิดจ้าตามไปด้วย แม้จะมีกระแสมาระยะหนึ่งแล้วแต่ทว่าปัญหาต่างๆ ทั้งในเรื่องของงบประมาณ, นโยบายภาครัฐ หรือแม้กระทั่งความชัดเจนของผู้ประกอบการที่ลงมาในตลาด ซึ่งจะว่าไปก็เป็นค่ายใหญ่ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักหลายเจ้า แต่ในเรื่องจุดคุ้มทุนยังเป็นประเด็นที่ต้องหาคำตอบ ในแวดวงธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งที่มีตัวเลขยืนยันว่าปริมาณแดดและแสงอาทิตย์บ้านเราเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการแปรเปลี่ยนพลังงาน ไม่นับผลกระทบเชิงบวกที่ดีต่อโลก!! กระนั้นก็ยังมีความพยายามของผู้เล่นรายใหม่ ที่เห็น “ช่องว่าง” และ “ช่องทาง” ในธุรกิจนี้อย่างทะลุปรุโปร่ง โดยจัดตั้ง บริษัท โซลาร์ ดี คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด เป็น ผู้ให้จำหน่ายและติดตั้งโซลาร์เซลล์ครบวงจร พร้อมแผนเข้าตลาดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ผ่านแนวคิดและแผนธุรกิจที่น่าสนใจ
ภายในงาน “สถาปนิก 59” เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเขา คุณเบนซ์-สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซล่า ดี คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด เจ้าของธุรกิจใหญ่ในวัย 35 ปี ที่มี Passion คือ อยากเห็นพลังงานธรรมชาติกระจายไปสู่ทุกคน (Decentralize) ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นเจ้าของ!!!
ทำไมถึงหันมาจับธุรกิจในเชิงของพลังงาน? “จริงๆมีหลายเหตุผล อันแรกเป็นสิ่งที่สนใจอยู่แล้ว คือการเรียนวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อมองลึกๆมันก็คือการเปลี่ยนแปลงพลังงาน เมื่อเราต้องการใช้งานสิ่งๆหนึ่ง เราก็ต้องเอาพลังงานจากสิ่งๆหนึ่งมาแปลงโดยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อทำสิ่งที่เราต้องการ นี่คือความสนใจเรื่องพลังงานดั้งเดิม หลังจากนั้นผมก็มีโอกาสได้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ก็จะพูดถึงเรื่องของการกระจุกตัวและการกระจายตัวการผลิตและการบริโภคของพลังงาน เราเห็นว่าเมืองไทยอยู่ในระบบที่ค่อนข้างกระจุกตัวมากด้านการผลิต ในขณะที่ต่างประเทศที่มีการเจริญมากขึ้น การผลิตเริ่มกระจายตัวมากขึ้น มันก็น่าจะเป็นแนวโน้มใหญ่ที่อนาคตบ้านหรือหน่วยย่อยๆของสังคมจะลุกมาผลิตพลังงานด้วยตัวเอง และคิดว่าพลังงานแสงอาทิตย์ก็น่าจะเป็นพลังงานที่สำคัญที่สุดที่มีความมั่นคงระดับหนึ่ง พึ่งพาได้ ในอนาคตบ้านเรือนน่าจะหันมาทางนี้มากขึ้น”
ความเป็นมาของธุรกิจ? “Solar D ตัวผลิตภัณฑ์ของเรา เริ่มมาจากการติด solar cell บนหลังคาบ้าน โดยปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ๆ ค่อนข้างอิ่มตัว ราคาแพง และต้นทุนต่างๆ เพิ่งลดลงมาเมื่อไม่นานมานี้เอง solar d จึงเกิดขึ้นพร้อมความคิดที่ว่า พลังงานในไทยค่อนข้างจะเป็นระบบแบบ centralize หรือการรวมศูนย์ ในขณะที่เป็นสินค้าจำเป็น ก็เกิดการพึ่งพา คนก็จะพึ่งนโยบายของรัฐตลอดเวลา ธุรกิจที่ผลิตพลังงานก็ไม่มีบริษัทในประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ต้องเกิดการกระจายรายได้ เราต้องเอารายได้ 20 % ไปจ่ายค่าพลังงาน แล้วทำไมเราจึงไม่กระจายซะเอง!!! อย่าง concept ของต่างประเทศ ในประเทศที่ประชาธิปไตยสูงๆ เค้าจะส่งเสริมให้คนในประเทศผลิต ผลิตสิ่งที่จำเป็นด้วยตัวเอง เค้าจึงออกจากระบบ decentralize คือการกระจายตัวของการผลิต ซึ่งการผลิตไฟบนหลังคาบ้านไม่สามารถกระทำโดยกลุ่มคนเล็กๆได้ มันต้องกระจายไปสู่บ้านคนแต่ละคน ดังนั้นจึงเกิดการกระจายตัวมากขึ้น จึงเป็นที่มาของ D – centralize ก็คือ D แต่เราก็ไม่ได้มี D แค่ตัวเดียวพอเพื่อกระจายตัว เราก็เห็นว่า พลังงานที่ผลิตมันเป็นระบบการผลิตแบบ โดยประชาชน ของประชาชน และเพื่อประชาชน ซึ่งมันจะนำไปสู่คำว่า Democracy คือประชาธิปไตยในพลังงาน ก็เป็น D ตัวที่2 แต่เราก็ไม่ได้คำนึงแค่กาผลิตอย่างเดียว เพราะการไปอยู่บนบ้านคน บ้านคนเป็นที่พักอาศัย ซึ่งมันเป็นสิ่งสำคัญแทบจะที่สุดในชีวิตของคน เป็นปัจจัย4 เป็นสิ่งที่คนใกล้ชิดตลอด เพราะฉะนั้น จึงเกิด D ตัวที่ 3 คือ design คือทำกับบ้านไม่แปลกแยก ไม่ทำให้บ้านมีปัญหา มันจึงนำมาซึ่งคำว่า Simply Clean Energy เป็นสโลแกนของเรา พอเอาไปติดปุ๊ป ทุกคนต้องง่าย ไม่ต้องไปยุ่งยากกับมัน อยู่กับบ้านคุณไปตลอด 25 ปี มองไปทางไหนก็ไม่น่าเกลียด และนอกจากจะช่วยสร้างรายได้แล้ว ก็มีประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เหมือนที่ทุกคนทราบว่าเมื่อเราผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์มากเท่าไหร่ เราก็เผาพลังงานฟอสซิลลดลงเท่านั้น
ในตลาดของ solar cell คู่แข่งค่อนข้างเยอะไหม? “เยอะขึ้นเรื่อยๆ ในอดีตของเมืองไทย โซลาร์ มันเกิดได้ในกลุ่มของอุตสาหกรรมใหญ่ๆ การติดตั้งจะติดตั้งในลักษณะที่เป็นฟาร์ม คือเอาทุ่งมาหลาย10ไร่ และก็วางแผง solar cell และผลิตไฟฟ้าส่งเข้าระบบ แน่นอนว่าแต่ก่อนมันแพง การลงทุนระดับครัวเรือนก็คงยาก เพราะว่าคงมีน้อยคนทีมีจำนวนเงินมากๆไปลงทุนกับสิ่งนี้ แต่ว่าในระยะเวลา 4-5 ปีหลัง ต้อนทุนของระบบเหล่านี้ลดลงถึง 60-70 % จากการที่จะติดบ้านหลังหนึ่งต้องใช้เงินหลักใกล้ๆล้าน ตอนนี้ก็เหลือหลักแสน ทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นทำให้มีคู่แข่งที่มาทำธุรกิจลักษณะเดียวกันเยอะขึ้นเรื่อยๆ”
กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย? “ถ้าพูดถึงภาพใหญ่มากก็คือ เจ้าของอาคาร เพราะอดีตสนับสนุนให้ติดตั้งในฟาร์มในทุ่ง แต่หลังๆเริ่มหันมาสนับสนุนในสเกลที่เล็กลงเรื่อยๆ ซึ่งล่าสุดคือ Solar Roof Top หรือ solar บนหลังคาอาคาร เมื่อเรามองลงไปในอาคารมันก็จะเกิด segment ต่างๆ อาคารโรงงาน อาคารของอาคารพาณิชย์ อาคารของบ้านเดี่ยว เป็นอาคารเหมือนกันแต่ลักษณะของเจ้าของจะไม่เหมือนกัน ซึ่ง solar d เราจะค่อนข้างโฟกัสไปทางบ้านเดี่ยว เราจะโฟกัสไปที่หน่วยที่ย่อย เพราะเรารู้สึกว่าคนเหล่านี้ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้มากพอ แล้วเค้าจะมีความกังวลมากเรื่องการติดตั้ง ตั้งแต่เรื่องราคา ยังไม่เข้าใจว่ามันคุ้มหรอ การติดตั้งมีปัญหากับบ้านไหม เค้าจะใช้ไฟได้เท่าไหร่ คำถามมันเยอะมาก แต่เรารู้สึกว่าเราแฮ้ปปี้ที่จะตอบคำถามเหล่านี้ และผมเชื่อว่าการผลิตในหน่วยย่อยๆ จะทำให้ภาพรวมของสังคมในอนาคตแข็งแรงขึ้น เพราะคนย่อยลุกมาผลิตในสิ่งที่เค้ามีความจำเป็นด้วยตัวเอง ถ้าแบ่ง segment แล้ว ก็มองว่ามี2-3 เซกเม้นต์ใหญ่ๆ แต่เราจะจับตลาดค่อนข้างย่อยกึ่ง HI-end สักเล็กน้อย ต่อไปในอนาคตค่อยๆขยับไปบ้านไซส์เล็กลงเรื่อยๆ
มองนโยบายที่ภาครัฐที่ผ่านมาส่งเสริมเกี่ยวกับนโยบาย roof top แค่ไหน? อย่างไร? “ถ้ามองจากอดีตมาปัจจุบัน ผมว่าก้าวหน้าค่อนข้างเยอะ จากอดีตที่เป็นจากฟาร์ม ลงมาสู่หลังคา เพราะสามารถทำให้ทุกๆคนเข้าถึงได้ง่าย ก็มีโอกาสติดตั้งได้มากขึ้น ผมเข้าใจว่าช่วงนี้เป็นช่วงแรกของนโยบาย roof top บนหลังคาบ้าน มันก็เลยทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆยังมีเงื่อนไขที่จำกัดเยอะพอสมควร เช่นพอเราติดตั้งแล้วบ้านจะกลายเป็นโรงงานไหม กรมอุตสาหกรรมบอกว่าเมื่อมีเครื่องจักรผลิตไฟฟ้ามันก็ต้องกลายเป็นโรงงาน พอเป็นโรงงานก็ต้องเกิดกระบวนการที่ขออนุญาตโรงงานตามมา ซึ่งบ้านคนตัวเล็กๆจะต้องไปขออนุญาตทำโรงงานที่บ้านสวยๆมันก็เป็นเรื่องที่ไม่ปกติ หรือแม้กระทั่งการจำกัดระยะเวลา หรือปริมาณที่ค่อนข้างจำกัด คือเค้าจะมีโควตา รีบยื่นของโควตา เราก็มองว่ามันไม่กระจายมากเท่าไหร่ ถ้าจะติดตั้งเราต้องเตรียมเอกสารเยอะแยะมากมาย ต้องมีเวลา แต่ผมก็ยังมองในแง่ดีว่าอนาคตภาครัฐจะดำเนินนโยบายนี้ต่อไปด้วยกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น ถ้าเทียบกับในอาเซียนเราก้าวหน้ามากๆแล้ว แต่ถ้าเทียบกับทั่วโลก เค้าก้าวหน้ามาหลายปีแล้ว เราอาจจะเพิ่งเริ่ม เท่ากับเราก็ไม่ถึงกับดีมากๆ แต่ก็ไม่ถึงกับแย่ อยู่ในกระบวนการที่จะเดินไปถึงจุดนั้น
ถ้าอย่างนั้นนโยบายนี้เหมาะสมไหมกับการลงทุน ถ้าลงทุนไปแล้วคุ้มค่าแค่ไหน? “ถ้าถามผมเองผมก็จะตอบไปเลยว่าคุ้มค่าแน่นอน ถ้าเรามองในเนื้อมันลึกๆเราจะมองเห็นความแตกต่างระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศอย่างหนึ่ง สำหรับต่างประเทศ การที่ขายไฟฟ้า ขอเท้าความก่อนว่า ระบบโซล่าในอดีตสุด มันแพง เพราะคนจะมองทั้งระบบ เช่นผลิตไฟฟ้าแล้วเก็บไว้ใช้กลางคืนด้วย เพราะเราไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้า เราจะมองว่าเราจะครบวงจนด้วยตัวมันเอง มันจึงต้องมีแบตเตอรี่ มีอุปกรณ์ที่ต้องเก็บพลังงานไว้ใช้ในยามที่ไม่มีแสงแดด สิ่งเหล่านี้ทำให้มันแพงมาก ในอดีตเรานิยมใช้มันไปตามที่ที่เสาไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เช่น บนดอย ชนบท พอรัฐต้องการส่งเสริมมาก เราไม่ต้องขึ้นกับอะไรได้ไหม เราตัดแบตเตอรี่ทิ้งเลย ถ้าในช่วงที่เราผลิตไฟฟ้าแล้วไม่ได้ใช้ เราก็ขายเข้ามาในสายส่ง มันก็เลยไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้แบตเตอรี่ เราก็จ่ายเงินค่าไฟฟ้าไปตามปกติ เพียงแต่ระหว่างที่เข้าสายส่งเราก็ยังขายได้เงิน เพราะฉะนั้นบ้านเราจะมี2 มิเตอร์ ส่วนหนึ่งที่ขายได้เงินมา และส่วนที่ใช้และจ่ายเงินให้การไฟฟ้า ตรงนี้ทำให้เกิดส่วนต่างส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม ไฟฟ้าที่เราใช้ตามบ้านเรือน ค่าไฟจะเสียต่อเดือนราว4-5 บาท แต่หากเราผลิตไฟฟ้าบนหลังคาบ้านแล้วขายเข้าไปในโครงการรัฐบาล เราก็จะได้ค่าไฟ เป็นหารขายได้ คร่าวๆหน่วยล่ะ 7 บาท ซึ่ง 7 กับ 4 บาทกว่าถือว่ามีส่วนต่างพอสมควร ทำให้คนที่ติดตั้งได้ประโยชน์จากการที่ขายไปทั้งหมดก่อน แล้วค่อยซื้อมาใช้ และเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้วเนี่ยเค้าใช้ระบบ Net Metering คือหมายความว่า เมื่อผลิตได้เราจะหักลบกับสิ่งที่ใช้ไปก่อนเหลือเท่าไหร่ค่อยขายไปถึงจะได้เงิน 7 บาท ในขณะที่เมืองไทยให้ขายไฟไปก่อนเลยในหน่วยล่ะ 7 บาท แล้วค่อยดึงมาใช้ในราคา 4-5 บาท ถ้ามองแบบนี้ถือว่านโยบายปัจจุบันให้ประชาชนค่อนข้างเยอะ แต่ค่อนข้างมีจำกัดเรื่องเวลา รัฐก็จำกัดเวลา เมื่อเปิดเยอะคนให้ความสนใจเยอะขึ้น 7 บาทนี้อาจจะลดลง ตามกลไกลตลาด การคืนทุนอยู่ที่ 8-9 ปี ในขณะที่อุปกรณ์มีสามารถใช้ได้ 25 -30 ปี สำหรับระยะยาวจะคุ้ม แต่สำหรับบ้านที่ติดตั้งแล้วไม่แน่ใจว่า ภายใน 5-10 ปี ต้องย้ายหรือขาย ต้องคิดถึงการโยกย้ายนิดหนึ่ง
กลับมาที่ส่วนการตลาดของ solar d จะมีความแตกต่างจากคนอื่นยังไงบ้าง? “Solar d เราพูดถึงเรื่อง design ด้วย ซึ่งอาจจะยังไม่เห็นผู้ประกอบการที่พูดถึงเรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะการติดตั้งในต่างประเทศจะมีความกังวลว่า บ้านเค้าจะดูน่าเกลียดรึเปล่า เราจะไม่มองว่ามันเป็นแค่การผลิตไฟฟ้า ผมมองว่ามันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของบ้านด้วยซ้ำ บ้านในอนาคตที่เกิดขึ้นมา การสร้างอาจจะคำนึงถึงเรื่องนี้มากขึ้น บ้านในอดีตอาจจะไม่ได้คำนึงว่า ต่อมาเราจะผลิตไฟฟ้าบนหลังคารึเปล่า แต่การสร้างบ้านในอนาคตเราจะคำนึงถึงเรื่องนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทิศทางในการติดตั้ง ทิศทางที่บ้านหันไป ทิศทางของหลังคา slope สำหรับปัจจุบันบ้านที่เราไปติดเราคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้”
ต้นทุนในการติดตั้งใช้ราคาเท่าไหร่? “ถ้ามองแค่ราคาของเรา เรายังไม่ถือว่าถูก แต่ถ้าเรามองที่อุปกรณ์ที่เราเลือกถือว่าค่อนข้างถูก เพราะเราเลือกแบรนด์ชั้นนำของโลกที่ได้รับรางวัลมากมาย และมองไปที่เรื่องของ design ติดไปแล้วสวยงาม เพราะเราก็คิดว่า solar บนหลังคาบ้านถือว่าเป็นของใหม่ คนที่ติดตั้งไปก็มีความกังวล เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเลือกจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดก่อน สำหรับราคาก็ไม่ถือว่าถูก ถ้าจะหากถูกว่านี้ก็มีแต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักในเรื่องของความไว้วางใจได้ของสินค้า แต่ถามว่าแพงที่สุดไหม ก็ไม่แพงที่สุด ผมเชื่อว่าเป็นราคาที่เหมาะสมที่เจ้าของบ้านจะเลือก” ขายคลอบคลุมทั่วประเทศไหม? “เราพยายามให้คลอบคลุมทั่วประเทศ ตอนนี้ก็มีกรุงเทพ และรอบๆเช่น ปทุมธานี ชลบุรี ลพบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ สุรินทร์ หาดใหญ่” มีการเลือกพื้นที่ไหมว่าตรงนี้ติดได้ติดไม่ได้? “ประเด็นนี้ก็สำคัญ คือภาคใต้เลยเราก็เชื่อว่าฝน8 แดด4 ถ้าฝนตกเยอะๆจะคุ้มรึเปล่า แต่จริงๆที่เยอะที่สุดคืออีสาน รองลงมาเหนือ และ กลาง เมื่อเราลองเอาไปจำลองข้อมูลสภาพอากาศจริงๆ ผลตอบแทนก็ลดลงไป3-5% จากปกติที่คืนทุนใน 8 ปี อาจจะเป็น 8 ปีครั่ง อันนี้ต้องถามเจ้าของบ้านว่ายอมรับไหมที่มันจะคืนทุนช้าลง” ในเรื่องการ service after sale เราจะเข้าไปควบคุมคุณภาพยังไง? “โดยตัวสินค้า แผ่น solar มีการรับประกัน 25 ปีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ลูกค้าไม่ต้องกังวลว่ามันจะต้องเปลี่ยนในระหว่างที่ไม่คุ้มทุนรึเปล่า ซึ่งทางบริษัทต้องเข้าไปดูแลอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่ง invertor อุปกรณ์ที่ค่อนข้างแพง ก็มีการรับประกันเริ่มต้นที่ 10 ปี ซึ่งถ้าลูกค้าไม่สบายใจก็อาจจะซื้อเพิ่มภายหลังได้ 25 ปี ตรงนี้ก็ทำให้สบายใจว่าอุปกรณ์หลัก2ชิ้น มีการรับประกันที่ยาวนาน คลอบคลุมถึงจุดที่คุ้มทุนหมดเลย การดูแลรักษา เราอาจจะมีการไปตรวจเช็คเป็นรายปี อาจจะ2ปีแรก นอกจากนั้นเราต้องมีการทำความสะอาด เพราะแผง solar ต้องรับแสงอาทิตย์และมาแปลงพลังงาน ถ้าเราทำความสะอาดปีละครั้งก็จะดี แต่ถ้าไม่ทำความสะอาดเลย จริงๆน้ำฝนก็ช่วยชะล้างได้ ถ้าพูดถึงการดูแลรักษาภาพรวมถือว่าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ต้องการการดูแลรักษา น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการผลิตพลังงานแบบอื่นๆ”
สำหรับผู้ที่สนใจอยากหาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปที่ www.solar-d.co.th หรือ 02-026-3099 หรือ www.facebook.com/solardhome
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด