การออกแบบและการวางแผนในการฝึกอบรม ในขั้นตอนของการออกแบบและการวางแผน จะจัดให้มีข้อกำหนดสำหรับแผนการฝึกอบรม
ISO10015 มาตรฐานการพัฒนาคุณภาพการจัดการฝึกอบรม (ตอนที่ 2)
กิตติพงศ์ โรจน์จึงประเสริฐ
kitroj@yahoo.com
2. การออกแบบและการวางแผนในการฝึกอบรม
ในขั้นตอนของการออกแบบและการวางแผน จะจัดให้มีข้อกำหนดสำหรับแผนการฝึกอบรม โดยขั้นตอนประกอบด้วย
1. การออกแบบและการวางแผนการดำเนินการ เพื่อลดช่องว่างของความสามารถ และ
2. การกำหนดเกณฑ์ในการประเมินผลที่ได้จากการฝึกอบรมและการเฝ้าติดตามกระบวนการฝึกอบรม
ข้อจำกัดในการฝึกอบรม
ข้อจำกัดที่มีต่อกระบวนการฝึกอบรม จะต้องได้รับการนำมาพิจารณาและจัดทำเป็นรายการไว้อย่างชัดเจน ซึ่งประกอบด้วย
• ข้อกำหนดทางกฎหมาย
• ข้อกำหนดทางด้านนโยบาย รวมถึงส่วนที่เกี่ยวกับทรัพยากรบุคคล
• การพิจารณาทางด้านการเงิน
• กรอบระยะเวลาในการดำเนินการ
• ความพร้อม แรงจูงใจและความสามารถของผู้เข้ารับการอบรม
• ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความพร้อมของทรัพยากรต่าง ๆ สำหรับการจัดการอบรมภายในองค์กร หรือความพร้อมของผู้จัดอบรม
ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ระบุขึ้น จะถูกนำมาใช้ในการคัดเลือกวิธีการฝึกอบรม รวมถึงผู้ดำเนินการฝึกอบรม
วิธีการในการฝึกอบรมและเกณฑ์สำหรับการคัดเลือก
วิธีการฝึกอบรมมีอยู่หลากหลายวิธี ได้แก่
• การเรียนในชั้นเรียน และการฝึกปฏิบัติในบริเวณพื้นที่ทำงาน
• การฝึกงาน
• การแนะนำขณะปฏิบัติงานและการให้คำปรึกษา
• การเรียนรู้ด้วยตนเอง
• การศึกษาทางไกล
เกณฑ์ที่จะนำมาใช้ในการคัดเลือกวิธีการที่เหมาะสม หรือการผสมผสานวิธีการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จะต้องมีการกำหนดและจัดทำเป็นเอกสารอย่างชัดเจน ซึ่งประกอบด้วย
• วันที่และสถานที่
• สิ่งอำนวยความสะดวก
• ค่าใช้จ่าย
• วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม
• กลุ่มเป้าหมายของผู้รับการฝึกอบรม
• ระยะเวลาในการฝึกอบรม
• รูปแบบของการประเมินผล และการให้การรับรอง
ข้อกำหนดเฉพาะสำหรับแผนการฝึกอบรม
ข้อกำหนดเฉพาะสำหรับการฝึกอบรมจะต้องได้รับการจัดทำขึ้น เพื่อใช้ในการเจรจาประสานงานกับผู้ให้บริการฝึกอบรม ในการเตรียมงานสำหรับกระบวนการฝึกอบรม เช่น เนื้อหาของการอบรม รูปแบบของการอบรม หรือวัสดุเอกสารประกอบการอบรม
ข้อกำหนดเฉพาะสำหรับการฝึกอบรม จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในความต้องการขององค์กร ความต้องการในการฝึกอบรม และวัตถุประสงค์ของการอบรม เพื่อนำไปสู่การกำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับจากการฝึกอบรม
ข้อกำหนดเฉพาะที่จะต้องพิจารณา ประกอบด้วย
1. วัตถุประสงค์และข้อกำหนดขององค์กร
2. ข้อกำหนดเฉพาะสำหรับความต้องการในการฝึกอบรม
3. วัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม
4. ผู้เข้ารับการอบรม (กลุ่มหรือบุคคลเป้าหมาย)
5. วิธีการฝึกอบรมและโครงร่างของเนื้อหา
6. ตารางเวลาการทำงาน
7. ข้อกำหนดทางด้านทรัพยากร
8. ข้อกำหนดทางด้านการเงิน
9. เกณฑ์และวิธีการสำหรับการประเมินผลที่ได้จากการฝึกอบรม เพื่อทำการวัด
• ความพึงพอใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
• ความรู้ ทักษะและพฤติกรรมที่ได้ของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
• ความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้รับการฝึกอบรม
• ความพึงพอใจของฝ่ายบริหารของผู้รับการฝึกอบรม
• ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับองค์กรของผู้รับการฝึกอบรม
• วิธีการในการเฝ้าติดตามกระบวนการฝึกอบรม
การคัดเลือกผู้ให้บริการฝึกอบรม
ผู้ให้บริการฝึกอบรมทั้งภายในและภายนอก จะต้องได้รับการประเมินในประเด็นสำคัญ ๆ ก่อนที่จะได้รับการคัดเลือกเพื่อให้บริการในการฝึกอบรม การประเมินจะประกอบด้วยเอกสารของผู้ให้บริการ เช่น แผ่นพับ โฆษณา เอกสารรายละเอียดการอบรม และรายงานการประเมินผล โดยการประเมินจะต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดเฉพาะของแผนการฝึกอบรม และข้อกำหนดที่ระบุไว้
3. การจัดการฝึกอบรม
ผู้ดูแลในการจัดการฝึกอบรม จะมีหน้าที่รับผิดชอบในกิจกรรมทั้งหมดของการจัดการฝึกอบรมตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดเฉพาะของแผนการอบรม โดยบทบาทขององค์กรในการให้การสนับสนุนและดูแลความเรียบร้อยในการฝึกอบรม จะประกอบด้วย
• การให้การสนับสนุนทั้งวิทยากรอบรมและผู้เข้ารับการอบรม
• การเฝ้าติดตามคุณภาพของการอบรม
นอกจากนั้น องค์กรยังต้องสนับสนุนผู้จัดการฝึกอบรมในการเฝ้าติดตามการจัดฝึกอบรมด้วย โดยความสำเร็จในกิจกรรมต่าง ๆ จะสะท้อนจากความมีประสิทธิผลของความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร ผู้จัดการฝึกอบรม และผู้เข้ารับการอบรม
การสนับสนุนก่อนการจัดฝึกอบรม
ในการสนับสนุนก่อนการจัดการฝึกอบรม จะประกอบด้วย
• การสรุปข้อมูลให้กับผู้จัดการฝึกอบรม
• การสรุปข้อมูลให้กับผู้เข้ารับการอบรม ถึงรูปแบบของการฝึกอบรมและความจำเป็นในการลดช่องว่างของความสามารถ
• การทำข้อตกลงระหว่างวิทยากรอบรมและผู้เข้ารับการอบรม
การสนับสนุนในระหว่างการฝึกอบรม
ในการสนับสนุนระหว่างการฝึกอบรม จะประกอบด้วย
• การจัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ เอกสาร ซอฟต์แวร์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับทั้งวิทยากรและผู้เข้ารับการฝึกอบรม
• การจัดเตรียมโอกาสอย่างเพียงพอสำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้นำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้
• การให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถที่เกิดขึ้นกับทั้งวิทยากรและผู้รับการฝึกอบรม
การสนับสนุนภายหลังจากการฝึกอบรม
ในการสนับสนุนภายหลังจากการฝึกอบรม จะประกอบด้วย
• การรับข้อมูลป้อนกลับจากผู้รับการฝึกอบรม
• การรับข้อมูลป้อนกลับจากวิทยากรฝึกอบรม
• การจัดเตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอผู้บริหารและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการฝึกอบรม
4. การประเมินผลที่ได้จากการฝึกอบรม
ในการประเมินผล จะมีเป้าหมายเพื่อเป็นการยืนยันถึงความสำเร็จของวัตถุประสงค์องค์กรและการฝึกอบรม เช่น ความมีประสิทธิผลของการฝึกอบรม ซึ่งผลลัพธ์ของการฝึกอบรม โดยส่วนใหญ่จะยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างครบถ้วน จนกว่าผู้รับการฝึกอบรมจะได้รับการประเมินและทดสอบในการทำงาน
เมื่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับการอบรมแล้ว ฝ่ายบริหารขององค์กรจะต้องจัดให้มีการประเมินผลเพื่อยืนยันระดับของความสามารถที่เพิ่มขึ้นภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ โดยให้ทำการประเมินทั้งในช่วงเวลาระยะสั้นและระยะยาว
ในช่วงเวลาระยะสั้น (Short Term) จะได้รับข้อมูลป้อนกลับจากผู้เข้ารับการอบรม เกี่ยวกับวิธีการฝึกอบรม ทรัพยากร และความรู้และทักษะที่เพิ่มขึ้นจากการฝึกอบรม ส่วนในช่วงเวลาระยะยาว (Long Term) จะเป็นการประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้เข้ารับการฝึกอบรม รวมถึงการปรับปรุงผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
กระบวนการประเมินผล จะรวมไปถึงการรวบรวมจัดเก็บข้อมูล และการจัดเตรียมรายงานการประเมินผล เพื่อจะนำไปสู่กระบวนการเฝ้าติดตามต่อไป
การรวบรวมข้อมูลและการจัดเตรียมรายงานการประเมินผล
บันทึกการประเมินผลจะประกอบด้วย
• ข้อกำหนดสำหรับความจำเป็นในการฝึกอบรม
• เกณฑ์การประเมินและคำอธิบายของแหล่งที่มา วิธีการ และกำหนดเวลาในการประเมินผล
• การวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมได้ และการอธิบายความหมายของผลที่ได้จากการวิเคราะห์
• การทบทวนต้นทุนในการฝึกอบรม
• ข้อสรุปและข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงงาน
5. การเฝ้าติดตามและการปรับปรุงกระบวนการฝึกอบรม
วัตถุประสงค์หลักของการวัดและการเฝ้าติดตาม เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการฝึกอบรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริหารคุณภาพ ได้รับการจัดการและนำไปปฏิบัติตามที่กำหนด และมีประสิทธิผลสอดคล้องกับข้อกำหนดในการฝึกอบรมขององค์กร
ในการเฝ้าติดตามกระบวนการฝึกอบรม จะต้องดำเนินการโดยบุคลากรที่มีความสามารถตามแนวปฏิบัติที่กำหนดขึ้นโดยองค์กร และถ้าเป็นไปได้บุคคลนั้นจะต้องเป็นอิสระจากหน้าที่การงานที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการฝึกอบรม ซึ่งวิธีที่นำมาใช้ในการเฝ้าติดตาม จะประกอบด้วย การให้คำแนะนำ การสังเกตการณ์ และการรวบรวมข้อมูล โดยวิธีที่เลือกใช้จะถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ขั้นตอนของการวางแผนการฝึกอบรม
การยืนยันความถูกต้องของกระบวนการฝึกอบรม
สิ่งหนึ่งที่นำมาใช้ในการเฝ้าติดตามกระบวนการฝึกอบรม คือบันทึกทั้งหมดจากทุกขั้นตอนของการฝึกอบรม ซึ่งการทบทวนในแต่ละขั้นตอน อาจจะพบความไม่สอดคล้องเกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การดำเนินการปฏิบัติการแก้ไขและการป้องกัน รวมถึงการเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงงานต่อไป
• ถ้าหากพบว่า ได้มีการปฏิบัติตามระเบียบการปฏิบัติงาน (Procedure) และได้ผลลัพธ์ตามข้อกำหนดที่กำหนดไว้ ให้ทำการปรับปรุงบันทึกความสามารถของบุคลากร เพื่อสะท้อนถึงคุณสมบัติที่เพิ่มมากขึ้น
• ถ้าหากพบว่า ไม่ได้มีการปฏิบัติตามระเบียบการปฏิบัติงาน แต่ได้ผลลัพธ์ตามข้อกำหนดที่ต้องการ ให้ทำการปรับปรุงระเบียบการปฏิบัติงาน รวมถึงการปรับปรุงบันทึกความสามารถของบุคลากร
• ถ้าหากพบว่าได้มีการปฏิบัติตามระเบียบการปฏิบัติงาน แต่ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่กำหนด ให้ดำเนินการปฏิบัติการแก้ไข (Corrective Action) เพื่อปรับปรุงกระบวนการฝึกอบรมหรือพัฒนาด้วยแนวทางอื่นที่ไม่ใช่การฝึกอบรม
จากที่ได้อธิบายมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ในการจัดการฝึกอบรมที่ผ่านการวางแผน การวิเคราะห์ และการดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีแนวทางที่ชัดจน ตั้งแต่การกำหนดความจำเป็นในการฝึกอบรม การจัดเตรียมการอบรม การจักอบรม การประเมินผลและการติดตามความมีประสิทธิผลของการอบรมตามมาตรฐานที่ได้กล่าวมาแล้ว จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับองค์กรได้ว่า ผลที่ได้จะช่วยให้องค์กรมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ รวมถึงการปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด