เนื้อหาวันที่ : 2013-05-07 13:56:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6274 views

การบริหารพัสดุโรงงาน

ท่านที่มีหน้าที่บริหารโรงงาน ท่านนายช่างใหญ่ นายช่างซ่อมบำรุง วิศวกรฝ่ายต่าง ๆ ช่างเทคนิคทุกแขนง เคยประสบปัญหาพัสดุโรงงาน เช่น เรื่องการเก็บสต๊อกไม่สมดุล

การบริหารพัสดุโรงงาน


ร.อ.สุชาติ ศุภมงคล
susupa@gmail.com

      ท่านที่มีหน้าที่บริหารโรงงาน ท่านนายช่างใหญ่ นายช่างซ่อมบำรุง วิศวกรฝ่ายต่าง ๆ ช่างเทคนิคทุกแขนง เคยประสบปัญหาพัสดุโรงงาน เช่น เรื่องการเก็บสต๊อกไม่สมดุล ปัญหาอีกร้อยแปดพันประการมักเกิดขึ้นได้ ถ้าส่วนสนับสนุนไม่พร้อม ประเด็นสำคัญที่สุดอยู่ที่พนักงานในส่วนงานสนับสนุนขาดความรู้ ความชำนาญด้านช่าง (Engineer) ไม่คุ้นเคยกับเรื่องเครื่องจักรและอุปกรณ์ประกอบการเดินเครื่อง

โดยเฉพาะส่วนงานจัดซื้อจัดหาที่ไม่ได้เรียนด้านช่างมา มักจะเป็นอุปสรรคในการจัดซื้อเครื่องจักรและอะไหล่ จัดจ้างเกี่ยวกับงานด้านวิศวกรรม พนักงานที่ทำงานอยู่ในคลังพัสดุหรือคลังอะไหล่ ไม่รู้จักของ หยิบผิดหยิบถูก อ่านสเป็คไม่เป็น ไม่รู้จักวิธีเก็บรักษาอุปกรณ์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนที่มีความละเอียด ทำให้พัสดุเสื่อมเร็ว

      ท่านนายช่างและผู้ใช้พัสดุทั้งหลายก็เช่นกัน เอาแค่ทำงานเก่ง ซ่อมเก่งอย่างเดียว แต่ขาดการบริหาร ขาดความสัมฤทธิ์ผลของงานบำรุงรักษา หรือไม่ช่วยเรื่องการวางแผนบำรุงรักษาเชิงป้องกันเสียแล้ว ซ่อมแล้วเสีย โรงงานปุๆปะๆ ขาดประสิทธิภาพ ผลผลิตลดลง ๆ (Inactivity) ทำให้กิจการเสียหาย ท่านทั้งหลายคงไม่ต้องการให้โรงงานของท่าน ฝ่ายผลิตของท่าน เป็นไปเช่นนี้ บทความนี้คงจะเป็นตัวช่วยตัวหนึ่ง ที่จะสนับสนุนให้การบริหารพัสดุโรงงาน มีประสิทธิผล ทำให้โรงงานไม่ต้องปิดซ่อมบ่อย ๆ หรือต้องปิดซ่อมนานเพราะขาดอะไหล่และอุปกรณ์ บทความชุดนี้คงต้องมีความยาวพอสมควร แต่จะให้จบเป็นตอน ๆ ไป เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่องยาวที่ฉายติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเรื่องแรกในฉบับนี้จะว่ากันด้วยเรื่องของพัสดุ (Materials)


      พัสดุ มีความหมายกว้างขวางมาก หมายถึงสิ่งของต่าง ๆ เครื่องใช้ไม้สอยรวมทั้งที่ดิน บ้านเรือน อะไรๆก็เป็นพัสดุได้ทั้งนั้น นอกจากพัสดุแล้ว ในภาษาไทยยังมีคำว่าวัสดุ อีกคำหนึ่งที่มีความหมายเช่นเดียวกัน เพราะมาจากภาษาบาลีว่าวัตถุ และจากสันสกฤต ว่าวัสดุ เช่นเดียวกัน แต่ในการใช้ภาษาระหว่างพัสดุและวัสดุ มีความนิยมใช้แตกต่างกัน เช่นที่ดินของหลวงเราเรียกว่าที่ราชพัสดุ ส่วนวัสดุก่อสร้าง ซึ่งได้แก่กรวด หิน ดิน ทราย ปูน เราไม่เรียกพัสดุก่อสร้าง ในข้อเขียนของผม จะใช้คำว่าพัสดุเท่านั้น และถ้าเป็นสินค้าสำเร็จรูป ก็จะใช้สินค้า วัตถุดิบก็ใช้ตรงตัว เพื่อป้องกันการสับสน เช่น สินค้าคงเหลือ ก็คือ สินค้าสำเร็จรูปที่ยังคงคลัง ยังขายไม่ได้
 

       พัสดุโรงงาน คืออะไร คำจำกัดความอย่างง่ายและสั้น คือพัสดุอะไรก็ได้ที่ไม่ได้มีส่วนเข้าไปผสมอยู่ในสินค้าสำเร็จเลย เพราะฉะนั้นไม่ใช่วัตถุดิบ ไม่ใช่ส่วนประกอบ ไม่ใช่หีบห่อบรรจุภัณฑ์ ลองคิดดู พัสดุพวกกระดาษทราย จาระบี ถ่ายไฟฉาย ออยล์ซีล ตลับลูกปืน เพลา ลูกสูบ ไม่ได้แฝงอยู่ในสินค้าสำเร็จรูปเลย นี่แหละมันคือพัสดุโรงงาน คำแนะนำการบริหารพัสดุโรงงานของบริษัทเอ็กซ์ซอน เรียกพวกมันว่า MRO หมายถึง Maintenance, Repair, Operation ITEMS ในข้อเขียนของผมจะใช้คำว่าพัสดุโรงงาน ซึ่งหมายถึง MRO ตลอดไป
 

       บัญชีคงคลัง (Inventory Account) คือบัญชีแยกประเภททรัพย์สินหมุนเวียนประเภทคงเหลือ (แยกออกมาจากเงินสด และลูกหนี้การค้า) มูลค่าของพัสดุและสินค้าคงเหลือ จะถูกชาร์จเข้าอยู่ในบัญชีคงคลังนี้ พัสดุคงคลังและสินค้าคงคลังถูกแยกประเภทออกเป็นกลุ่มได้ดังนี้
1. สินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods)
2. วัตถุดิบ (Raw Materials)
3. หีบห่อบรรจุภัณฑ์ (Packaging)
4. สินค้าระหว่างผลิต (Work in Process)
5. พัสดุโรงงาน หรือ MRO ITEMS

ในที่นี้เราจะเจาะเฉพาะพัสดุโรงงานหรือ MRO เท่านั้น ซึ่งประกอบด้วยหลายบริเฉท เรียงเป็นบทเป็นตอนต่อไป

เมื่อได้กล่าวถึงบัญชีคงคลัง ซึ่งเป็นทรัพย์สินหมุนเวียนของบริษัท เรื่องต่อไปจะอธิบายถึงเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างบัญชี 3 สถานะ โดยเริ่มเมื่อซื้อพัสดุเข้ามาในกิจการ มูลค่าจองพัสดุจะถูกบันทึกลงในบัญชีได้ทั้ง 3 สถานะคือ
1. บัญชีค่าใช้จ่ายโดยตรง (Expenses A/C)
2. บัญชีคงคลัง (Inventory A/C)
3. บัญชีทรัพย์สินถาวร (Fixed Asset A/C)


รูปแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบัญชี 3 สถานะ


เมื่อเราซื้อพัสดุเข้ามาในกิจการ มูลค่าจะถูกลงบัญชีทันที บริษัทที่ใช้ระบบงบประมาณอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ในใบขอให้ซื้อ (PR) จะต้องระบบ Charge of A/C ลงใน PR โดยผู้ที่รับผิดชอบใน Cost Center (CC)

 1. เมื่อซื้อพัสดุมาใช้โดยตรง คือ ซื้อแล้วเอามาใช้เลย มูลค่าจะถูก Charge เข้าบัญชี CC ของผู้ที่ใช้พัสดุนั้น ไม่ต้องนำเข้าสต๊อกในคลังพัสดุกลุ่มนี้ พัสดุกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า Non-Store House Items หรือ Direct Charge Items หรือ Direct Turn Over

2. ซื้อพัสดุหรือสินค้าเพื่อเก็บสำรองคลัง ไว้ใช้เมื่อเวลาต้องการ มูลค่าจะถูกนำเข้าบัญชีพัสดุคงเหลือ หรือสินค้าคงเหลือ ในกรณีที่เป็นพัสดุโรงงาน เมื่อเบิกออกจากคลังปกติจะถูกนำไป Charge เข้าบัญชีค่าใช้จ่ายตามข้อ 1 เช่นเมื่อเบิกอะไหล่นำไปซ่อมเครื่องจักรยูนิตใด มูลค่าของอะไหล่จะถูกนำไปคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมของเครื่องจักรยูนิตนั้น และเมื่อนำเอาค่าแรงงานตามชั่วโมงการซ่อมเครื่องนั้นมารวมกันก็จะได้มูลค่าของการซ่อมตามใบสั่งซ่อม (Work Order Request Work) นั้น ๆ

3. เมื่อซื้อพัสดุประเภททุน หรือเป็นทรัพย์สินถาวร จะต้องมีการของบประมาณลงทุนไว้ก่อน บางบริษัทเรียกว่า เบอร์จัดสรรงบลงทุนหรือ Appropriation Number และเมื่อได้ผ่านกระบวนการจัดซื้อและรับทรัพย์สินนั้น หรือติดตั้งเรียบร้อยแล้ว มูลค่าของมันก็จะถูกลงบัญชีควบคุมทรัพย์สินทันที และเมื่อเวลาผ่านไป ทรัพย์สินนั้นถูกใช้ไป เครื่องจักรอุปกรณ์เดินเครื่องก็จะมีค่าเสื่อมราคามาหักมูลค่าเดิมที่ซื้อมา ทางบัญชีเรียกว่า First Cost

และมูลค่าหลังจากถูกหักแล้วทางบัญชีเรียกว่า มูลค่าทางบัญชี Book Value ทรัพย์สินถาวรบางชนิดหักค่าเสื่อมราคาปีละ 20% เช่น รถยนต์หักไป 5 ปี มูลค่าทางบัญชีเหลือศูนย์ แต่มีมูลค่าซากเหลืออยู่ (Salvage Value) แล้วแต่ว่ารถคันนั้นมีสภาพเช่นไร และราคาตลาดเป็นเท่าไร เครื่องจักรเครื่องยนต์บางชนิดมูลค่าซากเหลือแค่น้ำหนักเหล็กเป็นกิโลกรัมเท่านั้น

ทั้งหมดนี้ ท่านพอจะมองเห็นภาพได้ สำหรับท่านที่รู้เรื่องดีอยู่แล้วก็ขอให้ถือว่าผมวางฐานที่จะก่อขึ้นเป็นเรื่องการบริหารพัสดุโรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ต่อไป

ในสมัยหนึ่ง ในองค์กรที่เป็นหน่วยงานผลิตอยู่ด้วย มักจะเป็น Engineering Oriented หมายถึง วิศวกรมาก่อนหรือเป็นใหญ่ บางองค์กรที่เป็นบริษัทค้าขาย จะเป็น Marketing Oriented การตลาดเป็นใหญ่ แต่หลายบริษัทที่มักจะเป็น Accounting หรือฝ่ายบัญชีเป็นใหญ่ การถือคติทำงานแบบนี้จะขาดการทำงานเป็นทีม ไม่รู้เขารู้เรา ฝ่ายบัญชีไม่รู้เรื่องทางช่าง ฝ่ายช่างไม่สนใจเรื่องบัญชีเลย ในระยะหลัง ๆ คือนับตั้งแต่ 2540 เป็นต้นมา ผู้ที่จบทางช่างมักจะหาโอกาสไปเรียนต่อด้านบัญชีหรือการบริหารธุรกิจ ซึ่งจะมีวิชาการตลาด และการเงินปะปนอยู่ด้วย ทำให้วิศวกรยุคใหม่นี้รู้เรื่องการเงิน การตลาดมากขึ้น ปรากฏว่า ซิศวกรปัจจุบันได้ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นผู้นำในธุรกิจมีชื่อหลายแห่ง เช่น เอ็มเค สุกี้ ท่านประธานหอการค้าไทยคนปัจจุบันนี้ก็เป็นวิศวกร เป็นต้น

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด