เนื้อหาวันที่ : 2013-05-07 11:45:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 61051 views

รู้จักฟอร์มัลดีไฮด์ สารอันตรายใกล้ตัว

ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde: CH2O) นั้นถือว่าเป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่มีการผลิตมาก เรียกได้ว่าทำสถิติเป็น 1 ใน 25 ชนิดของสารเคมีที่มีการผลิตสูงสุดในโลกของอุตสาหกรรมเคมี

รู้จักฟอร์มัลดีไฮด์ สารอันตรายใกล้ตัว


ศิริพร วันฟั่น

          ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde: CH2O) นั้นถือว่าเป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่มีการผลิตมาก เรียกได้ว่าทำสถิติเป็น 1 ใน 25 ชนิดของสารเคมีที่มีการผลิตสูงสุดในโลกของอุตสาหกรรมเคมี ฟอร์มัลดีไฮด์มีสถานะเป็นก๊าซที่อุณหภูมิปกติ มีกลิ่นฉุนแสบจมูก ไม่มีสี และติดไฟง่ายที่อุณหภูมิห้อง รู้จักกันดีในอีกชื่อหนึ่งว่า ฟอร์มาลีน (Formalin) ซึ่งในทางเคมีก็คือสารตัวเดียวกัน เพียงแต่ว่าอยู่ในรูปของสารละลายที่ประกอบไปด้วยก๊าซฟอร์มัลดีไฮด์ ประมาณร้อยละ 37 โดยน้ำหนักในน้ำ

 และมีเมทานอลปนอยู่ด้วยประมาณ 10–15% เพื่อป้องกันการเกิดโพลีเมอร์ (โดยปกติสารละลายนี้จะไม่เสถียรเมื่อเก็บไว้นานโดยเฉพาะที่อุณหภูมิสูง จะกลายเป็นกรดฟอร์มิก ดังนั้นจึงมีการเติมสารยับยั้งหรือที่เรียกว่าสารที่ทำหน้าที่เป็นตัวสเตบิไลเซอร์ เช่น เมธานอล 5-15%) โดยน้ำยาฟอร์มาลีนนั้นจะมีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว

 ประโยชน์และการใช้งาน

- เป็นสารเหนียว หรือกาว สำหรับใช้งานในการผลิตไม้อัด แผ่นผงไม้อัด

- เป็นสารเหนียว หรือกาว สำหรับใช้งานในการผลิตไม้อัด แผ่นผงไม้อัด

- เป็นส่วนผสมของสารเคลือบผิวเฟอร์นิเจอร์และโต๊ะ ตู้ต่าง ๆ

- ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์พลาสติก (เป็นสารตั้งต้นในการนำไปทำเม็ดพลาสติกชนิดต่าง ๆ ที่เรียกว่ายูเรีย - ฟอร์มัลดีไฮด์ (Urea-formaldehyde: UF) และ ฟีนอล - ฟอร์มัลดีไฮด์ (Phenol-formaldehyde: PF)  ซึ่งจะใช้เป็นกาวสำหรับงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ หรือใช้ทำโฟมเพื่อเป็นฉนวน เป็นต้น)

- ใช้ในอุตสาหกรรมผ้าและสิ่งทอ โดยใช้เป็นน้ำยาอาบผ้าในขั้นตอนการผลิตผ้าชิ้นสำเร็จรูปเพื่อให้ผ้าคงตัวไม่ยับหรือย่น หรือใช้ทำสีย้อมผ้า ใช้ฟอกหนัง

- ในทางการแพทย์ ใช้ในความเข้มข้นต่าง ๆ กันตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไปเป็นส่วนผสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งานเป็นหลัก เช่น ใช้ฆ่าเชื้อโรคและเชื้อรา เป็นสารดับกลิ่น และเป็นน้ำยาดองศพ

- ในทางการเกษตร ใช้ฆ่าเชื้อโรคและแมลงในดิน และเมื่อใช้ที่ความเข้มข้นประมาณร้อยละ 0.004 จะช่วยป้องกันการขึ้นราในการเก็บรักษาข้าวสาลี หรือป้องกันการเน่าเสียในพวกข้าวโอ๊ตหลังการเก็บเกี่ยว และใช้เพื่อป้องกันแมลงในพวกธัญพืชหลังการเก็บเกี่ยว

- ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การผลิตยาง เรซิ่น ผลิตภัณฑ์กระดาษไฟเบอร์กลาส ฟิล์มถ่ายรูป วัตถุระเบิด สารประทินผิว สีทาบ้าน เป็นต้น

 การสัมผัสและผลกระทบต่อสุขภาพ 

     โดยมากแล้วพบว่า การสัมผัสกับฟอร์มัลดีไฮด์ จะอยู่ในรูปของการสูดดมเอาไอของฟอร์มัลดีไฮด์เข้าไปหรือสัมผัสทางผิวหนังและดวงตา ซึ่งสามารถจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว โดยจะแสดงอาการต่าง ๆ เช่น แสบตา แสบคอ แสบจมูก ระคายเคืองในปอด แน่นหน้าอก หอบคล้ายเป็นหืด ไอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน ชัก หายใจขัด อาจถึงขั้นเป็นปอดอักเสบ

หรือปอดบวมน้ำเฉียบพลัน และอาจเสียชีวิตได้หากสูดดมเข้าไปปริมาณมาก ๆ อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นหลายชั่วโมงหลังจากได้รับสารโดยไม่มีอาการเจ็บปวดเลยก็ได้ หากได้รับปริมาณน้อยเป็นเวลานานจะมีอาการไอและหายใจติดขัดเพราะหลอดลมอักเสบ โดยปกติแล้วเราสามารถได้กลิ่นฟอร์มัลดีไฮด์ที่กระจายอยู่ในอากาศแม้ในระดับความเข้มข้นเพียงแค่ 1 ppm เท่านั้น

  กรณีสัมผัสกับสารละลายฟอร์มาลีน จะทำให้ผิวหนังอักเสบ พอง เป็นตุ่มคัน หรือเป็นแผลไหม้ ถ้ากระเด็นเข้าดวงตาจะทำลายกระจกตา ทำให้แสบตา ตาพร่ามัวและอาจถึงบอดได้

 กรณีกลืนกินสารละลายฟอร์มาลีนเข้าไป จะเกิดอาการเป็นพิษโดยเฉียบพลัน ซึ่งอาการมีตั้งแต่ ปวดแสบปวดร้อนอย่างรุนแรงที่ปากและคอ ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน อุจจาระร่วง หมดสติ และเสียชีวิตได้ 

 นอกจากนี้ ยังสามารถทำให้เกิดภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง จากการที่สัมผัสบ่อย ๆ เป็นเวลานาน หรือได้รับเป็นปริมาณมาก โดยอาจทำให้เป็นโรคมะเร็งโพรงจมูก มะเร็งคอหอยส่วนจมูก มะเร็งปอด ระคายเคืองต่อผิวหนังอย่างรุนแรง รวมถึงมีผลทำให้เกิดความผิดปกติของระดูและการเจริญพันธุ์อีกด้วย

     หมายเหตุ ฟอร์มัลดีไฮด์เป็นสารกระตุ้น ที่สามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้สัมผัสตอบสนองได้ แม้จะเป็นการสัมผัสครั้งแรกก็ตาม และจากการศึกษาพบว่าผู้สัมผัสกับฟอร์มัลดีไฮด์เป็นประจำ ประมาณ 1 ใน 20 หรือ 5% จะมีการพัฒนากลายเป็นโรคภูมิแพ้ที่มีอาการคล้ายหอบหืดและภูมิแพ้ทางผิวหนังต่อมาได้

 การปฐมพยาบาล 

     (ไม่มียาแก้พิษของฟอร์มัลดีไฮด์)
     กรณีได้รับสารทางการสูดดม เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเท ตรวจสอบชีพจรหรือการเต้นของหัวใจ ถ้าจับสัญญาณชีพจรแล้วไม่พบหรือผู้ป่วยไม่หายใจให้ผายปอดนวดหัวใจ (CPR) ถ้าหายใจติดขัดให้ใช้เครื่องช่วยหายใจ แล้วรีบนำส่งแพทย์

     กรณีสัมผัสทางผิวหนัง ถอดชุดและรองเท้าที่ปนเปื้อนออก ฟอกสบู่และล้างด้วยน้ำ (ทำสัก 2 ครั้ง) บริเวณผิวหนังที่สัมผัส แต่ถ้าเกิดผิวไหม้ให้รักษาเหมือนบาดแผลไฟไหม้ ถ้าอาการรุนแรงนำส่งแพทย์

     กรณีสัมผัสทางดวงตา ล้างตาด้วยน้ำอย่างน้อย 15 นาที ช่วยผู้ป่วยโดยเอานิ้วมือแยกเปลือกตาออกจากกันระหว่างล้าง (ถ้าใส่คอนแทรกเลนส์ พิจารณาเอาออกแต่ต้องไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตาเพิ่มเติม) แล้วนำส่งแพทย์

     กรณีกลืนกิน ถ้ากลืนกินน้ำยาฟอร์มาลีนเข้าไป ห้ามกระตุ้นผู้ป่วยให้อาเจียน ถ้าผู้ป่วยมีสติให้บ้วนปากด้วยน้ำและดื่มน้ำหรือนมมาก ๆ (4- 8 ออนซ์) รีบนำส่งแพทย์

     หมายเหตุ ผู้เข้าไปช่วยเหลือ ต้องพิจารณาความปลอดภัยของตัวเองด้วย เพราะอาจได้รับสารจากการปนเปื้อนในระหว่างทำการช่วยเหลือ ดังนั้นอาจมีความจำเป็นต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล โดยพิจารณาจากชนิดและระดับความรุนแรงของการปนเปื้อน

 ตัวอย่างการผลิตที่อาจพบการปนเปื้อนฟอร์มัลดีไฮด์ในสถานที่ปฏิบัติงาน 

    โรงงานผลิตจุกนมโดยใช้สารซิลิโคน (ซิลิคอนออกไซด์: SiO2 ) เป็นวัตถุดิบ และสารออร์กานิคเปอร์ออกไซด์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ซิลิโคนแข็งตัว ซึ่งทั้งสารซิลิโคนและสารออร์กานิคเปอร์ออกไซด์ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาได้ แต่ในกระบวนการผลิตระหว่างการอบแห้งต้องใช้อุณหภูมิสูงกว่า 100 ๐C สารออร์กานิคเปอร์ออกไซด์จะสลายตัวให้ก๊าซฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งถ้าระบบการระบายอากาศหรือดูดอากาศไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็อาจทำให้มีการปนเปื้อนในสถานที่ปฏิบัติงานและเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้ในที่สุด

 แนวทางการป้องกันหรือลดการสัมผัสในสถานที่ปฏิบัติงาน

     ฟอร์มัลดีไฮด์ จัดว่าเป็นสารมลพิษที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศในอาคาร ดังนั้น ทางหน่วยงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งสหรัฐอเมริกา (OSHA) จึงได้กำหนดระดับก๊าซฟอร์มัลดีไฮด์ในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยของการสัมผัสในทุก ๆ 8 ชั่วโมงทำงานใด ๆ (PEL) ไม่เกิน 0.75 ppm ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบในสถานที่ปฏิบัติงานต้องคอยให้ความใส่ใจตรวจสอบติดตามภาวะเสี่ยงต่อการสัมผัสอยู่เป็นระยะ ๆ ทั้งในส่วนของการวัดปริมาณความเข้มข้นของก๊าซนี้ในอากาศบริเวณสภาพที่ทำงาน และการใช้มาตรการควบคุมที่เหมาะสม ตลอดจนเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการฉุกเฉินเมื่อพบปริมาณความเข้มข้นที่ระดับ 0.5 ppm    

     เนื่องจากมีการผลิตและใช้งานฟอร์มัลดีไฮด์ในหลายภาคส่วนของอุตสาหกรรม ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม จึงมีโอกาสที่จะสัมผัสกับฟอร์มัลดีไฮด์ทั้งในรูปของก๊าซและสารละลาย (น้ำยาฟอร์มาลีน) ในระหว่างการปฏิบัติงาน ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรสรรหามาตรการที่จะช่วยป้องกันหรือลดการสัมผัสให้ได้มากที่สุดเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ตัวอย่าง เช่น
ใช้สารตัวอื่นที่อันตรายน้อยกว่าแทน (ถ้าทำได้) เช่น Glutaraldehyde

ใช้มาตรการป้องกันเชิงวิศวกรรม เช่น จัดให้มีระบบระบายอากาศ (Ventilation Systems) ที่เหมาะสมเพียงพอในสถานที่ปฏิบัติงาน เป็นต้นว่า การล้อมปิด (Enclosing) ระบบดูดอากาศเฉพาะที่ (Local Exhaust Ventilation) โดยต้องใช้ผู้ชำนาญการในการออกแบบระบบ และยังต้องมีการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าระบบระบายอากาศที่ใช้อยู่นั้นมีประสิทธิภาพเพียงพอ

นอกจากนี้ควรเลือกใช้อุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณความเข้มข้นของฟอร์มัลดีไฮด์ในอากาศในที่ทำงานได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง แม่นยำ และมีการตรวจวัดอย่างสม่ำเสมอในช่วงปฏิบัติงานทุกครั้ง และอาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้อุปกรณ์ควบคุมความชื้นและอุณหภูมิเพราะก๊าซฟอร์มัลดีไฮด์จะระเหยออกมาได้มากขึ้นตามระดับความชื้นและอุณหภูมิที่สูงขึ้น

ใช้มาตรการป้องกันเชิงบริหารจัดการ โดยมีการแจ้งและฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในหัวข้อต่าง ๆ เช่น
- ความเข้าใจในเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS)

- ขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย (Safe Work Procedures)

- แผนรับเหตุฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็น การหกรั่วไหล การทำความสะอาด การกำจัด การแจ้งเหตุ

- แผนการปฐมพยาบาล โดยให้การศึกษาแก่ผู้ปฏิบัติงานให้ได้ทราบสัญญาณและลักษณะอาการของการสัมผัส โดยให้ความสำคัญกับการรายงานลักษณะอาการในระยะเริ่มต้นและวิธีปฐมพยาบาล รวมถึงการเฝ้าติดตามอาการหลังการรักษาของผู้ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง

- จัดสรรอ่างล้างตาและฝักบัวฉุกเฉินในพื้นที่งาน โดยแจ้งให้ทราบตำแหน่งและวิธีใช้งาน รวมถึงห้องอาบน้ำ

- การบริหารจัดการคลังสินค้าสารเคมี เช่น ฉลาก คำเตือน การจัดวาง สถานที่เก็บรักษา การเคลื่อนย้าย เป็นต้น สำหรับผู้ที่จำหน่ายสารละลายฟอร์มาลีน สถานที่เก็บรักษาจะต้องมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ก๊าซฟอร์มัลดีไฮด์ที่ระเหยขึ้นมาเมื่ออยู่ในที่จำกัด อาจเกิดการระเบิดขึ้นได้

- การหมุนเวียนพนักงานทำงานและช่วงระยะเวลาการพักอย่างเหมาะสม (ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ไม่ควรทำงานกับสารฟอร์มัลดีไฮด์)

- การประเมินความเสี่ยงและวิเคราะห์อันตราย เช่น การวิเคราะห์อันตรายในงาน (JHA)

    ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เมื่อมาตรการอื่น ๆ ใช้ไม่ได้ผลหรือเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน เช่น ชุดคลุม ผ้ากันเปื้อน แว่นครอบตา กระบังหน้า ถุงมือ (ควรเลือกใช้ถุงมือที่ทำจาก Nitrile, Neoprene, Butryl Rubber or Polyethylene Laminate ไม่ควรใช้ถุงมือที่ทำจาก Latex เพราะป้องกันได้ไม่ดีพอและอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้) โดยคนงานที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการขนย้ายสารเคมีประเภทนี้ ควรสวมใส่ถุงมือ แว่นตาป้องกัน และมีผ้าปิดจมูกตลอดเวลา ดังนั้นควรมีการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้ทราบถึงประโยชน์ วิธีใช้งานและการบำรุงรักษาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการใช้อุปกรณ์ในยามฉุกเฉิน เช่น เครื่องป้องกันระบบหายใจ (Respirators) เป็นต้น

     ทีนี้มาลองดูกันว่า เรา ๆ ท่าน ๆ จะมีโอกาสสัมผัสสารฟอร์มัลดีไฮด์ในชีวิตประจำวันจากที่ใดบ้าง นอกเหนือจากสถานที่ปฏิบัติงาน

 วัสดุแหล่งที่มาของการปลดปล่อยสารฟอร์มัลดีไฮด์ที่สำคัญ  

ที่เราอาจพบเจอในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น

1. ไม้อัดและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้อัด เช่น ปาร์ติเคิลบอร์ด (Particle Board) หรือวัสดุบุผนังหรือปูพื้นที่ใช้กาวเป็นตัวยึด ซึ่งเป็นกาวสังเคราะห์ที่อาจทำให้เกิดการระเหยของฟอร์มัลดีไฮด์ออกมา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้กาวยูเรีย-ฟอร์มัลดีไฮด์) นอกจากนี้ยังรวมถึงเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ ตู้ต่าง ๆ และพื้นผนังที่ทำด้วยไม้ที่ถูกเคลือบผิวด้วยสารเคมีที่มีฟอร์มัลดีไฮด์เป็นส่วนประกอบ รวมทั้งสีทาบ้าน

2. โฟมฉนวนกันความร้อนที่มีสารฟอร์มัลดีไฮด์เป็นส่วนประกอบ

3. ผ้าสำเร็จรูปหรือผ้าม่านที่อาบน้ำยาที่มีสารฟอร์มัลดีไฮด์เป็นส่วนประกอบเพื่อให้ผ้าคงตัว ไม่ยับยู่ยี่

4. สารประทินผิวต่าง ๆ ที่ใช้สารฟอร์มัลดีไฮด์เป็นส่วนประกอบ เพื่อให้มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อและป้องกันการเสื่อมสภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นตัว เป็นต้น

5. พรมปูพื้นสังเคราะห์และวอลล์เปเปอร์ รวมถึงผลิตภัณฑ์กระดาษเคลือบต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของสารฟอร์มัลดีไฮด์

6. การปนเปื้อนในอาหาร เนื่องจากพ่อค้าแม่ขายใช้ผสมในอาหารเพื่อคงความสด ไม่ให้เน่าเสียได้ง่ายและเก็บรักษาไว้ได้นาน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับอาหารที่เน่าเสียได้ง่าย เช่น ผักสดชนิดต่าง ๆ อาหารทะเลสดและเนื้อสัตว์ เป็นต้น

7. ภาชนะใส่อาหาร เช่น เมลามีน (Melamine) ซึ่งเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายเพราะมีน้ำหนักเบา มีลวดลายสวยงามและมีราคาไม่แพงมากนัก ภาชนะนี้มีส่วนประกอบของอะมิโนเรซิน (Amino Resin) ที่เป็นโพลีเมอร์ของเมลามีนกับสารฟอร์มัลดีไฮด์ จากการวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการแพร่กระจายของสารฟอร์มัลดีไฮด์พบว่า ภาชนะเมลามีนที่ใส่อาหารที่มีความร้อนเกิน 100 องศาเซลเซียสและอาหารที่เป็นกรด (หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยว) จะมีการแพร่กระจายของสารฟอร์มัลดีไฮด์ออกมาได้ ถ้าหากนำภาชนะเมลามีนไปใช้ในเตาไมโครเวฟจะทำให้ตัวภาชนะเกิดความร้อนสูง เนื่องจากวัสดุชนิดนี้จะตอบสนองคลื่นไมโครเวฟได้ดี

จากการทดลองนำภาชนะเมลามีนใส่อาหารแล้วนำเข้าเตาไมโครเวฟที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสนาน 3 นาทีขึ้นไปจะมีสารฟอร์มัลดีไฮด์แพร่กระจายออกมาทุกครั้งแม้ว่าภาชนะนี้จะใช้งานมานานถึง 20 ครั้งแล้วก็ตามและเมื่อใช้กับเตาไมโครเวฟที่อุณหภูมิสูงเกิน 100 องศาเซลเซียส พบว่า ภาชนะเมลามีน ประเภทถ้วยน้ำมีหูมีการแพร่กระจายของสารฟอร์มัลดีไฮด์ระหว่าง 8.7–26.9 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ต้องไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อลิตร จากการตรวจสอบภาชนะเมลามีนทุกยี่ห้อที่มีจำหน่ายในประเทศพบว่ามักมีการติดฉลากระบุว่าภาชนะชนิดนี้สามารถทนอุณหภูมิสูง 125 องศาเซลเซียสได้ ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะอุณหภูมินี้จะทำให้ภาชนะเมลามีนไม่บิดเบี้ยวหรือเปลี่ยนสภาพ จะคงรูปอยู่ได้ตามเดิม

 แต่อุณหภูมิ 125 องศาเซลเซียสไม่ใช่ระดับอุณหภูมิที่ปลอดภัยจากการแพร่กระจายของสารฟอร์มัลดีไฮด์ นอกจากนี้ถ้าหากใช้ภาชนะเมลามีนคุณภาพต่ำไปใส่อาหารที่มีอุณหภูมิสูงมาก ๆ หรือใส่เตาไมโครเวฟที่อุณหภูมิสูง ก็จะทำให้มีการแพร่กระจายของสารฟอร์มัลดีไฮด์ออกมาในปริมาณมาก จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายมากด้วย

8.  ปลดปล่อยออกมาจากการสันดาปสารอินทรีย์ เช่น ไอเสียรถยนต์ เตาเผา ควันบุหรี่ เป็นต้น

 แนวทางป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสฟอร์มัลดีไฮด์ในชีวิตประจำวัน

1. พยายามหลีกเลี่ยงวัสดุก่อสร้างและสิ่งตกแต่งภายในที่มีสารฟอร์มัลดีไฮด์เป็นส่วนประกอบ (ถ้าทำได้) เช่นหลีกเลี่ยงการใช้งานเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ที่ทำจากไม้อัดหรือวัสดุไม้อัด เช่น ปาร์ติเคิลบอร์ด หรือที่เคลือบผิวด้วยสารเคมีที่มีฟอร์มัลดีไฮด์เป็นส่วนประกอบ โดยอาจเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้จริงและเคลือบผิวไม้ด้วยการทาสีหรือใช้ยูรีเทนสูตรน้ำ

หรือใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น แกรนิต สแตนเลสสตีล จะปลอดภัยกว่า ถ้าจำเป็นต้องใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้อัด ก็อาจเลือกใช้ประเภทเกรดสำหรับใช้ภายนอก (Exterior–grade) เพราะจะปลดปล่อยฟอร์มัลดีไฮด์ออกมาน้อยกว่าเนื่องจากใช้กาวฟีนอล-ฟอร์มัลดีไฮด์ (Phenol-formaldehyde: PF) และเมื่อนำเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งตกแต่งเข้ามาในอาคาร ก็ควรมีการระบายอากาศให้เพียงพอและถ้าสามารถควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นได้ก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาจะลดลงตามอายุการใช้งานของเฟอร์นิเจอร์

     ซึ่งการใช้สารฟอร์มัลดีไฮด์ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และของเล่นไม้ จะมีการแบ่งมาตรฐานออกเป็น 3 ระดับคือ E2, E1 และ E0 เช่น E1 (European Standard Class1) หมายถึง มาตรฐานของไม้ปาร์ติเคิลบอร์ด และไม้เอ็มดีเอฟ ที่มีสารฟอร์มัลดีไฮด์ในระดับต่ำมาก คือ 0.005 % ตามมาตรฐาน EN120: 1994 622–1 และ JIS A5905 ซึ่งต่ำกว่าไม้ทั่ว ๆ ไปถึง 6 เท่า และเป็นมาตรฐานที่สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นกำหนดให้ใช้ ในปัจจุบันพบว่าหลาย ๆ บริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ก็มีความพยายามที่จะคิดค้นและพัฒนาสูตรกาวไร้สารฟอร์มัลดีไฮด์ หรืออีซีโร่ (E0) สำหรับใช้กับไม้อัด เพื่อเป็นจุดแข็งในการแข่งขันในตลาดโลก


     นอกจากนี้แล้ว เราควรหลีกเลี่ยงการใช้โฟมฉนวนกันความร้อนที่มีสารฟอร์มัลดีไฮด์เป็นส่วนประกอบ รวมถึงพรมปูพื้นสังเคราะห์และวอลล์เปเปอร์ และผลิตภัณฑ์กระดาษเคลือบต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของสารฟอร์มัลดีไฮด์

2. เลือกซื้อสารประทินผิวต่าง ๆ ที่ได้มาตรฐาน ไม่ใช่ของปลอม ตรวจดูรายละเอียดของส่วนผสมที่ฉลาก ถ้าสงสัยหรือไม่แน่ใจก็ไม่ควรใช้ หรือใช้แล้วมีอาการแพ้ฟอร์มัลดีไฮด์ก็ควรรีบเลิกใช้แต่เนิ่น ๆ

3. เราคงเคยเข้าไปในร้านขายผ้าม้วน และร้านขายเสื้อผ้าขายส่ง แล้วรู้สึกแสบจมูก แสบตา นั่นก็เป็นผลจากสารฟอร์มัลดีไฮด์ที่ระเหยออกมาจากผ้าที่อาบด้วยสีย้อมผ้า และสารเคมีป้องกันแมลงที่มีสารฟอร์มัลดีไฮด์เป็นส่วนประกอบนั่นเอง ทุกคนมีโอกาสแพ้สารเคมีด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าใครจะแสดงอาการแพ้มากหรือน้อย โดยผู้ที่มีโอกาสแพ้มาก คือ ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดและเป็นโรคภูมิแพ้วัสดุต่าง ๆ

   เราควรทำการซักล้างผ้าก่อนสวมใส่ ไม่ว่าจะซื้อแบบสำเร็จรูปหรือนำมาตัดกับช่างประจำ เพราะหากไม่ได้ทำการซักล้างให้สะอาดเสียก่อน สารเคมีจากผ้าม้วนที่นำมาตัดเป็นเสื้อใหม่ก็จะซึมผ่านผิวหนัง ทำให้สะสมเป็นโทษต่อร่างกายได้ หากแพ้น้อยก็ไม่เป็นไร หากแพ้มากก็จะคัน เป็นผื่น หรืออักเสบ


    โดยเฉพาะหากจะซื้อเสื้อผ้าให้เด็กทารกที่มีผิวบอบบาง หรือผู้ที่แพ้สารเคมีง่าย ควรจะเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ทอจากเส้นใยธรรมชาติจะดีกว่า เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ผ้าไหม เพราะจะมีผลรบกวนต่อผิวหนังน้อยกว่าผ้าใยสังเคราะห์ และดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีการใช้ฟอร์มัลดีไฮด์เป็นสารกันไม่ให้ผ้ายับยู่ยี่ในขั้นตอนการผลิตผ้าสำเร็จรูป ซึ่งจะทำให้ฟอร์มัลดีไฮด์ที่ไม่ได้ทำปฏิกิริยาสะสมอยู่ที่ผ้าและระเหยออกมาได้ จึงทำให้หลาย ๆ ประเทศให้ความใส่ใจและมีการกำหนดมาตรฐานสำหรับปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์ในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผ้า โดยอาจแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น

- ญี่ปุ่น กำหนดว่าในเสื้อผ้าเด็กทารกต้องตรวจวัดไม่พบ และสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไปมีได้ไม่เกิน 75 ppm

- ฟินแลนด์ สำหรับเด็กทารกจนถึง 2 ขวบ มีได้ไม่เกิน 30 mg/kg, ผ้าที่สัมผัสผิวโดยตรง มีได้ไม่เกิน 100 mg/kg

- สหภาพยุโรป สำหรับเด็กทารก มีได้ไม่เกิน 30 ppm, ที่สัมผัสผิวโดยตรง มีได้ไม่เกิน 75 ppm, อื่น ๆ น้อยมีได้ไม่เกิน 300 ppm


4. สำหรับการปนเปื้อนในอาหารนั้น เราคงเคยได้ยินว่าพ่อค้าแม่ขายบางรายได้นำน้ำยาฟอร์มาลีนมาใช้ในทางที่ผิด คือ ผสมในอาหาร โดยเข้าใจว่าจะช่วยทำให้อาหารคงความสด ไม่เน่าเสียและเก็บไว้ได้นาน ซึ่งถือว่ามีความผิดเพราะกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือฟอร์มาลีน เป็นวัตถุห้ามใช้กับอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 พ.ศ. 2536 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หากฝ่าฝืนต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ก็ยังมีแม่ค้าที่ลักลอบทำอยู่เสมอยิ่งประกอบกับเศรษฐกิจไม่ดีด้วยแล้ว ดังนั้นเรา ๆ ท่าน ๆ ก็ต้องใช้ฝีมือและประสาทสัมผัสในการตรวจสอบก่อนนำมาทำอาหาร โดยมีข้อพึงสังเกตสิ่งผิดปกติดังนี้ คือ

- ผักมีลักษณะแข็ง กรอบผิดปกติ ผักที่มีฟอร์มาลีนเคลือบอยู่มักจะมีกลิ่นฉุนตกค้าง ใบจุลื่น เก็บไว้ในตู้เย็นตั้งนานก็ไม่ยอมเหลืองซักที แต่ถึงเวลาก็เน่าหรือเสียไปเฉย ๆ

- ปลาหรือกุ้งเนื้อแข็งแต่มีบางส่วนยุ่ย บางครั้งหากเนื้อสัตว์ถูกแสงแดดหรือลมเป็นเวลานานแล้วยังสดอยู่

- ส่วนผักหรือผลไม้ ให้ดมที่ใบ หรือหักก้านดม หรือดมที่ผล ว่ามีกลิ่นแสบจมูกหรือไม่ ถ้ามีก็อย่าไปซื้อ

     วิธีป้องกัน ควรล้างผัก ผลไม้ด้วยน้ำไหลอย่างน้อย 5-10 นาที หลังจากนั้นให้แช่น้ำทิ้งไว้อีกประมาณ 1 ชั่วโมง ฟอร์มัลดีไฮด์จะถูกชะล้างออกได้เป็นอย่างดี ส่วนเนื้อสัตว์ที่จะนำมาปรุงอาหารควรล้างน้ำด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นกรรมวิธีการผ่านความร้อน ในการทำอาหารจะช่วยให้สารตัวนี้ถูกกำจัดออกไปได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจและรับประทานได้อย่างปลอดภัย

5. ภาชนะใส่อาหารประเภทเมลามีน เช่น ถ้วยกาแฟ ทัพพี ช้อน จานและชาม ไม่ควรนำมาใช้กับเตาไมโครเวฟหรือใส่อาหารที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 100 องศาเซลเซียส เช่น น้ำเดือด ของทอดร้อน ๆ จากกระทะ เพื่อที่จะได้ลดโอกาสการแพร่กระจายของสารฟอร์มัลดีไฮด์ออกมาปนเปื้อนกับอาหาร และถ้าหากจะใช้ภาชนะเมลามีนในเตาไมโครเวฟที่อุณหภูมิระหว่าง 60–99 องศาเซลเซียสก็จะต้องระมัดระวังไม่ควรใช้เวลานานที่อุณหภูมิสูง โดยทั่วไปก็ไม่ควรเกิน 2 นาทีที่ระดับกำลังไฟฟ้า 900 วัตต์

    ภาชนะเมลามีนก็มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่การใช้ภาชนะดังกล่าวที่ไม่ถูกต้องก็อาจมีอันตรายได้เช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีวิธีการใช้ที่ถูกต้อง โดยต้องเลือกซื้อภาชนะเมลามีนที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เมื่อซื้อภาชนะใหม่มาใช้ก็ควรล้างด้วยน้ำเดือดก่อนนำไปใส่อาหารเพื่อชะล้างสิ่งสกปรกและสารฟอร์มัลดีไฮด์บางส่วนออกไป รวมทั้งจะต้องไม่นำภาชนะเมลามีนไปใส่อาหารร้อน ๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว แต่ถ้าใส่อาหารที่ไม่ร้อนมากนัก (อุณหภูมิประมาณ 80–90 องศาเซลเซียส) จะไม่ทำให้สารฟอร์มัลดีไฮด์แพร่กระจายออกมาจึงมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าหากผู้บริโภคใช้เตาไมโครเวฟประกอบอาหารก็ควรจะใช้ภาชนะเซรามิก (Ceramic)

หรือภาชนะแก้วทนไฟแทนภาชนะเมลามีนเพื่อจะได้ปลอดภัยจากอันตรายของสารฟอร์มัลดีไฮด์ ดังนั้นพึงระลึกอยู่เสมอว่า การนำภาชนะเมลามีนไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง จะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากสารฟอร์มัลดีไฮด์ที่แพร่กระจายออกมาจากภาชนะเมลามีนเข้าปนเปื้อนในอาหาร สารนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง จึงอาจทำให้ผู้บริโภคที่ได้รับสารฟอร์มัลดีไฮด์มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้

 

เอกสารอ้างอิง
- Formaldehyde, Hazard Evaluation System & Information Service (Hesis), California Department of Health Services, Jan.03 
- อันตรายจากภาชนะเมลามีน, รศ.บัญญัติ สุขศรีงาม, ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด