ความปลอดภัยในการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม โดยก่อนที่จะไปว่ากันถึงเรื่องรายละเอียด ก็ขออนุญาตแนะนำให้รู้จัก หุ่นยนต์ กันสักหน่อย ว่าจริง ๆ แล้วคืออะไร มีกี่ประเภท และมีใช้งานกันที่ไหนบ้าง
ใส่ใจความปลอดภัย..เมื่อใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม
ศิริพร วันฟั่น
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีและชื่นชมย้อนหลัง ให้กับบรรดาตัวแทนนักศึกษาไทยทั้งหลาย ที่ได้ไปสร้างชื่อเสียงและประกาศศักดาให้ทั่วโลก ได้รู้ซึ้งถึงพลังมันสมองและสองมือของคนไทย โดยไปคว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก (World Robocup 2007) ณ เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 1–10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลการแข่งขันปรากฏว่า ในประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย (Rescue Robots)
ทีมชนะเลิศได้แก่ ทีม Independent ซึ่งเป็นนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) วิทยาเขตปราจีนบุรี ถือว่าชนะเลิศเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันและเป็นการป้องกันแชมป์ได้สำเร็จ ที่สำคัญเป็นการลบคำสบประมาท และตอกย้ำว่าชัยชนะที่ได้มาคราวที่แล้วนั้น ไม่ได้เป็นเพราะโชคช่วย แต่เป็นผลงานจากฝีมือและมันสมองล้วน ๆ โดยเป็นชัยชนะเหนือประเทศมหาอำนาจแห่งเทคโนโลยีทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น สหรัฐ ฯ เยอรมัน จีน ซึ่งทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทีม Pelican United จากประเทศญี่ปุ่น ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม CEO Mission II จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
และรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ ทีม Ideal จาก สจพ. เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นทีม Plasma–C จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังคว้ารองแชมป์โลกหุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็ก (Robot Soccer) จากงานเดียวกันนี้อีกด้วย และเมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย ทีม Independent ก็ได้ประกาศว่า จะนำถ้วยรางวัลทูลเกล้า ฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวาระพระชนม์พรรษาครบ 80 ปี ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขามุ่งมั่นจนได้รับชัยชนะในครั้งนี้ และในวันถัดมาก็ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งนายก ฯ ก็ได้กล่าวชื่นชมและให้นำผลงานไปต่อยอดเป็นหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด เพื่อนำไปใช้งานในการแก้ปัญหาสถานการณ์ในภาคใต้ต่อไป ได้ยินอย่างนี้แล้ว อดปลาบปลื้มแทนคณาจารย์และผู้ปกครองไม่ได้ ขอปรบมือดัง ๆ ให้กับบรรดาเยาวชนรุ่นใหม่ ผู้ใช้พลังสร้างสรรค์ได้อย่างน่าชื่นชม
ส่วนฉบับนี้ จะว่าขอเกาะกระแสกับเขาด้วยคน (กันตกยุค) ก็เห็นจะไม่ผิดนัก เพราะว่ากำลังจะพูดถึงเรื่องของ ความปลอดภัยในการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม โดยก่อนที่จะไปว่ากันถึงเรื่องรายละเอียด ก็ขออนุญาตแนะนำให้รู้จัก หุ่นยนต์ กันสักหน่อย ว่าจริง ๆ แล้วคืออะไร มีกี่ประเภท และมีใช้งานกันที่ไหนบ้าง ส่วนผู้อ่านท่านไหนที่รู้แล้ว จะข้ามไปดูเรื่องความปลอดภัยเลยก็ได้ ตามสะดวก
โดยหุ่นยนต์ในปัจจุบันนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. หุ่นยนต์บ้าน (Domestic Robots) หรือหุ่นยนต์ส่วนตัว หรือหุ่นยนต์เฉพาะกิจ เป็นหุ่นยนต์ที่พัฒนาให้ทำงานใกล้ชิดมนุษย์ อยู่ในบ้านกับมนุษย์ สามารถทำงานบ้านได้ ตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์เครื่องดูดฝุ่น หุ่นยนต์สัตว์เลี้ยง หุ่นยนต์ต้อนรับ เป็นต้น
ส่วนหุ่นยนต์เฉพาะกิจ เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้ทำงานเฉพาะอย่าง เช่น งานสำรวจสภาพของโรงงานอุตสาหกรรมเคมีที่เกิดปัญหา งานการตรวจสอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ งานการผจญเพลิง งานสำรวจอวกาศ งานเก็บกู้วัตถุระเบิด เป็นต้น
2. หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robots) เป็นหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบการทำงานของอวัยวะส่วนบนของมนุษย์ ดังที่เห็นกันอยู่ทั่วไปว่ามีลักษณะเป็นแขนหุ่นยนต์ หรือที่นิยมเรียกกันว่าแขนกล
ซึ่งหุ่นยนต์ที่ใช้งานกันจริง ๆ ในโลกปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ที่มักใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ โรงงานผลิตอุปกรณ์ เครื่องมือไฮเทค ดังเช่น คอมพิวเตอร์ ล้วนแต่อาศัยหุ่นยนต์ในการปฏิบัติงาน ทั้งการผลิตชิ้นส่วน การประกอบ การควบคุมคุณภาพ
นอกจากนั้นหุ่นยนต์ยังสามารถที่จะแบ่งตามการเคลื่อนที่ ได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. หุ่นยนต์ชนิดติดอยู่กับที่ (Fixed Robot) เป็นหุ่นยนต์ที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนได้ด้วยตัวเอง หุ่นยนต์ประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นแขนกล สามารถเคลื่อนไหวได้เฉพาะแต่ละข้อต่อภายในตัวเองเท่านั้น ส่วนมากมักถูกนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานประกอบรถยนต์ เป็นต้น
2. หุ่นยนต์ชนิดที่เคลื่อนที่ได้ (Mobile Robot) หุ่นยนต์ประเภทนี้จะสามารถเคลื่อนที่ไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง บ้างก็เคลื่อนที่โดยการใช้ล้อ หรือบางแบบก็เคลื่อนที่โดยการใช้ขา ซึ่งหุ่นยนต์ประเภทนี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นงานวิจัยที่อยู่ในห้องทดลอง เพื่อพัฒนาออกมาใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารขององค์การนาซ่า แต่ปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาให้มีลักษณะเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข เพื่อให้มาเป็นเพื่อนเล่นกับคน หรือแม้กระทั่งมีการพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถเดินสองขาได้อย่างมนุษย์ เพื่อนำไปใช้ในงานที่มีความเสี่ยงต่ออันตรายแทนมนุษย์ เป็นต้น
คำว่า หุ่นยนต์ (Robot) มีพื้นฐานมาจากภาษาเช็ก (Czech) ที่มีคำว่า โรบ็อทตา (Robota) ซึ่งมีความหมายว่าผู้ใช้แรงงาน (Forced Labor) โดยผู้ที่ตั้งชื่อนี้ คือ Joseph F.Engelberger และต่อมาได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ส่วนคำจำกัดความสำหรับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่คำจำกัดความของสถาบันหุ่นยนต์แห่งอเมริกา (The Robotics Institute of America) ในการประชุมนานาชาติของบริษัทอุตสาหกรรมที่ใช้หุ่นยนต์ 11 แห่ง
เมื่อปี ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524) ซึ่งกล่าวไว้ว่า หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial robots) คือ เครื่องจักรกลที่สามารถทำการโปรแกรมใหม่ได้หลายครั้ง สามารถทำงานได้หลาย ๆ หน้าที่ ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อให้สามารถหยิบ จับ เคลื่อนย้าย วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์พิเศษต่าง ๆ โดยการตั้งโปรแกรมเพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ให้ทำงานได้ตามต้องการ
ความเป็นมาของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศไทย
ในยุคเริ่มต้นของการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศไทย จะเห็นได้ว่ามีโรงงานต่าง ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตในเมืองไทยจำนวนมาก ทำให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมาหลายแห่ง ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ชัดเจน ค่าแรงงานถูก ลดรายจ่ายเนื่องจากภาษีนำเข้าของสินค้าและวัตถุดิบบางตัว แต่ในปัจจุบันนี้ ค่าแรงบ้านเราสูงขึ้น และสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ
ในขณะเดียวกัน ถ้าพูดกันตรง ๆ โดยไม่หลงตัวเองแล้วละก็ ต้องบอกว่าคุณภาพแรงงานของเรายังไม่ได้มาตรฐาน ขาดความรู้ และทักษะ จึงทำให้หลายบริษัทได้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงงานถูกกว่า ทำให้คนไทยตกงานกันมากขึ้น แต่หลายบริษัทที่ยังไม่ได้ย้ายฐานการผลิตก็ต้องพยายามปรับตัวเอง โดยมีการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ (Automation Technology) เข้ามาใช้งานเพื่อให้สินค้าสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ทั้งในเรื่องราคา และคุณภาพ โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพ
ปัจจุบันโรงงานที่ผลิตสินค้าส่งออกหรือส่งให้กับลูกค้าต่างชาติมักจะประสบปัญหาในเรื่องคุณภาพ เช่น ผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐานตามที่ลูกค้ากำหนด หรือ ผลิตสินค้าไม่ทันตามกำหนดเวลา ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนรุ่นผลิตภัณฑ์อยู่บ่อย ๆ จึงต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต ปัจจุบันจึงมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ หนึ่งในเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่นสูง ได้แก่ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม เนื่องจากสามารถเปลี่ยนการทำงานได้ง่าย โดยเพียงแค่เปลี่ยนโปรแกรมเท่านั้น นอกจากนี้ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็มีความสม่ำเสมอเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการนำหุ่นยนต์มาใช้แทนมนุษย์อย่างมากมายหลายหลากเหมือนในต่างประเทศ เนื่องจากค่าแรงยังถูกอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศที่มีการใช้หุ่นยนต์กันอย่างแพร่หลาย เช่น อเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น แต่เราได้นำมาใช้เฉพาะในงานที่ไม่สามารถใช้แรงงานคนได้ ได้แก่ งานที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย เช่น การยกของหนัก งานที่เกี่ยวกับสารเคมี–ความร้อน งานพ่นสี หรือในงานที่ต้องการความแม่นยำและคุณภาพมาตรฐานสูง เช่น งานเชื่อม งานประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เป็นต้น
ดังนั้น ณ ปัจจุบัน หุ่นยนต์จึงยังไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้คนไทยตกงาน แต่ก็ต้องมองถึงอนาคตเมื่อเศรษฐกิจประเทศดีขึ้น ค่าแรงก็ย่อมต้องแพงขึ้น ซึ่งหมายถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ถึงเวลานั้นบริษัทต่าง ๆ อาจนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้แทนแรงงานคนในหลาย ๆ งาน ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเตรียมการควบคุม ดูแล และกำหนดขอบข่ายการใช้งานหุ่นยนต์ให้ชัดเจนไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต
ถ้าเรามองในแง่ของตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในปี 2550 นี้ มีการคาดการณ์กันว่าจะเติบโตขึ้นกว่า 15 เปอร์เซ็นต์จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมูลค่าทางการตลาดด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในไทยอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากระบบควบคุมอัตโนมัติหรือแขนกล เริ่มเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การพ่นสี และอุตสาหกรรมอาหารที่มีขั้นตอนผลิตที่ค่อนข้างละเอียด และต้องการความแม่นยำสูง
ปัจจุบันประเทศไทยมีหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (แขนกล) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์-ฮาร์ดดิสก์ ประมาณ 3,000–4,000 ตัว ซึ่งทั้งหมดนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่มีบริษัทขนาดเล็กซึ่งมีความสามารถในการออกแบบ และบูรณาการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในประเทศ อยู่ประมาณ 20 บริษัท โดยมีความพยายามที่จะพัฒนาและริเริ่มที่จะมีการสร้างหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพื่อการพาณิชย์จำหน่ายให้กับโรงงานในประเทศ (ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ www.manager.co.th)
เหตุผลสำคัญในการใช้หุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรม: เพื่อใช้ในงานที่เสี่ยงต่ออันตราย งานที่ต้องใช้ความละเอียดและแม่นยำสูง ใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพของการผลิต ใช้เพื่อลดความสิ้นเปลืองในการใช้วัตถุดิบหรือลดของเสียในกระบวนการผลิต หรือใช้เพื่อความคล่องตัวในการผลิต เป็นต้น
อุตสาหกรรมที่ใช้หุ่นยนต์: ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้า อาหาร เคมี ปิโตรเลียม โลหะการ อุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์วัดคุม งานโลหะ เครื่องจักรสิ่งทอ เครื่องจักรอัตโนมัติ และอื่น ๆ
ลักษณะงานที่ใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม: งานประกอบ ตรวจสอบและทดสอบ เชื่อมไฟฟ้า เชื่อมจุด หล่อพลาสติก หล่อโลหะ เครื่องมือกล ขนถ่ายวัสดุ พ่นสี เคลือบ กันรั่ว ทากาว และอื่น ๆ
ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องความปลอดภัยของการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมนั้น เราลองมาทำความรู้จักกับกลไกการทำงานของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมพอสังเขป ดังนี้
ส่วนประกอบหลักของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม
รูปที่ 1–2 แสดงส่วนประกอบที่สำคัญของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม
1. หน่วยกลไก (Robot Mechanical Unit) ประกอบไปด้วยฐาน แขนกล มือ และลำตัว ซึ่งเป็นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวและจะต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา บางครั้งอาจต้องทำการยกของหนัก ดังนั้นชิ้นส่วนต่าง ๆ จึงต้องมีความแข็งแรง โดยตัวกระทำการ (Manipulator) หรือที่เรียกกันว่าแขนกล (Mechanical Arm) ที่ทำการเคลื่อนตัวกระทำการปลายสุด (End Effector) ไปยังตำแหน่งและทิศทางที่ต้องการนั้น
ต้องถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีเพื่อให้เหมาะสมกับงานแต่ละประเภท มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะยกได้ตามน้ำหนักที่กำหนด และจะต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะทำการเคลื่อนที่ด้วยระดับความแม่นยำตามที่ต้องการได้ และต้องคำนึงถึงการรับแรงกระทำจากการยกของ และแรงเหวี่ยงจากการเคลื่อนที่ โดยมากแล้ววัสดุที่นำมาทำแขนกลส่วนมากจะเป็นอะลูมิเนียมผสมกับโลหะบางชนิด เช่น ไทเทเนียม เพื่อให้แขนมีความแข็งแรงและมีน้ำหนักเบา
2. อุปกรณ์หรือเครื่องมือ (Robot Tooling) ที่ End Effector ต้องพิจารณาติดตั้งอุปกรณ์หรือเครื่องมือให้เหมาะสมกับงานที่จะทำ เช่น Gripper (สำหรับการหยิบจับและยกวัตถุ) Welding Gun (สำหรับงานเชื่อมโลหะ)
Spray Gun (สำหรับงานพ่นสี) หรือ Grinding Tool (สำหรับงานกัดเซาะชิ้นงาน)
3. ระบบควบคุม (Robot Controller) เป็นส่วนที่ใช้ในการควบคุมการเคลื่อนที่ของหน่วยกลไกให้ทำงานได้ตามที่ต้องการ ตัวควบคุมจะเป็นไมโครโปรเซสเซอร์ที่จะทำหน้าที่หลายอย่างในระหว่างที่โปรแกรมทำงาน
- ทำการคำนวณการเคลื่อนที่ที่ต้องการของแต่ละแกน เพื่อให้เกิดการเคลื่อนที่อย่างถูกต้องของแขนกล
- ทำการตรวจสอบการเคลื่อนที่ของแต่ละแกน และส่งคำสั่งควบคุมไปยังมอเตอร์เพื่อควบคุมความเร็วและแก้ไขความผิดพลาดของตำแหน่ง
- อ่านข้อมูลอินพุตจากเซนเซอร์และส่งสัญญาณเอาต์พุตเพื่อสั่งงานให้ Gripper, Tool หรือ อุปกรณ์อื่น ๆ ทำงาน
- รับคำสั่งจากคอมพิวเตอร์หรือตัวสั่งงานแบบมือถือ (Pendant) และส่งข้อมูลสถานะไปยังผู้ใช้งาน
แขนกลโดยส่วนมากจะมีเซ็นเซอร์ (Sensor) ภายใน เพื่อบอกข้อมูลตำแหน่ง หรือการเคลื่อนที่ของข้อต่อ เซนเซอร์เหล่านี้ช่วยทำให้ตัวควบคุมสามารถควบคุมตำแหน่งของแขนกลได้อย่างถูกต้อง ในระบบหุ่นยนต์บางระบบจะมีเซนเซอร์ภายนอก เพื่อบอกข้อมูลของวัตถุที่อยู่โดยรอบของหุ่นยนต์ ซึ่งถ้าไม่มีเซนเซอร์เหล่านี้หุ่นยนต์ก็จะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่และตำแหน่งใดที่จะทำการหยิบจับหรือหลีกเลี่ยงวัตถุ
4. แหล่งให้พลังงานหรือระบบขับเคลื่อน (Power Supply/Drive System) เป็นส่วนที่จ่ายพลังงานป้อนให้หน่วยกลไกหุ่นยนต์ทำงาน ถ้าหุ่นยนต์ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ส่วนนี้จะเป็นส่วนจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับมอเตอร์แต่ละตัว บางครั้งส่วนขับเคลื่อนจะอยู่ภายในส่วนควบคุมด้วย แต่ถ้าหุ่นยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฮดรอลิก (Hydraulic Power) จะต้องมีส่วนขับเคลื่อนแยกออกมาต่างหาก หุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยใช้ลม (Pneumatic Power) ก็ต้องมีแหล่งลมจ่ายเข้ามาเช่นเดียวกัน
ซึ่งเราสามารถพิจารณาเลือกใช้ระบบขับเคลื่อนให้เหมาะสมกับงานได้ เช่น งานที่ต้องการความแม่นยำเที่ยงตรงสูง หรือใช้ขนย้ายน้ำหนักบรรทุกขนาดเล็กหรือปานกลาง ควรใช้มอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งจะเป็นมอเตอร์แบบเซอร์โว (Servo Motor) ส่วนงานขนาดใหญ่หรืออุตสาหกรรมหนัก ขนย้ายน้ำหนักบรรทุกมาก ความเที่ยงตรงในการทำงานปานกลาง ก็สามารถใช้ระบบไฮดรอลิก ส่วนงานที่ไม่ต้องการความละเอียดมาก ไม่ซับซ้อน หรือขนย้ายน้ำหนักบรรทุกขนาดเล็กและขนาดปานกลาง ก็สามารถใช้ระบบนิวแมติก
แกนและองศาการหมุนอิสระ (Axis and Degrees of Freedom)
ดังที่กล่าวไว้ข้าวต้นว่า หุ่นยนต์อุตสาหกรรมนั้นเป็นการจำลองการทำงานของแขนคนเรา โดยการทำงานของแขนคนเรานั้นจะมีความเป็นอิสระในการเคลื่อนไหวมากกว่าหุ่นยนต์ แต่สำหรับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแล้วจะจำกัดกว่า โดยปกติจำเป็นต้องใช้แนวแกน (Axis) 6 แกน ในการเคลื่อนที่ไปยังจุดและทิศทางที่กำหนดหรือระบบพิกัด (Coordinate System)
และเมื่อทิศทางแปรเปลี่ยนไปจะทำให้ตำแหน่งแขนของหุ่นยนต์เปลี่ยนแปลงไปด้วย ในการเคลื่อนที่ไปตามแนวแกนต่าง ๆ นั้น จะมีตัวกระตุ้น (Actuator) ซึ่งจะเป็นเซอร์โวมอเตอร์ สเตปปิงมอเตอร์ หรือตัวขับเคลื่อนที่เป็นนิวแมติกหรือไฮดรอลิก ส่วนที่ขับเคลื่อนต่าง ๆ อาจจะยึดติดกับส่วนยึดหรือข้อต่อโดยตรง หรืออาจจะส่งผ่านเกียร์ โซ่ เคเบิล หรือเกลียวนำร่องเป็นต้น
โดยความมีอิสระในการจัดรูปแบบของการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์จะมีส่วนสัมพันธ์โครงสร้างของหุ่นยนต์ด้วยตามรูปที่ 3
รูปที่ 3 แสดงรูปแบบความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ที่สัมพันธ์กับโครงสร้างหุ่นยนต์ลักษณะต่าง ๆ
แนวคิดความปลอดภัยเมื่อต้องใช้หรือทำงานร่วมกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรม
เมื่อผู้บริหารตัดสินใจอย่างรอบคอบแล้ว ว่ามีความจำเป็นและคุ้มค่าในการนำเอาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาใช้ในโรงงาน ก่อนซื้อก็ต้องพิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสียของหุ่นยนต์แต่ละยี่ห้อ โดยพิจารณาปัจจัยทางด้านวิศวกรรม เช่น ชนิด ข้อกำหนดหรือลักษณะ (Specification) ของหุ่นยนต์ให้เหมาะสมกับงาน และควรพิจารณาถึงการบริการหลังการขายด้วย โดยอาจจะให้ตัวแทนจำหน่ายจำลองการทำงานด้วยซอฟต์แวร์กราฟิก (Graphic Simulation) เพื่อดูลักษณะการเคลื่อนที่ บริเวณขอบเขตการทำงาน อุปกรณ์เพิ่มเติมต่าง ๆ
และถ้าซอฟต์แวร์ที่ใช้มีความเที่ยงตรงสูง ก็ยังสามารถวัดไซเคิลไทม์ (Cycle Time) ได้อีกด้วย ในการติดตั้งนั้นจะต้องมีการเตรียมพื้นที่ทำงานให้เหมาะสม เช่น ความแข็งแรงของพื้นที่ ซึ่งจะต้องสามารถรับน้ำหนักและแรงเหวี่ยงของหุ่นยนต์ได้ นอกจากนั้นยังต้องเตรียมพร้อมในส่วนประกอบต่าง ๆ ดังนี้ เช่น สาธารณูปโภค อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ กระบวนการผลิตที่ต้องปรับเปลี่ยน การมอบหมายคนที่จะรับผิดชอบ ทั้งผู้ใช้งาน ผู้ควบคุมงานและผู้บำรุงรักษาหุ่นยนต์ การฝึกอบรม เป็นต้น
ถึงแม้ว่าหุ่นยนต์จะมีประโยชน์อย่างมากในการใช้งาน เนื่องจากสามารถเคลื่อนไหวได้ทั้งแบบอัตโนมัติและปรับเปลี่ยนตามเงื่อนไข แต่ก็ยังคงแฝงอันตรายไว้ในตัวด้วย หากไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอ จากการรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเท่าที่ผ่านมา จะพบว่ามักจะไม่เกิดขึ้นภายใต้สภาวะการทำงานปกติ แต่จะเกิดขึ้นในช่วงของการตั้งโปรแกรมทำงาน การแก้ไขโปรแกรม การซ่อมบำรุง การทดสอบ การขัดทำความสะอาด การแก้ไขอุปกรณ์ที่บกพร่อง การแก้ไขสิ่งติดขัด การตั้งเครื่อง หรือการปรับแต่ง ซึ่งในช่วงที่ว่านี้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นพนักงานฝ่ายผลิต โปรแกรมเมอร์ ช่างซ่อมบำรุง วิศวกร หรือผู้ปฏิบัติงานคนอื่น ๆ จะเข้าไปดำเนินการชั่วคราว
ในขอบเขตพื้นที่ทำงานหรือพื้นที่เคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ (Robot Working Envelope or Robot Movement Zone) ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดปฏิบัติการหรือการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ขึ้นได้โดยไม่คาดคิด หรือไม่ได้ตั้งใจ อันนำมาสู่การได้รับบาดเจ็บได้ เช่น ในช่วงที่คอมพิวเตอร์ที่ควบคุมหุ่นยนต์ยังคงโปรเซสโปรแกรมที่เก็บคำสั่งเริ่มสั่งการไปยังตัวกระตุ้น (Actuator) ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ขึ้น และเมื่อผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้อยู่ในขอบเขตการทำงานของหุ่นยนต์ จึงมีโอกาสที่จะถูกชิ้นส่วนของหุ่นยนต์ เช่น แขนกล หรืออุปกรณ์ที่ติดอยู่ End Effector (เช่น Gripper, Welding Gun, Spray Gun, Grinding Tool) ทำอันตรายต่อพนักงานได้
รูปที่ 4 หุ่นยนต์อุตสาหกรรมเป็นส่วนหนึ่งของสถานีทำงาน (Workstation) โดยทำงานอย่างเป็นระบบร่วมกับเครื่องจักรตัวอื่น ๆ และแสดงให้เห็นถึงพื้นที่เคลื่อนไหวของหุ่นยนต์และพื้นที่เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากหุ่นยนต์
รูปที่ 5 บริเวณขอบเขตการทำงาน (Envelope) ของแขนกลจนถึง End Effector ที่แสดงถึงระยะมากสุด ระยะจำกัด และระยะปฏิบัติการ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของตัวหุ่นยนต์ชนิดนั้น ๆ
เพื่อให้ง่ายต่อการระบุถึงพื้นที่ที่อาจเกิดการบาดเจ็บ ดังนั้นพื้นที่งานทั้งระบบของสถานีทำงาน จึงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ พื้นที่เคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ (Robot Movement Zone) และ พื้นที่เข้าถึง (Approach Zone) (ดูตามรูปที่ 4 ประกอบ) ซึ่งพื้นที่เคลื่อนไหวของหุ่นยนต์นั้น ถ้าดูทุกมิติก็คือขอบเขตการทำงาน (Working Envelope) ของแขนกลจนถึง End Effector ที่แสดงถึงระยะมากสุด ระยะจำกัด และระยะปฏิบัติการ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของตัวหุ่นยนต์ชนิดนั้น ๆ (ดูตามรูปที่ 5 ประกอบ) โดยอุปกรณ์หรือเครื่องมือ (Tooling) ที่ติดอยู่ปลายแขนกลถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงให้สูงขึ้น
เมื่อพนักงานไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่เคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ ซึ่งได้รับพลังงานจากแหล่งจ่าย ก็มีโอกาสที่จะโดนแขนกล หรืออุปกรณ์ซึ่งติดอยู่ที่ End Effector กระแทก ชน เหวี่ยง ทิ่มแทง เฉือน ฟาด หรือเบียดให้ติดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ (เช่นเครื่องจักรที่ทำงานอยู่ใกล้หุ่นยนต์) หรือแม้กระทั่งชิ้นงานที่ติดอยู่กับมือจับของแขนกลก็อาจหล่นหรือเหวี่ยงใส่ได้ และในบางครั้งการที่พนักงานเข้าไปแก้ไขข้อบกพร่องหรือซ่อมแซมระบบส่งผ่านชิ้นงาน (Transfer System) หรือเครื่องจักรที่อยู่ใกล้กับหุ่นยนต์ในสถานีทำงานนั้น ๆ อาจทำให้พนักงานถูกดันเข้าไปสู่พื้นที่เคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ได้โดยไม่รู้ตัว
ส่วนพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือพื้นที่เคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ก็คือพื้นที่เข้าถึง ซึ่งขอบเขตของพื้นที่นี้จะจำกัดอยู่ภายใต้ส่วนที่มีการปกป้องอันตรายจากหุ่นยนต์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีโอกาสที่จะได้รับอันตรายได้อยู่ดี เช่น อันตรายจากวัตถุที่กระเด็นออกมา รังสี ไฟฟ้า หรืออันตรายจากกลไกอุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งการที่จะเดินทางจากพื้นที่เข้าถึงสู่พื้นที่เคลื่อนไหวของหุ่นยนต์นั้นจะถูกจำกัดโดยขนาดของทางเปิดผ่านเข้า ที่ซึ่งพนักงานหรือวัสดุชิ้นงานจะอาศัยผ่านเพื่อเข้าสู่ขอบเขตพื้นที่ทำงานของหุ่นยนต์ (Robot Working Envelope)
ปัจจัยหรือแหล่งที่มาของอันตราย
1. ความผิดพลาดของผู้ดำเนินการ (Human Errors) เกิดจากความไม่เข้าใจในกระบวนการทำงานหรือพลั้งเผลอ ที่พบกันอยู่บ่อย ๆ ได้แก่ ความผิดพลาดจากกรรมวิธีการใช้อุปกรณ์สอนหุ่นยนต์ (Teach Pendant) หรือแผงควบคุมการทำงาน (Control Panel) เป็นต้น นอกจากนั้นก็เกิดจากความประมาท
2. ความผิดพลาดในการควบคุม (Control Errors) ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบควบคุมของหุ่นยนต์ ซอร์ฟแวร์ หรือความผิดพลาดในการควบคุมการรบกวนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ ซึ่งความผิดพลาดเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดในส่วนของ Subcontrols ของระบบไฟฟ้า ไฮดลอลิก หรือ นิวแมติกที่เชื่อมโยงกับหุ่นยนต์
3. การเข้าพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต (Unauthorized Access) การเข้าสู่พื้นที่ป้องกันอันตรายของหุ่นยนต์ (Robot‘s Safeguarded Area) ถือว่าเสี่ยงอันตรายอย่างมาก โดยเฉพาะพนักงานที่ไม่ทราบหรือไม่คุ้นเคยกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้อยู่
4. ระบบกลไกบกพร่อง (Mechanical Failures) โปรแกรมปฏิบัติการผิดพลาด จึงส่งผลให้ระบบกลไกทำงานไม่ตรงตามที่ต้องการ และอาจเกิดการทำงานในลักษณะที่ไม่คาดคิดได้
5. จากสภาวะแวดล้อม (Environmental Sources) การรบกวนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุควรที่จะถูกพิจารณา เพราะอาจมีผลกระทบกับการปฏิบัติการของหุ่นยนต์ และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บของผู้ปฏิบัติงานในบริเวณพื้นที่เหล่านั้น ดังนั้นจึงควรพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมและจดบันทึกเป็นเอกสารก่อนเริ่มต้นทำการอย่างอื่น
6. จากระบบกำลัง (Power Systems) แหล่งจ่ายพลังงานไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ไฮดรอลิก หรือ นิวแมติก เกิดข้อผิดพลาดในการควบคุมหรือการกรองกระแสในระบบกำลังของเครื่องยนต์ ทำให้เกิดการรบกวนสัญญาณไฟฟ้าที่ส่งผลต่อการควบคุมและ/หรือ เส้นทางจ่ายกำลัง นอกจากนั้นความเสี่ยงจากไฟไหม้จากประจุไฟฟ้า (กระแสไฟฟ้า) มากเกินไป หรือการใช้น้ำมันไฮดรอลิกที่ไวไฟ หรือการกระตุกของกระแสไฟฟ้าและปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อพนักงานได้เช่นกัน
7. การติดตั้งไม่เหมาะสม (Improper Installation) ทั้งการออกแบบ รูปแบบ ข้อกำหนด ตำแหน่งที่ตั้ง การใช้ประโยชน์ สาธารณูปโภคและอุปกรณ์เพิ่มเติม รวมถึงอุปกรณ์/เครื่องจักรที่ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ ถ้าติดตั้งไม่ถูกต้องและปลอดภัยเพียงพอ ก็อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้การออกแบบสถานีทำงานและขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่ถูกต้อง เหมาะสมก็นำมาสู่อันตรายได้เช่นกัน
แนวทางการเลือกใช้อุปกรณ์ควบคุมและอุปกรณ์ป้องกันอันตราย
1. การวิเคราะห์ความปลอดภัย (Safety Analysis) ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตราย (Safeguarding Devices) ชนิดใด สถานที่ใดที่จะติดตั้งอุปกรณ์ หรือเลือกใช้ในขั้นตอนใดของระบบงาน ควรที่จะมีการวิเคราะห์ความปลอดภัย หรือประเมินความเสี่ยงโดยวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ คือ การวิเคราะห์อันตรายในงาน (Job Hazard Analysis: JHA) บางครั้งก็เรียกว่า การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย (Job Safety Analysis: JSA) โดยมี 3 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ
1. จำแนกระบบงานหรือขั้นตอนการทำงานเรียงตามลำดับ
2. ระบุอันตรายที่มีหรือคาดว่าจะเกิดในแต่ละขั้นตอนการทำงานหรือระบบ
3. ประเมินและเลือกใช้อุปกรณ์ควบคุมและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เหมาะสม
2. อุปกรณ์ป้องกันอันตราย (Safeguarding Devices) พนักงานควรได้รับการป้องกันอันตรายจากการเข้าสู่ขอบเขตการทำงานของหุ่นยนต์ โดยอาจเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างพร้อมกัน ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากขั้นตอนการวิเคราะห์ความปลอดภัยแล้ว เพื่อให้เหมาะสมและป้องกันอันตรายได้เพียงพอ รวมถึงความน่าเชื่อถือด้วย ซึ่งอุปกรณ์ป้องกันอันตรายนั้นมีให้เลือกหลายแบบ เช่น
- Presence Sensing Safeguarding Devices เป็นเซนเซอร์ที่ใช้ตรวจจับพนักงานที่ก้าวเข้าสู่พื้นที่อันตราย ใกล้กับหุ่นยนต์ โดยมีหลายแบบ เช่น Pressure Mats และ Light Curtains เป็นต้น
- Interlocked Barrier Guards เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กั้นแนวล้อมรอบขอบเขตการทำงานของหุ่นยนต์ ร่วมกับประตูพร้อมอินเตอร์ล็อก โดยเมื่อประตูเปิดจะทำให้ระบบอัตโนมัติของหุ่นยนต์รวมถึงเครื่องจักรที่ทำงานร่วมกันหยุดการทำงาน และจะเริ่มการทำงานอีกครั้งก็ต่อเมื่อประตูถูกปิดลงและสวิตช์ควบคุมที่ติดตั้งภายนอกแนวกั้นถูกสั่งการ อุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้ถูกออกแบบมาเพื่อกั้นพนักงานไม่ให้ก้าวผ่าน ปีนข้าม ลอดผ่าน หรืออยู่ใกล้ ๆ ตราบใดที่ประตูถูกปิด
- Fixed Barrier Guards เป็นรั้วแนวกั้นที่มีลักษณะการป้องกันคล้ายกับ Interlocked Barrier Guards แต่ เป็นการติดตั้งค่อนข้างถาวรการเคลื่อนย้ายจำเป็นต้องใช้เครื่องมือรื้อถอน โดยอุปกรณ์ชนิดนี้จะเหลือพื้นที่เพียงพอสำหรับพนักงานที่จะปฏิบัติการ ในระยะระหว่างแนวป้องกันและพื้นที่เคลื่อนไหวของหุ่นยนต์
- Awareness Barrier Devices เช่น โซ่หรือเชือกใช้กั้นพร้อมเสาสัญญาณหรือไฟกระพริบ ป้ายสัญญาณ เพื่อบ่งบอกถึงขอบเขตต้องห้ามและป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง ก้าวเข้าไปในขอบเขตการทำงานของหุ่นยนต์ แต่ก็สามารถถูกปีนข้าม คลานลอดข้างใต้ หรือเดินรอบ ๆ ได้ ดังนั้นประสิทธิภาพการป้องกันจะน้อยกว่า Interlocked Barrier Guards และ Fixed Barrier Guards ซึ่งจะใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อ Interlocked Barrier และ Fixed Barrier Guards ไม่สามารถใช้ได้ในพื้นที่งาน หรือวิเคราะห์ความปลอดภัยแล้วพบว่ามีอันตรายน้อย
- Emergency Robot Braking การเคลื่อนไหวที่เป็นอันตรายของหุ่นยนต์จะถูกบังคับให้หยุดโดยการผ่อนให้ช้าลงโดย Dynamic Braking Systems จะต่างกับการ Cut-off Power โดย Cut-off Power อาจจะก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้ เช่น การทิ้งแขนกลลงทันทีทันใด หรือเหวี่ยงชิ้นงาน แต่ Dynamic Baking Systems จะขัดขวางผลกระทบฉับพลันของแรงเฉื่อย
- Audible and Visible Warning Systems เป็นระบบการเตือนในรูปสัญญาณเสียงและไฟกระพริบ แต่ระบบนี้ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็น Safeguarding แต่อาจใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของวิธีอื่น ๆ ข้างต้น จุดประสงค์หลักของ Audible and Visible Signals ก็คือเพื่อให้จดจำและสังเกตเห็นได้ง่าย ๆ
3. อุปกรณ์ควบคุม (Control devices) ตัวอย่างเช่น
- Emergency Stops อุปกรณ์หยุดฉุกเฉินเป็นอุปกรณ์ควบคุมด้วยมือ เช่น Palm Buttons, Pull Cords, Trip Wires ควรที่จะง่ายต่อการเข้าถึงและควรถูกติดตั้งในทุก ๆ พื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ และอยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจนและระบุว่าเป็นอุปกรณ์หยุดฉุกเฉิน และควรอยู่บนอุปกรณ์สอนตำแหน่งหุ่นยนต์ (Teach Pendant) ด้วย
- Full System Shutdown Switch เป็นสวิตช์ที่ใช้ในการตัดพลังงานออกจากระบบ จะประกอบไปด้วยวาล์ว (Vales) ที่จะตัดระบบไฮดรอลิกและนิวแมติก ควรที่จะต้องมีการป้องกันการสัมผัสสวิตช์นี้โดยไม่ได้ตั้งใจ โดยอาจใช้ Key Lock Switch หรือ Padlock ก็ได้
- Safe Intervention Partial Shutdown Devices เป็นอุปกรณ์ที่หยุดและจำกัดพลังงานบางส่วนที่จะส่งไปยังหุ่นยนต์ เครื่องมือและเครื่องจักรกลที่ทำงานร่วม ด้วยพลังงานต่ำ เพื่อที่จะสามารถเข้าไปเคลื่อนย้ายหุ่นยนต์เพื่อทำความสะอาด แก้ไขสิ่งที่ติดขัดและการเปลี่ยนแปลงโปรแกรมใหม่ โดยมาตรฐานแล้วจะทำให้ความเร็วลดลงเหลืออยู่ที่ 10 in/sec (250 mm/sec) ซึ่งเมื่อใช้อุปกรณ์นี้จะเปลี่ยนระบบอัติโนมัติเป็นแบบบังคับด้วยมือ (Manual) และสามารถใช้ Teach Pendant ได้ในพื้นที่งาน
การติดตั้ง การบำรุงรักษา และการโปรแกรม- หุ่นยนต์ควรถูกติดตั้งในที่ที่เหมาะสมของระบบงานหรือสถานีทำงาน (Workstation) พื้นที่ฐานตั้งหุ่นยนต์ต้องมั่นคงเพื่อป้องกันการสั่นและพลิกคว่ำ
- แหล่งจ่ายพลังงานต้องถูกต้องตามมาตรฐานที่ผู้ผลิตระบุไว้
- ควรที่จะมีการทำสัญลักษณ์ที่พื้นหรือผนังให้เห็นอย่างชัดเจน (ถ้าทำได้) เพื่อแสดงถึงขอบเขตเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์
- ควรทำการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) ตามกำหนดการที่ผู้ผลิตได้แนะนำไว้ และควรมีการนำ Lockout/Tagout เข้ามาใช้
- ควรมีการตรวจสอบอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนที่สำคัญและการเชื่อมต่ออย่างสม่ำเสมอ
- โปรแกรมเมอร์ที่เข้าไปในขอบเขตการทำงานของหุ่นยนต์ ต้องสามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้เต็มรูปแบบเมื่ออยู่ในโหมดสอนหุ่นยนต์ (Teach mode)
- โดยการเคลื่อนไหวทั้งหมดของหุ่นยนต์ที่เริ่มจาก Teach Pendant ที่ใช้โดยโปรแกรมเมอร์ที่อยู่ในขอบเขตการทำงานของหุ่นยนต์ ควรเริ่มจากความเร็วต่ำที่ 10 in/sec (250 mm/sec) ตามมาตรฐานของ ANSI
การฝึกอบรม (Training) กระบวนการเรียนรู้เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้งาน และผู้บริหารก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้ของพนักงานที่จะใช้หรือควบคุมงานและบำรุงรักษาหุ่นยนต์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีแนวทางกว้าง ๆ ดังนี้
- อธิบายเหตุผล ความจำเป็นในการที่ต้องนำหุ่นยนต์มาใช้ในโรงงาน
- มีการจัดตั้งนโยบายความปลอดภัยและให้มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ
- อธิบายขั้นตอนปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย อุปกรณ์ป้องกันอันตราย อุปกรณ์ควบคุมที่จำเป็น
- ระบุองค์ประกอบและขอบเขตของงานที่จะทำ
- ระบุตัวบุคคลที่จะทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น โปรแกรมเมอร์ ช่างซ่อมบำรุง ผู้ใช้งาน
- ฝึกความชำนาญเฉพาะด้านสำหรับพนักงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติการในส่วนที่สำคัญ
- ให้การสนับสนุน และพยายามหลีกเลี่ยงการสร้างแรงกดดันในระหว่างกระบวนการเรียนรู้
- วางแผนให้มีการฝึกฝนซ้ำ ๆ และต่อเนื่องเพื่อเพิ่มทักษะและความชำนาญ
เอกสารอ้างอิง
- Industrial Robots And Robot System Safety; U.S. Department of Labor, Occupational Safety & Health Administration (OSHA)
- Safe Maintenance Guidelines for Robotic Workstations; U.S. Department of Health And Human Service
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด