เนื้อหาวันที่ : 2013-05-07 11:09:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7096 views

ข้อกำหนดมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2005 (ตอนที่12)

การควบคุมสภาวะแวดล้อมข้อกำหนดนี้ ระบุถึงสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ในการควบคุมสภาวะแวดล้อม ระหว่างดำเนินการสอบเทียบ ซึ่งพิจารณารวมไปถึงที่ตั้งของห้องปฏิบัติการด้วย เพราะมีหลายกรณีที่การควบคุมสภาวะแวดล้อมนี้ เกี่ยวกับที่ตั้ง หากเลือกที่ตั้งไม่เหมาะสม ก็ไม่สามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมได้ สภาวะแวดล้อมนี้ หมายถึงปัจจัยสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะส่งผลให้ความถูกต้องของการทดสอบ/สอบเทียบผิดไป เงื่อนไขสภาวะแวดล้อมนั้น ๆ ต้องทำการเฝ้าติดตาม และควบคุม เพื่อให้อยู่ในระดับที่กำหนดตลอดเวลาระหว่างการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ นอกจากนั้นต้องควบคุมการเข้าพื้นที่ที่ดำเนินการทดสอบ/สอบเทียบ ซึ่งกำหนดให้เหมาะสมแล้วแต่ความจำเป็น

ข้อกำหนดมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2005 (ตอนที่12)

บุรินทร์ ไตรชินธนโชติ
ที่ปรึกษาระบบคุณภาพและสอบเทียบ,
burinkub@yahoo.com

 

5.3 สถานที่ตั้งและสภาวะแวดล้อม

บทสรุปของข้อกำหนด 5.3
การควบคุมสภาวะแวดล้อมข้อกำหนดนี้ ระบุถึงสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ในการควบคุมสภาวะแวดล้อม ระหว่างดำเนินการสอบเทียบ ซึ่งพิจารณารวมไปถึงที่ตั้งของห้องปฏิบัติการด้วย เพราะมีหลายกรณีที่การควบคุมสภาวะแวดล้อมนี้ เกี่ยวกับที่ตั้ง หากเลือกที่ตั้งไม่เหมาะสม ก็ไม่สามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมได้

สภาวะแวดล้อมนี้ หมายถึงปัจจัยสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะส่งผลให้ความถูกต้องของการทดสอบ/สอบเทียบผิดไป เงื่อนไขสภาวะแวดล้อมนั้น ๆ ต้องทำการเฝ้าติดตาม และควบคุม เพื่อให้อยู่ในระดับที่กำหนดตลอดเวลาระหว่างการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ นอกจากนั้นต้องควบคุมการเข้าพื้นที่ที่ดำเนินการทดสอบ/สอบเทียบ ซึ่งกำหนดให้เหมาะสมแล้วแต่ความจำเป็น

ข้อกำหนดยังกล่าวถึงกรณีที่ต้องไป สุ่มตัวอย่าง ทำการทดสอบ/สอบเทียบที่สถานที่ของลูกค้าด้วย ว่าต้องระมัดระวังเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมที่จำเป็น ๆ เป็นพิเศษ อันนี้แปลว่าต้องใส่ใจ ระมัดระวังมากขึ้นสองเท่า
หากห้องปฏิบัติการมีการทดสอบ/สอบเทียบ หลายชนิด และแต่ละชนิด ซึ่งจำเป็นต้องควบคุมสภาวะแวดล้อมต่างกัน ก็จำเป็นต้องแยกพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดการปะปนกัน และต้องทำการวัดด้วย ว่ามีการปนเปื้อนข้ามกันหรือไม่ กรณีที่เป็นการทดสอบ นี่คืออีกข้อกำหนดที่ระบุ

เนื้อหาข้อกำหนด 5.3
การกำหนดสภาวะแวดล้อมในการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ
5.3.1 สิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) ต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการ เช่น
1. สถานที่สำหรับดำเนินการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ
2. การถ่ายเทอากาศ
3. การรองรับ และกำจัดขยะ หรือซากจากการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ
4. การจัดวางพื้นที่การปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดความไหลลื่น หรือไม่ไห้เกิดความผิดพลาดในผลการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ

สำหรับการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ รวมถึงแหล่งพลังงานไฟฟ้า ที่มีสัญญาณรบกวนต่ำ แสงสว่าง ที่เพียงพอให้ผู้ดำเนินการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบดำเนินการได้โดยไม่เกิดความผิดพลาดในการทดสอบ อ่านค่าผล และภาวะแวดล้อม ที่เป็นไปตามเงื่อนไขในวิธีการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ เช่น
1. อุณหภูมิ
2. ความชื้น
3. การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโดยทันทีทันใด
4. ความกดอากาศ
5. ความสั่นสะเทือน
6. ความปราศจากเชื้อ

ต้อง อยู่ในสภาพที่เอื้ออำนวยให้เกิดการทำการทดสอบและ/หรือ สอบเทียบได้อย่างถูกต้อง ตามวิธีการสอบเทียบ หรือทดสอบที่กำหนด (อ่านต่อข้อกำหนดที่ 5.4 ต่อไป)
ห้องปฏิบัติการ ต้อง มั่นใจว่าภาวะแวดล้อมจะไม่ทำให้ผลใช้ไม่ได้ เพราะว่ามีความไม่แน่นอนสูง หรือมีความผิดพลาดรวมอยู่กับผลนั้น ๆ มาก หรือ เกิดความเสียหายต่อคุณภาพที่ต้องการของการวัดใด ๆ ทั้งนี้ ภาวะแวดล้อมรายการที่ต้องควบคุมอ้างอิงจาก

1. วิธีทดสอบ และ/หรือสอบเทียบที่อ้างอิง
2. เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ และ/หรือเครื่องมือมาตรฐานที่ใช้สอบเทียบ ในภาวะที่ทำงานได้ และให้ผลการวิเคราะห์ที่ถูกต้องที่สุดที่เครื่องมือทำได้

การชักตัวอย่าง (Sampling) กรณีที่ห้องปฏิบัติการ มีการชักตัวอย่างด้วย ดู บทที่ 5.7 การชักตัวอย่าง และการทดสอบ และ/หรือการสอบเทียบ ที่ทำ ณ สถานที่อื่น เช่น สถานที่ของลูกค้า หรือที่จัดไว้ชั่วคราว นอกห้องปฏิบัติการถาวร ต้อง ดูแลเป็นพิเศษ หรือไม่ประมาท ต่อเหตุการณ์ที่จะทำให้สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไปจากเงื่อนไข ที่จำเป็นต้องควบคุม อันจะส่งผลต่อความถูกต้องในการชักตัวอย่าง ทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ

ข้อกำหนดทางด้านวิชาการ สำหรับสถานที่และภาวะแวดล้อม หรือหมายถึง เงื่อนไขของสถานที่ตั้งของห้องปฏิบัติการ และเงื่อนไขการควบคุมภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ภายในพื้นที่ดำเนินการสอบเทียบ หรือทดสอบ รวมถึงการเตรียมต่าง ๆ ที่สามารถส่งผลต่อการทดสอบและสอบเทียบ ที่ห้องปฏิบัติการประเมินว่าจำเป็น ต้อง มีการจัดทำไว้เป็นเอกสาร เพื่อไว้อ้างอิง ในการควบคุมนั่นเอง


การควบคุม เฝ้าติดตามสภาวะแวดล้อม

5.3.2 ห้องปฏิบัติการ ต้อง มีการเฝ้าระวัง หมายถึงการติดตามดูอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วย
- เครื่องวัดภาวะแวดล้อมในรายการที่จำเป็น
- การสังเกตของพนักงาน

ควบคุม ให้ภาวะแวดล้อมอยู่ในระดับที่กำหนด และบันทึกผลภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่เฝ้าติดตามตามที่กำหนดไว้ในเกณฑ์ที่กำหนด ไว้ดังข้อ 5.3.1 เตรียมวิธีการ และขั้นตอนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง กับการเฝ้าติดตาม ควบคุม หรือในกรณีที่ภาวะแวดล้อมต่างๆ นั้นมีอิทธิพลต่อคุณภาพผล การทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ

ต้อง ให้ความสนใจ เช่น การฆ่าเชื้อทางชีววิทยา ฝุ่น การรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รังสี ความชื้น แหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า อุณหภูมิ และระดับเสียงและการสั่นสะเทือน ตามความเหมาะสมต่อกิจกรรมทางด้านวิชาการ ที่เกี่ยวข้อง กับการสอบเทียบ หรือทดสอบของห้องปฏิบัติการ

ต้อง หยุดการทดสอบ และสอบเทียบ ถ้าภาวะแวดล้อม ออกนอกเงื่อนไขที่ต้องควบคุม และทำให้ผลทดสอบและ/หรือสอบเทียบเสียหาย

การแบ่งพื้นที่เพื่อป้องกันการปนเปื้อน
5.3.3 หากมีกิจกรรมที่เข้ากันไม่ได้ เช่นการสอบเทียบ หรือทดสอบแต่ละด้าน ต้องการภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน ต้อง มีการแบ่งแยกพื้นที่ข้างเคียงออกจากกันอย่างมีประสิทธิผล เพื่อไม่ให้การสอบเทียบ หรือทดสอบให้ผลออกมาผิดพลาด ต้อง มีมาตรการ ในการป้องกันการปนเปื้อนหรือรบกวนซึ่งกันและกัน (Cross Contamination) โดยกำหนดเป็นขั้นตอนการปฏิบัติได้จะดีมาก


5.3.4 ต้อง มีการควบคุมการเข้าออก พื้นที่การสอบเทียบ หรือทดสอบ และพื้นที่เตรียมต่าง ๆ และการใช้พื้นที่ อาทิ การแบ่งพื้นที่ต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการ การห้ามใช้บางพื้นที่ ที่ไกล้เคียงกับการสอบเทียบ หรือทดสอบ ในการดำเนินกิจกรรมบางอย่าง ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพของผลการทดสอบ และ/ หรือ สอบเทียบห้องปฏิบัติการ ต้อง พิจารณาขอบเขตการควบคุม ให้เหมาะสม ตามภาวะแวดล้อมเฉพาะของการทดสอบและ/หรือสอบเทียบนั้น ๆ โดยไม่ควรเพิ่มขั้นตอนการทำงานให้ยุ่งยาก หรือมีต้นทุนสูงมากเกินความจำเป็น เพราะว่าการปฏิบัติการสอบเทียบ หรือทดสอบ มีความซับซ้อน และยุ่งยากมาพออยู่แล้ว


5.3.5 ต้อง มีมาตรการเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ในการดูแลรักษาความสะอาด ในพื้นที่ต่าง ๆ ของห้องปฏิบัติการ เป็นไปอย่างดีในห้องปฏิบัติการในกรณีที่จำเป็น จะ ต้อง มีการจัดทำขั้นตอนการดำเนินการเป็นพิเศษ สำหรับจัดการ กับสถานการณ์ ที่ไม่ปกติภายในห้องปฏิบัติการ ไว้ด้วย เช่น
- ไฟฟ้าดับ
- ไฟไหม้
- เครื่องมือทดสอบ เครื่องมือวัด ทำงานขัดข้อง

5.4 วิธีการทดสอบ และสอบเทียบ และการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธี
บทสรุปของข้อกำหนด 5.4
วิธีในการทดสอบ/สอบเทียบ และออกแบบวิธีสำหรับในข้อกำหนดที่ 5.4 นี้ จะเกี่ยวข้องกับการเลือกใช้วิธีการสอบเทียบ/ทดสอบรวมถึงการสุ่มตัวอย่าง สำหรับห้องปฏิบัติการทดสอบด้วยกรณีที่การบริการทดสอบของห้องปฏิบัติการนั้น ต้องรวมเรื่องการสุ่มด้วย ที่อยู่ในขอบเขตการขอการรับรอง เช่นห้องปฏิบัติการทดสอบน้ำทิ้ง  การทดสอบเพื่อรับรองสินค้า เช่น ข้าวที่รอส่งออก น้ำตาลทราย เป็นต้น โดยวิธีการสอบเทียบ/ทดสอบ ที่เลือกต้องมีความเหมาะสม

คำว่าเหมาะสมนี้ อาจมีคำถามว่าพิจารณาอย่างไรแหมอันนี้ตอบยากครับ ว่าจะมองในมุมของใคร เพราะว่าลูกค้า องค์กรที่ให้การรับรอง หรือเราเอง ต่างก็มีนิยามของคำว่าว่าเหมาะสมกันคนละอย่าง 

เอาเป็นว่ายึดลูกค้าเป็นหลักก็แล้วกันว่าลูกค้าต้องการอะไร แค่ไหน เราสามารถตอบสนองตามความต้องการได้ก็ถือว่าเหมาะสม ก็เราทำธุรกิจนี่ครับ ไม่มองความต้องการลูกค้า แล้วจะไปค้าขายกับใคร หรือถ้าสามารถโน้มน้าวให้ลูกค้าเห็นพ้องกับวิธีที่เราเห็นว่าเหมาะสม ก็ถือว่าเหมาะสมเช่นเดียวกัน


เรื่องวิธีการสอบเทียบ/ทดสอบนี้ ในข้อกำหนด ไม่ได้ต้องการให้ห้องปฏิบัติการ ต้องใช้วิธีการสอบเทียบที่เป็นมาตรฐานเพียงอย่างเดียวแต่สามารถดัดแปลง หรือคิดขึ้นเองใหม่ก็ย่อมได้ ทั้งนี้ต้องเป็นวิธีที่เหมาะสม และพิสูจน์แล้วว่าได้ผลตามความคาดหมาย หรือให้ผลที่มีความถูกต้อง แน่นอนกว่า และในความเป็นจริง มีมาตรฐานทางด้านวิธีการสอบเทียบ/ทดสอบไม่มากนัก

คำว่า วิธีการที่เป็นมาตรฐาน หมายถึง วิธีการสอบเทียบ/ทดสอบ ที่กำหนดโดยองค์กรหน่วยงานของประเทศที่ได้รับการยอมรับ โดยมากเป็นองค์กรที่อยู่ในประเทศที่เจริญแล้ว (เขาว่างั้น) และมีความรู้มานานกว่า ได้กำหนดวิธีการออกมา และตีพิมพ์เผยแพร่ หากว่าองค์ที่เผยแพร่วิธีการสอบเทียบ/ทดสอบ เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางโดยทั่วไป หรือกำหนดโดยองค์กรที่เป็นตัวแทนประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็จะเรียกวิธีการนั้นว่าวิธีการมาตรฐานนานาชาติ เช่นมาตรฐาน ISO, IEC เป็นต้น

ถ้าวิธีการนั้นรู้จัก และเป็นที่ยอมรับกันในเฉพาะกลุ่มประเทศหรือทวีปนั้น ๆ ก็จะเรียกว่ามาตรฐานภูมิภาคครับ


ในข้อนี้โดยส่วนตัวยังไม่มี หรือรู้ว่าเขาแบ่งเกรดกันอย่างไรนะครับ เช่น มาตรฐาน JIS, DIN, ASTM, ANSI เพียงแต่ได้ยินเขาเรียกกันมา บ้างก็เป็นมาตรฐานภูมิภาค บ้างก็เป็นมาตรฐานนานาชาติ เพราะเป็นประเทศที่ทั่วโลกรู้จัก แล้วแต่ความเห็นครับ

ถึงแม้ว่าวิธีที่เลือกใช้ จะเป็นวิธีการที่ตีพิมพ์ในตำรา วารสารที่เกี่ยวข้องกับการสอบเทียบ/ทดสอบ ก็สามารถอ้างอิงนำมาใช้ได้เช่นกัน เพราะว่าวิธีการเหล่านี้ ต้องผ่านการกลั่นกรองมาแล้วว่าใช้ได้ ถึงสามารถนำมาตีพิมพ์ได้

ดูเหมือนว่าแทบจะเป็นเรื่องปกติที่การให้บริการสอบเทียบ/ทดสอบ จะใช้วิธีการที่ไม่เป็นมาตรฐาน เนื่องจากว่าวิธีการมาตรฐานที่ตีพิมพ์เผยแพร่นั้น ค่อนข้างมีน้อย และในทางทฤษฎีแล้วการสอบเทียบ/ทดสอบต่าง ๆ สามารถประยุกต์ และมักขึ้นกับเครื่องมืออุปกรณ์ของห้องปฏิบัติการนั้น ๆ มี 


ดังนั้นก่อนจะใช้วิธีที่ดัดแปลง หรือคิดขึ้นเอง ก็ต้องทำการพิสูจน์ก่อน ซึ่งข้อกำหนดที่ 5.4.3 ได้ระบุว่า ต้องวางแผนการพัฒนา และดำเนินการโดยผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่เพียงพอ และแจ้งความคืบหน้าให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในห้องปฏิบัติการทราบข้อกำหนดที่ 5.4.4 ระบุสิ่งที่ต้องปฏิบัติ เมื่อห้องปฏิบัติการใช้วิธีการที่ไม่เป็นมาตรฐาน ว่าต้องกำหนดวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมาย และพิสูจน์วิธีตามข้อกำหนดที่ 5.4.5 ว่ามีความเหมาะสมกับเป้าหมายจริง

ในการพัฒนา และพิสูจน์วิธีที่คิดขึ้นใหม่ หรือดัดแปลงจากวิธีมาตรฐาน ต้องจัดทำบันทึกต่าง ๆ ไว้ด้วย เช่น บันทึกแนวคิด สูตรคำนวณ รายละเอียดวิธีการ และผลหลังจากการทดลองว่าเป็นเช่นไร และเก็บบันทึกเอาไว้อ้างอิงในภายหลัง ตามข้อกำหนด 5.4.7


กรณี ถ้าท่านอ้างอิงวิธีการสอบเทียบมาตรฐานที่มีตีพิมพ์ออกมา ข้อกำหนด 5.4.2 ระบุว่า เอกสารวิธีการสอบเทียบ/ทดสอบต่าง ๆ ที่อ้างอิงนั้น ต้องเป็นฉบับทันสมัย หมายความว่า ถ้ากรณีที่อ้างอิงจากมาตรฐานต่าง ๆ ก็ต้องเป็นฉบับแก้ไขล่าสุด ยกเว้นแต่ในขอบเขตการขอการรับรองห้องปฏิบัติการ ได้ระบุว่าท่านต้องการอ้างอิงตามมาตรฐานฉบับใด และปีใด ก็ใช้ฉบับนั้นต่อไปครับ และในกรณีที่มีความจำเป็น ที่ต้องมีการทดสอบที่ไม่สอดคล้องตามวิธีที่อ้างอิง และตกลงกับลูกค้าไว้แล้วต้องบันทึกเป็นเอกสาร และแจ้งให้ลูกค้าทราบ และให้ลูกค้ายินยอม กรณีถ้าไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจง หรือลูกค้าตกลงว่า ให้ถือวิธีการตามที่ห้องปฏิบัติการเลือกเอง ก็แล้วไปครับ

นอกจากนั้นข้อกำหนดที่ 5.4.1 ยังระบุถึงการเลือกวิธีการเคลื่อนย้าย จัดเก็บรักษา ขนส่ง จัดเตรียมตัวอย่าง เพื่อดำเนินการทดสอบ สำหรับห้องปฏิบัติการทดสอบ และการหาค่าความไม่แน่นอนในการวัด สำหรับห้องปฏิบัติการสอบเทียบด้วย ที่ต้องหาวิธีที่เหมาะสม เช่นกัน

ในข้อกำหนด5.4.1 ยังกำหนดให้คิดขั้นตอน วิธีการควบคุมเครื่องมือที่ใช้ในการสอบเทียบ ทดสอบวิเคราะห์ด้วย และแน่นอน ต้องจัดทำเป็นเอกสาร เพื่อให้ใช้อ้างอิงในการทำงาน แน่นอนว่า ถ้าหากสามารถอ้างอิงตามคู่มือของเครื่องมือนั้น ๆ ที่ติดมากับเครื่องเมื่อซื้อมาได้ ก็ไม่ต้องเสียเวลาทำเอกสารนั้นเอง แต่ให้แน่ใจว่าท่านเอง และเจ้าหน้าที่ของท่านอ่านออกด้วยนะ โดยมากคู่มือมักเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน
สำหรับเรื่องการประเมินความไม่แน่นอนในการวัดนั้น


ข้อกำหนด 5.4.6 ได้กำหนดให้ต้องมีการประเมินความไม่แน่นอนในการวัด เรื่องความไม่แน่นอนในการวัดนี้ มีการประมาณกันมานานพอสมควรแล้วครับ ประมาณ 12-15 ปี เห็นจะได้ เป็นเรื่องที่ว่าด้วยการประมาณความแปรปรวนที่มีโอกาสเกิดขึ้น ในผลการสอบเทียบเครื่องมือที่สอบเทียบ ในปัจจุบัน เรื่องการประเมินความไม่แน่นอนได้นำมาประยุกต์ในผลการทดสอบด้วย เช่นกัน และองค์กรมาตรฐานนานาชาติ ได้กำหนดแนวทางในการประเมินความไม่แน่นอนในการวัดแล้ว คือ ISO 5725-1~6

ตามข้อกำหนดระบุว่าห้องปฏิบัติ ต้องทำการประเมินความไม่แน่นอน 2 ประการ คือ
1. ประเมินความไม่แน่นอนในการวัดของเครื่องมือมาตรฐานตัวเอง
2. ประเมินความไม่แน่นอนในการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบในผลที่ให้บริการลูกค้า

 การประเมินความไม่แน่นอนในการสอบเทียบเครื่องมือตัวเองสำหรับทั้งห้องปฏิบัติการสอบเทียบ/ทดสอบ ที่ทำการสอบเทียบเครื่องมือมาตรฐาน/ เครื่องมือทดสอบหรือวิเคราะห์ด้วยตนเอง กรณีนี้ ถ้าหากว่าห้องปฏิบัติการ ไม่ได้สอบเทียบเครื่องมือมาตรฐาน/ เครื่องมือทดสอบหรือวิเคราะห์ด้วยตนเอง ก็ไม่ต้องทำการประเมินเองครับ เพราะห้องปฏิบัติการ ที่เราส่งเครื่องมือไปสอบเทียบ เขาต้องประเมินให้ และระบุในใบรับรองผลการสอบเทียบ ที่ติดมากับมาตรฐานที่ส่งคืนมา เราสามารถนำเอาค่าความไม่แน่นอนนั้น ไปใช้ต่อได้เลย เมื่อห้องปฏิบัติการดำเนินการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบก็ต้องประมาณค่าความไม่แน่นอนของผลการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบที่ออกให้กับลูกค้าด้วย

ซึ่งเรื่องการประเมินความไม่แน่นอนในการทดสอบนั้น ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ครับ และปัจจุบันยังไม่มีวิธีการประเมินความไม่แน่นอน อันเนื่องมาจากบุคคลทำการทดสอบ และในบางกรณีวิธีการทดสอบอาจไม่มีความไม่แน่นอนจากวิธีการ แต่มีจากเครื่องมือทดสอบ หรือวิเคราะห์เท่านั้น การประมาณความไม่แน่นอนก็ยังคงต้องพยายามหาดู (ข้อกำหนด อีกแล้ว) ครับ แล้วแต่ความรู้ความสามารถของห้องปฏิบัติการแต่ละแห่ง


ข้อกำหนดย่อยข้อสุดท้าย คือข้อกำหนดที่ 5.4.7 ระบุถึงการควบคุมข้อมูลผลการคำนวณ เช่น ข้อมูลการพิสูจน์วิธีการสอบเทียบ/ทดสอบ ที่กล่าวไปข้างต้น ข้อมูลเรื่องการประเมินความไม่แน่นอน ให้ต้องมีการตรวจสอบอย่างเหมาะสม เช่นโดย หัวหน้างาน หรือผู้จัดการห้องปฏิบัติการ

กรณีที่ห้องปฏิบัติการ ใช้คอมพิวเตอร์ในการคำนวณ ต้องบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์ให้ใช้งานได้ และดูแลเรื่องการจัดเก็บข้อมูล ที่อยู่ในสื่อเก็บข้อมูล รวมถึงโปรแกรมที่ใช้ในการคำนวณผลด้วย ต้องทำการพิสูจน์ว่าให้ผลที่ถูกต้อง ซึ่งการพิสูจน์โปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ข้อกำหนดระบุให้ทำกับโปรแกรมที่ห้องปฏิบัติการเขียนเอง กรณีที่ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ถือว่าพิสูจน์มาเพียงพอแล้ว แต่อาจต้องไปพิสูจน์สมการต่าง ๆ ที่ป้อนเข้าไป ว่าเป็นไปตามรูปแบบที่โปรแกรมนั้น ๆ กำหนดหรือไม่ ไม่เช่นนั้น ค่าที่คำนวณ จะผิดได้

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด