พัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวไปพร้อมกับวิวัฒนาการของโลก ทำให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการบริหารเป็นสิ่งที่จำเป็น ศาสตราจารย์ คิโยชิ อุเอโนะ
การรีไซเคิลและเทคโนโลยีการรีไซเคิลในอนาคต
สุรัส ตั้งไพฑูรย์
surus@thaieei.com
สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
พัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวไปพร้อมกับวิวัฒนาการของโลก ทำให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการบริหารเป็นสิ่งที่จำเป็น ศาสตราจารย์ คิโยชิ อุเอโนะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีคานาซาวา ได้ให้แนวคิดว่า สิ่งที่จำเป็นแท้จริงคือ ความสามารถในการวิเคราะห์แบบก้าวกระโดด คือการเรียนรู้จาก “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” ของประเทศที่พัฒนาแล้วเพื่อก้าวข้ามประสบการณ์เหล่านั้น โดยไม่ต้องไล่ตามประเทศที่พัฒนาแล้วไปเสียทุกอย่าง
ตัวอย่างของการพัฒนาแบบก้าวกระโดด (Jump) คือ อัตราการแพร่ขยายของโทรศัพท์เคลื่อนที่ในทวีปแอฟริกา ตัวอย่างเช่น ในเผ่ามาไซ เป็นเผ่าที่มีโทรศัพท์มือถือและกล้องถ่ายรูปใช้ในทุกครัวเรือน แม้ว่าสาธารณูปโภคในหมู่บ้านยังไม่มี ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้าและน้ำประปา แต่บริษัทโนเกีย ได้พัฒนาระบบ Solar Cell ภายในหมู่บ้านเพื่อรองรับและตอบสนองความต้องการการใช้โทรศัพท์ดังกล่าว ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ก็ได้เรียนรู้การจัดการโรคมินามาตะที่เกิดจากสารปรอทจากประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นในปัจจุบันจึงไม่ควรมองข้ามการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของประเทศจีน อินเดีย และแอฟริกา
หลังจาก HARL (Home Appliance Recycling Law) ของญี่ปุ่น ได้ประกาศใช้ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ 4 ประเภทประกอบด้วย โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศได้ถูกเก็บรวบรวมมากขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าในปีแรก ๆ รวบรวมได้เพียง 2.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ผ่านไป 9 ปี ประเทศญี่ปุ่นเก็บรวมรวมได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 5.1 กิโลกรัมต่อคนต่อปี การที่จำนวนหน่วยของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำการรีไซเคิลเพิ่มสูงมากขึ้น อัตราการแปรกลับมาเป็นสินค้าใหม่ก็เพิ่มมากขึ้นตาม ขณะที่การลักลอบทิ้งโดยผิดกฏหมายมีปริมาณที่ลดลง
ดัชนีที่สำคัญของการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์คือ อัตราการเก็บรวบรวม (Collecting Rate) = WEEE ที่เก็บรวบรวมได้/WEEE ในปัจจุบันสหภาพยุโรป (EU) สามารถเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ร้อยละ 28 จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ 90 ชนิด ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น สามารถเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ร้อยละ 51 จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ 4 ชนิด ยกเว้นอุปกรณ์ IT ส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ในบ้าน การส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์จาก EU ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปยังประเทศกำลังพัฒนาเช่น แอฟริกา เพื่อทำการ Reuse ส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์จากญี่ปุ่นจะถูกส่งออกไปยังแอฟริกาและเอเชีย
อย่างไรก็ตาม การเก็บรวบรวมจะขึ้นอยู่กับ สภาพความต้องการสินค้า กรอบกฏหมายและบทลงโทษ แนวทางที่จะทำให้มีโอกาสรวบรวมขยะได้มากที่สุดคือ ระบบมัดจำ (Deposit) แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยากมาก สรุปได้ว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของการรีไซเคิลของญี่ปุ่น การรีไซเคิลสินค้าจึงไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งที่ยากคือ การเก็บรวบรวมขยะ
โทรศัพท์เคลื่อนที่ คือเหมืองแร่ในเมืองจริงหรือ ?
ตารางที่ 1 โทรศัพท์เคลื่อนที่ คือเหมืองแร่ในเมือง
ที่มา: Kiyoshi Ueno, 2011
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ค่าเฉลี่ยของเหมืองทองทั่วโลกประมาณ 5 กรัม/ตัน ขณะที่ Hishikari Mine ซึ่งเป็นเหมืองทองของประเทศญี่ปุ่นที่มีความเข้มข้นมากที่สุดในโลกประมาณ 50 กรัม/ตัน โดยที่ปริมาณทองคำในโทรศัพท์เคลื่อนที่ประมาณ 280 กรัมต่อตัน ทองแดง 137.1 กิโลกรัมต่อตัน Pd (พลาเดียม) 140 กรัมต่อตัน กล่าวได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเหมืองแร่ในเมืองที่มีปริมาณสูงมากกว่าเหมืองทองปกติหลายเท่าตัว
ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของประเทศญี่ปุ่น การรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องที่ยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือ การเก็บรวบรวม แต่ในหลายประเทศไม่ให้ความสนใจในการเก็บรวบรวมเพราะมองว่าไม่คุ้มค่าในการดำเนินการ มีคำถามที่น่าสนใจว่า ถ้าคุณเก็บรวบรวมได้ 1% แต่รีไซเคิลได้ 100% กับการเก็บรวบรวมได้ 100% แต่รีไซเคิลได้ 1% แนวทางไหนจะเหมาะสมกว่ากันคำตอบคือ แนวทางที่ 2 เก็บรวบรวมได้ 100% แต่รีไซเคิลได้ 1% จะมีผลมากกว่า เพราะเทคโนโลยีการรีไซเคิลสามารถพัฒนาได้ แต่การรวบรวมซึ่งมีปัจจัยอื่น ๆ โดยเฉพาะคน จึงเป็นเรื่องที่ยากกว่า
ขณะที่สารมีค่าอื่น ๆ ในเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กจะมีอัตราส่วนที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นปริมาณทองคำ เงิน ทองแดง สังกะสี ตะกั่ว โดยมีความแตกต่างในชนิดของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ เกมคอมพิวเตอร์ กล้องวีดีโอ เครื่องเล่น DVD ไดร์เป่าผม เตาไฟฟ้า เครื่องดูดฝุ่น เป็นต้น กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นได้ศึกษาข้อมูลไว้ดังนี้
ตารางที่ 2 Precious Metals in Small Size Electric Appliances
ที่มา: กระทรวงสิ่งแวดล้อม 2010
จากข้อมูลพบว่าในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปริมาณทองแดงจะมีการใช้มากที่สุด มีอยู่ในทุกชนิดผลิตภัณฑ์ รองลงมาคือ สังกะสี ตะกั่ว เงิน และทองคำ ตามลำดับ
ปัจจุบันโรงงานรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนทั้งสิ้น 49 โรงงาน (เมษายน 2010) แบ่งเป็น โรงงานกลุ่ม A จำนวน 31 โรงงาน โรงงานกลุ่ม B จำนวน 16 โรงงาน โรงงานกลุ่ม A B และอื่น ๆ จำนวน 2 โรงงาน เหตุผลหลักในการแยกกลุ่มของโรงงานรีไซเคิลที่ประเทศญี่ปุ่น คือ ประเด็นด้านเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกัน และประเด็นทางความโปร่งใสในการทำงาน ไม่มีปัญหาเรื่องการผูกขาดของการดำเนินธุรกิจ
โรงงานรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศญี่ปุ่นหลายโรงงานมีการพัฒนากระบวนการในการทำงานโดยเน้นการทำงานและสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เต็มรูปแบบ มีการออกแบบโรงงานที่ประหยัดพลังงานโดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การออกแบบโรงงานลักษณะเป็นชุมชนสิ่งแวดล้อมโดยเปิดให้ประชาชนในชุมชนเข้ามาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น การตกปลา การเดินป่า เป็นต้น วัตถุประสงค์เพื่อลดการต่อต้านของประชาชนโดยแสดงถึงความไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ
เทคโนโลยีการคัดแยกเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นการนำเอาเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่แล้วมาจัดระบบใหม่ โดยมีวิธีการหลัก ๆ อยู่ 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. การคัดแยกโดยแรงแม่เหล็ก ใช้หลักการ แรงแม่เหล็ก ในการคัดแยก
2. การคัดแยกโดยกระแสไฟฟ้า ใช้หลักการ กระแสไฟฟ้า ในการคัดแยก
3. การคัดแยกโดยความต่างของน้ำหนัก ใช้หลักการความต่างของน้ำหนัก ในการคัดแยก โดยการใช้ลมเป่าเสริมในกระบวนการ
4. การคัดแยกโดยไฟฟ้าสถิต ใช้หลักการ ปริมาณไฟฟ้าสถิต ในการคัดแยก โดย T.A. Edison: US Patent No. 274586 (1882)
5. การคัดแยกโดยสี ใช้หลักการ ความต่างของสี ในการคัดแยก
ในส่วนการรีไซเคิลเหล็กกล้าของประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต โดยการจัดการกับ Tramp Element ซึ่งเป็นสารปลอมปนในโลหะอื่น เช่น นิเกิล ทองแดง และดีบุก โดยใช้เตาคัดแยกพลังงานไฟฟ้าซึ่งเหล็กที่รีไซเคิลออกมาจะมีประสิทธิภาพโลหะในทางเครื่องจักรที่ต่ำลง และจะถูกนำไปใช้แบบดาวน์เกรด เท่านั้น ในปัจจุบันเหล็กที่ถลุงในประเทศญี่ปุ่นจะใช้เชื้อเพลิง 70% และไฟฟ้า 30% เครื่องใช้ไฟฟ้าและตัวถังรถยนต์จะใช้เหล็กความเหนียวสูง ไม้กรอบเหล็ก H-Beam
ในการทำคานและเสาจะใช้การหลอมด้วยไฟฟ้า ขณะที่เหล็กเหนียวที่ได้มาจะใช้เฉพาะด้านนอกอาคารเท่านั้น ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะใช้การหลอม เผาทำลายกลางแจ้ง และจะทำการเก็บรวบรวมเฉพาะโลหะเป้าหมายเท่านั้น โดยทิ้งเศษซากสู่ ดิน แหล่งน้ำ และอากาศ
อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนายังคงมีปัญหาในภาพของการคุ้ยเขี่ยกองขยะ เช่น ที่ลานเก็บขยะตลาดนานาชาติอาราบาลากอส ประเทศไนจีเรีย ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์โยมิอุริ วันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ.2008 ปรากฏภาพชายชาวอินเดียที่อยู่ชานเมืองนิวเดลี กำลังเทตะกั่วที่หลอมแผงวงจรในกระทะที่ใช้สำหรับทำอาหารในบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายและวิกฤติมาก
การรีไซเคิลพลาสติกในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากโดยมีรูปแบบการจัดการ 3 วิธีการคือ
1. Thermal Recycling รีไซเคิลโดยการเผาและนำความร้อนกลับมาใช้ได้ 70%
2. Chemical Recycling (Feedstock Recycling) รีไซเคิลโดยกรรมวิธีทางเคมีที่ทำปฏิกริยา Plastics ให้กลายเป็นน้ำมัน ปุ๋ย (Manure) ขณะที่น้ำยาทำความเย็น Refrigerant (R221) ทำปฏิกิริยาออกมาเป็น Fluoric Resin
3. Material Recycling (Mechanical Recycling) การรีไซเคิลวัสดุโดยแยกเป็น Down-grade Recycling (Cascade Recycling) เป็นลักษณะรีไซเคิลออกมาเป็นสินค้าที่มีคุณสมบัติที่ต่ำลงมา เช่น ถัง กะละมัง รองเท้า เป็นต้น Horizontal Recycling เป็นลักษณะรีไซเคิลออกมาเป็นสินค้าใหม่ (Origin)
ในปัจจุบันเทคโนโลยีที่ท้าทายสำหรับการรีไซเคิลพลาสติกคือ ร้อยละ 70 ของพลาสติกจะถูกรีไซเคิลแบบ Horizontal Recycle System ซึ่งมีความบริสุทธิ์ถึง 99% เพื่อการนำชิ้นส่วนกลับไปสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแบบครบวงจร โดยทำการบดเพื่อคัดแยกโลหะ อะลูมิเนียม ทองแดง ออกไป และนำเอาพลาสติกผสมที่ถูกบดมาแยกด้วยความถ่วงจำเพาะ (Specific Gravity Separation) เพื่อแยก PP (Poly-Propylene) ออกมาจาก PS (Poly-Styrene) และ ABS (Acrylonitrile-Butadiene-Styrene) จะถูกแยกโดยกระบวนการ Electrostatic Separation โดยประจุ– จะแยก PS และประจุ + จะแยก ABS
โดยในส่วนสุดท้ายจะใช้การแยกด้วย X-ray Analysis Separation เพื่อทำ Compound และนำไปทำชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น ABS Pallet, PS Pallet, PP Pallet ทำ Bottom Cover ของเครื่องซักผ้า Drain Case ของตู้เย็น เป็นต้น ขณะที่ค่าเผาพลาสติกในเตาเผาซีเมนต์ ปัจจุบันราคาตันละ 50,000 เยนในเขตเมืองใหญ่และ 30,000 เยนต่อตันในเขตฮอกไกโด ดังแสดงในภาพ
ประเด็นที่เป็นสาเหตุของพลาสติครีไซเคิลที่ทำให้ เปื้อนสี สีลอก สีตก แตกร้าว มาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
1. แสง แสงอาทิตย์ UV
2. ความร้อน ความแตกต่างของอุณหภูมิ ฝน หิมะ
3. น้ำ ความชื้นสูงและต่ำ น้ำค้าง
4. จุลินทรีย์ เชื้อรา และเชื้อโรค
5. ความเครียดเครื่องจักร ความเครียดภายนอก รอยบิดเบี้ยวภายใน
6. ผลจากกระแสไฟฟ้า แทรกกิ้ง อาร์ก สปาร์ก
7. สารเคมี สารเคลือบสี สารซักฟอก
8. สารก่อมลภาวะทางอากาศ NOx ฝุ่น
โดยปกติแล้ว พลาสติกควรรีไซเคิลได้มากกว่าร้อยละ 25 โดยการ Cleaning Removing Reforming Improvement Adjustment Additive และ Antioxidant
สถานการณ์การรีไซเคิล
ปัญหาและการทำนายการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต
เทคโนโลยี -มีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เร็วขึ้น ประหยัดพลังงาน ต้นทุนต่ำ
-มีความร่วมมือกันในอุตสาหกรรมเคมี และวัสดุพลาสติก
ระบบสังคม -ตอบสนองต่อการออกแบบ Design for Assembly
-ทำอย่างไรในการสนองตอบโรงงานในต่างประเทศ ซึ่งต้องคำนึงถึงสนธิสัญญาบาเซล
-ปรับปรุงอัตราการรวบรวมขยะ
อื่น ๆ -มาตรฐานโลก
-ขยายผลในวัสดุอื่น ๆ (โลหะ)
-ขยายผลในสินค้าอุปโภค
-ต่อต้านกระบวนการรีไซเคิลด้วยการเผา
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อม
1. เพื่อความมั่นใจต่อสังคม ต้องเพิ่มการตรวจสอบเส้นทางการรีไซเคิ้ลโดยต้องมีเทคโนโลยีควบคุมจัดการสารเคมีเพื่อความปลอดภัยของสินค้าที่ออกแบบและใช้วัตถุดิบรีไซเคิล และมีเทคโนโลยีการควบคุมคุณภาพ
2. ปัจจุบันประเทศจีนเป็นวงจรรีไซเคิลระดับนานาชาติ และได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงระบบหรือสภาพเศรษฐกิจของประเทศตรงข้าม
3. ต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลและคาดคะเนการใช้ทรัพยากร การรวบรวม คัดแยกและดัดแปลง
การรีไซเคิลแร่จำพวกที่ไม่ใช่โลหะ
1. ญี่ปุ่น
- มีเทคโนโลยีรีไซเคิลในระดับสูงในการจัดการกับขยะแต่ละประเภท
- ยอมรับต้นทุนการรีไซเคิลที่สูงมากในระดับหนึ่ง
- มีระบบเทคโนโลยีการควบคุมจัดการ Traceability โดยใช้ Electric Manifest
2. อเมริกา
- เน้นการกำจัดแบบฝังกลบ
3. ยุโรป
- สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ในสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร โดยนโยบายการเมือง ระบบกฎหมาย และเทคโนโลยีจะถูกพัฒนามาบนพื้นฐานนี้
- สร้างเทคโนโลยีโดยตั้งบนรากฐานกฎการป้องกันโดยระบบควบคุมการจัดการสารอันตราย
- เทคโนโลยีอุตสาหกรรมภายใต้ฐานกระบวนทัศน์ใหม่อยู่ในระดับสูง
4. จีน
- อยู่ระหว่างการพัฒนา
5. เกาหลี
- ใกล้เคียงญี่ปุ่น เทคโนโลยีอุตสาหกรรมต่าง ๆ พัฒนาอย่างรวดเร็ว
- มีระบบเทคโนโลยีการควบคุมจัดการ Traceability โดยใช้ Electric Manifest
การรีไซเคิลแร่จำพวกที่เป็นแร่โลหะ
1. ญี่ปุ่น
- ระบบรีไซเคิลโลหะพื้นฐานอยู่ในระบบการผลิตเรียบร้อยแล้ว
- มีเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยมในการเก็บรวบรวมโลหะต่าง ๆ จากขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยกระบวนการรีไฟน์ดั่งเดิม
- โลหะราคาแพงจำพวกแพลตินัมจะถูกนำไปรีไซเคิลทั้งหมด
2. อเมริกา
- มีปริมาณการใช้กระป๋องอะลูมิเนียมสูง แต่อัตราการรีไซเคิลต่ำ
- มีการรีไซเคิลโลหะหายากระหว่างกระบวนการผลิตในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก
- โลหะหายากเป็นวัตถุดิบสำคัญทางการทหาร จึงมีระบบเก็บสะสมเพื่อป้องกันประเทศที่เพียบพร้อม
- มีความก้าวหน้าด้านการรีไซเคิลแพลตินัม จากสารกระตุ้นฟอกไอเสียในรถยนต์ใช้แล้ว
3. ยุโรป
- ระบบระเบียบทางสังคมก้าวนำหน้าก่อน สามารถปรับใช้เทคโนโลยีได้ง่าย
- ตุรกีเป็นประเทศที่นำเข้ารายใหญ่
- มีการเตรียมพร้อมทางกฏหมาย และระบบการเก็บรวบรวมโลหะมีค่า แต่พบปัญหาการไหลของโลหะไปสู่จีนและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย
- เทคโนโลยีอุตสาหกรรมด้านการรีไซเคิลโลหะอื่นที่ไม่ใช่เหล็กมีมาตรฐานในระดับสูง
4. จีน
- ค่าแรงงานต่ำ ซากเศษเหล็กไหลสู่จีนจำนวนมาก
- ความต้องการภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น
- มีการรีไซเคิลพื้นฐานเพื่อนำมาตอบสนองความต้องการภายในประเทศ
- อยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยี การรีไซเคิล Rare Material
5. เกาหลี
- มีผู้ผลิตเตาไฟฟ้าที่ใช้เศษโลหะเป็นเชื้อเพลิงจำนวนมาก
- มีการรีไซเคิลโลหะมีค่าจากขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และสารกระตุ้นก๊าซไอเสียรถยนต์
การรีไซเคิลแร่จำพวกพลาสติก
1. ญี่ปุ่น
- ระบบรีไซเคิลพลาสติกค่อนข้างก้าวหน้า ระบบสังคมส่งเสริมการรีไซเคิลก้าวหน้า มีการแยกขยะ จัดเก็บ รวบรวมและแปรกลับได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี
- ราคาวัตถุดิบ Virgin มีราคาสูงขึ้น
- การส่งออกเทคโนโลยีรีไซเคิลของญี่ปุ่นยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร แต่คงมีอนาคต
2. อเมริกา
- มีความสามารถทางการแข่งขันในระดับโลกที่สูงมาก ทั้งเครื่องแยกอัตโนมัติ และระบบ PET Super Clean Recycle Process
- ผลิตกรดโพลีแลคติกจากพลาสติกไบโอแมสเชิงธุรกิจเป็นอันดับหนึ่งของโลก คาดว่าจะป้อนสู่ตลาดโลกในอนาคต
3. ยุโรป
- มีความสามารถทางการแข่งขันด้านระบบพื้นฐาน เช่นการคัดแยกเพื่อรีไซเคิลวัตถุดิบสูง เป็นผู้นำในตลาดโลก
- มีความสนใจเกี่ยวกับสารเคมีปรุงแต่ง เช่น สารทนไฟแต่ค่อนข้างพัฒนายาก
4. จีน
- รับพลาสติกใช้แล้วจากญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป
- รับเทคโนโลยีการรีไซเคิลจากทาง อเมริกา และยุโรป
- มีความต้องการการจัดหาเทคโนโลยีสูง
5. เกาหลี
- จากจำนวนผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ในตลากโลก มีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตทางเทคโนโลยีสูง
การรีไซเคิล การกำจัดขยะ
1. ญี่ปุ่น
- ในแถบยุโรปการกำจัดขยะสดโดยการเผา การละลายเป็นก๊าซเป็นที่จับตามอง เทคโนโลยี
- โครงสร้างฝังกลบของญี่ปุ่นเริ่มถูกนำไปใช้ในแถบเอเชีย
2. อเมริกา
- กำลังพัฒนา Bio-reactor ที่เป็นพื้นที่ฝังกลบขนาดใหญ่
- กำลังดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ในการรวบรวมก๊าซมีเทนเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน
3. ยุโรป
- กำลังสร้างระบบการแปรสารออร์กานิกกลับมาเป็นทรัพยากร
- มีการสร้างประโยชน์ทางสังคมในหลายด้าน เช่น การปรับปรุงพื้นที่ฝังกลบ การใช้กรดมีเทน หรือการสร้างระบบกฏหมายที่เสถียร
- นักวิจัยมีการทำการค้นคว้าวิจัยในด้านต่าง ๆ
4. จีน
- จีนยังประสบปัญหามลภาวะทางน้ำ อากาศ และการปนเปื้อนของสารพิษอยู่
- การกำจัดขยะภายใต้การควบคุมของรัฐ ในเชิงธุรกิจยังไม่เติบโต
5. เกาหลี
- ประเทศเป็นผู้กำหนดนโยบายและชี้นำสังคม
- รัฐส่งเสริมการแปรขยะออร์แกนิกเป็นทรัพยากร
- มีการใช้ประโยชน์จาก Biomass
จุดเริ่มต้นความร่วมมือของอุตสาหกรรมกำจัดขยะของประเทศญี่ปุ่น
เครือข่ายของประเทศญี่ปุ่น เอโคสตาฟเจแปน เป็นเครือข่ายที่มีความแข็งแกร่งมาก โดยมีจำนวนฐาน 153 ฐานพื้นที่ทั่วประเทศ โยมียอดขายรวม 81,900 ล้ายเยน มีจำนวนพนักงาน 3,235 คนและรถบริษัท 1,758 คัน เกณฑ์การพิจารณาเข้าร่วมเครือข่ายประกอบด้วย
1. มาตรฐานความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction) โดยมีประเทศสนธิสัญญา 10 ประเทศ
2. แสดงข้อมูลอย่างโปร่งใส
3. รักษากฏหมายโดยไม่มีประวัติต้องโทษอย่างน้อย 5 ปี
4. ได้รับ ISO 14001 หรือ Eco Action 21
5. ยึดมั่นรักษาระบบ Manifest อย่างเคร่งครัด
ผลดีของการกลายเป็นหลักของอุตสาหกรรมขยะ
Kiyoshi Ueno ได้สรุปข้อมูลจาก นางาซากะ คุโรซากะ ซึ่งบรรยายในงาน Ecodesign 2004 ที่ประเทศญี่ปุ่น
1. การขยายขนาดของอุตสาหกรรม ทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วยขนาด และขอบเขตทางเศรษฐกิจ มีการบริหารงานสมัยใหม่ มีการปรับโครงสร้างองค์การสามารถล็อบบี้ต่อรองกับรัฐบาลได้ และลดปัญหาการแข่งขันโดยไม่สุจริต
2. ความแข็งแกร่งของ Brand (ความน่าเชื่อถือของสังคม) ทำให้หาบุคลากรได้ง่ายขึ้น การสร้างอาคารสถานที่โรงงานจะได้รับความเข้าใจจากประชาชนในพื้นที่ ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์บริษัทและเป็นที่น่าสนใจของสื่อมวลชน
3. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตด้วยเครื่องจักร และระบบ IT เพิ่มความเสถียรและความปลอดภัยในการกำจัดขยะ และความสามารถในการระดมเงินทุนเพิ่มขึ้นด้วยการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
4. ความแข็งแกร่งของทุน ทำให้มีกำลังซื้อคืนได้มากขึ้น และการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ข้อจำกัดสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์จากการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์
ตารางที่ 3 ข้อจำกัดสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์จากการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์
บทสรุป
1. สิ่งสำคัญในระบบรีไซเคิล ไม่ใช่อัตราการรีไซเคิล แต่เป็นอัตราการเก็บรวบรวม
2. เทคโนโลยีรีไซเคิล คือเทคโนโลยีระบบผสมผสาน
3. การจะสร้างระบบรีไซเคิล ต้องสร้างระบบสังคมมารองรับ
4. ควรมีรายงานเปรียบเทียบเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ
5. การกลายเป็นเส้นเลือดแดงของอุตสาหกรรมเส้นเลือดดำจะช่วยก่อให้เกิดการพัฒนา
เอกสารอ้างอิง
1. Kiyoshi Ueno, เอกสารประกอบการสัมมนา THRS-AOTS วันที่ 1 ธันวาคม 2554. YKC, ประเทศญี่ปุ่น.
2. Kiyoshi Ueno, (Joint Work) Risk & Premium of a sound material-cycle society Keio UNV. Publish. Jan.2009
3. Kiyoshi Ueno, Some view points from environment engineer Gihodo Shupan, Sep.2010
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด