เนื้อหาวันที่ : 2013-05-07 10:50:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 15077 views

การสร้างผลิตภาพระบบตอบสนองลูกค้ายุคใหม่

ปัจจุบันแนวคิดการบริหารองค์กรยุคใหม่ได้มุ่งเน้นการเชื่อมโยงเครือข่ายคู่ค้าเพื่อสร้างประสิทธิผลการตอบสนองได้ตามความต้องการของตลาด ดังนั้นประสิทธิภาพการตอบสนองลูกค้า (Efficient Consumer Response) หรือ ECR จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทปรับปรุงระดับการให้บริการลูกค้า

การสร้างผลิตภาพระบบตอบสนองลูกค้ายุคใหม่
โกศล ดีศีลธรรม
koishi2001@yahoo.com


      ปัจจุบันแนวคิดการบริหารองค์กรยุคใหม่ได้มุ่งเน้นการเชื่อมโยงเครือข่ายคู่ค้าเพื่อสร้างประสิทธิผลการตอบสนองได้ตามความต้องการของตลาด ดังนั้นประสิทธิภาพการตอบสนองลูกค้า (Efficient Consumer Response) หรือ ECR จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทปรับปรุงระดับการให้บริการลูกค้า (Consumer Service Level) ด้วยเหตุนี้องค์กรค้าปลีกระดับโลก ดังเช่น Rewe, Auchan, Promodes, ICA, Tesco, Safeway, La Rinascente

 รวมทั้งผู้ผลิตชั้นนำ อย่าง Unilever, Sardus, Procter & Gamble, Nestl?, Mars, Kraft Jacobs Suchard, Johnson & Johnson, และ Coca-Cola ได้มีส่วนร่วมในคณะทำงาน เรียกว่า ECR Europe Executive Board ดังนั้น ECR จึงให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรคู่ค้าเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า โดยมีองค์ประกอบสนับสนุนคือ การบริหารประเภทลูกค้า (Category Management) การเติมเต็มผลิตภัณฑ์ (Product Replenishment) และเทคโนโลยีสนับสนุน (Enabling Technologies)

 การบริหารประเภทลูกค้า

     หากย้อนยุคกลับไปหาแนวทางดำเนินธุรกิจด้วยรูปแบบการเข้าถึงลูกค้าอย่างใกล้ชิดเหมือนเจ้าของร้านขายของชำที่รู้จักลูกค้าขาประจำแทบทุกคนว่าเขาชอบสินค้าอะไร ซึ่งทำให้เถ้าแก่ยุคเก่าสามารถจัดสินค้าในร้านให้กับลูกค้าในแถบย่านร้านค้าของตนเองและสามารถดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคง แต่ยุคปัจจุบันร้านค้าปลีกแบบเชนสโตร์ (Chain Store) มีหลากหลายมากเป็นร้อยเป็นพันร้านจึงไม่สามารถจ้างพนักงานมาให้บริการแบบเถ้าแก่ทำเองได้อีกแล้ว

ด้วยเหตุนี้จึงปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์มาเป็นการใช้เทคนิคการบริหารประเภทลูกค้า (Category Management) โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมารูปแบบการดำเนินชีวิตของลูกค้า (Consumer Lifestyle) ได้มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ดังนั้นCategory Management จึงเป็นแนวทางมุ่งตอบสนองตามความต้องการอันหลากหลายตามลักษณะลูกค้า (Consumer Demographic) ด้วยทางเลือกที่สร้างคุณค่าให้กับลูกค้า (Customer Value) ซึ่งกลุ่มสินค้าที่กำหนดขึ้นควรสอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้อของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายในสินค้านั้น ดังกรณีการจัดการสินค้าภายในร้านสะดวกซื้อ (Convenient Store) ได้มีการแบ่งหมวดสินค้าออกเป็นหมวดใหญ่เพื่อง่ายต่อการจำแนกประเภทสินค้า, การสั่งสินค้า และการเติมสินค้า โดยแบ่งได้เป็นดังนี้


- สินค้าเครื่องดื่ม (Beverage) ประกอบด้วยกลุ่มสินค้าแอลกอฮอล์ กลุ่มนมพาสเจอไรซ์ (Pasteurized milk) กลุ่มคาร์บอเนต (Carbonated Drink) และเพาเวอร์ดริงค์ (Power Drink)

- สินค้า Food Service ประกอบด้วยสินค้าพร้อมทาน เบอร์เกอร์แพ็ค ขนมปัง ไอศครีม สินค้าในตู้อุ่นและขนมไทย

- สินค้า Non-Food ประกอบด้วยกลุ่มสินค้า Personal Care, House Ware, Stationary และ House Hold

รูปที่ 1 ตัวอย่างการจัดเรียงตามกลุ่มสินค้า

   ปัจจัยสนับสนุนการจัดเรียงสินค้า ประกอบด้วย

- จัดเรียงตามรูปแบบ  Plano Gram โดยการใช้หลัก Display สินค้าที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

- สินค้าที่มีอัตราการเติบโตหรือสินค้าที่กำลังได้รับความนิยมทั้งสินค้าใหม่และสินค้าเก่า

- การจัดเรียงสินค้าตามขนาดของแพ็กเกจ รสชาติ หรือยี่ห้อสินค้าเพื่อให้ง่ายต่อการเลือกซื้อ

- การจัดเรียงสินค้าที่ขายดีในตำแหน่ง Golden Line เพื่อสะดวกต่อการหยิบและแยกประเภทกลุ่มสินค้าให้เห็นชัดเจน

- การให้สัดส่วนพื้นที่ในการจัดเรียงสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการและสะดวกต่อการเติมเต็มสินค้าเมื่อมีการหยิบออกไปจากชั้นวาง 

- เน้นการจัดเรียงสินค้าตามกลุ่มเป้าหมาย เช่น สินค้าสำหรับเด็กจัดไว้ชั้นล่างหรือสินค้าสำหรับผู้ใหญ่จัดไว้ที่ชั้นบน

- การใช้สัดส่วนยอดขายเป็นเกณฑ์ตัดสินในการแบ่งพื้นที่จัดเรียงสินค้า

- การจัดเรียงสินค้าตามเทศกาลต่าง ๆ เช่น ปีใหม่ วาเลนไทน์ กินเจ สงกรานต์หรือดูตามเทรนด์และความนิยมในตัวสินค้า

- ใช้ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าเป็นข้อมูลประกอบการจัดเรียง อย่างลูกค้าเลือกซื้อตามยี่ห้อ


รูปที่ 2 ตัวอย่าง Plano Gram


   นอกจากนี้ความสำเร็จของ Category Management ยังเกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์กรคู่ค้า โดยมีปัจจัยหลักสนับสนุน ดังนี้

- ประสิทธิภาพการนำเสนอผลิตภัณฑ์ (Efficient Product Introduction) โดยทั้งผู้จัดหาและกระจายสินค้าได้มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอสินค้าใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายหลัก คือ การลดต้นทุนและหลีกเลี่ยงความล้มเหลวการนำเสนอผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งการนำเสนอผลิตภัณฑ์มีหลายแนวทาง นั่นคือ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมหรือการขยายสายผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

ดังเช่น สบู่สำหรับผิวแห้ง รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เดิมเพื่อเสนอให้กับลูกค้า เรียกว่า นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) ซึ่งรูปแบบการนำเสนอผลิตภัณฑ์พิจารณาทั้งปัจจัยเวลาและต้นทุนการออกตัวผลิตภัณฑ์ (Product Launch) ดังกรณี 7- Eleven สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการนำเสนอผลิตภัณฑ์โดยใช้ข้อมูลจากระบบ POS วิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าและร่วมมือกับผู้ผลิตพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตามการต้องการของลูกค้าและสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับ 7- Eleven

 และสร้างความแตกต่างจากผู้ค้าปลีกทั่วไปซึ่งส่งผลในการสร้างจุดขายอีกด้วย อย่างเช่น 7- Eleven ร่วมกับบริษัทโออิชิพัฒนาแซนวิชที่มีขายเฉพาะที่ร้าน 7-Eleven เท่านั้น ซึ่งสามารถสังเกตเห็นสินค้าในร้านที่มีคำว่า “Only at 7-Eleven” บนแพ็กเกจสินค้าในร้าน ซึ่งจะผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์เดิม แต่วางจำหน่ายเฉพาะเฉพาะในร้าน 7- Eleven เท่านั้น 

- ประสิทธิภาพการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ (Efficient Product Promotion) โดยมุ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลทางกลยุทธ์ที่มีผลกระทบโดยรวมต่อห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเทคนิคการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้ คือ การโฆษณา (Consumer Advertising), การส่งเสริมการขาย (Consumer Promotion) และการส่งเสริมทางการค้า (Trade Promotion) ซึ่งเป้าหมายของประสิทธิภาพการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ด้วยเทคนิคดังกล่าว

 คือ การปรับปรุงงบประมาณส่งเสริมผลิตภัณฑ์ (Promotion Budget) และสร้างความชัดเจนให้กับลูกค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ข้อมูลจากระบบ CRM สามารถบูรณาการร่วมกับระบบการบริหารจัดการคู่ค้า (SRM) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมผลิตภัณฑ์หรือส่งเสริมการขาย ดังเช่น 7-Eleven ร่วมกับผู้ผลิตจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายภายใต้โครงการแสตมป์แทนเงินสดแลกของซึ่งกิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการขายเท่านั้นแต่ยังทำให้ผู้ผลิตสามารถสำรวจความพึงพอใจในประเภทสินค้าที่เข้าร่วมโครงการและส่งเสริมการขายให้ลูกค้าได้ทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่หรือผลิตภัณฑ์ที่ยังมียอดขายไม่ตรงตามเป้าเพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าอีกด้วย


- ประสิทธิภาพการจัดเก็บตามประเภทผลิตภัณฑ์ (Efficient Store Assortment) เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารพื้นที่จัดเก็บและลดปัญหาการขาดสต็อก โดยใช้ข้อมูลจากยอดขายจริงที่ถูกบันทึกในระบบบันทึกเงินสด (Cash Register) เพื่อจำแนกประเภทผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ยังมีการการพิจารณามูลค่าผลิตภัณฑ์ที่จัดเก็บบนชั้นวางกับผลกำไรต่อหน่วยพื้นที่จัดเก็บ (Product per Cubic Meter) เพื่อใช้บริหารพื้นที่ชั้นวางสินค้า โดยวิเคราะห์ความสามารถสร้างกำไรผลิตภัณฑ์โดยตรง (Direct Product Profitability) และต้นทุนผลิตภัณฑ์โดยตรง (Direct Product Costing) ซึ่งทั้งสองแนวทางคือองค์ประกอบของต้นทุนตามฐานกิจกรรม (Activity Based Costing) หรือ ABC ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์จะทำให้ทราบต้นทุนแท้จริงกับผลกำไรที่เกิดขึ้นซึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในผลิตภัณฑ์

แต่การดำเนินการดังกล่าวจะต้องมีการจัดเก็บข้อมูลที่มีความถูกต้องเพื่อใช้จัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมกับผลกำไรต่อหน่วยพื้นที่จัดเก็บ ดังนั้นการจัดทำฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์และการบันทึกประวัติยอดขายจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับใช้วางแผนจำแนกประเภทผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความรวดเร็วในการนำเสนอคุณค่าให้กับลูกค้า

 

การเติมเต็มผลิตภัณฑ์

     โดยทั่วไปการปรับปรุงกระบวนการเพื่อตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าได้มุ่งสร้างประสิทธิภาพการเติมเต็มผลิตภัณฑ์ (Efficient Product Replenishment) ซึ่งเป็นการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้ทันตามกำหนดในปริมาณและสถานที่ถูกต้อง ทำให้เกิดการไหลของงานทั้งในระดับต้นน้ำและปลายน้ำที่สามารถตอบสนองได้ตามความต้องการลูกค้า โดยมีระบบสนับสนุนดังนี้ 


 - ระบบการเติมเต็มอย่างต่อเนื่อง (Continuous Replenishment) โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างร้านค้าปลีกกับผู้ส่งมอบหรือผู้ค้าส่ง เพื่อให้เกิดสมดุลทั้งในฝั่งอุปสงค์และอุปทานจึงส่งผลให้ผู้ค้าปลีกสามารถลดภาระการจัดเก็บสินค้าคงคลังและเวลาในกระบวนการจัดเตรียมสินค้าเพื่อจัดส่งให้กับลูกค้า รวมทั้งปรับปรุงระดับการให้บริการที่สามารถตอบสนองลูกค้าในเวลาที่ต้องการ แต่ประสิทธิผลการเติมเต็มอย่างต่อเนื่องจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ค้าส่งกับผู้ค้าปลีก ซึ่งกระบวนการหลักประกอบด้วย การประเมินคำสั่งซื้อจากข้อมูลยอดขายแต่ละผลิตภัณฑ์ที่ถูกบันทึกในระบบบันทึกเงินสดและคำสั่งซื้อจะถูกส่งไปยังคลังสินค้าเพื่อดำเนินการส่งมอบของตามกำหนดการ

รูปที่ 3 กระบวนการเติมเต็มอย่างต่อเนื่อง

- การส่งมอบให้ร้านค้าโดยตรง (Direct  Store Delivery) แนวคิดดังกล่าวได้มุ่งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าเพื่อขจัดลดการใช้พื้นที่คลังสินค้า แต่  DSD จะเหมาะกับสินค้าที่มียอดจำหน่ายมาก(Great volumes) ดังนั้นการตัดสินใจจึงต้องพิจารณาปัจจัยเกี่ยวข้อง เช่น ประเภทสินค้า ความสัมพันธ์กับคู่ค้า และความคุ้มค่าจากต้นทุนดำเนินงาน เนื่องจากการเติมเต็มหรือส่งมอบบ่อยครั้งจะเกิดต้นทุนค่าขนส่งและแรงงานในการขนถ่ายของ 


รูปที่ 4 การส่งมอบให้ร้านค้าโดยตรง

- การเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Cross Docking) เพื่อใช้สำหรับสินค้าที่มี Shelf Life สั้นและต้องส่งมอบภายในเวลาที่กำหนดซึ่งมีคำสั่งซื้อแต่ละครั้งจำนวนมาก ดังเช่น สินค้าสดอย่างขนมจีบ ซาลาเปา ไส้กรอกอาหารจะดำเนินการบริหารจัดการในลักษณะไม่มีสต็อกที่ศูนย์กระจายสินค้า (DC) โดยใช้ระบบการจัดส่งแบบ Milk Run นั่นคือ รถ 1 คันอาจไปส่งมากกว่า 1 สาขาแล้วขากลับจะรับอุปกรณ์ต่าง ๆ กลับเข้ามาเก็บที่ DC หรือสำนักงานใหญ่ เช่น แพลเล็ต (Pallet), ลังหรือกล่องบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น โดยทั่วไปจะกำหนดเส้นทางให้รถขนส่งสินค้าวิ่งร่วมกับหลักการรวมศูนย์ (Consolidation)

เพื่อรวมสินค้าแต่ละสาขาที่อยู่ในเส้นทางเดียวกันไปกับรถคันเดียวกันเพื่อให้ส่งสินค้าได้ทันเวลาและเกิดการประหยัดเวลาและค่าขนส่ง ซึ่งเมื่อถึงเวลาทางผู้ส่งมอบหรือ Supplier ก็จะนำของมาส่งให้ DC แล้วทาง DC จะเป็นผู้กระจายสินค้าต่อไปโดยมุ่งการเคลื่อนย้ายในคลังสินค้าให้เกิดขึ้นเท่าที่จำเป็น

     ดังนั้นสินค้าที่ส่งมอบจากผู้ผลิตจึงไม่ถูกจัดเก็บในคลังสินค้าเหมือนแนวทางทั่วไปที่มีการสต็อกล่วงหน้า แต่จะมีการเคลื่อนย้ายไปยังรถบรรทุกจัดส่งสินค้า (Outbound Truck) เพื่อเตรียมการจัดส่ง ทำให้สามารถลดต้นทุนจัดเก็บสต็อก ต้นทุนการขนถ่าย (Handling Costs) และช่วงเวลานำในการส่งมอบสินค้าซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวได้ส่งผลต่อการตั้งราคาสินค้าต่ำกว่าคู่แข่งขันและสามารถตอบสนองได้ตามความต้องการลูกค้า

     สำหรับประสิทธิผลกระบวนการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจะเกิดจากการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ผลิตและคลังสินค้า โดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุนระบบปฏิบัติการ เช่น ระบบบริหารสินค้าคงคลัง (Warehouse Management System), ระบบจัดเก็บข้อมูลอัตโนมัติ (Automatic Data Collection), ความถี่คลื่นวิทยุ (Radio Frequency), ระบบบาร์โค้ด (Bar Code), EDI รวมทั้งอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้าไปยังรถบรรทุก อย่างแพลเล็ต (Pallet) เครน เป็นต้น

รูปที่ 5 ระบบจัดส่งผ่านจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าสินค้า

 

- การขนส่ง (Transport) เป็นกระบวนการเกี่ยวข้องกับการขนย้ายและส่งมอบสินค้าไปยังลูกค้าภายในห่วงโซ่อุปทาน โดยทั่วไปต้นทุนลอจิสติกส์ส่วนใหญ่จะเกิดในกิจกรรมขนส่ง ดังนั้นการวางแผนเส้นทางและจัดสรรภาระขนส่งที่มีประสิทธิภาพจะทำให้เกิดการลดต้นทุนลอจิสติกส์และสามารถส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนดการ ปัจจุบันได้มีการนำซอฟต์แวร์บริหารการขนส่งสำหรับ การวางแผนเส้นทางการขนส่ง กำหนดตารางการจัดส่ง การติดตามการจัดส่ง และประเมินต้นทุนการจัดส่ง ดังกรณีผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่ขนส่งสินค้าจาก DC สู่สาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยทางผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่ได้ว่าจ้างผู้ให้บริการขนส่ง (Third-party) รับผิดชอบในการดำเนินการจัดส่ง ซึ่งจะมีการกำหนดตารางเวลาที่แน่นอนสำหรับรถแต่ละคันและกำหนดเส้นทางการเดินทาง ส่วนหลักการที่ใช้ดำเนินการประกอบด้วย

- Route คือ เส้นทางเดียวกันหรือใกล้กันซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันจะจัดส่งไปด้วยกัน

- CBM (น้ำหนัก) โดยใช้น้ำหนักสินค้ากำหนดว่ารถควรจะไปส่งกี่สาขา เช่น รถกระบะสามารถบรรทุกได้ 1 CBM, รถ 6 ล้อบรรจุได้ 30 CBM แต่ถ้าบางสาขาสั่งจำนวนมากก็อาจจัดส่งได้โดยตรง (DSD)

- Consolidate เมื่อเกณฑ์ทั้ง 2 อย่างข้างต้นสอดคล้องกัน นั่นคือน้ำหนักไม่เกินและเส้นทางจัดส่งเดียวกันก็สามารถพ่วงไปด้วยกันได้

รูปที่ 6 กระบวนการจัดส่งสินค้า


- ระบบสนับสนุนคำสั่งซื้อ (Order Support System) ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการดำเนินธุรกรรม ซึ่งก่อให้เกิดผลิตภาพในการดำเนินงาน เช่น เกิดความรวดเร็ว ลดข้อผิดพลาดในการออกคำสั่งซื้อและลดต้นทุนทางธุรกรรม เป็นต้น โดยทั่วไประบบร้านค้าปลีกจะมีอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลอย่างเครื่องสแกนบาร์โค้ด (Barcode Scanner) และเครื่องบันทึกเงินสด (Cash Register) เมื่อลูกค้ามาซื้อสินค้าภายในร้านค้าแล้วมาชำระเงิน ณ.จุดขาย (Point of Sales)

ข้อมูลที่ผ่านเครื่องอ่านบาร์โค้ดจะถูกนำไปหักจากยอดคลังสินค้า ทำให้ผู้ส่งมอบหรือผู้ค้าส่งทราบความเปลี่ยนแปลงระดับสต็อกสินค้าทันที (Real Time) เมื่อระดับสต็อกลดลงถึงจุดสั่งซื้อก็จะมีการออกคำสั่งซื้อไปยังผู้ค้าส่งโดยอัตโนมัติและลดปัญหาสินค้าขาดสต็อกและภาระจัดเก็บในสต็อกผู้ค้าปลีก

    สำหรับปัจจัยสนับสนุนการออกคำสั่งซื้อระหว่างองค์กรประกอบด้วยระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange) หรือ EDI, การโอนเงินผ่านทางออนไลน์และระบบบริหารฐานข้อมูล ดังกรณีการส่งคำสั่งซื้อของศูนย์กระจายสินค้าไปยังผู้ผลิตได้ถูกกำหนดรูปแบบอย่างแน่นอน โดยทางศูนย์กระจายสินค้าจะทำการเปิด PO แล้วทำการส่งผ่านระบบ EDI ไปที่โรงงานของผู้ผลิตโดยตรงและวันรุ่งขึ้นทางโรงงานผู้ผลิตจะได้รับข้อมูลเพื่อนำมาจัดเตรียมของพร้อมส่งในอีกสองวันถัดไปส่วนการจัดส่งสินค้าเข้าศูนย์กระจายสินค้านั้นทางผู้ค้าส่งอาจให้ทางผู้ผลิตดำเนินการจัดส่งเองภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน 

รูปที่ 7 ระบบสนับสนุนคำสั่งซื้อ 


เทคโนโลยีสนับสนุน 

     โดยทั่วไปการประสานความร่วมมือทั้งในระดับภายในองค์กรและระหว่างองค์กรมักเกิดข้อกีดขวางขึ้น ดังนั้นเทคโนโลยีจึงได้มีบทบาทประสานความร่วมมือระหว่างผู้ค้ากับผู้ผลิต ทำให้เกิดประสิทธิผลในการบริหารประเภทกลุ่มลูกค้าและการเติมเต็มผลิตภัณฑ์                                                                 

     โดยเฉพาะผู้ผลิตที่ส่งมอบสินค้าให้กับผู้ค้าปลีกที่ใช้ระบบ EDI รับคำสั่งซื้อ ดังนั้นผู้ค้าปลีกจึงได้เกิดแนวคิดนำระบบ E-Commerce เพื่อบูรณาการข้อมูลที่จัดเก็บในระบบฐานข้อมูลการขายและข้อมูลสต็อกในศูนย์กระจายสินค้า ทำให้เกิดความรวดเร็วในการนำเสนอข้อมูลการขายผ่านเครือข่ายระหว่างองค์กร (B2B) เพื่อใช้วางแผนร่วมกับคู่ค้าในการตอบสนองให้ทันความต้องการของลูกค้า สำหรับทางผู้ผลิตจะใช้ข้อมูลจากคู่ค้าเพื่อวางแผนการผลิตให้ทันต่อกำหนดการส่งมอบและสามารถกำหนดขนาดรุ่นการผลิต รวมทั้งช่วงเวลานำการผลิตได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทต่อการสร้างประสิทธิภาพการตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้า


สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด